คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด[1] และเป็น 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดมาจากโรงเรียนยันตรศึกษาแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นคณะที่มีจำนวนรุ่นมากที่สุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปีการศึกษา 2567 เป็นรุ่นที่ 108 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์และเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นที่พึ่งพิงทางวิชาการให้กับประเทศ มีงานวิจัยและความร่วมมือทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีภาควิชาทั้งหมด 12 ภาควิชา[2]และหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาอีก 2 หน่วยงาน นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มักเรียกแทนตัวเองว่า "อินทาเนีย"
Faculty of Engineering, Chulalongkorn University | |
เกียร์ | |
ชื่อเดิม | โรงเรียนยันตรศึกษาแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
---|---|
สถาปนา | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456 |
สังกัดการศึกษา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
คณบดี | รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ |
ที่อยู่ | |
สี | สีเลือดหมู |
เว็บไซต์ | www |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งอยู่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ด้านข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลการจัดอันดับในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จาก QS world university ranking by subject จาก Quacquarelli Symonds (QS) ประจำปี 2024 พบว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 222 ของโลก[3] และเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีสาขาวิชาติดอันดับโลกมากที่สุดในประเทศไทย
ประวัติคณะ
แก้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์มีพระประสงค์ให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานไชยศรีตรงข้ามกับศาลาสหทัยสมาคมในปี พ.ศ. 2442 [ประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากลในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ดังนั้น พ.ศ. กับ ค.ศ. ก่อนหน้านี้จึงเหลื่อมกันอยู่ 1 ปี] และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2425
ต่อมาเมื่อถึงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียน "มหาดเล็ก" โดยเติมคำว่า "หลวง" ต่อท้ายอีกคำหนึ่ง ณ ตำบลดุสิต (คือโรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน) แทนการสร้างวัดตามขัตติยราชประเพณี ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กเดิมนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนาถเพื่อเป็นกตัญญูกตเวทีธรรมสืบไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วางแผนการจัดสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือนโดยไม่ขึ้นแก่กระทรวงใด ๆ อันนับว่าเป็นรากเหง้าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้น โดยมีพระราชประสงค์จะให้มีการเรียนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กฎหมาย ครุศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์
แต่ในสมัยนั้นกระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดการราชแพทยาลัยและโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์อยู่ ส่วนโรงเรียนกฎหมายนั้นก็อยู่ในการดูแลของกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2454 กระทรวงเกษตราธิการได้โอนโรงเรียนเกษตรแผนกวิศวกรรมการคลอง 1 มาให้กับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน 1 (ซึ่งตั้งอยู่ที่วังใหม่ ปทุมวัน เป็นตึกแบบปราสาทวินเซอร์ ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "หอวัง" ก่อนที่จะถูกรื้อถอนสร้างเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ) ซึ่งในสมัยนั้นกระทรวงเกษตรยังไม่มีความประสงค์ที่จะรับผู้ที่สำเร็จในวิชาแผนกเกษตรศาสตร์มารับราชการ จึงมอบให้พระอนุยุตยันตรกรรมซึ่งย้ายจากกรมแผนที่มายังโรงเรียนข้าราชการพลเรือนมาดูแลแทน
เมื่อ พ.ศ. 2455 ทหารบก ทหารเรือ กรมรถไฟ กรมชลประทาน ฯลฯ เป็นต้น ต่างก็ต้องการนักเรียนที่สำเร็จวิชานี้มาก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้มาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จึงได้ให้จัดการตั้งโรงเรียนช่างกลขึ้น วางหลักสูตรหาอาจารย์มาเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด และได้นักเรียนช่างกลชุดแรกจากโรงเรียนเกษตรวิศวกรรมการคลองที่เลิกไปมาประมาณ 30-40 คน โดยสถานที่ของโรงเรียนเกษตรนั้นได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนช่างกลขึ้นและได้เปิดสอน รับสมัครนักเรียนภายนอกเรียกว่า "โรงเรียนยันตรศึกษาแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่านี่คือจุดกำเนิดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พอได้รับโอนโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ของกระทรวงธรรมการ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จ มาเป็นแผนกคุรุศึกษาของโรงเรียนราชการพลเรือนแล้ว (โรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนราชแพทยาลัยตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงเรียนเนติศึกษาตั้งอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา) จึงได้ย้ายโรงเรียนต่าง ๆ มารวมกันกับโรงเรียนยันตรศึกษาที่วังใหม่ ตำบลสระปทุม และได้วางระเบียบเครื่องแต่งกายและสีแถบคอเสื้อของแต่ละแผนก แผนกยันตรศึกษาได้รับสีเลือดหมู ครุศาสตร์ได้รับสีเหลือง แพทยศาสตร์ได้รับสีเขียว และรัฐประศาสนศาสตร์ได้รับสีดำ และมอบให้พระยาวิทยาปรีชามาตย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคุรุศึกษามาทำหน้าที่ผู้อำนวยโรงเรียนยันตรศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2458
