ประทิน สันติประภพ
พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ (19 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นามสกุลเดิม "ก้อนแก้ว") อดีตราชองครักษ์พิเศษ [1] อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร อดีตอธิบดีกรมตำรวจและเป็นบิดาของ รศ.ดร.ประทิต สันติประภพ รองอธิการบดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 20 รศ.พญ. จีรันดา สันติประภพ หัวหน้าสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาคกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ประทิน สันติประภพ | |
---|---|
อธิบดีกรมตำรวจ | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 – 30 กันยายน พ.ศ. 2537 | |
ก่อนหน้า | พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ |
ถัดไป | พลตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา |
สมาชิกวุฒิสภา | |
ดำรงตำแหน่ง 8 มีนาคม พ.ศ. 2543 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (ลาออก) | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 มิถุนายน พ.ศ. 2477 อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | กุณฑลา สันติประภพ |
ประวัติการทำงาน
แก้พล.ต.อ.ประทินจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในเริ่มแรกรับราชการทหารบก ด้วยการจบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลักสูตรผู้บังคับหมวด รุ่นที่ 6 จากโรงเรียนทหารราบ เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนายร้อยตรี ประจำกรมกำลังพลทหารบก และประจำกองบัญชาการศูนย์การทหารราบ ในปี พ.ศ. 2501 จากนั้นในปี พ.ศ. 2502 จึงย้ายมาเป็นตำรวจ ในยศนายร้อยตำรวจโท ประจำกองบังคับการตำรวจสันติบาล และได้เจริญในหน้าที่ราชการเรื่อยมา จนกระทั่งได้เป็น ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ, รองอธิบดีกรมตำรวจ และอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 ก่อนจะเกษียณอายุราชการไปในที่สุด [2]
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางกุณฑลา สันติประภพ หลังจากเกษียณแล้ว พล.ต.อ.ประทิน ได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร (สว.กทม.) ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 โดย พล.ต.อ.ประทินได้เบอร์ 176 และได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับ 5 ของกรุงเทพฯ ด้วยคะแนน 71,081[3][4]
บทบาททางการเมือง
แก้เนื่องจากกรณีการชกหน้าสมาชิกรัฐสภา ในที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เวลากลางวัน ระหว่างประชุมวุฒิสภา พล.ต.อ.ประทิน ได้ชกต่อยเข้าที่ใบหน้าของ นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภา เนื่องจากสาเหตุที่ นายอดุลย์ลุกจากที่นั่งเดินเข้ามาในระยะประชิด เพราะมีความเห็นขัดแย้งกัน กรณีการเผยแพร่เอกสารสมุดปกเหลือง เรื่อง "ความจริงที่ตากใบ" อันเป็นรายงานเกี่ยวกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ของทีมงานที่นำวุฒิสภากลุ่มหนึ่ง นำโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง การชกหน้าทำร้ายร่างกาย ของสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน ในระหว่างที่มีการประชุมกัน ซึ่งได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างยิ่งของวงการการเมืองไทย[5]
แต่ทว่า การกระทำในครั้งนี้ กลับได้รับการสนับสนุนจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง 9 โดยให้เหตุผลว่า เป็นการทำไปเพราะถูกยั่วยุก่อน และได้ยกย่อง พล.ต.อ.ประทินว่าเป็น สว.ที่เป็นกลาง[6]
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 พล.ต.อ.ประทิน ได้แสดงความรับผิดชอบจากกรณีดังกล่าวในขั้นต้น ด้วยการลาออกจากคณะกรรมการจริยธรรมของวุฒิสภา จากนั้นหลังจากที่เหตุการณ์ชกต่อยในวุฒิสภาผ่านมาได้ 1 ปี ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกภาพของ ส.ว. โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียเงินค่าเลือกตั้งซ่อม จึงลาออกในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ก่อนที่วุฒิสภาจะหมดอายุลง และไม่ต้องมีเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ต่อมา ศาลได้ยกฟ้องพล.ต.อ.ประทิน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการป้องกันตัว เพราะคู่กรณีได้เดินเข้ามาหาก่อน[7]
จากนั้นในคืนวันที่ 13 มกราคม ต่อเนื่องถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2549 พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ พร้อมด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.),รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดร.คณิน บุญสุวรรณ, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายการุณ ใสงาม, นายสมาน ศรีงาม และอีกหลายคนได้นำขบวนประชาชนที่มามาร่วมฟังรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร กว่า 2,000 คนเดินทางจากสวนลุมพินีมายังหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายสนธิได้กล่าวว่าที่นำมาประชาชนมายัง ณ ที่นี่ ก็เพราะต้องการมาเป็นเพื่อนของ พล.ต.อ.ประทิน ที่ได้กล่าวไว้ก่อนเริ่มรายการ[8]
หลังจากนั้นมา พล.ต.อ.ประทิน ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกหลายครั้ง โดยมักขึ้นเวทีในรายการของ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และได้แสดงความเห็นทางช่อง ASTV อีกหลายครั้งด้วย
เกียรติคุณและรางวัล
แก้- บุคคลดีเด่นระดับชาติ สาขาการเมืองและการปกครองด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
- โล่ประกาศเกียรติคุณ สาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในโอกาสครบรอบการสถาปนากรมป่าไม้ 97 ปี (พ.ศ. 2536)
- บุคคลยุติธรรมแห่งปี พ.ศ. 2533 จากวารสารหมอความยุติธรรม
- รางวัล "สังข์เงิน"ประจำปี พ.ศ. 2530 สาขาเสริมสร้างความสงบสุขในสังคม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[10]
- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[11]
- พ.ศ. 2537 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)[12]
- พ.ศ. 2527 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2532 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[13]
- พ.ศ. 2515 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ อดีตราชองครักษ์พิเศษ
- ↑ "พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-29. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
- ↑ รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกรุงเทพมหานคร
- ↑ "รายชื่อ สว.ภาคกลาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-11. สืบค้นเมื่อ 2010-07-22.
- ↑ สภาเถื่อน!“ประทิน”ต่อย“อดุลย์”กลางที่ประชุม [ลิงก์เสีย]
- ↑ "สนธิขำมวยกลางวุฒิสภา ยกย่องประทินเป็นส.ว.ที่เป็นกลาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-12-14. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
- ↑ "ศาลยกฟ้องคดี ส.ว.ฟาดกันกันในสภาฯ ระบุ ป้องกันตัวด้วยเหตุสำคัญผิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-05-25.
- ↑ หนังสือปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า โดย คำนูณ สิทธิสมาน ISBN 974-94609-7-9
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เล่ม 109 ตอนที่ 59 วันที่ 5 พฤษภาคม 2535
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๖, ๒๓ กันยายน ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๒
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ
ก่อนหน้า | ประทิน สันติประภพ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ | อธิบดีกรมตำรวจ (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 - 30 กันยายน พ.ศ. 2537) |
พลตำรวจเอก พจน์ บุณยะจินดา |
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ชีวประวัติของ พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เก็บถาวร 2005-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์วุฒิสภา
- ประทิน สันติประภพ[ลิงก์เสีย] ประวัติบุคคล สำนักข่าวไทย
- วิดีโอข่าวชกต่อย[ลิงก์เสีย]