ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
บทความเชิงชีวประวัตินี้ มีแหล่งอ้างอิงอยู่แล้ว แต่ไม่น่าเชื่อถือ หรือต้องการเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความถูกต้อง โปรดช่วยเพิ่มแหล่งอ้างอิงที่ขาดไปและที่เชื่อถือได้ เนื้อหาอันเป็นประเด็นถกเถียง โดยเฉพาะที่เป็นเชิงหมิ่นประมาท ใส่ความ หรือว่าร้าย ซึ่งไม่มีแหล่งอ้างอิงโดยสิ้นเชิง หรือมี แต่เชื่อถือมิได้นั้น ให้นำออกทันที |
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (8 ตุลาคม 2490 – 11 มิถุนายน 2563) เป็นนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ | |
---|---|
ไกรศักดิ์ ใน พ.ศ. 2551 | |
สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา | |
ดำรงตำแหน่ง 22 มีนาคม พ.ศ. 2543 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2549 (6 ปี 0 วัน) | |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน | |
ดำรงตำแหน่ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (3 ปี 138 วัน) | |
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ | |
ดำรงตำแหน่ง 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 – สิงหาคม พ.ศ. 2554 | |
หัวหน้า | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 8 ตุลาคม พ.ศ. 2490 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563 (72 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2531–2563) |
คู่สมรส | อโนทัย ชุณหะวัณ |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ศิษย์เก่า |
|
อาชีพ |
|
ชื่อเล่น | โต้ง |
ประวัติ
แก้ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เกิดวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2490 มีชื่อเล่นว่า "โต้ง" เป็นบุตรชายคนเดียวของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ท่านผู้หญิง บุญเรือน ชุณหะวัณ เขาเคยมีบทบาทเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลของบิดา
ไกรศักดิ์ สมรสกับอโณทัย ชุณหะวัณ มีธิดา 2 คน คือ ธิษะณา ชุณหะวัณ (ชื่อเล่น : แก้วตา) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และสิริจรรยา ชุณหะวัณ (ชื่อเล่น : ขวัญตา)
การศึกษา
แก้นายไกรศักดิ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2517 และปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (การเมือง) จากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (School of Oriental and African Studies - SOAS) สหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2520
การทำงาน
แก้หลังจบการศึกษา นายไกรศักดิ์กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นนักวิชาการอิสระที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างเอียงซ้าย แต่เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2532 ก็ได้ลาออกจากราชการมาเป็นคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ หลังจากนั้น จึงหันมาทำงานพัฒนาการเมือง และสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2543
บทบาทการเมือง
แก้ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) พ.ศ. 2532 เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหา กรณีพิพาทในประเทศกัมพูชา ร่วมเจรจาสันติภาพในประเทศกัมพูชา, ลาว, เวียดนาม ผลักดันนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ร่วมเจรจาแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา (มาตรา 301) และร่วมเจรจาและผลักดันให้มีการก่อตั้งเอเปค (APEC)
ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ตลอดระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2543-2549) ติดตามตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลชวน และรัฐบาลทักษิณ ตลอดระยะเวลา 6 ปี
หลังรัฐประหาร 2549
แก้หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 แต่งตั้งนายไกรศักดิ์ เป็นกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ Office of Knowledge Management and Development (OKMD)
ไกรศักดิ์ มีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รื้อฟื้นคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ราย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศทำสงครามยาเสพติด ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งคลี่คลายคดีฆ่าตัดตอนซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2550 เป็นกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) เพื่อตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน 2,500 ราย โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวน ศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์ของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการแก้ไข และเยียวยาผู้เสียหายจากมาตรการดังกล่าว
ปี พ.ศ. 2550 นายไกรศักดิ์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับเพื่อน สว.อิสระทางภาคอีสานหลายคน เช่น พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ อดีต ส.ว.นครสวรรค์, นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีต ส.ว.นครราชสีมา เป็นต้น เพื่อลงรับสมัครเลือกตั้งในปลายเดือนธันวาคม 2550 ในฐานะขุนพลภาคอีสานของพรรคประชาธิปัตย์
ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ระบบสัดส่วน เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 1 และสามารถชนะการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เงา
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้นายไกรศักดิ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 72 ปี[1] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
บทความและข้อเขียนทางวิชาการ
แก้- พ.ศ. 2521 การพัฒนาของการด้อยพัฒนา ที่ระลึกในวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2523 การปฏิวัติเบ็ดเสร็จในกัมพูชา วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง
- พ.ศ. 2526 การพัฒนาอุตสาหกรรมทุนไทย ปัญหาทางทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนากับการวิเคราะห์ข้อมูล วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง
- พ.ศ. 2538 ทุน การเมือง และชนชั้นในไทย วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง
- พ.ศ. 2545 ไทยในสถานการณ์โลก วารสารราชบัณฑิตยสถาน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ธันวาคม 2545 ร่วมกับ ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ผลงานภาษาอังกฤษ
แก้- Consequences of October 6th Coup in Thailand, in Roots of Conflicts in Thailand. Ed.Andrew Turten; Bertrand Russel Press. ผลกระทบจากการรัฐประหารในประเทศไทย 6 ตุลา 2519 ในจุดกำหนดของความขัดแย้ง) 2520
- Growth and Industrialization in Thailand, Journal of Contemporary Asia : 1986 (วิวัฒนาการทางอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตของทุนภายในประเทศ)
ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ
แก้- นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สามารถใช้ภาษาอังกฤษ , ฝรั่งเศส, สเปน ได้ดี
ประสบการณ์ทำงาน
แก้- พ.ศ. 2520 ถึง 2536 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิชา การเมืองการปกครองของสหภาพโซเวียต, รัฐศาสตร์เบื้องต้น, ประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศเอเชียอาคเนย์ , การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน, การเมืองการปกครองของประเทศเอเชียอาคเนย์ และการเมืองการปกครองของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นอาจารย์พิเศษปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2532 ถึง 2534 ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ด้านนโยบายการต่างประเทศ เป็นผู้ผลักดันนโยบายด้านต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย เช่น การเจรจาสันติภาพในประเทศกัมพูชา , นโยบาย “แปรสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า” ,ผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้งสองแห่ง เจรจาแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา (มาตรา301) ร่วมเจรจาและผลักดันให้มีการก่อตั้งเอเปก (APEC)
- พ.ศ. 2539 ถึง 2542 ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยนายพิจิตต รัตตกุล ด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม
- พ.ศ. 2543 ถึง 2549 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา และ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา
- พ.ศ. 2547 ถึง 2549 รองประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus หรือ AIPMC
- พ.ศ. 2552 ถึง 2553 ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus หรือ AIPMC
- พ.ศ. 2550 กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) , ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอศิลป์ กทม., กรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)
- พ.ศ. 2551 ถึง 2554 : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
- ปัจจุบัน ประธานมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, ประธานมูลนิธิเพื่อนป่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิฟรีแลนด์ เก็บถาวร 2011-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) , ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผลงานศิลปะ
แก้- พ.ศ. 2550 นิทรรศการภาพถ่าย "ฝันถึงท้องฟ้า"[2]
- พ.ศ. 2551 ภาพยนตร์สารคดี "พลเมืองจูหลิง" ร่วมกับ มานิต ศรีวานิชภูมิ และ อิ๋ง กาญจนวณิชย์
อัลบั้มพิเศษ
แก้- คาราวะ คาราวาน (2537 - กันยายน 2544)
คอนเสิร์ต
แก้- คอนเสิร์ต 60 ปี วีรชนคนกล้า (รับเชิญ) (29 เมษายน 2551)
- คอนเสิร์ตเพื่อช้าง (รับเชิญ) (24 กันยายน 2547)
- คอนเสิร์ต ให้พ่อและเพื่อน (รับเชิญ) (2 พฤศจิกายน 2545)
- คอนเสิร์ต 25 ปี คาราวาน (รับเชิญ) (25 เมษายน 2542)
ผลงานกำกับ
แก้- พลเมืองจูหลิง (2553)
ผลงานภาพยนตร์
แก้- ดอกไม้ในทางปืน (2542) รับบท จง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[3]
- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[4]
- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายหน้า)[5]
ครอบครัว
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
แก้- ↑ เศร้า 'ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ' เสียชีวิตแล้ว
- ↑ "ฝันถึงท้องฟ้า" เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๕๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ ของ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เก็บถาวร 2009-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ เก็บถาวร 2019-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ThaisWatch.com
- เว็บไซต์นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เฉพาะภาคอีสาน เก็บถาวร 2008-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Walk through with senator Kraisak Choonhawan เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Video) เป็นแขกรับเชิญพิเศษของ AboutTV นำชมนิทรรศการศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 50 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
- ภาพนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จาก flickr
- คลิปการปราศรัย
- Kraisak Choonhavan ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส