คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำเนิดมาจากการพัฒนาการทางการศึกษา อาจารย์ในภาควิชาภาษาต่างประเทศ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชนบท (ปัจจุบันคือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการที่จะเปิดสาขาทางศิลปศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น
Faculty of Liberal Arts, Mahidol University | |
สถาปนา | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2546 |
---|---|
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหิดล |
คณบดี | อภิวิชญ์ เลี้ยงอิสสระ |
ที่อยู่ | 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 |
สี | สีขาวนวล |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำเนิดมาจากการพัฒนาการทางการศึกษา อาจารย์ในภาควิชาภาษาต่างประเทศ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชนบท (ปัจจุบันคือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะให้ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
พ.ศ. 2546 ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลให้มี โครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ ขึ้นในกำกับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Faculty of Arts
พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้คณะศิลปศาสตร์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยและสาขาวิชาภาษาอังกฤษ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล รองอธิการบดีฝ่ายเสริมสร้างเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะศิลปศาสตร์ โดยได้รับสมัครนักศึกษารุ่นแรกตามหลักสูตรทั้งสองในปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป
พ.ศ. 2550 สภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้อนุมัติให้บัณฑิตรุ่นแรกของคณะศิลปศาสตร์สำเร็จการศึกษา คือ บัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย และ บัณฑิตสาขาวิชาภาษาอังกฤษ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ภายหลังจากมหาวิทยาลัยมหิดลปรับเปลี่ยนสถานภาพจากส่วนราชการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนชื่อของส่วนงานจากโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์เป็น "คณะศิลปศาสตร์" และเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Faculty of Liberal Arts
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสถานที่ทำการอยู่ที่ อาคารสิริวิทยา ซึ่งเป็นอาคารรูปแบบทันสมัย 2 อาคารที่มีทางเชื่อมต่อกัน โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555[1] [2] โดยจะใช้ชื่อว่า อาคารปฏิบัติการเรียนรวมการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า "อาคารสิริวิทยา" ซึ่งหมายถึง อาคารที่เป็นแหล่งรวมความรู้อันประเสริฐ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557[3]
พ.ศ. 2558 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้ง Language Learning Center (LLC) ที่เป็น ศูนย์การเรียนรู้ภาษาที่เปิดให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงบุคคลภายนอกที่ต้องการพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาด้วยตนเอง
พ.ศ. 2560 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบภาษาและพัฒนาทักษะทางวิชาการ และได้ดำเนินการสร้าง MU-ELT (Mahidol University English Language Test) ซึ่งเป็นข้อสอบที่ใช้วัดความสามารถการสื่อสารทางภาษาอังกฤษ เนื้อหาของข้อสอบ MU-ELT ถูกออกแบบมาเพื่อวัดทักษะการฟังและการอ่าน เทียบเคียงกับการสอบ TOEIC ผลสอบ MU-ELT แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เทียบเท่ากับระดับต่างๆ ของ "กรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป" หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages)
พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้คณะศิลปศาสตร์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (นานาชาติ) โดยได้รับสมัครนักศึกษารุ่นแรกตามหลักสูตรดังกล่าวในภาคปลายปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
พ.ศ. 2561 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือทางวิชาการกับ Osaka University ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร Double degree Program ในระดับปริญญาโท โดยผู้เรียนจะได้รับวุฒิ M.A. (Applied Linguistics) จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ M.A. (Japanese Studies) จาก Osaka University
พ.ศ. 2561 ครบรอบ 15 ปี การก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีพิธีเปิดหอจดหมายเหตุ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561
นอกจากการเรียนการสอนภายในคณะแล้ว คณะศิลปศาสตร์ยังมีงานวิจัย เอกสารวิชาการ โครงการบริการวิชาการ และโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่มุ่งแสดงศักยภาพความเป็นเลิศในทางมนุษยศาสตร์ อาทิ โครงการเล่าขานตำนานศาลายา โครงการแข่งขันตอบปัญหาภาษาไทย โครงการศิลปศาสตร์อาสา โครงการมหิตลาภาษาศิลป์ โครงการอบรมภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น) แก่บุคคลภายนอก โครงการอบรมมัคคุเทศก์ ฯลฯ [4]
ดอกไม้ประจำคณะ
แก้ดอกโมก มาจากคำว่า "โมกฺษ" คือความหลุดพ้น (freedom, liberty) หมายถึง การใช้ความรู้ศิลปศาสตร์เพื่อความเป็นอิสระจากอวิชชา
สีประจำคณะ
แก้สีขาวนวล (Ivory) หมายถึงความสว่างและความอบอุ่น เปรียบได้กับ "ความรู้" (แสงสว่างทางปัญญา) ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
ทำเนียบคณบดี
แก้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | ตำแหน่ง | ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง |
1. ศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล | รองอธิการบดีฝ่ายเสริมสร้างเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ / รักษาการคณบดี | พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2548 |
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ | อธิการบดี / รักษาการคณบดี | พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550 |
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศศพินทุ์ ภูมิรัตน | คณบดี | พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2554 |
4. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา | รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ / รักษาการคณบดี | พ.ศ. 2554 |
5. รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเยาวลักษณ์ สุขธนะ | รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา / รักษาการคณบดี | พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2555 |
6. รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปรียานุช แย้มวงษ์ | รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ/รักษาการคณบดี | พ.ศ. 2555 |
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล | คณบดี | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 [5] |
8. รองศาสตราจารย์ ดร.ธนายุส ธนธิติ | คณบดี | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 [6] |
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิวิชญ์ เลี้ยงอิสสระ | คณบดี | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน |
หลักสูตร
แก้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
แก้- สาขาวิชาภาษาไทย
- สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
- สาขาวิชาภาษาจีน (หลักสูตรนานาชาติ)
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
แก้- สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ)
- สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
แก้- สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ)
หลักสูตร Double degree Program
แก้- M.A. (Applied Linguistics) จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ M.A. (Japanese Studies) จาก Osaka University
การเข้าศึกษาต่อ
แก้- การเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ระบบรับตรง
- ระบบแอดมิชชั่น เก็บถาวร 2016-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
กิจกรรมนักศึกษา
แก้กิจกรรมนักศึกษาโดยทั่วไปแล้วจัดการ ดูแล และรับผิดชอบโดยสโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณาจารย์และบุคลากรของคณะฯ
- โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระยะสั้นระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยคิวชูประเทศญี่ปุ่น ประจำปี
- กิจกรรมรับน้อง "เพ(ร)าะรักน้อง...ทัวร์ศาลายา"
กิจกรรมค่ายรับน้อง 3 วัน 2 คืน ที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งทำความรู้จักเพื่อนใหม่ รุ่นพี่ คณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยกิจกรรมสันทนาการ นันทนาการ และกิจกรรมแนะนำคณะและมหาวิทยาลัย รับผิดชอบกิจกรรมโดยนักศึกษาชั้นปีที่สองภายใต้การกำกับของรุ่นพี่ คณาจารย์ และบุคลากร จัดขึ้นในช่วงปักษ์แรกของเดือนสิงหาคม
- ห้องเชียร์ "สอนน้องร้องเพลง"
กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษารุ่นพี่สอนนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งร้องเพลงประจำคณะศิลปศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างความภาคภูมิใจต่อคณะของตน และยังเป็นการฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการแสดงแสตนด์ประจำปีในกิจกรรมประชุมเชียร์ที่จัดขึ้นโดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อย่างไรก็ดี หลังจากมีการรณรงค์เรื่องการรับน้องอย่างเท่าเทียมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ได้ยกเลิกระบบการตะคอกใส่รุ่นน้องหรือพี่ว้ากไปแล้ว รวมถึงได้ยกเลิกการบังคับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งให้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ในปัจจุบันนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามความสมัครใจ นอกจากนี้ สโมสรนักศึกษาคณะศิลปศาสตรยังเล็งที่จะปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดรับกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคกัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักศึกษาและผู้ปกครองว่ากิจกรรมนักศึกษาของคณะฯ จะปราศจากการรับน้องด้วยความรุนแรงทั้งทางกายภาพและสุขภาพจิตด้วย
- ค่ายเปิดบ้านคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล "สาดศิลป์"
กิจกรรมค่ายแนะแนว 3 วัน 2 คืน แนะนำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจและ/หรือต้องการเข้าศึกษาต่อที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยกิจกรรมแนะนำคณะและมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่เปิดสอนในคณะฯ พร้อมทั้งจัดติววิชาที่จำเป็นในการศึกษาต่อ เช่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสันทนาการและนันทนาการเพื่อให้นักเรียนมัธยมปลายได้ทราบเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษาภายในคณะฯ รวมถึงได้ทำความรู้จักกับเพื่อนจากต่างโรงเรียนด้วย รับผิดชอบกิจกรรมโดยนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งภายใต้การกำกับของรุ่นพี่คณาจารย์ และบุคลากร จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงปักษ์แรกของเดือนกุมภาพันธ์
- งานวัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล "LA Festival"
กิจกรรมประจำปีของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แนวคิดหลักคือ งานวัด มีกิจกรรมภายในงานมากมาย ได้แก่ คอนเสิร์ตจากศิลปินดังและนักศึกษา การแสดงจากชุมนุมต่างๆ ในคณะศิลปศาสตร์ ร้านค้า ซุ้มเกม (เช่น สาวน้อยตกน้ำ) และบ้านผีสิง ซึ่งมีชื่อเสียงมากในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กิจกรรมจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของนักศึกษาทุกชั้นปี อาจารย์ และบุคลากรหน่วยต่างๆ ของคณะฯ
- กิจกรรมวันอาร์ต สานสัมพันธ์อักษร-ศิลป์ (OneArts)
กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม
กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทโดยชุมนุมจิตอาสาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นมาแล้วมากกว่า 10 ครั้ง เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์และคณะอื่นๆ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนพัฒนาโรงเรียนในชนบทห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นอนาคตของชาติสืบไป กิจกรรมมีทั้งกิจกรรมสร้าง สอน ซ่อมบำรุง และส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้าน จัดขึ้นในช่วงต้นของทุกช่วงปิดภาคเรียน
ในโครงการ "เล่าขานตำนานศาลายา ครั้งที่ 9" นั้น มีการแสดงละครเวทีเรื่อง "คู่กรรม 'พากษ์' ใหม่" กำกับการแสดงโดย อาจารย์ ดร.ปวลักขิ์ สุรัสวดี ซึ่งดัดแปลงบทจาก วรรณกรรมเรื่องคู่กรรม ของ ทมยันตี และบทละครคือผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ของ คำรณ คุณะดิลก โดยละครเรื่องนี้ได้เสนอมุมมองของ 'วนัส' ซึ่งเป็นคนรักของอังศุมาลิน ได้ไปเข้าร่วมกับเสรีไทยเพื่อต่อต้านการรุกรามของชาวญี่ปุ่น (สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)
- โครงการอบรมภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น)
- พิธีไหว้ครู
อาคารสิริวิทยา
แก้อาคารสิริวิทยา สร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts Education ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่อยู่ในการดูแลของคณะศิลปศาสตร์ และกองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อาคารสิริวิทยาแบ่งเป็นอาคารสูง 7 ชั้น 1 อาคาร และอาคารสูง 3 ชั้น 1 อาคาร พื้นที่ใช้สอย 16,342 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยสำนักงานคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ห้องพักอาจารย์ ห้องเรียนขนาด 300 ที่นั่งห้องเรียนขนาด 120 ที่นั่ง และห้องเรียนขนาด 60 ที่นั่งห้องคอมพิวเตอร์ห้องประชุม และห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์ ทั้งนี้อาคารปฏิบัติการเรียนรวมการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า "อาคารสิริวิทยา" ซึ่งหมายถึง อาคารที่เป็นแหล่งรวมความรู้อันประเสริฐ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557[7]
บริการ
แก้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการเกี่ยวกับภาษาหลายรูปแบบ ทั้งด้านวิชาการและสวัสดิการแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าใช้บริการได้
- ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์
ตั้งอยู่ที่อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.
- หอจดหมายเหตุ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ชั้นที่ 2
- ศูนย์ทดสอบภาษาและพัฒนาทักษะทางวิชาการ
ให้บริการทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมหิดล (MU-ELT), อบรมด้านวิชาต่างๆ และอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการทดสอบ TOEIC IELTS รวมถึงอบรมภาษาต่างประเทศอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี เป็นต้น
- ศูนย์การแปลและการล่าม
มีพันธกิจในการให้บริการทางด้านการแปลและการล่ามภาษาต่างๆ
ปี พ.ศ. 2562-2565 ศูนย์ได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานวิชาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สาขาวิชาชีพ ธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาชีพ นักแปล คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับชั้นที่ 4
- ศูนย์การเรียนรู้ภาษา (LLC)
ศูนย์การเรียนรู้ภาษาที่เปิดให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาด้วยตนเอง
- ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา
ศูนย์วิชาการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า ผลิต และเผยแพร่องค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย และเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านไทยศึกษา ในระดับภูมิภาคและระดับชาติ
บุคลากรที่มีชื่อเสียง
แก้ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากมหาวิทยาลัยมหิดล
- คณาจารย์ที่มีชื่อเสียง
ศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล : รักษาการคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2547 - 2548)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ : อธิการบดี/รักษาการคณบดี (พ.ศ. 2548-2550)
- ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
- นายวิชย วงศ์สุริยัน หรือ แต๊ก เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ ซีซั่นที่ 1 : นักร้อง ค่าย Haleluyarecord
- นางสาวศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล : นักแสดง สังกัดค่าย จีทีเอช จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
อ้างอิง
แก้- ↑ พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารชุดพักอาศัย อาคาร D และอาคารปฏิบัติการเรียนรวมมหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ทำการคณะศิลปศาสตร์)
- ↑ ขอบเขตงานก่อสร้างอาคารปฏิบัติการเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา[ลิงก์เสีย]
- ↑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ประวัติคณะศิลปศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-04. สืบค้นเมื่อ 2016-12-20.
- ↑ คำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2555 ,คำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 54/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณบดีคณะศิลปศาสตร์[ลิงก์เสีย] ,22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
- ↑ คำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2559 ,คำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 46/2559 เรื่อง แต่งตั้งคณบดีคณะศิลปศาสตร์[ลิงก์เสีย] ,22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
- ↑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสิริวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559. อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล[ลิงก์เสีย]