คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Faculty of Archaeology, Silpakorn University) เป็นคณะวิชาลำดับที่ 3 ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2498
Faculty of Archaeology, Silpakorn University | |
คติพจน์ | "ศึกษามนุษย์ ขุดค้นก้าวหน้า ภาษาเชี่ยวชาญ สืบสานศิลปวัฒนธรรม" |
---|---|
สถาปนา | 12 มิถุนายน พ.ศ. 2498 |
คณบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ |
ที่อยู่ | คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เลขที่ 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร เลขที่ 8 ซอยเส้นทางลัดสาย 2 ถนนพัฒนาการ แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170 |
วารสาร | วารสารดำรงวิชาการ |
สี | สีดอกอัญชัน[1] |
มาสคอต | พระคเณศ |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้"คณะโบราณคดี" ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักให้เป็นคณะวิชาที่ผลิตครู อาจารย์ และนักโบราณคดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในกองโบราณคดีของ กรมศิลปากร หรืองานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดี หลักสูตรและการเรียนการสอนในคณะโบราณคดีระยะแรกนั้นเป็นหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นด้านการผลิตนักวิชาการสาขาโบราณคดีเท่านั้น
ในแรกเริ่ม คณะโบราณคดีมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อสนับสนุนให้ผู้สนใจ และมีสติปัญญาก้าวหน้าขึ้นไปเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี รวมทั้งการผลิตบัณฑิตเพื่อเข้ารับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร นักโบราณคดีและครูอาจารย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดี เนื่องจากเล็งเห็นว่าในประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโบราณวัตถุสถานอยู่เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุสถานเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาติ เป็นเครื่องผูกพันและช่วยกระตุ้นเตือนให้คนในชาติรู้สึกภาคภูมิใจ รักชาติมุ่งมานะที่จะรักษาเอกราชของชาติให้ดำรงคงอยู่ตลอดกาล การศึกษาโบราณคดี เท่ากับเป็นการช่วยรักษาวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติไว้มิให้สูญหาย จึงควรมีบุคลากรที่สามารถศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจและรักษาโบราณวัตถุโบราณสถานของชาติไว้ หลักสูตรและการเรียนการสอนในคณะโบราณคดีระยะแรก ๆ จึงเป็นการเน้นผลิตนักวิชาการสาขาโบราณคดีเท่านั้น
พ.ศ. 2496 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเตรียมคณะโบราณคดีขึ้นอีกแผนกหนึ่ง ในโรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ปัจจุบันคือ วิทยาลัยช่างศิลป ในครั้งนั้นโรงเรียนศิลปศึกษา แบ่งเป็น 3 แผนกคือ จิตรกรรม โบราณคดี และช่างสิบหมู่ เตรียมคณะโบราณคดีมีหลักสูตร 3 ปี ผู้ที่เรียนจบชั้นปีที่ 2 ถ้าสอบได้คะแนนถึงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ก็จะมีสิทธิที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับผู้ที่สอบได้คะแนนไม่ถึงหรือต้องการประกอบอาชีพ ไม่ต้องการที่จะเรียนต่อ ในมหาวิทยาลัยก็เรียนต่อจนจบชั้นปีที่ 3 ก็จะได้รับประกาศนียบัตรเทียบเท่าชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน (ม.8 เดิม)
สถานที่เรียนเมื่อครั้งเป็นโรงเรียนศิลปศึกษานั้น ใช้อาคารเก่าของ กระทรวงคมนาคม ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ โรงละครแห่งชาติ ปัจจุบัน นักเรียนเตรียมโบราณคดีรุ่นแรกมีทั้งหมด 4 คน หญิง 1 คน ชาย 3 คน มีอาจารย์ที่สอนคือ ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี อาจารย์ เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์ จิรา จงกล ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล รายพระนามและรายนามอาจารย์ที่กล่าวมานี้คงเป็นที่รู้จักของนักศึกษาโบราณคดีเป็นอย่างดี สำหรับวิชาสามัญต่าง ๆ ได้แก่ภาษาอังกฤษ ฯลฯ เรียนรวมกันทั้ง 3 แผนก คือ จิตรกรรม โบราณคดี และช่างสิบหมู่
พ.ศ. 2498 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปิดคณะโบราณคดี ขึ้นเป็นคณะวิชาที่ 3 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร สถานที่เรียนของคณะโบราณคดีในขณะนั้นยังอยู่ที่โรงเรียนศิลปศึกษา บางครั้งได้อาศัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นที่ทำการชั่วคราวด้วย เมื่อตั้งคณะโบราณคดีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 นั้น คณะโบราณคดียังไม่มีอาจารย์ประจำ อาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการจากกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังมีอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยศิลปากร และจาก กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
พ.ศ. 2503 คณะโบราณคดีได้ย้ายมาอยู่บริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบัน
พ.ศ. 2507 ย้ายมาอยู่ตำหนักพรรณราย บริเวณ วังท่าพระ ซึ่งปัจจุบันเป็นหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2521 ย้ายมาอยู่ที่อาคารคณะโบราณคดีได้ในปัจจุบัน และใน พ.ศ. 2520 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ดำเนินการสอนโดยภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีการศึกษา 2520 และทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2521
อาคารเรียน
แก้นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตลอดหลักสูตรทั้ง 4 ปี โดยมีอาคารที่มักใช้เรียนทั้งหมด 3 อาคารเรียน ส่วนการขุดค้นหรือการศึกษานอกสถานที่จะเป็นกรณีพิเศษของนักศึกษาในวิชาเอกโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และมานุษยวิทยา โดย 3 อาคารเรียนที่ใช้มีดังนี้
