คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นับได้ว่าเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด และเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนแพทยากร และพัฒนามาจนกระทั่งเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีอายุ 128 ปี มีแพทย์สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 124 รุ่น นักศึกษาแพทย์ปีการศึกษา 2564 นี้นับเป็นรุ่นที่ 132

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University
Mahidol U.png
สถาปนา5 กันยายน พ.ศ. 2433 (132 ปี)
คณบดีศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล
ที่อยู่
วารสารศิริราชประชาสัมพันธ์
สี  สีเขียวศิริราช
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลศิริราช
เว็บไซต์www.si.mahidol.ac.th

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ เผยแพร่ความรู้สู่สังคมและให้การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงและผลงานด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ประวัติแก้ไข

วิชาการแพทย์ไทยแต่เดิมพัฒนาจากการใช้ยาสมุนไพรและรับการรักษาจากหมอยาตำราหลวงตามแบบแผนอย่างไทย ต่อมาเมื่อมีคณะมิชชันนารีจากต่างประเทศเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เกิดรูปแบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่ขึ้นในประเทศ ไม่นานในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อจัดระเบียบและยกระดับมาตรฐานการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศให้สมกับความรุ่งเรืองของประเทศ พระองค์ทรงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน คือ

  1. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
  2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
  3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
  4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
  5. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
  6. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์
  7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี
  8. เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี
  9. ดร.ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์

เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศ คณะกรรมการได้กราบทูลขอแบ่งพื้นที่พระราชวังบวรสถานพิมุขด้านใต้อันเป็นพื้นที่หลวงร้างฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลและซื้อที่ริมข้างเหนือโรงเรียนของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพื่อทำท่าขึ้นโรงพยาบาล และตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”

ในปี พ.ศ. 2430 ขณะกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด สร้างความโศกเศร้าพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็นอย่างมาก จึงมีพระราชประสงค์พระราชทานโรงพยาบาลเพื่อเป็นพระราชกุศล เมื่อเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้พระราชทานไม้ที่ใช้สร้างพระเมรุมาศจำนวน 15 หลังมาเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชฯ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) เป็นค่าก่อสร้างอีกด้วย ตามพระราชปรารภของพระองค์ในพระราชหัตถเลขาถึงคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช 1250 ใจความตอนหนึ่งว่า

"...ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาเจ็บไข้ เห็นแต่ว่าลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชนุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้ เป็นต้นทุน..."


 
พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันกำเนิดโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล และพระราชทานนามใหม่แก่โรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล” สังกัดกรมพยาบาลอันมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นอธิบดี เมื่อตั้งโรงพยาบาลแล้ว ในชั้นแรกคณะกรรมการได้เชิญหมอหลวงที่มีชื่อเสียงมาเป็นแพทย์ใหญ่ ซึ่งได้พระประสิทธิวิทยา (หนู) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง พร้อมกับลูกศิษย์อีก 2 คน

ในช่วงนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการจัดหาแพทย์สำหรับโรงพยาบาลค่อนข้างลำบาก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และเพื่อการอบรมการรักษาด้วยการผ่าตัดสมัยใหม่ให้แก่แพทย์ไทยด้วย โดยตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2432 และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 รับสมัครเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน มีดอกเตอร์ยอร์ช แมกฟาแลนด์ (หมอเมฆฟ้าลั่น ภายหลังได้เป็น อำมาตย์เอก ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นอาจารย์แพทย์ กระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 จึงได้เปิด “โรงเรียนแพทยากร” ขึ้นอย่างเป็นทางการตามพระบรมราชโองการ และพัฒนาต่ออย่างรวดเร็วจนได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443

ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมชนกนาถ ในโอกาสนี้ได้ทรงรวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็น 1 ใน 4 คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาได้เปลี่ยนนามตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2461 เป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล” โดยก่อนที่นิสิตจะได้ข้ามไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราชจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลได้เริ่มเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller) โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการเจรจาเพื่อขอความช่วยเหลือปรับขยายหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลให้ถึงระดับปริญญา โดยมีโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลฝึกหัด นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชหลายหลัง และยังได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย สำหรับไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ นับได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ มีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิริราชและการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยเป็นอย่างมาก ทางคณะฯ จึงได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาล และถวายพระราชสมัญญาว่า “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2560

ในรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้จัดระเบียบการบริหารราชการใหม่และก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยโอนคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะย้ายมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2502 แต่นักศึกษายังคงต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิมแม้คณะจะเปลี่ยนไปสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แล้ว [1]

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512[2] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามใหม่แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ว่า “ มหาวิทยาลัยมหิดล ” พร้อมกันนี้ คณะได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในระหว่างนี้ได้ช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย

ปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 30 ไร่ รวมเป็น 107 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ณ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เขตบางกอกน้อย และพระราชทานนาม ดังนี้ สถาบันการแพทย์ชื่อว่า สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช (Sayamindradhiraj Medical Institute), อาคารโรงพยาบาลชื่อว่า “อาคารปิยมหาราชการุณย์” (Piyamaharajkarun Building) และอาคารวิจัยชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” (His Majesty the King’s 80th Birthday Anniversary 5th December 2007 Building)

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ประกาศความร่วมมือกับไอซีเอสในการจัดตั้งศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต หรือ ศิริราช เอช โซลูชันส์ โดยเป็นศูนย์สุขภาพแห่งแรกที่ตั้งนอกพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2566[3]

ภาควิชาและหน่วยงานแก้ไข

ภาควิชาแก้ไข

สถาน / ศูนย์แก้ไข

หลักสูตรแก้ไข

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณทิต

หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายอุปกรณ์

หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์มหาบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

ทำเนียบคณบดีแก้ไข

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลมีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีมาแล้ว 17 คน ดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[4]

ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) พ.ศ. 2460 - พ.ศ. 2467
2. หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี พ.ศ. 2468
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2481
4. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อำมาตย์ตรี พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2486
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2487
6. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หลวงพิณพากย์พิทยาเภท (พิณ เมืองแมน) พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2501
7. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2506
8. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2510
9. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512
ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
8. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2516
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ วีกิจ วีรานุวัตติ์ พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2528
11. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ นที รักษ์พลเมือง พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532
12. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534
13. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อรุณ เผ่าสวัสดิ์ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2541
14. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543
15. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2550
16. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2554
17. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558
18. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2565
19. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อภิชาติ อัศวมงคลกุล พ.ศ. 2565 - [5]

โรงพยาบาลในสังกัดแก้ไข

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก นครปฐม

รางวัลแก้ไข

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[6] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ ชนะ

อ้างอิงแก้ไข

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/007/212.PDF
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/A/017/4.PDF
  3. "ICS ผนึก "แพทยศาสตร์ศิริราชฯ" ผุดศูนย์สุขภาพฯ เชิงรุกเติมเต็มมิกซ์ยูส". mgronline.com. 2022-10-17.
  4. "รายนามคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-22. สืบค้นเมื่อ 2014-06-15.
  5. https://uc.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/07/27-2565.pdf
  6. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′24″N 100°29′11″E / 13.756633°N 100.48645°E / 13.756633; 100.48645