สุมาเอี๋ยน
จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ (จีนตัวย่อ: 晋武帝; จีนตัวเต็ม: 晉武帝; พินอิน: Jìn Wǔ Dì; เวด-ไจลส์: Chin Wu-Ti) หรือ พระเจ้าซีโจบู๊ฮ่องเต้[b] / ชื่อจู๋อู่หฺวางตี้ (จีน: 世祖武皇帝; พินอิน: Shìzǔ Wǔ Huángdì) ชื่อตัว สุมาเอี๋ยน (ค.ศ. 263 - 16 พฤษภาคม ค.ศ. 290[c]) หรือในภาษาจีนกลางว่า ซือหม่า เหยียน (จีน: 司馬炎; พินอิน: Sīmǎ Yán) ชื่อรอง อานชื่อ (จีน: 安世; พินอิน: Ānshì) เป็นหลานปู่ของสุมาอี้ หลานลุงของสุมาสู และบุตรชายของสุมาเจียว สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์จิ้นหลังจากบังคับโจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของรัฐวุยก๊กให้สละราชบัลลังก์ให้พระองค์ พระองค์ครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 266 ถึง ค.ศ. 290 และหลังจากการพิชิตรัฐง่อก๊กในปี ค.ศ. 280 พระองค์ก็ทรงเป็นจักรพรรดิของจีนที่กลับมารวมเป็นหนึ่ง จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังทรงเป็นที่รู้จักในเรื่องความฟุ่มเฟือยและความหมกมุ่นโลกีย์ โดยเฉพาะภายหลังจากการรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง มีหลายตำนานที่เล่าขานสมรรถภาพอันเหลือเชื่อของพระองค์ในการทรงมีสัมพันธ์กับสนมนับหมื่นคน
สุมาเอี๋ยน (ซือหม่า เหยียน) 司馬炎 จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ 晉武帝 | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() พระสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนในยุคราชวงศ์ถัง วาดโดยเหยียน ลี่เปิ่น | |||||||||||||
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้น | |||||||||||||
ครองราชย์ | 8 กุมภาพันธ์ 266[a] – 16 พฤษภาคม ค.ศ. 290 | ||||||||||||
ถัดไป | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ | ||||||||||||
จีนอ๋อง / อ๋องแห่งจิ้น (晉王 จิ้นหวาง) | |||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง | 7 กันยายน[1] ค.ศ. 265 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 | ||||||||||||
ก่อนหน้า | สุมาเจียว | ||||||||||||
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก | |||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง | 7 กันยายน ค.ศ. 265 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 | ||||||||||||
ก่อนหน้า | สุมาเจียว | ||||||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 236 | ||||||||||||
สวรรคต | 16 พฤษภาคม ค.ศ. 290 (53-54 พรรษา)[2] | ||||||||||||
พระมเหสี | หยาง เยี่ยน หยาง จื่อ หวาง เยฺวี่ยนจี | ||||||||||||
พระราชบุตร | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ ซือหมา เจี่ยน ซือหมา เหว่ย์ ซือหมา ยฺหวิ่น ซือหม่า เยี่ยน ซือหม่า เสีย ซือหม่า อี้ ซือหมา อิ่ง ซือหมา เหยี่ยน จักรพรรดิจิ้นหฺวายตี้ เจ้าหญิงฉางชาน เจ้าหญิงผิงหยาง เจ้าหญิงซินเฟิง เจ้าหญิงหยางผิง เจ้าหญิงอู่อาน เจ้าหญิงฝานชาง เจ้าหญิงเซียงเฉิง เจ้าหญิงสิงหยาง เจ้าหญิงสิงหยาง เจ้าหญิงอิ่งชฺวาน เจ้าหญิงกว่างผิง เจ้าหญิงหลิงโช่ว | ||||||||||||
| |||||||||||||
พระราชบิดา | สุมาเจียว | ||||||||||||
พระราชมารดา | หวาง ยฺเหวียนจี |
จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงมักถูกมองว่าเป็นผู้มีพระทัยกว้างขวางและมีพระเมตตา แต่ก็ทรงถูกมองว่าเป็นผู้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายด้วย ความมีพระทัยความกว้างขวางและพระเมตตาของพระองค์นั้นบ่อนทำลายการปกครองของพระองค์เอง เพราะพระองค์ทรงกลายเป็นผู้โอนอ่อนต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความสุรุยสุร่ายของตระกูลขุนนาง (世族 ชื่อจู๋ หรือ 士族 ชื่อจู๋, ชนชั้นเจ้าของที่ดินทางการเมืองหรือทางระบบข้าราชการตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจนถึงยุคราชวงศ์ถัง) มากเกินไป ซึ่งตระกูลเหล่านี้รีดเอาทรัพย์สินของของราษฎรไป นอกจากนี้ เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนก่อตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้น พระองค์ทรงวิตกกังวลในเรื่องเสถียรภาพของการปกครอง และทรงเชื่อว่ารัฐก่อนหน้าอย่างวุยก๊กต้องล่มสลายเนื่องจากความผิดพลาดที่มอบอำนาจให้ตระกูลสุมา พระองค์จึงพระราชทานอำนาจอย่างสูงให้กับเหล่าพระปิตุลา พระภาดา และพระโอรสของพระองค์ รวมถึงพระราชทานอำนาจทางการทหารอย่างอิสระด้วย การดำเนินการเช่นนี้กลับส่งผลทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพของราชวงศ์จิ้นตะวันตก เนื่องจากเหล่าอ๋องต่างทำสงความภายในต่อกันและกันที่รู้จักในคำเรียกว่าสงครามแปดอ๋องภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนไม่นาน และจากนั้น "ห้าชนเผ่า" ก็ก่อการกำเริบขึ้น ซึ่งเป็นโค่นล้มราชวงศ์จิ้นตะวันตก และทำให้ราชวงศ์จิ้นตะวันออกที่สืบทอดอำนาจต่อมาจำต้องย้ายไปภูมิภาคทางฝั่งใต้ของแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ)
พระประวัติก่อนการก่อตั้งราชวงศ์จิ้น
แก้สุมาเอี๋ยนเกิดในปี ค.ศ. 236 ในฐานะบุตรชายคนโตของสุมาเจียวและภรรยาคือหวาง ยฺเหวียนจี (王元姬) ซึ่งเป็นบุตรสาวของอองซก (王肅 หวาง ซู่) บัณฑิตลัทธิขงจื๊อ ในช่วงเวลานั้น สุมาเจียวเป็นข้าราชการระดับกลางในราชสำนักของรัฐวุยก๊กและเป็นสมาชิกของตระกูลที่มีเอกสิทธิ์ในฐานะบุตรชายของขุนพลสุมาอี้ หลังสุมาอี้ยึดอำนาจจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โจซองในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 ในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง สุมาเจียวก็ขึ้นมามีอำนาจในรัฐมากยิ่งขึ้น หลังการเสียชีวิตของสุมาอี้ในเดือนกันยายน ค.ศ. 251 สุมาเจียวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยของสุมาสูผู้เป็นพี่ชายและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ หลังสุมาสูเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 255 สุมาเจียวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในราชสำนักวุยก๊ก
สุมาเอี๋ยนเริ่มมีบทบาทสำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 260 เมื่อกำลังทหารที่ภักดีต่อสุมาเจียวที่นำโดยกาอุ้นเอาชนะความพยายามของโจมอจักรพรรดิแห่งวุยก๊กที่จะทรงชิงพระราชอำนาจขึ้น แล้วปลงพระชนม์โจมอ ในช่วงเวลานั้น สุมาเอี๋ยนในฐานะขุนพลระดับกลางได้รับมอบหมายจากสุมาเจียวผู้บิดาให้ไปเชิญและถวายการอารักขาโจฮวน (ในเวลานั้นยังมีพระนามว่าเฉา หฺวาง) จักรพรรดิองค์ใหม่ จากเขตศักดินาเดิมของพระองค์มายังนครหลวงลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) สุมาเอี๋ยนจึงเดินทางไปเงียบกุ๋น (鄴城 เย่เฉิง; ปัจจุบันคือนครหานตาน มณฑลเหอเป่ย์) เพื่อรับโจฮวน[4] หลังจากสุมาเจียวได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจินก๋ง (晉公 จิ้นกง) หรือก๋งแห่งจิ้นในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 263 จากการพิชิตจ๊กก๊กได้ สุมาเอี๋ยนก็ได้รับการเสนอให้เป็นทายาท แต่ในช่วงเวลานั้น สุมาเจียวลังเลว่าคนใดระหว่างสุมาเอี๋ยนหรือสุมาฮิวที่เป็นน้องชายของสุมาเอี๋ยนที่จะเหมาะสมในการเป็นรัชทายาทมากกว่า เนื่องจากสุมาฮิวถือว่าเป็นผู้มีความสามารถและยังไปเป็นบุตรบุญธรรมของสุมาสูพี่ชายของสุมาเจียวที่ไม่มีบุตรชายสืบสกุลของตน และสุมาเจียวระลึกถึงบทบาทของสุมาสูพี่ชายในการยึดอำนาจให้ตระกูลสุมา จึงเห็นว่าตควรจะคืนอำนาจให้เชื้อสายของพี่ชาย แต่ข้าราชการระดับสูงหลายคนสนับสนุนสุมาเอี๋ยน และสุมาเจียวก็เห็นด้วย หลังจากสุมาเจียวได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจีนอ๋อง (晉王 จิ้นหวาง) หรืออ๋องแห่งจิ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 264 (ซึ่งเป็นการมาถึงขั้นสุดท้ายก่อนการชิงราชบัลลังก์) สุมาเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นราชทายาทแห่งจิ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 265[5][d]
ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิตโดยยังไม่ได้ชิงราชบัลลังก์วุยก๊ก สุมาเอี๋ยนขึ้นเป็นจีนอ๋องในวันถัดมา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนบังคับโจฮวนให้สละราชบัลลังก์ ถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐวุยก๊ก สี่วันต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2566 สุมาเอี๋ยนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้น
ในฐานะจักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้น
แก้ต้นรัชสมัย: การก่อตั้งระบบการเมืองของราชวงศ์จิ้น
แก้จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่พระองค์เห็นว่าเป็นจุดอ่อนร้ายแรงของวุยก๊ก นั่นคือการขาดอำนาจของเหล่าเจ้าชาย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 ทันทีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้พระปิตุลา พระภาดา พระอนุชา และพระโอรสเป็นอ๋อง อ๋องแต่ละพระองค์มีอำนาจบัญชาการทหารทหารอย่างอิสระและมีอำนาจเต็มในอาณาเขตของตน ระบบนี้แม้ว่าถูกปรับลดลงหลังสงครามแปดอ๋องและการสูญเสียดินแดนทางเหนือของจีน แต่ก็ยังคงอยู่ในราชวงศ์จิ้นตลอดช่วงเวลาที่ราชวงศ์ดำรงอยู่ และถูกนำมาปรับใช้โดยราชวงศ์ใต้ที่มีอำนาจถัดจากราชวงศ์จิ้นด้วย
อีกปัญหาหนึ่งที่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเห็นในระบบการเมืองของวุยก๊กคือความเข้มงวดของกฎหมายอาญา พระองค์จึงทรงหาทางปฏิรูประบบการลงอาญาให้มีความปรานีมากยิ่งขึ้น แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์หลักจากการปฏิรูปนี้กลับกลายเป็นชนชั้นสูง เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าความปรานีนั้นถูกมอบให้ในลักษณะที่ไม่เท่าเทียม ชนชั้นสูงที่กระทำความผิดมักเพียงถูกตำหนิ ในขณะที่ไม่มีการลดโทษอาญาให้กับสามัญชนอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้นำไปสู่การทุจริตใหญ่หลวงและการใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายของชนชั้นสูง ในขณะที่คนยากจนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากราชสำนัก ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 267 เมื่อข้าราชการระดับสูงหลายคนถูกพบว่ามีความผิดฐานร่วมมือกับนายอำเภอในการยึดที่ดินสาธารณะมาเป็นของตนเอง จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงปฏิเสธที่จะลงโทษข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ แต่กลับให้ลงโทษนายอำเภออย่างรุนแรง
จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเผชิญหน้ากับปัญหาทางการทหาร 2 ประเด็นแทบจะทันทีหลังการขึ้นครองราชย์ ได้แก่การคุกคามอย่างต่อเนื่องจากทัพของง่อก๊กที่เป็นรัฐอริภายใต้การปกครองของจักรพรรดิซุนโฮ และการการก่อกบฏของชนเผ่าในมณฑลฉินโจว (秦州) และเลียงจิ๋ว (涼州 เหลียงโจว) (ทั้งสองมณฑลอยู่ในพื้นที่ของมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ข้าราชการส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับชนเผ่าเซียนเปย์ (鮮卑), เกี๋ยง (羌 เชียง) และชนเผ่าอื่น ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน รวมถึงชนเผ่าซฺยงหนู (匈奴) ซึ่งตั้งรกรากในบริเวณที่เป็นมณฑลชานซีในปัจจุบันหลังการยุบรัฐของชนเผ่าซฺยงหนูโดยโจโฉในปี ค.ศ. 216 ภายใต้จับตามองของข้าราชการชาวจีน เหล่าข้าราชการต่างเกรงกลัวความสามารถทางการทหารของชนเผ่าเหล่านั้น จึงต่างทูลแนะนำจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้ปราบกบฏชนเผ่าเหล่านี้เสียก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการพิชิตง่อก๊ก อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนของขุนพลเอียวเก๋าและองโยยรวมถึงนักยุทธศาสตร์จาง หฺวา (張華) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงโปรดให้เตรียมการภูมิภาคบริเวณชายแดนด้านใต้และด้านตะวันออกเพื่อเตรียมการทำศึกกับง่อก๊กตลอดช่วงต้นรัชสมัย ขณะเดียวกันก็ทรงส่งขุนพลจำนวนหนึ่งเข้ารบกับชนเผ่าต่าง ๆ พระองค์ยิ่งทรงฮึกเหิมมากขึ้นเมื่อทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับความโหดร้ายและความไร้ความสามารถของซุนโฮในการปกครองง่อก๊ก อันที่จริงแล้วเหล่าข้าราชการที่สนับสนุนการทำศึกกับง่อก๊กก็มักจะยกเรื่องนี้เป็นเหตุผลที่จะให้ดำเนินการรบอย่างรวดเร็ว โดยโต้แย้งว่าง่อก๊กจะยิ่งยากที่จะพิชิตหากมีจักรพรรดิขึ้นครองราชย์แทนที่ซุนโฮ อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการก่อกบฏครั้งใหญ่โดยทูฟ่า ชู่จีเหนิง (禿髮樹機能) ผู้นำชนเผ่าเซียนเปย์ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 270 ในมณฑลฉินโจว ความสนพระทัยของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงมุ่งไปที่ทูฟ่า ชู่จีเหนิง เนื่องจากทูฟ่า ชู่จีเหนิงสามารถเอาชนะขุนพลของราชวงศ์จิ้นได้หลายคน ในปี ค.ศ. 271 หลิว เหมิ่ง (劉猛) ผู้สูงศักดิ์ของชนเผ่าซฺยงหนูก่อกบฏในมณฑลเป๊งจิ๋ว (并州 ปิงโจว) เช่นกัน แม้ว่าการก่อกบฏจะดำเนินไปไม่นาน แต่ก็หันเหความสนพระทัยของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนไปจากง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 271 มณฑลเกาจิ๋ว (交州 เจียงโจว, ปัจจุบันอยู่ในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของราชวงศ์จิ้นตั้งแต่เริ่มก่อกบฏถูกง่อก๊กยึดคืนไปได้ ในปี ค.ศ. 272 ปู้ ฉ่าน (步闡) ขุนพลง่อก๊กกลัวว่าซุนโฮจะทรงลงโทษตนจากข้อกล่าวหาเท็จที่มีต่อปู้ ฉ่าน ปู้ ฉ่านจึงยอมมอบเมืองซีหลิง (西陵, อยู่ในนครอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญให้กับราชวงศ์จิ้น แต่ลกข้องขุนพลง่อก๊กหยุดยั้งกำลังหนุนจากราชวงศ์จิ้นไว้ได้ ยึดเมืองซีหลิงคืนและสังหารปู้ ฉ่าน เอียวเก๋าพิจารณาจึงความล้มเหลวนี้จึงหันไปใช้แนวทางอื่นโดยเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดกับลกข้อง และปฏิบัติต่อราษฎรชาวง่อก๊กที่บริเวณชายแดนเป็นอย่างดี ทำให้ราษฎรง่อก๊กมองราชวงศ์จิ้นในแง่ดี
เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 พระองค์ทรงตั้งให้หวาง ยฺเหวียนจีผู้เป็นพระมารดาขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวง ในปี ค.ศ. 266 พระองค์ยังทรงตั้งหยาง ฮุย-ยฺหวี (ภรรยาของสุมาสู) ผู้เป็นพระมาตุลานี (ป้าสะใภ้) ให้เป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการยกย่องผลงานของสุมาสูผู้เป็นพระปิตุลา (ลุง) ในการก่อตั้งรากฐานของราชวงศ์จิ้น จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงตั้งหยาง เยี่ยน (楊艷) พระชายาให้เป็นจักรพรรดินีในปีเดียวกัน ในปี ค.ศ. 267 พระองค์ทรงตั้งให้ซือหม่า จง (司馬衷) พระโอรสองค์โตสุดที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ให้เป็นรัชทายาท โดยยึดจากหลักการในลัทธิขงจื๊อที่ว่าพระโอรสองค์โตของพระมเหสีของจักรพรรดิควรได้รับเลือกเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม การที่ทรงเลือกซือหม่า จงเป็นรัชทายาทจะส่งผลอย่างมากต่อความไม่มั่นคงทางการเมืองและความเสื่อมถอยของราชวงศ์จิ้น เนื่องจากรัชทายาทซือหม่า จงดูเหมือนจะมีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการ และทรงไม่สามารถเรียนรู้ทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการปกครองได้ ในปี ค.ศ. 272 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเลือกเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) บุตรสาวผู้ทะเยอทะยานของกาอุ้น ให้มาเป็นพระชายาของรัชทายาทซือหม่า จง ตั้งแต่นั้นมาชทายาทซือหม่า จงก็อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของเจี่ย หนานเฟิง ก่อนที่จักพรรดินีหยาง เยี่ยนจะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 274 พระองค์ทรงกังวลว่าไม่ว่าใครจะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีองค์ใหม่ คนผู้นั้นก็จะมีความทะเยอทะยาที่จะขึ้นแทนที่รัชทายาท ดังนั้นจักพรรดินีหยาง เยี่ยนจึงทูลขอจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้สมรสกับหยาง จื่อ (楊芷) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดินีหยาง เยี่ยน จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเห็นชอบด้วย
ในปี ค.ศ. 273 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงคัดเลือกหญิงงามจากทั่วจักรวรรดิ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พระองค์ทรงใส่พระทัยพิจารณาบุตรสาวของเหล่าข้าราชการระดับสูง แต่พระองค์ยังทรงมีรับสั่งห้ามการแต่งงานทั่วจักรวรรดิจนกว่ากระบวนการคัดเลือกจะเสร็จสิ้น
กลางรัชสมัย: การรวมจักรวรรดิจีนเป็นหนึ่ง
แก้ในปี ค.ศ. 276 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนประชวรหนัก นำไปสู่วิกฤตการสืบราชบัลลังก์ รัชทายาทซือหม่า จงทรงเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรม แต่ทั้งข้าราชการและราษฎรต่างหวังว่าสุมาฮิวผู้เป็นอ๋องแห่งเจ๋ (齊王 ฉีหวาง) และเป็นพระอนุชาที่มีความสามารถของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจะได้สืบทอดราชบัลลังก์แทน หลังจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงหายจากประชวร พระองค์ก็ทรงริบอำนาจบัญชาการทหารบางส่วนจากข้าราชการที่พระองค์ทรงเห็นว่าเข้าข้างสุมาฮิว แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงลงโทษรุนแรงกับผู้ใด
ต่อมาในปีเดียวกัน เอียวเก๋าทูลให้พระองค์ทรงทบทวนแผนการพิชิตง่อก๊ก ข้าราชการส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับกบฏทูฟ่า ชูจีเหนิงจึงคัดค้านแผนการพิชิตง่อก๊ก แต่เอียวเก๋าได้รับการสนับสนุนจากเตาอี้ (杜預 ตู้ ยฺวี่) และจาง หฺวา จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงพิจารณาคำแนะนำเหล่านี้อย่างรอบคอบ แต่พระองค์ก็ยังไม่ได้นำแผนไปปฏิบัติในช่วงเวลานั้น
ในปี ค.ศ. 276 เดียวกันนั้น จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงสมรสกับหยาง จื่อลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดินีหยาง เยี่ยน ตามที่พระองค์เคยทรงให้คำมั่นกับจักรพรรดินีหยาง เยี่ยนผู้ล่วงลับ แล้วพระองค์จึงทรงตั้งให้หยาง จื่อเป็นจักรพรรดินี หยาง จฺวิ้น (楊駿) บิดาของจักรพรรดินีหยาง จื่อได้กลายมาเป็นข้าราชการคนสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน และกลายเป็นคนเย่อหยิ่งอย่างมาก
ในปี ค.ศ. 279 เมื่อขุนพลหม่า หลง (馬隆) ปราบกบฏทูฟ่า ชู่จีเหนิงได้สำเร็จในที่สุด จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงทรงมุ่งเน้นไปที่การพิชิตง่อก๊ก พระองค์ทรงมีรับสั่งให้โจมตีหกทาง นำโดยสุมาเตี้ยม (司馬伷 ซือหม่า โจ้ว) ผู้เป็นพระปิตุลา (อา), อองหุย (王渾 หวาง หุน), อ๋องหยง (王戎 หวาง หรง), เฮาหุน (胡奮 หู เฟิ่น), เตาอี้ และองโยย โดยมีทัพใหญ่ที่สุดภายใต้การนำของอองหุยและองโยย แต่ละทัพของราชวงศ์จิ้นรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและยึดได้เมืองชายแดนที่ตั้งเป้าไว้ โดยกองเรือขององโยยมุ่งไปทางตะวันออกตามแม่น้ำแยงซี และกวาดล้างกองเรือของง่อก๊กในแม่น้ำ เตี๋ยวเค้า (張悌 จาง ที่) อัครมหาเสนาบดีแห่งง่อก๊กพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อจะเอาชนะทัพของอองหุย แต่เตี๋ยวเค้าก็พ่ายแพ้และถูกสังหาร อองหุย, องโยย และสุมาเตี้ยมต่างมุ่งหน้าไปเกี๋ยนเงียบ จักรพรรดิซุนโฮจึงจำต้องยอมจำนนในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 280 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงตั้งให้ซุนโฮมีบรรดาศักดิ์เป็นอุ้ยเบ้งเฮา (歸命侯 กุยหมิงโหว) การควบรวมดินแดนของอดีตง่อก๊กเข้ากับราชวงศ์จิ้นดูจะเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างราบรื่น
หลังการล่มสลายของง่อก๊ก จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงมีรับสั่งให้ผู้ว่าราชการมณฑลไม่ต้องรับผิดชอบด้านการทหารอีกต่อไป และรับผิดชอบเฉพาะด้านพลเรือนเท่านั้น แล้วให้ยุบกำลังทหารในภูมิภาค แม้จะมีการคัดค้านจากขุนพลเถา หฺวาง (陶璜) และชาน เทา (山濤) ที่เป็นข้าราชการคนสำคัญ เรื่องนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังในช่วงการก่อกบฏของห้าชนเผ่า เนื่องจากผู้ว่าราชการในภูมิภาคไม่สามารถระดมกำลังทหารมาต้านทานได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนยังทรงปฏิเสธคำแนะนำที่จะให้ค่อย ๆ ย้ายชนต่างเผ่าออกไปนอกจักรวรรดิ
ปลายรัชสมัย: การก่อตัวของภัยพิบัติ
แก้ในปี ค.ศ. 281 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนนำทรงสตรี 5,000 คนจากพระราชวังของซุนโฮมายังพระราชวังของพระองค์เอง หลังจากนั้นพระองค์ก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการเลี้ยงอาหารและสำเริงสำราญกับสตรีเหล่านั้นมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับราชการสำคัญของรัฐ กล่าวกันว่ามีสตรีที่งดงามจำนวนมากในพระราชวังจนจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเลือกไม่ได้ว่าควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ใด พระองค์จึงประทับบนรถเล็กที่เทียมด้วยแพะ เมื่อแพะไปหยุดที่ใด พระองค์ก็จะทรงหยุดพักประทับ ณ ที่นั้นเช่นกัน[6] ด้วยเหตุนี้ สตรีจำนวนมากจึงเตรียมใบไผ่และเกลือไว้นอกห้องนอน ซึ่งเชื่อกันว่าของทั้งสองสิ่งนี้เป็นของโปรดของแพะ หยาง จฺวิ้นบิดาของจักรพรรดินีหยาง จื่อ รวมถึงหยาง เหยา (楊珧) และหยาง จี้ (楊濟) อาของจักรพรรดินีหยาง จื่อได้ขึ้นครองอำนาจ
จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงเริ่มกังวลมากขึ้นว่าหากพระองค์สวรรคตเจ้าชายสุมาฮิวที่เป็นพระอนุชาจะเข้าชิงบัลลังก์หรือไม่ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 283 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงส่งสุมาฮิวกลับไปราชรัฐของสุมาฮิวเอง แม้ว่าไม่มีหลักฐานว่าสุมาฮิวทรงมีความทะเยอทะยานเช่นนั้น เจ้าหญิงจิงเจ้า (京兆公主 จิงเจ้ากงจู่) และเจ้าหญิงฉางชาน (常山公主 ฉางชานกงจู่) ทรงหมอบกราบและทูลขอร้องจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้ทรงเพิกถอนพระราชโองการ แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนกลับกริ้วยิ่งขึ้นและลดขั้นพระสวามีของเจ้าหญิงฉางชานเป็นการโต้ตอบ[7] ข้าราชการหลายคนรวมถึงเฉา จื้อ (曹志) พระสหายของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนต่างทูลคัดค้านพระดำรินี้ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงทรงมีรับสั่งให้นำข้าราชการเหล่านี้มาไต่สวน เฉา จื้อถูกปลดจากตำแหน่งและส่งกลับบ้าน[8] เจ้าชายสุมาฮิวทรงคับแค้นพระทัยจนประชวรและสิ้นพระชนม์ในดือนเมษายน
ภายหลังคณะทูตจากโรมันที่เดินทางมาก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 166 และ ค.ศ. 226 จิ้นชู (晉書) และเหวินเซี่ยนทงเข่า (文献通考) บันทึกเกี่ยวกับคณะทูตอีกคณะจาก "ต้าฉิน" (大秦) ที่เดินทางมาจีนในรัชสมัยของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน บันทึกประวัติศาสตร์เหล่านี้ระบุว่าคณะทูตเดินทางมาถึงในปี ค.ศ. 284 และถวายเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิ[9][10]
เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนประชวรในปี ค.ศ. 289 พระองค์ทรงพิจารณาว่าจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงพิจารณาระหว่างหยาง จฺวิ้น และซือหม่า เลี่ยง (司馬亮) พระปิตุลา (อา) ของพระองค์ที่เป็นอ๋องแห่งยีหลำ (汝南王 หรู่หนานหว่าง) และเป็นเจ้าชายที่ได้รับความนับถือมากที่สุด เป็นผลทำให้หยาง จฺวิ้นรู้สึกระแวงซือหม่า เลี้ยง จึงส่งซือหม่า เลี่ยงไปประจำอยู่ที่สฺวี่ชาง (許昌) หรือฮูโต๋ที่เป็นเมืองสำคัญ เจ้าชายพระองค์อื่น ๆ หลายพระองค์ก็ทรงถูกส่งไปประจำเมืองสำคัญอื่น ๆ เช่นกัน ในปี ค.ศ. 290 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนตัดสินพระทัยที่จะตั้งทั้งหยาง จฺวิ้นและซือหม่า เลี่ยงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกัน แต่หลังจากพระองค์ทรงเขียนพินัยกรรม พินัยกรรมนั้นกลับถูกหยาง จฺวิ้นยึดไป หยาง จฺวิ้นออกพินัยกรรมอีกฉบับซึ่งระบุว่ามีเพียงหยาง จฺวิ้นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนสวรรคตหลังจากนั้นไม่นาน จักรวรรดิจึงตกเป็นของพระโอรสที่มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการคือซือหม่า จง และเหล่าขุนนางที่ตั้งใจจะเข่นฆ่ากันเองเพื่อชิงอำนาจ ผลลัพธ์อันเลวร้ายที่ตามมากำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าแม้ว่าตัวจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนเองจะไม่ทรงได้เห็น
ชื่อศักราช
แก้พระราชวงศ์
แก้พระชายาและพระโอรสธิดา
แก้- จักรพรรดินีอู่-ยฺเหวียนแห่งตระกูลเอียวแห่งฮองหลง (武元皇后 弘農楊氏 อู่-ยฺเหวียนหฺวางโฮ่ว หงหนงหยางชื่อ; ค.ศ. 238–274) ชื่อตัว เยี่ยน (艷)
- ซือหมา กุ่ย อ๋องเต้าแห่งผีหลิง (毗陵悼王 司馬軌 ผีหลิงเต้าหวาง ซือหมา กุ่ย) พระโอรสองค์แรก
- ซือหม่า จง จักรพรรดิเซี่ยวฮุ่ย (孝惠皇帝 司馬衷 เซี่ยวฮุ่ยหฺวางตี้ ซือหม่า จง; ค.ศ. 259–307) พระโอรสองค์ที่ 2
- ซือหมา เจี่ยน อ๋องเซี่ยนแห่งฉิน (秦獻王 司馬柬 ฉินเซี่ยนเหวาง ซือหมา เจี่ยน; ค.ศ. 262–291) พระโอรสองค์ที่ 3
- เจ้าหญิงผิงหยาง (平陽公主 ผิงหยางกงจู่)
- เจ้าหญิงซินเฟิง (新豐公主 ซินเฟิงกงจู่)
- เจ้าหญิงหยางผิง (陽平公主 หยางผิงกงจู่)