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ได้พระราชพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนิน และทรงวางศิลาฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458
ในสมัยนั้นโรงเรียนยันตรศึกษาได้รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ของกระทรวงธรรมการ การเรียนในขั้นแรกนี้กำหนดหลักสูตรให้เรียนในโรงเรียนเพียง 3 ปีสำเร็จแล้ว ต้องออกฝึกหัดการงานในสถานที่ ซึ่งโรงเรียนเห็นชอบด้วยอีก 3 ปี และเมื่อโรงเรียนได้รับรายงานเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะยอมรับว่าการเรียนนั้นจบบริบูรณ์ตามหลักสูตร และยอมออกประกาศนียบัตรให้ได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูง ให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 โรงเรียนยันตรศึกษาก็ได้เปลี่ยนเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ของกระทรวงธรรมการ และขยายเวลาเรียนไปเป็น 4 ปี และย้ายสถานที่เรียนจากหอวัง ไปเรียนที่ตึกใหญ่ริมสนามม้าซึ่งเริ่มสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2461 เป็นตึกใหญ่มีบันไดเป็นตัวนาคมีหัวแผ่ 7 หัว แต่หลังคามุงไว้ด้วยใบจากเป็นการชั่วคราว เพราะกระเบื้องเคลือบยังทำไม่เสร็จ แผนกรัฐประศาสนศึกษาก็เปลี่ยนชื่อเป็นคณะรัฐประศาสนศาสตร์ แล้วก็ย้ายมาอยู่ตึกใหม่นี้ด้วยกัน แต่ห้องเรียนของคณะรัฐประศาสนศาสตร์นั้นอยู่ชั้นบน คณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ชั้นล่าง (ตึกใหม่นี้เองกลายเป็นตึกเรียนของคณะอักษรศาสตร์ต่อมา ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นย้ายไปเรียนที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ 1 ในอีกเกือบ 20 ปีถัดมาในปีพ.ศ. 2478) ส่วนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนก็เปลี่ยนสภาพเป็น "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ไป และตัววังใหม่เองก็กลายเป็น "โรงเรียนมัธยมหอวัง" ใช้เป็นที่ฝึกสอนของนิสิตในแผนกคุรุศึกษาไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรกจึงมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2476 ทางราชการเห็นสมควรให้มีการจัดการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ถึงขั้นปริญญา จนในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตครั้งแรกที่ตึกวิศวกรรมศาสตร์ 1 ห้อง 1112 (แต่ขณะนั้นตัวตึกทั้งสองนี้เป็นตึก 2 ชั้นเท่านั้น มาต่อเสริมเพิ่มเป็น 3 ชั้นเมื่อ พ.ศ. 2495) ในปีเดียวกันนั้นเองได้มีการเปิดแผนกวิศวกรรมช่างอากาศขึ้น ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหมจัดส่งนายทหารฝ่ายเทคนิคช่างอากาศมาช่วยสอนและใช้โรงงานทหารอากาศ ณ บางซื่อ และดอนเมือง เป็นที่ฝึกงาน
คณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นแยกออกได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคต้น มีอายุ 5 ปี ตอนเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ยุคกลาง มีอายุ 17 ปี ตอนเริ่มเป็นมหาวิทยาลัย และยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา ในยุคแรกและยุคกลางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ทำการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษเอง แต่พอ "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกอักษรศาสตร์ปัจจุบัน นักเรียนวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษรวมกับนิสิตวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์มีเพียง 5–6 คน ไม่พอที่จะทำการสอนได้หมดทุกวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตร อีกทั้งเครื่องมือเครื่องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็มีพร้อมมูลกว่า จึงเป็นโอกาสดีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จะได้ขยับขยายผ่อนให้นิสิตของตนได้ไปรับการฝึกสอนจากคณะอื่นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2481 คณะวิศวกรรมศาสตร์รับสมัครแต่ผู้ที่สำเร็จชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการหรือเทียบเท่า โดยผู้ที่จะเข้าเรียนจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเสียก่อน และมีใช้เวลาในการเรียนเป็นเวลา 4 ปี ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนี้มีนักเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรกอยู่ด้วย มีจำนวน 99 คน ต่อไปผู้ที่จะเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ของกระทรวงธรรมการแล้ว จะต้องเข้าเรียนวิชาเตรียมวิศวกรรมศาสตร์เสียก่อนสองปี เมื่อสอบได้แล้วจึงจะผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาเป็นนิสิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้
จนในปี พ.ศ. 2489 กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้จัดการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นตามโรงเรียนของกระทรวงอีกหลายแห่ง ทั้งยังอนุญาตให้โรงเรียนราษฎร์ที่ได้รับการเทียบเท่าวิทยฐานะเท่าโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว เปิดการสอนถึงขั้นเตรียมอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึง 2 ปีด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นไป คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงรับสมัครผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่าทุกแห่งโดยผู้ที่จะเข้าเรียน แต่จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเสียก่อน[4]
หน่วยงานและหลักสูตร
แก้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการเปิดสอนในหลากหลายสาขาวิชาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
หน่วยงาน | ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|---|
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์[5] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี[6] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล[7] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์[8] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า[9] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา[10] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ[11] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม[12] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ[13] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ[14] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต
| |
ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ และปิโตรเลียม[15] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
โดยเป็นการควบรวมหลักสูตรสองหลักสูตรคือ สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม (หลักสูตรนานาชาติ) และสาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรธรณี (หลักสูตรภาษาไทย) |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ[16] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
ศูนย์ระดับภูมิภาคทางวิศวกรรมระบบการผลิต[17] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
|
||
หน่วยวิศวกรรมนานาชาติ (ไอเอสอี)[18] |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
|
||
หลักสูตรอื่น ๆ |
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต
|
อันดับและมาตรฐานของคณะ
แก้ผลการจัดอันดับในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จาก QS world university ranking by subject จาก Quacquarelli Symonds (QS) ประจำปี 2024 พบว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 222 ของโลก[19] นอกจากนั้นยังมีผลการจัดอันดับแยกตามรายวิชาซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สาขา | อันดับโลก | อันดับในประเทศ |
---|---|---|
วิศวกรรมเหมืองแร่* | 51 – 70 | 1 |
วิศวกรรมปิโตรเลียม | 51 – 100 | 1 |
วิศวกรรมโยธา* วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี | 151 – 200 | 1 |
วิศวกรรมเครื่องกล | 251 – 300 | 1 |
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ | 351 – 400 | 1 |
หมายเหตุ *เป็นแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับ
บุคคล
แก้คณบดี
แก้รายนามคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้
ทำเนียบคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
1. มหาอำมาตย์ตรี พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 – 30 กันยายน พ.ศ. 2464 |
2. มหาอำมาตย์ตรี พระยาวิทยาปรีชามาตย์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2472 |
3. ศาสตราจารย์ พระเจริญวิศวกรรม | 11 มิถุนายน พ.ศ. 2472 – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2504 |
4. ศาสตราจารย์ พิเศษ ปัตตะพงศ์ | 19 มิถุนายน พ.ศ. 2504 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2512 |
5. ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ | 25 สิงหาคม พ.ศ. 2512 – 30 กันยายน พ.ศ. 2515 |
6. ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2517 |
7. ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต | 31 มกราคม พ.ศ. 2518 – 30 มกราคม พ.ศ. 2522 |
8. ศาสตราจารย์ ดร.จรวย บุญยุบล | 31 มกราคม พ.ศ. 2522 – 30 มกราคม พ.ศ. 2526 |
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ | 31 มกราคม พ.ศ. 2526 – 30 มกราคม พ.ศ. 2534 |
10. รองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร | 31 มกราคม พ.ศ. 2534 – 30 มกราคม พ.ศ. 2538 31 มกราคม พ.ศ. 2542 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 |
11. รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม | 31 มกราคม พ.ศ. 2538 – 30 มกราคม พ.ศ. 2542 |
12. ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว | 1 เมษายน พ.ศ. 2543 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 |
13. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ | 1 เมษายน พ.ศ. 2547 – 24 มกราคม พ.ศ. 2551 |
14. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ | 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 30 กันยายน พ.ศ. 2556 |
15. ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 |
16. ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชะวรสินสกุล | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 |
17. รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้- กวี ตันจรารักษ์ นักร้องวง D2B นักแสดง
- กานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- เกษม จาติกวณิช อดีตประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (รถไฟฟ้า BTS) ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี
- ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
- จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- จุลพงศ์ จุลละเกศ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อดีตกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อดีตที่ปรึกษาและกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง อดีตประธานชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บุคคลตัวอย่างแห่งปี ประจำปี พ.ศ. 2537
- จักรพงษ์ เมษพันธุ์ วิศวกร, นักพูด และวิทยากรด้านการเงินการลงทุน
- ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- ชัยวัฒน์ อรุโณทัยวิวัฒน์ (วศ. 03) อดีตอธิบดีกรมการผังเมือง, ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์, ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย, รองเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท, รางวัลวิศกรดีเด่น ภาคพัฒนาชนบท พ.ศ. 2536.
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- ชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ณอคุณ สิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ณัชชารีย์ กิจวิริยะธนโชติ นักร้อง
- เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- ธัชชัย สุมิตร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพ อดีตปลัดเมืองพัทยา กรรมการ ท่าอากาศยานไทย
- ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ศาตราจารย์จารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
- นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล นักแสดงช่องวัน 31
- นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน
- นำชัย หล่อวัฒนตระกูล อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ ผู้ประกาศข่าวช่องโมโน 29 พิธีกร อดีตนักแสดง
- บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
- ประเสริฐ ภัทรมัย อดีตวิศวกรแหล่งน้ำ บริษัท เซ้าท์อิ๊สท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด อดีตเลขาธิการสมาคมนักเรียนเก่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อดีตคณบดี คณะ Computer & Engineering Management (CEM) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อดีตนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย
- ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557 ประธานกรรมการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รางวัล Asian Corporate Director Recognition Awards 2011 รางวัล SAA Awards 2011 ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล
- ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น
- ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย อดีตเลขาธิการพรรคประชาราช เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ(ปัจจุบันคือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)) และบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอโพลีน
- ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย
- นาวาอากาศตรี ปุณมี ปุณศรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- สุธาวัลย์ เสถียรไทย นักวิชาการอิสระ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
- พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- พรเทพ ธัญญพงศ์ชัย อดีตผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง
- พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- ยุกต์ ส่งไพศาล นักแสดง นายแบบ
- ยุทธพร บานเย็น ผู้ประกาศข่าว สวท. ตำแหน่ง นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ ฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนกระจายเสียงในประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
- วิบูลย์ คูหิรัญ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อดีตวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ปรึกษามูลนิธิโครงการหลวง
- วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
- วิเศษ จูภิบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
- วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
- วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการบริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน)
- วีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท. เคมิคอล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
- วัชระ พรรณเชษฐ์ อดีตผู้แทนการค้าไทย และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ละกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด
- ทองภูมิ สิริพิพัฒน์ นักแสดง พิธีกร และนายแบบไทย
- สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- สมยศ รุจิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู จำกัด
- สิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรี อดีตอดีตรองนายกรัฐมนตรีอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- สิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ นักการเมืองและนักวิชาการ
- อดิศัย โพธารามิก นักธุรกิจ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จำกัด (มหาชน)ประธานกรรมการบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- อรุณ สรเทศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาชว์ เตาลานนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประธานกรรมการ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอดีตอุปนายกคนที่ 2 สภาวิศวกร
- อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- อารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
- อัมรินทร์ สิมะโรจน์ นักการเมือง นักแสดง นักธุรกิจ
- อัญชลี ชวนิชย์ ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมฯ กรรมการตรวจสอบ บริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน)
- อายุทธ์ จิรชัยประวิตร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
- อรุณ ชัยเสรี อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียรส์
- เอกพงศ์ จงเกษกรณ์ นักแสดงช่อง 3 เอชดี
อ้างอิง
แก้- ↑ http://www.eng.chula.ac.th/node/13
- ↑ http://www.eng.chula.ac.th/academic/departments
- ↑ https://www.topuniversities.com/university-subject-rankings/engineering-technology?countries=th
- ↑ ประวัติคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมเคมี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-19. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-24. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-02. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-05. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-14. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ
- ↑ "ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-08. สืบค้นเมื่อ 2006-10-28.
- ↑ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
- ↑ ศูนย์ระดับภูมิภาคทางวิศวกรรมระบบการผลิต
- ↑ หน่วยวิศวกรรมนานาชาติ(ไอเอสอี)
- ↑ https://www.topuniversities.com/university-subject-rankings/engineering-technology?countries=th
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้13°44′13″N 100°31′59″E / 13.73694°N 100.53306°E
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Engineering Journal: EJ
- วารสารวิศวกรรมศาสตร์
- วารสารช่างพูด เก็บถาวร 2009-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ชมรมนักประดิษฐ์วิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2008-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- cu-tep เก็บถาวร 2014-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน