วิกิพีเดีย:ความเห็นพ้อง

ความเห็นพ้อง หมายความถึง วิธีหลักที่มีการวินิจฉัยสั่งการในวิกิพีเดีย และได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีดีที่สุดในการบรรลุห้าเสาหลักซึ่งเป็นเป้าหมายของเรา ความเห็นพ้องในวิกิพีเดียไม่จำเป็นต้องหมายถึง "เอกฉันท์" (ซึ่งบรรลุได้ยากแม้เป็นผลลัพธ์ในอุดมคติ) หรือเป็นผลลัพธ์ของการออกเสียงลงคะแนน การวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวข้องกับความพยายามรวบรวมความกังวลโดยชอบของผู้เขียนทั้งหมด พร้อมกับเคารพนโยบายและแนวปฏิบัติไปพร้อมกัน

นโยบายนี้อธิบายว่าในวิกิพีเดียมีความเข้าใจความเห็นพ้องอย่างไร วิธีตัดสินว่าบรรลุความเห็นพ้องหรือยัง (และวิธีดำเนินการต่อหากยังไม่บรรลุความเห็นพ้อง) และอธิบายข้อยกเว้นในหลักการที่ว่าการตัดสินใจต่าง ๆ ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกัน

บ่อเกิดของความเห็นพ้อง

ปกติการบรรลุความเห็นพ้องเป็นกระบวนการธรรมชาติ หลังมีผู้ใช้เปลี่ยนแปลงหน้าครั้งหนึ่ง ผู้อื่นเมื่ออ่านแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อผู้เขียนเห็นไม่ตรงกันผ่านการแก้ไข การอภิปรายในหน้าคุยของหน้านั้น ๆ จะดำเนินกระบวนการไปจนบรรลุความเห็นพ้อง

การตัดสินใจความเห็นพ้องหนึ่งจะต้องนำความกังวลอันเหมาะสมที่ยกมาทั้งหมดไปพิจารณาด้วย ในอุดมคติ การบรรลุความเห็นพ้องจะไม่มีข้อคัดค้าน แต่บ่อยครั้งเรามักยอมรับความเห็นพ้องให้กว้างที่สุดเท่าที่จะสามารถบรรลุได้ เมื่อไม่มีความตกลงวงกว้าง การสร้างความเห็นพ้องจะเกี่ยวข้องกับการปรับข้อเสนอเพื่อดึงผู้ไม่เห็นด้วยให้มาสนับสนุนโดยไม่เสียผู้ที่ยอมรับข้อเสนอทีแรก

ผ่านการแก้ไข

 
แผนภาพอย่างง่ายแสดงขั้นตอนการบรรลุความเห็นพ้อง เมื่อเกิดการแก้ ผู้เขียนอื่นอาจยอมรับ เปลี่ยนหรือย้อนการแก้นั้น "ประนีประนอม" หมายถึง "พยายามหาทางออกที่ยอมรับได้โดยทั่วไป" ไม่ว่าผ่านแก้ต่อหรือผ่านการอภิปราย

ความเห็นพ้องเป็นกระบวนการปกติ และปกติโดยปริยายและมองไม่เห็นทั่ววิกิพีเดีย การแก้ใดที่ไม่มีผู้ใช้อื่นค้านหรือย้อนสามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดความเห็นพ้อง หากการแก้นั้นมีผู้ใช้อื่นทบทวนโดยไม่มีข้อค้าน สามารถสันนิษฐานได้ว่ามีการบรรลุความเห็นพ้องใหม่ ด้วยวิธีนี้สารานุกรมจึงมีการเสริมและปรับปรุงตามเวลา

ควรอธิบายการแก้ทุกครั้ง (ยกเว้นเหตุแห่งการแก้นั้นปรากฏชัดแล้ว) ไม่ว่าโดยใช้ความย่อการแก้ไขชัดเจนที่ระบุเหตุผลของการเปลี่ยน หรือโดยการอภิปรายในหน้าคุยที่สัมพันธ์กับหน้านั้น ความย่อการแก้ไขที่มีสาระสำคัญและใช้แจ้งความบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องจัดการปัญหาใดในความพยายามบรรลุความเห็นพ้องในภายหลัง ความย่อการแก้ไขมีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อย้อนงานสุจริตใจของผู้เขียนคนอื่น การย้อนซ้ำ ๆ ขัดต่อนโยบายวิกิพีเดียว่าด้วยสงครามแก้ไข ยกเว้นเนื้อความที่อยู่ภายใต้บางนโยบายเฉพาะ (เช่นข้อยกเว้นของ WP:BLP) และสำหรับการย้อนการก่อกวน

ข้อขัดแย้งด้านเนื้อหาส่วนใหญ่สามารถระงับได้ผ่านการแก้ไขเล็กน้อย แทนที่จะถือจุดยืนแบบแบ่งแยกขาวดำชัดเจน ยกเว้นกรณีที่ได้รับผลจากนโยบายและแนวปฏิบัติด้านเนื้อหา บ่อยครั้งที่การปรับแก้คำเล็กน้อยก็ทำให้ผู้เขียนทุกคนพอใจ ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นมาจากการแก้หรือการอภิปราย วิกิพีเดียควรปรับปรุงผ่านความร่วมมือและความเห็นพ้องมากกว่าการสู้รบและยอมแพ้เป็นดีที่สุด

ขอให้กล้า แต่อย่ามุทะลุ ในกรณีส่วนใหญ่ สิ่งแรกคือควรแก้หน้านั้นก่อน บางทีการแก้จะระงับข้อคัดค้านได้ ใช้ความย่อการแก้ไขชัดเจนที่อธิบายความมุ่งหมายของการแก้นั้น หากการแก้ถูกย้อน พยายามแก้แบบประนีประนอมซึ่งจัดการกับความกังวลของผู้เขียนอื่นด้วย กระนั้นอย่าใช้ความย่อการแก้ไขหลายครั้งเพื่ออภิปรายข้อคัดค้าน ซึ่งมักถือว่าเป็นสงครามแก้ไข หากการแก้ถูกย้อนครั้งหนึ่งและการแก้เพิ่มเติมน่าจะถูกย้อนอีกเช่นเดิม ให้สร้างส่วนใหม่ในหน้าคุยที่สัมพันธ์เพื่ออภิปรายปัญหา

ผ่านการอภิปราย

เมื่อไม่สามารถบรรลุความเห็นตรงกันได้ผ่านการแก้ไขอย่างเดียว กระบวนการสร้างความเห็นพ้องจะชัดแจ้งมากขึ้น โดยผู้เขียนเปิดส่วนหนึ่งในหน้าคุยที่สัมพันธ์และพยายามระงับข้อพิพาทผ่านการอภิปราย ที่ซึ่งผู้เขียนพยายามชักจูงผู้อื่นโดยใช้เหตุผลที่ยึดตามนโยบาย แหล่งข้อมูลและสามัญสำนึก นอกจากนี้ยังสามารถเสนอทางออกทางอื่นหรือประนีประนอมที่อาจช่วยแก้ความกังวลทุกอย่าง ผลอาจให้เกิดข้อตกลงที่อาจไม่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ทั้งหมด แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นทางออกที่สมเหตุผล

ความเห็นพ้องเป็นกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในวิกิพีเดีย ในหลายครั้ง การยอมรับข้อสรุปที่อาจไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ดีที่สุด โดยพิจารณาต่อไปว่าหน้าดังกล่าวจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการดีกว่าการพยายามให้ใช้ตามรุ่นใดรุ่นหนึ่งของหน้าดังกล่าวที่ดีที่สุดโดยทันที เนื่องจากคุณภาพของบทความที่ผู้เขียนมีข้อถกเถียงมักจะด้อยกว่าบทความที่ผู้เขียนพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในระยะยาวได้

เมื่อผู้เขียนประสบความยากลำบากในการบรรลุความเห็นพ้อง มีกระบวนการหลายอย่างสำหรับการสร้างความเห็นพ้อง และกระบวนการที่สุดโต่งกว่านั้นจะต้องใช้มาตรการอำนาจเพื่อยุติข้อพิพาท ทว่า พึงระลึกว่าผู้ดูแลระบบให้ความสนใจกับนโยบายและพฤติกรรมของผู้เขียนเป็นหลักและจะไม่ตัดสินปัญหาด้านเนื้อหาโดยใช้อำนาจ ผู้ดูแลระบบอาจบล็อกผู้เขียนที่มีพฤติกรรมขัดขวางกระบวนการความเห็นพ้อง (เช่น สงครามแก้ไข, การใช้หลายบัญชีในทางที่ผิด, หรือขาดความเป็นอารยะ) นอกจากนี้ยังอาจตัดสินใจว่าการแก้ไขได้ได้รับอนุญาตหรือไม่ภายใต้นโยบาย แต่ปกติไม่กระทำการเกินกว่านั้น

การสร้างความเห็นพ้อง

ผู้เขียนที่รักษาทัศนคติเป็นกลาง แยกแยะกับเรื่องส่วนตัวและมีอารยะปกติสามารถบรรลุความเห็นพ้องในบทความได้ผ่านกระบวนการที่อธิบายข้างต้น กระนั้น บางทีอาจพบทางตันไม่ว่าเพราะไม่สามารถหาเหตุที่สมเหตุสมผลในการระงับข้อพิพาทหรือเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายใช้อารมณ์ หรือมุ่งมั่นกับการเอาชนะข้อโต้แย้ง ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะการระงับข้อพิพาทที่จัดการได้ยาก ร่วมกับคำอธิบายกระบวนการทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่อาจช่วยได้

ในหน้าคุย

ในการตัดสินความเห็นพ้อง ให้พิจารณาจากคุณภาพของการให้เหตุผล ประวัติเป็นมาของวิธีได้มาซึ่งความเห็นพ้องนั้น ข้อคัดค้านของผู้ไม่เห็นด้วย และนโยบายและแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม คุณภาพของการให้เหตุผลสำคัญกว่าว่าความเห็นนั้นเป็นมุมมองข้างน้อยหรือข้างมาก การให้เหตุผล "ฉันไม่ชอบ" หรือ "ฉันชอบ" ไม่มีน้ำหนักโดยสิ้นเชิง

ให้สงวนหน้าคุยของบทความไว้สำหรับอภิปรายแหล่งข้อมูล ความสนใจของบทความและนโยบาย หากการแก้หนึ่งถูกคัดค้าน หรือน่าจะถูกคัดค้าน ผู้เขียนควรใช้หน้าคุยเพื่ออธิบายว่าเหตุใดการเพิ่ม เปลี่ยนหรือลดนั้นช่วยปรับปรุงบทความและสารานุกรมโดยรวม อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเห็นพ้องหากไม่มีผู้ใดคัดค้านการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนที่เพิกเฉยต่อการอภิปรายหน้าคุยแต่ยังแก้ไขหรือย้อนในเนื้อความที่พิพาท หรือปิดกั้นการอภิปราย ย่อมมีความผิดฐานแก้รบกวนและย่อมถูกมาตรการบังคับ และผู้อื่นสามารถแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อให้มีมาตรการต่อผู้ใช้นั้นได้

ทั้งนี้ ไม่อาจสันนิษฐานความเห็นพ้องได้เนื่องจากผู้เขียนไม่ตอบการอภิปรายหน้าคุยในกรณีที่ได้เข้าร่วมแล้วเสมอไป

เป้าหมายของการอภิปรายสร้างความเห็นพ้องคือการระงับข้อพิพาทในวิถีที่สะท้อนเป้าหมายและนโยบายของวิกิพีเดีย พร้อมกับทำให้ผู้มีส่วนร่วมไม่พอใจน้อยที่สุดเท่าที่ได้ ผู้เขียนที่มีทักษะทางสังคมดีและทักษะการเจรจาดีมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ไม่มีอารยะต่อผู้อื่น

โดยการชักชวนความเห็นภายนอก

ปกติเมื่อผู้เขียนสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันในประเด็นหนึ่ง ๆ ได้ และการอภิปรายหน้าคุยล้มเหลว วิกิพีเดียมีกระบวนการที่สถาปนาไว้เพื่อดึงดูดผู้เขียนภายนอกเพื่อให้ความเห็น มักมีประโยชน์เพื่อแก้ไขทางตันที่ไม่ซับซ้อนและสุจริตใจ เพราะผู้เขียนที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถนำมาซึ่งทัศนะใหม่ ๆ และสามารถช่วยผู้เขียนที่เกี่ยวข้องให้เห็นข้อประนีประนอมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยตนเองไม่ได้ ทรัพยากรหลักมีดังนี้

ความเห็นบุคคลที่สาม (3O)
บุคคลภายนอกที่เป็นกลางจะให้คำแนะนำที่ไม่ผูกมัดในข้อพิพาทนั้น สงวนไว้สำหรับกรณีที่มีคู่พิพาทสองคน
กระดานประกาศประชาคม (RfC)
วางประกาศที่ใช้ภาษาเป็นกลางและเป็นทางการในหน้าคุยของบทความเพื่อเชิญชวนผู้อื่นให้เข้าร่วมซึ่งจะมีการรวมเข้าสู่กระดานประกาศ
สภากาแฟ
การแจ้งข้อพิพาทด้วยคำที่เป็นกลางในที่นี้อาจช่วยดึงดูดผู้เขียนเพิ่มเติมที่อาจให้ความช่วยเหลือได้

การอภิปรายดังกล่าวหลายที่จะเกี่ยวข้องกับการหยั่งเสียง (poll) ในทางใดทางหนึ่ง แต่ความเห็นพ้องจะตัดสินจากคุณภาพของการให้เหตุผล (ไม่ใช่เพียงนับเสียงข้างมากอย่างเดียว) การหยั่งเสียงควรถือเป็นการอภิปรายอย่างหนึ่งไม่ใช่การออกเสียง (vote) การให้เหตุผลที่มีคำอธิบายจุดยืนโดยใช้นโยบายและแนวปฏิบัติของวิกิพีเดียเป็นที่ตั้งจะได้รับน้ำหนักสูงสุด

การแทรกแซงของผู้ดูแลระบบและชุมชน

ข้อพิพาทบางกรณีเป็นข้อพิพาทส่วนบุคคลหรือข้อพิพาททางอุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเนื้อหาเท่านั้น และอาจต้องการการแทรกแซงของผู้ดูแลระบบหรือชุมชุนโดยรวม ผู้ดูแลระบบจะไม่วินิจฉัยเรื่องเนื้อหา แต่อาจแทรกแซงเพื่อบังคับใช้นโยบาย (เช่น นโยบายชีวประวัติของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่) หรือเพื่อกำหนดมาตรการบังคับต่อผู้เขียนที่รบกวนกระบวนการความเห็นพ้อง บางทีการขอให้ผู้ดูแลระบบช่วยจัดการผ่านทางหน้าคุยของบทความนั้น ๆ ก็เพียงพอแล้ว เพราะผู้ดูแลระบบมักมีหน้าที่เฝ้าดูอยู่จำนวนมากจึงมีโอกาสที่ผู้ดูแลระบบอาจพบเห็นและตอบสนอง อย่างไรก็ดี ทรัพยากรอันเป็นที่ยอมรับสำหรับทำงานร่วมกับผู้เขียนที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กันมีดังนี้

กระดานประกาศแจ้งความของผู้ดูแลระบบ (ANI) และหน้าแจ้งผู้ดูแลระบบทั่วไป (AN)
ทั้งสองเป็นกระดานประกาศสำหรับผู้ดูแลระบบ เป็นหน้าที่มีความเคลื่อนไหวสูงและควรใช้แต่น้อย ใช้ AN สำหรับปัญหาที่ต้องการให้ผู้ดูแลระบบรับทราบแต่ไม่ต้องการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยพลัน ใช้ ANI สำหรับปัญหาเร่งด่วน อย่าใช้หากไม่จำเป็น

ข้อผิดพลาด

มักพบข้อผิดพลาดของผู้เขียนทั่วไปขณะกำลังสร้างความเห็นพ้องดังนี้

  • การอภิปรายนอกวิกิ: โดยทั่วไปเราคัดค้านการอภิปรายในเว็บไซต์อื่น เว็บฟอรัม แชต อีเมล เป็นต้น นอกโครงการ และจะไม่นำมาพิจารณาเมื่อตัดสินความเห็นพ้องในวิกิ บางกรณี การสนทนานอกวิกิอาจก่อให้เกิดข้อกังขาและความหวาดระแวง การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับวิกิพีเดียเกือบทั้งหมดควรจัดในวิกิพีเดียเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเห็นได้
  • การใช้หุ่นเชิด: ความพยายามใด ๆ ในการรวบรวมผู้มีส่วนร่วมในการอภิปรายของชุมชุนที่มีผลทำให้การอภิปรายนั้นมีอคติถือว่าไม่เหมาะสม แม้การเชิญชวนบุคคลเข้าร่วมการอภิปรายเพื่อให้ได้วิจารณญาณและการให้เหตุผลใหม่ ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การเชิญชวนเฉพาะบุคคลที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อมุมมองใดมุมมองหนึ่ง หรือการเชิญชวนบุคคลในทางที่จะทำให้ความเห็นของพวกเขาในประเด็นนั้น ๆ มีอึคิถือว่ายอมรับไม่ได้ การใช้บุคคลที่สอง ("หุ่นเชิด") เพื่อมีอิทธิพลต่อความเห็นพ้องเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด อนุญาตให้ส่งสารที่ให้สารสนเทศและเป็นกลางต่อป้ายประกาศหรือผู้เขียนใด ๆ ในวิกิพีเดียได้ แต่การกระทำที่อาจถูกตีความอย่างสมเหตุสมผลได้ว่าพยายาม "ยัดเยียดกล่องเลือกตั้ง" หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจขัดขวางกระบวนการสร้างความเห็นพ้องถือว่าเป็นการแก้ไขที่รบกวน
  • การแก้ไขที่สร้างข้อพิพาท: การเสาะแสวงเป้าหมายทางบรรณาธิการอย่างก้าวร้าวต่อเนื่องถือว่าเป็นการรบกวน และควรเลี่ยง ผู้เขียนควรฟัง ตอบสนองและร่วมมือกันเพื่อสร้างบทความให้ดีขึ้น ผู้เขียนที่ปฏิเสธให้เกิดความเห็นพ้องใด ๆ ยกเว้นความเห็นที่ตนยืนกรานเท่านั้น และผู้ประวิงเวลาไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการความเห็นพ้อง
  • การตระเวนถาม การตระเวนหาผู้ดูแลระบบ และการโฆษณาชักจูง: การยกประเด็นเดิม ๆ ในกระดานประกาศและหน้าคุยหลายที่ หรือแจ้งผู้ดูแลระบบหลายคน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการหาและบรรลุความเห็นพ้อง คำที่ใช้ในป้ายประกาศและหน้าคุยจะต้องเขียนให้เป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องและความเห็นเพิ่มเติมที่เป็นกลาง ถ้ามีหลายประเด็น การยกแต่ละประเด็นในหน้าที่ถูกต้องอาจสมเหตุสมผล แต่ในกรณีนั้นปกติควรให้ลิงก์เพื่อแสดงว่าคุณยกปัญหานั้นขึ้นที่ใดจึงจะดีที่สุด

การตัดสินความเห็นพ้อง

ความเห็นพ้องหาได้จากคุณภาพของการให้เหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ ในประเด็นหนึ่ง ๆ โดยมองจากนโยบายวิกิพีเดีย

ระดับของความเห็นพ้อง

ความเห็นพ้องในกลุ่มผู้ใช้กลุ่มเล็ก ในกาลเทศะหนึ่ง ไม่สามารถมีผลเหนือความเห็นพ้องของชุมชนในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น หากผู้เข้าร่วมในโครงการวิกิหนึ่งไม่สามารถชักจูงให้ชุมชนวงกว้างเชื่อว่าการกระทำอย่างหนึ่งถูกต้องได้ ก็ไม่สามารถวินิจฉัยให้นโยบายหรือแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปไม่มีผลต่อบทความในขอบเขตของโครงการวิกินั้นไม่ได้ หน้าแนะนำ หน้าบอกวิธีและสารสนเทศ และเอกสารประกอบแม่แบบไม่ได้รับการอนุมัติจากชุมชนผ่านกระบกวนการเสนอนโยบายและแนวปฏิบัติ จึงมีสถานะไม่ต่างจากเรียงความ

วิกิพีเดียมีมาตรฐานการมีส่วนร่วมและความเห็นพ้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวปฏิบัติ เสถียรภาพและความเข้ากันได้ของนโยบายและแนวปฏิบัติทั้งหลายมีความสำคัญต่อชุมชน ฉะนั้นผู้เขียนมักเสนอการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในหน้าคุยให้มีการอภิปรายก่อนจึงนำการเปลี่ยนแปลงนั้นไปปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงแบบขอให้กล้านั้นมักไม่เป็นที่ยินดีต้อนรับในหน้านโยบาย การปรับปรุงนโยบายควรเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อนไปจึงดีที่สุด โดยพยายามอย่างกระตือรือร้นในการเสาะแสวงความเห็นเพิ่มเติมและความลงรอยจากผู้อื่น

ไม่มีความเห็นพ้อง

บางทีการอภิปรายจบลงโดยไม่มีความเห็นพ้องว่าจะกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นแล้วแต่บริบท

  • ในกระบวนการลบ หากไม่มีความเห็นพ้องปกติส่งผลให้บทความ หน้า ภาพหรือเนื้อหาอื่นไม่ถูกลบ
  • เมื่อปฏิบัติการของผู้ดูแลระบบถูกคัดค้านแล้วการอภิปรายจบลงโดยไม่มีความเห็นพ้องสนับสนุนปฏิบัติการนั้นหรือให้ย้อนปฏิบัติการนั้น ปกติจะให้ย้อนปฏิบัติการนั้น

ความเห็นพ้องสามารถเปลี่ยนได้

ผู้เขียนอาจเสนอการเปลี่ยนแปลงความเห็นพ้องปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อยกเหตุผลหรือกรณีแวดล้อมซึ่งเดิมไม่ได้พิจารณาไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง การเสนอการเปลี่ยนแปลงความเห็นพ้องที่เพิ่งตกลงกันไปหมด ๆ อาจเป็นการรบกวนได้

ผู้เขียนอาจเสนอการเปลี่ยนแปลงความเห็นพ้องโดยการอภิปรายหรือการแก้ไขก็ได้ แต่ในกรณีส่วนใหญ่ผู้เขียนซึ่งทราบการเปลี่ยนที่เสนอจะดัดแปรปัญหาที่ระงับแล้วในการอภิปรายที่ผ่านมาควรเสนอการเปลี่ยนแปลงนั้นผ่านการอภิปราย ผู้เขียนทีย้อนการเปลี่ยนแปลงที่เสนอด้วยการแก้ไขควรเลี่ยงคำอธิบายห้วน ๆ (เช่น "ขัดต่อความเห็นพ้อง") ซึ่งให้คำชี้แจงเพียงเล็กน้อยต่อผู้เขียนที่กำลังเสนอการเปลี่ยนแปลง อาจแก้ด้วยวิธีใส่ลิงก์ไปยังการอภิปรายที่ก่อเกิดความเห็นพ้องนั้น

คำวินิจฉัยที่ไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องของผู้เขียน

นโยบายและคำวินิจฉัยบางอย่างที่มาจากมูลนิธิวิกิมีเดีย ("มูลนิธิฯ") เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อยู่นอกเหนือขอบเขตของความเห็นพ้องระหว่างผู้เขียน

  • มูลนิธิฯ มีการควบคุมทางกฎหมาย และความรับผิดต่อวิกิพีเดีย คำวินิจฉัย คำวินิจฉัยชี้ขาดและการกระทำของคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบมีลำดับเหนือกว่าและมาก่อนความเห็นพ้อง ความเห็นพ้องในหมู่ผู้เขียนซึ่งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทำละเมิดนโยบายมูลนิธิวิกิมีเดีย อาจสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรต่อมูลนิธิฯ
  • บางปัญหาซึ่งอาจดูเหมือนอยู่ภายใต้ความเห็นพ้องของชุมชน ณ วิกิพีเดียภาษาไทย (th.wikipedia.org) นั้นแท้จริงแล้วอยู่ในอีกโดเมนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ รวมทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิวิกิมีเดียที่ได้รับค่าจ้างและอาสาสมัคร และกิจกรรมของวิกิมีเดียคอมมอนส์เป็นเอนทิตีต่างหาก เช่นเดียวกับวิกิพีเดียอีกหลายภาษานอกเหนือจากภาษาไทย ชุมชนเหล่านี้เป็นเอกเทศและมีฐานะเท่ากันและดำเนินการตามที่เห็นจำเป็นหรือสมควร เช่น เพิ่ม ลบหรือเปลี่ยนคุณลักษณะซอฟต์แวร์ หรือยอมรับหรือปฏิเสธภาพ แม้การกระทำของชุมชนดังกล่าวจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้เขียนวิกิพีเดียภาษาไทย ทั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ ว่าคำวินิจฉัยที่โครงการนี้มีนั้นมีผลใช้บังคับเฉพาะต่อชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยที่กำกับตนเองเท่านั้น

ประวัติ

  • วันที่ 6 มีนาคม 2562 มีการเสนอร่างนโยบายดังกล่าวโดยเปิดให้ชุมชนแสดงความเห็นเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย 3 คน ไม่มีข้อคัดค้านเพิ่มเติม แต่เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมอภิปรายน้อยจึงผ่านร่างฯ เป็นนโยบายเฉพาะส่วนที่ยึดเป็นหลักปฏิบัติในวิกิพีเดียโดยสภาพอยู่แล้วไปก่อน