กบฏโพกผ้าเหลือง

กบฏโพกผ้าเหลือง (จีนตัวย่อ: 黄巾之乱; จีนตัวเต็ม: 黃巾之亂; พินอิน: Huáng Jīn Zhī Luàn) เป็นการก่อการกำเริบของเหล่าชาวนาในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน การก่อการกำเริบเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 184 ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ แม้ว่ากลุ่มกบฏหลักจะถูกปราบปรามในปี ค.ศ. 185 แต่ต้องใช้เวลาถึง 21 ปีในการปราบปรามพื้นที่ที่ยังต่อต้านและกลุ่มกบฏที่เกิดขึ้นได้อย่างราบคาบในปี ค.ศ. 205[1] ความอ่อนแอของราชสำนักและอิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครองทางการทหารที่ตั้งตนเป็นอิสระในส่วนภูมิภาคซึ่งช่วยในการปราบปรามกบฏ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การช่วงชิงอำนาจระหว่างขุนศึกและส่งผลทำให้เกิดยุคสามก๊ก

กบฏโพกผ้าเหลือง
ส่วนหนึ่งของ สงครามช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น

แผนที่แสดงเขตกบฏโพกผ้าเหลืองในประเทศจีนในปี ค.ศ. 184
วันที่ป. มีนาคม ค.ศ. 184 - 205[1]
สถานที่
หลายสถานที่ในประเทศจีน
ผล

ราชวงศ์ฮั่นชนะ กบฏถูกปราบปราม

  • ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลงอย่างหนัก
  • จุดเริ่มต้นสถานการณ์ความโกลาหลในจีน
คู่สงคราม
ราชวงศ์ฮั่น กบฏโพกผ้าเหลือง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าเลนเต้
โฮจิ๋น
ฮองฮูสง
โลติด
จูฮี
เตียวก๊ก
เตียวโป้  
เตียวเหลียง  
กำลัง
350,000 2,000,000 (เป็นผู้ติดตามดั้งเดิมของเตียวก๊กจำนวน 360,000 คน)[2]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ[a]
กบฏโพกผ้าเหลือง
อักษรจีนตัวเต็ม黃巾之亂
อักษรจีนตัวย่อ黄巾之乱
ความหมายตามตัวอักษร"กบฏโพกผ้าเหลือง"

กบฏโพกผ้าเหลืองซึ่งได้ชื่อมาจากสีของผ้าโพกศีรษะของกลุ่มกบฏ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของลัทธิเต๋า อันเนื่องมาจากความเกี่ยวพันระหว่างผู้นำกลุ่มกบฏกับสมาคมลับของลัทธิเต๋าในเวลานั้น[4] การก่อการกำเริบครั้งนี้ยังถูกใช้เป็นเหตุการณ์เปิดเรื่องในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14

สาเหตุ

แก้

เมื่อถึงปี ค.ศ. 184 ราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลงเนื่องจากขันทีในราชสำนักใช้อำนาจเหนือจักรพรรดิในทางที่ผิดเพื่อแสวงประโยชน์ให้ตนเอง ขันทีที่มีอำนาจมากที่สุด 12 คนถูกเรียกว่าสิบเสียงสี โดยที่ครั้งหนึ่งพระเจ้าเลนเต้เคยตรัสว่า "ขันทีเตียวเหยียงเป็นบิดาของข้า และขันทีเตียวต๋งเป็นมารดาของข้า"[5] การฉ้อราษฎร์บังหลวงของราชสำนักถูกมองว่าเป็นสาเหตุของโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าจักรพรรดิสูญเสียอาณัติแห่งสวรรค์

เมื่อแม่น้ำฮวงโหท่วมท้นทำให้ชาวนาและทหารต้องย้ายถิ่นฐานลงใต้ แรงงานส่วนเกินกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ มีรายงานการระบาดของโรคในปี ค.ศ. 171, 173, 179, 182 และ 185 โดยสาเหตุอาจมาจากโรคระบาดแอนโทนิน ซึ่งแพร่ระบาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 165 ถึง ค.ศ. 180 ฝีดาษและโรคหัดระบาดไปตามเส้นทางสายไหม[5]

ผู้นำลัทธิเต๋าเตียวก๊กจึงส่งสาวกของเขาไปทางตอนเหนือของจีนเพื่อเตรียมการก่อจลาจลโดยอ้างว่าจัดหาน้ำบำบัดรักษาผู้คน[5] การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพวกเขานั้นไม่มีใครสังเกตเห็นจนกระทั่งพวกเขามีพลังอำนาจและกำลังคนเกินกว่าจะท้าทายได้ เตียวก๊กตั้งใจจะก่อการจลาจลทั่วจักรวรรดิ แต่แผนถูกเปิดโปงจากการทรยศก่อนที่เขาจะเริ่มต้น ผู้สมรู้ร่วมคิดในลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ถูกจับและประหารชีวิต ทำให้ต้องเริ่มต้นก่อนกำหนดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 184 แม้จะขาดการประสานงานและการเตรียมการทั้งหมดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ชายฉกรรจ์นับหมื่นคนก็ลุกฮือทำการก่อการกำเริบ สถานที่ราชการถูกปล้นและทำลาย กองทัพจักรวรรดิต้องเร่งรีบป้องกันโดยด่วน[6]

กลุ่มกบฏ

แก้

ผู้ก่อตั้ง

แก้

การก่อกบฏภายใต้การนำโดยเตียวก๊ก (ซึ่งเป็นรู้จักกันในเหล่าหมู่สาวกว่า "แม่ทัพแห่งสวรรค์") และน้องชายสองคนอย่างเตียวโป้ (張寶 จาง เป่า) และเตียวเหลียง (張梁 จาง เหลียง) ซึ่งเกิดในเมืองกิลกกุ๋น (巨鹿郡 จฺวี้ลู่จฺวิ้น) ทั้งสามพี่น้องได้ก่อตั้งนิกายของลัทธิเต๋าในมณฑลชานตงปัจจุบัน ทั้งสามได้รับการยกย่องในฐานะผู้รักษาโรคซึ่งรับดูแลผู้ป่วยที่ยากจนโดยไม่เก็บค่ารักษา เมื่อเห็นว่าข้าราชการท้องถิ่นข่มเหงชนชั้นชาวนาด้วยการใช้แรงงานและเก็บภาษีอย่างหนัก ทั้งสามจึงวางแผนจะก่อกบฏ

นิกายเต๋า

แก้

กลุ่มกบฏเป็นสาวกกลุ่มแรกของนิกายไท่ผิงเต้า (太平道; Tàipíng Dào) หรือวิถีมหาสันติสุข และนับถือเทพหฺวาง-เหล่า (黃老) ซึ่งเตียวก๊กอ้างว่าเป็นผู้มอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ชื่อไทแผงเยาสุด (太平要術; Tàipíng Yàoshù ไท่ผิงเย่าชู่) หรือมรรควิธีสู่วิถีสันติสุข อิงมาจากคัมภีร์ไท่ผิงจิง (太平經) เตียวก๊กผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้วิเศษ เรียกตนเองว่าเป็น "ต้าเซียนเหลียนชือ" (大賢良師) หรือ "มหาปรมาจารย์" เมื่อเตียวก๊กประกาศก่อกบฏ ได้สร้างคำขวัญที่ประกอบด้วยคำ 16 คำเผยแพร่ผ่านงานการรักษาของเหล่าสาวกว่า:[7]

ฟ้าคราม[b]ตายแล้ว ฟ้าเหลือง[c]จะลุกขึ้น
เมื่อถึงปีเจี๋ยจื่อ[d] ใต้ฟ้ามหามงคล!
(蒼天已死,黃天當立。歲在甲子,天下大吉。)

การปฏิบัติศาสนกิจ

แก้

เตียวก๊กอ้างวิธีการรักษาผู้ป่วยโดยการให้ผู้ป่วยสารภาพบาปเพื่อการรักษาโรคด้วยศรัทธาตามวิธีในลัทธิเต๋า สามพี่น้องสกุลเตียวเชื่อในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีเจี๋ยจื่อซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของวงรอบ 60 ปีวงใหมซึ่งเกี่ยวข้องกับฟ้าสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการการปกครองใหม่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับสีของผ้าโพกศีรษะ[8] เหล่าวสาวกรวบรวบผู้คนหลากชาติพันธุ์ผ่านกิจกรรมชุมชนของนิกยายอย่างการอยู่ในภวังค์ การอดอาหาร การแสดงดนตรี การสวดมนต์ การจุดธูป และการสั่งสอน ผู้นำชนเผ่าซฺยงหนูหลายเช่นเช่นยฺหวีฝูหลัว (於夫羅) ให้การสนับสนุนกิจกรรมของนิกาย ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เตียวนำความเชื่อเรื่องหมอผีของชนเผ่าซฺยงหนูไปใช้[9]

แม้ว่าจะมีบันทึกที่หลงเหลืออยู่น้อย แต่นิกายไท่ผิงเต้าในช่วงต้นอาจจะคล้ายคลึงกับนิกายเทียนชือเต้า (天師道; นิกายอาจารย์สวรรค์) เมื่อพิจารณาว่าตัวเตียวก๊กอ้างตนเป็นผู้สืบเชื่อสายของเตียวเหลง (張陵 จาง หลิง) หรือจางเต้าหลิง (張道陵) ใน 52 บทที่หลงเหลือของคัมภีร์ไท่ผิงจิงส่วนใหญ่ที่พบในสารบบเต้าจาง (道藏) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนิกายเทียนชือเต้า โดยมีข้อแตกต่างบางประการที่อาจถูกยกเลิกไปโดยนักบวชเต๋าในยุคหลัง[10]

แผนการของเตียวก๊กสำหรับก่อกบฎ

แก้

ก่อนที่การก่อกบฏจะเริ่มต้นขึ้น เตียวก๊กได้ส่งม้าอ้วนยี่ (馬元義 หม่า ยฺเหวียนอี้) เพื่อระดมเหล่าสาวกจากมณฑลเกงจิ๋วและยังจิ๋ว แล้วรวบรวมไว้ที่เงียบกุ๋น ม้าอ้วนยี่ได้เดินทางไปลกเอี๋ยงนครหลวงของราชวงศ์ฮั่นอยู่บ่อยครั้ง จึงสามารถโน้มน้าวฮองสี (封諝 เฟิง ซฺวี) และสฺวี เฟิ่ง (徐奉) สมาชิกของกลุ่มขันทีในราชสำนักให้ร่วมมือกับเตียวก๊กอย่างลับ ๆ พวกเขากำหนดวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 184 เป็นวันก่อการกบฏ แต่ก่อนที่แผนการจะเริ่มดำเนินการ กลุ่มโพกผ้าเหลืองก็ถูกทรยศ เมื่อตองจิ๋ว (唐周 ถาง โจว) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนิกายไท่ผิงเต้าถูกกีดกันจากการร่วมวางแผนในภายหลัง ตองจิ๋วจึงไปแจ้งเรื่องม้าอ้วนยี่ต่อทางการ ทำให้ม้าอ้วนยี่ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตด้วยทัณฑ์รถม้าแยกร่างในลกเอี๋ยง[11][8]

หลังจากที่พระเจ้าเลนเต้ทรงทราบว่าเตียวก๊กกำลังวางแผนก่อการกบฎ จึงทรงมีรับสั่งให้โจว ปิน (周斌) หัวหน้าพระราชอุทยานหลวง (鉤盾令 โกวตุ้นลิ่ง) ทำการสืบสวนไปยังผู้ร่วมสมคบคิดทั้งหมด ผู้คนหลายร้อยคนจึงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตในเวลานั้น[12]

การก่อกบฏ

แก้

เมื่อเตียวก๊กได้ทราบข่าวแล้วว่าราชสำนักรับรู้ถึงแผนการก่อกบฏของเขาได้ เขาจึงรีบส่งคนส่งสารไปติดต่อหาพันธมิตรของเขาทั่วแผ่นดินจีนและให้ดำเนินการทันที ในช่วงระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และ 29 มีนาคม ค.ศ. 184 เตียวก๊กได้เริ่มก่อกบฏโพกผ้าเหลืองโดยมีเหล่าสาวกจำนวน 360,000 คนภายใต้บัญชาของเขา ทุกคนล้วนสวมผ้าโพกคลุมศีรษะสีเหลืองกันหมด[13] เขาได้เรียกตัวเองว่า "แม่ทัพแห่งสวรรค์" (天公將軍) ในขณะที่น้องชายคนกลาง เตียวโป้ จะถูกเรียกว่า "แม่ทัพแห่งพิภพ" (地公將軍) และน้องชายคนสุดท้าย เตียวเหลียง จะถูกเรียกว่า "แม่ทัพแห่งปวงประชา" (人公將軍) ตามลำดับ กลุ่มกบฏได้เข้าโจมตีหน่วยงานของรัฐ ทำการปล้นสะดมทั่วทั้งมณฑลและหมู่บ้าน และเข้ายึดครองเมือง เพียง 10 วัน การก่อกบฏได้แพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินจีน และทำให้ราชสำนักฮั่นในลกเอี๋ยงต้องตื่นตระหนกอย่างมาก

กลุ่มกบฏส่วนใหญ่ต่างกระจุดรวมตัวกันอยู่ในมณฑลกิจิ๋ว, เกงจิ๋ว, อิ๋วจิ๋ว และอิจิ๋ว กลุ่มที่นำโดยเตียวก๊กและสองน้องชายได้ให้การสนับสนุนแก่พวกเขาในมณฑลกิจิ๋ว ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวงโห ใกล้กับเมืองจูลู่ ดินแดนบ้านเกิดของเตียวก๊ก (บริเวณรอบอำเภอผิงเซียง มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) และเมืองเว่ย (บริเวณรอบหานตาน มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) การก่อการกำเริบครั้งใหญ่ครั้งที่สองซึ่งเกิดขึ้นในเมืองกวนหยาง (บริเวณรอบกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) และเมืองโจว (บริเวณรอบจูโจว มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ในมณฑลอิ๋วจิ๋ว และศูนย์กลางที่สามของการก่อกบฎอยู่ในเมืองเองฉวน (บริเวณรอบสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และเมืองลู่หนาน (บริเวณรอบซินหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในมณฑลอิจิ๋ว และเมืองลำหยง (บริเวณรอบลำหยง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในทางตอนเหนือของมณฑลเกงจิ๋ว

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 184 พระเจ้าเลนเต้ทรงแต่งตั้งให้โฮจิ๋น ผู้เป็นพระเทวันของพระองค์ ข้าหลวงเมืองเหอหนาน (河南尹) เป็นแม่ทัพใหญ่ (大將軍) และมีพระบัญชาให้คุมกองทัพจักรวรรดิเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าเลนเต้ยังทรงแต่งตั้งแม่ทัพสามคน ได้แก่ โลติด ฮองฮูสง และจูฮี นำทั้งสามกองทัพแยกกันไปจัดการกับพวกกบฏ โลติดมุ่งหน้าไปยังค่ายของเตียวก๊กในกิจิ๋ว ในขณะที่ฮองฮูสงและจูฮี มุ่งหน้าไปยังเมืองเองฉวน พวกเขามีกองกำลังทหารทั้งหมด 40,000 นาย

มณฑลอิวจิ๋ว: เมืองกว่างหยางและตุ้นก้วน

แก้

ในมณฑลอิวจิ๋ว พวกกบฏได้สังหารกัว ซฺวิน (郭勳) ข้าหลวงมณฑล และหลิว เว่ย์ (劉衛) เจ้าเมืองกว่างหยาง[14]

นายพันเจาเจ้งนำทัพหลวงเข้าปราบปรามกบฏในมณฑลอิวจิ๋ว เล่าปี่ได้นำกองกำลังทหารอาสาสมัคร[e] เพื่อช่วยสนับสนุนเจาเจ้ง[15]

มณฑลอิจิ๋ว: เมืองยีหลำและเองฉวน

แก้

เมื่อกลุ่มกบฏก่อการขึ้นครั้งแรกในมณฑลอิจิ๋ว ราชสำนักฮั่นเลือกอ้องอุ้นเป็นการพิเศษเพื่อแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลคอยดูแลปฏิบัติการทางทหาร[16]

เจ้า เชียน (趙謙) เจ้าเมืองยีหลำได้นำกองกำลังทหารเข้าโจมตีฝ่ายกบฏก่อนที่จูฮีจะมาถึง แต่ก็ต้องพบความปราชัยที่เส้าหลิง (邵陵; ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) เมืออำเภอเฉิน (陳縣; อำเภอหวยหยาง มณฑลเหอหนาน) ถูกพวกกบฏเข้าโจมตี ลูกน้องของเตียวเขียนทั้งเจ็ดคนซึ่งไม่ใช่ทหาร ต่างพากันจับดาบ และเข้าฟาดฟันพวกกบฏจนถูกรุมสังหารตายทั้งหมด ต่อมาภายหลังกบฏถูกปราบปราม พระเจ้าเลนเต้ทรงประกาศยกย่องทั้งเจ็ดคนว่า "ผู้ทรงธรรมทั้งเจ็ด"

รัฐเฉิน (陳國; บริเวณโจวโข่ว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) หนึ่งในเมืองของมณฑลอิจิ๋ว สามารถหลีกเลียงการนองเลือดของกบฎโพกผ้าเหลืองเพราะพวกกบฏต่างหวาดกลัวต่ออ๋องเล่าฉง ผู้มีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการยิงธนู และเหล่าพลธนูชั้นยอดภายใต้บัญชาการของเขา

พวกกบฏในเมืองลู่หนานที่นำโดยโป ไฉ (波才), ได้เอาชนะจูฮีในการรบในช่วงแรก และขับไล่เขาไปได้ ราชสำนักจึงส่งโจโฉผู้บัญชาการทหารม้าไปเสริมกำลังเพื่อช่วยเหลือแก่จูฮี ในช่วงระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 25 มิถุนายน จูฮี ฮองจูสง และเฉาเชาได้รวมกองกำลังและเอาชนะโปไฉที่ฉางชี (長社; ทางด้านตะวันออกของฉางเก่อ, มณฑลเหอหนานในยุคปัจจุบัน) ในขณะที่โปไฉได้พยายามหลบหนี ฮองจูสงและจูฮีได้ไล่ล่าตามเขาไปที่อำเภอหยางเซี่ย (陽翟縣; ยูโจว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และเอาชนะเขาได้อีกครั้งที่นั่น ทำให้พวกกบฏต่างพากระจัดกระจาย

ฮองจูสงและจูฮีได้เอาชนะพวกกบฏในเมืองลู่หนานที่นำโดยเผิง โต้ว (彭脫) ที่อำเภอซีหัว (西華縣; ทางตอนใต้ของเทศมณฑลซีหัว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ราชสำนักจึงสั่งให้พวกเขาแยกย้ายกัน: ฮองจูสงจะเข้าโจมตีพวกกบฏที่เมืองต่ง (東郡;บริเวณรอบของเทศมณฑลผู่หยาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในขณะที่จูฮีจะเข้าโจมตีพวกกบฏที่เมืองลำหยง ในช่วงเวลานี้ อองของ ผู้ตรวจการมณฑลอิจิ๋วได้พบหลักฐานว่า พวกกบฏได้ติดต่ออย่างลับ ๆ กับเตียวเหยียง (張讓) หัวหน้ากลุ่มสิบขันทีผู้มีอิทธิพลในลกเอี๋ยง จึงกราบทูลแก่พระเจ้าเลนเต้ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงกล่าวตำหนิเตียวหยียง แต่ไม่ได้รับสั่งให้ลงโทษเขาแต่อย่างใด

ในช่วงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม เป้า หง (鮑鴻) ขุนพลได้นำกองทัพจักรวรรดิเข้าโจมตีกลุ่มกบฏในจีเป่ย์ (葛陂; ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเทศมณฑลซินเซีย, มณฑลเหอหนาน) และเอาชนะพวกเขาได้

มณฑลกิจิ๋ว: เมืองเว่ย์และกิลกกุ๋น

แก้

ในเวลาเดียวกัน โลติดได้เอาชนะกองทัพกบฏของเตียวก๊กในเขตบัญชาการจูลู่ และปิดล้อมผู้นำกบฏในอำเภอกวนจง (廣宗縣; ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเทศมณฑลกวนจง , มณฑลเหอเป่ยในยุคปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม ภายหลังพวกขันทีได้กราบเพ็ดทูลด้วยความเท็จว่า โลติดคิดคดทรยศ พระเจ้าเลนเต้ทรงรับสั่งให้โลติดออกจากการบังคับบัญชากองทัพของเขาและพากลับไปที่ลกเอี๋ยงในฐานะนักโทษ ทางราชสำนักจึงส่งแม่ทัพต่งจั่วเข้ามาบัญชากองทัพแทนที่โลติดและเข้าโจมตีเตียวก๊ก อย่างไรก็ตาม ต่งจั่วกลับล้มเหลวและล่าถอย

วันที่ 23 หรือ 24 กันยายน ฮองฮูสงและฟู่ เซี่ย (傅燮), แม่ทัพนายกองลูกน้องของเขา ได้เข้าปราบปรามกบฏที่ชางติ่ง (倉亭; ทางตอนเหนือของเทศมณฑลยางกู่, มณฑลชานตงในปัจจุบัน), ได้เข้าจับกุมผู้นำที่มีนามว่าปู๋ จี่ (卜己) และสังหารพวกกบฏกว่า 7,000 คน รวมทั้งผู้นำรองคนอื่น ๆ อย่างจาง ปั๋ว (張伯) และเหลียง จ้งหนิง (梁仲寧) เมื่อวันที่ 25 กันยายน ทางราชสำนักได้ออกคำสั่งให้เขาเข้ามาแทนที่ต่งจั่วและนำกองทัพของเขาไปทางเหนือสู่อำเภอกวนจง และโจมตีเตียวก๊ก

เตียวก๊กได้ล้มป่วยตาย ในขณะที่ถูกฮองฮูสงเข้าโจมตีในอำเภอกวนจง ในระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 20 ธันวาคม ฮองฮูสงยังคงโจมตีเตียวเหลียง ซึ่งได้เข้ามาควบคุมเหล่าสาวกของพี่ชายที่อำเภอกวนจง แต่ไม่สามารถเอาชนะพวกกบฏได้ เนื่องจากเตียวเหลียงนั้นมีนักรบที่เก่งกาจมากในท่ามกลางกลุ่มโพกผ้าเหลืองของเขา จากนั้นฮองฮูสงก็ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การป้องกันเพื่อหลอกล่อให้พวกกบฏลดการป้องกัน ซึ่งพวกเขาทำสำเร็จ เขาจึงฉวยโอกาสโจมตีตอบโต้กลับในเวลากลางคืนและปราบกบฏให้สิ้นซาก เตียวเหลียงได้ตายในสนามรบพร้อมกับกบฏ 30,000 คน ในขณะที่จำนวนกบฏอีก 50,000 คน ที่พยายามหลบหนีข้ามแม่น้ำก็ต้องจมน้ำตาย ฮองฮูสงยังเผาเกวียนจำนวนกว่า 30,000 คันที่บรรจุไปด้วยเสบียงสำหรับพวกกบฏและเข้าจับกุมสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ของพวกเขา ฮองฮูสงได้สั่งให้ขุดหลุมศพเตียวก๊กขึ้นมา ทำการตัดและส่งศีรษะไปยังราชสำนักที่ลกเอี๋ยง

เมื่อทรงทราบถึงความสำเร็จของฮองฮูสง พระเจ้าเลนเต้ทรงเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็นแม่ทัพฝ่ายซ้ายแห่งกองรถม้าศึกและทหารม้า (左車騎將軍) ในระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 184 ถึง 18 มกราคม ค.ศ. 185 ฮองฮูสงได้นำกองทัพเข้าร่วมกับกัว เตี่ยน (郭典) ผู้ว่าราชการเมืองจูลู่ เพื่อเข้าโจมตีพวกกบฏที่หลงเหลือซึ่งนำโดยเตียวโป้ น้องชายอีกคนของเตียวก๊ก พวกเขาได้เอาชนะพวกกบฏที่อำเภอเซียคูหยาง (下曲陽縣; ทางตะวันตกของจิ่นโจว, มณฑลเหอเป่ยในยุคปัจจุบัน), สังหารเตียวโป้และพวกกบฏต่างพากันยอมจำนนจำนวนกว่า 100,000 คน

มณฑลเกงจิ๋ว: เมืองลำหยง

แก้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 184 พวกกบฏที่นำโดยจาง ม่านเฉิง (張曼成) สังหารฉู่ ก้ง (褚貢), ผู้ว่าราชการเมืองลำหยง และเข้ายึดครองเมืองหลวงของเมืองคือ อ้วนเซีย (宛城; เขตอ้วนเซีย , นครระดับเมืองลำหยง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน).ฉิน เจี๋ย (秦頡) ทายาทของฉู่ ก้ง ได้ระดมกำลังคนท้องถิ่นในลำหยงเพื่อเข้าโจมตี จาง ม่านเฉิง จนเอาชนะและสังหารเข้าได้ในระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึง 25 กรกฎาคม ก่อนที่กองกำลังเสริมที่นำโดยจูฮีจะปรากฏตัวขึ้น

ภายหลังการเสียชีวิตของจาง ม่านเฉิง เตียวฮ่อง (趙弘) กลายเป็นผู้นำคนใหม่ในอ้วนเซีย ประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 184 หรือหลังจากนั้นฉิน เจี๋ย และจูฮีได้เข้ารวมกองกำลังกับชีจิ๋วเป๋ง (徐璆 สฺวี ฉิว), ผู้ตรวจการมณฑลเกงจิ๋วเพื่อเข้าโจมตีอ้วนเซียด้วยกองทัพจำนวนประมาณ 18,000 นาย พวกเขาสามารถเอาชนะและสังหาร เตียวฮ่อง ลงได้

หลังการเสียชีวิตของเตียวฮ่อง ฮั่นต๋ง (韓忠) และกลุ่มกบฏที่เหลือได้เข้าควบคุมอ้วนเซีย และยังคงต่อต้านกองทัพจักรวรรดิต่อไป จูฮีได้ออกคำสั่งให้กองทหารของเขาให้แสร้งทำเป็นโจมตีจากทางตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะที่เขาจะลักลอบชั้นยอดจำนวน 5,000 นายทำการแทรกซึมอ้วนเซีย จากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ฮั่นต๋ง ได้ถอยกลับเข้าไปในป้อมปราการและต้องการยอมสวามิภักดิ์แก่ฉิน เจี๋ย, ชีจิ๋วเป๋ง และเตียวเถียว (張超 จาง เชา), แม่ทัพนายกอง ภายใต้คำสั่งของจูฮีได้ยอมรับการยอมจำนนแต่กลับถูกปฏิเสธ ต่อมาจูฮีได้แสร้งทำเป็นยุติการล้อมเพื่อล่อให้ ฮั่นต๋ง ออกมาโจมตี ฮั่นต๋งหลงกลอุบาย พ่ายแพ้การต่อสู้ และพยายามหลบหนีไปทางเหนือ ในขณะที่คนของเขาจำนวน 10,000 นายล้วนถูกสังหารโดยกองทัพจักรวรรดิ ด้วยความสิ้นหวัง ฮั่นต๋ง จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อจูฮี แต่ฉิน เจี๋ย ที่รู้สึกเกลียดชังได้เข้าไปสังหารเขาเสีย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 185 จูฮีได้เอาชนะกองกำลังกบฏอีกกลุ่มหนึ่งที่นำโดยซุน เซี่ย (孫夏),ที่ได้หลบหนีไปยังอำเภอซีเอ้อ (西鄂縣; ทางตอนเหนือของนครระดับเมืองลำหยง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) จูฮีได้ติดตามไล่ล่าเขาไปที่นั้น เอาชนะเขาได้ และทำให้กบฏที่เหลือต่างพากันหนีแตกกระเจิง

