วิกิพีเดีย:นโยบายการใช้ภาพ

(เปลี่ยนทางจาก วิกิพีเดีย:IUP)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอัปโหลด ดูเพิ่ม วิธีการอัปโหลดภาพ หรือไปที่หน้าอัปโหลดโดยตรง

สิ่งที่ควรรู้ก่อนการใช้งานภาพและสื่อต่าง ๆ

  1. วิกิพีเดียมิใช่ที่รับฝากรูปภาพหรือสื่อสำหรับกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากบทความหรือโครงการของวิกิพีเดีย ภาพที่ไม่ได้ใช้จะถูกลบเป็นระยะ หรือถูกแจ้งลบโดยผู้ใช้ท่านอื่น
  2. ภาพประกอบบทความ จะเป็นภาพที่ช่วยอธิบายบทความให้เข้าใจได้ง่ายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และควรใส่คำอธิบายใต้ภาพ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าภาพสื่อถึงอะไร
  3. ภาพที่คุณต้องการอาจมีอยู่แล้วในวิกิมีเดียคอมมอนส์ ซึ่งสามารถเรียกใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องอัปโหลดใหม่
  4. โปรดคำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์สำหรับวิกิพีเดียเป็นอย่างแรกก่อนอัปโหลดไฟล์ใด ๆ บนวิกิพีเดีย (ดูหัวข้อถัดไปด้านล่าง)
  5. อธิบายแหล่งที่มาของภาพที่ชัดเจนเสมอ เพื่อการตรวจสอบหรือการค้นหาเพิ่มเติม
  6. ถ้าภาพนั้นเป็นภาพที่คุณสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง กรุณาอย่าใส่ชื่อของคุณลงบนภาพ (เรียกว่า ลายน้ำ) แต่สามารถใส่ลงในส่วนของคำบรรยายภาพแทน
  7. ชื่อภาพควรจะตั้งชื่อให้มีความหมายเฉพาะตัว ไม่สั้นหรือยาวเกินไป ไม่ควรตั้งชื่อภาพเป็นตัวเลขหรือรหัสที่ไม่สื่อถึงเช่น "001.jpg" ถ้าในระบบมีภาพภายใต้ชื่อเดียวกันอยู่แล้ว กรุณาเปลี่ยนเป็นชื่ออื่น ไม่ควรอัปโหลดทับไฟล์เดิม เว้นแต่คุณต้องการแก้ไขภาพเก่าโดยการนำภาพใหม่ไปแทนที่
  8. สำหรับภาพที่มีข้อความภาษาใด ๆ บนภาพ เช่น แผนผัง แผนที่ อาจจะเขียนข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นในส่วนของคำบรรยายภาพ เพื่อชาวต่างประเทศจะได้สามารถเข้าใจความหมายของภาพได้ดียิ่งขึ้น
  9. รูปแบบที่แนะนำ ควรใช้ภาพ JPEG สำหรับภาพถ่าย และควรใช้ภาพ SVG หรือ PNG สำหรับภาพลายเส้น เช่น โลโก้ แผนที่ หรือแผนผัง

เลือกภาพสำหรับอัปโหลด

ก่อนที่จะอัปโหลด คุณควรจะมั่นใจว่าภาพที่คุณจะอัปโหลด เข้าข่ายหนึ่งในกรณีต่อไปนี้

อย่าลืมเลือกสถานะลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง และระบุที่มาของภาพอย่างชัดเจน ทุกภาพจำเป็นต้องมีคำอธิบายภาพและป้ายแสดงสถานะลิขสิทธิ์ของภาพ โดยคำอธิบายภาพควรจะระบุข้อมูลที่จำเป็นในการยืนยันสถานะลิขสิทธิ์ของภาพนั้น ๆ

ลิขสิทธิ์และการอนุญาต

วิกิพีเดียสนับสนุนการอัปโหลดภาพที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง แต่ภาพนั้นต้องประกาศให้ใช้สัญญาอนุญาตเสรี เช่น GFDL และ/หรือ Creative Commons ที่ยอมรับได้ หรือปล่อยเป็นสาธารณสมบัติ ภาพเหล่านั้นได้แก่ ภาพถ่ายที่คุณถ่ายขึ้นเอง ภาพวาดหรือแผนภูมิที่คุณสร้างขึ้น และงานชนิดอื่นๆ ที่คุณสร้างขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม การคัดลอกภาพหรือแผนภูมิที่มีลิขสิทธิ์อาจไม่ได้มีลิขสิทธิ์ใหม่ โดยงานที่มีลิขสิทธิ์จะต้องเกิดจาก "การสร้างสรรค์" และไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงงานที่สร้างงานนั้นๆ ภาพถ่ายของวัตถุสามมิติมักจะมีลิขสิทธิ์ใหม่เป็นของตัวเอง ต่างจากภาพถ่ายของวัตถุสองมิติ (เช่นภาพวาดในพิพิธภัณฑ์)

สำหรับภาพถ่าย อย่าลืมว่าผู้ที่ถือลิขสิทธิ์ภาพคือ ผู้ถ่ายภาพ หรือ เจ้าของภาพต้นฉบับ ซึ่งการสแกน ดัดแปลง ตกแต่ง หรือพยายามแก้ไขภาพไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นผู้สร้างภาพ หรืองานดังกล่าวแต่อย่างใด

วิกิพีเดียไม่แนะนำให้ใช้ภาพที่มีตัวคุณ เพื่อนฝูง หรือครอบครัวของคุณปรากฏอยู่ภายในอย่างเด่นชัดเจนจนดึงความสนใจจากวัตถุประสงค์หลัก ภายในเนมสเปซหลัก แต่สามารถใช้ในหน้าผู้ใช้ของคุณได้

ภาพที่ผู้ใช้สร้างขึ้นต้องไม่มีการใส่ลายน้ำ ดัดแปลง หรือใส่เครดิตลงในภาพ ซึ่งส่งผลให้ขัดต่อการใช้ภาพอย่างเสรี ยกเว้นว่าภาพนั้นตั้งใจที่จะนำเสนอการใช้ลายน้ำหรือการดัดแปลงนั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความ การใส่เครดิตของภาพทั้งหมดควรอยู่ในหน้าคำอธิบายภาพ

สัญญาอนุญาตเสรี

สำหรับสัญญาอนุญาตที่มีความเสรีเพียงพอที่จะใช้ในวิกิพีเดีย ดูรายชื่อได้ที่ป้ายระบุสถานะลิขสิทธิ์ของภาพ สัญญาอนุญาตที่จำกัดการใช้งาน อาทิการใช้งานที่ไม่แสวงหากำไร หรือเฉพาะเพื่อการศึกษา หรือให้ใช้เฉพาะในวิกิพีเดีย ไม่นับว่ามีความเสรีเพียงพอ สื่อที่ใช้ในวิกิพีเดีย (ยกเว้นภาพที่ใช้งานโดยชอบธรรม) ควรจะมีความ "เสรี" ในระดับเดียวกับเนื้อหาวิกิพีเดีย

สาธารณสมบัติ

ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ ภาพทั้งหมดที่เผยแพร่ในสหรัฐฯก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466 ถือเป็นสาธารณสมบัติในปัจจุบัน แต่ไม่รวมถึงภาพที่สร้างขึ้นก่อนปี 2466 และเผยแพร่ในปี 2466 หรือหลังจากนั้น เซิร์ฟเวอร์ของวิกิพีเดียไทยตั้งอยู่ในสหรัฐ ดังนั้นกฎหมายนี้จึงมีความสำคัญด้วย

ในสหรัฐ การทำซ้ำของงานศิลปะสองมิติที่เป็นสาธารณสมบัติ ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ เช่น การถ่ายภาพภาพวาดโมนาลิซาตรง ๆ ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ การสแกนภาพเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ โดยภาพนั้นมีสถานะลิขสิทธิ์เดียวกับภาพต้นฉบับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายประเทศนั้นอาจแตกต่างออกไป

หากคุณสงสัยว่าภาพใดเป็นภาพละเมิดลิขสิทธิ์ (เช่น ไม่มีการระบุสถานะลิขสิทธิ์ในคำอธิบายภาพ และคุณเคยเห็นภาพนั้นที่อื่นโดยที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง) คุณควรจะใส่ป้ายภาพที่อาจจะละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแจ้งลบ

การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ

การใช้งานภาพที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือสิทธิ อาจเข้าข่ายการใช้งานโดยชอบธรรมในสหรัฐ การอ้างสิทธิ์การใช้งานโดยชอบธรรมที่ไม่เหมาะสมถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และขัดต่อกฎหมาย

วิกิพีเดียอนุญาตให้ใช้ภาพลิขสิทธิ์ที่มีความละเอียดต่ำ หากการใช้ภาพนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้า มีความสำคัญต่อบทความ และไม่มีภาพเสรีอื่นที่ใช้แทนได้

ภาพเปลือยและกิจกรรมทางเพศ

วิกิพีเดียภาษาไทยมีนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพเปลือยและภาพที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ จากการอภิปรายในศาลาชุมชน (สรุปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2554)

  1. เพื่อประโยชน์ในเชิงสารานุกรม บทความเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของมนุษย์ ให้ใช้ภาพลายเส้น จิตรกรรมหรือประติมากรรมที่เป็นภาพเสรีเท่านั้น ห้ามใช้ภาพถ่ายหรือคลิปวิดีทัศน์กิจกรรมทางเพศของมนุษย์จริง
  2. เพื่อประโยชน์ในเชิงสารานุกรม บทความที่ใช้ภาพเปลือยของมนุษย์ (สำหรับแพทยศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ ศิลปกรรม เป็นต้น) ให้ใช้ภาพเสรีเท่านั้น หากมีภาพลายเส้น จิตรกรรมหรือประติมากรรมใช้ทดแทนภาพถ่ายหรือคลิปวิดีทัศน์ได้โดยไม่ทำให้เสียความหมายเชิงสารานุกรมก็ให้ใช้ภาพดังกล่าวทดแทน
  3. สื่อเสรีดังกล่าว รวมไปถึงภาพลายเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม สามารถเลือกใช้ได้จากวิกิมีเดียคอมมอนส์เท่านั้น ห้ามเก็บภาพดังกล่าวบนวิกิพีเดียภาษาไทยในทุกกรณี

การอัปโหลดภาพ

รูปแบบ

  • ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ แผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง ธง และภาพอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ควรอัปโหลดในรูปแบบ SVG โดยเป็นรูปเวกเตอร์ ภาพที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีแบบง่ายๆ ขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน ควรจะใช้รูปแบบ PNG
  • ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ แผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง ธง และภาพอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ที่ใช้เป็นการใช้งานโดยชอบธรรม ควรใช้รูปแบบ PNG
  • ภาพถ่ายและภาพที่มีความลึกของสีแบบภาพถ่าย ควรใช้รูปแบบ JPEG
  • ภาพเคลื่อนไหวที่ใช้ในบรรทัด ควรใช้รูปแบบ GIF
  • เสียงเพลงและวีดิทัศน์ ควรใช้รูปแบบ Ogg/Theora
  • ภาพหน้าจอ ควรใช้รูปแบบ PNG หรือ JPEG ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพนั้น ๆ

ขนาดของไฟล์ที่อัปโหลด

ไฟล์ที่อัปโหลดจะต้องมีขนาดไม่เกิน 20 เมกะไบต์ ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิที่วิกิพีเดียใช้สามารถปรับขนาดภาพโดยอัตโนมัติได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องปรับขนาดของภาพด้วยตัวคุณเอง การอัปโหลดภาพที่มีความละเอียดสูงทำให้สามารถนำสื่อของวิกิพีเดียไปใช้ได้กว้างขึ้น เช่น นำไปใช้ในการตีพิมพ์

สำหรับงานลายเส้น โดยเฉพาะที่คุณวาดเอง อาจจะดีกว่าถ้าคุณปรับขนาดของภาพด้วยตัวคุณเองและใช้ในบทความ เนื่องจากว่าการปรับขนาดอัตโนมัติอาจสร้างภาพที่มีขนาด (จำนวนไบต์) สูงกว่าหรือมีคุณภาพแย่ลง กรณีนี้ไฟล์ภาพ SVG อาจเป็นประโยชน์

ชื่อไฟล์

การตั้งชื่อไฟล์นั้นอาจตั้งด้วยอักษรไทย หรืออักษรละติน (อักษรภาษาอังกฤษ) แต่การใช้อักษรไทยหรืออักขระพิเศษต่าง ๆ อาจส่งผลต่อผู้ใช้บางคนในการดาวน์โหลดภาพ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการใช้งานได้ง่าย

การตั้งชื่อไฟล์ควรมีความหมายเฉพาะตัวที่บรรยายภาพนั้นในระดับหนึ่ง ไม่ควรตั้งชื่อยาวเกินไป ไม่ควรตั้งชื่อไฟล์ที่ไม่สื่อความหมายของภาพ อาทิ ลำดับเลขของภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล สัญลักษณ์/ตัวเลข/ตัวอักษรที่ไม่มีความหมายใด ๆ รวมถึงชื่อที่สะกดผิด (กรณีหลังสามารถแจ้งผู้ดูแลให้เปลี่ยนเป็นชื่อที่เหมาะสมได้) ข้อควรระวังคือ อักษรละตินตัวเล็กและใหญ่นั้นมีผลทำให้ชื่อต่างกัน เช่น Thailand.PNG นั้นต่างกับ Thailand.png แนะนำว่าคุณควรตั้งส่วนของชนิดไฟล์ด้วยอักษรตัวเล็กทั้งหมด นอกจากนี้เครื่องหมายอันเดอร์สกอร์ (_) และเว้นวรรค ( ) ที่ปรากฏในชื่อไฟล์มีความหมายเหมือนกัน เมื่อนำภาพไปใส่บทความสามารถใช้แทนกันได้

คุณสามารถตั้งชื่อไฟล์เหมือนกับภาพที่มีอยู่แล้วได้ หากคุณต้องการใช้ภาพที่อัปโหลดใหม่แทนภาพเดิม เช่น ภาพเดิมที่มีคุณภาพดีขึ้น หรือภาพที่มีแสดงสิ่งที่ต้องการสื่อชัดเจนขึ้น การอัปโหลดทับภาพเดิมจะทำให้ผู้ใช้คนอื่นสามารถเปรียบเทียบสองภาพได้ง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนภาพในบทความ และไม่ต้องลบภาพเก่าทิ้ง อย่างไรก็ตาม ภาพที่มีรูปแบบไฟล์ต่างกันไม่สามารถทับกันได้

สารสนเทศที่ต้องมี

  • ป้ายระบุสถานะลิขสิทธิ์ของไฟล์
  • คำอธิบาย: หัวข้อของภาพ ควรอธิบายว่าภาพเชื่อมโยงกับบทความที่จะใช้อย่างไร และสารสนเทศเพื่อการระบุอื่นซึ่งไม่ครอบคลุมตามจุดนำด้านล่าง ตัวอย่างเช่น ภาพบุคคลที่ถ่ายในงานสาธารณะมักระบุงานและวันที่จัดงานนั้น (ต่างจากคำบรรยายใต้ภาพ (caption) หรือข้อความทางเลือก (alt-text) และอาจละเอียดกว่าสองอย่างนี้)
  • แหล่งที่มา: ผู้ทรงลิขสิทธิ์ของภาพหรือยูอาร์แอลของหน้าเว็บที่มาของภาพ
    • สำหรับภาพที่มาจากอินเทอร์เน็ต ยูอาร์แอลของหน้าเอชทีเอ็มแอลที่มีภาพจะดีกว่ายูอาร์แอลสำหรับภาพอย่างเดียว
    • สำหรับภาพที่มาจากหนังสือ ระบุเลขหน้าและสารสนเทศบรรณานุกรมเต็ม (ผู้ประพันธ์ ชื่อหนังสือ เลข ISBN เลขหน้า วันที่ลิขสิทธิ์ สารสนเทศผู้พิมพ์ ฯลฯ) จะดีที่สุด
    • สำหรับภาพที่สร้างเอง ให้ระบุ "ภาพถ่ายเอง" หรือ "ภาพสร้างเอง" (นอกเหนือจากป้ายระบุสถานะลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม เช่น {{self}} หรือ {{PD-self}})
  • ผู้ประพันธ์: ผู้สร้างเดิมของภาพ (โดยเฉพาะถ้าเป็นคนละคนกับผู้ทรงลิขสิทธิ์) หากอัปโหลดภาพโดยการอนุญาตให้ผู้สร้าง ควรให้สารสนเทศติดต่อด้วย
  • การอนุญาต: ผู้ใด หรือกฎหมายหรือนโยบายใดอนุญาตให้โพสต์บนวิกิพีเดียด้วยป้ายระบุสถานะลิขสิทธิ์ภาพที่เลือก
  • วันที่สร้างภาพ (ถ้ามี) ให้ระบุวันเดือนปีให้ครบดีกว่าระบุแต่ปี
  • สถานที่ที่สร้างภาพ (ถ้าใช้ได้และหาได้) สามารถระบุเป็นลองติจูดและละติจูดที่มาจากจีพีเอส
  • รุ่นอื่นของไฟล์นี้บนวิกิพีเดีย เช่น ตัดส่วนภาพ (crop) หรือไม่ตัดส่วนภาพ รีทัช (retouch) หรือไม่รีทัช
  • เหตุผลการใช้ (จำเป็นเฉพาะภาพไม่เสรี) ต้องการเหตุผลไม่เสรีแยกสำหรับการใช้ภาพแต่ละครั้งในวิกิพีเดียภาษาไทย รายละเอียดสิ่งที่จำเป็นของเหตุผลไม่เสรีอธิบายในรายละเอียดในหน้าเนื้อหาไม่เสรี

การเพิ่มภาพเข้าบทความ

ขนาดภาพที่แสดง

หากคุณต้องการแสดงภาพในบทความข้างๆข้อความ คุณควรจะใช้ thumbnail (ดู วิกิพีเดีย:วิธีการใส่ภาพ) ซึ่งจะทำให้ภาพนั้นมีขนาดตามการตั้งค่าของผู้ใช้ (ค่ามาตรฐานเท่ากับ 180 พิกเซล) การใส่ขนาดภาพที่ใหญ่กว่า ไม่ควรกำหนดให้กว้างเกิน 300 พิกเซล เพื่อให้สามารถแสดงในหน้าจอขนาด 800x600 ได้อย่างไม่เป็นปัญหา

ดูเพิ่ม

ในภาษาอื่น