กล้านรงค์ จันทิก
กล้านรงค์ จันทิก (เกิด 18 กันยายน พ.ศ. 2486) อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กล้านรงค์ จันทิก | |
---|---|
สมาชิกวุฒิสภา | |
ดำรงตำแหน่ง 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | |
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ | |
ดำรงตำแหน่ง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 | |
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ | |
ดำรงตำแหน่ง 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | |
ถัดไป | ศราวุธ เมนะเศวต |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 18 กันยายน พ.ศ. 2486 |
คู่สมรส | พันทิพา จันทิก |
เป็นบุตรของยนต์ และศรีสว่าง จันทิก สมรสกับพันทิพา จันทิก มีบุตรธิดา 3 คน กล้านรงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.ช. จากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549[1] และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
การศึกษา
แก้กล้านรงค์ จันทิก จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังจึงได้เข้าศึกษาจนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทย และผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 36
การทำงาน
แก้กล้านรงค์ จันทิก เริ่มทำงานในขณะที่ยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย ในตำแหน่งลูกจ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 จึงสามารถสอบเข้ารับราชการได้ในตำแหน่งวิทยากร สังกัดสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ต่อมาได้สอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ แต่ไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ ภายหลังจึงมารับตำแหน่งนิติกร ระดับ 4 งานบริการทรัพย์สิน กองธุรกิจเศรษฐกิจ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ในปี พ.ศ. 2518 และในปีเดียวกันจึงได้โอนย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ได้โอนมาเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ระดับ 4 กองสืบสวนสอบสวน 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน 1 ในปี พ.ศ. 2524 เป็นผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน 2 ในปี พ.ศ. 2529 และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.)[2] ในปี พ.ศ. 2540
ต่อมาได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้นแทนสำนักงาน ป.ป.ป. นายกล้านรงค์ จึงได้โอนย้ายมาสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (6 มิถุนายน พ.ศ. 2542 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546) ภายหลังพ้นจากตำแหน่งแล้วได้สมัครเข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแทน
ในปี พ.ศ. 2549 กล้านรงค์ ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[3] ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร[4] และเป็นกรรมาธิการสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเกี่ยวกับทุจริต วุฒิสภา จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 จึงได้รับแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. จนกระทั่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในกรณีมีอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[5]และเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ[6]
ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา[7]
ผลงาน
แก้- เป็นผู้แถลงฟ้องร้อง พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากคดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543
- เป็นผู้แถลงเปิดคดีแจ้งทรัพย์สินอันเป็นเท็จของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 3 เม.ย. 2544
เกียรติคุณ
แก้คณะกรรมการ "มูลนิธิศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์" ได้มีมติมอบรางวัล "นักกฎหมายที่สมควรได้รับการยกย่อง ประจำปี 2546" ให้แก่ กล้านรงค์ จันทิก เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2546
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[10]
- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[11]
- พ.ศ. 2537 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน (โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง นายกล้านรงค์ จันทิก ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองเลขาธิการ ป.ป.ป. ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ป.)
- ↑ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
- ↑ ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ใช้เว็บไซค์ของวุฒิสภา), 1 สิงหาคม 2557
- ↑ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๙, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๒, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๐, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๒๗, ๗ มกราคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๓๒๗, ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