มณฑลชีจิ๋วและยังจิ๋ว

แก้

ในมณฑลชีจิ๋ว ผู้ตรวจการมณฑล โตเกี๋ยม พร้อมกับความช่วยเหลือของจงป้าและคนอื่น ๆ สามารถเอาชนะพวกกบฏและฟื้นฟูความสงบสุขในภูมิภาค[17][18]

ซุนเจียนซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในอำเภอเซี่ยพีหรือแห้ฝือ (下邳縣; ทางตอนใต้ของปี่โจว, มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ในมณฑลซีจิ๋ว เข้าร่วมกับกองทัพของจูฮีในฐานะเป็นแม่ทัพนายกอง เขาได้นำทัพที่มาพร้อมกับชายหนุ่มหลายคนจากเมืองเซี่ยปี่และทหารคนอื่น ๆ ที่เขารับสมัครมาจากภูมิภาคแม่น้ำห้วย[19]

ในมณฑลหยางจิ๋ว พวกกบฏได้เข้าโจมตีอำเภอฉู่ (舒縣; ตอนกลางของมณฑลอานฮุยในปัจจุบัน), อำเภอหนึ่งในเมืองลู่เจียง (廬江郡; บริเวณรอบลู่อัน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และจุดไฟเผาอาคารต่าง ๆ หยาง ซฺวี่ (羊續) ผู้ว่าราชการเมืองลู่เจียง ได้รวบรวมชายฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไปจำนวนหลายพันคนเพื่อช่วยเหลือเขาในการต่อสู้รบกับกลุ่มกบฏและดับเพลิง[20] เขาประสบความสำเร็จ ฟื้นฟูความสงบและความมั่นคงในภูมิภาค

จุดจบของการก่อกบฏ

แก้

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 185 การก่อกบฏได้ถูกปราบปรามภายหลังจากจูฮีได้เข้ายึดครองอ้วนเซีย ในเมืองลำหยงกลับคืนมา และชัยชนะของฮองฮูสงต่อพี่น้องสกุลเตียวในมณฑลกิจิ๋ว กลุ่มกบฏแทบไม่เหลือผู้รอดชีวิตในสงคราง แม้สงครามจบลงกองทัพทางการไล่ติดตามในการดำเนินกวาดล้างต่าง ๆ เผื่อมีกบฏโพกผ้าเหลืองหลงเหลืออยู่ และในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 185 พระเจ้าเลนเต้ได้ทรงประกาศเฉลิมฉลองโดยเปลี่ยนชื่อยุคสมัยของพระองค์จากกวางเหอ (光和) มาเป็น จงผิง (中平; "การบรรลุความสุขสงบ")[8]

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองที่ฟื้นคืนกลับมาในช่วงหลังต้นปี ค.ศ. 185

แก้

แม้ว่ากบฏโพกผ้าเหลืองจะจบสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 185 แต่การก่อกบฏขนาดเล็ก ๆ ของกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองที่ยังหลงเหลือยังคงปะทุขึ้นทั่วแผ่นดินจีนตลอดหลายทศวรรษต่อมา แม้แต่ในเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ

โจรคลื่นขาว

แก้

ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม และ 13 เมษายน ค.ศ. 188 กัว ไท่ (郭太) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่ จำนวน 100,000 นาย เพื่อเริ่มก่อกบฎในเมืองซีเหอ (บริเวณรอบเฟินหยาง, ชานซีในปัจจุบัน) เนื่องจากพวกเขามีต้นกำเนิดมาจากหุบเขาไป่โป (白波谷; "หุบเขาคลื่นขาว") ในเมืองซีเหอ ต่อมาพวกเขากลายเป็นที่รู้จักกันคือ "โจรคลื่นขาว"(白波賊) พวกเขาได้ร่วมมือกับยฺหวีฝูหลัว ผู้นำชนเผ่าซยฺงหนู และเข้าโจมตีเมืองไท่หยวน (บริเวณรอบไท่หยวน, มณฑลชานซีในปัจจุบัน) และเมืองเหอตง (บริเวณรอบยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซีในปัจจุบัน)[21][22] ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม และ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 189 เมื่อพวกโจรเข้าโจมตีเมืองเหอตง ขุนศึกนามว่า ตั๋งโต๊ะ ได้พยายามที่จะส่งหนิวฝู่ (งิวฮู) ผู้เป็นลูกเขยของตนไปนำกองกำลังทหารเข้าโจมตีแต่ล้มเหลว[23][24]

ราวกลางปี ค.ศ. 195 พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงหลบหนีออกจากนครฉางอัน เมืองหลวงของจักรวรรดิที่ซึ่งพระองค์ทรงถูกจับเป็นตัวประกันโดยลูกน้องสมุนของตั๋งโต๊ะอย่างลิฉุยและกุยกี นับตั้งแต่ตั๋งโต๊ะถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 192 พระองค์ทรงกลับมายังซากเมืองลกเอี๋ยงที่เป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งตั๋งโต๊ะทำการเผาใน ค.ศ. 191 ในขณะที่ย้ายถิ่นฐานไปยังฉางอานโดยบังคับ ต่ง ฉง (ตังสิน อดีตลูกน้องของงิวฮู) และหยาง เฟิ่ง (เอียวฮอง อดีตโจรคลื่นขาว)[25] เข้าปกป้องพระเจ้าเหี้ยนเต้ในลกเอี๋ยง เมื่อลิฉุยและกุยกีพยายามที่จะไล่ติดตามและนำฮ่องเต้กลับไปที่ฉางอัน ตังสินและเอียวฮองได้เรียกกลุ่มโจรคลื่นขาวซึ่งนำโดย ลิงัก (李樂 หลี่ เล่อ), หันเซียม, โฮจ๋าย (胡才 หู ไฉ) และคนอื่น ๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้ กองกำลังของชนเผ่าซฺยงหนูที่นำโดยชวี่เปย์ (去卑) ก็ตอบรับคำเรียกเช่นกันแล้วยกมาช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้ ต่อต้านกองกำลังของลิฉุยและกุยกี[26] ระหว่างปี ค.ศ. 195 ขุนศึก โจโฉ ได้นำกองกำลังของตนเข้าสู่ลกเอี๋ยงและและคุ้มกันพระเจ้าเหี้ยนเต้พาไปยังฐานที่มั่นของตนในเมืองสฺวี่ตู (許; สฺวี่ชาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และสถาปเมืองหลวงจักรวรรดิแห่งใหม่ที่นั่น

เอ๊กจิ๋ว: หม่า เซียง และเจ้า จือ

แก้

ใน ค.ศ. 188 หม่า เซียง (馬相) และเจ้า จือ (趙祗) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่เพื่อเริ่มก่อกบฎในเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมมณฑลเสฉวนและฉงชิ่งในปัจจุบัน) พวกเขาสังหารหลี่ เชิง (李升; นายอำเภอแห่งเมืองเมียนจู 緜竹縣), เจ้า ปู้ (趙部; ผู้ว่าราชการเมืองปา 巴郡) และซี เจี่ยน (郗儉; ผู้ตรวจการมณฑลเอ็กจิ๋ว) หม่า เซียงได้ประกาศตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้ ก่อนที่กลุ่มกบฎเหล่านี้จะถูกปราบปรามโดยกองกำลังท้องถิ่นที่นำโดยเจี่ย หลง (賈龍) อดีตลูกน้องของซี เจี่ยน[27][28]

เฉงจิ๋ว: จาง เหรา, กวนไฮ, สฺวี เหอ และซือหม่า จฺวี้

แก้

ราวปี ค.ศ. 189 จาง เหรา (張饒) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จำนวน 200,000 นายเพื่อเข้าทำลายล้างชิงจิ๋ว เขาได้เอาชนะกองกำลังจักรวรรดิภายใต้การนำของข่งหรง (ขงหยง) เสนาบดีแห่งรัฐเป๋ยไห่ซึ่งราชสำนักฮั่นได้แต่งตั้ง (บริเวณรอบเหวย์ฟาง, ซานตงในปัจจุบัน) ในชิงจิ๋ว[29] ต่อมาขงหยงได้ถูกปิดล้อมในอำเภอตู้ชาง (都昌縣; บริเวณรอบ Changyi, ซานตง) โดยโจกโพกผ้าเหลืองหลายพันคนที่นำโดยก่วนไฮ่ (管亥) ไทสูจู้ แม่ทัพขุนพลภายใต้สังกัดขงหยงสามารถตีฝ่าวงล้อมและขอความช่วยเหลือจากเล่าปี่ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีแห่งรัฐผิงหยวนที่อยู่ใกล้เคียง เล่าปี่ได้นำกองกำลังทหารจำนวน 3,000 นาย เข้าโจมตีกวนไฮและช่วยเหลือขงหยงได้สำเร็จ[30]

ใน ค.ศ. 200 สฺวี เหอ (徐和) และซือหม่า จฺวี้ (司馬俱) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จากเมืองจี่หนาน (บริเวณรอบ Zhangqiu, ซานตงในปัจจุบัน) และเมืองเล่ออัน (บริเวณรอบจือปั๋ว, ซานตงในปัจจุบัน) เพื่อเข้าทำลายล้างชิงจิ๋วอีกครั้ง พวกเขากลับพ่ายแพ้และถูกสังหารโดยแฮหัวเอี๋ยน จงป้า และลิยอย ในระหว่างปี ค.ศ. 206 ถึง 209[f][31][32]

กุนจิ๋ว:กองทัพเฉงจิ๋วของโจโฉ

แก้

ราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 192 กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จำนวนแสนนายจากมณฑลชิงจิ๋วได้บุกเข้าไปในมณฑลหยานและสังหารเจิ่ง ซุ่ย (鄭遂) เสนาบดีแห่งรัฐเหริ่นเชิง (任城國; บริเวณรอบโจวเฉิง, มณฑลชานตงในปัจจุบัน) ก่อนที่จะย้ายไปยังเมืองตงผิง (東平郡; บริเวณรอบอำเภอตงผิง, มณฑลชานตงในปัจจุบัน) เล่าต้าย ผู้ตรวจการแห่งมณฑลกุนจิ๋ว ต้องการที่จะนำกองกำลังเข้าโจมตีพวกกบฏแต่แม่ทัพขุนพลนามว่า เปาสิ้น ได้ให้คำแนะนำเขาว่าให้ตั้งรับ เล่าต้ายได้เมินเฉยต่อคำแนะนำและเสียชีวิตในการโจมตีพวกกบฏ เปาสิ้นและขุนพลอีกคนนามว่า ว่านเฉียน (萬潛) ได้ไปยังเมืองตง (東郡; บริเวณรอบผู่หยาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) เพื่อเชิญโจโฉเป็นผู้ว่าราชการแห่งมณฑลกุนจิ๋วคนใหม่ จากนั้นเปาสิ้นได้นำกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเข้าโจมตีพวกกบฎทางตะวันออกของอำเภอโชวจาง (壽張縣; ทางตอนใต้ของอำเภอตงผิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน) แต่เสียชีวิตในการรบ[33] ต่อมาแม้จะมีกองกำลังที่น้อยกว่า แต่โจโฉก็สามารถเอาชนะพวกกบฏในรัฐจี้เป่ยได้ กลุ่มกบฎจำนวนกว่า 300,000 นายได้เข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉพร้อมกับครอบครัว โจโฉได้คัดเลือกนักรบที่เก่งที่สุดและจัดตั้งหน่วยทหารชั้นเยี่ยมที่มีชื่อว่า กองทัพชิงโจว (青州兵; ยังแปลว่า "กองพลน้อยชิงโจว")[34][35]

เมืองยีหลำและเองฉวน: โฮงี, เล่าเพ็ก, ก๋งเต๋า และคนอื่น ๆ

แก้

ในเมืองยีหลำและเองฉวน กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่ยังคงประจำการภายใต้การนำของโฮงี (何儀), เล่าเพ็ก (劉辟), อุยเซียว (黃邵), และโฮปัน (何曼) ในตอนแรก พวกเขาเป็นพันธมิตรกับขุนศึก อ้วนสุดและซุนเกี๋ยน แต่กลายเป็นกองกำลังอิสระใน ค.ศ. 190 ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม และ 15 เมษายน ค.ศ. 196 ขุนศึก โจโฉ ได้นำกองกำลังเข้าโจมตีพวกเขาและสังหารเล่าเพ็ก อุยเซียว และโฮปัน โฮงีนำกองกำลังที่เหลือเข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ[36]

กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งในยีหลำที่นำโดย Wu Ba (吳霸) และก๋งเต๋า (龔都) Wu Ba พ่ายแพ้และถูกจับกุมโดยแม่ทัพขุนพลนามว่า ลิถอง ก๋งเต๋าได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อโจโฉ เมื่อเขาได้ร่วมมือกับเล่าปี่ คู่ปรับของโจโฉ และยึดการควบคุมเมืองหรู่หนานใน ค.ศ. 201 ตอนแรก โจโฉได้ส่ง Cai Yang (蔡揚) ไปกำจัดพวกเขา แต่ Cai Yang กลับถูกสังหาร เขาจึงนำกองกำลังด้วยตนเองเข้าโจมตีและเอาชนะพวกเขาได้ เล่าปี่ต้องหลบหนีไปยังทางใต้เพื่อเข้าร่วมกับเล่าเปียว ในขณะที่ก๋งเต๋าและพวกกบฎที่เหลือต่างแยกย้ายกระจายกันไป[37]

มณฑลยังจิ๋วและเกาจิ๋ว

แก้

กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งในเมืองห้อยเข (บริเวณรอบเช่าซิง, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) จนกระทั่งเล่าจ้านได้สังหารผู้นำนามว่า อู๋หฺวาน (吳桓)[38]

ใน ค.ศ. 200 เฉิน ไป้ (陳敗) และว่าน ปิ่ง (萬秉) ได้เริ่มก่อการกบฎในเมืองจิ่วเจิ้น (九真郡; เมืองทัญฮว้า ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ใน ค.ศ. 202 พวกเขาได้พ่ายแพ้และถูกจับกุมโดย จูตี ผู้ว่าราชการของเมือง[39]

ผลพวงและผลกระทบ

แก้

กองทัพฮั่นได้รับชัยชนะ แม้ว่าสถานที่ทางราชการที่สำคัญได้ถูกทำลายไป การเสียชีวิตของข้าราชการระดับสูง และดินแดนของราชวงศ์ได้ถูกแตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ พวกกบฏเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายแสนคน ในขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามได้ถูกทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านหรือสิ้นเนื้อประดาตัวจากสงคราม ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลงอย่างมากจนไม่สามารถปกครองได้อย่างเต็มที่ อำนาจได้ถูกกระจัดกระจายไปยังแม่ทัพขุนศึกและผู้นำท้องถิ่นจนกระทั่งล่มสลายอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 220

ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคตใน ค.ศ. 189 การแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างโฮจิ๋น ผู้เป็นพระเทวันและพวกขันทีซึ่งจบลงด้วยโฮจิ๋นถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 189 อ้วนเสี้ยวขุนศึกผู้ใต้บังคับบัญชาของโฮจิ๋นได้ทำการจุดไฟเผาพระราชวังและบุกเข้าไปเข่นฆ่าพวกขันที ขุนศึกตั๋งโต๊ะได้เข้าเมืองหลวง ปลดพระเจ้าฮั่นเช่าตี้ออกจากราชบังลังก์ แต่งตั้งหองจูเหียบซึ่งยังทรงพระเยาว์เป็นฮ่องเต้องค์ใหม่ พระนามว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ และตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำให้มีอำนาจบาตรใหญ่คอยข่มเหงราษฏรอย่างโหดเหี้ยม จนกระทั่งถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 192 ต่อมาแม่ทัพขุนศึกและผู้นำท้องถิ่นต่างตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ จนกระทั่งเหลือขุนศึกสามคน ได้แก่ เล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน

โจโฉได้ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นหุ่นเชิดคอยชักใยอำนาจอยู่เบื้องหลัง จนถูกเล่าปี่และซุนกวนต่อต้านทำให้ต้องส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จ เมื่อโจโฉถึงแก่อสัญกรรม โจผี ทายาทของโจโฉได้บีบบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชบังลังก์และมอบให้แก่ตน โจผีได้แต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้องค์ใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ เล่าปี่ไม่ยอมรับและแต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้เพื่อกอบกู้ราชวงศ์ฮั่น และซุนกวนก็แต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้ตามพวกเขาเช่นกัน จนนำไปสู่ยุคสามก๊กในที่สุด

หมายเหตุ

แก้
  1. "เราไม่พบหลักฐานทางสถิติใด ๆ ที่บอกเราได้ว่าการโจมตีเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด และมีชาวจีนกี่คนที่ถูกสังหารหรือพลัดถิ่น"[3]
  2. หมายถึงการปกครองของราชวงศ์ฮั่น
  3. หมายถึงกบฏโพกผ้าเหลือง
  4. ปีเจี๋ยจื่อ (甲子) เป็นปีเริ่มต้นของวงรอบ 60 ปี ในที่นี้คือปี ค.ศ. 184
  5. บทชีวประวัติกวนอูและเตียวหุยในสามก๊กจี่ไม่ได้ระบุว่ากวนอูและเตียวหุยมีส่วนร่วมในการปราบกบฏโพกผ้าเหลืองด้วย แต่การสันนิษฐานว่าทั้งสองอาจมีส่วนร่วมด้วยนั้นมีความสมเหตุสมผล เพราะทั้งสองเข้าร่วมกับเล่าปี่ตั้งแต่ก่อนหน้านี้
  6. It is not known exactly when สฺวี เหอ and ซือหม่า จฺวี้ were defeated and killed. In Xiahou Yuan's biography in the Sanguozhi mentioned them between the time Yu Jin quelled a rebellion by Chang Xi (in 206) and 209 (14th year of the Jian'an era).

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Smitha, Frank E. "DYNASTIC RULE and the CHINESE (9 of 13)". Macrohistory and World Timeline. สืบค้นเมื่อ 19 February 2015. By the year 205 (21 years after it had begun) the Yellow Turban Rebellion was over, and rule by the Han family was shattered and at its end.
  2. Ropp, Paul S (10 June 2010). China in World History. Oxford University Press. p. 40. ISBN 9780199798766.
  3. Michaud, Paul (1958). "The Yellow Turbans". Monumenta Serica. 17: 47–127. doi:10.1080/02549948.1958.11730973. ISSN 0254-9948. JSTOR 40725564.
  4. Bowker, John (1997). The Concise Oxford Dictionary of World Religions.
  5. 5.0 5.1 5.2 deCrespingy, Rafe (October 27, 2016). Fire Over Luoyang: A History of the Later Han Dynasty 23-220 AD (ภาษาอังกฤษ) (1 ed.). Brill Publishers. pp. 388–418. ISBN 9789004325203.
  6. Generals of the South, Rafe de Crespigny เก็บถาวร 2007-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (pp. 85–92)
  7. (初,鉅鹿張角自稱「大賢良師」,奉事黃老道,畜養弟子,跪拜首過,符水咒說以療病,病者頗愈,百姓信向之。角因遣弟子八人使於四方,以善道教化天下,轉相誑惑。十餘年閒,眾徒數十萬,連結郡國,自青、徐、幽、冀、荊、楊、兗、豫八州之人,莫不畢應。遂置三十六方。方猶將軍號也。大方萬餘人,小方六七千,各立渠帥。訛言「蒼天已死,黃天當立,歲在甲子,天下大吉」。以白土書京城寺門及州郡官府,皆作「甲子」字。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 71.
  8. 8.0 8.1 8.2 Generals of the South, Rafe de Crespigny เก็บถาวร 2007-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (pp. 85–92) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ANU" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  9. The Scripture on Great Peace: The Taiping Jing and the Beginnings of Daoism. University of California Press. 2007. ISBN 9780520932920.
  10. W.Scott Morton (1995). China: "Its History and Culture". McGraw-Hill. ISBN 0-07-043424-7.
  11. (中平元年,大方馬元義等先收荊、楊數萬人,期會發於鄴。元義數往來京師,以中常侍封諝、徐奉等為內應,約以三月五日內外俱起。未及作亂,而張角弟子濟南唐周上書告之,於是車裂元義於洛陽。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 71.
  12. (靈帝以周章下三公、司隸,使鉤盾令周斌將三府掾屬,案驗宮省直衛及百姓有事角道者,誅殺千餘人,推考冀州,逐捕角等。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 71.
  13. (中平元年春二月,鉅鹿人張角自稱「黃天」,其部師有三十六萬,皆著黃巾,同日反叛。安平、甘陵人各執其王以應之。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 8.
  14. (廣陽黃巾殺幽州刺史郭勳及太守劉衛。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 8.
  15. (靈帝末,黃巾起,州郡各舉義兵,先主率其屬從校尉鄒靖討黃巾賊有功,除安喜尉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  16. (中平元年,黃巾賊起,特選拜豫州刺史。 ... 討擊黃巾別帥,大破之,與左中郎將皇甫嵩、右中郎將朱雋等受降數十萬。於賊中得中常侍張讓賓客書疏,與黃巾交通,允具發其姦,以狀聞。靈帝責怒讓,讓叩頭陳謝,竟不能罪之。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 66.
  17. (會徐州黃巾起,以謙為徐州刺史,擊黃巾,大破走之,境內晏然。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 73.
  18. (黃巾起,霸從陶謙擊破之,拜騎都尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 18.
  19. (中平元年,黃巾賊帥張角起於魏郡,託有神靈,遣八使以善道教化天下,而潛相連結,自稱黃天泰平。三月甲子,三十六萬一旦俱發,天下響應,燔燒郡縣,殺害長吏。漢遣車騎將軍皇甫嵩、中郎將朱儁將兵討擊之。儁表請堅為佐軍司馬,鄉里少年隨在下邳者皆願從。堅又募諸商旅及淮、泗精兵,合千許人,與儁并力奮擊,所向無前。汝、潁賊困迫,走保宛城。堅身當一面,登城先入,衆乃蟻附,遂大破之。儁具以狀聞上,拜堅別部司馬。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 46.
  20. (... 四遷為廬江太守。後揚州黃巾賊攻舒,焚燒城郭,續發縣中男子二十以上,皆持兵勒陳,其小弱者,悉使負水灌火,會集數萬人,并埶力戰,大破之,郡界平。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 31.
  21. ([中平五年二月, ...]黃巾餘賊郭太等起於西河白波谷,寇太原、河東。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 8.
  22. (魏書曰:於夫羅者,南單于子也。中平中,發匈奴兵,於夫羅率以助漢。會本國反,殺南單于,於夫羅遂將其衆留中國。因天下撓亂,與西河白波賊合,破太原、河內,抄略諸郡為寇。) Wei Shu annotation in จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  23. (白波賊寇河東,董卓遣其將牛輔擊之。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 9.
  24. (初,靈帝末,黃巾餘黨郭太等復起西河白波谷,轉寇太原,遂破河東,百姓流轉三輔,號為「白波賊」,眾十餘萬。卓遣中郎將牛輔擊之,不能卻。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 72.
  25. (傕將楊奉本白波賊帥, ...) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 72.
  26. (李傕、郭汜既悔令天子東,乃來救段煨,因欲劫帝而西, ... 而張濟與楊奉、董承不相平,乃反合傕、汜,共追乘輿,大戰於弘農東澗。承、奉軍敗,百官士卒死者不可勝數,皆棄其婦女輜重,御物符策典籍,略無所遺。 ... 天子遂露次曹陽。承、奉乃譎傕等與連和,而密遣閒使至河東,招故白波帥李樂、韓暹、胡才及南匈奴右賢王去卑,並率其眾數千騎來,與承、奉共擊傕等,大破之,斬首數千級,乘輿乃得進。董承、李樂擁衛左右,胡才、楊奉、韓暹、去卑為後距。傕等復來戰,奉等大敗,死者甚於東澗。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 72.
  27. ([中平五年六月, ...]益州黃巾馬相攻殺刺史郗儉,自稱天子,又寇巴郡,殺郡守趙部,益州從事賈龍擊相,斬之。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 8.
  28. (是時梁州逆賊馬相、趙祗等於緜竹縣自號黃巾,合聚疲役之民,一二日中得數千人,先殺緜竹令李升,吏民翕集合萬餘人,便前破雒縣,攻益州殺儉,又到蜀郡、犍為,旬月之間,破壞三郡。相自稱天子,衆以萬數。州從事賈龍素領兵數百人在犍為東界,攝斂吏民,得千餘人,攻相等,數日破走,州界清靜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 31.
  29. (時黃巾寇數州,而北海最為賊衝,卓乃諷三府同舉融為北海相。融到郡,收合士民,起兵講武,馳檄飛翰,引謀州郡。賊張饒等群輩二十萬眾從冀州還,融逆擊,為饒所敗,乃收散兵保朱虛縣。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 70.
  30. (時黃巾復來侵暴,融乃出屯都昌,為賊管亥所圍。融逼急,乃遣東萊太史慈求救於平原相劉備。備驚曰:「孔北海乃復知天下有劉備邪?」即遣兵三千救之,賊乃散走。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 70.
  31. (濟南、樂安黃巾徐和、司馬俱等攻城,殺長吏,淵將泰山、齊、平原郡兵擊,大破之,斬和,平諸縣,收其糧穀以給軍士。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  32. (又與于禁討昌豨,與夏侯淵討黃巾餘賊徐和等,有功,遷徐州刺史。 ... 濟南黃巾徐和等,所在劫長吏,攻城邑。虔引兵與夏侯淵會擊之,前後數十戰,斬首獲生數千人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 18.
  33. ([初平三年夏四月]青州黃巾衆百萬入兖州,殺任城相鄭遂,轉入東平。劉岱欲擊之,鮑信諫曰:「今賊衆百萬,百姓皆震恐,士卒無鬬志,不可敵也。觀賊衆羣輩相隨,軍無輜重,唯以鈔略為資,今不若畜士衆之力,先為固守。彼欲戰不得,攻又不能,其勢必離散,後選精銳,據其要害,擊之可破也。」岱不從,遂與戰,果為所殺。信乃與州吏萬潛等至東郡迎太祖領兖州牧。遂進兵擊黃巾於壽張東。信力戰鬬死,僅而破之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  34. (魏書曰:太祖將步騎千餘人,行視戰地,卒抵賊營,戰不利,死者數百人,引還。賊尋前進。黃巾為賊久,數乘勝,兵皆精悍。太祖舊兵少,新兵不習練,舉軍皆懼。太祖被甲嬰冑,親巡將士,明勸賞罰,衆乃復奮,承間討擊,賊稍折退。賊乃移書太祖曰:「昔在濟南,毀壞神壇,其道乃與中黃太一同,似若知道,今更迷惑。漢行已盡,黃家當立。天之大運,非君才力所能存也。」太祖見檄書,呵之罪,數開示降路;遂設奇伏,晝夜會戰,戰輙禽獲,賊乃退走。) Wei Shu annotation in จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  35. (追黃巾至濟北。乞降。冬,受降卒三十餘萬,男女百餘萬口,收其精銳者,號為青州兵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  36. (汝南、潁川黃巾何儀、劉辟、黃邵、何曼等,衆各數萬,初應袁術,又附孫堅。[建安元年]二月,太祖進軍討破之,斬辟、邵等,儀及其衆皆降。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  37. ([建安六年]九月,公還許。紹之未破也,使劉備略汝南,汝南賊共都等應之。遣蔡揚擊都,不利,為都所破。公南征備。備聞公自行,走奔劉表,都等皆散。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  38. (吳書曰:留贊字正明,會稽長山人。少為郡吏,與黃巾賊帥吳桓戰,手斬得桓。贊一足被創,遂屈不伸。) Wu Shu annotation in จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  39. (建安七年,權表治為九真太守,行扶義將軍,割婁、由拳、無錫、毗陵為奉邑,置長吏。征討夷越,佐定東南,禽截黃巾餘類陳敗、萬秉等。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 56.