เปรม ติณสูลานนท์

อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
(เปลี่ยนทางจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์)

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ น.ร. ป.จ. ส.ร. ม.ป.ช. ม.ว.ม. ป.ภ. (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) เป็นทหารบก นักการเมือง และรัฐบุรุษชาวไทย[1] เริ่มต้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2531) หลังจากนั้นเป็นประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงระยะหนึ่งในปี พ.ศ. 2559

เปรม ติณสูลานนท์
เปรม ใน พ.ศ. 2527
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ดำรงตำแหน่ง
13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559
(0 ปี 49 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนหน้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ประธานองคมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
4 กันยายน พ.ศ. 2541 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
(20 ปี 264 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
รักษาการแทนธานินทร์ กรัยวิเชียร
ก่อนหน้าสัญญา ธรรมศักดิ์
ถัดไปสุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 16
ดำรงตำแหน่ง
3 มีนาคม พ.ศ. 2523 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531
(8 ปี 154 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รอง
ก่อนหน้าเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ถัดไปชาติชาย ชุณหะวัณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529
(7 ปี 73 วัน)
นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ตนเอง
ก่อนหน้าเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ถัดไปพะเนียง กานตรัตน์
ผู้บัญชาการทหารบก
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2521 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2524
(2 ปี 329 วัน)
ก่อนหน้าพลเอก เสริม ณ นคร
ถัดไปพลเอก ประยุทธ จารุมณี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 สิงหาคม พ.ศ. 2463
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประเทศสยาม
เสียชีวิต26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (98 ปี)
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอิสระ
บุพการี
  • หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) (บิดา)
  • นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) (มารดา)
ศิษย์เก่า
พระราชทานเพลิง8 ธันวาคม พ.ศ. 2562
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ประจำการพ.ศ. 2484–2529
ยศ พลเอก
พลเรือเอก
พลอากาศเอก
บังคับบัญชากองทัพบกไทย
ผ่านศึก

บุคลิกส่วนตัวของพลเอก เปรม เป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้[2] และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย และกบฏ 9 กันยา[3] หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

มีนักวิชาการและสื่อว่า พลเอก เปรม มีบทบาทในการเมืองไทย แม้รัฐบาลทหารหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ปฏิเสธข่าวนี้

ประวัติ

 
พันเอก เปรม สมัยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2502

ชีวิตส่วนตัว

พล.อ. เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ณ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ "เปรม" นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล "ติณสูลานนท์" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2462[4] เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางออด วินิจทัณฑกรรม และตัวพลเอก เปรมมิได้สมรสกับผู้ใด

การศึกษา

พลเอก เปรม สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดบ่อยาง ศึกษาต่อมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2478 ต่อมาจบมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2479 เข้าศึกษาต่อนักเรียนนายร้อย ที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งคือ ร้อยเอก อำนวย ทวีสิน บิดาของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30[5]

หลังจากนั้นพล.อ. เปรม ได้สำเร็จการฝึกดังนี้

  • พ.ศ. 2490 : หลักสูตรนายทหารฝึกราชการ โรงเรียนนายทหารม้า ระดับผู้บังคับบัญชา
  • พ.ศ. 2496 : หลังจากนั้นก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่สหรัฐ หลักสูตรผู้บังคับกองพัน โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ
  • 23 เมษายน พ.ศ. 2498 : ได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์
  • พ.ศ. 2503 : หลักสูตรพิเศษ วิทยาลัยการทัพบก
  • พ.ศ. 2509 : หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 9
  • 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 : ยังได้วิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา[6]

เมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485 – พ.ศ. 2488 ที่เชียงตุง[7]

ราชการทหาร

ภายหลังสงคราม พลเอก เปรม รับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์ และพล.อ. วิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

พล.อ. เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อ พ.ศ. 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ เขามักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน [8]

พล.อ. เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ใน พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ใน พ.ศ. 2521

นอกจากยศพลเอกแล้ว พล.อ. เปรม ได้รับพระราชทานยศพลเรือเอกของกองทัพเรือ และพลอากาศเอกของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529[9]

การเข้าร่วมงานทางการเมือง

การเข้าร่วมทำรัฐประหาร

พลเอก เปรม ร่วมทำรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 
พลเอก เปรม ขณะปฏิบัติภารกิจเยือนต่างประเทศเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พล.อ. เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2520 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[10] ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2522

ในช่วงนั้น พล.อ. เปรม ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพล.อ. เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง[11]

พล.อ. เปรม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอก เปรม ในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

สมัยที่ 1

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 42 : 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 – 29 เมษายน พ.ศ. 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526

สมัยที่ 2

 
โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้พลเอก เปรม เข้าเยี่ยมในห้องทำงานรูปไข่

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 43 : 30 เมษายน พ.ศ. 2526 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529

สมัยที่ 3

 
พลเอก เปรม ใน พ.ศ. 2530

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 44 : 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม 10 มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม 10 มกรา นี้ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เขาจึงประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531

ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ. เปรม ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการทั่วไป[12]

ภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพล.อ. เปรม ที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พล.อ. เปรม ปฏิเสธการเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ. เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

บทบาทในวิกฤตการณ์การเมือง

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีนักวิชาการกล่าวหาพลเอก เปรม ว่าเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548–2549 ที่นำไปสู่รัฐประหาร[13][14] ซึ่งในเวลาพลบค่ำวันที่ 19 กันยายน ช่วงเดียวกับที่กำลังทหารหน่วยรบพิเศษจากจังหวัดลพบุรีเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพมหานคร พลเอก เปรม เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[15]พร้อมกับ

เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พล.อ. เปรม เป็นผู้สั่งการรัฐประหารโดยนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์[16] มีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว XFN-ASIA ระบุในเว็บไซต์นิตยสารฟอร์บ ว่า พล.อ. เปรม เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย พร้อมทั้งสนับสนุนให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร[17] ฝ่ายรัฐบาลทหารว่า พล.อ. เปรม ไม่เคยมีบทบาททางการเมือง[18]

ในเวลาต่อมา มีการอ้างว่า พล.อ. เปรม อาจมีบทบาทสำคัญในการเชิญพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตลูกน้อง มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย จนนักวิจารณ์บางคน กล่าวว่า สภาฯ ชุดนี้เต็มไปด้วย "ลูกป๋า"[19][20][21]

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 นปก. ชุมนุมประท้วงหน้าบ้านของพล.อ. เปรม เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เพราะเชื่อว่ามีบทบาททางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สพริกไทยแล้วล้อมรถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงของแกนนำ ผู้ชุมนุมขว้างปาขวดพลาสติก และขวดแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดการปะทะกันชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน ด้านแยกสี่เสาเทเวศร์ กลุ่ม นปก.ส่วนหนึ่งทุบทำลายซุ้มตำรวจจราจรและทุบรถส่องไฟและกระจายเสียงของตำรวจที่จอดไว้ รวมทั้งปล่อยลมยางรถยนต์[22] ในวันต่อมา พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ,พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะรัฐมนตรีไปเยี่ยมพล.อ. เปรม เพื่อขอโทษที่ยอมให้มีการประท้วง[23][24]

 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ซ้าย) และคณะรัฐมนตรี เข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดพลเอก เปรม ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บางกอกพันดิท (Bangkok Pundit) เขียนในเอเชียคอร์เรสปอนเดนท์ว่า พล.อ. เปรม เป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองไทยในหลายทศวรรษหลัง เจมส์ อ็อกคีย์ (James Ockey) ว่า "ก่อนรัฐบาลไทยรักไทยกำเนิดในปี 2544 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกแทบทุกคนในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอดีตผู้ช่วยของเปรม" แต่ "แน่นอนว่ายิ่งเปรมเกษียณนานเท่าไร อิทธิพลของเขาในกองทัพก็ยิ่งอ่อนลงเท่านั้น"[25] เขามีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดเมื่อรัฐประหารปี 2549 และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกองทัพและพระราชวัง ทว่า นับแต่ปี 2549 อำนาจของเขาและความสามารถมีอิทธิพลจางลงเมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาและบูรพาพยัคฆ์มีเส้นสายของตัวและสามารถเลี่ยงพล.อ. เปรม ได้แล้ว Marwaan Macan-Markar เขียนว่า "ต่างกับสนธิ ประยุทธ์ยังไม่เป็นหนี้บุญคุณเครือข่ายอิทธิพลซึ่งเป็นผู้รักษาประตูสู่พระมหากษัตริย์แต่เดิม อันเป็นที่สถิตของอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร" และ "บูรพาพยัคฆ์คืนชีพโดยทำลายสายการบังคับบัญชาเดิมซึ่งเป็นหนี้บุญคุณต่อพลเอก เปรม เขามีสามัคคีจิตของเขาเอง"[26]

ถึงแก่อสัญกรรม

พล.อ. เปรม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09:09 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานโกศกุดั่นน้อย และฉัตรเครื่องตั้งประดับ พร้อมแตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวงวางที่หน้าโกศศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ต่อมาในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในวาระครบ 7 วัน[27] นอกจากนี้ โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศล 15 วัน 50 วัน และ 100 วันตามลำดับ และให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 21 วันนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เว้นวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี[27]

ในวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพและวางพวงมาลา[28]

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ,สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพพล.อ. เปรม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[29] วันถัดมา โปรดให้ผู้แทนพระองค์ไปเก็บอัฐิ[30]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดต่าง ๆ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

ลำดับสาแหรก

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

อ้างอิง

  1. https://www.thaipost.net/main/detail/36832 เปิดประวัติ 99 ปีรัฐบุรุษชาติไทย 'พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์'
  2. ถอดรหัสป๋า เปิดปาก 3 ฝ่ายต้องคุยกันเอง
  3. "เสธ.แดง เล่าให้ฟังฤทธิ์เดชขันทีนักฆ่าแห่งลุ่มเจ้าพระยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-14. สืบค้นเมื่อ 2009-09-22.
  4. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 81 หน้า 1356 เล่ม 36 10 สิงหาคม 2462
  5. "เปิดสาแหรก "เศรษฐา ทวีสิน" สายเลือดมหาเศรษฐี 10 ตระกูลดัง". ประชาชาติธุรกิจ. 2 กันยายน 2566. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2023.
  6. 6.0 6.1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 27 พฤษภาคม 2562, "อาลัย... พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี", หน้า 28
  7. เผยวีรกรรมศึก ป๋าเปรม สงครามอินโดจีน-สงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวสดออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562
  8. วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, ออลบุ๊คส์พับลิสชิ่ง, 2549 ISBN 974-94-55398
  9. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานยศทหาร
  10. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 44 ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2019-10-29.
  11. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 37 ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-25. สืบค้นเมื่อ 2019-10-28.
  12. เปิดประวัติ 99 ปีรัฐบุรุษชาติไทย 'พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ไทยโพสต์ สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562
  13. Kate McGeown, Thai king remains centre stage, BBC News, 21 September 2006
  14. Asia Sentinel, Could Thailand be Getting Ready to Repeat History? เก็บถาวร 2012-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 April 2007
  15. The Nation, Coup as it unfolds เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 September 2006
  16. onopen.com หลังฉากพันธมิตร หลังวันรัฐประหาร และหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ กับ สุริยะใส กตะศิลา เก็บถาวร 2007-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. "Former Thai PM Prem Tinsulanonda had key role in coup - analysts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-24. สืบค้นเมื่อ 2006-11-11.
  18. Bangkok Post, UDD aims to damage monarchy[ลิงก์เสีย], 25 July 2007
  19. The Australian, Thailand's post-coup cabinet unveiled เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 October 2006
  20. The Nation, NLA 'doesn' t represent' all of the people เก็บถาวร 2006-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 14 October 2006
  21. The Nation, Assembly will not play a major role เก็บถาวร 2007-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 14 October 2006
  22. ไทยโพสต์, ลุยม็อบจับแกนนำนปก.ปะทะเดือดตร.สลาย3รอบหมายรวบหัวไม่สำเร็จ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 23 กรกฎาคม 2550
  23. Bangkok Post, Six protesters held , 23 July 2007
  24. The Nation, PM says sorry to Prem over mob violence เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, July 2007
