รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เหตุการณ์ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
ส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

รถถังและกองทัพ เข้าควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร ในวันรัฐประหาร
วันที่19 กันยายน พ.ศ. 2549 (18 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

รัฐประหารสำเร็จ

คู่สงคราม

 กองทัพไทย
ตำรวจไทย

ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
รัฐบาลทักษิณ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ไทย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทักษิณ ชินวัตร
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน แถลงสาเหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน และให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกาศว่า หลังจากการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการอธิบายบทบาทที่มีต่อการเมืองไทยในอนาคต[1]

หลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้งพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด[2]

รัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฏิกิริยาตอบรับจากนานาชาติมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย การแสดงความความเป็นกลาง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนการแสดงความผิดหวังอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต และว่า รัฐประหาร "ไม่มีเหตุผลยอมรับได้"[3]รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ยังนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการระบุสาเหตุว่าผู้นำไม่มีคุณธรรมจริยธรรม[4]ซึ่งไม่เคยปรากฏเป็นเหตุผลในการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้

การรัฐประหารในครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเนื่องจากการที่คณะรัฐประหารได้เข้าเฝ้าในคืน วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย ประธานองคมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ภายหลังทรงพระราชกระแสรับสั่งกับ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าสงสารทักษิณ เขา เขาทำงานดี และทรงตรัสต่อว่า "วันหลังอย่าทำอีก" [5] โดยมีผู้นำลงยูทูบ ในปี พ.ศ. 2551


ในขณะที่สนธิ ลิ้มทองกุล ได้พูดไว้ที่โรงแรมไฮแอทรีเจนซี่ เรสตันรัฐเวอร์จิเนีย ในวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ถึงลำดับเหตุการณ์ว่าตนเองได้รับโอกาสพบหม่อมราชวงศ์บุษบา สธนพงศ์และได้รับของขวัญชิ้นหนึ่ง[6]

เหตุการณ์

แก้

ชนวนเหตุ

แก้
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  ในหลวงตรัสกับสนธิบุญเกี่ยวกับทักษิณ, วิดีโอยูทูบ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เรื่อง แนวทางพระราชดำริสู่การบริหารจัดการภาครัฐ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ผู้บริหารที่ดีต้องไม่เป็นเพียงคนเก่งและฉลาด แต่ต้องมีจริยธรรมด้วย[7] ในช่วงเวลาเดียวกัน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[8]

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 สมัคร สุนทรเวช ได้ออกมาวิจารณ์องคมนตรีทั้งสองว่า

การที่องคมนตรีทั้งสองท่านมาแสดงออกเช่นนี้ ถือว่ากระทบนายกรัฐมนตรี ทำไมต้องไปเอากับเขาด้วย บ้านเมืองกำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน ทำแบบนี้ทำไม เพราะทำให้ถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมอยากถามว่า แบบนี้เป็นการเลือกข้างใช่มั้ย เพราะถ้าท่านไม่ทำอะไร อยู่เฉย ๆ ก็ได้

[7]

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2549 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของไทย ลาออกจากตำแหน่ง

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2549 วิษณุ เครืองาม ลาออกจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2549 คำกล่าวของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนหนึ่งซึ่งพาดพิงถึง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"[9] ทำให้นักข่าวคาดกันว่าหมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กล่าวยอมรับในภายหลังว่าเขาหมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวเนื่องจากว่าเชื่อว่าการลาออกของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ[10] และ วิษณุ เครืองาม มีผู้สั่งการคือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าว ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เรียกร้องให้ 

ทหารแทนคุณแผ่นดิน เพราะเป็นทหารของชาติและพระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาลเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น เปรียบเหมือนจ็อกกิง ที่มาแล้วก็ไป


วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ออกมากล่าวตำหนิประธานองคมนตรีที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล[11]โดยกล่าวตำหนิว่า

แม้รัฐบาลจะไม่ได้เป็นเจ้าของตึกกลาโหม ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องบิน หรือเป็นเจ้าของทหารในกองทัพ แต่ก็มีหน้าที่สั่งบังคับบัญชาตามกฎหมาย การที่ พล.อ.เปรม เปรียบเป็นจ็อกกิงก็ถูกในมุมหนึ่ง แต่ผู้บัญชาการทหารก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีใครอยู่ค้ำฟ้า และถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งจ๊อกกี้ก็คือคนบังคับม้า พล.อ.เปรม ก็เคยเป็นรัฐบาล น่าจะรู้ว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลมีวิธีการบริหารต่างกัน การที่จ๊อกกี้จะเก่งหรือไม่ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวตัดสิน หากประชาชนเห็นว่าเก่งก็จะเลือกกลับมาทำงานอีก และแม้ว่ารัฐบาลจะเป็นเพียงรักษาการ แต่ข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้

  วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 สมัคร สุนทรเวช กล่าวตอบโต้ พลเอก เปรม อีกครั้ง[12]ตอนหนึ่งว่า 

ไม่รู้ว่าชิงชัง เกลียดชังรัฐบาลอะไรกันนักหนา

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 มีคำสั่งกองทัพบกที่ 423/2549[13]ซึ่งเป็นคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพันถึง 129 นายการแต่งตั้งโยกย้ายกำลังระดับผู้บังคับกองพันเป็นอำนาจโดยตรงของผู้บัญชาการทหารบกไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งการรัฐประหารในปี 2549 ผู้บังคับกองพันมีบทบาทมากในการคุมกำลังพลและรถถัง

ในวันที่ 20 กรกฎาคม แม่ทัพภาคที่ 3 พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ให้สัมภาษณ์ว่าการเมืองไทยอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และความเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เขายังกล่าวว่าประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง[14][15]และกล่าวโจมตีทหารที่สนับสนุนรัฐบาลว่าเป็นทหารเลว

วันที่ 28 กรกฎาคม พลเอก เปรม กล่าวกระทบนายกรัฐมนตรีที่โรงเรียนนายเรือ[16]ตอนหนึ่งว่า

ถ้าเราเคารพนับถือคนมีสตางค์ โดยไม่คิดว่าเขามีสตางค์มาอย่างไร เขาเป็นคนที่ไม่สมควรได้รับการยกย่อง

วันที่ 12 สิงหาคม นาย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับผ้าพันคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[17]

วันที่ 25 สิงหาคม[18]ผู้ประท้วงราว 100 คนเดินทางไปยังที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยอ้างว่ามาเพื่อขอชีวิต ทักษิณ ชินวัตร[19]

วันที่ 30 สิงหาคม พงษ์เทพ เทศประทีป กล่าววิพากษ์วิจารณ์ นายกรัฐมนตรี[20]ตอนหนึ่งว่า

อย่ามัวฟังแต่เสียงสวรรค์ของคนรอบข้าง ต้องฟังเสียงนรก จากสังคมที่มองตัวท่านบ้าง

วันที่ 31 สิงหาคม พลเอก เปรม กล่าวกระทบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งที่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช[21]ตอนหนึ่งว่า

