วิกิพีเดีย:ชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่
หน้านี้เป็นนโยบายของวิกิพีเดียภาษาไทย เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งปกติผู้ใช้ทุกคนควรถือปฏิบัติ การปรับแก้นโยบายควรสะท้อนความเห็นพ้อง |
สรุปหน้านี้: เนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ที่เพิ่มในวิกิพีเดียจะต้องเขียนอย่างระมัดระวังอย่างยิ่งและต้องพิสูจน์ยืนยันได้ มีมุมมองที่เป็นกลาง และไม่ใช่งานค้นคว้าต้นฉบับ |
ผู้เขียนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อใส่ข้อสนเทศเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่[a] ลงไปในหน้าใด ๆ ของวิกิพีเดีย เนื้อหาเช่นนี้มีความละเอียดอ่อนสูง และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดซึ่งกฎหมายทั้งหลายที่ใช้บังคับได้ (เช่น กฎหมายไทย กฎหมายสหรัฐอันเป็นที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์วิกิพีเดีย) ตลอดจนนโยบายนี้ และนโยบายแกนกลางด้านเนื้อหาของวิกิพีเดียทั้งสามนโยบาย คือ
ผู้เขียนต้องทำให้บทความมีความถูกต้อง ต้องมั่นใจอย่างยิ่งว่า ได้ใช้แหล่งอ้างอิงที่มีคุณภาพสูง คำกล่าวอ้างและเนื้อหาที่ถูกคัดค้านหรือน่าจะถูกคัดค้านจะต้องมีการอ้างถึงแหล่งข้อมูลที่เผยแพร่แล้วและเชื่อถือได้คอยประกอบอยู่ในบรรทัด เนื้อหาซึ่งเป็นที่โต้เถียงเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ (หรือบุคคลที่เพิ่งเสียชีวิตในบางกรณี) และไม่มีแหล่งอ้างอิง หรือใช้แหล่งอ้างอิงด้อยคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเชิงลบ เชิงบวก เป็นกลาง หรือเพียงชวนสงสัยก็ตาม ควรเอาออกทันที ไม่รอให้มีการอภิปรายเสียก่อน[b] ผู้ใช้ที่ฝ่าฝืนนโยบายนี้อย่างสม่ำเสมอหรืออย่างร้ายแรงอาจถูกบล็อกไม่ให้เขียนอีก
ชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวประวัติฯ) ต้องเขียนโดยไม่แต่งเติม และคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของเจ้าตัว วิกิพีเดียเป็นสารานุกรม มิใช่สื่อสำหรับเต้าข่าว วิกิพีเดียไม่มีภารกิจในการสร้างกระแสหรือเป็นเครื่องมือหลักสำหรับกระจายข้อกล่าวอ้างที่กระตุ้นความบันเทิงเกี่ยวกับชีวิตใคร เมื่อใช้วิจารณญาณในการเขียน ต้องนึกเสมอถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายแก่เจ้าตัวซึ่งยังมีชีวิตอยู่ นโยบายนี้ใช้แก่บุคคลใดก็ตามที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นที่กล่าวถึงในชีวประวัติฯ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะใช่เจ้าตัวในบทความหรือไม่ก็ตาม ทั้งยังใช้แก่เนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในบทความอื่นและหน้าอื่น รวมถึงหน้าพูดคุย ภาระการพิสูจน์ย่อมตกอยู่ที่ผู้เขียนคนที่เพิ่มเนื้อหาหรือกู้เนื้อหาคืน
สำนวนการเขียน
อารมณ์
การเขียนบทความชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ควรเขียนอย่างมีความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และไม่อยู่ในท่าทีที่อคติ หลีกเลี่ยงการเขียนทั้งที่บรรยายน้อยกว่าความจริงและมากกว่าความเป็นจริง บทความควรให้เนื้อหาที่ไม่อยู่ในอารมณ์ที่เป็นอคติจากแหล่งอ้างอิงทุติยภูมิที่น่าเชื่อได้เผยแพร่ได้นำเสนอประเด็น และในบางกรณีที่ประเด็นที่เผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง การเขียนบทความชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ไม่ควรมีส่วนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ความสมดุล
ควรใส่การวิจารณ์และการชื่นชมเฉพาะที่สามารถอ้างได้ว่ามาจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่น่าเชื่อถือ ตราบเท่าที่ข้อมูลนั้นนำเสนออย่างรับผิดชอบ สำรวมและไม่มีส่วนได้เสีย อย่ามอบพื้นที่แก่มุมมองใดมุมมองหนึ่งโดยไม่ได้สัดส่วน คือ ไม่ควรมีมุมมองของฝ่ายข้างน้อยมาก ๆ อยู่เลย พึงใช้ความระมัดระวังกับโครงสร้างบทความเพื่อประกันว่าการนำเสนอโดยรวมและพาดหัวของส่วนเป็นกลาง ระวังการอ้างที่อาศัยเหตุผลวิบัติแบบโยงกัน (guilt by association) และเนื้อหาที่มีความลำเอียง ใส่ร้ายหรือส่งเสริมเกินไป
หลักการที่ว่าวิกิพีเดียเป็นงานที่ดำเนินไปต่อเนื่อง หรือก็คือทุก ๆ บทความในวิกิพีเดียนั้นอยู่ในระหว่างการเขียน การจะทำให้บทความนั้นไม่อยู่ในความสมดุลชั่วคราวเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะในที่สุดจะมีการปรับรูปร่างของบทความนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้กับบทความประวัติบุคคล เนื่องจากเนื้อหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของบุคคลที่เป็นบทความ ดังนั้นการเขียนชีวประวัตินั้นจะต้องเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ
หน้าโจมตี
หน้าที่เขียนขึ้นในท่าทีที่เป็นลบและขาดที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดูเหมือนถูกสร้างขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหัวเรื่องในด้านลบเป็นหลัก ควรลบออกทันทีหากไม่สามารถหารุ่นของหน้าที่สอดคล้องกับนโยบายได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ผู้ดูแลให้แขวนป้ายแจ้งลบ และผู้ใช้ที่เขียนหน้าดังกล่าวซ้ำ ๆ และมีเจตนาไม่ดี ย่อมถูกห้ามมิให้แก้ไขทันที
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
เนื้อหาที่ถูกโต้เถียงหรืออาจถูกโต้เถียง
นโยบายแหล่งที่มาของวิกิพีเดีย จากหน้าการพิสูจน์ยืนยันได้ กล่าวเบื้องต้นว่าข้อความที่ถูกโต้เถียงหรือมีแนวโน้มว่าจะถูกโต้เถียงจะต้องนำมาจากแหล่งข้อมูลตีพิมพ์ที่น่าเชื่อถือโดยใช้การอ้างอิงแทรกในเนื้อหา อ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างชัดเจนและแม่นยำ เนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวย่อมถูกลบออก นโยบายชีวประวัติบุคคลนี้เป็นการขยายนโยบายแหล่งที่มา โดยกำหนดว่าเนื้อหาใด ๆ เกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ที่มีการโต้เถียง และไม่ระบุแหล่งอ้างอิงหรือใช้แหล่งอ้างอิงด้อยคุณภาพ ควรถูกลบออกทันทีโดยไม่มีการอภิปรายเพิ่มเติม ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะกล่าวถึงในแง่ลบ แง่บวก เป็นกลาง หรือเพียงตั้งข้อสังเกต ทั้งบทความชีวประวัติหรือในบทความอื่น เนื้อหาที่มีลักษณะของการเขียนข่าวแทบลอยด์ไม่ควรนำมาเพิ่มในบทความ เมื่อเนื้อหาพิสูจน์ยืนยันได้และมีความสำคัญเพียงพอ เนื้อหาดังกล่าวก็ย่อมปรากฏในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าอยู่แล้ว
หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลปฐมภูมิในทางที่ผิด
ใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดในการใช้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ เป็นต้นว่า ห้ามใช้บันทึกคำให้การและบันทึกกระบวนพิจารณาของศาล หรือเอกสารราชการที่สนับสนุนข้อวินิจฉัยของบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ห้ามใช้เอกสารราชการที่ให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าง วันเกิด มูลค่าบ้าน ใบสั่ง ป้ายทะเบียน และที่อยู่
หากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่น่าเชื่อถือพาดพิงข้อมูลปฐมภูมิ ข้อมูลปฐมภูมิดังกล่าวอาจใช้เพื่อเป็นการเสริมความน่าเชื่อถือในข้อมูลทุติยภูมิได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามนโยบายชีวประวัตินี้ นโยบายงดงานค้นคว้าต้นฉบับ และนโยบายว่าด้วยการอ้างอิงอื่น ๆ
หลีกเลี่ยงแหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง
ห้ามใช้แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เอง ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงหนังสือ นิตยสารเผยแพร่ เว็บไซต์ บล็อก และทวีต เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เว้นแต่บุคคลที่ถูกกล่าวถึงจะเป็นผู้เขียนหรือเผยแพร่แหล่งข้อมูลนั้นเอง (ดูข้างล่าง) ในที่นี้ คำว่าบล็อกที่ตีพิมพ์เองหมายถึงบล็อกส่วนตัวและบล็อกเฉพาะกลุ่ม มิใช่สำนักข่าวที่มีคอลัมน์ออนไลน์และเรียกคอลัมน์ดังกล่าวว่าบล็อก โดยในกรณีบล็อกของสำนักข่าวนั้น อาจถือเป็นแหล่งอ้างอิงได้หากบล็อกดังกล่าวมีผู้เขียนเป็นอาชีพ และบล็อกอยู่ภายใต้การคัดกรองเนื้อหาโดยบรรณาธิการอย่างสมบูรณ์ โพสต์จากผู้อ่านจะยอมรับเป็นแหล่งข้อมูลไม่ได้
ใช้เนื้อหาที่ตีพิมพ์เอง
บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่อาจเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง อย่างเช่น ผ่านสำนักข่าวหรือเว็บไซต์ส่วนตัว เนื้อหาเหล่านี้อาจใช้ได้เฉพาะกรณีที่
- ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองเกินสมควร
- ไม่ได้อ้างถึงบุคคลภายนอก
- ไม่เกี่ยวข้องกับข้ออ้างเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคลหัวเรื่อง
- ไม่มีข้อสงสัยอย่างมีเหตุผลว่าอาจถูกปลอมขึ้น
- บทความไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูลนั้นโดยสำคัญ
หลีกเลี่ยงข่าวลือและอ้างอิงวนกลับ
หลีกเลี่ยงการกระพือข่าวลือ ถามตนเองว่าแหล่งข้อมูลเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เนื้อหานำเสนอเป็นความจริงหรือไม่ และแม้ว่าจะเป็นความจริง จะมีความเกี่ยวข้องกับบทความที่เป็นกลางเกี่ยวกับเจ้าตัวหรือไม่ ระมัดระวังการอาศัยแหล่งข้อมูลที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ และให้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไม่ปรากฏชื่อ นอกจากนี้ ระวังการอ้างอิงย้อนกลับที่แหล่งข้อมูลหยิบเนื้อหาในวิกิพีเดีย แล้วมีการถูกอ้างในบทความวิกิพีเดียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขต้นฉบับนั้น
นำเนื้อหาซึ่งมีการโต้เถียงที่ขาดแหล่งที่มาหรือแหล่งที่มาที่ไม่ดีพอออก
นำเนื้อหาของบุคคลที่มีชีวิตออกทันทีที่:
- ขาดแหล่งที่มาหรือแหล่งที่มาที่ไม่ดีพอ
- เนื้อหาเป็นการตีความแหล่งที่มาโดยการคาดเดาเอง
- อาศัยเนื้อหาที่ผู้เขียนวิกิพีเดียตีพิมพ์เอง เว้นแต่ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาดังกล่าว (ดูด้านบน) หรือ
- อาศัยการอ้างอิงที่มีลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์การพิสูจน์ยืนยันได้
พึงระลึกว่า ถึงแม้ว่ากฎย้อนสามครั้งไม่ใช้บังคับกับการนำเนื้อหาประเภทนี้ออก แต่สิ่งที่ถือเป็นข้อยกเว้นภายใต้นโยบายนี้ก็ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ ผู้เขียนที่ประสบกับสงครามแก้ไขในเนื้อหาที่น่าจะเป็นการหมิ่นประมาทเกี่ยวกับเนื้อหาของชีวประวัติบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ควรใช้หน้าพูดคุยของบทความหรือแจ้งผู้ดูแลระบบให้ดำเนินการ และไม่พึงใช้ข้อยกเว้นในกฎย้อนสามครั้งเอง
ผู้ดูแลอาจนำเนื้อหาที่ขัดต่อนโยบายชีวประวัติบุคคลที่มีชีวิตอยู่ออกได้โดยการล็อกหน้า หรือบล็อกผู้ฝ่าฝืนไม่ว่าผู้ฝ่าฝืนจะได้แก้ไขหน้าด้วยตนเองหรือไม่ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องประการใดก็ตาม ในกรณีที่เป็นที่สงสัย ควรขอให้ผู้ดูแลระบบที่ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวร่วมพิจารณาโดยการแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อให้ดำเนินการต่อไป
อ่านเพิ่ม แหล่งข้อมูลอื่น และดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่นเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าชีวประวัติหรือไม่ก็ตาม มีมาตรฐานที่สูงกว่าบทความหัวข้ออื่น ไม่ควรใส่แหล่งข้อมูลที่เป็นที่กังขาหรือที่เป็นที่เผยแพร่เองในหัวข้อ "อ่านเพิ่ม" หรือ "แหล่งข้อมูลอื่น" และเมื่อเพิ่มลิงก์ในบทความ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลิงก์เหล่านั้นไม่ฝ่าฝืนนโยบายนี้ เนื้อหาที่ตีพิมพ์เองหรือที่เผยแพร่จากบุคคลดังกล่าว อาจรวมไว้ในหัวข้อ "อ่านเพิ่ม" หรือ "แหล่งข้อมูลอื่น" ได้ แต่ต้องอาศัยความระมัดระวัง (ดูด้านบน) โดยทั่วไปอย่าใส่ลิงก์ที่เกิดข้อโต้แย้งต่อเจตนารมณ์ของนโยบายนี้หรือเป็นลิงก์ภายนอกที่ฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติ ถ้าแนวปฏิบัติขัดต่อนโยบายนี้หรือนโยบายอื่น ให้ปฏิบัติตามนโยบายเสมอ
ลิงก์ "ดูเพิ่ม" ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนดังกล่าวเองหรืออยู่ประกอบในเนื้อหา ต้องไม่มีลักษณะเป็นการอนุมานนัย แสดงความฝักใฝ่ หรือแสดงข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ และต้องเป็นไปตามนโยบายวิกิพีเดียว่าด้วยการงดงานค้นคว้าต้นฉบับด้วย
ข้อสันนิษฐานเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่กำลังกล่าวถึง
หลีกเลี่ยงการทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติม
เมื่อเขียนบทความเกี่ยวกับบุคคลที่โดดเด่นขึ้นมาจากเหตุการณ์เพียงไม่กี่เหตุการณ์ การใส่ทุกรายละเอียดอาจนำพามาซึ่งปัญหาได้แม้จะมีอ้างอิงที่ดีก็ตาม เมื่อมีข้อสงสัย ควรย้อนเนื้อหาบทความชีวประวัติกลับมาสู่รุ่นที่มีอ้างอิงสมบูรณ์ มีเนื้อหาเป็นกลาง และตรงประเด็น
ทั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับบุคคลคนหนึ่งซึ่งความสำคัญของเขาเกิดมาจากการตกเป็นเหยื่อการกระทำของบุคคลอื่นเป็นทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ผู้เขียนวิกิพีเดียต้องไม่กระทำการใด ๆ ในทางที่เป็นการส่งเสริมการทำให้บุคคลนั้นเป็นเหยื่อหรือยื้อการทำให้บุคคลนั้นเป็นเหยื่อนานขึ้น ไม่ว่ามีเจตนาหรือไม่ก็ตาม
บุคคลสาธารณะ
ในบางกรณีบุคคลสาธารณะ จะมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก และบทความชีวประวัติดังกล่าวควรจะเขียนตามที่แหล่งข้อมูลระบุ แม้ว่าข้อกล่าวหาหรือเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเนื้อความแง่ลบและบุคคลที่ถูกกล่าวถึงไม่ประสงค์ให้มีการกล่าวถึง แต่ถ้าข้อกล่าวหาหรือเหตุการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวและมีการนำเสนออย่างชัดเจน ข้อกล่าวหานั้นก็สามารถอยู่ในบทความได้ แต่หากไม่มีแหล่งข้อมูลจากบุคคลภายนอกที่เชื่อถือได้หลายแหล่งที่กล่าวถึงข้อกล่าวหาหรือเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่ควรใส่เหตุการณ์ดังกล่าวลงไป
- ตัวอย่าง "นาย ก. หย่ากับนาง ข. โดยมีข้อขัดแย้งกัน" ควรพิจารณาว่าการหย่าสำคัญกับบทความหรือไม่ และมีแหล่งอ้างอิงกับบุคคลภายนอกที่เชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าไม่สำคัญ ไม่ควรใส่ลงไป แต่ถ้าสำคัญ ไม่ควรใช้คำว่า "มีข้อขัดแย้ง" แล้วใส่เพียงข้อเท็จจริงว่า "นาย ก. หย่ากับนาง ข."
- ตัวอย่าง นักการเมืองรายหนึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว แต่ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว อย่างไรก็ดีหนังสือพิมพ์ชั้นนำหลายฉบับตีพิมพ์ข้อกล่าวหาดังกล่าว ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวในวงสาธารณะ เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวใส่ในบทความและอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ แต่ควรจะเขียนทำนองว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำ มิใช่เป็นผู้กระทำจริง ๆ และหากนักการเมืองดังกล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ก็ควรจะเขียนไว้ด้วย
ความเป็นส่วนตัวต่อข้อมูลส่วนตัวและการใช้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
เนื่องจากการสวมรอยบุคคลเป็นปัญหาร้ายแรงที่ยังดำเนินอยู่ บุคคลจึงมีแนวโน้มที่จะถือว่าชื่อเต็มและวันเกิดของตนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ในวิกิพีเดีย ชื่อเต็มและวันเกิดที่ปรากฏในบทความเป็นชื่อหรือวันเกิดที่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้เผยแพร่ หรือจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงที่สามารถอนุมานได้อย่างสมเหตุสมผลว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่คัดค้าน (ไม่ยอมให้เผยแพร่) ถ้าบุคคลดังกล่าวเห็นว่าการใส่วันเดือนปีเกิดไว้ในบทความเป็นการไม่เหมาะสม หรือบุคคลดังกล่าวมิได้มีความโดดเด่นมากนัก ควรยกประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าวและใส่เฉพาะปีเกิดแทน ทำนองเดียวกัน บทความของบุคคลดังกล่าวไม่ควรมีที่อยู่ไปรษณีย์ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หรือข้อมูลติดต่อใด ๆ ของบุคคลดังกล่าว แต่เว็บไซต์ที่บุคคลดังกล่าวดูแลอยู่นั้นสามารถใส่ได้ ดูเพิ่มข้างบนสำหรับการใช้แหล่งข้อมูลปฐมภูมิในทางที่ผิดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในบทความ
บุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จัก
มีหลายบทความในวิกิพีเดียที่มีเนื้อหาบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จัก แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะพอโดดเด่นพอที่จะมีบทความก็ตาม ในกรณีดังกล่าวนี้ โปรดใช้ความระมัดระวังและใส่ข้อความเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความโดดเด่นของบุคคลดังกล่าว โดยเน้นแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่มีคุณภาพสูง เนื้อหาที่เผยแพร่โดยผู้เผยแพร่เองอาจใช้ได้ในบางกรณี แต่ต้องอาศัยความระมัดระวัง (ดูข้างบน) เนื้อหาที่อาจส่งผลต่อชื่อเสียงของบุคคลควรต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ ในหลายเขตอำนาจตามกฎหมาย การแผยแพร่เนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาทซ้ำอาจเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีได้ และในบางกรณีบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะอาจได้รับความคุ้มครองพิเศษอีก
บุคคลที่โดดเด่นจากเหตุการณ์เดียว
วิกิพีเดียไม่ใช่การรายงานข่าวหรือแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ขาดการพิจารณา การมีชื่ออยู่ในข่าวไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะควรเป็นบทความในวิกิพีเดีย บทความชีวประวัติที่เข้าเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสามข้อต่อไปนี้เป็นบทความที่ควรหลีกเลี่ยงการสร้าง
- หากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือกล่าวถึงบุคคลดังกล่าวโดยเหตุการณ์เดียว
- หากบุคคลดังกล่าวมีลักษณะและน่าจะยังมีลักษณะเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป เนื่องจากชีวประวัติในกรณีดังกล่าวอาจให้น้ำหนักกับบุคคลเกินไปอย่างไม่สมควรและเป็นการขัดต่อนโยบายว่าด้วยมุมมองที่เป็นกลาง ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวมีหน้าเหตุการณ์ ควรจะรวมข้อมูลดังกล่าวและทำหน้าเปลี่ยนทางมาที่หน้าเหตุการณ์แทน
- หากเหตุการณ์ไม่มีความโดดเด่น หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความโดดเด่นหรือไม่มีรายละเอียดที่เพียงพอ เช่น อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไม่มีบทความแยกต่างหากแม้ว่าเหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 จะมีความสำคัญ เนื่องจากอรชรไม่มีความโดดเด่นเพียงพอต่อการมีบทความเป็นของตนเอง
ความสำคัญของเหตุการณ์หรือของบุคคลนั้นพิจารณาได้จากความสม่ำเสมอในการรายงานข่าวเรื่องดังกล่าวในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เขียนต้องเข้าใจความแตกต่างชัดเจนระหว่างนโยบายเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อจากเหตุการณ์เดียวกับนโยบายนี้ เพราะนโยบายนี้ใช้กับบุคคลที่มีชีวิตอยู่และบุคคลที่มีลักษณะเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
นอกจากนี้ นโยบายว่าด้วยความโดดเด่นของบทความเฉพาะเรื่องเช่น วิกิพีเดีย:ความโดดเด่นของบทความ (ดนตรี) อาจกำหนดเกณฑ์เฉพาะที่เป็นการสนับสนุนความโดดเด่นของบุคคลที่มีชื่อจากเหตุการณ์เดียวต่างหากจากนโยบายนี้
ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด
บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ต้องอาศัยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำสั่งตัดสิน สำหรับบุคคลที่แทบไม่เป็นที่รู้จัก ผู้เขียนต้องระมัดระวังไม่ใส่ข้อมูลในบทความที่ชี้ว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดหรือที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง[1] หากการดำเนินกระบวนพิจารณาต่างครั้งกันก่อให้เกิดคำตัดสินที่ขัดแย้งแต่ไม่มีผลเป็นการกลับคำตัดสินระหว่างกันและกัน[2] ให้ใส่คำอธิบายลงไปด้วย
ความเป็นส่วนตัวในชื่อ
ควรใช้ความระมัดระวังในการระบุตัวบุคคลที่มีชื่อจากเหตุการณ์เดียว ถ้าชื่อของบุคคลไม่เป็นที่แพร่หลายหรือเป็นที่ปกปิดไว้โดยเจตนาเช่น ในทางกระบวนการทางศาลหรือทางวิชาชีพ ไม่ควรใส่ชื่อดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการไม่ใส่ชื่อไม่ทำให้เนื้อหาขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ในการพิจารณาว่าจะใส่ชื่อหรือไม่ การเผยแพร่ในแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่ไม่ใช่สื่อมวลชน เช่น บทความวิชาการหรืองานของผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับ ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าการมีชื่ออยู่ในสื่อมวลชน พิจารณาว่าการใส่ชื่อของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับบทความก่อให้เกิดความสำคัญหรือไม่
ข้อสันนิษฐานเพื่อประโยชน์ความเป็นส่วนตัวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีครอบครัวของหัวเรื่องผู้ถูกกล่าวถึงและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย หรือก็คือบุคคลธรรมดา ชื่อบุคคลในลำดับถัดไปทันที (ไม่ว่าจะเป็นลำดับสายขึ้นหรือสายลง) บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องในอดีต หรือบุคคลในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอาจปรากฏในบทความได้หากมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่ก็โดยอาศัยการพิจารณาด้วยว่าการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาบทความหรือไม่ ทั้งนี้ ชื่อของบุคคลในครอบครัวที่ไม่ใช่บุคคลสำคัญต้องนำออกจากบทความทันทีหากไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ดี
การบังคับใช้นโยบาย
นโยบายว่าด้วยชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ใช้บังคับกับทุกส่วนในวิกิพีเดีย รวมถึงหน้าพูดคุย คำอธิบายอย่างย่อ หน้าผู้ใช้ ภาพ หมวดหมู่ รายชื่อ ชื่อบทความ และหน้าร่าง
หน้าที่ไม่ใช่บทความ
ข้อความที่เป็นที่โต้เถียงเกี่ยวกับชีวประวัติที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงหรืออ้างอิงไม่เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับการเขียนเนื้อหาดังกล่าวควรนำออก ลบทิ้ง หรือซ่อนเนื้อหาตามสมควร ในการขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ ระมัดระวังไม่โพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน้าพูดคุยมากเกินไปจนทำให้เนื้อหาดังกล่าวไม่สามารถหาข้อยุติได้ เป็นต้นว่า การเริ่มบทสนทนาดังต่อไปนี้น่าจะเหมาะสมกว่า
ลิงก์นี้มีข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อบุคคลที่กล่าวถึง จะสรุปความใส่ในบทความดีหรือไม่
หลักการเดียวกันนี้ใช้บังคับกับภาพที่เป็นปัญหาด้วย ข้ออ้างที่เป็นข้อโต้แย้งและเคยถูกอภิปรายมาก่อนแล้วสามารถนำออกได้โดยอ้างไปยังการอภิปรายครั้งก่อน
นโยายชีวประวัตินี้บังคับใช้กับหน้าผู้ใช้และหน้าคุยกับผู้ใช้ด้วย ยกเว้นในกรณีที่ผู้ใช้กล่าวอ้างตนเองในหน้าของตนเองตราบเท่าที่ตนเองไม่ได้สวมรอยเป็นบุคคลอื่น และเป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยอะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย ทั้งนี้ ผู้เยาว์ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลในหน้าผู้ใช้[3] แม้ว่านโยบายนี้ใช้บังคับกับข้อความที่กล่าวถึงชาววิกิพีเดียในหน้าโครงการด้วย แต่อาจมีการผ่อนปรนนโยบายเพื่อให้ชุมชนพิจารณาดำเนินการ อย่างไรก็ดี ผู้ดูแลระบบอาจลบข้อความดังกล่าวเสียก็ได้หากข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทหรือผิดต่อนโยบายห้ามว่าร้ายผู้อื่น
ชื่อผู้ใช้
ชื่อผู้ใช้ที่ก่อความรำคาญหรือไม่เหมาะสม (เช่น ชื่อที่มีข้อมูลโต้เถียงเกี่ยวกับชีวประวัติบุคคล หรือเป็นชื่อที่เป็นการยุยงโดยมิชอบต่อเชื้อชาติ ศาสนาหรือกลุ่มสังคม) ควรถูกระงับการใช้งานทันทีและลบออกจากบันทึกสาธารณะ หากต้องการยื่นขอลบออกจากบันทึก โปรดติดต่อผู้ซ่อนบันทึก (Oversight) เพื่อพิจารณาต่อไป
รูปภาพ
ไม่ควรใช้รูปภาพผิดจากบริบทเพื่อบ่งตัวบุคคลดังกล่าวเป็นเท็จหรือในทางเสื่อมเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นภาพในประวัติอาชญากรรม (ภาพหน้าตรง) หรือในกรณีที่ผู้ที่อยู่ในภาพมิได้ประสงค์จะให้มีภาพดังกล่าว ภาพของบุคคลที่มีชีวิตที่ชาววิกิพีเดียหรือบุคคลอื่นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้ให้สัญญาอนุญาตที่สอดคล้องกับนโยบายการใช้ภาพเท่านั้น
หมวดหมู่ รายชื่อและแม่แบบนำทาง
เนื่องจากชื่อหมวดหมู่ไม่มีคำชี้แจงหรือคำขยายความใด ๆ ดังนั้นการจัดหมวดหมู่ต้องมีข้อความในบทความและแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ประกอบ หมวดหมู่เกี่ยวกับศาสนา (รวมถึงการไม่มีศาสนา) หรือลักษณะทางเพศไม่ควรใส่ในบทความ เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะได้เปิดเผยว่าตนมีศาสนาหรือลักษณะทางเพศตามที่ปรากฏในหมวดหมู่ และศาสนาหรือลักษณะทางเพศดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตสาธารณะหรือความโดดเด่นตามที่ปรากฏในแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้
โปรดใช้ความระมัดระวังในการจัดหมวดหมู่ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวมีข้อเสื่อมเสีย เช่น หมวดหมู่อาชญากรและหมวดหมู่ย่อยควรใช้สำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของบุคคลดังกล่าว เหตุการณ์นั้นมีแหล่งอ้างอิงภายนอกที่น่าเชื่อถือ และบุคคลนั้นถูกตัดสินว่าผิดจริงโดยไม่มีการกลับคำพิพากษาในชั้นสูงขึ้นไป
หลักการต่อไปนี้ใช้บังคับทำนองเดียวกับรายชื่อ แม่แบบนำทางและข้อมูลในกล่องข้อมูลที่กล่าวถึงบุคคลที่มีชีวิตอยู่ที่มีเรื่องศาสนา ลักษณะทางเพศ หรือที่กล่าวในทำนองว่าบุคคลดังกล่าวมีประวัติเสื่อมเสีย แต่ไม่ใช้บังคับกับหมวดหมู่เพื่อการบริหารงานในโครงการวิกิ เพื่อการเก็บกวาด หรือเพื่อการแก้ไขอันเป็นปกติวิสัยของผู้เขียน
การบังคับใช้นโยบายกับบุคคลที่เสียชีวิต หรือบริษัทหรือกลุ่มบุคคลสิ้นสภาพ
บุคคลที่เพิ่งเสียชีวิตหรือที่คาดว่าน่าจะเสียชีวิต
นโยบายนี้ให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เกิดเมื่อ 115 ปีที่แล้วนับจากปีปัจจุบัน เว้นแต่แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะยืนยันการเสียชีวิตของบุคคลดังกล่าว เมื่อมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยันการเสียชีวิตของบุคคลดังกล่าว นโยบายนี้จะไม่ใช้บังคับ เว้นแต่บุคคลดังกล่าวเพิ่งเสียชีวิต กรณีบุคคลดังกล่าวเพิ่งเสียชีวิต นโยบายนี้จะใช้บังคับต่อไปหลังจากบุคคลดังกล่าวเสียชีวิต (6 เดือน, 1 ปี หรือสูงสุดไม่เกิน 2 ปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อมูลที่เป็นที่โต้เถียงหรือกังขาเกี่ยวกับผู้ตายที่มีผลกระทบต่อญาติที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเพื่อน เช่น ความเป็นไปได้ในการฆ่าตัวตายหรืออาชญากรรมอันมีลักษณะสยดสยอง หากไม่มีการยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิต ให้อนุมานว่าบุคคลที่เกิดก่อน 115 ปีที่แล้วนับจากปีปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น เว้นแต่จะมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยันการมีชีวิตอยู่ของบุคคลดังกล่าวในช่วงสองปีหลังสุด
นิติบุคคลและกลุ่มบุคคล
นโยบายนี้ไม่ใช้บังคับกับบทความบริษัท องค์กร หรืออื่นใดที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคล แต่ทั้งนี้บทความดังกล่าวต้องเขียนตามนโยบายเฉพาะที่เกี่ยวกับองค์กรดังกล่าว (ดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:ความโดดเด่น (องค์การและบริษัท)) สำหรับในกรณีของกลุ่มบุคคล ขอบเขตการบังคับตามนโยบายนี้เป็นเรื่องซับซ้อนและต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เป็นต้นว่า ข้อความเสื่อมเสียเกี่ยวกับองค์กรขนาดเล็กอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลมากกว่าข้อความทำนองเดียวกันที่กล่าวถึงองค์กรขนาดใหญ่ และถ้าองค์กรนั้นมีขนาดเล็กมาก ความแตกต่างระหว่างตัวองค์กรกับบุคคลที่ก่อตั้งองค์กรดังกล่าวก็อาจน้อยมากจนแยกออกจากกันไม่ได้เลยก็ได้ หากมีข้อสงสัย โปรดใช้แหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพในการเขียนบทความ
การใช้บทความชีวประวัติเพื่อสร้างความขัดแย้ง
บทความชีวประวัติในวิกิพีเดียอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่บุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความ มีน้ำหนักเหมาะสม และมีการอ้างอิงที่ดีก็ตาม วิกิพีเดียมิใช่ที่ให้บุคคลนำข้อพิพาทนอกวิกิมาสานต่อความเป็นปรปักษ์ จากประสบการณ์ของวิกิพีเดียเอง การใช้วิกิพีเดียเพื่อการทำให้ข้อพิพาททางกฎหมาย ทางการเมือง ทางสังคม ทางวรรณกรรม ทางวิชาการ หรือในทางอื่นดำเนินต่อไปเป็นการเสื่อมเสียกับบุคคลดังกล่าว คู่พิพาท และวิกิพีเดียเอง
ดังนั้น ผู้เขียนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทสำคัญกับบุคคลอีกบุคคลหนึ่งไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกวิกิพีเดีย หรือบุคคลที่เป็นอริกับบุคคลดังกล่าว ไม่ควรแก้ไขบทความชีวประวัติหรืออื่นใดของบุคคลนั้นเพราะถือว่าเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อน และโดยทั่วไป บุคคลที่มีแนวคิดแง่ลบหรือแง่บวกอย่างมากต่อบุคคลในบทความควรอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษในการแก้ไขบทความดังกล่าวอย่างเป็นกลาง หากเลือกจะแก้ไข
การจัดการกับบทความชีวประวัติ
ความสำคัญในการจัดการกับบทความชีวประวัติ
บทความในวิกิพีเดียมีบทความเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก ในแง่มุมทางกฎหมายและศีลธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ความพยายามเพื่อขจัดข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทและข้อความที่ไม่เหมาะสม แต่ข้อพิจารณานี้ต้องพิจารณาความคู่กับข้อพิจารณาอื่นด้วย เป็นต้นว่าการยอมให้บทความมีลักษณะเป็นการชื่นชมบุคคลโดยตัดทอนเนื้อหาที่ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือยอมให้บุคคลที่เรียกร้องความสนใจของสาธารณะแต่ไม่มีความโดดเด่นมีบทความอยู่ หากมีข้อสงสัยว่าข้อความในบทความชีวประวัติมีความเหมาะสมหรือไม่ ให้ย้อนบทความกลับไปที่รุ่นที่เป็นไปตามนโยบาย ในบางกรณีการใช้เครื่องมีอผู้ดูแลระบบเช่นการล็อกหน้าและการลบหน้านั้นจำเป็นต่อการบังคับตามนโยบายนี้ และในกรณีร้ายแรงอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิวิกิพีเดียอาจจำต้องดำเนินการอย่างหนึ่งด้วย
บทความที่ละเมิดหรือที่น่าจะมีการละเมิดนโยบายนี้ควรมีการอภิปรายในหน้าพูดคุย โดยอ้างถึงนโยบายนี้และนโยบายอื่น ๆ เช่นการพิสูจน์ยืนยันได้, งดงานค้นคว้าต้นฉบับ, อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย และนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งนี้ การอภิปรายในหน้าพูดคุยควรเป็นไปด้วยความสุภาพและมุ่งประเด็นไปที่เนื้อหาเป็นสำคัญ ผู้ที่ใส่เนื้อหาที่เป็นการละเมิดนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องอาจถูกระงับมิให้แก่ไขบทความดังกล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบทความ ตัวบทความ และวิกิพีเดีย
การรับมือกับการแก้ไขของบุคคลในบทความ
บุคคลในบทความอาจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเนื้อหาของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือผ่านทางผู้แทน คณะอนุญาโตตุลาการในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้เคยวินิจฉัยว่าถ้าตัวบุคคลนั้นพยายามแก้ไขสิ่งที่บุคคลนั้นเห็นว่าผิดพลาดหรือไม่ยุติธรรม บุคคลนั้นย่อมสามารถกระทำได้ ผู้เขียนควรใช้ความพยายามในการโต้ตอบกับบุคคลดังกล่าวอย่างเป็นมิตรหากบุคคลดังกล่าวยกข้อพิจารณาใด ๆ ขึ้นมาก็ตาม
แม้ว่าวิกิพีเดียจะไม่สนับสนุนให้บุคคลเขียนบทความเกี่ยวกับตนเอง แต่การนำเนื้อหาที่มิได้อ้างอิงหรือที่มีการอ้างอิงที่ไม่เหมาะสมออกย่อมกระทำได้ หากผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนลบเนื้อหาในบทความชีวประวัติออก บุคคลนั้นอาจเป็นบุคคลในบทความที่พยายามนำเนื้อหาที่มีปัญหาออกก็ได้ การแก้ไขเช่นนี้ไม่ควรถือว่าเป็นการก่อกวน ในทางกลับกัน ควรขอให้บุคคลในบทความมาอธิบายข้อพิจารณาดังกล่าวด้วยตนเอง คณะอนุญาโตตุลาการในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้เคยวินิจฉัยเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ว่า
นโยบายเกี่ยวกับการไม่ทำร้ายผู้ใช้ใหม่ เป็นนโยบายที่แนะนำให้ผู้ใช้วิกิพีเดียพิจารณาว่าผู้ใช้ใหม่ในวิกิพีเดียย่อมทำผิดพลาดได้เป็นครั้งคราว สำหรับบุคคลที่มีหรืออาจมีบทความเกี่ยวกับตัวเอง การมีข้อความที่ผิดพลาดโดยชัดแจ้งหรือที่เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงย่อมไม่อาจทำให้บุคคลดังกล่าวต้องอยู่เฉยในเรื่องเกี่ยวกับบทความดังกล่าวได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ร้ายแรงหรือทำให้ผู้ใช้ใหม่เสียหน้า การวิจารณ์บุคคลที่อยู่ในสภาวะไม่อาจอยู่เฉยได้โดยไม่ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดของผู้ใช้ใหม่เป็นครั้งคราวย่อมเป็นการขัดกับนโยบายไม่ทำร้ายผู้ใช้ใหม่เสียเอง[4]
การรับมือกับบทความของตนเองในวิกิพีเดีย
ในวิกิพีเดีย มีนโยบายหลายประการที่มักช่วยขจัดข้อกังวลที่คุณมีในบทความ นอกจากนี้ผู้ใช้หลายคนก็ยินดีจะร่วมมือ แต่ก็มีลำดับขั้นตอนที่หลากหลายเช่นกัน ถ้าข้อผิดพลาดเป็นข้อผิดพลาดที่เล็กน้อยและชัดเจน คุณสามารถแก้ไขได้เอง แต่หากเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรง ขอให้ใช้หน้าพูดคุยของบทความ หรือดำเนินการแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อให้ผู้ดูแลระบบหรือผู้ใช้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมพิจารณาเพื่อให้บทความมีลักษณะการเขียนอย่างเป็นธรรมและมีการอ้างอิงที่เหมาะสม โปรดระลึกไว้เสมอว่า แม้ว่าวิกิพีเดียจะเป็นงานอาสาสมัคร แต่กิริยาที่ไม่สุภาพย่อมไม่มีประสิทธิผล แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจได้ก็ตาม
ประเด็นทางกฎหมาย
บุคคลในบทความที่มีประเด็นทางกฎหมายหรือประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับข้อมูลของตนที่พบในหน้าวิกิพีเดีย ไม่ว่าจะเป็นบทความชีวประวัติหรือไม่ก็ตาม อาจติดต่ออาสาสมัครตอบรับข้อหารือ (OTRS) ของมูลนิธิวิกิพีเดียได้ โดยส่งอีเมลไปยัง info wikipedia.org โปรดแนบลิงก์บทความและรายละเอียดปัญหาไปด้วย ทั้งนี้ ปกติการขอความช่วยเหลือแทนการแก้ไขเนื้อหาด้วยตนเองจะดีกว่า
ดังที่กล่าวไปข้างต้น บุคคลที่มีข้อพิพาททางกฎหมายหรือข้อพิพาทนอกวิกิพีเดียกับบุคคลในบทความวิกิพีเดียไม่ควรแก้ไขบทความดังกล่าวอย่างยิ่ง
ติดต่อมูลนิธิวิกิมีเดีย
หากท่านไม่พอใจกับสิ่งที่ผู้เขียนหรือผู้ดูแลระบบดำเนินการในบทความชีวประวัติ ท่านสามารถติดต่อมูลนิธิวิกิมีเดียได้โดยตรงตามลิงก์นี้
มติจากมูลนิธิวิกิมีเดีย
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 คณะกรรมการมูลนิธิวิกิมีเดียมีมติเกี่ยวกับการรับมือข้อมูลในบทความของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ของวิกิพีเดีย โดยเห็นว่าบทความชีวประวัติบางบทความมีเนื้อความเป็นการส่งเสริมจนเกินไป มีการก่อกวน หรือมีความผิดพลาดหรือมีข้อความไม่สมควร มูลนิธิวิกิมีเดียเห็นว่าในบทความชีวประวัติ ควรมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษในความเป็นกลางและการพิสูจน์ยืนยันได้ โดยพิจารณาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทความที่มีความสนใจเฉพาะคราวหรือมีความสนใจไม่มาก ควรมีมาตรการทางเทคนิคเพื่อใช้ตรวจสอบการแก้ไขที่กระทบบุคคลที่มีชีวิต และบุุคคลที่มีประเด็นเกี่ยวกับการที่ตนเองถูกกล่าวถึงในบทความควรได้รับการปฏิบัติอย่างอดทน เป็นมิตรและด้วยความเคารพ
บทบาทของผู้ดูแลระบบ
การบล็อกและล็อกหน้า
ผู้ดูแลระบบที่สงสัยว่าอาจมีการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องหรือมีอคติ หรือเห็นว่าข้อมูลที่ไม่เหมาะสมอาจถูกใส่หรือนำกลับเข้ามาอาจเลือกล็อกหน้าเต็มที่หรือกึ่งล็อกก็ได้ ในกรณีที่เป็นการละเมิดนโยบายอย่างชัดแจ้ง ผู้ดูแลระบบจะใช้วิธีการล็อกหน้าหรือบล็อกผู้ก่อกวนไม่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขโดยตรงหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีข้อสงสัย ควรส่งเรื่องให้ผู้ดูแลระบบที่ไม่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา
การลบหน้า
บทความชีวประวัติที่ไม่เป็นไปตามนโยบายนี้ควรได้รับการปรับปรุง หากไม่สามารถกระทำได้ ให้ลบเสีย หากทั้งหน้ามีเนื้อหาที่มีคุณภาพเลว เช่น มีเนื้อหาที่เป็นที่โต้เถียงที่ไม่มีการอ้างอิงหรือมีการอ้างอิงที่ไม่เหมาะสม อาจจำเป็นต้องลบหน้าทั้งหน้าก่อนการเริ่มกระบวนการหารือต่อไป
ปกติการลบหน้าเป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าข้อพิพาทส่วนใหญ่เป็นเรื่องการมีอยู่ของบทความ (เช่น ในเรื่องความโดดเด่นของบุคคล หรือบุคคลของบทความขอให้ลบ) จะมีการอภิปรายค้านลบมิใช่การลบโดยรวบรัด การลบแบบรวบรัดจะใช้เมื่อหน้านั้นมีเนื้อหาทางลบที่ไม่มีการอ้างอิงหรือเขียนอย่างไม่เป็นกลาง และไม่สามารถเขียนใหม่หรือย้อนกลับไปยังรุ่นที่เป็นไปตามนโยบายได้ ผู้ดูแลระบบที่ลบหน้าควรเตรียมพร้อมอธิบายเหตุผลแก่ผู้ใช้ (ถ้าเนื้อหาเป็นเนื้อหาอ่อนไหว ให้อธิบายทางอีเมล) ผู้ที่คัดค้านการลบพึงตระหนักว่าผู้ดูแลระบบอาจเห็นประเด็นอื่นใดที่บุคคลอื่นไม่เห็นก็ได้ ข้อพิพาทอาจนำไปสู่การทบทวนการลบ แต่ควรหลีกเลี่ยงการหารือสาธารณะอย่างยาวนานสำหรับการลบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในทางลบ การหารือดังกล่าวอาจลบทิ้งจากหน้าไปเสียก็ได้เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว กรณีที่มีการลบหน้า ผู้ดูแลอาจล็อกสร้างหน้าไว้ก็ได้ แต่แม้ว่าจะไม่มีการล็อก ก็ไม่ควรมีการสร้างหน้าขึ้นมาใหม่จนกว่าจะมติสนับสนุน
การลบบทความของบุคคลที่แทบไม่เป็นที่รู้จัก
นโยบายการลบระบุว่า กรณีที่บุคคลในบทความขอให้ลบบทความเกี่ยวกับตนเองซึ่งเป็นบุคคลที่แทบไม่เป็นที่รู้จักและไม่ใช่บุคคลสาธารณะ กรณีที่ไม่มีความเห็นพ้องกันไปในประการหนึ่งประการใด ให้ลบเสียก็ได้ นอกจากนี้ บทความชีวประวัติของบุคคลที่แทบไม่เป็นที่รู้จักและไม่ใช่บุคคลสาธารณะที่ไม่มีผู้เขียนคัดค้านการลบจะลบเสียก็ได้เมื่อได้หารือจนเสร็จสิ้นแล้ว
การใส่คืนเนื้อหาที่ถูกลบไป
เพื่อให้เนื้อหาบทความชีวประวัติเขียนอย่างเป็นกลางมาตรฐานสูงและอาศัยแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือคุณภาพสูง ภาระการพิสูจน์ในการใส่คืนเนื้อหาอยู่กับผู้ที่ขอคงไว้ ใส่คืนหรือกู้ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว ถ้าเนื้อหาชีวประวัติมีการลบโดยอาศัยนโยบายนี้โดยสุจริต ผู้เขียนที่ประสงค์เพิ่ม ใส่คืนหรือกู้ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวต้องมั่นใจว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายว่าด้วยเนื้อหาวิกิพีเดีย ถ้าการใส่คืนนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื้อหานั้นต้องได้รับความเห็นพ้องกันก่อน เนื้อหาซึ่งมีการแก้ไขเพื่อจัดการกับปัญหาควรมีการตัดสินเป็นกรณี ๆ ไป
กรณีที่ผู้ดูแลระบบลบบทความทั้งหน้า ควรมีการหารือเรื่องการลบที่พิพาทกับผู้ดูแลระบบที่ลบหน้านั้นก่อนถ้าเป็นไปได้
ดูเพิ่ม
- นโยบายและมติของมูลนิธิวิกิพีเดีย
- นโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของมูลนิธิวิกิมีเดีย
- มติมูลนิธิเกี่ยวกับบทความชีวประวัติบุคคลที่มีชีวิตอยู่ (เมษายน 2552)
- กรณีศึกษาในอนุญาโตตุลาการวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ
- คดี Badlydrawnjeff (กรกฎาคม 2550)
- มติอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการลบบทความชีวประวัติบุคคลที่มีชีวิตอยู่ (มกราคม 2553)
- คดีว่าด้วยการแก้ไขบทความชีวประวัติ (กันยายน 2554)
- นโยบาย
- แนวปฏิบัติ
- กรณีศึกษาการขอความเห็นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ
เชิงอรรถ
- ↑ ให้สันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนมีชีวิตอยู่เว้นแต่จะมีเหตุพิสูจน์เป็นอย่างอื่น เช่น ตามที่ปรากฎในแหล่งอ้างอิง ทั้งนี้ ผู้ที่เสียชีวิตจากการประกาศให้เป็นผู้สาบสูญโดยผลของกฎหมายไม่อยู่ในบังคับของนโยบายนี้
- ↑ จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย กล่าวว่า
"ผมอาจเน้นย้ำเรื่องนี้ได้ไม่หมด ดูเหมือนผู้เขียนบางคนจะลำเอียงอย่างเหลือร้ายว่า ข้อมูลเทียมบางประเภทที่เกิดจากการคาดคะเนโดยไร้แบบแผนอย่าง "ไปได้ยินมาจากที่ไหนสักที่" นั้น ให้ติดป้าย "ต้องการอ้างอิง" ก็พอ ผิดครับ ควรเอาออกทันควัน เว้นแต่สามารถหาแหล่งอ้างอิงได้ หลักนี้ใช้สำหรับข้อมูลทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่"
"I can NOT emphasize this enough. There seems to be a terrible bias among some editors that some sort of random speculative 'I heard it somewhere' pseudo information is to be tagged with a 'needs a cite' tag. Wrong. It should be removed, aggressively, unless it can be sourced. This is true of all information, but it is particularly true of negative information about living persons."
จาก Jimmy Wales (2006-05-16). "Zero information is preferred to misleading or false information". WikiEN-l electronic mailing list archive. เรียกข้อมูลวันที่ 26 มกราคม 2560.
- ↑ คำว่า "พิสูจน์ได้ว่าผิดจริง" ต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ข้อกล่าวหา การสืบสวนและการจับกุมไม่ถือเป็นการพิสูจน์ว่าผิดจริง นโยบายในส่วนบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้กับบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ
- ↑ ตัวอย่างเช่น ในคดีระหว่างพนักงานอัยการกับโอ.เจ. ซิมป์สัน ศาลตัดสินในปี 2538 ว่าซิมป์สันไม่ผิดข้อหาฆ่าผู้อื่นตามกฎหมายอาญา แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการทำให้ถึงแก่ความตายโดยมิชอบในคดีแพ่งปี 2540
- ↑ ดูเพิ่มเติมในหน้าร่างนโยบายการยืนยันตัวบุคคล และหน้าพูดคุยที่เกี่ยวข้อง บทความเกี่ยวกับการไม่มีนโยบายยืนยันตัวบุคคล และคดีอนุญาโตตุลาการว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้เยาว์ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ
- ↑ ดูมติในคดีอนุญาโตตุลาการ Rangerdude ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