คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Political Science, Chulalongkorn University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (เดิม: สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) ถือได้ว่าเป็นคณะวิชาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นคณะรัฐศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อีกทั้งยังเป็นคณะที่ได้รับการเลือกเข้าศึกษาจากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้วยระบบ Admission ถึง 4 ปีซ้อน (พ.ศ. 2553 – 2556)[1]

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Political Science, Chulalongkorn University
สิงห์ดำ
สถาปนา30 มีนาคม พ.ศ. 2442 (ก่อตั้งครั้งแรก)
18 สิงหาคม พ.ศ. 2491 (ก่อตั้งใหม่)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีปกรณ์ ศิริประกอบ
ที่อยู่
สี  สีดำ
เว็บไซต์www.polsci.chula.ac.th

ประวัติ

แก้
 
ป้ายคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นคณะที่มีการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์เป็นแห่งแรก หากเริ่มนับตั้งแต่เวลาก่อตั้งสมัยเริ่มแรก เมื่อ พ.ศ. 2442 จนถึงปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้มีอายุยาวนานถึง 123 ปี (พ.ศ. 2565)

คณะรัฐศาสตร์เริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2442 (ร.ศ. 118) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ขึ้นโดยพระราชทานนามว่า "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" โดยรับจากนักเรียนที่สอบผ่าน "ประโยคนักเรียน" มาแล้ว เข้าศึกษา "ประโยควิชา" ต่อเมื่อเรียนจบ "ประโยควิชา" แล้วจึงจะได้รับประกาศนียบัตรของโรงเรียน แล้วต้องออกฝึกราชการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อสอบ "ประโยคฝึกหัด" ในขั้นสุดท้าย จึงจะถือว่านักเรียนผู้นั้นสำเร็จวิชาจากสถานศึกษาข้าราชการพลเรือนโดยสมบูรณ์ โรงเรียนนี้ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับต่อมาจึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีตำแหน่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิดและเข้าที่สมาคมในราชการให้มีความคุ้นเคยอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2445 (ร.ศ. 121) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นักเรียนโรงเรียนนี้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กทั้งสิ้น และตามประเพณีอันมีมาแต่โบราณข้าราชการ โดยมากยอมถวายตัวศึกษาราชการในกรมมหาดเล็กก่อนที่จะไปรับราชการในกรมอื่น จึงควรให้มีนามโรงเรียนสมแก่นักเรียนที่ได้เป็นมหาดเล็ก โรงเรียนนี้ได้เริ่มเปลี่ยนนามใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 โดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระยาวิสุทธ์สุริยาศักดิ์ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) และจมื่นศรีสรรักษณ์ (พระยาศรีวรวงษ์) เป็นกรรมการที่ปรึกษา และมีหมื่นศรีสรรักษ์ (พระยาศรีวรวงษ์) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเห็นว่าการที่จะฝึกนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กให้ออกมารับราชการในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวนั้นไม่เพียงพอ ควรที่จะขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อส่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และเพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้เป็นทุนสำหรับจัดการโรงเรียนต่อไป และทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 โดยโรงเรียนนี้กำหนดระยะเวลาเรียน 4 ปี โดยเรียนในชั้นสอน 3 ปี และฝึกงานอีก 1 ปี ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งเมื่อแรกตั้งได้แบ่งออกเป็น 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ (ชื่อแรกตั้งของคณะรัฐศาสตร์) ส่วนในด้านการศึกษายังเป็นไปในรูปเดิม นอกจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาโรงเรียนซึ่งแต่เดิมเรียกชื่อว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ได้เปลี่ยนมาใช้นามว่า คณบดี

 
ลักษณะทางกายภาพของคณะรัฐศาสตร์ บริเวณสนามฟุตบอล

ครั้งในปี พ.ศ. 2472 หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้ว ความนิยมในการเข้าศึกษาในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ได้ลดน้อยลง ในปีดังกล่าวนี้มีนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่เพียง 35 คน เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรออกไปนั้น เมื่อเข้ารับราชการจะได้ตำแหน่งเพียงชั้นราชบุรุษเท่านั้น ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 5 ก็มีสิทธิสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งนี้ได้แล้ว ส่วนนักเรียนที่ศึกษาจากคณะรัฐฏประศาสนศาสตร์ นอกจากจะสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาแล้ว ยังต้องศึกษาในคณะนี้อีกถึง 3 ปี ดังนั้น กระทรวงธรรมการจึงได้นำความทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตให้เลิกคณะนี้เสียเมื่อนักเรียนที่เหลืออยู่สำเร็จการศึกษาหมดแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระบรมราชานุญาต

เมื่อกระทรวงธรรมการได้สั่งปฏิบัติการตามกระแสพระบรมราชโองการแล้ว ต่อมามีสมุหเทศาภิบาลและข้าราชการฝ่ายปกครองเป็นอันมากมาร้องทุกข์ว่าควรจะมีการสอนวิชานี้ต่อไป ทั้งกระทรวงมหาดไทยก็เล็งเห็นว่าจะขาดประโยชน์อย่างยิ่งถ้าขาดนักปกครองที่ผลิตจากคณะรัฐฏประศาสนศาสตร์ จึงได้มีการประชุมพิจารณาระหว่างคณะกรรมการดำริรูปการมหาวิทยาลัย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยและผู้แทน ก.ร.พ. (กรรมการพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน) ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการสอนวิชานี้ต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาเสียใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีการรับนิสิตด้วย นอกจากนั้นได้เสนอความคิดเห็นให้เปลี่ยนชื่อคณะรัฐฏประศาสนศาสตร์ เป็นแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชานุญาตตามข้อเสนอ และให้ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าแผนกคือ ผู้อำนวยการ ซึ่งมีฐานะเท่ากับคณบดี

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโอนโรงเรียนกฎหมายเข้าสมทบในคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย (ต่อมากลายเป็น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า "ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านี้มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ ก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477" เป็นอันว่าคณะรัฐฏประศาสนศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สิ้นสภาพลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารประเทศในอันที่จะได้ปฏิบัติราชการที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในการปกครองและการบริหารให้มีจำนวนเพียงพอ จึงได้จัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2491 หลังจากที่ได้ยุบเลิกไปเป็นเวลาถึง 15 ปีเศษ และก็ได้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

คณะรัฐศาสตร์พัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน บุกเบิกความเป็นสมัยใหม่ทางวิชาการ ไม่เฉพาะในสาขารัฐศาสตร์ แต่ยังพัฒนาไปถึงในสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ ด้วย ในขณะนั้นมีวิชาด้านที่เปิดสอนอยู่หลายสาขา คือ การปกครอง การทูต รัฐประศาสนศาสตร์ การคลัง นิติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และประชากรศาสตร์ จนกระทั่งบางสาขาพัฒนามากขึ้นจึงจำเป็นต้องแยกตัวออกไปตั้งเป็นคณะใหม่ โดยแผนกวิชาการคลังรวมกับแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีตั้งเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2513 และแผนกวิชานิติศาสตร์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2515 และแผนกสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ ได้ยกฐานะเป็นแผนกอิสระสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ และปัจจุบันคือคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้น สถาบันประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ สถาบันพัฒนานโยบายและ การจัดการ และสถาบันเอเชียศึกษา ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากคณะรัฐศาสตร์อีกด้วย

สถานที่ตั้งและพื้นที่

แก้
 
สนามฟุตบอล คณะรัฐศาสตร์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาณาเขตอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ด้านข้างถนนอังรีดูนังต์ ติดกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย สามารถสังเกตกลุ่มอาคารของคณะได้จากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย คณะรัฐศาสตร์ติดกับคณะอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังตั้งอยู่ตรงข้ามกับคณะแพทยศาสตร์ โดยมีถนนอังรีดูนังต์ตัดขั้น

คณะรัฐศาสตร์ มีพื้นที่สีเขียว ลานสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมหลายแห่ง อาทิ ลานไทร และลานโจก้า (ภายหลังคือ ลานเสรีภาพ) ซึ่งทั้งสองลานนี้อยู่ด้านหน้าและด้านหลังอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ ภายในบริเวณคณะยังมีสนามฟุตบอลและสนามบาสเก็ตบอลด้วย

นอกจากนี้ คณะรัฐศาสตร์ ยังมี "ตึกกิจกรรมนิสิต" เป็นอาคารและพื้นที่สาธารณะอิสระให้นิสิตบริหาร จัดการ และสามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยเดิมทีตึกกิจกรรมนิสิตมีสภาพทรุดโทรมมานานกว่าหลายปี และได้ปรับปรุงใหม่ครั้งใหญ่ช่วงที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2563 ช่วงปีที่เนติวิทย์เป็นนายกสโมสร เขาได้ตั้งชื่อห้องเดิมที่มีอยู่ใหม่เป็น "ห้องวิชิตชัย อมรกุล" และ "ห้อง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน" เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงวีรชนนิสิตเก่าคณะที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หลังจากนั้น ได้มีการปรับปรุงหลังคาและพื้นใหม่ นำโดยสิงห์ดำรุ่นที่ 24 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ถึงต้นปี พ.ศ. 2565 และได้เปิดตึกกิจกรรมนิสิตอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ประกอบกับ สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงทัศนียภาพใหม่ จึงได้ผนวกลานไทรและลานโจก้าเดิมเข้าด้วยกัน รื้ออาคารโรงอาหารเก่า และลานจอดรถออก และสร้างบ่อน้ำเพิ่มแทน สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2564 จึงได้เปลี่ยนชื่อลานใหม่เป็น "ลานเสรีภาพ" เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการเมืองปัจจุบันและความเป็นรัฐศาสตร์มากขึ้น

อาคาร/สถานที่ สถานะปัจจุบัน หมายเหตุ
อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ – ตึก 1
  • ห้องเรียน
  • ห้องพักอาจารย์ภาควิชาการปกครอง
  • ห้องพักอาจารย์และสำนักงานภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์
  • ชื่อของอาคารถูกตั้งตามชื่ออดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง – อาจารย์ รองอำมาตย์โท ขุนสำราญราษฎร์บริรักษ์ (จุ้ย ตัณฑโสภา)
อาคารวรภักดิ์พิบูลย์ – ตึก 2
  • ห้องเรียน
  • ห้องพักอาจารย์ภาควิชาการปกครอง
  • สำนักงานหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ
  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
  • ชื่อของอาคารถูกตั้งตามชื่ออดีตอาจารย์ของคณะ – ศาตราจารย์พระวรภักดิ์พิบูลย์

(หม่อมหลวงนภา ชุมสาย)

อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี) – ตึก 3
  • ห้องเรียน
  • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  • ห้องพักอาจารย์และสำนักงานทุกภาควิชา
  • หอประชุมเกษม สุวรรณกุล
  • ห้องสมุดรูฟุส ดี สมิธ และ ชำนาญ ยุวบูรณ์
  • สำนักงานคณบดี
  • ร้าน Café Amazon
  • ร้าน U–Store
  • สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี ของคณะรัฐศาสตร์นับแต่การก่อตั้งใหม่
  • สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนอาคารเกษม อุทยานิน (ตึก 3) หลังเดิม
  • ชื่อของอาคารถูกตั้งตามชื่ออดีตคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง – ศาตราจารย์เกษม อุทยานิน
  • ชื่อของหอประชุมถูกตั้งตามชื่ออดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ – ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เกษม สุวรรณกุล
  • ชื่อของห้องสมุดถูกตั้งชื่อตามชื่อของศาสตราจารย์รูฟุส แดเนียล สมิธ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค มาสอนวิชาการปกครองเปรียบเทียบที่คณะติดต่อขอรับบริจาคหนังสือและวารสารทางด้านสังคมศาสตร์จากองค์การมูลนิธิและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา
ตึกกิจกรรมนิสิต
  • สำนักงานสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์
  • ห้องประชุม
  • ห้องกิจกรรมนิสิต
  • ได้รับการปรับปรุงใหม่ราวปี พ.ศ. 2564
อาคารโรงอาหาร
  • ปัจจุบันถูกรื้นถอนไปแล้ว
  • ปรับเป็นสนามหญ้าและศาลา
  • ในอดีตเคยเป็นโรงอาหารของคณะ
  • ถัดมาบริเวณโถงถูกใช้เป็นลานกิจกรรมในร่มและช่องจำหน่ายอาหารถูกใช้เป็นห้องเก็บของชมรมต่าง ๆ
  • ถูกรื้อถอนออกในปี พ.ศ. 2564 พร้อมกับการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบคณะ ปัจจุบันเหล็กดัดรูปพระเกี้ยวบนหน้าต่างเดิมของอาคารยังคงถูกอนุรักษ์ไว้เป็นส่วนประกอบของศาลา
อาคารจอดรถ
  • ลานจอดรถ
  • โรงอาหาร
  • ร้าน Inthanin Coffee
  • อาคารจอดรถได้ถูกสร้างขึ้นทับตึก 3 เดิม ซึ่งเคยเป็นหอประชุม สำนักงานภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และห้องพักอาจารย์
ลานเสรีภาพ
  • ลานจัดกิจกรรม
  • ได้รับการปรับปรุงใหม่จากเดิมเป็นพื้นอิฐบล็อกเป็นพื้นคอนกรีตราวปี พ.ศ. 2565
  • เดิมชื่อ ลานโจก้า
สนามฟุตบอล
  • หน้าจั่วของศาลาปรากฏข้อความว่าสิงห์ดำรุ่น 13 พร้อมกับรูปสิงห์ดำ
  • ปรากฏภาพของศาลานี้ในหนังสือรุ่น สิงห์ดำรุ่น 19 ลงไว้ว่าถ่ายในปี พ.ศ. 2514
  • มีศาลาสิงห์ (ศาลาบอล)
สนามบาสเกตบอล
ศาลพระพุทธรูปเชียงแสน สิงห์หนึ่ง สิงห์ดำ
อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ
  • ห้องสมุดรูฟุส ดี สมิธ (ยกเลิกการใช้งานราวปี พ.ศ. 2562)
  • วิทยาลัยประชากรศาสตร์ (เคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะ)[2]
อาคารประชาธิปก – รำไพพรรณี
  • สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ
  • สถาบันเอเชียศึกษา (เคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะ)[3]

สัญลักษณ์

แก้
  • สัญลักษณ์

สัญลักษณ์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ "สิงห์ดำ" โดย "สิงห์" หมายถึง ผู้ปกครองดั่งราชสีห์ผู้เป็นจ้าวแห่งป่า และ "สีดำ" หมายถึง สีแห่งศอของพระศิวะที่ดื่มยาพิษเพื่อปกป้องมวลมนุษย์ ดังนั้น สิงห์ดำ จึงมีหมายความว่า "การเป็นนักปกครองจะต้องเสียสละเพื่อมวลชน" (Black is Devotion)[4]

  • กลอนสิงห์ดำ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกลอนประจำคณะที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเป็นคติเตือนใจ โดยนิสิตจะรู้จักกันในชื่อ "กลอนสิงห์"

"เจ้าเป็นสิงห์เจ้าจงหยิ่งในสิงห์ศักดิ์ เจ้าเป็นนักรัฐศาสตร์องอาจหาญ
กอปรกรรมดีให้จีรังยั่งยืนนาน มุ่งสมานใจรักสามัคคี
จงรู้จักใช้วิชาหาประโยชน์ รู้จำแนกคุณโทษให้ถ้วนถี่
จงวางตนให้คนเห็นเป็นผู้ดี ถ้าเจ้ามีใจจริงเป็นสิงห์ดำ"

  • สีประจำคณะ

  สีดำ หมายถึง สีแห่งศอของพระศิวะที่ดื่มยาพิษเพื่อปกป้องมวลมนุษย์

วารสารสังคมศาสตร์

แก้

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำวารสารสังคมศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการผลิตผลงานทางวิชาการ/งานวิจัย และเพื่อเผยแพร่ รวมทั้งเป็นสื่อความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเริ่มจัดพิมพ์วารสารฉบับแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 60 ปี นอกจากนี้ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีการจัดทำวารสารสังคมศาสตร์ฉบับย้อนหลังตั้งแต่ฉบับแรกเป็นแอพลิแคชั่นสำหรับดาวน์โหลดเพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านสังคมศาสตร์สำหรับนิสิต คณาจารย์ และประชาชนทั่วไป

ห้องสมุด

แก้
 
ห้องสมุดรูฟุส ดี. สมิธ และ ชำนาญ ยุวบูรณ์
 
ชั้นวางหนังสือภายในห้องสมุดรูฟุส ดี. สมิธ และ ชำนาญ ยุวบูรณ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีห้องสมุดประจำคณะที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากถึงสองแห่งด้วยกัน คือ ห้องสมุดรูฟุส ดี. สมิธ และ ชำนาญ ยุวบูรณ์ และอีกแห่งชื่อว่า ห้องสมุดรูฟุส ดี.สมิธ. ถือได้ว่าทั้งสองแห่งเป็นหนึ่งในห้องสมุดด้านสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย

ห้องสมุดรูฟุส ดี.สมิธ. เดิมชื่อห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2491 ตั้งอยู่ที่อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ (ตึก 1) ในระยะเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2494 ศาสตราจารย์รูฟุส แดเนียล สมิธ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับทุนฟูลไบรท์ให้มาสอนวิชาการปกครองเปรียบเทียบที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ช่วยเหลือกิจการห้องสมุดโดยติดต่อขอบริจาคหนังสือ และวารสารทางด้านสังคมศาสตร์จากองค์การมูลนิธิและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา นับเป็นการวางรากฐานกิจการห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ ทำให้เป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นแหล่งค้นคว้าสำคัญทางด้านสังคมศาสตร์ ต่อมาห้องสมุดได้ย้ายไปตั้งที่อาคารเกษมอุทยานิน (ตึก 3) และในปี พ.ศ. 2518 ได้ย้ายมาตั้งที่อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ ชั้น 1 จนถึงปัจจุบัน

35 ปี หลังจากมรณกรรมของศาสตราจารย์รูฟุส แดเนียล สมิธ ที่ประชุมกรรมการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งชื่อ ห้องสมุดของคณะว่า "ห้องสมุดรูฟุส ดี.สมิธ." เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกถึงพระคุณที่ท่านมีต่อคณะรัฐศาสตร์ โดยมีพิธีเปิดที่ห้องสมุดของคณะ ในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2531[5]

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ห้องสมุดของคณะรัฐศาสตร์ทั้งสองแห่งได้รับรางวัลรับรองจากหลายสถาบัน[6]

  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทประสิทธิภาพของการบริการ รางวัลคุณภาพแห่งจุฬาฯ พ.ศ. 2550
  • รางวัลดีเด่นระดับชาติ ประเภทนวัตกรรมการให้บริการ จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2551
  • รางวัลดีเด่นระดับชาติ ประเภทรายกระบวนงาน จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2553
  • รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประเภทการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2556

หน่วยงานและหลักสูตร

แก้
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน่วยงาน ระดับปริญญาบัณฑิต[7] ระดับปริญญามหาบัณฑิต[8] ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต[9]

ภาควิชาการปกครอง

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.)

  • สาขาวิชาการปกครอง (ภาคในเวลาราชการ)
  • สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง (ภาคนอกเวลาราชการ)

หลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ร.ด.)

ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.)

  • สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ภาคในเวลาราชการ)
  • สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ภาคนอกเวลาราชการ)

หลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ร.ด.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์

ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (ภาคในเวลาราชการ)
  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (ภาคนอกเวลาราชการ)

หลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ร.ด.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

หลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (ร.ด.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศศ.ด.)

  • สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
  • สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม

หลักสูตรอื่น ๆ

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

  • สาขาวิชาการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศศ.ด.)

  • สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

คณบดี

แก้

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีตำแหน่งคณบดีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491

ทำเนียบคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
ศาสตราจารย์หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล พ.ศ. 2491 – 2493
ศาสตราจารย์ ดร.มาลัย หุวะนันท์ พ.ศ. 2493
ศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน พ.ศ. 2493 – 2513
ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล พ.ศ. 2513 – 2517
ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ พ.ศ. 2517 – 2525
ศาสตราจารย์จรูญ สุภาพ พ.ศ. 2525 – 2529
ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ พ.ศ. 2529 – 2533
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ พ.ศ. 2533 – 2541
ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู พ.ศ. 2541 – 2545
ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ พ.ศ. 2545 – 2549
ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา พ.ศ. 2549 – 2553
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ พ.ศ. 2553 – 2557
ศาสตราจารย์ ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา พ.ศ. 2557 – 2565
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

บุคลากรที่มีชื่อเสียง

แก้

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณาจารย์ที่มีชื่อเสียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2013-05-09.
  2. "วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย", วิกิพีเดีย, 2020-10-08, สืบค้นเมื่อ 2022-05-15
  3. http://www.ias.chula.ac.th/ias/th/Background.php
  4. หนังสือเปิดรั้วจามจุรี: สาราณียกร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. http://www.polsci.chula.ac.th/library/index.php/aboutus/1/%7C เกี่ยวกับห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าถึงเมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558
  6. http://www.polsci.chula.ac.th/library/index.php/honor/%7C ความภาคภูมิใจของห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
  7. ระดับปริญญาบัณฑิต
  8. ระดับปริญญามหาบัณฑิต
  9. ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/052/19.PDF
  11. ภาพ, อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล-เรื่อง ชลาธิป รุ่งบัว- (2018-08-12). "อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ 'สุรชาติ บำรุงสุข' เปิดมุมมอง "ทหาร" กับ "การเมือง"". มติชนออนไลน์.
  12. www.polsci.chula.ac.th http://www.polsci.chula.ac.th/?lecturer=%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

ดูเพิ่ม

แก้

13°44′05″N 100°32′00″E / 13.734678°N 100.533339°E / 13.734678; 100.533339

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • www.polsci.chula.ac.th คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • www.chula.ac.th จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย