ทักษิณ ชินวัตร

อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ทักษิณ ชินวัตร (เกิด 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) นามแฝงว่า โทนี่ วู้ดซัม[6] (อังกฤษ: Tony Woodsome) เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนแรก (ปัจจุบันวิวัฒนาการมาเป็นพรรคเพื่อไทย)

ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ใน พ.ศ. 2548
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23
ดำรงตำแหน่ง
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549
(5 ปี 222 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รอง
ก่อนหน้าชวน หลีกภัย
ถัดไปสนธิ บุญยรัตกลิน
(หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
รองนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
(0 ปี 315 วัน)
ดำรงตำแหน่ง
28 พฤษภาคม – 14 สิงหาคม พ.ศ. 2539
(0 ปี 78 วัน)
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
ดำรงตำแหน่ง
15 สิงหาคม – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
(0 ปี 85 วัน)
นายกรัฐมนตรีชวลิต ยงใจยุทธ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
14 มิถุนายน – 9 ตุลาคม พ.ศ. 2544
(0 ปี 117 วัน)
นายกรัฐมนตรีตนเอง
ก่อนหน้าเกษม วัฒนชัย
ถัดไปสุวิทย์ คุณกิตติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 – 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
(0 ปี 108 วัน)
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
ก่อนหน้าประสงค์ สุ่นสิริ
ถัดไปกระแส ชนะวงศ์
หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ดำรงตำแหน่ง
14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(8 ปี 80 วัน)
ก่อนหน้าก่อตั้งพรรค
ถัดไปจาตุรนต์ ฉายแสง
(รักษาการ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 (74 ปี)
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
พรรคการเมืองพลังธรรม (2537–2541)
ไทยรักไทย (2541–2549)
คู่สมรสพจมาน ดามาพงศ์ (สมรส 2523; หย่า 2551)
บุตร
บุพการี
ญาติ
ความสัมพันธ์สกุลชินวัตร
ที่อยู่อาศัยราชอาณาจักรไทย
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต (ปร.ด.)
ทรัพย์สินสุทธิ2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ฟอบส์ พ.ศ. 2565)[1]
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกรมตำรวจ
ประจำการพ.ศ. 2516–2530
ยศ พันตำรวจโท[2]
ถูกกล่าวหาความผิดต่อราชการ
รับโทษ1 ปี[3][4]
สถานะทางคดีพักโทษ[5]

ทักษิณก่อตั้งบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และกลุ่มบริษัทไอทีและโทรคมนาคม ชิน คอร์ปอเรชั่น ในปี พ.ศ. 2530 ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 พลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ชักนำเขาเข้าสู่การเมือง โดยเริ่มแรกนั้นเขาสังกัดพรรคพลังธรรม ซึ่งพลตรีจำลองเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ต่อมาทักษิณได้ลาออกจากพรรคพลังธรรม และก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2541 สามปีต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก นโยบายเด่นของเขา ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ในสมัยที่สองนี้รัฐบาลทักษิณถูกกล่าวหาหลายอย่าง เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควบคุมสื่อ[7] ส่วนข้อกล่าวหาของตัวทักษิณเอง อาทิ การเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติ กรณีขายหุ้นชินคอร์ปเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2549

19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ทำให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลาต่อมา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐประหารซึ่งแปรสภาพมาจาก คปค. เป็นผู้แต่งตั้ง ทำการอายัดทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวในประเทศไทยรวม 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติขณะอยู่ในตำแหน่ง[8][9] ทักษิณเคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนซึ่งสืบทอดจากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นอาศัยอยู่ต่างประเทศโดยตลอด เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในคดีที่ดินรัชดาฯ ทักษิณเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิกถอนหนังสือเดินทางของทักษิณ ถัดมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ทรัพย์สินประมาณ 46,000 ล้านบาทของทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน และทักษิณถูกถอดยศ พันตำรวจโท เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558[10]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทักษิณประกาศเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งใหญ่ และเมื่อพรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล ทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม รวมระยะเวลาลี้ภัยในต่างประเทศนาน 15 ปี[11] และถูกนำตัวไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน แต่ได้ย้ายไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจทันทีในคืนดังกล่าว[12][13] ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษจำคุกให้ทักษิณ จากเดิม 8 ปี คงเหลือ 1 ปี[14] ส่งผลให้ทักษิณได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และได้กลับออกไปพักฟื้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทันที[15]

ประวัติและปฐมวัย

ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่สองในจำนวน 10 คนของเลิศ และยินดี ชินวัตร มีชื่อเล่นว่า "น้อย"[16] ส่วนชื่อ "แม้ว" เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่นในโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้[17]

ทักษิณเติบโตขึ้นในหมู่บ้านในอำเภอสันกำแพงจนอายุ 15 ปี ระหว่างนั้นเขาช่วยเหลือกิจการร้านกาแฟและสวนส้มของครอบครัว รวมทั้งขายกล้วยไม้[18] เมื่ออายุได้ 16 ปี ช่วยบิดาดำเนินการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว[19]

ครอบครัว

ยินดี ชินวัตร มารดา เป็นธิดาของเจ้าจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์[20] ผู้เป็นธิดาในเจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่)

เขาสมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ ในปี พ.ศ. 2523[21] และมีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่

  1. พานทองแท้ ชินวัตร
  2. พินทองทา ชินวัตร
  3. แพทองธาร ชินวัตร

น้องสาวคนสุดท้อง ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2554 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้รับลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนแพทองธารบุตรคนเล็กเป็นหนึ่งในแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา

การศึกษา

ทักษิณ ชินวัตรสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2508 และระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512) และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้ที่หนึ่งของรุ่น[23] ต่อมา ทักษิณศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต เมื่อปี พ.ศ. 2521[24] เขาได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2537[25]

การรับราชการและธุรกิจ

ทักษิณเริ่มทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาลและรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล เขายังเคยเป็นอาจารย์สอน ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในปี พ.ศ. 2518–2519

ในปี พ.ศ. 2523 ทักษิณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่างระหว่างรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม, กิจการโรงภาพยนตร์, ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ล้มเหลว รวมถึงที่ดินโรงหนังเก่าบริเวณราชวัตรที่จะลงทุนสร้างเป็นคอนโด 15 ชั้น แต่ต่อมามีกฎกระทรวงห้ามสร้างตึกสูง ส่งผลให้สามารถสร้างได้เพียง 7 ชั้น ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้สินร่วมถึง 50 ล้านบาท[26][27] ทักษิณเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยส่วนมากเป็นการนำภาพยนตร์ที่เคยได้รับความนิยมกลับมาสร้างใหม่ แต่ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้[28][29] เช่น

  • ไทรโศก (2524)
  • รักครั้งแรก (2524)
  • โนรี (2525)
  • รจนายอดรัก (2526)[30]

หลังจากการประกอบธุรกิจมาหลายประเภท ทักษิณก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (เดิมชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ) ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2526 เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมแก่หน่วยงานของรัฐโดยประสบความสำเร็จอย่างจำกัด แต่ธุรกิจระบบความมั่นคง (SOS) และบริการวิทยุรถโดยสารประจำทางสาธารณะล้มเหลวทั้งสิ้น[31] จากนั้นเขาก่อตั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2529

ในปี พ.ศ. 2530 ทักษิณลาออกจากราชการตำรวจ แล้วขายละครเรื่อง บ้านทรายทอง ซึ่งประสบความสำเร็จในโรงภาพยนตร์[32][33] ในปี พ.ศ. 2531 เขาเข้าร่วมกับแปซิฟิกเทเลซิสเพื่อดำเนินการและจัดจำหน่ายบริการเพจเจอร์ แพ็กลิงก์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างจำกัด แต่ต่อมาเขาขายหุ้นเพื่อไปตั้งบริษัทเพจเจอร์ของตนเอง[34] ในปี พ.ศ. 2532 เขาเปิดบริษัทโทรทัศน์เคเบิลไอบีซี แต่สุดท้ายบริษัทขาดทุนจนต้องรวมบริษัทกับยูทีวีของเครือเจริญโภคภัณฑ์[31][35] จนกลายเป็นยูบีซีและทรูวิชั่นส์ในเวลาต่อมา ในปีเดียวกันเขาตั้งบริการเครือข่ายข้อมูล ชินวัตรดอตคอม ซึ่งปัจจุบันชื่อ แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวิร์ค และมีเอไอเอสและทีโอทีเป็นเจ้าของ ธุรกิจของทักษิณหลายอย่างต่อมารวมกันเป็นชิน คอร์เปอเรชัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอินทัช โฮลดิ้งส์

เข้าสู่การเมือง

ในปี 2537 ทักษิณลาออกจากตำแหน่งประธาน บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น และเริ่มต้นลงสู่สนามการเมือง โดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นผู้ชักชวน หลังการปลดรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรมที่เป็นสายบุญชู โรจนเสถียร อดีตหัวหน้าพรรค ทักษิณได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย[36] และในปีต่อมา เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทนจำลอง และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

เมื่อวันที 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 23 โดยดำรงตำแหน่งสองสมัยติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 หลังจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ และดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 - 19 กันยายน พ.ศ. 2549

โดยเป็นนายกรัฐมนตรีรวมช่วงที่รักษาการด้วย เป็นระยะเวลา 5 ปี 222 วัน รวมระยะเวลาเป็นนายกรัฐมนตรี นานเป็นอันดับที่ 5 จาก 29 อันดับของไทย

เหตุลอบสังหาร

ความเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549

คปค. กับรัฐบาลสุรยุทธ์

ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลาประมาณ 21.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ กระทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลภายใต้การรักษาการนายกรัฐมนตรีของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ ซึ่งทักษิณออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลา 22.00 น. สดทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แต่ในขณะที่การประกาศยังไม่จบ พล.อ.สนธิ สั่งตัดภาพและเข้าสู่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถือเป็นการยึดอำนาจได้สำเร็จ ในเวลา 23:00 น.[37] หลังรัฐประหารไม่นาน ทักษิณ ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่งจดหมายถึงพรรคไทยรักไทย เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พรรคมีมติให้จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปก่อน

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2550 นพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวซึ่งทักษิณแต่งตั้งให้ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 นำจดหมายที่ทักษิณเขียนด้วยลายมือ เนื้อหาเป็นการตอบโต้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แถลงข่าวสรุปสถานการณ์เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เมื่อวันที่ 1 มกราคม กล่าวหากลุ่มอำนาจเก่า ผู้สูญเสียประโยชน์ทางการเมือง โดยทักษิณเขียนปฏิเสธว่า ตนไม่เคยคิดจะทำเรื่องเลวร้ายเช่นนั้น[38] ในเวลาใกล้เคียงกัน มีข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ทักษิณว่าจ้างบริษัทล็อบบียิสต์ เพื่อชี้ช่องทางและให้คำแนะนำ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของทักษิณในวอชิงตัน ดี.ซี. และต่างประเทศ [39] [40] [41] [42] แต่ทักษิณปฏิเสธ ต่อมา 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวพร้อมนำเอกสารมาแสดงว่า ทักษิณว่าจ้างบริษัทล็อบบียิสต์แห่งที่สอง เพื่อให้ช่วยงานด้านการเมือง โดยบริษัทดังกล่าวเป็นของเจมส์ เอ. เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ แต่นพดลในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของทักษิณ แถลงข่าวตอบโต้ว่า"ทักษิณว่าจ้างบริษัทดังกล่าวให้ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ และติดตามข่าวการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้จ้างทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์" [43] [44]

การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก

ทักษิณ ชินวัตรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2551 เป็นการเดินทางกลับประเทศหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 09.40 น. ทักษิณเดินทางมาถึงประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับก้มลงกราบพื้น ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ และโบกมือทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม[45]

จากนั้น ทักษิณเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อรายงานตัวในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ต่อด้วยการรายงานตัวต่ออัยการสูงสุด ในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ในเครือชินคอร์ป[46]

ระหว่างที่กำลังมีการดำเนินคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ทักษิณและภริยา เดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากนั้นศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า ทักษิณมีความผิดในคดีดังกล่าว เขาไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทยอีก และในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทักษิณตัดสินใจจดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมานที่สถานกงสุลใหญ่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หลังจากสมรสมา 32 ปี[47][48] นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทักษิณมีการเคลื่อนไหวผ่านกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผ่านการปราศรัยด้วยวิธีโทรศัพท์ทางไกลเข้าสู่ที่ชุมนุม (โฟนอิน) และการส่งสัญญาณภาพและเสียงมายังที่ชุมนุม (วิดีโอลิงก์) พร้อมทั้งอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็ให้การสนับสนุน

ความเคลื่อนไหวนอกประเทศหลังการกลับประเทศไทยครั้งแรก

ในปลายปี พ.ศ. 2552 ทักษิณได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรกัมพูชา[49] ทางรัฐบาลไทยจึงยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกัมพูชาให้ส่งตัวทักษิณกลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไม่รวมถึงกรณีนักโทษทางการเมือง[50][51][52] รัฐบาลไทยจึงต่อต้านด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ[53] ซึ่งส่งผลให้กัมพูชาเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับประเทศเช่นกัน ทักษิณและครอบครัว เดินทางไปถึงกรุงพนมเปญของกัมพูชา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เพื่อรับตำแหน่งดังกล่าว[54] และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา

เขายังเดินทางเข้าออกฮ่องกง, สิงคโปร์, กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนบ่อยครั้ง โดยเชื่อว่าใช้เอกสารเดินทางที่ไม่ใช่ของประเทศไทย[55]

หลังจากไปใช้ชีวิตที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ทักษิณเข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี โดยถือหุ้นทั้งหมด 75% ทั้งนี้ ทักษิณขอให้แฟนฟุตบอลของทีมเรียกตนอย่างง่าย ๆ ว่า แฟรงค์ ชินาตรา (Frank Shinatra)[56] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเป็นประธานสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะประเทศใดในโลกก็ตาม ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีการดำเนินคดีกับทักษิณอยู่[57] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ทักษิณจึงขายสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี ให้กับอาบูดาบียูไนเต็ดกรุป ในราคา 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขึ้นเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งในภายหลัง[58]

การเคลื่อนไหวในช่วงรัฐบาลประยุทธ์

ในปี พ.ศ. 2563 เขามีบทบาทในการสนับสนุนและหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับต่าง ๆ จากพรรคเพื่อไทย[59][60][61] อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีนั้น พบว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 9 จังหวัดจากที่ส่งเข้าสมัคร 25 จังหวัด ทำให้สื่อมองว่าความนิยมในตัวทักษิณเสื่อมลงไปมาก[62] ในปีเดียวกัน มีข่าวว่าเขาเริ่มทำธุรกิจแอปพลิเคชันโภชนาการดีเอ็นเอในสหรัฐ[63]

ในปี พ.ศ. 2564 ท่ามกลางการระบาดทั่วของโควิด-19 เขาใช้แอปพลิเคชันคลับเฮาส์ภายใต้ชื่อแฝง "Tony Woodsome" มาสนทนากับผู้ฟังในประเทศไทยเกี่ยวกับการเมืองไทยและการรับมือโควิด-19[64][65] ปีต่อมาจากการที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐร่วมกันไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้สูตร ส.ส. บัญชีรายชื่อกลับไปใช้ "สูตรหาร 100" ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ ทำให้มีกระแสข่าวว่าทักษิณอาจตกลงลับ ๆ กับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ[66]

การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งที่สอง

ความพยายามเดินทางกลับประเทศไทยครั้งที่สอง

หลังจากเขาหลบหนีหมายจับในปี พ.ศ. 2551 เขาประกาศว่าจะกลับประเทศไทยหลายครั้ง[67] กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เขาให้สัมภาษณ์กับเกียวโดนิวส์ ระบุพร้อมกลับมารับโทษทางกฎหมายในประเทศไทย หากได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ได้เสนอแพทองธาร ชินวัตร บุตรคนสุดท้องของเขา ในบัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีกำหนดจัดขึ้นอีกสองเดือนหลังจากนั้น[68] ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม ก่อนการเลือกตั้งใหญ่เพียงห้าวัน เขาทวีตข้อความพร้อมกลับไทยและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเดือนกรกฎาคม "ด้วยความผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา" ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจกลับประเทศไทยของทักษิณ[69] บีบีซีไทยวิเคราะห์ว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล[70]

ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 แพทองธารให้สัมภาษณ์ว่าบิดาของเธอจะกลับประเทศไทยเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองนิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นภายในเดือนกรกฎาคมหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก[71] สิบสี่วันต่อมาเธอได้ประกาศว่าทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม โดยเครื่องบินที่ทักษิณโดยสารจะลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง[72] ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุว่าหากทักษิณกลับไทย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย[73] อีกสองวันต่อมา ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุว่าทักษิณยกเลิกการเดินทางกลับประเทศไทยอย่างกะทันหัน เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง[74] อย่างไรก็ตามแพทองธารก็ได้แสดงความคิดเห็นปฏิเสธสิ่งที่ชูวิทย์ระบุไว้[75]

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ วิเคราะห์ว่าหากทักษิณได้กลับประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว อาจทำให้กลุ่มพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยซึ่งเคยร่วมต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์มาด้วยกัน เกิดความแตกแยก และส่งผลต่อชนชั้นนำในทางบวก เขายังระบุว่าหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ การเมืองภาคประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะดำเนินไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น[76]

 
ทักษิณปรากฏตัวที่กัมพูชา เพื่อเข้าร่วมอวยพรวันเกิดแก่ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวันที่ 5 สิงหาคม ภายหลังจากการประกาศเลื่อนกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจกับพรรคก้าวไกลและเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไป[77] มีรายงานข่าวว่าทักษิณได้เลื่อนการเดินทางกลับไทยจากกำหนดเดิมออกไปอย่างไม่มีกำหนด[78] แต่ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว[79] อย่างไรก็ตามอีกสองวันต่อมา ทักษิณก็ได้ระบุผ่านทวิตเตอร์ของตนเองว่าขอเลื่อนการเดินทางกลับประเทศไทยจากกำหนดเดิมออกไปอีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ เพื่อตรวจร่างกายให้เสร็จสิ้น โดยจะแจ้งวันและเวลาในการเดินทางกลับให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง[80] วันเดียวกันสำนักข่าวพนมเปญโพสต์ได้เผยแพร่ภาพทักษิณและยิ่งลักษณ์ร่วมฉลองวันเกิดฮุน เซน ที่เมืองตาเขมาของกัมพูชา ทั้งนี้ ทักษิณและฮุน เซน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535[81]

การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งที่สอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566 แพทองธารได้ประกาศว่าจะเดินทางไปรับทักษิณที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในช่วงเช้าของอีกสามวันถัดจากนั้น ซึ่งตรงกับวันที่มีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม ที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐาให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ[82] วันเดียวกันทักษิณให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ระบุว่าที่ตัดสินใจเดินทางกลับไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะเป็นฤกษ์ดี ไม่เกี่ยวข้องกับวันลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และจะไม่เลื่อนกำหนดการอีก[83] ไม่นานหลังจากนั้นเขายืนยันกำหนดการกลับประเทศไทยอีกครั้งผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว[84] ทั้งนี้ มีกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนเดินทางไปรอต้อนรับเขาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง[85]

 
ทักษิณกราบเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย

22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. ทักษิณเดินทางถึงประเทศไทยด้วยเครื่องบิน Gulfstream G650 เที่ยวบินที่ GLF6[86][87] จากท่าอากาศยานเซเลตาร์ในประเทศสิงคโปร์ มายังท่าอากาศยานดอนเมือง[88] เมื่อเดินทางถึงอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล เขาได้ไปถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พร้อมพบปะกับครอบครัว, สมาชิกพรรคเพื่อไทย และมวลชน ก่อนเดินกลับเข้าอาคาร[89] ทั้งนี้ ระหว่างทักษิณเดินทางมายังประเทศไทย มีผู้ติดตามเที่ยวบินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน Flightradar24 ประมาณ 1.4 หมื่นราย สูงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว[90] อีกทั้งแฮชแท็ก #ทักษิณกลับไทย ยังขึ้นเทรนด์ความนิยมอันดับหนึ่งในไทยของทวิตเตอร์ในวันดังกล่าวด้วย[91]

การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

หลังจากทักษิณเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ตำรวจได้นำตัวเขาไปยังศาลฎีกา[92] ก่อนส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ[93] แต่คืนวันเดียวกันในขณะถูกคุมขัง ทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยแล้วจึงส่งเขาไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์มากกว่า[12] โดยทักษิณขึ้นไปพักรักษาตัวที่ห้องรอยัลสูท ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา[13] เวลาต่อมาแพทองธารเผยว่าทักษิณมีอาการอ่อนเพลียและเครียด อีกทั้งยังมีอาการต่อเนื่องจากการป่วยเป็นโควิด-19 เธอยังกล่าวว่าการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นดุลยพินิจของบิดา และไม่ได้มีการร้องขอเพื่อย้ายเขาไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด[94]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณจากครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป[95] และในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษให้ทักษิณ โดยคงเหลือจำคุก 1 ปี[14] ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทักษิณ คือพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ มิใช่เศรษฐาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วในขณะนั้น[96]

การพักโทษ

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในฐานะนักโทษเด็ดขาดครบ 6 เดือน จึงได้รับการปล่อยตัวโดยมีการคุมประพฤติ (พักโทษ) ด้วยเงื่อนไขจำนวน 8 ข้อ เขาเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจพร้อมบุตรสาวทั้ง 2 คนเมื่อเวลา 06.06 น. และกลับถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา[15] โดยมีมวลชนเสื้อแดงบางส่วนรอให้กำลังใจหน้าบ้านพัก[97] พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต วิเคราะห์ว่าการได้รับพักโทษนี้ทำให้ทักษิณสามารถสั่งงานในทางการเมืองได้สะดวกขึ้น[98]และอีกไม่กี่วันถัดมาหลังจากเขาได้รับการพักโทษ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าพบเขาที่บ้านจันทร์ส่องหล้า[99]

คดีความ

คดีซุกหุ้น พ.ศ. 2544

หลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2544 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งมีความผิดตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดที่จะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี คดีนี้ถูกเรียกว่า คดีซุกหุ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภรรยาถือหุ้นในบริษัทเอกชนตามที่กฎหมายกำหนด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับปกปิดความเป็นเจ้าของหุ้นโดยการโอนหุ้นที่มีอยู่ไปให้คนรับใช้ คนรถ คนสวนถือแทน[100] ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า (1) รัฐธรรมนูญไม่มีนิยามคำว่า "ทรัพย์สินของตน", (2) คำอธิบายแบบบัญชีฯ ไม่ชัดเจน, (3) การไม่แสดงทรัพย์สินที่ใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทน ซึ่งเดิมไม่กำหนดให้แสดง ไม่ถือเป็นความผิด, (4) ไม่จงใจไม่แสดงรายการทรัพย์สินที่ใช้ชื่อบุคคลอื่น, (5) ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องยื่นบัญชีฯ ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 และ (6) ในหนังสือลับ ลงวันที่ 14, 24 และ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ถึงประธานอนุกรรมการตรวจสอบฯ ผู้ถูกร้อง (ทักษิณ ชินวัตร) ชี้แจงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเหตุผลที่มิได้แสดงไว้ในบัญชีฯ โดยให้ถือการแจ้งรายการทรัพย์สินเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีฯ ที่ยื่นทั้งสามครั้งด้วย ในขณะที่นายกล้าณรงค์ จันทิก เลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ปปช. ชี้แจงว่า (1) แม้รัฐธรรมนูญจะไม่นิยามคำว่า "ทรัพย์สินของตน" ไว้ แต่เป็นที่เข้าใจได้, (2) คำอธิบายแบบบัญชีฯ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงคงมีสาระสำคัญเหมือนเดิม แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เพื่อทำให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น, (3) ไม่ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีหรือผู้ยื่นบัญชีฯรายใด ยกเหตุไม่แสดงรายการทรัพย์สิน เพราะใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทน โดยอ้างว่าไม่เข้าใจคำอธิบายบัญชีฯ และ (4) แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 แต่ผู้ถูกร้องมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีฯตามรัฐธรรมนูญนี้ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ คือ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 แล้ว[101] ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยเสียง 8 ต่อ 7 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีเจตนาในเรื่องดังกล่าว ท่ามกระแสกดดันจากสังคมมายังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังได้รับความนิยมมากในขณะนั้น ควรได้รับโอกาสในการบริหารประเทศ[102] อย่างไรก็ตามก็มีอีกบางส่วนของสังคมที่เคลือบแคลงสงสัยในคำตัดสินของศาล และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกมองว่าแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม[103] จนมีการไปร้องเรียนเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ในเวลาต่อมา[104]

ในปี พ.ศ. 2555 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้แถลงสรุปผลรายงานคอป.ฉบับสมบูรณ์หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี ว่า สาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งหมด เกิดจาก "คดีซุกหุ้น" ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติผิดหลักกฎหมาย เนื่องจากใน 8 เสียงที่ตัดสินให้ทักษิณพ้นผิดนั้น มี 2 เสียงที่ลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี เข้าไปบวกรวมกับคะแนนเสียง 6 เสียง ทำให้ผลการตัดสินออกมากลายเป็น 8 ต่อ 7 ไม่ใช้ 6 ต่อ 7 ทำให้ทักษิณพ้นผิด ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยในเวลาต่อมา[105]

คดีขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ของทักษิณ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งทักษิณชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับมีบุคคลบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการขายหุ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกรณีดังกล่าว รวมทั้งการไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน[106] เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กระแสการขับทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขยายตัวออกไปในวงกว้าง[107]

ในปี 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุก 5 ปีฐานแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน[108]

คดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาลคดีการเมืองในคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก โดยทั้งสองเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีบุตรธิดาทั้งสามรออยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้น ทั้งสองขออนุญาตออกนอกประเทศต่อศาลคดีการเมือง เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ทั้งสองกลับเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง โดยไม่เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลคดีการเมือง[109][110]

ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงออกหมายจับทักษิณและคุณหญิงพจมานในความผิดฐานประพฤติมิชอบ ในการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท และตั้งสินบนนำจับทันที[109] [111][112][113] โดยคดีของ ทักษิณ มีอายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ส่วนคดีของคุณหญิงพจมาน มีอายุความ 10 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561[112]

คดียึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่แท้จริง และใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น, บริษัท แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยตรง อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น สูงขึ้น รวมทั้งได้เงินปันผลจำนวนดังกล่าว จึงมีคำพิพากษาให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล จำนวนทั้งสิ้น 46,373,687,454.64 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งทักษิณ ไม่ยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว และอาจยื่นเรื่องเพื่ออุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต่อไป[114] แต่ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ว่าไม่ต้องการเงินคืน เพียงแต่ขอให้มีการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่มีก่อนรัฐประหารใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น[115][116]

คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร

คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ศาลออกหมายจับในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558[117]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

วัฒนธรรมและภาพลักษณ์ทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2544 ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 1,353 ตัวอย่าง ในหัวข้อ "ภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในสายตาประชาชน" ผลปรากฏว่าประชาชนมั่นใจทักษิณ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

มั่นใจ ไม่มั่นใจ ไม่มีความเห็น
ความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ 90.2 7.2 2.6
ความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 67.6 28.2 4.3
ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 33.3 48.3 18.4
ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ 35.1 38.1 26.8
ความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 38.0 48.0 14.0
ความสามารถในการบริหารประเทศ 85.1 9.2 5.6
ความจริงจังในการทำงานเพื่อประชาชน 79.7 12.6 7.7
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 77.6 10.3 12.0

[118]

แต่หลังจากที่มีรัฐประหารแล้ว เอแบคโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,864 ตัวอย่าง ในหัวข้อ "อารมณ์และความรู้สึกเบื้องต้นของสาธารณชน ต่อพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปรียบเทียบกับทักษิณ และภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ ระบุภาพลักษณ์พลเอก สุรยุทธ์ ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่นร้อยละ 65.1 ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 63.2 ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 60.2 ให้ความเชื่อมั่นต่อ พลเอก สุรยุทธ์[119]

ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เอแบคโพลเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ และผลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง "ฐานสนับสนุนนักการเมือง กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ทักษิณ ชินวัตร" กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 27 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,286 ครัวเรือน ดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 22 - 24 ตุลาคม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.4 ขออยู่ตรงกลาง ยังไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่ ร้อยละ 25.0 สนับสนุน ทักษิณ ขณะที่ร้อยละ 21.6 สนับสนุนนายอภิสิทธิ์[120]

กลุ่มผู้สนับสนุน

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 
รถบรรทุกตำรวจติดป้ายประกาศจับทักษิณ

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่สองเป็นต้นมา ทักษิณก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย ผู้นิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยทักษิณก็ตอบโต้ ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น “ขาประจำ”

ต่อมา ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณมอบหมายให้ธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการต่อศาลแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็ยื่นฟ้องสนธิในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทักษิณจึงมอบหมายให้ธนาดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด[121][122]

ค่ำวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549 พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช., สนธิ ลิ้มทองกุล และพวก นำประชาชนที่มาร่วมชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น[123]

จากกรณีการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ทำให้บุคคลบางกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ และที่เห็นว่าทักษิณหลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทักษิณจัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าว ตามที่สนธิ ลิ้มทองกุลคาดการณ์ไว้แล้ว ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยกล่าวถึงเหตุผลในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อเวลา 20.30 น. ของคืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง[124]

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยจัดการปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง โดยทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัยประมาณสองแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง [125][126]

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแกนนำทั้ง 5 คน นำประชาชนจำนวนหนึ่งปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันทุกวิถีทางให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่ทักษิณก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้[127]

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านสามพรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง และมีการกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยจ้างให้พรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อมิให้ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2542 โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทยยังได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งในการเลือกตั้งมีปัญหาอยู่หลายอย่างคือ มีแค่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวลงรับสมัครเลือกตั้ง และได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 และปัญหาหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการฉีกบัตรเลือกตั้งซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และ ส.ส. มีจำนวนไม่ครบในสภา แถมยังมีการจ้างพรรคเล็ก ๆ ลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยง การได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 20 จนกระทั่งไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2549 เวลา 20.30 น. ทักษิณ ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก แต่จำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการสรรหาคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสม

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ และหารือกับคณะรัฐมนตรีแล้วเห็นด้วยที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2549 ทักษิณ เดินทางด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่ง ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลากลางคืน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจการปกครอง จากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบธรรม และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในขณะที่ทักษิณยังปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และได้ประกาศให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ได้ประกาศแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว

การขับไล่ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การขับไล่ทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548 จากการนำของสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ต่อมาเปลี่ยนสภาพเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งขยายตัวออกไปยังบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา[128] [129] [130] การขับไล่ทักษิณสิ้นสุดลงในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหาร

กรณีศาลท้าวมหาพรหม

ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ธนกร ภักดีผล ผู้เคยมีประวัติอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า เข้าทำลายรูปปั้นท้าวมหาพรหม ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายหลังถูกชาวบ้านทุบตีจนเสียชีวิต[131] จากเหตุการณ์ดังกล่าว สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบยกมากล่าวอ้างในการชุมนุมในวันรุ่งขึ้นว่า ทักษิณบงการให้เกิดการทำลายเทวรูปดังกล่าว และแทนที่เทวรูปพระพรหมด้วย "อำนาจมืด" ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเขา[132] สนธิยังกล่าวอ้างต่อไปว่า ทักษิณว่าจ้างให้ธนกรกระทำการดังกล่าว ผ่านทางชาแมนมนต์ดำเขมร[133] โดยสนธิอ้างว่า เนื่องจากทักษิณ "เป็นผู้หลงใหลอยู่ในความเชื่อที่ผิด" และกระทำการดังกล่าวเพื่อ "เป็นการปัดเป่าลางร้าย"[134] สายันต์ ภักดีผล บิดาผู้เสียชีวิต กล่าวว่าสนธิเป็น "คนโกหกคำโตที่สุดที่เคยเจอมา"[133] ส่วนทักษิณมองว่า การกล่าวอ้างของนายสนธิ "บ้า" และจนถึงปัจจุบัน นายสนธิก็ยังปฏิเสธจะให้ "ข้อมูลเชิงลึก" แก่สาธารณชนในเรื่องดังกล่าว

การวิจารณ์จากสื่อต่างประเทศ

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2545 นิตยสาร "ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว" (Far Eastern Economic Review) ลงบทความว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ ทักษิณ โดยรัฐบาลไทยออกคำสั่งห้ามจำหน่าย นิตยสารดังกล่าว และระงับหนังสือเดินทาง ของชอวน์ คริสปิน (Shawn Crispin) กับรอดนีย์ แทสเกอร์ (Rodney Tasker) ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร โดยให้เหตุผลว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง[135]

นิตยสาร Foreign Policy ในเครือวอชิงตันโพสต์ ยกตัวอย่างทักษิณเป็นอดีตผู้นำของโลกคนหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีหลังจากพ้นตำแหน่ง โดยอ้างถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังถูกรัฐประหารด้วยข้อกล่าวหาทุจริต และละเมิดสิทธิมนุษย์ชน[136] ส่วนนิตยสารฟอบส์ จัดอันดับให้ทักษิณเป็นหนึ่งในบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกที่ใช้ชีวิตในคุกหรืออยู่ระหว่างหลบหนีคดี โดยที่ทักษิณถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหานี้[137]

ชีวิตส่วนตัว

ในปี 2563 มีข่าวว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่พักอยู่ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พร้อมกับคนใกล้ชิด[138]

ในปี พ.ศ. 2566 ฟอบส์รายงานว่าทักษิณมีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[139]

เกียรติยศและรางวัลที่ได้รับ

  • ได้รับการยกย่องให้เป็นนักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด จาก สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปี พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2550, พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2555 เขาได้รับการจัดอันดับเป็นนักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดอันดับที่ 1[140][141][142][143][144]
  • รางวัล 1992 Asean Business Man of the Year โดย Asean Institute ประเทศ อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2535)[145]
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคม เพื่อสังคมของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมโทรคมนาคม แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2537)[146]
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World (พ.ศ. 2537)[147]
  • รับพระราชทาน วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2537)[148]
  • รางวัล Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards จาก Criminal Justice Center, มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2539)[149]
  • รางวัล Distinguished Alumni Award จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท (5 ตุลาคม พ.ศ. 2539)[150]
  • รางวัลเกียรติยศจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สาขานักการเมือง พ.ศ. 2540[151][152]
  • รางวัล โลซินเซีย แอปพลิเคชัน อวอร์ด จากองค์การภาพยนตร์ โมชั่น พิคเจอร์แอปพลิเคชัน (พ.ศ. 2546)[153]
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น นักการเมืองชายดีเด่นแห่งปี จาก กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประจำปี พ.ศ. 2546[154]
  • รางวัล International Forgiveness Award 2004 ซึ่งมอบให้แก่บุคคลที่มีความพยายามมุ่งไปสู่สันติภาพ และสร้างความเป็นเอกภาพ (พ.ศ. 2547)[155][156][157][158]
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลในสังคมไทยที่มีพฤติกรรมน่าชื่นชมยกย่องมากที่สุดในรอบปีในสายตาคนกรุงเทพ จาก กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประจำปี พ.ศ. 2548[159]
  • ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งรัสเซีย (Plekhanov Russian Academy of Economics) (พ.ศ. 2550)[160]
  • ได้รับการแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์อาคันตุกะทางด้านธุรกิจของเอเชียและโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยทากุโชกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550[161][162]
  • รางวัลรัฐบุรุษเอบีแอลเอฟ พ.ศ. 2555[163]
  • ได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลที่คนไทยชื่นชอบที่สุด จากยูกอฟ บริษัทวิจัยและสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นด้านการตลาดทางอินเทอร์เน็ตแห่งสหราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2561[164]

หน้าที่การงาน และ บทบาททางสังคม

 
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

ทั้งนี้ เขาถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยทั้งหมด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562[185]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

  •   บาห์เรน :
    • พ.ศ. 2545 –   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อะห์หมัด อัล ฟาติห์ ชั้นที่ 2[187]
  •   บรูไน :
    • พ.ศ. 2545 –   เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซเทีย เนการา บรูไน ชั้นสูงสุด[188][189]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. #1281 Thaksin Shinawatra
  2. ถูกถอดยศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558
  3. เดิมต้องรับโทษ 8 ปี
  4. พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ
  5. พักโทษ ยังเป็นนักโทษ ขั้นตอน-เงื่อนไข ทักษิณ ชินวัตร กลับจันทร์ส่องหล้า
  6. "'โทนี่ วู้ดซัม' ปล่อยซิงเกิ้ลแรกในรอบ 10 ปี 'เกิดมาเป็นนักสู้'". มติชน. มติชน. 2565-03-15. สืบค้นเมื่อ 2565-05-03. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. BBC News, A fit and proper Premiership?
  8. The Nation, Thaksin's assets frozen เก็บถาวร 2007-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 12 June 2007
  9. The Nation, Slighted Sawat resigns from AEC, 2 October 2006
  10. "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถอดยศตำรวจ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-05. สืบค้นเมื่อ 2019-04-09.
  11. "Thaksin Shinawatra: Divisive ex-PM returns to Thailand after 15 years". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-08-22. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  12. 12.0 12.1 "ด่วน! ราชทัณฑ์ยืนยันแล้ว ส่งตัว "ทักษิณ" ไป รพ.ตำรวจ กลางดึก แน่นหน้าอก-ความดันสูง". www.sanook.com/news. 2023-08-23.
  13. 13.0 13.1 "ทักษิณ นอนห้องรอยัลสูท ชั้น 14 รพ.ตำรวจ หมอให้ยาละลายลิ่มเลือด". ไทยรัฐ. 23 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 "พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 140 (40 ข): 1. 2023-09-01. สืบค้นเมื่อ 2023-09-01.
  15. 15.0 15.1 ""ทักษิณ" จาก รพ.ตร.ถึง "จันทร์ส่องหล้า" ชินวัตร ยินดี 17 ปี ที่รอคอย". ไทยรัฐ. 18 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "ส่วนตัว-ส่วนรวม โดย ไพรสันติ์ พรหมน้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-02. สืบค้นเมื่อ 2011-01-19.
  17. "พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-18. สืบค้นเมื่อ 2012-04-18.
  18. "ตาดูดาวเท้าติดดิน ตอนที่ 4 มรดกจากพ่อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-19. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.
  19. BBC News, Billionaire hopes to score Liverpool deal, 18 May 2004
  20. "คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2015-04-30.
  21. "Pasuk Phongpaichit & Chris Baker, "The Only Good Populist is a Rich Populist: Thaksin Shinawatra and Thailand's Democracy, October 2002" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  22. ทะยานจาก "สันกำแพง" เนชั่น สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 454 วันที่ 12-18 ก.พ. 2544
  23. "ตาดูดาว เท้าติดดิน ตอนที่ 11 เสาร์ที่ 28 มค. 49 ชีวิตนักเรียนนายร้อยตำรวจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-19. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  24. "PH.D Doctor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-28. สืบค้นเมื่อ 2010-04-29.
  25. "ปริญญาเอกดุษฎีฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-14. สืบค้นเมื่อ 2005-06-05.
  26. "Pasuk Phongpaichit & Chris Baker, "The Only Good Populist is a Rich Populist: Thaksin Shinawatra and Thailand's Democracy, October 2002" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  27. "ก้าวที่ล้มและก้าวที่ลุกของ ดร.ทักษิณ (FailTure)". Thaksin Official (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-07-09.
  28. "Thaksin Shinawatra-a biography". Bangkok Post. unknown. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  29. "Thai govt pins border hopes on soaps". The Nation. May 25, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  30. ภราดร ศักดา. เปิดม่านคนดังหลังวัง ตำนานเก่าเล่าเรื่องดารายุคภาพยนตร์ไทยเฟื่อง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สยามบันทึก, พ.ศ. 2551. 264 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-13-8887-5
  31. 31.0 31.1 "Transcript of an interview between Thaksin Shinawatra and Cheeptham Khamwisit (Thai: ชีพธรรม คำวิเศษณ์) on the Thaiventure.com program on FM 102 radio station". Tri333.exteen.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2010. สืบค้นเมื่อ 19 February 2010.
  32. "Thaksin Shinawatra-a biography". Bangkok Post. August 2001.แม่แบบ:DL
  33. "Thai govt pins border hopes on soaps". The Nation. 25 May 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 November 2005. สืบค้นเมื่อ 5 October 2006.
  34. "TranscriptInterview" "BBC-20040518"
  35. UBC 2004 Annual Report, page 8
  36. Asia Times, Grumbles, revelations of a Thai coup maker เก็บถาวร 2007-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 22 December 2006
  37. ย้อนนาทีเปิดวอร์รูมสู้ รปห. 19 ก.ย. 49 'สนธิ' ประจันหน้า 'พรหมินทร์' เลขานายกฯ 'ทักษิณ' voice online สืบค้นเมื่อ Sep 18, 2021
  38. "เปิดจดหมายทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องระเบิดกรุงทพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-17. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.
  39. Lobbying Registration[ลิงก์เสีย]
  40. "Lobbying Registration". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-01-30.
  41. "Lobbying Registration". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-01-30.
  42. "korbsak.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-22. สืบค้นเมื่อ 2007-01-30.
  43. "กฎหมายระหว่างประเทศ เอกสารต้นฉบับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-10. สืบค้นเมื่อ 2007-02-08.
  44. ข่าว แฉเป้า"แม้ว"จ้างล็อบบี้ยิสต์ ปลุกรบ.ต่างชาติ กดดันให้เปิดทางกลับ"ไทย" หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
  45. "ทักษิณเดินทางมาถึงประเทศไทย 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-26. สืบค้นเมื่อ 2008-02-29.
  46. ผู้จัดการ, “เศรษฐีแม้ว” ถึงไทยแล้ว-ลิ่วล้อแห่รับถึงบันไดเครื่องบิน เก็บถาวร 2012-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
  47. "ทักษิณหย่าพจมาน จบชีวิตรัก 32 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  48. 14 พ.ย.2551 "เราเลิกกันเถอะ" ลับ ลวง จริง ภาคพิเศษ!! ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2561
  49. "ทักษิณ"จวกรบ."เด็ก-โอเวอร์"เรียกทูตพนมเปญกลับ บอกลาคนไทยขอไปรับใช้เขมร โฆษกกัมพูชาอ้าแขนรับ, มติชนออนไลน์, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  50. เขมรตอบหนังสือ ยืนยันปฏิเสธ ส่งทักษิณมาไทย, ไทยรัฐออนไลน์, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  51. ฮุนเซนโอ๋ทักษิณ กษัตริย์ตั้ง ส่งตัวกลับไม่ได้, ไทยรัฐออนไลน์, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  52. กมฺพุชาบฎิเสธชาผฺลูวการมินเธฺวิบตฺยาบันกฺนุงกรณีถาก̍ซีน, วิทยุเอเชียเสรี, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 (เขมร)
  53. ไทยตอบโต้เขมร เรียกทูตกลับ สัมพันธ์ตึงเครียด, ไทยรัฐออนไลน์, 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  54. ทักษิณถึงเขมร สื่อเทศยัน รับตำแหน่ง, ไทยรัฐออนไลน์, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
  55. Thailand to ask Hong Kong to extradite Thaksin Shinawatra
  56. "งานเปิดตัวประธานสโมสร ManCity - Frank Shinawatra 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-06. สืบค้นเมื่อ 2008-02-12.
  57. "League ready to subject Thaksin to second fit and proper test". The Guardian. 2008-12-08.
  58. ทักษิณจึงขายสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี ให้กับ Abu Dhabi United Group
  59. Sriroengla, Pafun (15 April 2020). ""ทักษิณ ชินวัตร" ให้เงิน ส.ส.เพื่อไทย จัดหาแอลกอฮอล์ล้างมือแจกประชาชน". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  60. ""ทักษิณ" อ้อนคนเชียงใหม่ "อย่าทิ้งผม" ชงเลือก นายกฯ อบจ.ค่ายเพื่อไทย". ประชาชาติธุรกิจ. 3 December 2020. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  61. "กกต. ชี้ ทักษิณ โพสต์ชวนเลือกผู้สมัคร อบจ. รอตรวจสอบแง่กฎหมาย". ประชาชาติธุรกิจ. 16 December 2020. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  62. "แบรนด์'ชินวัตร'ส่อสิ้นมนต์ขลัง สนามนายก อบจ. ส่ง25ขุนพลเข้าวิน9จว". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  63. "Shinawatras tout new DNA venture at Vegas expo". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  64. "'ทักษิณ'ร่วมวง'คลับเฮ้าส์'เชียร์คนรุ่นใหม่อยากได้การเมืองดีต้องแก้รัฐธรรมนูญ". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  65. "ทักษิณ เสนอไทยทดลองใช้เครื่องตรวจเชื้อโควิดที่เขาลงทุนในอังกฤษ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  66. "ไขปริศนา"เกมฮั้ว"ตั้งรัฐบาล ดีล(ไม่)ลับ "พี่ใหญ่-นายเก่า"". กรุงเทพธุรกิจ. 10 August 2022. สืบค้นเมื่อ 28 August 2022.
  67. "ย้อน 19 ครั้ง "ทักษิณ" ประกาศจะกลับไทย แต่สุดท้าย ยังไม่ได้กลับ". pptvhd36.com. 2023-08-05.
  68. NEWS, KYODO. "Ex-PM Thaksin vows to return to Thailand post-election, face jail time". Kyodo News+.
  69. "เลือกตั้ง 2566 : ทักษิณ "ขออนุญาต" กลับไทย ทำไมต้องเดือน ก.ค." BBC News ไทย. 2023-05-09.
  70. "เพื่อไทยหยุดสถิติ "พรรคที่ไม่เคยแพ้" ตกที่นั่งพรรคอันดับ 2 ในรอบ 22 ปี". BBC News ไทย. 2023-05-15.
  71. ทักษิณ เลื่อนกลับไทย, สืบค้นเมื่อ 2023-08-03
  72. "ด่วน อิ๊ง โพสต์ ทักษิณ ประกาศกลับไทย 10 ส.ค. ลงสนามบินดอนเมือง". ข่าวสด. 2023-07-26. สืบค้นเมื่อ 2023-07-26.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  73. ""Yes, Sir" ประยุทธ์ยืนยัน ทักษิณกลับไทย ทำตามกระบวนการ ไม่ต้องให้ตนสั่งทุกเรื่อง ระบุให้รอดูกลับหรือเปล่า". THE STANDARD. 2023-07-26.
  74. "ชูวิทย์โพสต์ เกมพลิก ทักษิณถอย ยกเลิกกลับไทย สถานการณ์เปลี่ยน". ข่าวสด. 2023-07-28. สืบค้นเมื่อ 2023-07-28.
  75. "'อิ๊งค์' ตอก 'ชูวิทย์' เพ้อเจ้อ หลังปูดเกมพลิก 'ทักษิณ' พับแผนกลับไทย!". ไทยโพสต์. 2023-07-29. สืบค้นเมื่อ 2023-07-29.
  76. "'อรรถจักร์' มองการกลับมาของ 'ทักษิณ' กับการแยกสลายพลัง 'มวลชนประชาธิปไตย'". prachatai.com.
  77. "ย้อนรอย 72 วัน อวสาน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล". thansettakij. 2023-08-03.
  78. รอหลังตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก่อน, โดย รฐฦ/รัชดา คงขุนเทียน "ทักษิณ" เลื่อนกลับไทย. ""ทักษิณ" เลื่อนกลับไทย รอหลังตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก่อน". ryt9.com.
  79. ""ภูมิธรรม" ยัน "ทักษิณ" กลับไทยตามกำหนดการเดิม". pptvhd36.com. 2023-08-03.
  80. "ด่วน! 'ทักษิณ' ประกาศเลื่อนกลับไทย ออกไปไม่เกิน 2 สัปดาห์". เดลินิวส์. 2023-08-05. สืบค้นเมื่อ 2023-08-05.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  81. ""ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" โผล่ร่วมงานวันเกิดสมเด็จ ฮุน เซน ที่กัมพูชา". pptvhd36.com. 2023-08-06.
  82. "อุ๊งอิ๊ง ประกาศวันกลับไทย 'ทักษิณ' วันเดียวกับรัฐสภาโหวตนายกฯ เพื่อไทย". มติชน. 2023-08-19. สืบค้นเมื่อ 2023-08-19.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  83. "ทักษิณคุยกับบีบีซีไทยก่อนออกจากดูไบ ยืนยันกลับไทย 22 ส.ค. เหตุ "เป็นวันดี"". BBC News ไทย. 2023-08-19.
  84. ""แม้ว" ทวีตพรุ่งนี้ 9 โมง ขอกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย-ร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทย". mgronline.com. 2023-08-21.
  85. ""คนรักทักษิณ-เสื้อแดงเชียงใหม่" รวมพลเข้ากรุงรอรับ "โทนี่" บินกลับไทย". www.thairath.co.th. 2023-08-21.
  86. "เครื่องบิน "ทักษิณ" ถึงไทยแล้ว เวลา 9 โมงตรง คอลคุยแฟนคลับ". www.thairath.co.th. 2023-08-22.
  87. "เปิดเส้นทางบิน"ทักษิณกลับไทย" 22 ส.ค.นี้ บินไพเวทเจ็ทหรู 2,200 ล้าน". thansettakij. 2023-08-21.
  88. "Thaksin Shinawatra returns to Thailand after 15-year exile". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  89. ""ทักษิณ" ถึงไทย กราบพระบรมฉายาลักษณ์ โบกมือให้แฟนคลับ ก่อนถูกคุมตัวไปศาล (ชมคลิป)". mgronline.com. 2023-08-22.
  90. ""Flightradar24" เผยเที่ยวบินพา "ทักษิณ" กลับบ้านมีคนติดตามดูมากที่สุดในโลก : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-08-22.
  91. "ทวิตเตอร์ร้อนเป็นไฟ! #ทักษิณกลับไทย พุ่งทะยานติดเทรนด์อันดับหนึ่ง". ข่าว อีจัน. 2023-08-22.
  92. "ขบวนรถตำรวจ นำตัว "ทักษิณ" ถึงศาลฎีกา เสื้อแดงรอให้กำลังใจ". www.thairath.co.th. 2023-08-22.
  93. "ขบวนรถนำตัว "ทักษิณ" ถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี". www.thairath.co.th. 2023-08-22.
  94. "อิ๊งค์ ระบุเป็นดุลพินิจ ทักษิณ เลือกช่วงเวลาร่างจดหมาย ขอพระราชทานอภัยโทษ". posttoday. 2023-08-29.
  95. "วิษณุ เผย ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ 'ทักษิณ' แล้ว ยืนยัน ยังอยู่รพ.ตำรวจ". มติชน. 2023-08-31. สืบค้นเมื่อ 2023-08-31.
  96. "วิษณุ เผยรบ.ประยุทธ์ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ 'ทักษิณ'". มติชน. 2023-09-01. สืบค้นเมื่อ 2023-09-01.
  97. ""ทักษิณ" พักผ่อนกับครอบครัว หลังถึง "จันทร์ส่องหล้า"-เสื้อแดง ให้กำลังใจ (คลิป)". www.thairath.co.th. 2024-02-18.
  98. https://www.pptvhd36.com (2024-02-18). ""พิชาย" เชื่อ "ทักษิณ" เข้ามายุ่งการเมืองแน่นอน ชี้มีนายกฯ 2 คนนานแล้ว". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  99. Prasanchart, Apinya. "'เศรษฐา​' นั่งรถประจำตำแหน่งคันใหม่ เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า​ พบ​ 'ทักษิณ​'". เดลินิวส์. {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 8 (help)
  100. https://www.thansettakij.com/politics/533928 คดีซุกหุ้น จาก“ทักษิณ” ถึง“ศักดิ์สยาม”
  101. คำวินิจฉัยส่วนตัวของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย, "ประเด็นที่สาม ผู้ถูกร้องไม่เข้าใจคำอธิบายบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินของตนจริงหรือไม่" เก็บถาวร 2015-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 29-10-2558.
  102. ท่ามกระแสกดดันจากสังคมมายังศาลรัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 10-12-2556.
  103. พ.ต.ท.ทักษิณถูกมองว่าแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม เก็บถาวร 2022-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 10-12-2556.
  104. "คดีซุกหุ้นภาคหนึ่ง มีใครบ้างที่ริเริ่มถอดถอน ๔ ตุลาการ"[ลิงก์เสีย]. ค้นเมื่อ 10-10-2556
  105. https://peaceresourcecollaborative.org/theories/justice-and-remedies/reconthailand# รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) หน้า 210
  106. 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ย้อนรอยกรณีตระกูลชินวัตร ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปฯ ให้กับบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง จนกลายเป็นกระแสสังคม นำมาซึ่งการกดดันให้ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น Thestatestimes สืบค้นเมื่อ 23 JANUARY , 2021
  107. ย้อนรอย ม็อบเสื้อเหลือง แนวร่วมพันธมิตรฯ ไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51 ประชาชาติธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2564
  108. "ศาลตัดสินจำคุก "ทักษิณ" 5 ปี ใช้ตำแหน่งแปลงค่าสัมปทาน". Thai PBS. 31 July 2020. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  109. 109.0 109.1 00.html "Thaksin Flees to London — Again". The Time. 2008-12-08. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)[ลิงก์เสีย]
  110. ""แม้ว" ซุกอังกฤษหนีคดี! เหิมด่าศาลสองมาตรฐาน เพ้อขอตายที่เมืองไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  111. "โรงพักใจถึงติดประกาศจับ "แม้ว-อ้อ" หน้าโถส้วม!". ผู้จัดการออนไลน์. 16 สิงหาคม พ.ศ. 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  112. 112.0 112.1 "ออกหมายจับ!"ทักษิณ-พจมาน"". โพสต์ ทูเดย์. 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-16. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  113. "ขึ้นบัญชีหมายจับ "ทักษิณ-พจมาน"". ไทยรัฐ. 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  114. พิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ โพสต์ทูเดย์ สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2553
  115. เว็บข่าวปลอมอ้าง 'ทักษิณ' ให้สัมภาษณ์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เรื่องการลงทุน Voice online สืบค้นเมื่อ Aug 16, 2019
  116. 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ล้ม 'ทักษิณ' กลัวอำนาจประชาชน Voice online สืบค้นเมื่อ Sep 19, 2021
  117. คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558
  118. ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ : หัวข้อ “ภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ในสายตาประชาชน”[ลิงก์เสีย]
  119. เอแบคโพลล์ชี้ภาพลักษณ์รัฐบาล "สุรยุทธ์" ดีกว่า "ทักษิณ"
  120. "โพลระบุนิยมทักษิณนำอภิสิทธิ์-ก่ำกึ่งจิ๋วพบฮุนเซน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-23.
  121. นายกฯลุยฟ้องสนธิ-ชัยอนันต์-เจิมศักดิ์ปูดปฏิญญาฟินแลนด์
  122. ลิ่วล้อ “ทักษิณ” งานเข้า ฟ้อง “สนธิ” หมิ่นอีกคดี
  123. "ทักษิณ"เดือดกราดเอ็งเป็นใคร! ม็อบลุยทำเนียบกลางดึก โดนตร.จับกราวรูด 40ราย[ลิงก์เสีย]
  124. ด่วน!!! “ทักษิณ”ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่[ลิงก์เสีย]
  125. "ประมวลภาพบรรยากาศ "ทักษิณ" ปราศรัยที่ท้องสนามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30. สืบค้นเมื่อ 2009-11-13.
  126. แฉม็อบจัดตั้ง ทรท.ยั่วยุม็อบอหิงสาไล่ทักษิณ
  127. ล้อม"ทำเนียบ" นับแสนโชว์พลังไล่"ทักษิณ"[ลิงก์เสีย]
  128. The Nation, "'Finland plot' on dangerous ground" เก็บถาวร 2007-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  129. The Nation, "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix", 25 พฤษภาคม, พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  130. The Bangkok Post, "Manager sued for articles on 'Finland plot'" เก็บถาวร 2006-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 (อังกฤษ)
  131. The Nation. Man beaten to death after desecrating the Erawan Shrine เก็บถาวร 2015-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  132. Foo Yee Ping. Dreaded day dawns – despite lies and dark forces เก็บถาวร 2012-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. TheStar. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  133. 133.0 133.1 The Nation. Vandal's dad distraught เก็บถาวร 2012-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  134. The Nation. Things to improve from now: Chidchai เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  135. Duncan. McCargo, Media and Politics in Pacific Asia, page 146
  136. badexes
  137. forbthaksin
  138. "ทักษิณ ติดโควิด น้องสาวด้วย ที่ดูไบ ส่งรักษาวุ่น". ข่าวสด. 2 October 2020. สืบค้นเมื่อ 29 April 2021.
  139. "ส่อง ความรวย 'ทักษิณ' กว่า 10 ปี ลี้ภัย ทรัพย์สิน เพิ่มพูน ระดับ มหาเศรษฐีโลก". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-08-16.
  140. สวนดุสิตโพลสำรวจ“ที่สุดแห่งปี 2560”
  141. สวนดุสิตโพล: “ที่สุดแห่งปี 2559”
  142. สวนดุสิตโพล: “ที่สุดแห่งปี 2558”
  143. สวนดุสิตโพล: ที่สุดแห่งปี 2544
  144. ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ ประวัติและผลงานของ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
  145. "รางวัล 1992 Asean Business Man of the Year". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  146. "บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคม เพื่อสังคมของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2536". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  147. "Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  148. "รับพระราชทาน วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  149. "รางวัล Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  150. "รางวัล Distinguished Alumni Award". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  151. รางวัลเกียรติยศจากสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
  152. "ขวัญใจมหาชน สาขานักการเมือง พ.ศ. 2540". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2019-03-30.
  153. รางวัล โลซินเซีย แอปพลิเคชัน อวอร์ด จากองค์การภาพยนตร์ โมชั่น
  154. นักการเมืองชายดีเด่นแห่งปี 2546
  155. รางวัล International Forgiveness Award 2004
  156. บุคคลที่มีความพยายามมุ่งไปสู่สันติภาพ
  157. สร้างความเป็นเอกภาพ 2547
  158. เอกภพและเสรีภาพ 2547
  159. บุคคลในสังคมไทยที่มีพฤติกรรมน่าชื่นชมยกย่องมากที่สุด
  160. ได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  161. Deposed Thai Prime Minister Teaches At Takushoku University
  162. ได้รับการแต่งตั้งเป็น [\ศาสตราจารย์อาคันตุกะ
  163. "รางวัล รัฐบุรุษ เอบีแอลเอฟ ปี 2555". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-06. สืบค้นเมื่อ 2018-12-07.
  164. บุคคลที่คนไทยชื่นชอบที่สุด ปี 2560
  165. ประธานที่ปรึกษานักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 และ นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 พ.ศ. 2537[ลิงก์เสีย]
  166. กรรมการอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[ลิงก์เสีย]
  167. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
  168. นายกสมาคมชาวเหนือ พ.ศ. 2541[ลิงก์เสีย]
  169. ไฟล์วีดีโอบนเว็บไซต์ยูทูบ นายกรัฐมนตรีบรรยายเรื่องสอนอย่างไรให้ไปถึงฝันที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย พ.ศ. 2546
  170. ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา
  171. ปรึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  172. วิทยากรในงานเสวนาแชร์ประสบการณ์ ทักษิณ ชินวัตร
  173. "ข่าวสารจากนิตยสารสื่อสร้างสานพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 47 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2559". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-15. สืบค้นเมื่อ 2018-12-10.
  174. วิทยากรในงานสนทนาเป็นการส่วนตัวกับ ทักษิณ ชินวัตร
  175. วิทยากรรับเชิญในงานการบรรยายการแก้ปัญหาความยากจน
  176. ไฟล์วีดีโอบนเว็บไซต์ยูทูบ
  177. หนังสือพิมพ์ออนไลน์ข่าวสด 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 21:31 น.
  178. หนังสือพิมพ์ออนไลน์ข่าวสด 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 10:08 น.
  179. หนังสือพิมพ์ออนไลน์วอยซ์ออนไลน์ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 12:49 น.
  180. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  181. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  182. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
  183. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕
  184. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๒๖, ๕ มกราคม ๒๕๔๙
  185. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชโองการ ประกาศ เรื่อง เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๑, ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒
  186. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2013-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
  187. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2015-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑, ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๕
  188. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2013-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๕, ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕
  189. ราชกิจจานุเบกษา, แก้คำผิด ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2019-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๒๗, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
  190. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2013-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ หน้า ๔ ข หน้า ๕, ๗ มีนาคม ๒๕๔๖
  191. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2013-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๒, ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า ทักษิณ ชินวัตร ถัดไป
ชวน หลีกภัย    
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23
(ครม. 54
และ 55)
(9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548
11 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549)
  สุรยุทธ์ จุลานนท์
เกษม วัฒนชัย    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(14 มิถุนายน พ.ศ. 2544 – 9 ตุลาคม พ.ศ. 2544)
  สุวิทย์ คุณกิตติ
ประสงค์ สุ่นศิริ    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 – 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538)
  กระแส ชนะวงศ์
ก่อตั้งพรรค    
หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
(14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549)
  จาตุรนต์ ฉายแสง
(รักษาการ)