หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546) เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีชาวไทย ทรงเป็นบุคคลคนแรกที่พบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา จนมีการทวงทับหลังชิ้นกลับคืนสู่ประเทศไทย ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลไทยที่ทรงมีคุณูปการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีไทย

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
หม่อมเจ้า ชั้น 4
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำรงตำแหน่ง1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2529
ก่อนหน้าหม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ ทองใหญ่
ถัดไปเอนก วีรเวชชพิสัย
ประสูติ23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466
สิ้นชีพิตักษัย6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 (79 ปี)
หม่อมหม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา
พระบุตรหม่อมราชวงศ์สุภาณี ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์อรอนงค์ ดิศกุล
หม่อมราชวงศ์อภิรดี ดิศกุล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา

พระประวัติ

แก้

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล มีพระนามลำลองว่า ท่านชายปาน[1] เป็นพระโอรสลำดับที่ 31 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม: สนธิรัตน์) ประสูติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เมื่อทรงพระเยาว์ ช่วงพระชันษา 1–11 ปี ได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

ในปี พ.ศ. 2501 เสกสมรสกับหม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม: อินทรทูต; เป็นบุตรสาวของพระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) กับหม่อมหลวงอรุณ สนิทวงศ์)[2] มีโอรสและธิดาด้วยกัน 4 คนได้แก่[1]

  1. หม่อมราชวงศ์สุภาณี ดิศกุล สมรสกับพรวุฒิ สารสิน มีบุตรธิดาสองคน
  2. หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช ดิศกุล สมรสกับจุไรรัตน์ (สกุลเดิม: ภิรมย์ภักดี) มีบุตรธิดาสามคน
  3. หม่อมราชวงศ์อรอนงค์ ดิศกุล สมรสกับโรจนฤทธิ์ เทพาคำ มีธิดาสองคน
  4. หม่อมราชวงศ์อภิรดี ดิศกุล สมรสกับ พันตรี ศยาม จันทรวิโรจน์ มีบุตรหนึ่งคน

การศึกษา

แก้

ทรงศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนขัตติยานีผดุง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทาง ด้านอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ ระดับปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อปี พ.ศ. 2491 ศ. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้รับทุนจากบริติชเคาน์ซิล (British Council) ให้ไปดูงานเป็นเวลา 3 เดือน ที่พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดี ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงได้รับทุนจากรัฐบาลไทย เข้าศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โรงเรียนลูฟร์ (École du Louvre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ สถาบันโบราณคดี (Institute of Archaeology) มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ศึกษาได้ 2 ปี ยังไม่ได้ทรงจบหลักสูตรปริญญาเอก ก็เสด็จกลับประเทศไทย

ผลงาน และหน้าที่

แก้

สิ้นชีพิตักษัย

แก้

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัย เมื่อเวลา 07.15 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยโรคพระหทัยวาย (หัวใจวาย) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ณ ศาลาบัณณรภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

การทำงานเป็นผู้วางรากฐานวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์

แก้

เดิมศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางอนาคตไปทางสายอาชีพครู จึงทรงศึกษาวิชาครูไว้ก่อนเข้ารับราชการ แต่เมื่อทรงรับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร ก็ทรงมีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่โปรดปราน ทั้งยั้งมีโอกาสได้ทรงศึกษาวิชาเฉพาะทางคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และโบราณคดีในภาษาต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อรวมความรู้จากการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และการที่ทรงค้นคว้าเพิ่มเติมส่วนพระองค์ตลอดเวลา จึงทำให้เป็นเลิศในวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ นับว่าเป็นนักปราชญ์พระองค์หนึ่ง ได้ทรงนำความรู้ทั้งหมดมาสร้างประโยชน์แก่วงการศึกษาไทย ดังนี้

พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ก่อตั้งการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นครั้งแรกในโรงเรียนศิลปศึกษาของกรมศิลปากร ทรงวางหลักสูตรการเรียนวิชานี้เช่นเดียวกับโรงเรียนลูฟร์ นักศึกษาต้องเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไปของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน และญี่ปุ่น ในการนี้ต้องทรงจัดทำตำราเรียนให้ด้วย เพราะยังไม่มีตำราภาษาไทยด้านนี้โดยตรง ทรงอุตสาหะแปลตำราจากภาษาต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทั้งยังทรงรับเป็นผู้สอนนักศึกษาด้วย

พ.ศ. 2507 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงย้ายจากกรมศิลปากรไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2519–2524 และดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2525–2529 หลังจากทรงเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ตั้ง พ.ศ. 2530–2535 เมื่อพ้นจากตำแหน่งนี้แล้วทรงได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานของกรมศิลปากร และยังทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษแก่สถาบันต่าง ๆ ทรงยุติงานค้นคว้าและงานสอนที่ทรงรักทั้งหมดลงใน พ.ศ. 2540 เนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุทำให้ประชวรหนัก

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลทรงได้รับการขนานพระนามจากบรรดาสานุศิษย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า ท่านอาจารย์ เป็นพระนามที่แสดงถึงความเคารพยกย่องและสนิทสนมรักใคร่ เพราะทรงเมตตาศิษย์อย่างเสมอภาคและวางพระองค์เรียบง่ายไม่ถือยศศักดิ์ สามารถเข้ากับบุคคลทั่วไปได้ทุกระดับชั้น ทรงเต็มพระทัยที่จะถ่ายทอดความรู้และเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ทั้งยังประทานคำแนะนำและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งมาจากการที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าจากหนังสือต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทรงนิพนธ์ตำราและบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เช่น ศิลปะอินเดีย ศิลปะชวา ศิลปะขอม ศิลปะในประเทศไทย เทวรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย เที่ยวเมืองลังกา ศิลปะอินโดนีเซียโบราณ ประติมากรรมขอม ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง Art in Thailand, A Brief History และ Thailand ในชุด Archeaological Mundi ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน เป็นต้น นอกจากทรงนิพนธ์ตำราความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังทรงจัดหาหนังสือทางวิชาการต่าง ๆ มาประทานแก่ห้องสมุดของคณะโบราณคดีตลอดจนห้องสมุดขององค์การสปาฟา (SPAFA) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดียิ่งขึ้นด้วย

การศึกษาที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวางรากฐานไว้ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น กล่าวกันว่าเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ นักศึกษาจะได้เรียนวิชาหลักและวิชาที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานแก่การศึกษาขั้นลึกซึ้งต่อไป ทรงเลือกสรรเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชามาเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่นักศึกษา เพื่อให้ได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งและถูกต้อง ในส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นครูที่ตรงต่อเวลา ถ่ายทอดวิชาโดยไม่ปิดบังและมีเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เพิ่มให้ด้วย ทรงพยายามที่จะให้นักศึกษาได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง หากต้องขาดสอนวิชาใด จะทรงสอนชดเชยให้ในวันหยุด ในการฝึกภาคปฏิบัติ อันได้แก่การขุดค้นทางโบราณคดี หรือการเดินทางไปศึกษาโบราณสถานและศิลปะ ณ สถานที่จริงในจังหวัดต่าง ๆ จะทรงเป็นผู้นำและผู้บรรยายให้ความรู้ทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังทรงเอื้ออาทรแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนโดยทรงจัดหาทุนการศึกษาให้จนสำเร็จการศึกษา ด้วยการจัดทัศนศึกษาหรืออื่น ๆ ส่นผู้ที่มีการเรียนดีเด่นด้านใดด้านหนึ่ง หากทรงเห็นว่าจะสามารถเป็นกำลังของชาติในการพัฒนางานด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะทรงจัดหาทุนให้ไปศึกษาเพิ่มเติมยังต่างประเทศต่อไป

พระเกียรติคุณของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เป็นที่ยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทรงได้รับเชิญไปร่วมการประชุม และบรรยายในประเทศต่าง ๆ หลายครั้ง ทรงได้รับเชิญไปสอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ทรงได้รับรางวัลในฐานะบุคคลสำคัญระหว่างชาติที่ได้ผลิตผลงานด้านวัฒนธรรมและความรู้เกี่ยวกับทวีปเอเชีย จากเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงได้รับเชิญให้ร่วมงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เช่น เป็นประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นอุปนายกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานมูลนิธิเจมส์ เอส. ดับเบิลยู ทอมป์สัน และนายกสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงมีความสามารถพิเศษในการอธิบายถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจง่าย ดังนั้น จึงมักจะทรงได้รับการทูลขอให้เป็นวิทยากรอบรมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่เสมอ ที่สำคัญคือได้ถวายคำบรรยายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จทอดพระเนตรโบราณวัตถุและโบราณสถานของชาติ และเมื่อมีประมุขของต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาล จะทรงได้รับมอบให้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์นำชุมโบราณวัตถุและโบราณสถาน ทุกครั้งจะทรงปฏิบัติภารกิจเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม เป็นที่ชื่นชมของผู้ที่มาเยือนอย่างยิ่งด้วยพระเกียรติคุณจึงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของไทย และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะยังมีผลงานด้านอื่นอันสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติอีก แต่ได้ทรงกล่าวไว้ในบทนิพนธ์พระประวัติของพระองค์เองว่า ผลงานหนึ่งที่ทรงภูมิใจที่สุดคือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเป็นพระองค์แรกที่เปิดสอนวิชานี้ในประเทศไทย ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าหลักสูตรของพระองค์ได้สร้างบุคลากรคุณภาพที่มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสมดังที่ทรงมุ่งหมาย[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "ชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล". ห้องสมุด ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2014.
  2. "สืบสาย "อินทรทูต" ใน 48 ปีแบงก์บีบีซี"". ผู้จัดการ. มกราคม 1993. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2022.
  3. ฉวีงาม มาเจริญ ใน "ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้วางรากฐานวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์". สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 21. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552. 409 หน้า. หน้า 148–152. ISBN 974-7770-60-1.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๗, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๒, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๕, ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๑๓, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้


ก่อนหน้า หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถัดไป
พลตรี หม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ ทองใหญ่   อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 10 สมัยที่ 1
(1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2527)
  สมัยที่ 2
สมัยที่ 1   อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 10 สมัยที่ 2
(1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2529)
  เอนก วีรเวชชพิสัย