- อาคารคณะโบราณคดี วังท่าพระ – เป็นอาคารเรียนหลักของคณะโบราณคดี โครงสร้างอาคารเป็นอาคารเรียนสูง 5 ชั้น โดยนักศึกษาทุกวิชาเอกจะทำการศึกษาที่อาคารนี้ หน้าอาคารจะมีสนามบาสเกตบอล ใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การชนช้าง หรือการเชียร์โต้ของแต่ละคณะในวังท่าพระ รวมถึงใช้เป็นที่จอดรถในกรณีที่ที่จอดรถไม่เพียงพอ
- หอประชุมและศูนย์เรียนรวม วังท่าพระ – ในส่วนของหอประชุมใช้เพื่อสำหรับการเรียนการสอนในวิชาศึกษาทั่วไปหรือวิชาที่มีนักศึกษาลงเป็นจำนวนมาก รองรับนักศึกษาได้ราว ๆ 300 คน และอาคารศูนย์รวมนั้นแท้จริงเป็นอาคารของ คณะมัณฑนศิลป์ แต่ได้มีการแบ่งชั้นใต้ดิน ชั้น 1 และชั้น 2 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรวมของนักศึกษา เพื่อรองรับความแออัด
- ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร – ตั้งอยู่ที่คลองทวีวัฒนา มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานเสริมแก่คณะโบราณคดี ภาควิชาภาษาตะวันออก ในด้านการให้ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย จะได้ทำการศึกษาที่ศูนย์สันสกฤตศึกษาเป็นครั้งคราว
นอกจาก 3 อาคารนี้แล้ว คณะโบราณคดี ยังมีอาคารคณะอีกแห่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เนื่องจากในตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยมีความเห็นให้ย้ายคณะโบราณคดีมาศึกษาที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบจากอาจารย์คณะโบราณคดีรวมถึงนักศึกษาส่วนใหญ่ ทำให้ล้มเลิกไป จึงมีการใช้อาคารคณะโบราณคดีที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีในโอกาสต่าง ๆ ตามความเหมาะสมรวมถึงกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ แทน ส่วนคณะโบราณคดีก็ให้ทำการเรียนการสอนที่วังท่าพระตามเดิม
เพลงประจำคณะ
แก้เพลงของคณะโบราณคดีนั้นถูกแต่งไว้มากกว่า 20 เพลง เพื่อใช้ในกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เช่น การชนช้างหรือการเข้าค่ายคณะ เป็นต้น แต่เพลงที่ได้รับการยอมรับและถือเป็นเพลงประจำคณะคือเพลง "แววมยุรา" ซึ่งถูกแต่งโดย พิเศษ สังข์สุวรรณ ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี เพลงแววมยุราถูกแต่งขึ้นในช่วงที่เรียกว่าเป็นช่วงวิกฤตของคณะก็ว่าได้ เนื่องจากในช่วง พ.ศ. 2513 มีแนวโน้มจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าต้องการให้คณะโบราณคดีถูกยุบไปรวมกับ คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งก็ถูกหลายฝ่ายค้านไว้ โดยเฉพาะนักศึกษาคณะโบราณคดีที่ได้ออกมาคัดค้านอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของเพลงแววมยุราที่ในเพลงมีการแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่คณะโบราณคดีถูกมองข้ามและไม่ได้รับการเหลียวแลหรือเห็นค่าพิเศษ สังข์สุวรรณยังได้เปรียบเปรยดอกแววมยุราซึ่งเป็นดอกของผักตบชวา ที่แม้ผักตบชวาจะล่องลอยไปตามน้ำอย่างไร้ค่าแต่เมื่อผลิดอกสีม่วงและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทุกคนก็จะเห็นค่าของมัน เฉกเช่นเดียวกับชาวคณะโบราณคดีที่ในตอนนั้นไม่ได้รับความเห็นค่า แต่หากสามัคคีและช่วยกันผ่านวิกฤตไปด้วยกันก็จะเป็นดอกแววมยุราที่งดงาม และดอกแววมยุรายังมีสีม่วงเฉกเช่นเดียวกับสีคณะโบราณคดีอีกด้วย
นอกจากนี้เพลง "สวัสดีศิลปากร" ยังเป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกแต่งโดยคณะโบราณคดี ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2538 จึงได้มีการแต่งเพลงนี้เพื่อใช้ในการหาเงินบริจาคให้ผู้ประสบภัย ภายหลังก็ได้มีการใช้เพลงนี้ในทุกกิจกรรมและใช้ร้องกันในทุกคณะของมหาวิทยาลัยศิลปากร
หน่วยงาน
แก้- สำนักงานคณบดี
- ภาควิชาโบราณคดี
- ภาควิชาภาษาตะวันออก เก็บถาวร 2022-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาควิชาภาษาตะวันตก
- ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ
- ภาควิชามานุษยวิทยา
- ภาควิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
- ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี
ศูนย์สันสกฤตศึกษา
แก้ศูนย์สันสกฤตศึกษา เป็นหน่วยงานของคณะโบราณคดี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 มีภารกิจหลักในการส่งเสริม ให้ความรู้ และจัดการเรียนการสอนภาษาสันสกฤต และวิชาที่เกี่ยวข้องให้แก่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ก่อตั้งขึ้นตาม "แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8" โดยมีความเห็นชอบจากที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 4/2539 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษาขึ้นเป็นการภายใน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สันสกฤตศึกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และเป็นผู้อำนวยการคนแรก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
หลักสูตร
แก้
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)
|
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ทำเนียบคณบดี
แก้รายพระนามและรายนามคณบดีคณะโบราณคดี | ||
---|---|---|
ลำดับ | คณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) | พ.ศ. 2498 – พ.ศ. 2504 | |