  25. James Ockey, “Monarch, monarchy, succession and stability in Thailand“, Asia Pacific Viewpoint, Vol. 46, No. 2, August 2005, pp 115–127 at 123 อ้างใน Bangkok Pundit. In post-coup Thailand, what is happening with Prem? เก็บถาวร 2015-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Asian Correspondent. (Sep 09, 2014). สืบค้น 11-9-2014.
  26. Marwaan Macan-Markar, “On top at last, in civilian clothes” in The Edge Review, edition of August 22-28. อ้างใน Bangkok Pundit. In post-coup Thailand, what is happening with Prem? เก็บถาวร 2015-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Asian Correspondent. (Sep 09, 2014). สืบค้น 11-9-2014.
  27. 27.0 27.1 ประกาศสำนักพระราชวัง 'พลเอก เปรม ติณสูลานนท์' ถึงแก่อสัญกรรม
  28. เข้าร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
  29. ในหลวง พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เปรม
  30. "ในหลวง โปรดเกล้าฯ ผู้แทนพระองค์ในการเก็บอัฐิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์". ไทยรัฐ. วัชรพล. 2019-12-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.
  31. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 105 ตอนที่ 140 ง ฉบับพิเศษ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 หน้า 1
  32. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 16 เล่ม 99 ตอนที่ 76 3 มิถุนายน 2525
  33. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเล่ม 107 ตอน 55 ง 5 เมษายน พ.ศ. 2533 หน้า 2659
  34. ราชกิจจานุเบกษาแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 13 เล่ม 96 ตอนที่ 11 31 มกราคม 2522
  35. ราชกิจจานุเบกษาแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 47 เล่ม 92 ตอนที่ 263 26 มกราคม 2515
  36. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 113, ตอน 22ข, 4 ธันวาคม 2439, หน้า 1
  37. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ (จำนวน 14 ราย) เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หน้า 105, ตอน 95 ง ฉบับพิเศษ, 15 มิถุนายน พ.ศ. 2531, หน้า 2
  38. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม 58, 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2484, หน้า 932
  39. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม 79, ตอน 83, 8 กันยายน พ.ศ. 2505, หน้า 12
  40. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม 95, ตอน 80, 10 สิงหาคม พ.ศ. 2521, หน้า 21
  41. ราชกิจจานึเบกษา,แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉบับพิเศษ หน้า 306 เล่ม 72 ตอนที่ 99, 10 ธันวาคม พ.ศ. 2498
  42. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์), เล่ม 99, ตอน 60 ง, 27 เมษายน พ.ศ. 2525, หน้า 1412
  43. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 136, ตอน 17 ข, 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562, หน้า 2
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 มูลนิธิรัฐบุรุษ, รัฐบุรุษชื่อเปรม, สำนักพิมพ์มติชน 2562
  45. http://theme.archives.go.kr/viewer/common/archWebViewer.do?bsid=200200002371&dsid=000000000006&gubun=search
  46. "Senarai Penuh Penerima Darjah Kebesaran, Bintang dan Pingat Persekutuan Tahun 1984" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 October 2013. สืบค้นเมื่อ 15 June 2016.
  47. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 102 ตอนที่ 60 ฉบับพิเศษ หน้า 12, 16 พฤษภาคม 2528
  48. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ , เล่ม 120 ตอนที่ 4 ข หน้า 5, 7 มีนาคม 2546
  49. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 121 ตอนที่ 6 ข หน้า 2, 25 มีนาคม 2547

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า เปรม ติณสูลานนท์ ถัดไป
สัญญา ธรรมศักดิ์    
ประธานองคมนตรี
(4 กันยายน พ.ศ. 2541 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
(2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
  พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
(รักษาการประธานองคมนตรี)
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล อดุลเดชจรัส)    
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
  -
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์    
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
(ครม. 42, 43 และ 44)

(3 มีนาคม พ.ศ. 2523 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531)
  พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
(24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529)
  พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์
พลเอก เสริม ณ นคร    
ผู้บัญชาการทหารบก
(1 ตุลาคม พ.ศ. 2521 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2524)
  พลเอก ประยุทธ จารุมณี
ปรีดี พนมยงค์   รัฐบุรุษ
(29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
  -