ถ้าเราไปยกย่องคนไม่ดี อันตรายจะมีมาก เพราะเราจะไปมีส่วนร่วมในการกระทำที่ไม่ดีของเขาด้วย

ภายหลังสื่อมวลชนเรียกเหตุการณ์ตอบโต้ทางวาทกรรมนี้ว่า สงครามน้ำลาย และสงครามน้ำลายนี่เองที่อาจเป็นสาเหตุหลักในการรัฐประหารครั้งนี้ เนื่องจากพลเอก เปรม ติณสูลานนท์[22]เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นอกจากนั้นแล้วก่อนหน้านี้ทหารไทยแทบไม่แสดงออกทางการเมืองเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในราชการ จนกระทั่งพลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ออกมาตำหนิว่าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น ทหารเลวจึงมีทหารส่วนหนึ่งกล้าที่จะแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล[23]

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เปิดเผยว่าใช้เวลาเตรียมรัฐประหารประมาณ 7 เดือน ซึ่งหมายความว่า เริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549[24][25][26] ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 พลเอกสนธิเคยรับประกันว่าทหารจะไม่ยึดอำนาจ

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม มีรายงานเคลื่อนไหวของรถถังใกล้กับกรุงเทพมหานคร แต่กองทัพว่าเป็นการฝึกซ้อมตามกำหนดการ[27] เมื่อต้นเดือนกันยายน ตำรวจไทยจับกุมนายทหารกองทัพบก 5 นาย ซึ่งมีตำแหน่งในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หลังพบว่าหนึ่งในนั้นมีระเบิดซุกซ่อนอยู่ในรถ ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งหน้าไปยังที่พักของนายกรัฐมนตรีตามข้อกล่าวหา[28] ซึ่งสามในห้าของผู้ที่ถูกจับกุมถูกปล่อยตัวหลังรัฐประหาร[29]

พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว"[30] ชี้แจงสาเหตุของรัฐประหารยึดอำนาจ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ[31]

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คปค. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี อาทิ ภุชงค์ รัตนวรรณ เรืองศักดิ์ ทองดี ศานิต พรหมาศ ไตรรงค์ อินทรทัต วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ ฉัตรชัย ถาวรบุตร จิรสิทธิ์ เกษะโกมล อนุพงษ์ เผ่าจินดา พรชัย กรานเลิศ สุเมธ โพธิ์มณี กำธร พุ่มหิรัญ พฤณท์ สุวรรณทัต ทรงกิตติ จักกาบาตร์ สุกำพล สุวรรณทัต ธวัช บุญเฟื่อง หม่อมหลวงสุทธิรัตน์ เกษมสันต์ มนัส เปาริก อำนวย จิระชุณหะ สุริโย อินทร์บำรุง

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือการรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 มีอำนาจและตำแหน่งน้อยลงและผู้ที่ได้ตำแหน่งสำคัญเป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนร่วมรุ่นอดีตนายกรัฐมนตรี[32]

รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างพันตำรวจโททักษิณกับประธานองคมนตรี[33]

ลำดับเหตุการณ์

แก้
 
ทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีริบบิ้นสีเหลืองผูกกระบอกปืน และมีผ้าพันคอสีเหลือง

เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก ดร. ทักษิณ ชินวัตร เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม ยกเว้น พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำให้ช่วงบ่ายมีกระแสข่าวลือรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีข่าวลือว่ารัฐมนตรีและนักการเมืองร่วมรัฐบาลหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพมหานคร

เวลา 18.00 น. สมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบพลเอกสนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ทักษิณในวันรุ่งขึ้น ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึงถนนราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร[34] หลังจากนั้น พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำสองครั้ง

เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

การกะเวลารัฐประหาร

แก้

ภายหลัง พลเอกสนธิ ให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เดิมวางแผนให้ดำเนินรัฐประหารในวันที่ 20 กันยายน เพื่อให้ตรงกับการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่กำหนดแล้ว เขาอ้างถึง "ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโปรตุเกส" ซึ่งมีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งโค้นล่มพระเจ้ามานูเอลที่ 2 แห่งโปรตุเกส และจัดตั้งสาธารณรัฐโปรตุเกสที่หนึ่ง รัฐประหารถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 19 กันยายน ขณะที่รักษาการนายกรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในนครนิวยอร์ก พลเอกสนธิยังได้กล่าวอีกว่า ครั้งหนึ่งที่ทักษิณกำลังรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาได้ถามพลเอกสนธิว่า "คุณจะปฏิวัติผมหรือเปล่า" ซึ่งพลเอกสนธิก็ตอบว่า "ใช่"[35] ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับแถลงการณ์ต่อสาธารณะซึ่งเขาปฏิเสธว่ากองทัพจะก่อรัฐประหาร[36]

เดอะ เนชั่น ยังได้มีข้อสังเกตถึงการกะเวลารัฐประหาร โดยมีหลายกรณีที่เดียวข้องกับเลข 9 ซึ่งเป็นเลขมงคลอย่างยิ่งตามความเชื่อ รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เดือน 9 พุทธศักราช 2549 หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก สนธิ บุญยรัตกลินได้ประกาศต่อสาธารณชนหลังรัฐประหารเมื่อเวลา 9.39 น.[37]

ปฏิกิริยาของรัฐบาลและคณะรัฐประหาร

แก้

ฝ่ายรัฐบาล

แก้
 
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เวลา 22.15 น. วันที่ 19 กันยายน ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี แต่เมื่ออ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับ ก็มีกำลังทหารพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพโดยทันที[38]

จากนั้นทักษิณปรับกำหนดการที่จะขึ้นแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่แล้วก็ยกเลิกการขึ้นแถลง จากนั้นจึงขึ้นเครื่องบินเที่ยวพิเศษ เดินทางออกจากนครนิวยอร์กไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 20 กันยายน ตามเวลาในประเทศไทย

มีข่าวว่าอดีตรัฐมนตรีกำลังเดินทางไปสมทบกันที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อหารือในการตั้งคณะรัฐมนตรีพลัดถิ่นโดยจะขอให้สหประชาชาติรับรอง[39]

ในที่ประชุมแกนนำ คปค. เมื่อวันที่ 23 กันยายน กล่าวถึงการติดต่อจากทักษิณจากประเทศอังกฤษมายังคณะปฏิรูปการปกครองฯ ด้วยว่า ทักษิณได้ให้การยืนยันทางโทรศัพท์กับพลเอกสนธิ โดยระบุว่าพร้อมจะยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกรณี และแจ้งให้รัฐมนตรีและสมาชิกพรรคไทยรักไทยทุกคนรับทราบ พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทุกประการ และจะพักผ่อนกับครอบครัวในต่างประเทศจนกว่าจะมีการตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงจะเดินทางกลับประเทศไทย[40]

ฝ่ายคณะรัฐประหาร

แก้

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวชี้แจงต่อทูตานุทูต 43 ประเทศ ที่หอประชุมกิตติขจร ถึงรัฐประหารว่า การประกาศยึดอำนาจเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือจากประชาชนและสังคมเป็นอย่างดี โดยคาดว่าจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมารักษาการแทน และจัดตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่[41]

พลเอกสนธิ กล่าวว่า จะยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ พร้อมทั้งรักษาไว้ซึ่งสิทธิและจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความเสมอภาคโดยเคร่งครัด และจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ สำหรับชาวต่างประเทศ คณะทูตานุทูต กงสุล สถานเอกอัครราชทูต และองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครอง

จากนั้น พลเอกสนธิ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศซักถาม โดยยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ และใช้เวลาไม่เกิน 1 ปียกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในราวต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และกำลังอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ที่เหมาะสมจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งจะมาจากคนกลางที่รักประชาธิปไตย และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์[42]

สำหรับการดำเนินการกับอดีตนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตามที่ก่อนหน้านี้มีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีไว้ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเหมือนที่เกิดขึ้นในยุค รสช. และยังไม่มีแนวคิดยึดหุ้นชินคอร์ปคืนจากกลุ่มเทมาเส็ก และจะประกาศยกเลิกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทันทีเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ[43]

สำหรับผู้ที่มีข่าวว่าได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ได้แก่ อักขราทร จุฬารัตน, ศุภชัย พานิชภักดิ์, หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล, สุเมธ ตันติเวชกุล, พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, ชาญชัย ลิขิตจิตถะ, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, เกริกไกร จีระแพทย์, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร และ พลเอก บุญรอด สมทัศน์[42]

ทันทีหลังรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนบุคคลจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งในกองบัญชาการคณะปฏิรูปการปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงข้าราชการและทหารตำรวจระดับสูงที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทักษิณและมีการเรียกให้อดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณเข้ารายงานตัว (สำหรับรายชื่อบุคคลทั้งหมด ดูได้ที่ รายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งถอดถอนหรือควบคุมโดยคปค.)

ปฏิกิริยาของประชาชน

แก้

ในประเทศไทย

แก้

ฝ่ายสนับสนุน

แก้
 
ทหารได้รับดอกไม้จากผู้สนับสนุน
 
อาหารที่ประชาชนผู้สนับสนุนนำมาให้กับทหาร
  • ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาให้กำลังใจทหารที่จุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ โดยแสดงความชื่นชมเหล่าทหาร ด้วยการมอบดอกไม้ ส่งยิ้ม ถ่ายรูปด้วย กระทั่งมีการพ่นสีข้อความว่า "พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย" และ "กองทัพเพื่อประชาชน" บนตัวถังรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เป็นต้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในบริเวณถนนราชดำเนินให้สัมภาษณ์ว่าไม่ตื่นตะหนก และร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถัง (ซึ่งประดับด้วยดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้) เป็นที่ระลึก หรือมอบน้ำ อาหาร ให้แก่ทหารด้วย[44]
  • หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชมว่า "จากที่ดูภาพในซีเอ็นเอ็น เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"[45]
  • สวนดุสิตโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน 49 พบว่า 83.98% เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื่องจากเห็นว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง[46] ผลสำรวจแตกต่างจากโพลสำรวจการเลือกตั้งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 49%[47]
  • กลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจกระทบบ้างแต่ชั่วคราว และจะสยบความวุ่นวายของประเทศ[48]
  • นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจ เนื่องจากประเทศมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย จึงควรหยุดระบอบเผด็จการนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน้อยที่สุด การปฏิรูปฯ ครั้งนี้เป็นการดีที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[48]
  • สมภพ บุนนาค แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กล่าวเห็นชอบกับ คปค.ว่า "การยึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้ แม้จะขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบ เพราะเป็นการปลดล็อกปมปัญหาของชาติ เพื่อสะสางอุปสรรคสังคมการเมืองให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาเพื่อล้มระบอบทักษิณ ไม่สามารถผ่าทางตันได้ จำเป็นที่ทหารต้องเข้ามาจัดการหาทางออกให้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามต่อว่า ภายหลัง เข้ามาแก้ปัญหาของ คปค.ครั้งนี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เร็ว ตามที่หัวหน้าคณะฯได้ประกาศไว้หรือไม่" และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารของ คปค.ว่า "กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็จบ มีบริบทแวดล้อมหลายประการที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตย"[49]

ฝ่ายคัดค้าน

แก้

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ช่วงเที่ยงวัน ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทวีกางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า "กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก" พร้อมแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกของตนให้สื่อมวลชนด้วย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวร้อยตรีฉลาดขึ้นรถมิตซูบิชิที่มีรถบัสทหารติดตามระบุ ร.๑ พัน๑ รอ. ไปที่หน่วยบังคับบัญชา จากนั้น 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 7 นาย ได้ล็อกตัวทวีขึ้นรถตู้สีขาวและขับออกไปทันที ระหว่างขึ้นรถทวีมีอาการขัดขืน จากนั้นทหารบางส่วนได้เข้าเก็บป้ายประท้วงออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[50]

ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาประณามรัฐบาลเผด็จการทหารว่า "ฉีก" รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุด ปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย[51]

กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านรัฐประหาร[52]

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ชุมนุมและกล่าวแถลงการณ์ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 18.00 น. ซึ่งศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยและกล่าวว่าพวกเขาจะยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิในการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน โดยเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวขาดความชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง[53]

 
กลุ่มผู้ประท้วงที่สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังรัฐประหาร มีการประท้วงครั้งแรกหน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเย็นวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20-100 คนหรือมากกว่า[54][55][56][57][58][59][60][61] ผู้ประท้วงแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และเชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านรัฐประหารใส่เสื้อดำประท้วง[62]) ป้ายประท้วงมีข้อความ "No to Thaksin. No to coup" ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร") และ "Don't call it reform - it's a coup" ("อย่าเรียกปฏิรูป มันคือรัฐประหาร") มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำกับว่า "On vacation again" ("พักร้อนอีกครั้ง") รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมากที่ยังเป็นห่วงหรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา" ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม แต่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า "ตำรวจได้บันทึกวิดีโอการประท้วงไว้เป็นหลักฐาน และจะตรวจสอบเทปเพื่อหาผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึก คือ มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน" ไม่มีใครรู้ว่าต่อมาตำรวจหรือทหารได้จับกุมเขาเหล่านั้นหรือไม่ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้[62] หนังสือพิมพ์ ดิอินดีเพนเดนต์ รายงานว่าตำรวจติดอาวุธหลายนายฝ่าฝูงชนและผู้ชุมนุมเข้าจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่งซึ่งนับเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยมีตำรวจนายหนึ่งใช้ปืนกระแทกที่บริเวณท้องของเธอและจับกุม ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนต่างพยายามฉุดเธอกลับ[63]

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 17.00 น. กลุ่มประท้วงกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยผู้ประท้วงจำนวน 50-60 คน ชุมนุมที่ลานปรีดี หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออภิปรายคัดค้านรัฐประหารและจัดเสวนาหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?" ซึ่งจัดโดยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อ"กลุ่มโดมแดง", เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ, นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบุว่าเป็น "อารยะขัดขืน" ภาคปฏิบัติ อุเชนทร์ เชียงแสน ผู้ก่อตั้งกลุ่มโดมแดงกล่าวว่า "ถ้าพวกเขา [ทหาร] จับกุมหรือทำร้ายเรา เราจะไม่สู้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ คปค.กล่าวอ้างเป็นเรื่องโกหก"[64] การชุมนุมครั้งนี้กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีการขึงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "Council of Demented and Ridiculous Military" การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากวี่แววของเจ้าหน้าที่[65]

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 มีผู้กล่าวโทษพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินกับพวกในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดีเอสไอรับเรื่องไว้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามเลขรับ ที่ 03614 พอทางกองทัพบกและรัฐบาลได้ทราบ จึงได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยยึดถือตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ได้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดทุกกรณีของคณะปฏิรูปฯ แต่ดีเอสไอได้แย้งว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษต่างจากกฎหมายอย่างอื่น ที่กฎหมายแม่สามารถหักล้างกฎหมายลูกได้ กล่าวคือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาทางกฎหมายกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือแนวนโยบายและปฏิบัติระหว่างสำนักสอบสวนกลางและหน่วยงานสอบสวนกลางของประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง นิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้[66]

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 16.00 น. "เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ" จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" ที่ลานหน้าตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมอภิปราย[67] วันเดียวกัน "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 น.[68]

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 12:46 น. นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นสีคำว่า "พลีชีพ" ที่กระโปรงท้าย ส่วนบริเวณด้านข้างประตูรถทั้งสองข้างพ่นเป็นตัวหนังสือจับใจความว่า "พวกทำลายประเทศ" ​พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า​จนรถพังยับเยิน และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และตาซ้ายบวมเป่ง หลังจากนั้นแท๊กซี่จำนวนหลายร้อยคันรีบรุดไปเยี่ยมแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยม ไม่มีการรายงานข่าวนี้[69][41]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เวลา 17:00-18:00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัด ‘อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร’ ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก (ตรงข้ามเวทีมวยราชดำเนิน) มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค.[41]

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นักศึกษาและญาติร่วมพิธีเวียนประทีปจากลานโพธิ์ไปรอบสนามฟุตบอลในงาน "30 ปี 6 ตุลา" เพื่อรำลึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวลาประมาณ 14.00 น. ที่หอประชุมเล็ก มธ. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ" โดยมี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ. (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ร่วมเสวนา โดยมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับ 19 กันยายน 2549 ว่าเมื่อมีการนำมาพูดคุยกันก็เกิดการทะเลาะกันตลอด แต่ไม่มีการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา[70]

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มีการรวมตัวกันอีกในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เริ่ม 16:30 น. ใช้สัญลักษณ์คือชุดดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย โดยเวลา 19.50 น.เคลื่อนขบวนมาจากบริเวณสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเริ่มขบวนหัวแถวอยู่ประตูใหญ่ท้ายแถวอยู่หน้าตึกคณะวารสารฯ เคลื่อนมาหยุดยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อประท้วงรัฐประหาร ระหว่างทางร้องตะโกนว่า "คปค.ออกไป" จากนั้นตั้งแผ่นป้าย "ขอไว้อาลัยแด่ รธน.ฉบับประชาชน" และป้ายผ้าไม่มี ปชต.ในระบบเผด็จการ และจุดเทียนไว้อาลัย[71]

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน กว่า 200 คน เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องต่าง ๆ เช่น "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" "Right Base not Charity Base" โดยมีทหารราว 20 นายเฝ้าจับตา ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบและกระจายกำลังจุดละ 2 นายในมุมตึกต่าง ๆ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ทหารนายหนึ่งขอเชิญตัวผู้แจกใบปลิว โดยระบุว่าข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม ทหารนายนั้นจึงกล่าวว่า "ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง"[72]

 
จดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์

เมื่อกลางดึกของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ได้ผูกคอเสียชีวิตบนสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมด้วยจดหมายประท้วงรัฐบาลโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เหตุที่ผมกระทำการพลีชีพครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเอง เพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรก ก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. (พันเอก อัคร ทิพย์โรจน์) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า 'ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้'"[73]

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ประชาชนจำนวน 200 คน ได้มาชุมนุมกันเพื่อขับไล่พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติโดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และจัดการเลือกตั้งภายใน 2 เดือน ชนาพัทธ์ ณ นครและวรัญชัย โชคชนะ ผู้นำกลุ่มพิราบขาว กล่าวโจมตีคณะรัฐประหาร และเชิดชูวีรกรรมของนวมทอง ไพรวัลย์ ช่วงค่ำแกนนำกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯ ตามมาสมทบการชุมนุม[74]

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เวลา 19.00 น. กลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐประหารซึ่งนำโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ได้เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมทบด้วยกลุ่มพิราบขาว 2006 รวมทั้งมวลชนบางส่วนที่ท้องสนามหลวงร่วมกันเดินไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงหน้ากองทัพบก เพื่อประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยทันที การชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 700 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มมวลชน อาทิเช่นกลุ่มกรรมกรปฏิรูป, ตัวแทนนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มพิราบขาว 2006 และประชาชนผู้สนใจ การชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น.[75]

ความคิดเห็น

แก้

วันที่ 24 กันยายน สำนักวิจัยเอแบค โพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน[76] พบว่า

  • ร้อยละ 92.1 รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้
  • ร้อยละ 89.1 รู้สึกปลอดภัย
  • ร้อยละ 87 รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
  • ร้อยละ 82.6 รู้สึกอบอุ่น
  • ร้อยละ 24.9 รู้สึกกังวล
  • ร้อยละ 20.5 รู้สึกไม่สะดวก
  • ร้อยละ 19.7 รู้สึกตกใจ
  • ร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่ชอบ
  • ร้อยละ 6.5 รู้สึกกลัว

ในต่างประเทศ

แก้
  • พันธมิตรฯ ใน ลอสแอนเจลิส ชุมนุมพร้อมออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปการปกครองฯ ปฏิรูปทั้งการเมือง การศึกษาและสังคม หน้าสถานกงสุลใหญ่[77]
  • พันธมิตรฯ ในนครชิคาโก ออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปฯ เมื่อที่ 19 กันยายน (ตามเวลานครชิคาโก) ซึ่งเดิมได้นัดรวมตัวกันประท้วงขับไล่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับพันธมิตรฯในไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นการชุมนุมแสดงความยินดี หลังจากทราบข่าวรัฐประหาร[77]
  • ในนครนิวยอร์ก มีการรวมตัวสนับสนุนคณะปฏิรูปฯ หน้าสหประชาชาติโดยมีการถือป้ายล้อเลียนพันตำรวจโททักษิณ[78]
  • กลุ่มนักศึกษาไทยระดับปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กลุ่ม Oxford Initiative (OI) ได้ประชุมประจำเดือนกันที่ร้านรอยัลโอ๊คผับ และแถลงแสดงความเสียใจและคัดค้านรัฐประหาร[79]
  • สื่อมวลชนในประเทศมาเลเซียออกข่าวว่า "หากไม่มีความจำเป็นขอให้ประชาชนงดเดินทางข้ามแดนไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปฏิรูปการปกครอง และมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะถูกจับกุมดำเนินคดีได้ หากทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์" แต่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรง และไม่ได้เป็นไปตามสื่อต่างประเทศประโคมข่าวแต่อย่างใด[80]
  • ในประเทศเกาหลีใต้ มีการรวมตัวต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตไทยในกรุงโซลเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549[81]

ในโลกอินเทอร์เน็ต

แก้
  • เกิดปรากฏการณ์จำนวนสมาชิกออนไลน์อยู่มากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการตั้ง/ตอบกระทู้รายงานสถานการณ์รัฐประหาร และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้ามาเขียนต่อท้ายยาวไปเป็นสิบหน้า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน[82]
  • มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเอง เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนไทย ระบุว่าได้มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก หน้าสถานกงสุลไทย ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังไม่ปรากฏภาพถ่าย รายชื่อกลุ่มบุคคล หรือหลักฐานอ้างอิงอื่น[83]
  • มีการรวบรวมรายชื่อในจดหมายเปิดผนึกของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เพื่อขอร้องให้ คปค. ไม่จับและไม่ทำร้ายผู้ประท้วงการกระทำของ คปค. ผ่านเว็บไซต์ petitiononline.com[84]

กลุ่มสิทธิมนุษยชน

แก้
  • ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองฯครั้งนี้ เข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ศ.เสน่ห์ มีความเห็นว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"[85] คำให้สัมภาษณ์ของเสน่ห์ถูกวิจารณ์จากสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ผู้ก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ว่า "หน้าที่ของเสน่ห์คือเป็นปากเสียงสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำกล่าวของเขากลับตรงกันข้าม" สุวิทย์ได้เรียกร้องให้เสน่ห์ลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[61]
  • ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กร Human Right Watch และ นักสิทธิมนุษยชนหลายคน ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคณะปฏิวัติ[86]
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องว่าเมื่อใดที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็อยากให้ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย[87]
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้กล่าวถึงรัฐประหารว่า "เรามีความวิตกกังวลกับการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอย่างมาก การใช้กำลังทหารครั้งนี้เป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ที่ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาในประเทศไทย ก็กำลังเติบโตหยั่งรากลึก และศาลกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้เป็นการละเมิดกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันได้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศมาโดยตลอด" คณะกรรมการได้เรียกร้องให้ คปค.ประกาศสละอำนาจในทันที และให้มีรัฐบาลรักษาการพลเรือนมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเรียกร้องให้ที่ประชุมสามัญสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกำลังมีการประชุมกันอยู่ ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจครั้งนี้[88]
  • 24 กันยายน 2549 กลุ่มนักวิชาการสิทธิมนุษยชนจำนวน 23 คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านรัฐประหาร และทวงคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ภายใต้หัวข้อ "แถลงการณ์ ทวงคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน"[89]

ปฏิกิริยาของนานาชาติ

แก้

นานาชาติได้มีการแถลงข่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในหลายด้าน จากทางรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของแต่ละแห่ง รวมถึงนิตยสารได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เป็นอย่างสูง โดยส่วนรวมจะวิตกกังวลกับเหตุการณ์รัฐประหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น รวมถึงหลายประเทศให้ความเห็นว่า หวังอยากเห็นเหตุการณ์ปฏิวัติผ่านไปโดยเร็ว

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อรัฐประหารในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปในด้านลบ รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวว่า "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้สำหรับ รัฐประหารในไทยหรือที่ใดก็ตาม ทางสหรัฐฯมีความผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง"[90] และกล่าวว่ารัฐบาลต้องรีบจัดการเลือกตั้งให้เร็วกว่า 1 ปีตามที่ คปค. ได้กำหนด[91] รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900 ล้านบาท) และกล่าวว่ากำลังกำหนดมาตรการลงโทษเพิ่มเติม[92]

โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า ไม่สนับสนุนให้เกิดรัฐประหาร และอยากให้กลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วที่สุด เขากล่าวว่า "ในสหภาพแอฟริกา เราจะไม่สนับสนุนผู้ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยกระบอกปืน"[93] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐประหารเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชน และเร่งเร้าให้ทหาร"เคารพต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาใหม่"[94]

การลิดรอนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก

แก้

การควบคุมสื่อ

แก้

หัวหน้าคณะปฏิรูป ฯ ตาม คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549[95] ได้สั่งให้กระทรวงไอซีที "ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับฟังข่าวสาร และการเสนอความคิดเห็น ได้มีการควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อโทรทัศน์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

การควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต

แก้
  • กรณีกระทรวงไอซีทีออกคำสั่งให้เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบทความทางวิชาการหลายสาขา ทั้ง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ รวมทั้งมีกระดานข่าวสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ปิดลง ตั้งแต่เวลา 20.00น. วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า[96] แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นายสมเกียรติ ตั้งนโม เว็บมาสเตอร์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกล่าวว่าจากการหาข่าวในทางลับนั้น เรื่องการปิดเว็บไซต์ไม่เกี่ยวกับ คปค. แต่อย่างใด การดำเนินการครั้งนี้เป็นการจัดการนอกคำสั่งของคนในกระทรวงไอซีที ซึ่งนายสมเกียรติก็ทราบว่าเป็นลูกน้องใคร "เพื่อเสี้ยมให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปชนกับ คปค." ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่ตกเป็นเหยื่อของแผนการดังกล่าว[97] จนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ตัวแทนกระทรวงไอซีที ได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ออกคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์จริงตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 - เวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่หลังจากนั้นได้ยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์เนื่องจากสถานการณ์ยึดอำนาจได้คลี่คลาย แต่ไม่ทราบว่าการยกเลิกการบล็อกนั้นได้คลายการล็อก IP ทั้ง 30 เว็บไซต์ของบริษัทไทยอิสดอตคอมครบถ้วนหรือไม่ เมื่อศาลรับทราบข้อเท็จจริงจากกระทรวงไอซีทีแล้ว จึงออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงไอซีทีคลายบล็อกของเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนแล้ว[98]

การควบคุมรายการโทรทัศน์

แก้
  • เย็นวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 สถานีโทรทัศน์ไทยทุกช่องได้ยุติรายการปกติและ เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี และวิดีโอเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงแทน
  • วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการประชุมสั้น ๆ ของพลเอกสนธิ โทรทัศน์ไทยทุกช่องได้ถูกควบคุมโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 คปค. ได้เรียกประชุมผู้บริหารสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ที่กองบัญชาการทหารบก และสั่งให้หยุดเผยแพร่ข้อคิดเห็นของสาธารณชน รวมถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านบริการส่งข้อความที่ด้านล่างของจอโทรทัศน์ด้วย คปค. ไม่ได้กล่าวว่าการห้ามนี้มีผลถึงหนังสือพิมพ์และเว็บบอร์ดบนอินเทอร์เน็ต[99]
  • ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร เช่น การประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่หน้าสยามสแควร์[62]
  • เคเบิลทีวีช่อง CNN, BBC, CNBC, NHK และช่องข่าวต่างประเทศอีกหลายช่องถูกเซ็นเซอร์ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ถูกตัดออก[100]
  • วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 หนังสือพิมพ์ The Guardian เปิดเผยว่า มีทหารติดอาวุธนั่งอยู่ในห้องข่าวและห้องควบคุมของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง[101]
  • วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และบอร์ดคณะกรรมการบริหารช่อง 9 อสมท แสดงความรับผิดชอบลาออกจากช่อง 9 อสมท เพราะออกอากาศประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่เกิดรัฐประหาร[102]
  • วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550 พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.ได้เชิญผู้บริหารสื่อซึ่งมีทั้งสื่อโทรทัศน์และวิทยุ จำนวนประมาณ 50 คน จากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และผู้บริหารสถาวิทยุของรัฐรวมทั้งสถานีวิทยุชุมชน มาร่วมหารือที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง วิทยุทุกสถานี ไม่แพร่ภาพกระจายเสียงข้อความหรือแถลงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำของพรรคไทยรักไทย[103]
  • สั่งบล็อกเว็บ CNN และรายการ CNN ทางโทรทัศน์ ที่มีการถ่ายทอดการสัมภาษณ์ของทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 15 มกราคม 2550 เพื่อไม่ให้ประชาชนไทยได้รับรู้ข่าวสารของทักษิณ สนองนโยบายล่าสุดของทหารที่ไม่ให้เสนอข่าวและความคิดเห็นของทักษิณ ชินวัตร[104]

การยุติการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุ

แก้

สถานีวิทยุชุมชนประมาณ 300 คลื่น ปิดตัวลง[105]

การห้ามชุมนุมทางการเมือง

แก้
  • ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุก 6 เดือน
  • เมื่อวันที่ 20 กันยายน ทหารได้จับกุม ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ นายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ขณะกำลังประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[50]
  • นักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่ง ถูกตำรวจจับกุมตัวไป ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการทำรัฐประหาร ในการประท้วงที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์[63] ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของเธอ[63]

การห้ามเดินทาง

แก้
  • ได้จำกัดสิทธิ์ในการเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในภาคเหนือและภาคอีสาน คืนวันที่ 25 กันยายน ครูจากจังหวัดเชียงรายประมาณ 100 คนได้นั่งรถเพื่อไปร่วมงานสังคมที่จังหวัดชลบุรี ขณะกำลังผ่านด่านตรวจ ทหารได้สั่งให้หยุดรถและไม่อนุญาตให้ไปต่อ เพราะผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงรายไม่อนุญาต[106]
  • ประชาชนที่จะเดินทางพร้อมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นจำนวนมากเข้ามาในกรุงเทพฯ จะต้องให้ที่ว่าการอำเภอทำหนังสือรับรอง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

แก้

ปฏิกิริยาของตลาดการเงิน

แก้

เงินบาทได้ลดค่าจาก 37.280 บาทต่อ ดอลลาร์อเมริกา USD เป็น 37.900 บาทต่อ ดอลลาร์อเมริกา เป็นการลดค่าในวันเดียวมากที่สุดในรอบ 3 ปี[107]กองทุน Thai Fund Inc. ในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ได้ ลดค่า 10.9% ภายใน 2 วัน ดัชนี Nikkei ตกลงไปถึง 177.78 จุด หรือประมาณ 1.12% ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นก่อนปิดตลาดที่ 15874.28 จุด ส่วนที่ New York ดัชนี Dow Jones ร่วงไปถึง 14.09 จุด ปิดตลาดที่ 11540.91 จุด[108]ในวันที่ 21 กันยายน 2549 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดที่ 692.57 ลดลง 9.99 จุด คิดเป็นดัชนีลดลง 1.42 %[109]

ระดับความน่าเชื่อถือ

แก้

แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ได้เตือนว่า อาจมีการลด เรตติงสินเชื่อ (debt rating) ไทย จาก BBB+ ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น[110]

มูดี้ส์ แถลงการณ์ว่าฐานะทางการเงินของไทยและความสามารถในการใช้จ่ายนอกประเทศ น่าจะเข้มแข็งพอเพียงต่อความสั่นคลอนทางการเมืองชั่วขณะที่เป็นผลมาจากการยึดอำนาจ มูดี้ส์จึงไม่เปลี่ยนแปลงอันดับเกี่ยวกับประเทศไทยแต่อย่างใด อันดับความน่าเชื่อถือเงินตราทั้งในและต่างประเทศของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่อันดับ BAA 1 อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของพันธบัตรเงินกู้ยังคงอยู่ที่ A 3 และอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของเงินตราต่างประเทศในรูปเงินฝากอยู่ที่ BAA 1[111]

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทหลังจากเกิดรัฐประหารด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงกลางดึก ค่าเงินบาทที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ปรับตัวอ่อนค่าลงถึง 60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อตลาดเงินเปิดในตอนเช้า (ตลาดสิงคโปร์) ผู้ส่งออกมีการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างปกติ และล่าสุดค่าเงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยที่ ธปท.ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางวันนี้ทางผู้บริหารของ ธปท. ได้ดำเนินประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น[45]

ปฏิกิริยาต่างชาติ โดยเน้นด้านเศรษฐกิจ[48] มีความเห็นดังนี้

  • "ไอเอ็มเอฟกำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์การก่อรัฐประหารในไทยอย่างใกล้ชิด แต่ยังเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในตลาดการเงิน" (นายบิล เมอร์เรย์ โฆษกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ)
  • นักวิเคราะห์ของฟิตช์ กล่าวว่า สถานะของสภาพคล่องของไทยนั้นจัดอยู่ในระดับแข็งแกร่ง และเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับสภาวะช็อคที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
  • นางซูซาน ชว็อป ผู้แทนการค้าสหรัฐ คาดว่า มีผลกระทบต่อการเจรจาเอฟทีเอกับไทย
  • นายซาโตรุ โอกาซาวาระ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การเงินของญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผลกระทบจากการทำรัฐประหารครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับค่าเงินบาทเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่น ๆ ของเอเชียอีกด้วย
  • นายมาร์แชล กิทท์เลอร์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การเงินของ ธนาคารดอยทช์แบงก์สาขาสิงคโปร์กล่าวว่า การทำรัฐประหารไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในระยะยาวเนื่องจากการทำรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นปัญหาความไม่สงบภายในประเทศไทยเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

พื้นที่กฎอัยการศึก

แก้

ในรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศทันที และได้ทยอยยกเลิกพื้นที่กฎอัยการศึกเป็นระยะ แต่ยังมีพื้นที่อยู่มากที่ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก

  • 19 กันยายน พ.ศ. 2549 - ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ
  • 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 - ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ชัยภูมิ นราธิวาส นครราชสีมา บุรีรีมย์ ปัตตานี มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ตราด ตาก น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ระนอง สตูล สระแก้ว อุตรดิตถ์ และ สงขลา[112]

อ้างอิง

แก้
  1. The Bangkok Post, 25 Sep 2006, Military set to publish interim constitution
  2. มติชน, โปรดเกล้าฯเลิกอัยการศึก 41จว.สู่ปกติ คมช.หมดอำนาจเบ็ดเสร็จ, 27 มกราคม 2550
  3. Bangkok Post, "United States: Thai coup 'unjustified'" เก็บถาวร 2007-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 21 September 2006
  4. อัตลักษณ์ ‘คนดี’ กับความล้าหลังของประชาธิปไตยไทย
  5. ในหลวงทรงตรัสกับสนธิ
  6. ประชาธิปัตย์กับ “ประเด็นสถาบัน” และ “คำรำพึงประจำพรรค”
  7. 7.0 7.1 "ทหารเจ็บ "สมัคร"ด่า"ป๋า"". mgronline.com. 2006-02-10.
  8. "องคมนตรี "พลากร" ไขก๊อกพ้นที่ปรึกษาฯสมาคมนิสิตเก่าสิงห์ดำ". mgronline.com. 2006-02-08.
  9. The Nation. POLITICAL BATTLE: Sondhi files complaint over PM's ouster claim. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  10. เปิดใจถูก “แม้ว” ด่าใส่หน้า-เซ็งขี้ปากชาวบ้านอยากบวช[ลิงก์เสีย]
  11. พงศ์เทพ ย้อน "เปรม" รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของทหาร แต่มีหน้าที่บัญชาการตามกฎหมาย
  12. “หมัก” ลามปาม ซัด “ป๋า” ยุ “ม้า-จ๊อกกี้” แตกแยก
  13. ปฏิบัติการหักปีกทักษิณ
  14. วีรบุรุษเปลี่ยนไป! “สพรั่ง” หันชม “ทักษิณ” ดีที่สุด ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2551
  15. ย้อนอดีตคำพูด “แม่ทัพสพรั่ง” ถึง “อดีตนายกฯ คนเลว”
  16. “ป๋าเปรม” ปลุกทหารพิทักษ์ชาติ-ราชบัลลังก์ อย่าหนุนผู้นำโกงกิน
  17. สนธิ” ซัด “เหลิม” ปากพล่อย! พาดพิง “ผ้าพันคอพระราชทานฯ
  18. ‘ปชป’ ชี้ ‘ทักษิณ’ แฉ 4 ทหารเกี่ยวข้องลอบสังหาร ‘มีเจตนาแฝง’ ปั่นกระแสหวังผลทางการเมือง
  19. ปชป.ชี้ปั่นกระแสลอบฆ่า - อัดจัดม็อบร้องขอชีวิต “ทักษิณ” ป้ายสี “ป๋า”
  20. อดีต เสธ.ทบ.จวก “แม้ว” บังอาจเทียบชั้น “ป๋า” ยันเหตุขับไล่-ลอบสังหารคนละเรื่อง
  21. “ป๋าเปรม” ย้ำชาติ-ในหลวง คือเจ้าของทหาร แนะอย่านับถือคนชั่วแม้มีเงิน
  22. เปรม ติณสูลานนท์ : จากนายกรัฐมนตรี สู่ "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
  23. วาทกรรม : กำมะลอ
  24. The Nation, The persistent myth of the 'good' coup เก็บถาวร 2006-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 October 2006
  25. กรุงเทพธุรกิจ, พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร"วางแผนปฏิรูปการปกครองมาแล้ว 7-8 เดือน", 24 September 2006
  26. Thanapol Eawsakul, "The Coup for Democracy with the King as Head of State", Fa Dieo Kan special issue, 2007
  27. Timeline: From contested elections to military coup, Financial Times, 2006-09-19
  28. Thai arrests over Thaksin 'plot', BBC News, 2006-09-07
  29. The Nation, Car-bomb suspects get bail เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30 September 2006
  30. "สมุดปกขาว คมช. เหตุยึดอำนาจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-04.
  31. The Nation, "What Thaksin had done wrong", 22 November 2006
  32. “สนธิ” เตะโด่ง ตท.10 เข้ากรุยกแผง ขณะที่ “พรชัย” หลุด 5 เสือ คาดวืดนั่ง ผบ.ทบ.แน่
  33. Colum Murphy, A Tug of War for Thailand's Soul, FEER, 6 September 2006
  34. Thai PM 'overthrown in army coup', BBC
  35. The Nation, Sonthi told Thaksin he would stage a coup, 27 October 2006
  36. International Herald Tribune, Thaksin refuses to resign despite protests in Bangkok, 6 March 2006
  37. The Nation, The auspicious number nine versus ET, 27 October 2006
  38. The Nation, Coup as it unfolds เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 September 2006
  39. ฟังจากปาก “ทักษิณ” นาทีถูกรัฐประหาร 19 ก.ย.49 AEC10NEWS สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564
  40. ไทยโพสต์, 'ทักษิณ' ขอกลับ 'ทรท.' รอวันร้าง เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24 กันยายน 2549
  41. 41.0 41.1 41.2 19 กันยา 2549 : กว่าทศวรรษของ “รัฐประหารเสียของ” บีบีซี สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2561
  42. 42.0 42.1 ฟัง "บิ๊กบัง" ย้อนอดีต อ่านปัจจุบัน มองอนาคต "ปรองดอง-สร้างชาติ" ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2563
  43. ไทยโพสต์, จ่อยึดทรัพย์ติดดาบ'จารุวรรณ'ผนึก'กล้านรงค์' เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 กันยายน 2549
  44. The Bangkok Post Sep. 24, Link, Two kinds of power: Armoured tanks can both destroy buildings and enchant children.
  45. 45.0 45.1 มติชน 20 ก.ย. 2549 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "matichon-20060920" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  46. สวนดุสิตโพล, ความคิดเห็นของประชาชนกรณี : ปฏิวัติ เก็บถาวร 2006-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  47. The Nation, Embattled TRT still holds edge over opposition: poll เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  48. 48.0 48.1 48.2 มติชน, 21 ก.ย. 2549 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "matichon-20060921" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  49. นสพ.เดลินิวส์, 24 ก.ย. 2549
  50. 50.0 50.1 ประชาไท, คุมตัว ‘ฉลาด’ ฐานชุมนุมเกิน 5 คน, 20 ก.ย. 2549
  51. ประชาไท, ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา เรียกร้องประชาชนแต่งดำไว้อาลัยประชาธิปไตย, 21 ก.ย. 2549
  52. A website in Thai detailing events of 20 September 2006
  53. สิ่งที่คณะรัฐประหาร...ควรอ่าน และ ควรสำเหนียก... ท็อปพันทิป สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2552
  54. Associated Press, Protesters Gather to Denounce Thai Coup, AP claims over 100 protesters.
  55. "Democracy", Link, (Thai language blog), Claims 30 protesters and over 200 observers.
  56. The Bangkok Post Link เก็บถาวร 2016-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Rally draws 20 anti-coup protesters, Claims 20 protesters.
  57. The Nation, Public stages its first protest, 22 September 2006, Claims nearly 100 protesters.
  58. The Nation, Ten academic protest against coup เก็บถาวร 2006-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 September 2006, Claims 10 protesters
  59. CNN's states more than 100 protesters 22 September 2006
  60. Mybangkokpost 's states more than 100 protesters เก็บถาวร 2007-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 22 September 2006
  61. 61.0 61.1 The Nation, Activists to hold anti-coup gathering เก็บถาวร 2006-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 22 September 2006
  62. 62.0 62.1 62.2 First successful anti-coup protest in Thailand, 23 September 2006
  63. 63.0 63.1 63.2 The Independent, Thai students defy protest ban to demand the return of democracy เก็บถาวร 2008-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 September 2006
  64. The Nation, New political rally called to test CDRM, 25 September 2006
  65. The Nation Second student protest against coup เก็บถาวร 2006-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  66. "TU Thaprajan". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-10-16.
  67. ประชาไท, นิสิต-นักศึกษาเตรียมจัดเสวนาเกิน 5 คนวันนี้ที่จุฬาฯ และ ม.เชียงใหม่
  68. ประชาไท, รายงานพิเศษ : ด้วยแรงแห่ง ‘ความกดดัน’ ตำรวจเกาะติดเสวนา ‘กลางแจ้ง’ เกิน5คนที่ มช.
  69. กลุ่ม24มิถุนาฯ รำลึก 6 ปี "ลุงนวมทอง” ประชาไท สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2555
  70. มติชน, ไร้เงานักการเมือง รำลึก 30 ปี 6 ตุลาคม ให้รางวัล"เจริญ", 7 ตค. 49
  71. มติชน, ปลุกวิญญาณ 14 ตุลาฯ ร้องปชช.ค้านอัยการศึก ระบุเป็นเผด็จการอ่อน ๆ, 15 ต.ค. 2549
  72. ประชาไท, TSF: “ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง” ความจริงบนการเคลื่อนไหวภายใต้อัยการศึก, 24 ตุลาคม พ.ศ. 2549
  73. รำลึก 14 ปี นวมทอง ไพรวัลย์ ชู 31 ต.ค. วันต้านรัฐประหารแห่งชาติ ข่าวสด สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2563
  74. The Nation, Small rally against CNS, call for election เก็บถาวร 2007-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 November 2006
  75. พลวัต รายงาน : เครือข่าย 19 กันยาฯ เคลื่อนขบวนเหยียบถ้ำเสือหน้ากองทัพบก
  76. มติชน, 25 กันยายน พ.ศ. 2549
  77. 77.0 77.1 พันธมิตรฯ สหรัฐฯ เฮลั่น! “แม้ว” พเนจร ยืนไม่ล้มเสวนา “คนรักชาติ” ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2549
  78. ข่าวคนชุมนุมที่นิวยอร์กจากซีเอ็นเอ็น
  79. "หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น 22 กย.49 Thai students at Oxford regret coup". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-23. สืบค้นเมื่อ 2006-09-22.
  80. นสพ.เดลินิวส์ 24 กย 49[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  81. "Photos of the protest in front of the Thai embassy in South Korea". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-14. สืบค้นเมื่อ 2006-09-30.
  82. หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 ชุมชนคนออนไลน์ในคืนปฏิวัติ
  83. เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญประชาชน บนฟรีเว็บไซต์ ของ Geocities-defendthaiconstition
  84. ไม่จับและไม่ทำร้ายผู้ประท้วงการกระทำของ คปค.
  85. สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร, ทดสอบท่าทีตนเองกรณี"ปฏิวัติ", คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12, มติชน
  86. Bangkok Post, Human rights groups weigh in against coup
  87. [มติชน,"อภิสิทธิ์" แนะคณะปฏิรูปฯ ยกเลิกจำกัดสิทธิเสรีภาพ, 21 กันยายน 2549
  88. Asian Human Rights Commission, THAILAND: MILITARY COUP - Restore civilian government immediately
  89. กรุงเทพธุรกิจ, กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวงคปค.คืนสิทธิเสรีภาพ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 กันยายน 2549
  90. Bangkok Post, "United States: Thai coup 'unjustified'" เก็บถาวร 2007-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 21 September 2006
  91. ChannelNewAsia.com, "US reviewing aid to Thailand due to coup" เก็บถาวร 2007-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 22 September 2006
  92. The Nation, US cuts off millions in military aid to Thailand เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 September 2006
  93. People's Daily Online (2006). UN chief discourages military coup in Thailand. Retrieved 20 September 2006.
  94. The Bangkok Post, UN says Thai coup violating human rights เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 September 2006
  95. คำสั่ง คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่ 5/2549 : ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
  96. ประชาไท, ห้ามเข้า ม.เที่ยงคืนแล้ว หลังท้าทายอำนาจฉีกร่างธรรมนูญ คปค., 30 กันยายน พ.ศ. 2549, เรียกดู 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  97. ข่าวมติชนรายวัน เจ้าของเว็บ"ม.เที่ยงคืน"ร้อง"กสม." ชี้"ไอซีที"ปิดเครือข่ายไม่เกี่ยวคปค.
  98. ประชาไท, ศาลปกครองสั่งไอซีทีคลายบล็อก เว็บ ม.เที่ยงคืน เอกชนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายซ้ำ, 21 ตุลาคม พ.ศ. 2549, เรียกดู 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  99. The Nation, ARC summons media bosses to toughen controls, 21 September 2006
  100. Associated Press, Thai coup leaders criticize media[ลิงก์เสีย], 29 September 2006
  101. Thai protesters defy martial law, The Guardian, 22 September 2006
  102. The Bangkok Post, Mcot board resigns 'for Thaksin broadcast' เก็บถาวร 2016-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 September 2006
  103. ผู้จัดการออนไลน์, คมช.เดือด! ขู่จัดการเฉียบขาด ทีวี-วิทยุ กระบอกเสียงให้ “แม้ว” เก็บถาวร 2012-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 มกราคม พ.ศ. 2550
  104. "Thai generals pull plug on Thaksin CNN interview". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-25. สืบค้นเมื่อ 2007-01-25.
  105. The Nation, Community radio stations shut down, 22 September 2006
  106. The Nation, Some 100 Chiang Rai teachers stopped by soldiers on their way to Chon Buri เก็บถาวร 2006-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 September 2006
  107. 19 กันยายน วันนี้ในอดีต การเมืองไทย กับ ตัวเลขจีดีพี
  108. ประชาไท, รายงานพิเศษ : เมื่อโลกจ้องมองไทยหลังรัฐประหาร, 21 กันยายน พ.ศ. 2549
  109. การทำรัฐประหาร...ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1902)
  110. Jinks and Malespine, Beth and Laurent, "Thailand Coup Leader Sondhi Says Government Corrupt (Update2)", Bloomberg.com, 20 September 2006.
  111. ผู้จัดการออนไลน์, "มูดี้ส์"ยืนยันเสถียรภาพทางการเงินของไทยหลังการยึดอำนาจ เก็บถาวร 2012-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 21 กันยายน 2549 20:36 น.
  112. กรมประชาสัมพันธ์, ค.ร.ม. เห็นชอบยกเลิกกฎอัยการศึก 41 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้