คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Arts, Chulalongkorn University) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยเป็นหนึ่งในสี่คณะที่กำเนิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อแรกเริ่มมีชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ทำหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่คณะอื่น ๆ ต่อมาได้รับภาระผลิตครูมัธยมสายอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรประโยคครูมัธยม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 คณะอักษรศาสตร์จึงเริ่มเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ในปัจจุบันคณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Arts,
Chulalongkorn University
พระสุรัสวดี เทวีอักษรศาสตร์
ชื่อเดิมคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
สถาปนา26 มีนาคม พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-03-26)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์
ที่อยู่
254 อาคารบรมราชกุมารี ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
สี  สีเทา
เว็บไซต์www.arts.chula.ac.th

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของไทยในสาขาภาษาร่วมสมัย (อันดับที่ 101–150 ของโลก) ภูมิศาสตร์ (อันดับที่ 101–150 ของโลก) และภาษาศาสตร์ (อันดับที่ 151–200 ของโลก) จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject ปี ค.ศ. 2018[1]

ประวัติ

แก้

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดิมมีชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" เป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น (อีกสามคณะได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ (คณะรัฐศาสตร์)) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการพระองค์แรก (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้ทรงจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 ในระยะแรก การเรียนการสอนในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะเป็นการสอนรายวิชาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ จนในปี พ.ศ. 2471 จึงได้เปิดสอนวิชาอักษรศาสตร์เป็นหลักสูตรแรก มีระยะเวลาการศึกษา 3 ปี โดยในสองปีแรกจะเป็นการเรียนวิชาอักษรศาสตร์และปีสุดท้ายจะเป็นการเรียนวิชาครู ซึ่งผู้สำเร็จตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 จึงได้เปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์โดยมีระยะเวลาการศึกษาเท่ากับหลักสูตรวิชาอักษรศาสตร์

คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีการปรับปรุงด้านการบริหารและการเรียนการสอนหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกจากกันเป็น 2 คณะ และคณะอักษรศาสตร์ได้แบ่งการบริหารออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์และแผนกฝึกหัดครู แต่ในปีเดียวกันนั้นคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ได้กลับรวมกันเป็นคณะเดียวกันอีก แต่มีการแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 9 แผนก ได้แก่ แผนกวิชาสารบรรณและหอสมุด แผนกวิชาเคมี แผนกวิชาฟิสิกส์ แผนกวิชาชีววิทยา แผนกวิชาคณิตศาสตร์ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาปัจจุบัน แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาฝึกครู และในปี พ.ศ. 2477 ได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และเปิดสอนในขั้นหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตในปี พ.ศ. 2485

ในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังมีการบริหารรวมกันอยู่ และได้เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2491 ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ และแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 4 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ยังคงมีการบริหารงานรวมกับคณะวิทยาศาสตร์จนถึงปี พ.ศ. 2493 จึงได้แยกการบริหารออกเป็นอิสระจากกัน และมีการก่อตั้งแผนกใหม่คือ แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2498 กระทั่งปี พ.ศ. 2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้รับการยกฐานะเป็นคณะครุศาสตร์และแยกตัวออกไป ทำให้คณะได้กลับมาใช้ชื่อคณะอักษรศาสตร์อีกครั้ง และมีแบ่งแผนกวิชาใหม่ออกเป็น 6 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทย แผนกวิชาภาษาตะวันออก แผนกวิชาภาษาอังกฤษ แผนกวิชาภาษาตะวันตก แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ตลอดจนก่อตั้งแผนกวิชาใหม่ ๆ ตามเวลา ได้แก่ แผนกวิชาปรัชญาในปี พ.ศ. 2514 แผนกวิชาศิลปการละครในปี พ.ศ. 2515 และแยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกจากกัน[2]

อาคาร

แก้
  • อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ หรือที่เรียกติดปากว่า "เทวาลัย" เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ให้เป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ออกแบบโดย ดร.คาร์ล เดอห์ริง (Dr. Karl Dohring) นายช่างชาวเยอรมัน ซึ่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr. Edward Healey) นายช่างชาวอังกฤษ ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมการ โดยนำศิลปะไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลกมาคิดปรับปรุงขึ้นเป็นแบบของอาคาร ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่กำลังก่อสร้างเพื่อทรงวางศิลาพระฤกษ์ หลังจากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อาคารดังกล่าวใช้เป็นสำนักงานบริหารและเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ต่อมาอาคารดังกล่าวก็เปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกอักษรศาสตร์ 1" และ "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" ตามลำดับ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530[3]

  • อาคารมหาวชิราวุธ

อาคารมหาวชิราวุธ เดิมมีชื่อว่า "ตึกอักษรศาสตร์ 2" เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเลียนแบบสถาปัตยกรรมอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมีทางเชื่อมกับอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ทำให้มีลักษณะเป็นรูปสมมาตร ตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น โดยเพิ่มชั้นใต้ดินและชั้นใต้หลังคา ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักคณบดี แผนกธุรการต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์)

  • อาคารบรมราชกุมารี

อาคารบรมราชกุมารี เป็นอาคารเรียนรวมสายมนุษยศาสตร์ 15 ชั้น ถือเป็นอาคารเรียนหลักของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานภาควิชา และหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ (ชั้น 7–13) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ชั้น 14) ในการจัดสร้างอาคารบรมราชกุมารี ได้มีการทุบ "ตึกอักษรศาสตร์ 3" ซึ่งเป็นอาคารสูงเพียง 2 ชั้นตั้งอยู่ลานหน้าอาคารบรมราชกุมารีในปัจจุบัน เนื่องจากมีความทรุดโทรมและกีดขวางเส้นทางเข้าเขตก่อสร้างอาคารบรมราชกุมารี นิสิตอักษรศาสตร์จึงผูกพันเสมือนอาคารบรมราชกุมารีเป็นตึกอักษรศาสตร์ 3

  • อาคารมหาจักรีสิรินธร

หากไม่นับอาคารบรมราชกุมารีซึ่งบริหารโดยส่วนกลางของมหาวิทยาลัย อาคารมหาจักรีสิรินธร ถือเป็นอาคารลำดับที่ 5 ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งสร้างแทนที่ "ตึกอักษรศาสตร์ 4" ซึ่งมีความสูงเพียง 3 ชั้น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของคณะอักษรศาสตร์ มีความสูง 9 ชั้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553 ภายในอาคารดังกล่าวประกอบด้วย ห้องบรรยาย ห้องเรียน ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (สรรพศาสตร์สโมสร) ส่วนการวิจัย และศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล โรงละครแบล็กบอกซ์ของภาควิชาศิลปการละคร ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งภาควิชา และห้องกิจกรรมนิสิต

หน่วยงาน

แก้

หลักสูตร

แก้
ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.) ปรับปรุง พ.ศ. 2566

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาเกาหลี
  • สาขาวิชาภาษาจีน
  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  • สาขาวิชาภาษารัสเซีย
  • สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาภาษาสเปน
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน
  • สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้
  • สาขาวิชาวรรณกรรมโลกและการเขียนเชิงสร้างสรรค์
  • สาขาวิชาศิลปการละคร
  • สาขาวิชาสารนิเทศศึกษา

หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (อ.ม.) ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2564 [4]

  • สาขาวิชาการดูแลรักษาข้อมูลและสารสนเทศ
  • สาขาวิชาการแปลและการล่าม
  • สาขาวิชาไทยศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ (แขนงวิชาภาษาจีน แขนงวิชาภาษาญี่ปุ่น แขนงวิชาภาษาเยอรมัน และแขนงวิชาภาษาอังกฤษ)
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาบาลี–สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ (หลักสูตรนานาชาติ), (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ
  • สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ
  • สาขาวิชาศิลปการละคร
  • สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ), (สหสาขาวิชา)

หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต (อ.ด.) ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2564 [5]

  • สาขาวิชาไทยศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ (แขนงวิชาภาษาจีน แขนงวิชาภาษาญี่ปุ่น และแขนงวิชาภาษาเยอรมัน)
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาบาลี–สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา
  • สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ (หลักสูตรนานาชาติ), (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ
  • สาขาวิชาวัฒนธรรมและวรรณคดีญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ
  • สาขาวิชาศิลปการละคร
  • สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)

ทำเนียบคณบดี

แก้
ทำเนียบคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6]
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

1. หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี พ.ศ. 2461พ.ศ. 2468
2. พระดรุณพยุหรักษ์ (บุญเย็น ธนโกเศศ) พ.ศ. 2468พ.ศ. 2470
3. พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พ.ศ. 2470พ.ศ. 2475
4. ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล พ.ศ. 2475พ.ศ. 2478
5. ศาสตราจารย์ หลวงพรตพิทยพยัต พ.ศ. 2478พ.ศ. 2483
6. ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์ (รักษาการแทนคณบดี) พ.ศ. 2483พ.ศ. 2485
7. ศาสตราจารย์ หลวงประวัติวรวิชชุการี พ.ศ. 2485พ.ศ. 2493
8. ศาสตราจารย์ รอง ศยามานนท์ พ.ศ. 2493พ.ศ. 2514
9. ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ พ.ศ. 2514พ.ศ. 2515
10. ศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ พงศะบุตร พ.ศ. 2515พ.ศ. 2519
11. ศาสตราจารย์ คุณหญิง เกื้อกูล เสถียรไทย พ.ศ. 2519พ.ศ. 2523
12. ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ พ.ศ. 2523พ.ศ. 2527
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน สุวัตถี พ.ศ. 2527พ.ศ. 2531
14. รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ พ.ศ. 2531พ.ศ. 2535
15. รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ พ.ศ. 2535พ.ศ. 2539
16. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์ พ.ศ. 2539พ.ศ. 2547
17. ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ พ.ศ. 2548พ.ศ. 2551
18. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ พ.ศ. 2551พ.ศ. 2558
19. ศาสตราจารย์ ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2562
20. รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน

บุคลากรที่มีชื่อเสียง

แก้

กิจกรรมนิสิต

แก้
  • โครงการสานสัมพันธ์อักษรศิลป์ (One Arts)

งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 คณะวิชาด้านภาษาและมนุษยศาสตร์ ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมใช้ชื่อว่า "งานสานสัมพันธ์อักษร" โดยเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คณะอักษรศาสตร์ของประเทศไทย แต่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มาเข้าร่วมด้วยในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Tri Arts และล่าสุด ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ทำให้มีมากกว่า 3 มหาวิทยาลัย จึงตั้งชื่อกิจกรรมขึ้นมาใหม่ว่างาน One Arts เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการแข่งขันกีฬา การแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ การเชียร์โต้ และโชว์เชียร์ลีดเดอร์จากแต่ละคณะ

พิพิธภัณฑ์

แก้

พิพิธพัสดุ์ไท–กะได ชั้น 1 ปีกซ้าย อาคารมหาวชิราวุธ คณะอักษรศาสตร์ เป็นแหล่งรวมผลงานจากการทำวิจัยภาคสนามของ ศ. ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ และ ศ. ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ จาก 4 ประเทศ คือ ประเทศจีน (ยูนาน กวางสี ไกวโจว และไฮนัน) ลาว เวียดนาม และไทย อาจารย์ได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และภาษา และได้รวบรวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย พร้อมเครื่องประดับของหญิงเผ่าไท–กะได และชนเผ่าในแขวงเขตเซกอง ลาวใต้ มามอบให้ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อเผยแพร่[7]

อ้างอิง

แก้
  1. https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2018
  2. ประวัติความเป็นมาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2530 : ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2005-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. "หลักสูตรปริญญาโท – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. "หลักสูตรปริญญาเอก – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. รายนามคณบดี (2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2552).
  7. Waemamu, Iklas. "พิพิธพัสดุ์ไท-กะได." พิพิธพัสดุ์ไท-กะได. Accessed March 26, 2017. http://hic.arts.chula.ac.th/index.php/accordion-a/level-21/13-2013-12-29-08-24-57/54-tai-ka-dai[ลิงก์เสีย].

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′22″N 100°32′01″E / 13.739325°N 100.533538°E / 13.739325; 100.533538