หมาป่า

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเภทสัตว์กินเนื้อ

หมาป่า สุนัขป่า หรือ หมาป่าสีเทา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Canis lupus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จัดอยู่ในวงศ์สุนัข (Canidae) โดยเป็นสมาชิกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์สุนัข มีสัตว์ร่วมตระกูลคือ หมาจิ้งจอก หมาใน ไคโยตี หมาบ้านและดิงโก หมาป่าจัดอยู่ในสัตว์ประเภทกินเนื้อที่มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ปราดเปรียว เฉลียวฉลาด มีการออกล่าเป็นทีม มีความอดทนรวมทั้งมีความกล้าหาญและความสามารถในการต่อสู้อย่างดีเยี่ยม หมาป่าอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในแถบทวีปยุโรป โดยในอดีตมีถึง 32 สายพันธุ์ และเป็นนักล่าที่มีพลังกัดมหาศาล

หมาป่า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
สมัยไพลสโตซีนตอนกลาง–ปัจจุบัน (810,000 ปี–ปัจจุบัน)[1]
เสียงหมาป่าหอน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: อันดับสัตว์กินเนื้อ
วงศ์: Canidae
สกุล: Canis
Linnaeus, 1758[3]
สปีชีส์: Canis lupus
ชื่อทวินาม
Canis lupus
Linnaeus, 1758[3]
ชนิดย่อย
อาณาเขตของหมาป่าทั่วโลกตามการประเมินของ IUCN ปี ค.ศ. 2018[2]

หมาป่าเป็นสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของวงศ์สุนัข (Canidae) ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 40 กิโลกรัม (88 ปอนด์) และตัวเมีย 37 กิโลกรัม (82 ปอนด์) หมาป่ามีความยาวประมาณ 105–160 ซม. (41–63 นิ้ว) และสูงประมาณ 80–85 ซม. (31–33 นิ้ว) หมาป่ายังมีความแตกต่างจากวงศ์ Canis สายพันธุ์อื่น ด้วยรูปทรงหูและส่วนจมูก-ปาก (muzzle) ที่แหลมน้อยกว่า รวมไปถึงลำตัวที่สั้นกว่าและหางที่ยาวกว่า อย่างไรก็ตามหมาป่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสายพันธุ์ Canis ที่มีขนาดเล็ก เช่น โคโยตี และหมาใน และสามารถผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับพวกมัน ขนที่มีแถบสีของหมาป่ามักมีสีขาว สีน้ำตาล สีเทา และสีดำเป็นจุด ๆ แม้ว่าสายพันธุ์ย่อยในภูมิภาคอาร์กติกอาจมีสีขาวเกือบทั้งหมด

ในบรรดาสมาชิกทั้งหมดของสกุล Canis หมาป่ามีความเชี่ยวชาญมากที่สุดสำหรับการล่าสัตว์ในยุทธวิธีแบบร่วมมือ โดยแสดงให้เห็นจากความสามารถในการปรับตัวทางกายภาพเพื่อจัดการกับเหยื่อขนาดใหญ่, ลักษณะทางสังคมที่มีความซับซ้อน, และพฤติกรรมการแสดงออกขั้นสูง สุนัขป่ามักเดินทางในหน่วยครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วยคู่ผสมพันธุ์พร้อมกับลูกหลานของพวกมัน ลูกหลานที่เริ่มมีวุฒิภาวะทางเพศ อาจถูกปล่อยให้ไปตั้งฝูงย่อย (pack) ของตัวเอง เพื่อลดการแย่งชิงอาหารภายในกลุ่ม นอกจากนี้ หมาป่ายังเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับอาณาเขต และการต่อสู้ระหว่างหมาป่าด้วยกันเพื่อแย่งชิงและปกป้องอาณาเขตก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

หมาป่ามีพฤติกรรมเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยมักล่าสัตว์เท้ากีบที่เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในป่า อาหารรวมไปถึงสัตว์ขนาดเล็ก, ปศุสัตว์, ซากสัตว์, และขยะ หมาป่าตัวเดียวหรือร่วมกับคู่ผสมพันธุ์ มักจะมีอัตราความสำเร็จในการล่าสูงกว่าการล่าแบบฝูงใหญ่ เชื้อโรคและปรสิตโดยเฉพาะไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าอาจติดต่อสู่หมาป่าได้

ประชากรหมาป่าทั่วโลกได้รับการประเมินว่ามีประมาณ 300,000 ตัวในปี พ.ศ. 2546 และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ถือว่าเป็นสายพันธุ์มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์น้อย หมาป่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ โดยมักถูกเกลียดชังและถูกล่าจากคนชุมชนที่ดำรงชีพโดยการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งนี้เพราะหมาป่ามักโจมตีปศุสัตว์ แต่ในทางกลับกัน หมาป่าก็ได้รับความเคารพในสังคมเกษตรกรรมและนักล่าสัตว์ แม้ว่าความกลัวหมาป่าจะยังคงมีอยู่ในสังคมมนุษย์หลายแห่ง แต่โดยปกติแล้วหมาป่าจะไม่นิยมเข้าทำร้ายมนุษย์โดยตรง และการเข้าโจมตีมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากสัตว์ที่ติดโรคพิษสุนัขบ้า การเข้าทำร้ายมนุษย์โดยหมาป่านั้นเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากหมาป่ามีจำนวนประชากรน้อย อาศัยอยู่ห่างไกลจากผู้คนและมีความหวาดกลัวมนุษย์

อ้างอิง แก้

  1. Tedford, Richard H.; Wang, Xiaoming; Taylor, Beryl E. (2009). "Phylogenetic Systematics of the North American Fossil Caninae (Carnivora: Canidae)". Bulletin of the American Museum of Natural History. 325: 1–218. doi:10.1206/574.1. hdl:2246/5999. S2CID 83594819.
  2. 2.0 2.1 Boitani, L.; Phillips, M.; Jhala, Y. (2018). "Canis lupus (errata version published in 2020)". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T3746A163508960. สืบค้นเมื่อ 3 June 2020.
  3. Linnæus, Carl (1758). "Canis Lupus". Systema naturæ per regna tria naturæ, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I (ภาษาละติน) (10 ed.). Holmiæ (Stockholm): Laurentius Salvius. pp. 39–40.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

 
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Wolf