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล | รักษาราชการแทนคณบดี 1 กันยายน พ.ศ. 2504 – 1 เมษายน พ.ศ. 2508[2] 2 เมษายน พ.ศ. 2508 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2516[3] 19 มีนาคม พ.ศ. 2516 – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (ลาออก)[4] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอก เสนีย์ วิลาวรรณ | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2518 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2521[5] | |
รองศาสตราจารย์ ไขศรี ศรีอรุณ | 4 มีนาคม พ.ศ. 2521 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2525[6] | |
อาจารย์ พุฒ วีระประเสริฐ | 4 มีนาคม พ.ศ. 2525 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (ลาออก)[7] 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529 – 30 กันยายน พ.ศ. 2533[8] | |
อาจารย์ จำลอง สารพัดนึก | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2527 – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2529[9] | |
อาจารย์ วีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 – 30 กันยายน พ.ศ. 2535 (ลาออก)[10] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติชาย ร่มสนธิ์ | รักษาราชการแทนคณบดี 1 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2535[11] | |
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2535 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2539[12] 7 ตุลาคม พ.ศ. 2543 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2547[13] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิบูล ศุภกิจวิเลขการ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2539 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2543[14] | |
รองศาสตราจารย์ สุรพล นาถะพินธุ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551[15] รักษาการคณบดี 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551[16] | |
รองศาสตราจารย์ สายันต์ ไพรชาญจิตร์ | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 30 กันยายน พ.ศ. 2553[17] รักษาราชการแทน 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554[18] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพ็ญพรรณ เจริญพร | 1 มีนาคม พ.ศ. 2554 – 30 เมษายน พ.ศ. 2556[19] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว | รักษาราชการแทน 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 – 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556[20] 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[21] | |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน |
- หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
เกร็ด
แก้- คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคณะโบราณคดีแห่งเดียวในประเทศไทย
- สาขาวิชาภาษาอังกฤษและสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ไม่ได้สอนภาษาโบราณหรือโบราณคดีภาคภาษาต่างประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นการสอนให้ใช้ภาษาได้อย่างเชี่ยวชาญเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับคณะมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ หรือคณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นทุกประการ
อ้างอิง
แก้- ↑ สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 21/2501 ลงวันที่ 5 กันยายน 2501
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เมษายน 2508
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 80/2516 ลงวันที่ 5 เมษายน 2516
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 207/2518 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2518
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 126/2521 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2521
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 141/2525 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2525
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 766/2529 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2529
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 701/2527 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2527
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 767/2533 ลงวันที่ 5 กันยายน 2533
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 906/2535 ลงวันที่ 28 กันยายน 2535
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 941/2535 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2535
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 891/2543 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2543
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 949/2539 ลงวันที่ 6 กันยายน 2539
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 937/2547 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2547
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 1635/2551 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2551
- ↑ คำสั่ง มศก.ที่ 1635/2551 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2551
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 1333/2553 ลงวันที่ 20 กันยายน 2553
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 239/2554 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 619/2556 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556
- ↑ คำสั่ง มศก. ที่ 1882/2556 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556