ใจ อึ๊งภากรณ์
รองศาสตราจารย์ ใจลส์ ใจ อึ๊งภากรณ์ (อังกฤษ: Giles Ji Ungpakorn; 25 ตุลาคม พ.ศ. 2496 — ) เป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลัทธิมากซ์สัญชาติไทย-อังกฤษ[1] และสนับสนุนองค์กรสังคมนิยมแรงงานแห่งประเทศไทย เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เพื่อหลี้ภัยการเมืองหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
ใจ อึ๊งภากรณ์ | |
---|---|
เกิด | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2496 |
ศิษย์เก่า | วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (ปร.ด.) |
อาชีพ | นักวิชาการ • นักเคลื่อนไหวทางการเมือง • นักเขียน • อาจารย์ |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน |
องค์การ | องค์กรสังคมนิยมแรงงาน |
ตัวแทน | จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ |
มีชื่อเสียงจาก | นักเคลื่อนไหวทางการเมือง |
ปัจจามิตร | พระมหากษัตริย์ไทย รัฐบาลไทย กองทัพไทย กอ.รมน. |
บิดามารดา | ป๋วย อึ๊งภากรณ์ |
ประวัติ
ใจเกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2496 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับนางมาร์กาเร็ต สมิธ ซึ่งมาจากลอนดอน[2] มีพี่ชายสองคน คือ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และไมตรี อึ๊งภากรณ์ เจ้าหน้าที่ข่าวสารองค์การการค้าโลก ประจำเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[3]
ใจจบปริญญาตรีชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ และปริญญาโทสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเดอรัม และปริญญาโทรัฐศาสตร์ (การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน (The School of Oriental and African Studies - SOAS) และทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นเวลา 12 ปี
ใจ อึ๊งภากรณ์ เดินทางกลับประเทศไทย และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2540 ร่วมกับกลุ่มเพื่อนฝูง ก่อตั้งคณะทำงานเพื่อชำระประวัติศาสตร์กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ขึ้นมาใหม่ และเขียนบทความวิจารณ์สังคมและการเมืองไทย ในหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่เสมอ
ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้มี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 49/2557 ให้เขาไปรายงานตัว ต่อมาศาลทหารได้ออกหมายจับเขาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
บทบาททางการเมือง
ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ใจประกาศไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยร่วมจัดชุมนุมประท้วงในกรุงเทพมหานคร[4] รวมทั้งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า นายกฯ ที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน จนถูกแจ้งความจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ [5]
ในปี พ.ศ. 2550 นายใจได้ตีพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ อะกูป์ฟอร์เดอะริช (อังกฤษ : A Coup for the rich) โดยมีเนื้อหาบางส่วนอ้างอิงหนังสือ The King Never Smiles และพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เขายังแย้งว่ารัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์อีกด้วย ทำให้หนังสือถูกงดจำหน่ายในประเทศไทย ดังที่บรรณาธิการได้ชี้แจง[6] และนายใจถูกสั่งฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552 เขาถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นายใจ ซึ่งเป็นบุคคลสองสัญชาติ (ไทย-อังกฤษ) ได้เดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อหลบหนีการดำเนินคดีในประเทศไทย[7] โดยอ้างว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรมในการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[8]
นายใจประกาศตนเองว่าเป็นพวกนิยมสาธารณรัฐ และฝ่ายตรงข้ามทางคำพูดต่อราชวงศ์ไทยและเผด็จการทหาร[9] ในขณะหลบหนีคดีจากประเทศไทยนั้น เขาได้เขียนแถลงการณ์ "แดงสยาม" ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ พระมหากษัตริย์ไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างโจ่งแจ้ง[10] เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ "อ่อนแอ" และ "ไร้ศีลธรรม" ผู้ซึ่งไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย และอ้างว่าพระองค์มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519[11][12][13] เขายังได้ติเตียนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง โดยตีตราว่ามันเป็นคำสั่งให้คนจน "รู้จักฐานะของตัวเอง" และกล่าวว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลก[14] เขายังประกาศตนเองว่าเป็นนักลัทธิมาร์กซ[15] เขายังสนับสนุนองค์กรสังคมนิยมแรงงานแห่งประเทศไทย (Socialist Worker Thailand) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสังคมนิยมสากล อันนับถือลัทธิทร็อตสกี
ในความเห็นซึ่งเขาได้เขียนให้กับเว็บไซต์ของ Asia Sentinel เขาได้ลดราคาของมุมมองในด้านการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่างได้ผล และวางตนเองอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ที่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติในประเทศไทย[16]
อ้างอิง
- ↑ Giles Ji Ungpakorn
- ↑ Oh Blue-Eyed Thais, Flaunt Your Western Genes! by Seth Mydans[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ใจ อึ๊งภากรณ์ ต้าน"ทักษิณ" ปฏิเสธ"ปฏิวัติ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2006-10-03.
- ↑ Huggler, Justin (2006-09-23). "Thai students defy protest ban to demand the return of democracy". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-23. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ "แจ้งจับ "ใจ อึ๊งภากรณ์" หมิ่นเบื้องสูง - กล่าวหา "สุรยุทธ์" นายกฯเถื่อน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-01. สืบค้นเมื่อ 2006-10-03.
- ↑ Subhatra Bhumiprabhas (2008-02-28). "Chula bans second coup book". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-23. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ British professor flees Thailand after charge of insulting king Duncan Campbell, The Guardian, 9 February 2009
- ↑ ‘ใจ อึ๊งภากรณ์’ ให้สัมภาษณ์สื่ออังกฤษ เชื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมคดีหมิ่นฯ ประชาไท
- ↑ Ungpakorn, Giles Ji (2009-09-18). "Opinion: Democracy Suffers in Thailand". Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Walker, Andrew; Farrelly, Nicholas (2009-02-20). "Special interview: Giles Ungpakorn, part 1". New Mandala. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Ungpakorn, Giles Ji (2009-09-03). "Soapbox: Da Torpedo's case pushes Thailand back to the Dark Ages". Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Ungpakorn, Giles Ji (2009-02-10). "Red Siam Manifesto". Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-09. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Giles part4 at Soas
- ↑ Ungpakorn, Giles Ji (2009-02-10). "Red Siam Manifesto". Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-09. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Wittayakorn Boonreung (2007-10-30). "Interview with Giles Ungpakorn: politics, coups, elections and the left". Prachatai. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
- ↑ Ungpakorn, Giles Ji (2009-09-03). "Soapbox: Da Torpedo's case pushes Thailand back to the Dark Ages". Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2010-02-06.
แหล่งข้อมูลอื่น
- แถลงการณ์แดงสยาม[ลิงก์เสีย] โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
- Index on Censorship. Interview: Giles Ji Ungpakorn
- Review of Ungpakorn's book Crimes Committed by the State: Transition in Crisis เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน