ปตท.
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: PTT Public Company Limited, ชื่อย่อ: PTT) เป็นรัฐวิสาหกิจรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจน้ำมันและแก๊สที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดิมชื่อ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของท่อส่งแก๊สใต้ทะเลในอ่าวไทย เครือข่ายคลังแก๊สแอลพีจีทั่วราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การสำรวจน้ำมันและก๊าซ และธุรกิจผลิตและค้าปลีกน้ำมันเบนซิน[4] บริษัทยังเป็นเจ้าของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันหรือในห้างสรรพสินค้า และยังเปิดบริการในต่างประเทศ
ชื่อท้องถิ่น | PTT Public Company Limited |
---|---|
ประเภท | มหาชน รัฐวิสาหกิจ |
การซื้อขาย | SET:PTT |
ISIN | TH0646010R18 |
อุตสาหกรรม | อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ |
ก่อนหน้า | การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2544) |
ก่อตั้ง | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 555 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 |
จำนวนที่ตั้ง | สถานีบริการ 50 สาขา |
บุคลากรหลัก | ฉัตรชัย พรหมเลิศ (ประธานกรรมการ) คงกระพัน อินทรแจ้ง (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่)[1] |
ผลิตภัณฑ์ | น้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ, ปิโตรเคมี |
รายได้ | 3,185,256 ล้านบาท (2566) |
รายได้สุทธิ | 112,024 ล้านบาท (2566) |
สินทรัพย์ | 3,460,461 ล้านบาท (2566) |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 1,121,197 ล้านบาท (2566) |
เจ้าของ | กระทรวงการคลัง (51.1%)[2] |
พนักงาน | 4,227 คน[3] |
บริษัทแม่ | กระทรวงพลังงาน |
แผนก | ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม พีทีที โกลบอล เคมิคอล ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ไทยออยล์ ไออาร์พีซี จีพีเอสซี และอื่น ๆ |
บริษัทในเครือ | บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ทิพยประกันภัย และอื่น ๆ |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของบริษัท |
บริษัทในเครือ ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก, พีทีที เอเชีย แปซิฟิค ไมนิ่ง[5] และ พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่
ประวัติ
แก้ปตท. เดิมชื่อ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา (29 ธันวาคม พ.ศ. 2521) ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดจากควบรวมองค์การเชื้อเพลิง (ซึ่งแยกออกมาจากแผนกเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารเมื่อปี พ.ศ. 2503) กับองค์การแก๊สธรรมชาติแห่งประเทศไทยภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
ปตท. เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและยังเป็นบริษัทเดียวจากประเทศไทยที่ติดอันดับ Fortune Global 500 Companies บริษัทอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 500 อันดับแรกใน ฟอร์จูน 500 และอันดับที่ 180 ใน Forbes 2000[6][7]
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ปตท.แต่งตั้งรายชื่อปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการบริษัท
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2567 นางสาว ภัทรลดา สง่าแสง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ชญาน์ จันทวสุ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นาย กฤษณ์ อิ่มแสง เป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (ธันวาคม 2023) |
การเงิน
แก้สำหรับปี พ.ศ. 2559 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานรายได้ 1,737,148 ล้านบาท กำไรสุทธิ 94,609 ล้านบาท สินทรัพย์ 2,232,331 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของรวม 762,948 ล้านบาท[8]
ในสิ้นปี 2565 ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด[9]
โครงสร้างผู้ถือหุ้น
แก้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2 พันล้านหุ้น โดยมี กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 6 ธันวาคม ของปีเดียวกัน
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
แก้- ข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ปัจจุบันข้อมูล 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 [10]
ลำดับที่ | รายชื่อผู้ถือหุ้น | จำนวนหุ้นสามัญ | สัดส่วนการถือหุ้น |
1 | กระทรวงการคลัง | 14,598,855,750 | 51.11% |
2 | บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด | 2,073,795,273 | 7.26% |
3 | กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) | 1,736,895,500 | 6.08% |
4 | กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) | 1,763,895,500 | 6.08% |
5 | STATE STREET EUROPE LIMITED | 568,711,959 | 1.99% |
6 | SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED | 455,455,468 | 1.59% |
7 | สำนักงานประกันสังคม | 409,174,100 | 1.43% |
8 | THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES) LIMITED | 251,746,650 | 0.88% |
9 | GIC PRIVATE LIMITED | 240,433,200 | 0.84% |
เหตุการณ์สำคัญ
แก้- 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 - การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในรูปของรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการพลังงาน โดยควบรวมรัฐวิสาหกิจเดิม 2 แห่งคือ องค์การเชื้อเพลิง (สังกัด กรมการพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และองค์การแก๊สธรรมชาติแห่งประเทศไทย (สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการพลังงานปิโตรเลียม หรือธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากประเทศไทย ประสบวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการอุปโภค-บริโภค เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนชื่อสถานีบริการน้ำมัน จากตราสามทหาร มาเป็น ปตท. ด้วย และใช้คำขวัญว่า นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.
- พ.ศ. 2523 - วางจำหน่ายน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ชื่อการค้า พีทีที เพอร์ฟอร์มา ไดน่าดีแอล วางจำหน่ายน้ำมันเครื่องดีเซลสำหรับรถไถนาอย่างเป็นทางการ พีทีที ไดนาแทรค ก่อตั้งบริษัท พีทีที ยูทีลีตี้ จำกัด และได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของ ปตท. เป็นรูปเปลวไฟสีฟ้า หยดน้ำมันสีน้ำเงิน วงกลมสีแดงมาเป็นตราขององค์กรจนถึงปัจจุบัน โดยเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์
- พ.ศ. 2524 - ปตท. วางท่อแก๊สธรรมชาติจากแหล่งผลิตในทะเลขึ้นฝั่ง อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อปล่อยแก๊สธรรมชาติผ่านทางระบบท่อ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หลังจากที่ค้นพบแหล่งแก๊สธรรมชาติภาคเชิงพาณิชย์จากแหล่งผลิตเอราวัณเป็นที่แรก ในขณะเดียวกัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ก็ได้เปิดวาล์วท่อส่งแก๊สธรรมชาติเส้นที่ 1 ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกงและพระนครใต้ และจัดตั้ง ฝ่ายวิจัยและพัฒนา เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัย ทดสอบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ ปตท.
- พ.ศ. 2527 - มีการจัดตั้ง "บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด"(ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) เพื่อดำเนินการกิจการปิโตรเคมี ด้วยวิธีการนำแก๊สธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อนำมาใช้เองภายในประเทศ และช่วยให้ประหยัดเงินในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศได้อีกด้วย[11]
- พ.ศ. 2528 - พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงแยกแก๊สธรรมชาติ จังหวัดระยอง คณะรัฐมนตรี ได้ให้ ปตท.จัดตั้ง "บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด" เพื่อดำเนินการสำรวจ, ค้นหาพื้นที่, ผลิตปิโตรเลียม ทั้งใน และต่างประเทศ
- พ.ศ. 2529 - เริ่มจัดจำหน่ายแก๊สธรรมชาติผ่านระบบท่อจัดจำหน่าย, เพิ่มคำขวัญประจำองค์กรใหม่ พลังไทย เพื่อไทย (ใช้คำขวัญนี้จนถึง พ.ศ. 2551)
- พ.ศ. 2531 - วางจำหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษ พีทีที ไฮออกเทน (มีค่าออกเทนสูงสุด 97) และ ปตท. ฉลองครบรอบ 10 ปี
- พ.ศ. 2532 - เริ่มวางจำหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในปริมาณต่ำ (พีทีที ไดน่าดีเอล ยูโร วัน), น้ำมันเบนซินพีทีที ไฮออกเทนสูตรใหม่ ลดปริมาณสารตะกั่ว 7% และน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำรายแรก ภายใต้ชื่อการค้า พีทีที ไฮซีเทน (มีค่าซีเทน 52) รวมทั้งน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล พีทีที ไดนามิค สูตรต่อต้านกรดจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์
- พ.ศ. 2533 - จำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว พีทีที ไฮออกเทน (ปรับปรุงจากสูตรเดิม) และวางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสำหรับจักรยานยนต์ 2 จังหวะ สูตรลดควันขาว พีทีที ไฮสปีด 2 ที โลวสโมค
- พ.ศ. 2535 - ปรับโฉมสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศเป็นรูปแบบใหม่ Landor โดยใช้รูปแบบนี้ 15 ปี (ถึง พ.ศ. 2550)
- พ.ศ. 2536 - ปตท. ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร และเปลี่ยนชื่อจากฝ่ายวิจัยและพัฒนา มาเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนา ปตท. ตั้งอยู่บริเวณภายในศูนย์ปฏิบัติระบบท่อเขต 2 อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ก้าวสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง วางตลาดน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วที่มีค่าออกเทนสูงที่สุด สำหรับรถยนต์เบนซินสมรรถนะสูง พีทีที เพอร์ฟอร์มา 98 ซึ่งเป็นน้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนสูงที่สุดในประเทศ โดยในขณะนั้นมีเพียง ปตท. และเจ็ทเท่านั้นที่ขายน้ำมันออกเทน 98 และน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว สำหรับรถยนต์เบนซินทั่วไปและรถจักรยานยนต์ พีทีที แม็กซ์ (มีค่าออกเทน 87) และ ปตท. ฉลองครบรอบ 15 ปี
- พ.ศ. 2538 - ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินมีสารตะกั่วอย่างเป็นทางการทั่วประเทศก่อนผู้ค้าน้ำมันรายอื่น และวางตลาดน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วสูตรใหม่ สำหรับรถยนต์เบนซินสมรรถนะสูง พีทีที ซูเปอร์ 97 และน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว สำหรับรถยนต์เบนซินทั่วไปและรถจักรยานยนต์ พีทีที แม็กซ์ 92 (ปรับปรุงจาก พีทีที แม็กซ์ เดิม) และ ปตท. ลงนามซื้อแก๊สธรรมชาติจากแหล่งผลิตยาดานา ประเทศเมียนมาร์
- พ.ศ. 2539 - วางจำหน่ายน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำสูตรใหม่ (กำมะถัน 0.25%) พีทีที ไฮซีเทน 55 (ค่าซีเทน 55) และน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว สำหรับรถยนต์เบนซินสมรรถนะสูง พีทีที เพอร์ฟอร์มา โกลด์ (มีค่าออกเทน 95), วางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลสูตรใหม่ พีทีที ดี ไดนามิค
- พ.ศ. 2540 - เปลี่ยนชื่อจากศูนย์วิจัยและพัฒนา มาเป็น สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน, ร่วมมือกับ เอเอ็มพีเอ็ม ก่อตั้งบริษัท ปตท. มาร์ท จำกัด เพื่อเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อเอเอ็มพีเอ็มในสถานีบริการน้ำมัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และเพิ่มสถานีบริการน้ำมันเป็น 1,500 สาขา
- พ.ศ. 2541 - ปตท. ฉลองครบรอบ 20 ปี
- พ.ศ. 2542 - วางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสังเคราะห์ 100% สำหรับเครื่องยนต์เบนซินสูตรใหม่ ผสมสารลิควิด โมลิบดินั่ม ในชื่อ พีทีที เพอร์ฟอร์มา ซินเธติค, เปิดตัวรางวัล ลูกโลกสีเขียว
- พ.ศ. 2543 - วางจำหน่ายน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วสูตรใหม่ สำหรับรถยนต์เบนซินทั่วไป และรถจักรยานยนต์ พีทีที แม็กซ์ 91 และน้ำมันหล่อลื่นกึ่งสังเคราะห์สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรอบจัด พีทีที ปิคอัพ พรีเมียร์
- พ.ศ. 2544 - วางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นกึ่งสังเคราะห์สำหรับรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ พีทีที ชาเลนเจอร์ 2ที, การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพื่อให้ประชาชนชาวไทย สามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยให้โอนบรรดากิจการ, ทรัพย์สิน, หนี้สิน, ความรับผิดชอบ, พนักงาน–ลูกจ้าง และส่วนธุรกิจทั้งหมดของ ปตท. ไปเป็น บมจ.ปตท. แทน และได้ยุบเลิกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม [12] และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน บมจ.ปตท. ได้ทำการเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นวันแรก
- พ.ศ. 2545 - เปิดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์เป็นรายแรก ณ สน.ปตท.สาขาสำนักงานใหญ่ ภายใต้ชื่อการค้า พีทีที แก๊สโซฮอล์ 95, ปตท. ร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และเปิดตัวร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon)
- พ.ศ. 2546 - วางจำหน่ายน้ำมันเบนซินผสมสารลดความฝืด ฟริคชั่น โมดิฟายเออร์ ในชื่อ พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ (มีค่าออกเทน 91 และ 95) (เริ่มวางจำหน่ายเมื่อ 22 ธันวาคม 2545) และน้ำมันดีเซลสูตรใหม่ในชื่อ พีทีที เดลต้า เอ็กซ์, เริ่มจำหน่ายแก๊สธรรมชาติสำหรับรถยนต์ NGV ให้กับผู้ใช้รถยนต์, วางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสำหรับรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ พีทีที 4ที ชาเลนเจอร์ และเริ่มสร้างสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ ระดับ Platinum ที่สถานีบริการน้ำมันสาขา สน.ปตท.กล้วยน้ำไท และครบรอบ 25 ปี ปตท.
- พ.ศ. 2547 - วางจำหน่ายน้ำมันดีเซลสูตรใหม่ ผ่านมาตรฐาน Euro III ในชื่อ พีทีที เดลต้า เอ็กซ์ ยูโร ทรี , เปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ปตท. (PTT Lubricants) โฉมใหม่ (ปลายปี), ปรับโฉมสถานีบริการทั่วประเทศจากรูปแบบ Landor เดิมให้ทันสมัยขึ้น (บางสาขา) และเริ่มสร้างสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบ Platinum ภายใต้แนวคิด Pump in the Park ในชื่อ PTT Park เป็นแห่งแรกที่สถานีบริการน้ำมันสาขา สน.ปตท.สวัสดิการ ร.1. รอ.
- พ.ศ. 2548 - วางจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 สูตรใหม่ ผสมสารฟริคชั่น โมดิฟายเออร์ ในชื่อ พีทีที แก๊สโซฮอล์ 95 พลัส, บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ และ บมจ.ไทยโอเลนฟินส์ ได้เข้าควบรวมกิจการ ไปเป็น บมจ.ปตท.เคมิคอล
- พ.ศ. 2549 - บมจ.ปตท. ได้เข้าไปถือหุ้นใน บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย ของ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ไออาร์พีซี บมจ.อะโรเมติกส์ไทย และ บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง ได้เข้าควบรวมกิจการ ไปเป็น บมจ.ปตท.อโรเมติกส์และการกลั่น และวางจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสังเคราะห์พิเศษ สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ในชื่อ พีทีที เพอร์ฟอร์มา ซูเปอร์ ซินเธติค
- พ.ศ. 2550 - วางจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ในชื่อ พีทีที แก๊สโซฮอล์ 91 พลัส, บริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน เจ็ท และร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ ตัดสินใจขายกิจการสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อให้กับ ปตท. ทั้งหมด 147 สาขา ใน 22 จังหวัด จัดตั้งบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กรณีการแปรรูปฯ ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเวนคืน และท่อส่งก๊าซ-น้ำมัน กลับคืนไปให้กับกระทรวงการคลัง เพราะถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
- พ.ศ. 2551 - ก้าวสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของตลาดน้ำมันหล่อลื่น และกลายเป็นผู้นำตลาดน้ำมันเต็มตัว จากเดิมที่มีเอสโซ่, เชลล์ และคาลเท็กซ์ เป็นผู้นำตลาดตามลำดับ วางจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ในชื่อ พีทีที E20 พลัส และวางจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 ในชื่อ พีทีที B5 พลัส พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ ปตท. กลับเป็นของรัฐ และวางจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ในชื่อ พีทีที E85 พลัส (บางสาขา) เปลี่ยนคำขวัญเป็น พลังที่ยั่งยืน เพื่อไทย ตั้งแต่ตอนที่ ปตท. ครบรอบ 30 ปี (ถึง พ.ศ. 2555)
- พ.ศ. 2552 - สถานีบริการน้ำมันเจ็ททั้ง 147 สาขา ใน 22 จังหวัดปรับเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั้งหมดแล้ว คงเหลือร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ ไว้เพียงอย่างเดียว และริเริ่มพัฒนาสถานีบริการน้ำมันภายใต้แนวคิด PTT Life Station โดยปรับโฉมสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศแบบยกเครื่อง โดยมี 3 รูปแบบที่มีขนาดแตกต่างกันไป คือ PTT Park ,Platinum และ Standard เปิดตัวร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ Express ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่คัดสินค้า Top 200 มาวางขาย
- พ.ศ. 2553 - แนะนำโมเดลใหม่ของร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ ได้แก่ จิฟฟี่ ซูเปอร์มาร์เกต, จิฟฟี่ Market และร้านอาหาร Jiffy Bistro และเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันเกรดพรีเมียมในราคาเท่าเดิมภายใต้ชื่อ พีทีที บลู อินโนเวชัน (โดยทดแทนชื่อพีทีที อัลฟา เอ็กซ์ (ทดแทนด้วยชื่อ บลู แก๊สโซลีน),เดลต้า เอ็กซ์ (ทดแทนด้วยชื่อ บลู ดีเซล) และแก๊สโซฮอล์ 91 - 95 พลัส (ทดแทนด้วยชื่อ บลู แก๊สโซฮอล์ 91 - 95) รวมทั้งทดแทนชื่อแก๊สโซฮอล์ E20, E85 เป็น บลู แก๊สโซฮอล์ E20 และ บลู แก๊สโซฮอล์ E85)
- พ.ศ. 2554 - ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวรประธานเจ้าหน้าปฏิบัติการปิโตรเลียมขั้นต้นรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
- พ.ศ. 2555 - เกิดเหตุระเบิดที่หม้อต้มไอน้ำที่ออกจากขบวนการผลิตแก๊สธรรมชาติอัด ซึ่งอยู่ในสถานีจ่ายแก๊สธรรมชาติอัด ใน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น[13] ส่งผลให้สถานีเสียหาย และไม่มีแก๊สออกจำหน่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปตท.เปลี่ยนคำขวัญเป็น พลังที่ยั่งยืน และใช้จนถึงปี พ.ศ. 2558
- พ.ศ. 2556 - เปิดตัวบัตรสะสมคะแนนเพื่อแลกรับสิทธิพิเศษมากมายเมื่อใช้บริการที่สถานีบริการ ปตท. และร้านค้าที่ร่วมรายการ ภายใต้ชื่อ PTT Blue Card เริ่มพัฒนาสถานีบริการน้ำมันที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ ในชื่อ The Crystal PTT โดยนำร่องที่สาขาถนนชัยพฤกษ์ และร่วมมือกับ เค.อี.แลนด์ สร้างคอมมูนิตี้มอลล์และสถานีบริการน้ำมัน, ขยายกิจการสถานีบริการน้ำมันในประเทศลาว, เปิดตัวน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับการผลิตน้ำมันอากาศยาน พีทีที ไฮฟอร์ซ พรีเมียม ดีเซล, เปิดตัวและปรับปรุงร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ 3 รูปแบบ คือ จิฟฟี่ (กำลังปรับปรุงร้านและสร้างร้านใหม่) Jiffy Daily (เปลี่ยนมาจาก Jiffy Express เติมมุมขายอาหารและเครื่องดื่ม) และ จิฟฟี่ Plus Supermarket (เปลี่ยนมาจาก จิฟฟี่ Super Fresh Market เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเต็มรูปแบบแห่งแรกจาก ปตท.), เปิดขายแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุก Pearly Tea ธุรกิจใหม่จาก ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก, เปิดธุรกิจร้าน Jiffy ในประเทศลาว และร้าน จิฟฟี่ นอกปั๊มแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. 2557 - เปิดตัวโครงการ The Crystal PTT คอมมูนิตี้มอลล์และสถานีบริการน้ำมันอย่างเป็นทางการ โดยประกอบไปด้วยสถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ร้านกาแฟ Cafe Amazon ซูเปอร์มาร์เก็ต Jiffy Plus Supermarket ร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ บนพื้นที่ 12 ไร่บนถนนชัยพฤกษ์ เปิดปั๊มน้ำมันบริการตนเอง ราคาถูกกว่าเติมน้ำมันแบบปกติ Self Serve แห่งแรกที่ สน.ปตท.ศรีนครินทร์ และเปิดตัวแมสคอตของ ปตท. ในชื่อ ก็อตจิ
- พ.ศ. 2558 - เปิดตัวสติ๊กเกอร์ไลน์ให้ผู้ใช้ไลน์สามารถโหลดฟรีในอีเวนท์แบบมีเสียงพูดได้ Godji The Adventure (เสียงพากย์ก๊อตจิโดย ศรีอาภา เรือนนาค) ให้กับผู้ใช้ไลน์ที่เป็นเพื่อนกับบัญชีทางการของ ปตท. เปลี่ยนคำขวัญมาเป็น เพื่อคนไทย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน, ปตท. ลงนามสัญญาการให้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์กับบริษัท Cajun Global LLC. เพื่อนำเข้าและเปิดให้บริการร้านไก่ทอด Texas Chicken ในประเทศไทย โดยเปิดให้บริการทั้งภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท., ห้างสรรพสินค้า และ Community Mall ทั่วประเทศ และเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ปตท. ฉลากใหม่ กระป๋องใหม่ เพิ่มสมรรถนะและปกป้องเครื่องยนต์ให้กับเครื่องยนต์โดยเฉพาะ ภายใต้คำขวัญ The Moving Innovation
- พ.ศ. 2559 - นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 11/2559 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก เป็นบริษัทแกน ของกลุ่ม ปตท. ในการดำเนินธุรกิจ และ ค้าปลีก และแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และการนำ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ("การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.") และเห็นชอบให้ ปตท. นำเสนอการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. ดังกล่าว ต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ("คนร.") คณะรัฐมนตรี และประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมเปิดตัวโครงการแยกขยะก่อนทิ้งที่สถานีบริการนํ้ามัน ปตท.ภายใต้โครงการ แยกแลกยิ้ม
- พ.ศ. 2561 - ปตท. ปรับโครงสร้างใหม่และเปลี่ยนชื่อจากสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี มาเป็น สถาบันนวัตกรรม ปตท. และ ปตท. ฉลองครบรอบ 40 ปี
- พ.ศ. 2561 - นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. จะปรับเปลี่ยนโลโก้ของสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ ตามแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กร ที่จะมีการตั้ง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR เป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาจัดทำโลโก้หลายรูปแบบมาเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. พิจารณา ก่อนเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาในเร็วๆนี้ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท. ประจำปีนี้ ในวันที่ 12 เมษายน “การเปลี่ยนแปลงโลโก้ปั๊ม ปตท.ใหม่จะยังคงลักษณะโลโก้เดิม โดยจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เพื่อสร้างความแตกต่างกับโลโก้ปัจจุบัน เพื่อทำให้ ปตท. สามารถขายโอนโลโก้เป็นสมบัติของ PTTOR ที่เป็นบริษัทลูกได้ง่ายขึ้น และผมมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความนิยมของผู้บริโภค แต่หากใช้โลโก้เดิมอยู่ PTTOR อาจต้องจ่ายค่าเช่าโลโก้ให้ ปตท. แทน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ก็มีบริษัทลูกมากมายที่มีโลโก้เป็นของตัวเอง เช่น บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM , บริษัท โพลิเมอร์มาเก็ตติ้ง จำกัด เป็นต้น และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันสูตรใหม่ในราคาเท่าเดิม พร้อมสารสูตรพิเศษรายแรกของโลก ให้คุณแรงดั่งใจ ทุกสัมผัส ในชื่อ พีทีที อัลตร้าฟอร์ช (โดยทดแทนชื่อพีทีที บลู อินโนเวชัน) เช่น บลู ดีเซล (ทดแทนด้วยชื่อ อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล)
- พ.ศ. 2563 - เปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันสูตรใหม่ในราคาเท่าเดิม พร้อมสารสูตรพิเศษรายแรกของโลก เปิดตัวเทคโนโลยี เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ เบนซิน (XtraForce Benzine) เทคโนโลยีน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ของ พีทีที สเตชัน พลังแรง ปกป้องเต็มสมรรถนะ ให้พลังเหนือขีดจำกัดทุกการขับขี่ ด้วยสารเติมแต่งสูตรใหม่ เข้มข้นกว่าเดิมถึง 46% ในชื่อ พีทีที เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ ที่ได้รับการคิดค้นและออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรองรับเครื่องยนต์เบนซินรุ่นใหม่ระบบฉีดตรง (GDI-Gasoline Direct Injection) เป็นรายแรก พร้อมให้พิสูจน์แล้วปลายเดือนมีนาคมนี้ ที่สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชัน ทุกสาขาทั่วประเทศ เช่น บลู แก๊สโซลีน (ทดแทนด้วยชื่อ เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ แก๊สโซลีน), และบลู แก๊สโซฮอล์ 91 - 95 (ทดแทนด้วยชื่อ เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ แก็สโซฮอล์ 91 - 95) รวมทั้งทดแทนชื่อ บลู แก๊สโซฮอล์ E20, E85 เป็น เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ แก๊สโซฮอล์ E20 และ เอ็กซ์ตร้าฟอร์ซ แก๊สโซฮอล์ E85)
- พ.ศ. 2563 - PTTOR เปิดตัวโครงการ ไทยเด็ด เพื่อนำสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวิสาหกิจชุมชนจากท้องถิ่นต่างๆ มาวางจำหน่ายภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station โดยจัดแสดงและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ มุมสินค้าไทยเด็ด, ตลาดไทยเด็ด และ ตู้.ปณ.ไทยเด็ด
- พ.ศ. 2563 - ตามที่กรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศให้ น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของประเทศ และให้เรียกชื่อว่า น้ำมันดีเซล ส่วนน้ำมันดีเซล (บี 7) ที่จำหน่ายในชื่อน้ำมันดีเซลอยู่นั้น จะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น น้ำมันดีเซล บี 7 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชัน (PTT Station) ได้เตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนป้ายชื่อผลิตภัณฑ์กลุ่มดีเซลที่ตู้จ่าย และป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามประกาศ โดยจะเริ่มดำเนินการและสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้แล้วเสร็จครบทุกสถานีบริการทั่วประเทศภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยชื่อผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป มีดังนี้
- น้ำมันอัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 (UltraForce Diesel B10) เปลี่ยนชื่อเป็น อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล (UltraForce Diesel)
- น้ำมันอัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล (UltraForce Diesel) เปลี่ยนชื่อเป็น อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี7 (UltraForce Diesel B7)
- น้ำมันอัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล พรีเมียม (UltraForce Diesel Premium) เปลี่ยนชื่อเป็นอัลตร้าฟอร์ซ ดีเซลพรีเมียม บี7 (UltraForce Diesel Premium B7)
- พ.ศ. 2565 - เปิดตัว Super Power ขุมพลังน้ำมันเกรดพรีเมียมสูตรใหม่ แรง-คุ้มค่า Super Power Gasohol 95 และ Diesel B7
- Super Power Gasohol 95 แรงเร็ว เพิ่มสาร Super Booster ลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ เพิ่มอัตราเร่ง เผาไหม้สมบูรณ์ ทำความสะอาดหัวฉีด GDI คืนประสิทธิภาพเครื่องยนต์ได้ 100%
- Super Power Diesel B7 แรงสุดด้วยอัตราเร่งแรงดีขึ้น ทำงานเต็มประสิทธิภาพ เร่งแซงดั่งใจด้วยค่าซีเทนสูงถึงระดับขีดสุดที่เครื่องยนต์ต้องการ โดยเฉพาะรถดีเซลรุ่นใหม่ ที่ต้องการความบริสุทธิ์ของน้ำมันมาตรฐานยูโร 5
- พ.ศ. 2565 - ก้าวสู่ปีที่ 20 สำหรับการเปิดให้บริการคาเฟ่ อเมซอน จากแรกเริ่มที่ยอดขายวันละ 40 แก้วต่อสาขา จนปัจจุบันแปลงโฉมรับกับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลดันขายได้ถึงวันละ 1,000 แก้ว ในกัมพูชา
- พ.ศ. 2565 - นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทลาออกจากตำแหน่ง
- พ.ศ. 2566 - นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ประธานกรรมการบริษัทลาออกจากตำแหน่ง
- พ.ศ. 2567 - นายกองเอก ฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานกรรมการบริษัท หม่อมหลวง ปีกทอง ทองใหญ่ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
บริษัทในเครือ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "Executive". PTT. สืบค้นเมื่อ 4 August 2016.
- ↑ ปตท. - คนในองค์กร
- ↑ Google finance, PTT Public Company
- ↑ Robinson, Gwen (August 27, 2012). "PTT buys control of Sakari for S$1.2bn". Financial Times. Bangkok. สืบค้นเมื่อ 12 September 2012.
- ↑ "PTT moves up on Fortune 500". Bangkok Post. 12 July 2013. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
- ↑ "The World 2000". Forbes. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
- ↑ "PTT: PTT PUBLIC COMPANY LIMITED; F/S & Highlights". The Stock Exchange of Thailand (SET). สืบค้นเมื่อ 6 October 2017.
- ↑ ปตท.แชมป์ ส่งรายได้เข้ารัฐมากสุด 1.89 หมื่นล้านบาท
- ↑ ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์
- ↑ หนังสือแรกมีในสยาม ภาค 2(เอนก นาวิกมูล:ไม่ทราบหน้าที่ปรากฏ)
- ↑ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 เก็บถาวร 2020-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอน 87 ก หน้า 6-7 30 กันยายน พ.ศ. 2544
- ↑ "หม้อต้มน้ำพองบึ้มเอ็นจีวีอีสานขาด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-05. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, "ก่อนจะโชติช่วงชัชวาล: อุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศไทยยุคพัฒนา," วารสารประวัติศาสตร์ ฉบับครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์พิเศษขจร สุขพานิช (2556): 129-147.
- อนรรฆ พิทักษ์ธานิน. “‘ก่อนจะเป็น ปตท.’: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521.” วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ประวัติศาสตร์). ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.
- เว็บไซต์ทางการของ บริษัท ปตท.
- ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นสามัญเป็นครั้งแรกต่อประชาชน (IPO)