- จักรพรรดินีอู่เต้าแห่งตระกูลเอียวแห่งฮองหลง (武悼皇后 弘農楊氏 อู่เต้าหฺวางโฮ่ว หงหนงหยางชื่อ; ค.ศ. 259–292) ชื่อตัว จื้อ (芷)
- ซือหม่า ฮุย อ๋องชางแห่งปุดไฮ (渤海殤王 司馬恢 ปั๋วไห่ชางหวาง ซือหม่า ฮุย; ค.ศ. 283–284) พระโอรสองค์ที่ 24
- จักรพรรดินีพันปีหลวงอู่หฺวายแห่งตระกูลออง (武懷皇太后 王氏 อู่หฺวายหฺวางโฮ่ว หวางชื่อ) ชื่อตัว เยฺวี่ยนจี (媛姬)
- ซือหม่า ชื่อ จักรพรรดิเซี่ยวหฺวาย (孝懷皇帝 司馬熾 เซี่ยวหฺวายหฺวางตี้ ซือหม่า ชื่อ; ค.ศ. 284–313) พระโอรสองค์ที่ 25
- กุ้ยผินแห่งตระกูลจั่ว (貴嬪 左氏 กุ้ยผิน จั่วชื่อ; ค.ศ. 253–300) ชื่อตัว เฟิน (棻)
- กุ้ยผินแห่งตระกูลเฮา (貴嬪 安定胡氏 กุ้ยผิน หูชื่อ) ชื่อตัว ฟาง (芳)
- เจ้าหญิงอู่อาน (武安公主 อู่อานกงจู่)
- สมรสกับเวิน ยฺวี่ (溫裕)
- เจ้าหญิงอู่อาน (武安公主 อู่อานกงจู่)
- ฮูหยินแห่งตระกูลลิ (夫人 李氏 ฟูเหริน หลี่ชื่อ)
- ซือหมา ยฺหวิ่น อ๋องจงจฺว้างแห่งห้วยหลำ (淮南忠壯王 司馬允 หฺวายหนานจงจฺว้างหวาง ซือหมา ยฺหวิ่น; ค.ศ. 272–300) พระโอรสองค์ที่ 10
- ซือหม่า เยี่ยน อ๋องเซี่ยวแห่งง่อ (吳孝王 司馬晏 อู๋เซี่ยวหวาง ซือหม่า เยี่ยน; ค.ศ. 281–311) พระโอรสองค์ที่ 23
- บีหยินแห่งตระกูลสิม (美人 審氏 เหม่ย์เหริน เฉิ่นชื่อ)
- ซือหมา จิ่งตู้ อ๋องหฺวายแห่งเฉิงหยาง (城陽懷王 司馬景度 เฉิงหยางหฺวายหวาง ซือหมา จิ่งตู้; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 270) พระโอรสองค์ที่ 4
- ซือหมา เหว่ย์ อ๋องอิ่นแห่งฌ้อ (楚隱王 司馬瑋 ฉูอิ่นหวาง ซือหมา เหว่ย์; ค.ศ. 271–291) พระโอรสองค์ที่ 9
- ซือหม่า อี้ อ๋องลี่แห่งเตียงสา (長沙厲王 司馬乂 ฉางชาลี่หวาง ซือหม่า อี้; ค.ศ. 277–304) พระโอรสองค์ที่ 17
- บีหยินแห่งตระกูลเตียว (美人 趙氏 เหม่ย์เหริน เจ้าชื่อ)
- ซือหมา เหยี่ยน อ๋องอายแห่งไต้ (代哀王 司馬演 ไต้อายหวาง ซือหมา เหยี่ยน; ประสูติ ค.ศ. 272) พระโอรสองค์ที่ 11
- บีหยินแห่งตระกูลตัน (美人 陳氏 เหม่ย์เหริน เฉินชื่อ)
- ซือหม่า เสีย อ๋องคางแห่งชิงเหอ (清河康王 司馬遐 ชิงเหอคางหวาง ซือหม่า เสีย; ค.ศ. 273–300) พระโอรสองค์ที่ 13
- ไฉเหรินแห่งตระกูลชี (才人 徐氏 ไฉเหริน สฺวีชื่อ)
- ซือหม่า เซี่ยน อ๋องชางแห่งเฉิงหยาง (城陽殤王 司馬憲 เฉิงหยางชางหวาง ซือหม่า เซี่ยน; ค.ศ. 270–271) พระโอรสองค์ที่ 5
- ไฉเหรินแห่งตระกูลกุ้ย (才人 匱氏 ไฉเหริน กุ้ยชื่อ)
- ซือหม่า จือ อ๋องชงแห่งตองไฮ (東海衝王 司馬祗 ตงไห่ชงหวาง ซือหม่า จือ; ค.ศ. 271–273) พระโอรสองค์ที่ 6
- ไฉเหรินแห่งตระกูลเตียว (才人 趙氏 ไฉเหริน เจ้าชื่อ)
- ซือหม่า ยฺวี่ อ๋องอายแห่งฉื่อผิง (始平哀王 司馬裕 ฉื่อผิงอายหวาง ซือหม่า ยฺวี่; 271–277) พระโอรสองค์ที่ 7
- ไฉเหรินแห่งตระกูลเทีย (才人 程氏 ไฉเหริน เฉิงชื่อ)
- ซือหมา อิ่ง อ๋องแห่งเซงโต๋ (成都王 司馬穎 เฉิงตูหวาง ซือหมา อิ่ง; ค.ศ. 279–306) พระโอรสองค์ที่ 19
- เป่าหลินแห่งตระกูลจฺวาง (保林 莊氏 เป่าหลิน จฺวางชื่อ)
- ซือหม่า ไก อ๋องหฺวายแห่งซินตู (新都懷王 司馬該 ซินตูหฺวายหวาง ซือหม่า ไก; ค.ศ. 272–283) พระโอรสองค์ที่ 12
- ท่านหญิงแห่งตระกูลจู (諸氏 จูชื่อ)
- ซือหม่า หมัว อ๋องอายแห่งหรู่อิน (汝陰哀王 司馬謨 หรู่อินอายหวาง ซือหม่า หมัว; ค.ศง 276–286) พระโอรสองค์ที่ 14
- ไม่ทราบ
- เจ้าหญิงฉางชาน (常山公主 ฉางชานกงจู่)
- สมรสกับหวางจี้แห่งไท่หยวน (太原 王濟 ไท่-ยฺเหวียน หวาง จี้)
- เจ้าหญิงฝานชาง (繁昌公主 ฝานชางกงจู่)
- สมรสกับเว่ย์ เซฺวียนแห่งฮอตั๋ง (河東 衛宣 เหอตง เว่ย์ เซฺวียน) บุตรชายคนที่ 4 ของอุยก๋วน (衛瓘 เว่ย์ กว้าน)
- เจ้าหญิงเซียงเฉิง (襄城公主 เซียงเฉิงกงจู่)
- สมรสกับหวาง ตุนแห่งลองเอี๋ย (琅邪 王敦 หลางหยา หวางตุน; ค.ศ. 266–324) ก๋งแห่งบู๊เฉียง (武昌公 อู่ชางกง)
- เจ้าหญิงว่านเหนียน (萬年公主 ว่านเหนียนกงจู่)
- เจ้าหญิงสิงหยาง (滎陽公主 สิงหยางกงจู่)
- เจ้าหญิงสิงหยาง (滎陽公主 สิงหยางกงจู่)
- สมรสกับหฺวา เหิง (華恆; ค.ศ. 267–335)
- เจ้าหญิงอิ่งชฺวาน (潁川公主 อิ่งชฺวานกงจู่)
- สมรสกับหวาง ชุ่ย (王粹; เสียชีวิต ค.ศ. 308) ในปี ค.ศ. 289
- เจ้าหญิงกว่างผิง (廣平公主 กว่างผิงกงจู่)
- เจ้าหญิงหลิงโช่ว (靈壽公主 หลิงโช่วกงจู่)
- เจ้าหญิงฉางชาน (常山公主 ฉางชานกงจู่)
บรรพบุรุษ
แก้สุมาหอง (ค.ศ. 149–219) | |||||||||||||||
สุมาอี้ (ค.ศ. 179–251) | |||||||||||||||
สุมาเจียว (ค.ศ. 211–265) | |||||||||||||||
จาง วาง | |||||||||||||||
จาง ชุนหฺวา (ค.ศ. 189–247) | |||||||||||||||
ชานชื่อ ชาวเมืองโห้ลาย | |||||||||||||||
สุมาเอี๋ยน (ค.ศ. 236–290) | |||||||||||||||
อองลอง (เสียชีวิต ค.ศ. 228) | |||||||||||||||
อองซก (ค.ศ. 195–256) | |||||||||||||||
หยางชื่อ ชาวเมืองฮองหลง | |||||||||||||||
หวาง ยฺเหวียนจี (ค.ศ. 217–268) | |||||||||||||||
หยางชื่อ | |||||||||||||||
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ วันปิ่งอิ๋น (丙寅) ของเดือน 12 ของศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 1
- ↑ "พระเจ้าซีโจบู๊ฮ่องเต้" เป็นชื่อที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องไซจิ้นซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในปี พ.ศ. 2410 ชื่อ "ซีโจ" (世祖 ชื่อจู่) เป็นอารามนาม ส่วน "บู๊" (武 อู่) เป็นสมัญญานาม
- ↑ บทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยนในจิ้นชูระบุว่าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนสวรรคตขณะพระชนมายุ 55 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในวันจี๋โหยว (己酉) ของเดือน 4 ในศักราชไท่ซี (太熙) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ เทียบได้กับวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 290 ในปฏิทินกริกอเรียน เมื่อคำนวณแล้วปีประสูติของพระองค์ควรเป็นปี ค.ศ. 263[3]
- ↑ เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน ค.ศ. 265 ในปฏิทินจูเลียน แต่ในจือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 78 ระบุว่าสุมาเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท (世子 ชื่อจื่อ) ในวันปิ๋งอู่ (丙午) ของเดือน 10 ในศักราชเสียนซี (咸熙) ปีที่ 1 ซึ่งเทียบได้กับวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน
อ้างอิง
แก้- ↑
SGZ has: "On the day renchen (September 7), the Crown Prince of Jin, Sima Yan, succeeded to his enfeoffment and inherited his rank; he assumed the Presidency of the myriad officials and had gifts and documents of appointments conferred upon him, all in conformity with ancient institutions". Chronicles of the Three Kingdoms, Achilles Fang.
- ↑ ฝาน เสฺวียนหลิงและคณะ. จิ้นชู, เล่มที่ 3, บทพระราชประวัติจักรพรรดิอู่ตี้
- ↑ ([太熙元年四月]己酉,帝崩于含章殿,时年五十五...) จิ้นชู เล่มที่ 3.
- ↑ (使中护军司马炎迎燕王宇之子常道乡公璜于邺,以为明帝嗣。炎,昭之子也。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77
- ↑
Jin shu, Chronicle of Wudi states: "In the second year of Xianxi, in the fifth month, Sima Yan was appointed Crown Prince of Jin. Chronicles of the Three Kingdoms, Achilles Fang.
- ↑ 上海博物館 (2001). 華容世貌: 上海博物館藏明清人物畫. Xianggang da xue mei shu guan. p. 66. ISBN 9789628038343. สืบค้นเมื่อ 30 September 2020.
- ↑ Fang Xuanling, บ.ก. (648). "列传第十二" [Biography 12]. 晉書 [Book of Jin] (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 13 March 2017.
- ↑ ([太康四年正月]帝命太常议崇锡齐王之物。....事过太常郑默、博士祭酒曹志,志怆然叹曰:“安有如此之才,如此之亲,不得树本助化,而远出海隅!晋室之隆,其殆矣乎!”乃奏议曰:“古之夹辅王室,同姓则周公、异姓则太公,皆身居朝廷,五世反葬。及其衰也,虽有五霸代兴,岂与周、召之治同日而论哉!自羲皇以来,岂一姓所能独有!当推至公之心,与天下共其利害,乃能享国久长。是以秦、魏欲独擅其权而才得没身,周、汉能分其利而亲疏为用,此前事之明验也。志以为当如博士等议。”帝览之,大怒曰:“曹志尚不明吾心,况四海乎!”且谓:“博士不答所问而答所不问,横造异论。”下有司策免郑默。於是尚书朱整、褚等奏:“志等侵官离局,迷惘朝廷,崇饰晋言,假托无讳,请收志等付廷尉科罪。”诏免志官,以公还第;其餘皆付廷尉科罪。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 81.
- ↑ Warwick Ball (2016), Rome in the East: Transformation of an Empire, 2nd edition, London & New York: Routledge, ISBN 978-0-415-72078-6, p. 152.
- ↑ Friedrich Hirth (2000) [1885]. Jerome S. Arkenberg (บ.ก.). "East Asian History Sourcebook: Chinese Accounts of Rome, Byzantium and the Middle East, c. 91 B.C.E. - 1643 C.E." Fordham.edu. Fordham University. สืบค้นเมื่อ 2016-09-20.
ก่อนหน้า | สุมาเอี๋ยน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โจฮวน วุยก๊ก |
จักรพรรดิจีน (ค.ศ. 266–290) |
จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |