ประเทศจีน

ประเทศในทวีปเอเชีย

สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนตัวย่อ: 中华人民共和国; จีนตัวเต็ม: 中華人民共和國; พินอิน: Zhōnghuá Rénmín Gònghéguó; อังกฤษ: People's Republic of China (PRC)) เป็นรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออก เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก กว่า 1,400 ล้านคนโดยเป็นรองเพียงอินเดีย ซึ่งประชากรจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17.4% ของประชากรโลก จีนมีพื้นที่กว่า 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร (3,700,000 ตารางไมล์) นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 หรือ 4 แล้วแต่วิธีการวัด มีเมืองหลวงคือปักกิ่ง ในขณะที่เมืองที่มีประชากรมากที่สุดและเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจคือเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนแบ่งการปกครองออกเป็น 22 มณฑล (ไม่รวมพื้นที่พิพาทไต้หวัน), 5 เขตปกครองตนเอง, 4 นครปกครองโดยตรง (ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง), และ 2 เขตบริหารพิเศษ ได้แก่ฮ่องกงและมาเก๊า จีนยังมีพรมแดนทางบกติดกับประเทศอื่น ๆ มากถึง 14 ประเทศ ถือเป็นหนึ่งในสองประเทศที่มีพรมแดนติดประเทศอื่นมากที่สุดเท่ากับรัสเซีย

สาธารณรัฐประชาชนจีน

中华人民共和国 (จีน)
Zhōnghuá Rénmín Gònghéguó (พินอิน)
เพลงชาติ义勇军进行曲
Yìyǒngjūn Jìnxíngqǔ
"มาร์ชทหารอาสา"
พื้นที่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนควบคุมแสดงในสีเขียวเข้ม บริเวณที่อ้างสิทธิ์แต่มิได้ควบคุมแสดงในสีเขียวอ่อน
พื้นที่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนควบคุมแสดงในสีเขียวเข้ม บริเวณที่อ้างสิทธิ์แต่มิได้ควบคุมแสดงในสีเขียวอ่อน
เมืองหลวงปักกิ่ง
39°55′N 116°23′E / 39.917°N 116.383°E / 39.917; 116.383
ภาษาราชการภาษาจีนมาตรฐาน[a]
ภาษาพื้นเมือง
Official scriptอักษรจีนตัวย่อ[b]
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2020)[1]
ศาสนา
(ค.ศ. 2020)[2]
เดมะนิมชาวจีน
การปกครองสาธารณรัฐสังคมนิยมลัทธิมากซ์–เลนิน[3] พรรคการเมืองเดียวสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน
สี จิ้นผิง
• ประธานคณะมนตรีรัฐกิจ (นายกรัฐมนตรี)
หลี่ เฉียง
จ้าว เล่อจี้
หวัง ฮู่หนิง
สภานิติบัญญัติสภาประชาชนแห่งชาติ
การก่อตั้ง
ป. 2070 ปีก่อนคริสต์ศักราช
221 ปีก่อนคริสต์ศักราช
1 มกราคม ค.ศ. 1912
1 ตุลาคม ค.ศ. 1949
20 กันยายน ค.ศ. 1954
4 ธันวาคม ค.ศ. 1982
20 ธันวาคม ค.ศ. 1999
พื้นที่
• รวม
9,596,961 ตารางกิโลเมตร (3,705,407 ตารางไมล์)[f][6] (อันดับที่ 3/4)
2.8[g]
ประชากร
• สำมะโนประชากร 2021
เพิ่มขึ้นเป็นกลาง 1,412,600,000[8] (อันดับที่ 1)
145[9] ต่อตารางกิโลเมตร (375.5 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 83)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 29.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 1)
เพิ่มขึ้น 20,667 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 70)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 18.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 2)
เพิ่มขึ้น 12,990 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 56)
จีนี (ค.ศ. 2018)Negative increase 46.7[11]
สูง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.761[12]
สูง · อันดับที่ 85
สกุลเงินเหรินหมินปี้ (元/¥)[h] (CNY)
เขตเวลาUTC+8 (เวลามาตรฐานจีน)
รูปแบบวันที่
  • ปปปป-ดด-วว
  • หรือ ปปปป
  • (CE; CE-1949)
ขับรถด้านขวามือ (แผ่นดินใหญ่)
ซ้ายมือ (ฮ่องกงและมาเก๊า)
รหัสโทรศัพท์+86 (แผ่นดินใหญ่)
+852 (ฮ่องกง)
+853 (มาเก๊า)
รหัส ISO 3166CN
โดเมนบนสุด

ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของอารยธรรมโลก ดินแดนทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหินเก่า ราชวงศ์แรก ๆ ในประวัติศาสตร์ อาทิ ราชวงศ์ชาง และ ราชวงศ์โจว เจริญรุ่งเรืองในลุ่มแม่น้ำเหลืองอันอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ปลายสหัสวรรษที่สองก่อนคริสตศักราช[13] ในช่วงศตวรรษที่สามถึงศตวรรษที่แปดก่อนคริสตศักราช ราชวงศ์โจวต้องเผชิญความขัดแย้งที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาและวรรณกรรมคลาสสิก จีนยึดระบบการเมืองแบบราชาธิปไตยหลายสหัสวรรษ ก่อนจะรวมกันเป็นปึกแผ่นครั้งแรกภายใต้จักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ฉินเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล และอยู่ภายใต้การปกครองโดยอีกหลายราชวงศ์ อาทิ ราชวงศ์ฮั่น, ราชวงศ์ถัง, ราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิง ในยุคนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การประดิษฐ์ดินปืนและกระดาษ, การถือกำเนิดของเส้นทางสายไหม และการสร้างกำแพงเมืองจีน วัฒนธรรมจีนรวมถึงภาษา, ประเพณี, สถาปัตยกรรม, ปรัชญา มีอิทธิพลสูงต่อเขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกในช่วงเวลานี้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จีนต้องเผชิญความขัดแย้งภายใน รวมถึงภัยคุกคามยุคล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตกนำไปสู่สงครามสำคัญหลายครั้ง รวมถึงการลงนามในสนธิสัญญาไม่เสมอภาคและการเสียดินแดนบางส่วน

การปกครองโดยราชวงศ์สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1912 จากการปฏิวัติซินไฮ่และการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ พร้อมกับการสถาปนาสาธารณรัฐจีนโดยพรรคก๊กมินตั๋ง ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภายใต้รัฐบาลเป่ย์หยางเป็นยุคสมัยแห่งความแตกแยก จีนต้องเผชิญสงครามกลางเมืองซึ่งแบ่งประเทศออกเป็นค่ายการเมืองสองค่ายหลัก คือก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเริ่มต้นใน ค.ศ. 1927 ตามมาด้วยสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1937 ซึ่งกินเวลาไปถึง ค.ศ. 1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามกลางเมืองยุติลงชั่วคราว และจีนต้องพบกับเหตุการณ์รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจากการสังหารหมู่ที่หนานจิง ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสองชาติมาถึงปัจจุบัน ความเป็นปฏิปักษ์ส่วนใหญ่สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1949 เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมือง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนสาธารณรัฐจีนซึ่งอยู่ภายใต้การนำของก๊กมินตั๋งได้ย้ายเมืองหลวงไปยังไทเปบนเกาะไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองกับสาธารณรัฐจีนเหนือปัญหาอธิปไตย และสถานะทางการเมืองของไต้หวัน การปกครองในช่วงแรกในระบอบคอมมิวนิสต์เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า ทว่ากลับส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างมากและเป็นยุคที่ประชาชนเผชิญความอดอยากมากที่สุดครั้งหนึ่ง ความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียตและการลงนามในแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐดีขึ้น ในระหว่าง ค.ศ. 1966–1976 เป็นทศวรรษแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมโดยเหมา เจ๋อตง นำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่และการกวาดล้างโดยรัฐบาล การปฏิรูปเศรษฐกิจโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทว่าการปฏิรูปทางการเมืองต้องหยุดชะงักลงสืบเนื่องจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งจบลงด้วยการสังหารหมู่ แม้จะเผชิญกับความขัดแย้งหลายครั้ง แต่เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จีนเป็นรัฐเดี่ยวปกครองด้วยระบบพรรคการเมืองเดียวโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งขององค์กรสำคัญหลายแห่งในภูมิภาค อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย, กองทุนเส้นทางสายไหม และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งเป็นสมาชิกของบริกส์, กลุ่ม 20, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จีนได้รับการจัดอันดับต่ำในแง่ประชาธิปไตย, การทุจริต, สิทธิมนุษยชน, เสรีภาพสื่อ และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ นับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ ค.ศ. 1978 จีนกลายเป็นหนึ่งในชาติที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก[14] โดยเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกทั้งในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศราคาตลาด และความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ[15] จีนได้รับการจัดให้เป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์และมีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคและเป็นมหาอำนาจของโลก จีนมีแหล่งแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกมากถึง 59 แห่งซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลก จีนยังเป็นประเทศวัฒนธรรมที่โดดเด่น และขึ้นชื่อในด้านอาหารซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ภูมิศาสตร์

ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก บนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ดินประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีพื้นที่บนบกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และถูกพิจารณาว่ามีพื้นที่ทั้งหมดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของโลก[16] ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อมูลขนาดนี้เกี่ยวข้องกับ (ก) ความถูกต้องของการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของจีน อย่างเช่น อัคสัยจินและดินแดนทรานส์คอราคอรัม (ซึ่งอินเดียอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งสองด้วยเช่นกัน)[7] และ (ข) วิธีการคำนวณขนาดทั้งหมดโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนังสือความจริงของโลกระบุไว้ที่ 9,826,630 กม.2[17] และสารานุกรมบริตานิการะบุไว้ที่ 9,522,055 กม.2[18] สถิติพื้นที่นี้ยังไม่นับรวมดินแดน 1,000 ตารางกิโลเมตรซึ่งผนวกเข้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยรัฐสภาทาจิกิสถานเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งยุติข้อพิพาทด้านดินแดนที่ยาวนานนับศตวรรษ[19]

ประเทศจีนมีอาณาเขตติดต่อกับ 14 ประเทศ มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก (เท่ากับรัสเซีย) เรียงตามเข็มนาฬิกาได้แก่ ประเทศเวียดนาม ลาว พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากนี้ พรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐจีนตั้งอยู่ในน่านน้ำอาณาเขต ประเทศจีนมีพรมแดนทางบกยาว 22,117 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลก

ดินแดนจีนตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 18° และ 54° เหนือ และลองติจูด 73° และ 135° ตะวันออก ประกอบด้วยลักษณะภูมิภาพหลายแบบ ทางตะวันออก ตามแนวชายฝั่งที่ติดกับทะเลเหลืองและทะเลจีนตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มตะกอนน้ำพาซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นและกว้างขวาง ขณะที่ตามชายขอบของที่ราบสูงมองโกเลียในทางตอนเหนือนั้นเป็นทุ่งหญ้า ตอนใต้ของจีนนั้นเป็นดินแดนหุบเขาและแนวเทือกเขาระดับต่ำเป็นจำนวนมาก ทางตอนกลาง-ตะวันตกนั้นเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของแม่น้ำสองสายหลักของจีน ได้แก่ แม่น้ำหวงและแม่น้ำแยงซี ส่วนแม่น้ำอื่นที่สำคัญของจีนได้แก่ แม่น้ำซี แม่น้ำโขง แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำอามูร์ ทางตะวันตกนั้น เป็นเทือกเขาสำคัญ ที่โดดเด่นคือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีจุดสูงสุดของจีนอยู่ทางครึ่งตะวันออกของยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และที่ราบสูงอยู่ท่ามกลางภูมิภาพแห้งแล้ง อย่างเช่น ทะเลทรายทากลามากันและทะเลทรายโกบี

ประเด็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของทะเลทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลทรายโกบี[20] ถึงแม้ว่าแนวต้นไม้กำบั้งซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 จะช่วยลดความถี่ของการเกิดพายุทรายขึ้นได้ แต่ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นและวิธีการทางเกษตรกรรมที่เลวส่งผลทำให้เกิดพายุฝุ่นขึ้นทางตอนเหนือของจีนทุกฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นจึงแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นของเอเชียตะวันออก รวมทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมจีน (SEPA) ประเทศจีนกำลังกลายสภาพเป็นทะเลทรายราว 4,000 กม.2 ต่อปี[21] น้ำ การกัดเซาะ และการควบคุมมลพิษได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญในความสัมพันธ์ของจีนกับต่างประเทศ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายในเทือกเขาหิมาลัยยังได้นำไปสู่การขาดแคลนน้ำในประชากรจีนนับหลายร้อยล้านคน[22]

ประเทศจีนมีสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นฤดูแล้งและฤดูมรสุมชื้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิในฤดูหนาวและฤดูร้อน ในฤดูหนาว ลมทางเหนือซึ่งพัดลงมาจากละติจูดสูงทำให้เกิดความหนาวเย็นและแห้งแล้ง ขณะที่ในฤดูร้อน ลมทางใต้ซึ่งพัดมาจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ละติจูดต่ำจะอบอุ่นและชุ่มชื้น ลักษณะภูมิอากาศในจีนแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากภูมิลักษณ์อันกว้างขวางและซับซ้อนของประเทศ

ความหลากหลายทางชีวภาพ

 
แพนด้ายักษ์

จีนเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง[23] และตั้งอยู่ในสองเขตชีวภาพสำคัญของโลก เขตชีวภาพพาลีอาร์กติกและเขตชีวภาพอินโดมาลายา โดยการนับจำนวนชนิดของสัตว์และพืชมีท่อน้ำเลี้ยง มีมากกว่า 34,687 สายพันธุ์ ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากบราซิลและโคลอมเบีย[24] ในเขตพาลีอาร์กติกพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างเช่น ม้า อูฐ สมเสร็จ และหนูเจอร์บัว ส่วนสปีชีส์ที่พบในเขตอินโดมาลายาเช่น แมวดาว ตุ่นพงสาลี กระแต ไปจนถึงลิงและเอปหลายสปีชีส์ สัตว์บางชนิดพบในเขตชีวภาพทั้งสองเนื่องจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติและการอพยพ และกวางหรือแอนติโลป หมี หมาป่า สุกรและสัตว์ฟันแทะสามารถพบได้ในทุกสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน แพนด้ายักษ์ที่มีชื่อเสียงนั้นพบได้ในบริเวณจำกัดตามแม่น้ำแยงซี ประเทศจีนกำลังประสบปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่ในด้านการค้าสปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามกิจกรรมดังกล่าวแล้วก็ตาม

ประเทศจีนมีป่าหลายประเภท ขอบเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือนั้นมีภูเขาและป่าสนเขตอากาศหนาว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บางสปีชีส์ รวมไปถึง มูสและหมีดำเอเชีย นอกจากนี้ยังมีนกอีกราว 120 ชนิด ป่าสนชื้นมีชั้นไม้พุ่มเป็นไผ่ แทนที่โดยกุหลาบพันปีกลุ่มไม้จำพวกสนและยิวบนภูเขาที่สูงกว่า ป่าใต้เขตร้อน ซึ่งพบมากทางตอนกลางและตอนใต้ของจีน พบพรรณพืชจำนวนน่าพิศวงถึง 146,000 สปีชีส์[25] ป่าฝนเขตร้อนและป่าดิบแล้ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีขอบเขตเพียงมณฑลยูนนานและเกาะไหหนาน แต่มีพรรณพืชและพันธุ์สัตว์คิดเป็นหนึ่งในสี่ของทั้งหมดที่พบในประเทศจีน[25]

สิ่งแวดล้อม

 
โรงงานอุตสาหกรรมริมฝั่งแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน

ประเทศจีนมีการวางกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติบางฉบับ เช่น กฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2522 ซึ่งส่วนใหญ่ยึดแบบมาจากกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งแวดล้อมยังคงเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง[26] ขณะที่ข้อบังคับนั้นค่อนข้างที่จะเข้มงวด แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ยังคงไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากชุมชนหรือรัฐบาลท้องถิ่นมักจะปล่อยปละละเลยอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่มุ่งให้ความสนใจกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า หลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับมานาน 12 ปี มีนครเพียงแห่งเดียวในจีนเท่านั้นที่กำลังมีความพยายามที่จะบำบัดน้ำเสีย[27]

ส่วนหนึ่งของรายจ่ายที่จีนต้องเสียเพื่อแลกกับความเฟื่องฟูที่เพิ่มขึ้นนั้นคือควมเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรน้ำ ชาวจีนราว 300 ล้านคนกำลังดื่มน้ำที่ไม่ปลอดภัยสำหรับบริโภค ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยที่ 400 จาก 600 นครทั่วประเทศกำลังขาดแคลนน้ำ[28][29]

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงินกว่า 34,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดใน พ.ศ. 2552 ทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศผู้นำการลงทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน[30][31] ประเทศจีนผลิตกังหันลมและแผงสุริยะต่อปีมากที่สุดในโลก[32]

ประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

จีนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ยุคแรกอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นประเทศจีนเมื่อ 2.25 ล้านปีมาแล้ว[33] ฟอสซิลของมนุษย์ปักกิ่งซึ่งถือเป็นโฮโมอิเร็กตัส กลุ่มแรก ๆ ที่ริเริ่มการใช้ไฟถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งบริเวณเขตฟางซานทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง มีอายุระหว่าง 680,000 ถึง 780,000 ปีก่อน ในขณะที่ซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ (มีอายุ 125,000–80,000 ปีก่อน) ถูกค้นพบในถ้ำในมณฑลหูหนาน

การปกครองในยุคแรก

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ราชวงศ์แรกที่ปกครองประเทศจีนคือราชวงศ์เซี่ย ในช่วง 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล มีอายุอยู่ได้ราว 500 ปี ราชวงศ์เซี่ยถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเมืองของจีนที่มีพื้นฐานมาจากราชวงศ์ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งกินเวลานานนับพันปี ราชวงศ์ซางที่สืบต่อมาจากราชวงศ์แรกสุดได้รับการยืนยันจากบันทึกร่วมสมัย โดยปกครองที่ราบแม่น้ำฮวงโหทางตะวันออกของจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตศักราช[34] อักษรกระดูกออราเคิล (ตั้งแต่ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช) แสดงถึงรูปแบบการเขียนภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบ และเป็นต้นกำเนิดโดยตรงของตัวอักษรจีนสมัยใหม่[35]

ราชวงศ์ซางถูกโค่นล้มโดยราชวงศ์โจวเริ่มประมาณ 1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึง 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช นับเป็นราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุด ด้วยเวลาที่ยาวนานกว่า 867 ปี ในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน โดยเป็นยุคถือกำเนิดของการกำเนิดของปรัชญาเมธีหลายท่าน เช่น ขงจื๊อ เล่าจื๊อ ซุนวู เป็นต้น ความขัดแย้งภายในโดยขุนศึกศักดินาก่อให้เกิดการสู้รบกันอยู่เนือง ๆ ซึ่งกินเวลาหลายศตวรรษเรียกว่า ยุครณรัฐ นักปราชญ์มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการปกครอง ในยุคนั้นยังมีรัฐมหาอำนาจหลักอีก 7 รัฐที่เหลืออยู่[36]

จักรวรรดิจีน

 
ปฐมกษัตริย์พระองค์แรกของจีน จิ๋นซีฮ่องเต้ มีชื่อเสียงจากการรวมกำแพงรัฐที่ทำสงครามเข้าด้วยกันเพื่อก่อตั้งกำแพงเมืองจีน โครงสร้างส่วนใหญ่ในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง

ยุคสงครามสิ้นสุดลงในช่วงปี 221 ก่อนคริสตศักราช หลังจากที่รัฐฉินพิชิตอาณาจักรที่เหลืออีก 6 อาณาจักร รวมจีนเข้าด้วยกันอีกครั้ง และสถาปนาระบบการปกครองแบบเผด็จการที่โดดเด่น จิ๋นซีฮ่องเต้ สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน ตามมาด้วยประกาศใช้การปฏิรูปกฎหมายฉินทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบังคับกำหนดมาตรฐานของตัวอักษรจีน การวัด ความกว้างของถนน (เช่น ความยาวของเพลารถเข็น) และสกุลเงิน ราชวงศ์ของพระองค์ยังพิชิตชนเผ่าเย่ว์ในกวางสี กวางตุ้ง และเวียดนามตอนเหนือด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายการปกครองแบบเผด็จการนำไปสู่การต่อต้านและการก่อกบฎ ราชวงศ์ฉินดำรงอยู่เพียงสิบห้าปีสิ้นสุดลงด้วยการสวรรคตของพระองค์[37]

 
แผนที่แสดงการขยายอาณาเขตโดยราชวงศ์ฮั่น ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล

ภายหลังสงครามฉู่–ฮั่น ที่แพร่ขยายออกไปในระหว่างที่หอสมุดจักรพรรดิที่เสียนหยางถูกเผา ราชวงศ์ฮั่นได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อปกครองจีนระหว่างปีคริสตศักราช 206 ถึงคริสตศักราช 220 และได้สร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่จดจำในชาติพันธุ์วิทยาของชาวจีนฮั่นสมัยใหม่ มีการขยายอาณาเขตของจักรวรรดิอย่างมาก ไปถึงบริเวณเอเชียกลาง มองโกเลีย เกาหลีใต้ และยูนนาน และการฟื้นฟูกวางตุ้งรวมถึงเวียดนามตอนเหนือ การมีส่วนร่วมของราชวงศ์ฮั่นในเอเชียกลาง ก่อให้เกิดการสร้างเส้นทางสายไหมอันเลื่องชื่อ แทนที่เส้นทางเดิมเหนือเทือกเขาหิมาลัยไปยังอินเดีย และจีนฮั่นได้กลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ แม้ว่าราชวงศ์ฮั่นจะกระจายอำนาจในช่วงแรก และการละทิ้งปรัชญาฉินแห่งลัทธิเคร่งครัดเพื่อสนับสนุนลัทธิขงจื๊ออย่างเป็นทางการ แต่นโยบายที่เคร่งครัดในราชวงศ์ฉินยังคงถูกใช้งานโดยชาวฮั่นและผู้สืบทอดในรุ่นต่อ ๆ มา[38]

ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น อยู่ในรัชกาลอันวุ่นวายของพระเจ้าเหี้ยนเต้ จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น ในช่วงนี้ บ้านเมืองปั่นป่วนเพราะกบฏโพกผ้าเหลือง (ค.ศ. 184–205) สถาบันต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็ถูกขุนศึกตั๋งโต๊ะล้มล้างจนแตกแยกออกเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่อยู่ใต้การปกครองของขุนศึก เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ยุคสามก๊ก เป็นยุคที่นองเลือดที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เหตุการณ์สำคัญมากมายในช่วงเวลานี้ได้มีอิทธิพลมาถึงปีจจุบันและได้รับการบอกเล่าเรื่องราวผ่านวรรณกรรมหลายรูปแบบ ซึ่งได้กลายมาเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ราชวงศ์จิ้น ถูกก่อตั้งสถาปนาโดยซือหม่าหยานหรือสุมาเอี๋ยน มีอายุอยู่ระหว่าง ค.ศ. 266 ถึง ค.ศ. 420 ราชวงศ์จิ้นมีมาก่อนยุคสมัยสามก๊ก และถูกรับช่วงต่อโดยสิบหกอาณาจักรในแผ่นดินจีนตอนเหนือ จักรพรรดิหลิวซ่งอู่ ได้ทำการปลด จักรพรรดิจิ้นกง ลงจากราชบัลลังก์ทำให้ราชวงศ์จิ้นตะวันออกสิ้นสุดลงพร้อมกับสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลิวซ่ง ตามมาด้วยการสืบราชบัลลังก์โดยจักรพรรดิหลิวซ่งเฉ่า และผู้สืบทอดอีกมากมายซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ โดยทั้งสองพื้นที่กลับมารวมกันอีกครั้งในที่สุดโดยราชวงศ์สุยใน ค.ศ. 581 ยุคนี้มีเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นให้กลับมามีอำนาจ การปฏิรูปการเกษตร เศรษฐกิจ และระบบการตรวจสอบจักรวรรดิ การสร้างคลองขนาดใหญ่ และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ก็ล่มสลายอันเป็นผลมาจากสงครามอาณาจักรโคกูรยอ

ภายใต้การสืบทอดของราชวงศ์ถังและซ่ง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของจีนได้เจริญรุ่งเรื่องถึงขีดสุดในยุคทอง[39] ราชวงศ์ถังยังคงควบคุมภูมิภาคตะวันตกและเส้นทางสายไหม ซึ่งนำพ่อค้าชาวจีนเดินทางไปไกลถึงเมโสโปเตเมียและทวีปแอฟริกา และทำให้เมืองฉางอานหลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากล[40] ก่อนจะถูกโค่นล้มโดยกบฏอันหลู่ซานหรือที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์จีนในชื่อกบฏอัน-ซือในศตวรรษที่ 8 ในปี 907 ราชวงศ์ถังล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อทหารผู้ปกครองในท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายได้ ราชวงศ์ซ่งยุติสถานการณ์การแบ่งแยกดินแดนใน ค.ศ. 960 นำไปสู่ความสมดุลแห่งอำนาจในยุคห้าวงศ์สิบรัฐ ยุคราชวงศ์ซ่งเป็นผู้ปกครองรัฐกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ออกธนบัตรเป็นแผ่นกระดาษ และจัดตั้งกองทัพเรือถาวรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการต่อเรือที่พัฒนาแล้วพร้อมกับการค้าทางทะเล

ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 11 ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเป็นประมาณ 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเพราะการขยายการเพาะปลูกข้าวในภาคกลางและตอนใต้ของจีน และการผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ราชวงศ์ซ่งยังเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูของลัทธิขงจื๊อ เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของพุทธศาสนาในสมัยถัง และความเจริญรุ่งเรืองของปรัชญาและศิลปะ[41] อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอทางทหารของกองทัพซ่งถูกท้าทายโดยชาวนฺหวี่เจิน ราชวงศ์จิน จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1100 เมืองหลวงอย่างไคเฟิงถูกยึดรองในระหว่างสงครามจิน-ซ่ง การพิชิตจีนของมองโกลเริ่มต้นใน ค.ศ. 1205 [42] ด้วยการพิชิตเซี่ยตะวันตกอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเจงกิส ข่าน ต่อมา กุบไล ข่าน สามารถเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีน และยึดครองปักกิ่ง และปกครองประเทศจีน ก่อนการรุกรานมองโกล ประชากรของจีนซ่งมีประชากร 120 ล้านคน ลดลงเหลือ 60 ล้านคนจากการสำรวจสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1300[43] ในเวลาต่อมาได้เกิดกบฏโพกผ้าแดง ระหว่าง ค.ศ. 1351 ถึง 1368 จนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หยวนในที่สุด ราชวงส์หมิงถูกก่อตั้งขึ้น เป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองในด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ในยุคนี้มีการสำรวจทางทะเลอย่างกว้างขวาง ถือเป็นอาณาจักรที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น

ในช่วงแรกของการปกครอง ราชวงศ์หมิงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปที่ปักกิ่งแทนที่เมืองหลวงเก่าอย่างหนานจิง เมื่อระบบทุนนิยมเริ่มขยายตัว นักปรัชญา เช่น หวัง หยางหมิง ได้วิพากษ์วิจารณ์และขยายลัทธิขงจื้อใหม่ด้วยแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยมและความเท่าเทียมกันของสี่อาชีพ[44] ชนชั้นนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นกำลังสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์และนำไปสู่ขบวนการคว่ำบาตรภาษี รวมทั้งเกิดความอดอยาก และเหตุการณ์สำคัญในการป้องกันจากการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–1598) และการรุกรานของราชวงศ์จินยุคหลัง ใน ค.ศ. 1644 ปักกิ่งถูกยึดครองโดยกองกำลังกบฏชาวนาที่นำโดยหลี่ จื้อเฉิง จนได้รับฉายาว่า "กษัตริย์ผู้กล้า" ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นกษัตริย์ จักรพรรดิฉงเจิน เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 9 และองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง จีนต้องประสบภาวะภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่งใน ค.ศ. 1644 หลี่จื้อเฉิง อดีตนายทหารผู้น้อย เริ่มรวบรวมสมัครพรรคพวกก่อการต่อต้านราชสำนักขึ้นจนสามารถยึดเมืองซีอานได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซุ่น จักรพรรดิฉงเจินทรงทำอัตวินิบาตกรรม

ในเวลาต่อมา เข้าสู่ยุคของราชวงศ์ชิง ถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. 1636 ถึง ค.ศ. 1912 ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ จักรพรรดิแมนจูทรงให้การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธแบบทิเบต ราชวงศ์ชิงปกครองโดยใช้รูปแบบขงจื๊อ ในปลายสมัยของราชวงศ์ชิงถือว่าได้เป็นยุคตกต่ำ เกิดการฉ้อโกง การแก่งแย่งอำนาจ และความอดอยากของประชาชน อีกทั้งยังต้องเผชิญการคุกคามจากภายนอกในยุคล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก โดยมีจักรวรรดิอังกฤษเป็นชาติแรก อังกฤษได้นำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนทำให้ราชสำนักชิงอ่อนแอ และนำไปสู่สงครามฝิ่น ความพ่ายแพ้ของราชวงศ์ชิงทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ และยังตามมาด้วการถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมหลายฉบับ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ความพ่ายแพ้ในพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ยังนำไปสู่การสูญเสียเกาะไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น

สาธารณรัฐจีน (1912-1949)

 
ซุน ยัตเซ็นและเจียง ไคเชก

จากเหตุการณ์ความไม่สงบมากมาย ทำให้การปกครองระส่ำระส่ายอย่างหนักนำไปสู่การล้มสลายของราชวงศ์ การปฏิวัติซินไฮ่ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 (สิ้นสุดลงในปี พ.ศ 2455) ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิง โดยการนำของ ดร. ชุน ยัตเซน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง แม้ว่าหลังจากเริ่มก่อการ ซุนยัดเซ็นจะต้องลี้ภัยออกไปต่างประเทศ แต่ซุนยัดเซ็นก็เดินทางไปในหลายประเทศเพื่อขอระดมทุนสนับสนุนจากคนจีนโพ้นทะเลและนายทุนในต่างแดน โดยมี หวงซิง สหายร่วมอุดมการณ์ของซุนยัดเซ็น เป็นผู้นำทหารทหาร ออกปฏิบัติการอยู่ภายในประเทศอีกหลายครั้ง สุดท้ายแล้วการปฏิวัติซินไฮ่ก็ส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงที่ทำให้ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดการโค่นล้มอำนาจครั้งนี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมจีนในเวลานั้น ขณะที่ผู้นำประเทศในเวลานั้นคือจักรพรรดิชาวแมนจูกลับไม่มีอำนาจและกำลังพอที่จะบริหารประเทศให้ดีขึ้นได้ แล้วยังถูกประชาชนมองว่าราชวงศ์ของชาวแมนจูได้แสวงหาประโยชน์จากคนจีน ซึ่งตลอดระยะเวลาปกครอง 268 ปี (พ.ศ. 2187 – 2455) มีการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนาง เหล่าขุนศึก ด้วยเหตุนี้ราษฎรส่วนมากจึงตกอยู่ในสภาพยากจน ชาวไร่ชาวนาถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แผ่นดินจีนถูกคุกคามจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก และ ญี่ปุ่น จีนได้ทำสงครามต่อต้านการรุกรานของกองกำลังต่างชาติเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด ทำให้คณะปฏิวัติไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของราชวงศ์ชิง[45]

สาธารณรัฐประชาชนจีน

การสู้รบส่วนใหญ่ในสงครามกลางเมืองจีนยุติลงในปี พ.ศ. 2492 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ และพรรคก๊กมินตั๋งต้องล่าถอยไปยังเกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน[46] หรือที่เรียกว่า "จีนคอมมิวนิสต์" หรือ "จีนแดง"[47]

แผนเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ล้านคน[48] ใน พ.ศ. 2509 เหมาและพันธมิตรทางการเมืองได้เริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งกินเวลาจนกระทั่งเหมาถึงแก่อสัญกรรมในอีกหนึ่งทศวรรษถัดมา การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคและความกลัวสหภาพโซเวียต นำไปสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่ในสังคมจีน ใน พ.ศ. 2505 ช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเลวร้ายลงมากที่สุด เหมาและโจว เอินไหล พบกับริชาร์ด นิกสันในกรุงปักกิ่งเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติแทนที่สาธารณรัฐจีน และเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

การปฏิรูปและประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

หลังจากเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2519 และการจับกุมตัวแก๊งออฟโฟร์ ซึ่งถูกประณามว่าเป็นผู้ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้ง เสี่ยวผิงได้แย่งชิงอำนาจจากทายาททางการเมืองที่เหมาวางตัวไว้ หัว กั๋วเฟิง อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นประธานพรรคหรือประมุขแห่งรัฐ ในทางปฏิบัติแล้ว เติ้งเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น อิทธิพลของเขาภายในพรรคนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้ผ่อนปรนการควบคุมเหนือชีวิตประจำวันของพลเมืองและคอมมูนถูกยุบโดยชาวนาจำนวนมากได้รับที่ดินเช่า ซึ่งได้เป็นการเพิ่มสิ่งจูงใจและผลผลิตทางเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงจีนจากระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งมีสภาพเป็นตลาดเปิดเพิ่มมากขึ้น หรือที่บางคนเรียกว่า "ตลาดสังคมนิยม"[49] และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เรียกมันอย่างเป็นทางการว่า "สังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน" สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2525

ในปี พ.ศ. 2532 การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทางการผู้สนับสนุนการปฏิรูป หู ย่าวปัง เป็นการจุดชนวนการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวถูกปราบปรามลงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การประณามและการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลจีน[50][51]

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และนายกรัฐมนตรีจู หรงจี สองอดีตนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ภายใต้การบริหารงานเป็นระยะเวลาสิบปีของทั้งสอง สมรรถนะทางเศรษฐกิจของจีนได้ช่วยยกระดับฐานะของชาวนาประมาณ 150 ล้านคนขึ้นจากความยากจนและรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไว้ที่ 11.2% ต่อปี[52][53] จีนเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2544

ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจีนได้เริ่มวิตกกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้จะมีผลกระทบในด้านลบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความกังวลคือบางภาคส่วนของสังคมไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเพียงพอ ตัวอย่างหนึ่งคือช่องว่างใหญ่ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท ดังนั้น ภายใต้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดปัจจุบัน ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้เริ่มดำเนินนโยบายเพื่อที่จะหยิบยกประเด็นปัญหาของการแจกจ่ายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แต่ผลที่ออกมานั้นยังสามารถพบเห็นได้[54] ชาวนามากกว่า 40 ล้านคนถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินของตน[55] ซึ่งเป็นเหตุปกติธรรมดาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงและการจลาจลกว่า 87,000 ครั้งในปี พ.ศ. 2548[56] สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของจีนแล้ว มาตรฐานการดำเนินชีวิตมองเห็นได้ว่ามีการพัฒนาอย่างมาก และเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น แต่การควบคุมทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับความยากจนในชนบท[57]

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิงปกครองประเทศนับแต่ปี 2012 และมุ่งดำเนินการความพยายามขนานใหญ่เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจจีน[58][59] (ซึ่งประสบปัญหาจากความไม่มั่นคงทางโครงสร้างและความเติบโตที่ชะลอตัวลง)[60][61][62] และยังปฏิรูปนโยบายบุตรคนเดียวและระบบการลงโทษ[63] ตลอดจนการกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่[64] ในปี 2013 ประเทศจีนเริ่มต้นข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก[65]

การระบาดทั่วของโควิด-19 ทั่วโลกมีต้นกำเนิดในอู่ฮั่นและมีการระบุครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2019[66] รัฐบาลจีนตอบสนองด้วยยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID) นับเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้แนวทางดังกล่าว[67] เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวกว้างขวางขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่างการระบาดทั่ว โดยมีการสร้างงานที่มั่นคงและการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศเป็นประวัติการณ์ แต่การบริโภคค้าปลีกยังคงต่ำกว่าคาด[68]

การเมือง

รัฐธรรมนูญจีนระบุว่าประเทศจีน "เป็นรัฐสังคมนิยมที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการประชาธิปไตยประชาชนซึ่งมีชนชั้นกรรมกรเป็นผู้นำ และตั้งอยู่บนพันธมิตรของกรรมกรและเกษตรกร" และสถาบันของรัฐ "จักนำหลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ไปปฏิบัติ"[69] ประเทศจีนเป็นรัฐสังคมนิยมประเทศเดียวในโลกที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง มีผู้อธิบายรัฐบาลจีนอย่างหลากหลายว่าเป็นคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมบ้าง แต่ยังมีอธิบายว่าเป็นอำนาจนิยม[70] และบรรษัทนิยม[71] ซึ่งมีการจำกัดในหลายด้าน ที่เด่นชัดคือการขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิการมีบุตร การก่องตั้งองค์การทางสังคมอย่างเสรี และเสรีภาพในการนับถือศาสนา[72]

แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะอธิบายประเทศจีนว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือสังคมนิยม"[73] แต่ภายนอกประเทศมักอธิบายประเทศจีนว่าเป็นรัฐสอดแนมอำนาจนิยมและเผด็จการ[74][75][76][77][78][79] ผู้นำจีนเรียกระบบการเมือง อุดมการณ์และเศรษฐกิจว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ" "เผด็จการประชาธิปไตยประชาชน" "สังคมนิยมที่มีลักษณะจีน" และ "เศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม" ตามลำดับ[80][81]

พรรคคอมมิวนิสต์จีน

นับแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ส่วนสำคัญของรัฐธรรมนูญจีนประกาศว่า "ลักษณะที่นิยามสังคมนิยมที่มีลักษณะจีนคือผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน"[82] การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2018 ได้กำหนดสถานภาพรัฐพรรคการเมืองเดียวโดยพฤตินัยของจีนไว้ในรัฐธรรมนูญ[82] ซึ่งเลขาธิการพรรค (หัวหน้าพรรค) มีอำนาจสูงสุดและมีอำนาจหน้าที่เหนือรัฐและรัฐบาล และยังเป็นผู้นำสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการด้วย[83] เลขาธิการคนปัจจุบัน คือ สี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2012 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในวันที่ 25 ตุลาคม 2017[84] ระบบการเลือกตั้งของพรรคเป็นแบบพีระมิด สภาประชาชนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภาประชาชนระดับสูงขึ้นไปจนถึงสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของสภาประชาชนระดับต่ำกว่าหนึ่งระดับ[69] มีพรรคการเมืองอีก 8 พรรคที่มีผู้แทนในสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมปรึกษาหารือการเมืองประชาชนจีน (CPPCC)[85] จีนสนับสนุนหลักการ "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" ของลัทธิเลนิน[69] แต่นักวิจารณ์เรียกสภาประชาชนนี้ว่าเป็นองค์กร "ตรายาง"[86]

ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพปลดปล่อยประชาชนเลื่อนขั้นตามหลักอาวุโส จึงเป็นไปได้ที่จะแบ่งแยกผู้นำจีนออกเป็นรุ่น ๆ ในวจนิพนธ์อย่างเป็นทางการ จะมีการระบุผู้นำแต่ละกลุ่มกับส่วนขยายของอุดมการณ์ของพรรคต่างกัน นักประวัติศาสตร์ศึกษาการพัฒนาของการปกครองประเทศจีนแต่ละยุคโดยเรียกว่าเป็น "รุ่น" ต่าง ๆ

การปกครอง

 
มหาศาลาประชาชนในปักกิ่ง ที่ประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติ

ประเทศจีนเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียวที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้นำ สภาประชาชนแห่งชาติในปี 2018 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อยกเลิกข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนสองสมัย ทำให้ผู้นำมีสิทธิดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน (และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ได้ไม่มีกำหนดวาระ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าสร้างการปกครองแบบเผด็จการ[87][88] ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐในนาม มาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนแห่งชาติ ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน คือ สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นหัวหน้าคณะมนตรีรัฐกิจอันประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี 4 คน และหัวหน้ากระทรวงและคณะกรรมาธิการต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ หลี่ เค่อเฉียง ซึ่งยังเป็นสมาชิกอาวุโสของคณะกรรมการประจำคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นองค์กรวินิจฉัยสั่งการระดับบนสุดโดยพฤตินัยของจีน[89][90]

การแบ่งเขตการปกครอง

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอำนาจการปกครองเหนือ 22 มณฑล และถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลที่ 23 ของตน ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีอำนาจการปกครองเหนือไต้หวันซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐจีน การอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีนถูกคัดค้านโดยสาธารณรัฐจีน[91] นอกจากนี้ยังแบ่งเขตการปกครองเป็นเขตปกครองตนเอง 5 แห่ง แต่ละแห่งมีชื่อตามชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่นั้น นครปกครองโดยตรง 4 แห่ง และเขตบริหารพิเศษ 2 แห่ง ซึ่งมีสิทธิ์ปกครองตนเองอยู่ในระดับหนึ่ง ดินแดนเหล่านี้อาจถูกเรียกรวมกันว่า "จีนแผ่นดินใหญ่" ซึ่งมักยกเว้นฮ่องกงและมาเก๊า

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 
สี จิ้นผิง ในการกล่าวสุนทรพจน์ ณ สภาแห่งชาติ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

จีนมีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 179 รัฐ และมีคณะผู้แทนทางทูตใน 174 ประเทศ นับตั้งแต่ปี 2019 จีนมีเครือข่ายทางการทูตที่ใหญ่ที่สุดในโลก[92] เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นสมาชิกกลุ่ม 20 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศจีนยึดหลักการนโยบายจีนเดียว กล่าวคือ นโยบายที่ยืนยันว่ามีเพียงรัฐรัฐเดียวที่ใช้ชื่อว่าจีน ซึ่งขัดต่อความคิดที่ว่ามีสองรัฐ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หลายรัฐปฏิบัติตามนโยบายจีนเดียว แต่ความหมายไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่จีนได้ประท้วงหลายครั้งเมื่อต่างประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตกมีกิจกรรมทางการทูตต่อไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขายอาวุธยุทโธปกรณ์[93] นโยบายการต่างประเทศของจีนในปัจจุบันส่วนใหญ่มีรายงานว่าอิงหลักการห้าประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และยังขับเคลื่อนด้วยแนวคิด "ความสามัคคีที่ปราศจากความเท่าเทียมกัน" ซึ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างรัฐต่าง ๆ แม้จะมีความแตกต่างทางอุดมการณ์ก็ตาม[94]

จีนได้แก้ไขพรมแดนทางบกกับ 12 ประเทศจาก 14 ประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ดำเนินการประนีประนอมอย่างมากในประเทศส่วนใหญ่แล้ว ปัจจุบันจีนมีพรมแดนทางบกที่เป็นข้อพิพาทกับอินเดียและภูฏาน[95] นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อพิพาททางทะเลกับหลายประเทศเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเกาะเล็กๆ หลายแห่งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เช่น หินโซโคตรา กรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ และหมู่เกาะทะเลจีนใต้ทั้งหมด จีนมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐและญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทย

  • การทูต

ทางการไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศดำเนินมาด้วยความราบรื่นบนพื้นฐานของความเสมอภาค เคารพซึ่งกันและกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และอยู่ภายใต้หลักการของผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพของภูมิภาค ความร่วมมือกันของทั้ง 2 ได้ดำเนินมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อจีนสามารถได้สถาปนาความสัมพันธ์กับอาเซียนทุกประเทศแล้ว ความสำคัญของประเทศไทยต่อจีนในทางยุทธศาสตร์ได้ลดลงไปจากเดิม ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงได้เน้นด้านการค้าและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นหลัก

ไทยและจีนไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใด ๆ ที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ การไปมาหาสู่ของผู้นำระดับสูงสุดก็ได้เป็นไปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2543 การเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของสองประเทศอีกด้วย

  • การเมือง

ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย - จีน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคี และเวทีภูมิภาค เช่น การประชุมอาเซียนและจีน อาเซียน + 3 ARF ASEM เป็นต้น ในการเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ทางไทยและจีนต่างเห็นพ้องที่จะมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์และขอบข่ายความร่วมมือระหว่างกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จหลายด้าน เช่น ความร่วมมือด้านยาเสพติด ด้านการเงิน การคลัง พาณิชย์นาวี รวมทั้งได้ลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย - จีน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย - จีน

เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างปไทยและจีน ทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันเป็นพิเศษระหว่างทั้งสองประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีไทย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเยือนจีน อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 เพื่อร่วมฉลองในกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนร่วมกันจัดขึ้นที่ประเทศจีน การจัดกิจกรรมฉลองร่วม การจัดทำหนังสือที่ระลึก การจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน และการแลกเปลี่ยนเยาวชน เป็นต้น

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนนครหนานหนิง เมื่อวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2549 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนสมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นในโอกาสที่อาเซียนและจีนฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 15 ปี โดยได้พบหารือกับผู้นำระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นของจีน รวมถึงผู้นำอีก 9 ประเทศของอาเซียน ซึ่งการเยือนประสบผลสำเร็จอย่างดี

  • เศรษฐกิจและการค้า

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ได้มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย -จีน ซึ่งช่วยลดอุปสรรคด้านภาษีในการค้าสินค้าผักและผลไม้ (สินค้าพิกัดภาษี 07 08) ทั้งประเทศไทย และ จีน มีความพร้อมในการลดภาษีอยู่แล้ว ซึ่งได้มีผลยกเว้นภาษีสำหรับสินค้า 116 รายการ ในพิกัดภาษี 07 08 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546

  • การค้าไทย และ จีน ในปี 2548 มีมูลค่า 20,343.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.31 ประเทศไทยส่งออก 9,183.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้า 11,159.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การค้าไทย และ จีน ในปี 2549 มีมูลค่า 25,154.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 ประเทศไทยส่งออก 11,708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 13,445.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าที่ทางการจีนนำเข้าจากไทยที่สำคัญมากที่สุดคือ สายอากาศและเครื่องสะท้อนสัญญาณทางอากาศ พลาสติก มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ที่เลื่อยแล้ว ส่วนสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กรีดร้อน เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เงิน ตะกั่ว

การลงทุนของไทยในจีนเมื่อปี 2548 ไทยลงทุนในจีนรวม 95.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ธัญพืช ฟาร์มสัตว์ มอเตอร์ไซค์ โรงแรม ร้านอาหาร การนวดแผนไทย ส่วนการลงทุนของจีนในไทยในปีเดีวกัน จีนลงทุนในไทยรวม 2,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานการลงทุนที่จีนได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยกิจการก่อสร้าง การค้า ธนาคาร การแปรรูปโลหะ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน เครื่องจักร ร้านอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

  • การทหาร
  • การท่องเที่ยว

กองทัพ

 
เครื่องบินขับไล่เฉิงตู เจ-20 เริ่มเข้าประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในเดือนมีนาคม 2017

กองทัพปลดปล่อยประชาชน ถือเป็นหนึ่งในกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในโลก และมียุทโธปกรณ์ที่มีความทันสมัยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา[96] ประกอบด้วยกองกำลังภาคพื้นดิน (PLAGF) กองทัพเรือ (PLAN) กองทัพอากาศ (PLAAF) กองกำลังจรวด (PLARF) และกองกำลังสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ (PLASSF) มีบุคลากรประจำการเกือบ 2.2 ล้านคนซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถือครองคลังอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก งบประมาณทางการทหารอย่างเป็นทางการของจีนสำหรับปี 2022 มีมูลค่ารวม 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.45 ล้านล้านหยวน) ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะประมาณการว่ารายจ่ายจริงในปีนั้นอยู่ที่ 292 พันล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม

การใช้จ่ายทางทหารตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2021 มีมูลค่าเฉลี่ย 215 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือ 1.7 เปอร์เซ็นต์ของอัตราจีดีพีรองจากสหรัฐเพียง 734 พันล้านดอลลาร์ต่อปีหรือ 3.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

เศรษฐกิจ

ศักยภาพทางเศรษฐกิจ

 
อัตราการเจริญการเติบโตของเศรษฐกิจจีนโดยธนาคารโลก

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2492 จนถึงปลาย พ.ศ. 2521 สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางเหมือนโซเวียต ไม่มีภาคเอกชนหรือระบอบทุนนิยม เหมา เจ๋อตง เริ่มใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล เพื่อผลักดันประเทศให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยและก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แต่นโยบายนี้กลับถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวทั้งทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรม[97] หลังจากที่เหมาเสียชีวิตและสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้ง เสี่ยวผิง และผู้นำจีนรุ่นใหม่ได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและใช้ระบอบเศรษฐกิจแบบผสม

 
อาคารตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในย่านธุรกิจเขตผู่ตง เซี่ยงไฮ้

ตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 2521 เศรษฐกิจของจีนซึ่งนำโดยการลงทุนและการส่งออก[98] เติบโตขึ้นถึง 70 เท่า[99] และกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด[100] ปัจจุบัน จีนมีจีดีพี (nominal) สูงเป็นอันดับสามของโลกที่ 30 ล้านล้านหยวน (4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่รายได้ต่อหัวมีค่าเฉลี่ยเพียง 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ จึงยังคงตามหลังประเทศอื่นอีกนับร้อย[101] อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ มีอัตราส่วนร้อยละ 11.3, 48.6 และ 40.1 ตามลำดับ และหากวัดด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ จีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น[102] จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกและเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางการค้าสูงเป็นอันดับสามรองจาก สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 2.56 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าการส่งออก 1.43 ล้านล้านดอลลาร์ (อันดับสอง) และมูลค่าการนำเข้า 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ (อันดับสาม) จีนมีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก (มากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์) [103] และเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมของการลงทุนจากต่างชาติ โดยสามารถดึงเงินลงทุนมากกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2550 เพียงปีเดียว[104][105]

ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตหมายเลข 1 ของโลกนับแต่ปี 2010 แซงหน้าสหรัฐซึ่งเป็นหมายเลข 1 ของโลกมาสองร้อยปี[106][107] ประเทศจีนยังเป็นผู้ผลิตไฮเทคอันดับ 2 ของโลกนับแต่ปี 2012 จากข้อมูลของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ[108] จีนยังเป็นตลาดค้าปลีกใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ[109] ประเทศจีนยังเป็นผู้นำของโลกด้านอีคอมเมิร์ซ โดยคิดเป็นสัดส่นวตลาด 40% ของโลกในปี 2016[110] และกว่า 50% ในปี 2019[111] ประเทศจีนเป็นผู้นำด้านพาหนะไฟฟ้า การผลิตและการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (BEV และ PHEV) เกินกึ่งหนึ่งของโลกในปี 2018[112]

แหล่งข้อมูลต่างประเทศและจีนบางส่วนอ้างว่าสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนระบุความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงกว่าจริง[113][114][115][116] แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ระบุว่าความเติบโตสูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการเช่นกัน[117][118][119][120][121][122]

ประเทศจีนมีเศรษฐกิจไม่เป็นทางการขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปิดเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจส่วนนี้สร้างการจ้างงานและรายได้ แต่มีปัญหาเรื่องการไม่เป็นที่ยอมรับและมีผลิตภาพต่ำกว่า[123] จีนกลายเป็นประเทศการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2013 เมื่อวัดจากผลรวมของการนำเข้าและส่งออก รวมถึงผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณ 45% ของตลาดสินค้าทางทะเล ในปี 2016 จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดใน 124 ประเทศอื่น ๆ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 669.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 คิดเป็น 20% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน

โครงสร้างพื้นฐาน

การคมนาคม และ โทรคมนาคม

คมนาคม

สะพานเป่ย์ผานเจียง ได้ชื่อว่าเป็นสะพานขึงที่มีความสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 565 เมตร
รถไฟความเร็วสูง ฟู่ซิง วิ่งใกล้ย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงปักกิ่ง
ท่าอากาศยานนานาชาติเป่ย์จิงต้าซิง มีอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เครือข่ายถนนระดับชาติของจีนได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญผ่านการสร้างเครือข่ายทางหลวงและทางด่วนแห่งชาติ ในปี 2018 ทางด่วนในประเทศจีน มีความยาวรวม 161,000 กม. (100,000 ไมล์) ทำให้เป็นระบบทางหลวงที่ยาวที่สุดในโลก ประเทศจีนมีตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก[124][125] แซงหน้าสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านยอดขการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ ประเทศนี้ยังกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของโลกในปี 2022 รองจากญี่ปุ่น[126] ต่อมาในช่วงต้นปี 2023 จีนแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก[127][128] ผลข้างเคียงจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายถนนของจีนทำให้อุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรจะลดลง 20% ระหว่างปี 2007 ถึง 2017 ในเขตเมือง จักรยานยังคงเป็นพาหนะหลักในการเดินทางทั่วไป แม้ว่ารถยนต์จะแพร่หลายมากขึ้นก็ตาม ในปี 2012 มีจักรยานประมาณ 470 ล้านคันในประเทศจีน การรถไฟของจีน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ China State Railway Group Company เป็นหนึ่งในเส้นทางที่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุดในโลก โดยรองรับปริมาณการจราจรทางรถไฟถึงหนึ่งในสี่ของโลกบนเส้นทางเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางทั่วโลกในปี 2006 ในปี 2021 ประเทศจีนมีทางรถไฟ 150,000 กม. (93,206 ไมล์) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ยาวเป็นอันดับสองของโลก

ระบบรถไฟความเร็วสูง (HSR) ของจีนเริ่มก่อสร้างเมื่อต้นในทศวรรษ 2000 และในสิ้นปี 2022 รถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีเส้นทางเฉพาะถึง 42,000 กิโลเมตร (26,098 ไมล์) ทำให้กลายเป็นเครือข่ายที่ยาวที่สุดในโลก[129] บริการบนเส้นทางปักกิ่ง–เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง–เทียนจิน และเฉิงตู–ฉงชิ่งมีความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม. (217 ไมล์ต่อชั่วโมง) ทำให้เป็นบริการรถไฟความเร็วสูงแบบธรรมดาที่เร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 2.29 พันล้านคนต่อปีในปี 2019 จึงเป็นสถานีที่พลุกพล่านที่สุดในโลก รถไฟแม็กเลฟเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีความเร็วถึง 431 กม./ชม. (268 ไมล์ต่อชั่วโมง) เป็นบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ที่เร็วที่สุดในโลก[130]

ตั้งแต่ปี 2000 การเติบโตของระบบขนส่งด่วนในเมืองต่าง ๆ ของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว[131] เมืองต่าง ๆ มีระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่ใช้งานอยู่ และอีก 39 เมืองได้รับการอนุมัติระบบรถไฟใต้ดินแล้ว[132] ในปี 2020 จีนมีระบบรถไฟใต้ดินที่ยาวที่สุดในโลก 5 แห่ง โดยมีเครือข่ายในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว เฉิงตู และเชินเจิ้นเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด จีนมีท่าอากาศยานกว่า 241 แห่งใน ค.ศ. 2021 ประเทศจีนมีท่าเรือมากกว่า 2,000 แห่ง โดยประมาณ 130 แห่งเปิดให้บริการการขนส่งจากต่างประเทศ[133]

โทรคมนาคม

จีนเป็นตลาดโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปัจจุบันมีจำนวนโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานมากที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกลงทะเบียนมากกว่า 1.69 พันล้านราย ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 1.05 พันล้านคนตั้งแต่ปี 2021 เทียบเท่ากับประมาณ 73.7% ของประชากร และเกือบทั้งหมดเป็นมือถือเช่นกัน ภายในปี 2018 จีนมีผู้ใช้ เครือข่าย 4G มากกว่า 1 พันล้านคน คิดเป็น 40% ของทั้งหมดทั่วโลก[134] จีนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้าน 5G ภายในปลายปี 2018 จีนได้เริ่มการทดลอง 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่[135] ณ เดือนมีนาคม 2022 จีนมีผู้ใช้ 5G มากกว่า 500 ล้านรายและติดตั้งสถานีฐาน 1.45 ล้านแห่ง[136]

จีนได้พัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมของตนเองซึ่งมีชื่อว่า BeiDou ซึ่งเริ่มให้บริการนำทางเชิงพาณิชย์ทั่วเอเชียในปี 2012 รวมถึงบริการทั่วโลกภายในสิ้นปี 2018[137]

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 
สำนักงานใหญ่ของเทนเซ็นต์ในเมืองเชินเจิ้น หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีและความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก[138]

นับตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม รัฐบาลจีนได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่เป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์แทบจะเรียกได้ว่าทัดเทียมสหรัฐในด้านการวิจัย จีนมีค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการประมาณ 2.4% ของจีดีพีรยมในประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนาใน ค.ศ. 2020 ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 377.8 พันล้านดอลลาร์[139] จากข้อมูลของตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก จีนได้รับการยื่นคำขอมากกว่าสหรัฐ ในปี 2018 และ 2019 และติดอันดับ 1 ของโลกในด้านสิทธิบัตร โมเดลอรรถประโยชน์ เครื่องหมายการค้า การออกแบบอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ในปี 2021[140][141] ได้รับการจัดอันดับที่ 11 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลกในปี 2022 ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 35 ในปี 2013[142] ประเทศจีนยังเต็มไปด้วยนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลรวดเร็วที่สุดของโลก[143] อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เหล่านี้อาศัยส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยประมวลผลกลาง ซึ่งออกแบบในต่างประเทศซึ่งนำเข้าจากนอกประเทศจีน นอกจากนี้ จีนยังประสบปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างภายในประเทศ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด และเครื่องยนต์อากาศยานไอพ่นที่เชื่อถือได้[144]

อวกาศ

 
ภารกิจเสินโจว 13 ประกอบด้วยนักบินอวกาศชาวจีนสามคน

โครงการอวกาศของจีนเริ่มต้นใน ค.ศ. 1958 ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม จีนไม่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงแรกของประเทศจนกระทั่งปี 1970 ด้วย ดาวเทียมตงฟังหง 1 ซึ่งทำให้จีนเป็นประเทศที่ห้าที่ปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ[145] ในปี 2003 จีนกลายเป็นประเทศที่สามในโลกที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอย่างเป็นอิสระด้วยกระสวยอวกาศเสินโจว 5 ในปี 2023 มีชาวจีน 18 คนได้เดินทางสู่อวกาศ โดยมีนักบินอวกาศสตรีจำนวนสองคนด้วย ในปี 2011 จีนได้เปิดตัวสถานีอวกาศทดสอบแห่งแรกในชื่อ เทียนกง-1[146] ในปี 2013 หุ่นยนต์โรเวอร์ของจีนประสบความสำเร็จในการแตะพื้นผิวดวงจันทร์โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจฉางเออ 3

ในปี 2019 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ส่งยานสำรวจฉางเออ 4 ลงจอดบนอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ ต่อมา ในปี 2020 ฉางเออ 5 สามารถส่งตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลกได้สำเร็จ ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่สามที่สามารถส่งตัวอย่างดังกล่าวได้ ต่อจากสหรัฐและสหภาพโซเวียต[147] ในปี 2021 จีนกลายเป็นประเทศที่สามที่ส่งยานอวกาศลงจอดบนดาวอังคาร และเป็นประเทศที่สองที่ส่งยานสำรวจบนดาวอังคาร ต่อจากสหรัฐอเมริกา[148] สถานีอวกาศเทียนกง เป็นสถานีอวกาศระยะยาวแห่งแรกของจีนและเป็นแกนหลักของ "ขั้นตอนที่สาม" ของโครงการอวกาศจีน ดำเนินการโดยองค์การอวกาศแห่งประเทศจีน[149][150] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 จีนประกาศแผนการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ภายใน ค.ศ. 2030[151]

สาธารณสุข

คณะกรรมการวางแผนสุขภาพและครอบครัวแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการท้องถิ่น ทำหน้าที่ดูแลความต้องการด้านสุขภาพของประชากรชาวจีน การให้ความสำคัญกับสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกันถือเป็นนโยบายด้านสุขภาพของจีนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 ในเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้เริ่มโครงการรณรงค์สุขภาพซึ่งมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงสุขอนามัย ตลอดจนการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ โรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และไข้ดำแดง ซึ่งก่อนหน้านี้แพร่หลายในประเทศจีน แทบจะถูกกำจัดหมดสิ้นโดยการรณรงค์ครั้งนี้ นับตั้งแต่ เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1978 สุขภาพของประชาชนชาวจีนดีขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีโภชนาการที่ดีขึ้น แม้ว่าบริการสาธารณสุขฟรีจำนวนมากในชนบทจะหายไปก็ตาม ในปี 2009 รัฐบาลได้เริ่มโครงการริเริ่มด้านการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่ในระยะเวลา 3 ปี มูลค่า 124 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้ประชากรจีน 95% มีประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน

ในปี 2022 อัตราการคาดหมายคงชีพของชาวจีนอยู่ที่ 78 ปี และอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดอยู่ที่ 5 ต่อพันคน (ในปี 2021)[152] ทั้งสองด้านมีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 อัตราการแคระแกรน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ ลดลงจาก 33.1% ในปี 1990 เป็น 9.9% ในปี 2010 แม้จะมีการปรับปรุงด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญและการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ขั้นสูง จีนก็ประสบปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นหลายประการ เช่น โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากมลพิษทางอากาศที่แพร่หลาย ผู้สูบบุหรี่หลายร้อยล้านคน และการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในกลุ่มเยาวชนในเมือง[153][154]

ประชากรจำนวนมากและเมืองที่มีประชากรหนาแน่นของจีนทำให้เกิดการระบาดของโรคร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น การระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะควบคุมได้ก็ตาม ในปี 2010 มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1.2 ล้านคนในประเทศจีน[155] การระบาดทั่วของโควิด-19 ถูกพบครั้งแรกในนครอู่ฮั่นเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 มีการศึกษาเพิ่มเติมทั่วโลกเกี่ยวกับแหล่งที่มาที่เป็นไปได้ของไวรัส เจ้าหน้าที่สหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลจีนปกปิดขอบเขตของการระบาดก่อนที่จะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ในระดับสากล[156]

ประชากร

เชื้อชาติ

จีนเป็นประเทศเอกภาพที่มีหลายชนชาติ รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายทางชนชาติที่ให้ ชนชาติต่าง ๆ มีความเสมอภาค สมานสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและขนบธรรมเนียมของชนชาติส่วนน้อยระบบปกครองตนเองในเขตชนชาติส่วนน้อยเป็นระบบการเมืองอันสำคัญอย่างหนึ่งของจีน คือ ให้ท้องที่ที่มีชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆ อยู่รวม ๆ กันใช้ระบบปกครองตนเอง ตั้งองค์กรปกครองตนเองและใช้สิทธิอำนาจปกครองตนเอง ภายใต้การนำที่เป็นเอกภาพ ของรัฐ รัฐประกันให้ท้องที่ที่ปกครองตนเองปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐตามสภาพที่เป็นจริงในท้องถิ่นของตน ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ บุคลากรทางวิชาการและ กรรมกรทางเทคนิคชนิดต่าง ๆ ของชนชาติส่วนน้อยเป็นจำนวนมาก ประชาชน ชนชาติต่าง ๆ ในท้องที่ที่ปกครองตนเองกับประชาชนทั่วปแระเทศรวมศูนย์กำลังดำเนิน การสร้างสรรค์สังคมนิยมที่ทันสมัย เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในท้องที่ที่ ปก ครองตนเองให้เร็วขึ้นและสร้างสรรค์ท้องที่ที่ปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อยที่สมานสามัคคีกันและเจริญรุ่งเรือง ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ระหว่างการปฏิบัติเป็นเวลาหลายสิบปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ของจีนได้ก่อรูปขึ้นซึ่งทรรศนะและนโยบายพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาทางชนชาติหลายประการที่สำคัญได้แก่

  • การกำเนิด การพัฒนาและการสูญสลายของชนชาตินั้นเป็นกระบวนการทาง ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปัญหาชนชาติจะดำรงอยู่เป็นเวลานาน
  • ระยะสังคมนิยมเป็นระยะที่ชนชาติต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง ปัจจัย ร่วมกันระหว่างชนชาติต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ลักษณะพิเศษและข้อ แตกต่างระหว่างชนชาติต่าง ๆ จะดำรงอยู่ต่อไป
  • ปัญหาชนชาติเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั่วสังคม มีแต่แก้ปัญหาทั่วสังคมให้ลุล่วง ไปเท่านั้น ปัญหาทางชนชาติจึงจะได้รับการแก้ไขอย่างมีขั้นตอน มีแต่ในภารกิจร่วมกัน ที่สร้างสรรค์สังคมนิยมเท่านั้น ปัญหาทางชนชาติของจีนในปัจจุบันจึงจะได้รับการ แก้ไขอย่างมีขั้นตอนได้
  • ชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่ามีประชากรมากหรือน้อย มีประวัติยาวหรือสั้นและมีระดับ การพัฒนาสูงหรือต่ำ ต่างก็เคยสร้างคุณูปการเพื่ออารยธรรมของปิตุภูมิ จึงควรมีความ เสมอภาคทั้งนั้น ควรเสริมสร้างความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ระหว่างประชาชนชนชาติต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและรักษาเอกภาพแห่งชาติ
  • การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่เป็นภาระหน้าที่มูลฐานแห่งสังคมนิยม และก็ เป็นภาระหน้าที่มูลฐานของงานชนชาติของจีนในขั้นตอนปัจจุบัน ชนชาติต่าง ๆ ต้องช่วย เหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุซึ่งความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

การปกครองตนเองในเขตชนชาติส่วนน้อยเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อทฤษฎีชนชาติของลัทธิมาร์กซ และเป็นระบอบมูลฐานในการแก้ปัญหาชนชาติของจีนการพยายามสร้างขบวนเจ้าหน้าที่ชนชาติส่วนน้อยขนาดใหญ่ขนาดหนึ่งที่มีทั้งคุณธรรม และขีดความสามารถเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในการทำงานทางชนชาติให้ดีและแก้ปัญหาทางชนชาติให้ลุล่วงไปปัญหาทางชนชาติกับปัญหาทางศาสนามักจะผสมผสานอยู่ด้วยกันในท้องที่บาง แห่ง ขณะจัดการกับปัญหาทางชนชาติ ยังต้องสังเกตปฏิบัติตามนโยบายทางศาสนา ของรัฐอย่างทั่วด้านและถูกต้องนอกจากนี้ ในขณะเดียวกันกับที่พยายามส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาตลอดจนภารกิจอื่น ๆ ของเขตชนชาติส่วนน้อย ยกระดับชีวิตทาง วัตถุและวัฒนธรรมของประชาชนชนชาติส่วนน้อยอันไพศาลซึ่งรวมทั้งชาวศาสนาด้วยให้สูงขึ้น รัฐบาลจีนยังสนใจเคารพความเชื่อถือทางศาสนาของชนชาติส่วนน้อยและรักษา มรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติส่วนน้อยเป็นพิเศษ สำรวจ เก็บสะสม ศึกษา จัดให้เป็น ระเบียบและจัดพิมพ์จำหน่ายมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะพื้นเมืองของชนชาติต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมทางศาสนาด้วย รัฐบาลยังได้ลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อซ่อมแซม วัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอันสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเขตชนชาติส่วนน้อย

ศาสนา

ประชาชนจีนมีทั้งสิ้น 56 ชนเผ่า ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยนับถือนิกายมหายานและวัชรยานโดยนับถือปนไปกับลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋ากว่า 300 ล้านคน นอกนั้นนับถือนิกายเถรวาท มีนับถือศาสนาอิสลามกว่า 11 ล้านคน และนับถือศาสนาคริสต์อีก5.2 ล้านคน

ภาษา

ภาษาจีนเป็นภาษาเก่าแก่และเป็นภาษาที่คนใช้มากที่สุดภาษาหนึ่ง เป็นภาษาหลักที่คนจีนใช้กันอยู่ ภาษามาตาฐานของภาษาจีน คือ ภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวฮั่นใช้กันโดยทั่วไปเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ และในชนเผ่าต่าง ๆ ของจีน

แม้ชาวจีนทุกคนสามารถใช้ภาษาจีนได้ แต่จากการที่ประเทศจีนมีอาณาเขตที่กว้างขวางทำให้ท้องถิ่นต่าง ๆ มีภาษาพูดที่แตกต่างกัน โดยภาษาพูดที่ใช้กันในแต่ละท้องถื่นคือ ภาษาถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกันเฉพาะในท้องถื่น ภาษาท้องถื่นของจีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายภาษา เช่น ภาษาเหนือ ภาษาอู๋ ภาษาเซียง ภาษาก้าน ภาษาแคะ ภาษาหมิ่น ภาษาเย่ว์ ทั้งหมดนี้ภาษาเหนือเป็นภาษาที่มีการใช้กันมากที่สุด

การศึกษา

 
มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสถานศึกษาชั้นนำของโลก[157][158]

ตั้งแต่ปี 1986 การศึกษาภาคบังคับในประเทศจีนประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งรวมกันมีระยะเวลาเก้าปี ในปี 2021 นักเรียนประมาณ 91.4 เปอร์เซ็นต์ศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสามปี ในปี 2020 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 58.42 ได้ลงทะเบียนเรียนในระดับอุดมศึกษา[159] มีการศึกษาด้านอาชีวศึกษาสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาทั่วประเทศ นักเรียนชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศทุกปี

ประเทศจีนมีระบบการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีนักเรียนประมาณ 282 ล้านคน และครูเต็มเวลา 17.32 ล้านคนในโรงเรียนมากกว่า 530,000 แห่ง การลงทุนด้านการศึกษาต่อปีเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2003 เป็นมากกว่า 817 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายด้านการศึกษายังคงไม่เท่าเทียมกัน ในปี 2010 ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อปีต่อนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงปักกิ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 20,023 เยน ในขณะที่ในกุ้ยโจว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในจีนมีค่าใช้จ่ายเพียง 3,204 เยนเท่านั้น การศึกษาภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในประเทศจีนประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 6 ถึง 15 ปี ในปี 2021 อัตราส่วนการลงทะเบียนสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาภาคบังคับสูงถึงร้อยละ 95.4 และชาวจีนประมาณ 91.4% ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

อัตราการรู้หนังสือของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเพียง 20% ในปี 1949 และ 65.5% ในปี 1979 ถึง 97% ของประชากรที่มีอายุเกิน 15 ปีในปี 2020[160] ในปีเดียวกันนั้น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน ได้รับการจัดอันดับให้สูงที่สุดในโลกในการจัดอันดับโครงการประเมินนักศึกษานานาชาติสำหรับทั้งสามประเภท ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะทางการอ่าน ในปี 2021 จีนมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 3,000 แห่ง โดยมีนักศึกษามากกว่า 44.3 ล้านคนลงทะเบียนเรียนในจีนแผ่นดินใหญ่ และพลเมืองจีน 240 ล้านคนได้รับการศึกษาระดับสูง ทำให้จีนกลายเป็นระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก[161] ในปี 2021 จีนมีจำนวนมหาวิทยาลัยชั้นนำมากเป็นอันดับสองของโลก (สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) ปัจจุบัน จีนเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาในแง่ของการเป็นตัวแทนในรายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำ 200 แห่งตามการจัดอันดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยโลก

ในปี 2022 มหาวิทยาลัยสองแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (อันดับที่ 12) และมหาวิทยาลัยชิงหฺวา (อันดับที่ 14) และมหาวิทยาลัยอีกสามแห่งที่อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก

เมืองใหญ่

ดูรายชื่อทั้งหมดที่รายชื่อเมืองในจีนเรียงตามจำนวนประชากร อันดับเมืองขนาดใหญ่ 20 เมืองแรก จัดอันดับตามจำนวนประชากร

กีฬา

 
หมากล้อม หนึ่งในกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีนเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว เป็นเกมกลยุทธ์ซึ่งผู้เล่นสองคนต่างมุ่งหมายล้อมเอาพื้นที่ในกระดานให้ได้มากกว่าคู่แข่ง

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ทางการกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักฐานว่าการยิงธนูมีต้นกำเนิดตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก กีฬาอย่างชู่จฺวีซึ่งเป็นกีฬาที่เป็นต้นแบบของการเล่นฟุตบอลในประเทศ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ราชวงศ์แรก ๆ ของประเทศเช่นกัน[162] การฝีกฝนสมรรถภาพทางกายได้รับการปฏิบัติอย่างกว้างขวางในวัฒนธรรมจีน โดยการออกกำลังกายในตอนเช้า เช่น ชี่กง และไท่เก๊ก ก็มีการฝึกกันอย่างแพร่หลาย และโรงยิมและฟิตเนสกำลังได้รับความนิยมไปทั่วประเทศในปัจจุบัน[163] ปัจจุบันบาสเก็ตบอลเป็นกีฬาสำหรับผู้ชมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีน การแข่งขันลีกโดยสมาคมบาสเกตบอลจีน และ สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ นักบาสเกตบอลชาวจีนบางรายมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น เหยา หมิง และ อี้ เจี้ยนเหลียน ลีกฟุตบอลอาชีพของจีน ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อไชนีสซูเปอร์ลีก ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 เป็นตลาดฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก[164]

กีฬายอดนิยมอื่นๆ ในประเทศ ได้แก่ ศิลปะการต่อสู้ เทเบิลเทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ และสนุกเกอร์ เกมกระดานเช่น หมากล้อม (เรียกว่า wéiqí ในภาษาจีน), หมากรุกจีน, ไพ่นกกระจอก ก็มีการเล่นในระดับมืออาชีพเช่นกัน ประเทศจีนยังเป็นศูนย์รวมของการปั่นจักรยาน โดยในปี 2012 มีจักรยานประมาณ 470 ล้านคันทั่วประเทศ[165] กีฬาแบบดั้งเดิมอีกมากมาย เช่น การแข่งเรือมังกร มวยปล้ำสไตล์มองโกเลีย และการแข่งม้าก็เป็นที่นิยมเช่นกัน[166]

จีนมีส่วนร่วมในกีฬาโอลิมปิกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1932 โดยเข้าร่วมในฐานะสาธารณรัฐประชาชนจีนในโอลิมปิกฤดูร้อน 1952 จีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งนักกีฬาได้รับเหรียญทอง 48 เหรียญ ซึ่งถือเป็นจำนวนเหรียญทองสูงสุดของประเทศที่เข้าร่วมในปีนั้น[167] จีนยังได้รับเหรียญรางวัลมากที่สุดในพาราลิมปิกฤดูร้อน 2012 โดยได้เหรียญทั้งหมด 231 เหรียญรวม และ 95 เหรียญทอง กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 2011 จัดขึ้นที่เชินเจิ้น รวมถึง โอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2014 ที่หนานจิง

วัฒนธรรม

สถาปัตยกรรม

 
ภาพวาดแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมตีนโบราณในสมัยราชวงศ์ฉีเหนือ แสดงถึงห้องโถงที่มีหลังคากระเบื้อง และประตูขนาดใหญ่ที่ทำจากทองสำริด

ปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและผลงานชิ้นเอกจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศจีนโบราณ โดยสร้างพระราชวัง สุสาน วัด สวน และ บ้านเรือน มากมาย สถาปัตยกรรมของจีนมีอายุเก่าแก่เทียบเท่ากับอารยธรรมจีน ชุมชนแรก ๆ ที่สามารถระบุได้ในวัฒนธรรมว่าเป็นชาวจีนนั้น ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบบริเวณแม่น้ำฮวงโห สถาปัตยกรรมจีน เป็นศูนย์รวมของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการพัฒนามานานกว่าพันปีในประเทศจีน และยังคงเป็นแหล่งที่มาของอิทธิพลต่อการพัฒนาสถาปัตยกรรมเอเชียตะวันออก[168] ในยุคแรก ชาวจีนเน้นการสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย การเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง สถาปัตยกรรมจีนมีอิทธิพลสำคัญต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และมองโกเลีย[169] และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์

สถาปัตยกรรมจีนมีลักษณะเฉพาะคือสมมาตรทวิภาคี การใช้พื้นที่เปิดโล่ง ฮวงจุ้ย (เช่น ลำดับชั้นทิศทาง) การเน้นเส้นแนวนอน และการพาดพิงถึงองค์ประกอบทางจักรวาลวิทยา ตำนาน หรือองค์ประกอบสัญลักษณ์ทั่วไปต่าง ๆ สถาปัตยกรรมจีนมักแบ่งโครงสร้างตามประเภท ตั้งแต่เจดีย์ไปจนถึงพระราชวัง สถาปัตยกรรมจีนแตกต่างกันไปตามสถานะ เช่น โครงสร้างที่สร้างขึ้นสำหรับจักรพรรดิ สามัญชน หรือเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา สถาปัตยกรรมจีนรูปแบบอื่น ๆ แสดงให้เห็นในรูปแบบพื้นถิ่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันและมรดกทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น บ้านไม้ค้ำทางตอนใต้ อาคารเหยาตงทางตะวันตกเฉียงเหนือ อาคารกระโจม และอาคารสีเหอหยวนทางตอนเหนือ

วรรณกรรม

 
การแสดงจิงจฺวี่เรื่องไซอิ๋ว

วรรณกรรมจีนมีพื้นฐานมาจากวรรณกรรมของราชวงศ์โจว ตำราในยุคแรก ๆ ที่สำคัญที่สุดบางเล่ม ได้แก่ อี้จิง นอกจากนี้ สี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ และมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ของประเทศ หลี่ ไป๋ และ ตู้ ฝู่ เป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวรักโรแมนติกและศิลปะสัจนิยมตามลำดับ งานเขียนสำคัญอย่าง ฉื่อจี้ สะท้อนขอบเขตโดยรวมของประเพณีประวัติศาสตร์ในประเทศซึ่งเรียกว่าประวัติศาสตร์ยี่สิบสี่ ควบคู่ไปกับตำนานและนิทานพื้นบ้านของจีน นิยายคลาสสิกของจีนได้รับแรงผลักดันจากชนชั้นแรงงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสมัยราชวงศ์หมิง นิยายคลาสสิกของจีนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ เมือง เทพเจ้า และปีศาจ โดยนำเสนอสะท้อนผ่านนวนิยายคลาสสิกสี่เล่ม ได้แก่ ซ้องกั๋ง, สามก๊ก, ไซอิ๋ว และ ความฝันในหอแดง บันเทิงคดีกำลังภายในโดยกิมย้ง และเนีย อู้เซ็ง มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านวรรณกรรมสมัยนิยมในเขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก[170] หู ชิห์ และ หลู่ ซฺวิ่น เป็นผู้เขียนวรรณคดีจีนสมัยใหม่ รวมทั้งวรรณคดีคลาสสิกจีน วรรณกรรมหลากหลายประเภท เช่น บทกวีหมอก วรรณกรรมแผลเป็น นวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ และวรรณกรรมซุนเกน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสัจนิยมเวทมนตร์ ถือกำเนิดขึ้นหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม มั่วเหยียน นักเขียนวรรณกรรมซุนเชน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2012

ดนตรี และ นาฎศิลป์

อาหาร

 
อาหารจีนนานาชนิด เรียงตามเข็มนาฬิกาจากด้านซ้ายบน: เป็ดปักกิ่ง, มี่สั้ว, กงเป่าจีติง, ขนมไหว้พระจันทร์, เหล้าเหมาไถ, เกี๊ยว และ เปาะเปี๊ยะ

อาหารจีนถือว่ามีความหลากหลายมาก ได้รับอิทธิพลจากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์โดยมีประวัติศาสตร์มานานนับพันปี และเป็นประเทศต้นกำเนิดของอาหารหลักแปดอย่าง ได้แก่ อาหารเสฉวน, อาหารกวางตุ้ง, อาหารเจียงซู, อาหารชานตง, อาหารฝูเจี้ยน, อาหารหูหนาน, อาหารอานฮุย และอาหารเจ้อเจียง อาหารจีนได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติดีอันเป็นผลจากวัตถุดิบและกรรมวิธีในการปรุง และยังมีชือเสียงในด้านศาสตร์การแพทย์โดยการใช้อาหารบำบัด โดยทั่วไป อาหารหลักชาวจีนทางตอนใต้คือข้าวทาง และ ขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีส่วนอาหารหลักทางตอนเหนือของบะหมี่ อาหารของคนทั่วไปในยุคก่อนสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นธัญพืชและผักธรรมดา โดยสงวนเนื้อสัตว์ไว้สำหรับโอกาสพิเศษ ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้และนมถั่วเหลือง ยังคงเป็นแหล่งโปรตีนยอดนิยม

ปัจจุบันเนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน โดยคิดเป็นประมาณสามในสี่ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมดของประเทศ แม้ว่าเนื้อหมูจะครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดเนื้อสัตว์ แต่ก็มีอาหารมังสวิรัติและอาหารมุสลิมแบบจีนที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมูรวมอยู่ด้วย ในส่วนของอาหารทางตอนใต้ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลและมีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่า จึงมีอาหารทะเลและผักหลากหลายชนิด อาหารจีนจำนวนมาก เช่น อาหารฮ่องกง และอาหารจีนแบบอเมริกัน เกิดขึ้นในประเทศโดยได้รับอิทธิพลจากชาวจีนพลัดถิ่น

สื่อสารมวลชน

วันหยุด

  1. วันขึ้นปีใหม่ (元旦)
  2. วันตรุษจีน (春节)
  3. วันเช็งเม้ง (清明节)
  4. วันแรงงาน (劳动节)
  5. วันไหว้บะจ่าง (端午节)
  6. วันไหว้พระจันทร์ (中秋节)
  7. วันชาติ (国庆节)[171]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. ภาษาจีนและภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการในฮ่องกงเท่านั้น ส่วนภาษาจีนและภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการในมาเก๊าเท่านั้น
  2. Although PRC President is head of state, it is a largely ceremonial office with limited power under CCP General Secretary.
  3. Including both state and party's central military chairs.
  4. Chairman of the Chinese People's Political Consultative Conference.
  5. พื้นที่ที่ระบุเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติสำหรับแผ่นดินใหญ่ และไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน[4] นอกจากนี้ยังไม่รวมบริเวณทรานส์-คาราโครัม (5,180 km2 (2,000 sq mi)), อักไสชิน (38,000 km2 (15,000 sq mi)) และดินแดนอื่น ๆ ที่มีข้อพิพาทกับอินเดีย พื้นที่ทั้งหมดของจีนระบุว่าเป็น 9,572,900 km2 (3,696,100 sq mi) โดยสารานุกรมบริแทนนิกา[5] สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูที่ การเปลี่ยนแปลงดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน
  6. ตัวเลขนี้คำนวณโดยใช้ข้อมูลจากซีไอเอเวิลด์แฟกต์บุ๊ก[7]

อ้างอิง

  1. "Erleichterung von Zuwanderung für Unternehmen vorteilhaft".
  2. "Chinese Religion | Data on Chinese Religions | GRF". www.globalreligiousfutures.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-21. สืบค้นเมื่อ 2022-02-01.
  3. "Xi Jinping is making great attempts to 'Sinicize' Marxist–Leninist Thought 'with Chinese characteristics' in the political sphere," states Lutgard Lams, "Examining Strategic Narratives in Chinese Official Discourse under Xi Jinping" Journal of Chinese Political Science (2018) volume 23, pp. 387–411 at p. 395
  4. "Demographic Yearbook—Table 3: Population by sex, rate of population increase, surface area and density" (PDF). UN Statistics. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 December 2010. สืบค้นเมื่อ 31 July 2010.
  5. "China". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 16 November 2012.
  6. "Largest Countries in the World by Area – Worldometers". worldometers.info.
  7. 7.0 7.1 Field Listing – Disputes – international เก็บถาวร 2011-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, CIA World Factbook
  8. Wee, Sui-Lee (11 May 2021). "China's 'Long-Term Time Bomb': Falling Births Drive Slow Population Growth". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2021. สืบค้นเมื่อ 11 May 2021.
  9. "Population density (people per km2 of land area)". IMF. สืบค้นเมื่อ 16 May 2015.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 "China World Economic Outlook Database: October 2021". International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
  11. "China Economic Update, December 2019 : Cyclical Risks and Structural Imperatives" (PDF). openknowledge.worldbank.org. World Bank. p. 21. สืบค้นเมื่อ 3 January 2020. The Gini coefficient, a measure of overall income inequality, declined to 0.462 in 2015, and has since risen to 0.467 in 2018 (Figure 27). Higher income inequality is partly driven by unequal regional income distribution. The eastern coastal regions have been the driver of China's rapid growth, due to its geographic location and the early introduction of reforms. As a result, the eastern coastal region is now home to 38% of the population, and its per capita GDP was 77% higher than that of the central, western, and northeastern regions in 2018. This gap widened further in the first three quarters of 2019. This is in part due to a disproportionate slowdown in interior provinces, which are more dependent on commodities and heavy industry. The slowdown has been negatively affected by structural shifts, especially necessary cuts in overcapacity (Figure 28).
  12. "Human Development Report 2020" (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  13. "Rivers and Lakes". China.org.cn. สืบค้นเมื่อ 15 June 2009.
  14. "Country profile: China". BBC News. 1 July 2009. สืบค้นเมื่อ 14 July 2009.
  15. Altucher, James (8 January 2010). "There's no stopping China". New York Post. สืบค้นเมื่อ 2 August 2010.
  16. "The People's Republic of China" (7 September 2005). Foreign & Commonwealth Office
  17. "Population by Sex, Rate of Population Increase, Surface Area and Density" (PDF). Demographic Yearbook 2005. UN Statistics Division. สืบค้นเมื่อ 25 March 2008.
  18. "United States". Encyclopedia Britannica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-29. สืบค้นเมื่อ 25 March 2008.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  19. China, Tajikistan sign border agreement
  20. "Beijing hit by eighth sandstorm". BBC news. Retrieved 17 April 2006.
  21. "The gathering sandstorm: Encroaching desert, missing water เก็บถาวร 2008-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Independent. 9 November 2007.
  22. "Himalaya glaciers melting much faster". Msnbc.msn.com. 24 November 2008.
  23. "Biodiversity Theme Report". Environment.gov.au. 10 December 2009. สืบค้นเมื่อ 27 April 2010.
  24. Countries with the Highest Biological Diversity เก็บถาวร 26 มีนาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Mongabay.com. 2004 data. Retrieved 24 April 2013.
  25. 25.0 25.1 David Leffman, Simon Lewis, Jeremy Atiyah. Rough guide to China. สืบค้น 24-4-2011.
  26. Ma, Xiaoying; Ortalano, Leonard (2000). Environmental Regulation in China. Rowman & Littlefield Publishers. p. 1. ISBN 978-0-8476-9399-3.
  27. Sinkule, Barbara J., Implementing Environmental Policy in China, Praeger Publishers, 1995, ISBN 0-275-94980-X
  28. Ma Jun; Naomi Li (2006). "Tackling China's Water Crisis Online". www.chinadialogue.net. สืบค้นเมื่อ 18 February 2007.
  29. "300 million Chinese drinking unsafe water". People's Daily Online. 23 December 2004. สืบค้นเมื่อ 27 March 2009.
  30. By LISA FRIEDMAN of ClimateWire (25 March 2010). "China Leads Major Countries With $34.6 Billion Invested in Clean Technology". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 27 April 2010.
  31. Black, Richard (26 March 2010). "China steams ahead on clean energy". BBC News. สืบค้นเมื่อ 27 April 2010.
  32. Bradsher, Keith, 30 January 2010, China leads global race to make clean energy, New York Times
  33. "Early Homo erectus Tools in China - Archaeology Magazine Archive". archive.archaeology.org.
  34. Fowler, Jeaneane D.; Fowler, Merv (2008). Chinese Religions: Beliefs and Practices (ภาษาอังกฤษ). Sussex Academic Press. ISBN 978-1-84519-172-6.
  35. Allan, Keith (2013-03-28). The Oxford Handbook of the History of Linguistics (ภาษาอังกฤษ). OUP Oxford. ISBN 978-0-19-958584-7.
  36. "Warring States | Definition, Period, Significance, & Facts | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). 2023-09-15.
  37. Lewis, Mark Edward (2007). The Early Chinese Empires : Qin and Han. Internet Archive. Cambridge, Mass. : Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 978-0-674-04014-4.
  38. Goucher, Candice; Walton, Linda (2013-07-24). World History: Journeys from Past to Present - VOLUME 1: From Human Origins to 1500 CE (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-08822-4.
  39. Adshead, S. A. M. (2004). T'ang China: The Rise of the East in World History. New York: Palgrave Macmillan. p. 54
  40. Bowman, John Stewart (2000). Columbia chronologies of Asian history and culture. Internet Archive. New York : Columbia University Press. ISBN 978-0-231-11005-1.
  41. Art, Authors: Department of Asian. "Northern Song Dynasty (960–1127) | Essay | The Metropolitan Museum of Art | Heilbrunn Timeline of Art History". The Met’s Heilbrunn Timeline of Art History (ภาษาอังกฤษ).
  42. "China's economic recovery continues but signals mixed in October". Nikkei Asia. สืบค้นเมื่อ 9 January 2021.
  43. Ping-ti Ho. "An Estimate of the Total Population of Sung-Chin China", in Études Song, Series 1, No 1, (1970). pp. 33–53.
  44. "Wang Yangming (Wang Shou-Jen) [Internet Encyclopedia of Philosophy]". web.archive.org. 2013-11-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-09. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  45. Esherick, Joseph W. (1976). Reform and revolution in China: the 1911 revolution in Hunan and Hubei. Berkeley: University of California Press. ISBN 978-0-520-03084-8.
  46. The Chinese people have stood up เก็บถาวร 2009-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. UCLA Center for East Asian Studies. Retrieved 16 April 2006.
  47. Smith, Joseph; and Davis, Simon. [2005] (2005). The A to Z of the Cold War. Issue 28 of Historical dictionaries of war, revolution, and civil unrest. Volume 8 of A to Z guides. Scarecrow Press publisher. ISBN 0-8108-5384-1, 9780810853843.
  48. Akbar, Arifa (17 September 2010). "Mao's Great Leap Forward 'killed 45 million in four years'". London: The Independent. สืบค้นเมื่อ October 30, 2010.
  49. Hart-Landsberg, Martin; and Burkett, Paul. "China and Socialism. Market Reforms and Class Struggle". Retrieved 30 October 2008.
  50. Youngs, R. The European Union and the Promotion of Democracy. Oxford University Press, 2002. ISBN 978-0-19-924979-4.
  51. Carroll, J. M. A Concise History of Hong Kong. Rowman & Littlefield, 2007. ISBN 978-0-7425-3422-3.
  52. Nation bucks trend of global poverty (11 July 2003). China Daily
  53. China's Average Economic Growth in 90s Ranked 1st in World (1 March 2000). People's Daily.
  54. China worried over pace of growth. BBC. Retrieved 16 April 2006.
  55. China: Migrants, Students, Taiwan. Migration News. January 2006.
  56. In Face of Rural Unrest, China Rolls Out Reforms. The Washington Post. 28 January 2006.
  57. "Frontline: The Tank Man transcript". Frontline. PBS. 11 April 2006. สืบค้นเมื่อ 12 July 2008.
  58. "China frees up bank lending rates". BBC News. 19 July 2013. สืบค้นเมื่อ 19 July 2013.
  59. Evans-Pritchard, Ambrose (23 July 2013). "China eyes fresh stimulus as economy stalls, sets 7pc growth floor". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2022. สืบค้นเมื่อ 25 July 2013.
  60. Davies, Gavyn (25 November 2012). "The decade of Xi Jinping". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 27 November 2012.
  61. "China orders government debt audit". BBC News. 29 July 2013. สืบค้นเมื่อ 29 July 2013.
  62. Joong, Shik Kang; Wei, Liao (May 2016). "Chinese Imports: What's Behind the Slowdown?" (PDF). International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
  63. Yglesias, Matthew (15 November 2013). "China ends one child policy". Slate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2013. สืบค้นเมื่อ 16 November 2013.
  64. "China's president boosts anti-corruption crackdown after nabbing 1.5M". NBC News.
  65. "Belt and Road Initiative". World Bank. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 February 2019. สืบค้นเมื่อ 10 March 2019.
  66. Sheikh, Knvul; Rabin, Roni Caryn (10 March 2020). "The Coronavirus: What Scientists Have Learned So Far". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 24 March 2020.
  67. Normile, Dennis (19 November 2021). "'Zero COVID' is getting harder—but China is sticking with it". Science. 374 (6570): 924. Bibcode:2021Sci...374..924N. doi:10.1126/science.acx9657. eISSN 1095-9203. ISSN 0036-8075. PMID 34793217. S2CID 244403712.
  68. "China's economy continues to bounce back from virus slump". BBC News. 19 October 2020. สืบค้นเมื่อ 9 January 2021.
  69. 69.0 69.1 69.2 "Constitution of the People's Republic of China". The National People's Congress of the People's Republic of China. 20 November 2019. สืบค้นเมื่อ 20 March 2021.
  70. "CCP's use of courts to silence peaceful dissent is hallmark of authoritarian regimes: US". Asian News International. สืบค้นเมื่อ 9 December 2020.
  71. Unger, Jonathan; Chan, Anita (January 1995). "China, Corporatism, and the East Asian Model". The Australian Journal of Chinese Affairs. 33 (33): 29–53. doi:10.2307/2950087. ISSN 0156-7365. JSTOR 2950087. S2CID 151206422.
  72. "Freedom in the World 2011: China". Freedom House. 2011. สืบค้นเมื่อ 19 June 2013.
  73. "The Development of Socialist Consultative Democracy in China". english.qstheory.cn. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2017. สืบค้นเมื่อ 13 May 2018.
  74. Truex, Rory (28 October 2016). Making Autocracy Work (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-17243-2.
  75. Mattingly, Daniel C. (5 December 2019). The Art of Political Control in China (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-316-99791-8.
  76. Tang, Wenfang (4 January 2016). Populist Authoritarianism: Chinese Political Culture and Regime Sustainability (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-049081-2.
  77. Nathan, Andrew J.; Diamond, Larry; Plattner, Marc F. (1 September 2013). Will China Democratize? (ภาษาอังกฤษ). Johns Hopkins University Press+ORM. ISBN 978-1-4214-1244-3.
  78. Teets, Jessica C. (9 June 2014). Civil Society under Authoritarianism: The China Model (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-03875-2.
  79. Heurlin, Christopher (27 October 2016). Responsive Authoritarianism in China: Land, Protests, and Policy Making (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-108-10780-8.
  80. "Consultative Democracy, People's Democracy". chinatoday.com.cn. สืบค้นเมื่อ 26 March 2020.
  81. "Xi reiterates adherence to socialism with Chinese characteristics". Xinhua News Agency. 5 January 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 February 2016. สืบค้นเมื่อ 14 January 2020.
  82. 82.0 82.1 Wei, Changhao (11 March 2018). "Annotated Translation: 2018 Amendment to the P.R.C. Constitution (Version 2.0)". NPC Observer. สืบค้นเมื่อ 22 August 2019.
  83. Hernández, Javier C. (25 October 2017). "China's 'Chairman of Everything': Behind Xi Jinping's Many Titles". The New York Times. ISSN 0362-4331. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2017. สืบค้นเมื่อ 14 January 2020. Mr. Xi's most important title is general secretary, the most powerful position in the Communist Party. In China's one party system, this ranking gives him virtually unchecked authority over the government.
  84. Phillips, Tom (24 October 2017). "Xi Jinping becomes most powerful leader since Mao with China's change to constitution". The Guardian. ISSN 0261-3077. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2017. สืบค้นเมื่อ 24 October 2017.
  85. "Democratic Parties". People's Daily. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013.
  86. "How China is Ruled: National People's Congress". BBC News. สืบค้นเมื่อ 14 July 2009.
  87. Alexander Baturo; Robert Elgie (2019). The Politics of Presidential Term Limits. Oxford University Press. p. 263. ISBN 978-0-19-883740-4.
  88. Matthew Kroenig (2020). The Return of Great Power Rivalry: Democracy Versus Autocracy from the Ancient World to the U. S. and China. Oxford University Press. pp. 176–177. ISBN 978-0-19-008024-2.
  89. Susan Shirk (13 November 2012). "China's Next Leaders: A Guide to What's at Stake". China File. สืบค้นเมื่อ 31 May 2015.
  90. Moore, Malcolm (15 November 2012). "Xi Jinping crowned new leader of China Communist Party". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2022. สืบค้นเมื่อ 15 November 2012.
  91. Gwillim Law (2 April 2005). Provinces of China. Retrieved 15 April 2006.
  92. "Global Diplomacy Index – Country Rank". Lowy Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-01. สืบค้นเมื่อ 13 October 2020.
  93. Beijing, Jane Macartney in (2023-10-13). "China says US arms sales to Taiwan could threaten wider relations" (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0140-0460. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.
  94. Keith, Ronald C. China from the inside out – fitting the People's republic into the world. PlutoPress. pp. 135–136.
  95. "Bhutan wants a border deal with China: Will India accept?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-04-26. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.
  96. "China's Modernizing Military". Council on Foreign Relations (ภาษาอังกฤษ).
  97. "China's Great Leap Forward". The University of Chicago Chronicle. March 14, 1996.
  98. China must be cautious in raising consumption China Daily. Retrieved on February 8, 2009.
  99. China jumps to world's No 3 economy เก็บถาวร 2009-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Australian. Retrieved on January 21, 2009.
  100. GDP growth 1952-2007 เก็บถาวร 2013-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Chinability เก็บถาวร 2009-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 2008-10-16.
  101. China's GDP grows by seven-year low of 9% in 2008 Xinhua News Agency. Retrieved on January 27, 2009.
  102. World Economic Outlook Database International Monetary Fund (April 2008). Retrieved on 27 July 2008.
  103. China forex reserves exceed 1.9 trillion U.S. dollars Xinhua (14 October 2008). Retrieved on 21 November 2008.
  104. FDI doubles despite tax concerns Ministry of Commerce of the People's Republic of China (19 February 2008). Retrieved 26 July 2008.
  105. wlc2china เก็บถาวร 2010-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลประเทศจีน
  106. Marsh, Peter (13 March 2011). "China noses ahead as top goods producer". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 18 January 2020.
  107. Levinson, Marc (21 February 2018). "U.S. Manufacturing in International Perspective" (PDF). Federation of American Scientists.
  108. "Report – S&E Indicators 2018 | NSF – National Science Foundation". www.nsf.gov. สืบค้นเมื่อ 8 July 2019.
  109. Shane, Daniel (23 January 2019). "China will overtake the US as the world's biggest retail market this year". CNN. สืบค้นเมื่อ 18 February 2019.
  110. Fan, Ziyang; Backaler, Joel (17 September 2018). "Five trends shaping the future of e-commerce in China". World Economic Forum. สืบค้นเมื่อ 18 February 2019.
  111. Lipsman, Andrew (27 June 2019). "Global Ecommerce 2019". eMarketer. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  112. Huang, Echo. "China buys one out of every two electric vehicles sold globally". Quartz. สืบค้นเมื่อ 18 February 2019.
  113. "Can China's reported growth be trusted?". The Economist. 15 October 2020. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 26 March 2021.
  114. Plekhanov, Dmitriy (2017). "Quality of China's Official Statistics: A Brief Review of Academic Perspectives". The Copenhagen Journal of Asian Studies. Copenhagen Business School. 35 (1): 76. doi:10.22439/cjas.v35i1.5400. ISSN 1395-4199.
  115. Chen, Wei; Chen, Xilu; Hsieh, Chang-Tai; Song, Zheng (2019). A Forensic Examination of China's National Accounts (PDF). Brookings Institution.
  116. Wallace, Jeremy (28 December 2015). "Here's why it matters that China is admitting that its statistics are 'unreliable'". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 7 March 2021.
  117. Clark, Hunter; Pinkovskiy, Maxim; Sala-i-Martin, Xavier (1 August 2020). "China's GDP growth may be understated". China Economic Review. 62: 101243. doi:10.1016/j.chieco.2018.10.010. ISSN 1043-951X. S2CID 157898394.
  118. Daniel, Rosen; Beibei, Bao (2015). Broken Abacus? A More Accurate Gauge of China's Economy. Center for Strategic and International Studies. pp. X–XV. ISBN 978-1-4422-4084-1. China is bigger, not smaller: Our reassessment suggests that China's 2008 GDP was most likely 13.1 to 16.3 percent larger than official figures indicated at the time"
  119. "China's GDP Growth May Be Understated" (PDF). National Bureau of Economic Research. April 2017. สืบค้นเมื่อ 15 March 2021.
  120. Chandran, Nyshka (16 October 2015). "These guys think China's economy is much larger". CNBC. สืบค้นเมื่อ 15 March 2021.
  121. "Is China Already Number One? New GDP Estimates". Peterson Institute for International Economics. 13 January 2011. สืบค้นเมื่อ 28 March 2021.
  122. Fernald, John G.; Malkin, Israel; Spiegel, Mark M. (2013). "On the reliability of Chinese output figures". FRBSF Economic Letter.
  123. "Informal economy in China and Mongolia". International Labour Organization. สืบค้นเมื่อ 14 March 2021.
  124. "China overtakes US as world's biggest car market". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-01-08. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  125. Ho, Patricia Jiayi (2010-01-12). "China Overtakes U.S. to Become Largest Auto Market". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  126. "China closes in on Japan after surpassing Germany in 2022 car exports". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2023-01-15.
  127. Harley, Michael. "China Overtakes Japan As The World's Biggest Exporter Of Passenger Cars". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  128. "China overtakes Japan as world's top car exporter". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  129. https://www.railjournal.com/infrastructure/china-opens-4100km-of-new-railway/
  130. Jones, Ben (2021-12-10). "Flying without wings: The world's fastest trains". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  131. Areddy, James T. (2013-11-11). "China's Building Push Goes Underground". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  132. "China to let more cities build metro systems - Economic Information Daily". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-16. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  133. "China's Global Network of Shipping Ports Reveal Beijing's Strategy". VOA (ภาษาอังกฤษ). 2021-09-13.
  134. Waring, Joseph (2018-01-22). "China breaks 1B 4G subscriber mark". Mobile World Live (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  135. "China is racing ahead in 5G. Here's what that means". MIT Technology Review (ภาษาอังกฤษ).
  136. Tomás, Juan Pedro (2022-03-11). "China aims to accelerate 5G base stations deployment this year: report". RCR Wireless News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  137. "China Is Building a $9 Billion Rival to the American-Run GPS". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2018-11-25. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  138. Kleinman, Zoe (2020-08-07). "What is Tencent?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-12-19.
  139. "China's R&D Spending Rises 10% to Record $378 Billion in 2020". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  140. "World Intellectual Property Indicators: Filings for Patents, Trademarks, Industrial Designs Reach Record Heights in 2018". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
  141. "China Becomes Top Filer of International Patents in 2019". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
  142. WIPO. "Global Innovation Index 2022, 15th Edition". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
  143. "China's Tianhe-2 retakes fastest supercomputer crown". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-06-17. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  144. Zhu, Julie (2022-12-14). "Exclusive: China readying $143 billion package for its chip firms in face of U.S. curbs". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  145. "Arquivo.pt". arquivo.pt. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-15. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  146. "Rocket launches Chinese space lab". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-09-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  147. "Moon rock samples brought to Earth for first time in 44 years". Christian Science Monitor. ISSN 0882-7729. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  148. Corbett, Tobias (2021-05-15). "China succeeds on country's first Mars landing attempt with Tianwen-1". NASASpaceFlight.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  149. Skibba, Ramin. "China Is Now a Major Space Power". Wired (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 1059-1028. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  150. Verma, Pranshu (2022-11-05). "Celestial second fiddle no more, China completes its space station". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  151. Wang, Vivian (2023-05-29). "China Announces Plan to Land Astronauts on Moon by 2030". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-10-14.
  152. "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
  153. "CNN In-Depth Specials - Visions of China - Serving the people?". edition.cnn.com.
  154. "Obesity Sickening China's Young Hearts". en.people.cn.
  155. "Air Pollution Linked to 1.2 Million Deaths in China - The New York Times | Ghostarchive". ghostarchive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-26. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  156. "China Concealed Extent of Virus Outbreak, U.S. Intelligence Says". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2020-04-01. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.
  157. "Peking University". Times Higher Education (THE). 18 September 2020. สืบค้นเมื่อ 9 December 2020.
  158. "Overall Ranking, Best Chinese Universities Rankings – 2019". shanghairanking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 March 2020. สืบค้นเมื่อ 9 December 2020.
  159. "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
  160. "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
  161. 关晓萌. "China's higher education system is world's largest, officials say". www.chinadaily.com.cn.
  162. Dunmore, Tom (2011-09-16). Historical Dictionary of Soccer (ภาษาอังกฤษ). Scarecrow Press. ISBN 978-0-8108-7188-5.
  163. Xu, Carrie (2011-07-02). "China health club market – Huge potential & challenges". China Sports Business (ภาษาอังกฤษ).
  164. "足球不给劲观众却不少 中超球市世界第9亚洲第1-搜狐体育". sports.sohu.com.
  165. "Bike-Maker Giant Says Fitness Lifestyle Boosting China Sales". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-17. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.
  166. "The Legacy of the Qin Dynasty". ThoughtCo (ภาษาอังกฤษ).
  167. "China targets more golds in 2012" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-08-27. สืบค้นเมื่อ 2023-10-13.
  168. Robin W. Winks; Alaine M. Low (2001). Historiography. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-154241-1. OCLC 780534735
  169. Cartwright, Mark. "Ancient Chinese Architecture". World History Encyclopedia (ภาษาอังกฤษ).
  170. "万方数据知识服务平台". d.wanfangdata.com.cn.
  171. http://www.gov.cn/zhengce/content/2017-11/30/content_5243579.htm

หนังสืออ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น