ปฐมจุลจอมเกล้า มีอักษรย่อว่า ป.จ. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานทั้งฝ่ายหน้า (บุรุษ) จำนวน 30 สำรับ และฝ่ายใน (สตรี) จำนวน 20 สำรับ โดยปฐมจุลจอมเกล้าจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอันดับที่ 6[1] และถือเป็นชั้นสูงสุดของเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าที่พระราชทานให้แก่ฝ่ายใน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อป.จ.
ประเภทฝ่ายหน้า : สายสะพายมีดารา มีสายสร้อย
ฝ่ายใน : สายสะพายมีดารา
วันสถาปนาฝ่ายหน้า : พ.ศ. 2416
ฝ่ายใน : พ.ศ. 2436
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับฝ่ายหน้า : 30 สำรับ
ฝ่ายใน : 20 สำรับ
แพรแถบ
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งปวง
(พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย)
มอบเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศและระลึกถึงความดีความชอบของบุคคลซึ่งได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อนถึงปัจจุบัน
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
รัตนวราภรณ์
รองมาเสนางคะบดี
หมายเหตุฝ่ายหน้า : พระราชทานสืบตระกูลได้
ฝ่ายใน : มีคำนำหน้านาม

ประวัติ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเมื่อปี พ.ศ. 2416 เมื่อแรกสถาปนานั้นพระราชทานเฉพาะฝ่ายหน้า (บุรุษ) เท่านั้น โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 21 สำรับ แบ่งเป็น สำหรับพระมหากษัตริย์ดวงตราและสายสร้อยจะประดับเพชรล้วน 1 สำรับและสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าราชตระกูล อัครมหาเสนาบดีจัตุสดมภ์และหัวเมืองซึ่งเป็นเมืองเอกที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา และผู้ได้รับพระราชทานตรานพรัตนราชวราภรณ์อีกจำนวน 20 สำรับ[2] โดยปฐมจุลจอมเกล้าจัดเป็นชั้นที่มีลำดับเกียรติสูงสุดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2443 มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น เรียกว่า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งมีลำดับเกียรติสูงที่สุดสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ดังนั้น ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าจึงมีลำดับเกียรติรองจากชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษตั้งแต่นั้นมา[3]

ส่วนฝ่ายใน (สตรี) นั้น พระองค์ทรงสร้างกล่องหมากและหีบหมากเป็นเครื่องยศสำหรับพระราชทานในทำนองเดียวกันกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ไม่ได้พระราชทานโดยทางสืบสกุลและไม่จำกัดจำนวน โดยชั้นสูงที่สุด เรียกว่า กล่องปฐมจุลจอมเกล้า เทียบได้กับชั้นปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า[4] โดยมีลักษณะเป็นกล่องหมากทำด้วยเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝากล่องมีดวงดาราปฐมจุลจอมเกล้าอยู่กลางอยู่กลาง ขอบนอกเป็นอักษรว่า "การพระราชพิธีบรมราชภิเษก ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕" มีตลับข้างใน 4 ใบจัดเป็นครึ่งซีกตามรูปกล่อง จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2436 พระองค์จึงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับพระราชทานได้ประดับตนเป็นที่แสดงเกียรติยศเพิ่มขึ้น โดยชั้นสูงที่สุดสำหรับพระราชทานแก่ฝ่ายใน คือ ปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานแก่มหาสวามินีหรือคณาธิปตานี 1 ดวง และพระราชทานสำหรับฝ่ายในอีก 15 ดวง รวมทั้งสิ้น 16 ดวง[5]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยกำหนดจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้าไว้ 30 สำรับ และสำหรับพระราชทานฝ่ายใน 20 สำรับ โดยไม่นับรวมกับจำนวนสำรับที่พระราชทานแก่ผู้มีเกียรติจากต่างประเทศ[6]

ลักษณะและองค์ประกอบ แก้

 
แพรแถบ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สามารถแบ่งออกสำหรับพระราชทานให้ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน โดยมีลักษณะดังนี้[6]

ฝ่ายหน้า แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้านั้น 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตรา ดารา และสายสร้อย ซึ่งมีลักษณะดังนี้

 
ปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายใน
  • ดวงตรา
    • ด้านหน้า มีลักษณะเป็นรัศมี 8 แฉก ลงยาสีชมพู มีรัศมีทองแทรกตามระหว่างแฉก มีใบชัยพฤกษ์สองข้าง ลงยาสีเขียว กลางดวงตรามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" เบื้องบนมี พระจุลมงกุฎเปล่งรัศมีลงยาสีเขียว สีแดง สีขาบ สีขาว
    • ด้านหลัง มีลักษณะเหมือนด้านหน้า แต่ที่กลางดวงตราเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาว บนหลังช้างเป็นรูปตรีศูล ลงยาสีขาว ที่ขอบมีอักษรทองว่า "ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕" รอบขอบเป็นรูปจักร ลงยาสีขาวพื้นแดง

ดวงตราใช้สำหรับห้อยกับสายสะพายสีชมพู กว้าง 10 เซนติเมตร สำหรับ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา

  • ดารา มีลักษณะเป็นรัศมีทอง 8 แฉก รัศมีเงิน 8 แฉก กลางดารา พื้นสีชมพู มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.จ.จ." (จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า) ทองประดับเพชร ขอบลงยาสีขาบ และมีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" รอบขอบเป็นเพชรสร่งเงิน ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
  • สายสร้อยลงยา หรือ สายสร้อยทอง จะได้รับพระราชทานอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับชาวต่างประเทศนั้น พระราชทานหรือไม่ก็สุดแต่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร โดยสายสร้อยมีลักษณะเป็นรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." ไขว้ 16 องค์ ดอกบัว 17 ดอก สลับกันไปตลอดสาย กลางสายสร้อยเป็นรูปช้างไอราพต มีพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี มีเครื่องสูง 2 ข้าง มีราชสีห์ คชสีห์เชิญฉัตร สำหรับห้อยดวงตราสวมแทนสายสะพาย กับมีแพรจีบสีขาวกลัดทับสายสร้อยเหนือบ่าทั้ง 2 ข้าง

ฝ่ายใน แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้น 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตราและดารา ซึ่งมีลักษณะดังนี้

  • ดวงตรา มีลักษณะเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า ที่จุลมงกุฎและใบชัยพฤกษ์ประดับเพชร ด้านหลังมีอักษรทองว่า "รัตนโกสินทรศก ๑๑๒" ห้อยกับสายสะพายสีชมพู กว้าง 7.5 เซนติเมตร ใช้สำหรับสะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง 5 เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
  • ดารา มีลักษณะเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย

หมายเหตุ: สำหรับพระราชินี ดาราประดับเพชรทั้งดวง

นอกจากนี้ ยังมี เครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบ สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า โดยมีลักษณะเป็นรูป จ.จ.จ. ทองลงยาสีชมพูกับจุลมงกุฎทองลงยาสำหรับประดับกลางแพรแถบย่อสีชมพู และใช้ติดสำหรับดุมเสื้อซึ่งมีลักษณะเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบสีชมพูประดับด้วยเครื่องหมายประดับแพรแถบดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[7] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากระเป๋าเสื้อ ส่วนสตรีนั้น มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย[8]

ลักษณะพิเศษ แก้

เครื่องยศ แก้

 
เครื่องยศประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า

ในอดีต ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้านั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องยศประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่ เสื้อครุยปัก จ.จ.จ. พานหมากทองคำลายสลัก เครื่องพร้อม คนโทน้ำลายสลักพร้อมพานรอง กาน้ำทองคำลายสลักพร้อมโต๊ะทองคำ กระโถนทองลายสลัก หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำ นอกจากนี้ ชุดเครื่องแต่งกายยังประกอบด้วยมาลาเส้าเสทิ้น เสื้อทรงประพาสคอบัว รัดประคด และดาบฝักทองคำ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีระเบียบกำหนดเครื่องยศประกอบ แต่ก็มิได้พระราชทานให้ครอบครองอย่างประเพณีเดิม คงเชิญเครื่องยศมาตั้งประกอบในพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเท่านั้น[9]

การสืบตระกูล (ฝ่ายหน้า) แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้านั้น สามารถสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ตระกูลเฉพาะผู้ได้รับปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าเท่านั้น โดยบุตรชายของผู้ได้รับพระราชทานนั้น จะได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้

คำนำหน้านาม (ฝ่ายใน) แก้

สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สามารถใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" [10]

ส่วนสตรี ผู้ที่สมรสกับเจ้านายฝ่ายหน้าในราชวงศ์จักรี คือ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ใช้คำนำหน้านามว่า หม่อม หรือ สกุลยศเดิม เช่น หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นท่านผู้หญิง เรียกลำลองว่า คุณท่าน

สำหรับเจ้านายฝ่ายใน คือ ราชสกุล ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปให้ใช้คำนำหน้าพระนามตามเดิม ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานชั้นใด ส่วนสตรีที่เป็นราชนิกูลชั้น หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง เมื่อได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง "[11]

เกียรติยศศพ แก้

ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวายชนม์จะใช้คำว่า "ถึงแก่อสัญกรรม"[12][13] และจะได้รับพระราชทานเกียรติยศศพ แต่ถ้าผู้วายชนม์เป็นสมาชิกราชตระกูล ดำรงตำแหน่งสำคัญ หรือได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็อาจได้รับเกียรติยศศพสูงขึ้น โดยจะได้รับพระราชทานเกียรติยศศพ ดังนี้

การพระราชทาน แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องอิสริยาภรณ์ รวมทั้งทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานแก่ผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า แบ่งออกสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้าจำนวน 30 สำรับ และฝ่ายในจำนวน 20 สำรับ นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่เจ้านายหรือผู้มีเกียรติจากต่างประเทศซึ่งไม่นับรวมกับจำนวนดังกล่าว[6]

ผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าจะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าวายชนม์ลง ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนภายใน 30 วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ ส่วนกรณีผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าในชั้นที่สูงขึ้นหรือทรงเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าผู้รับพระราชทานไม่สามารถส่งคืนได้ ต้องชดใช้ราคาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น[6] สำหรับฝ่ายหน้าต้องชดใช้เป็นจำนวนเงิน 3,073,630 บาท และฝ่ายใน 1,273,826 บาท[14]

รายพระนามและรายนามผู้ได้รับพระราชทาน แก้

ปัจจุบัน ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เช่น

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  2. พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยยศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าเพิ่มเติม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๑, ๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๔๐๑
  4. สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, โรงพิมพ์พระจันทร์, พ.ศ. 2512
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๒ (ฝ่ายใน), เล่ม ๑๐, ตอน ๓๒, ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๑๘๙๓, หน้า ๓๔๖
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
  9. ปถพีรดี, เครื่องยศ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2502, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2545
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๓๙, ตอนพิเศษ ๕๓ง, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, หน้า ๑
  11. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2007-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  12. สุดสงวน, ตอน “การใช้ภาษาในภาวะวิกฤต” เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2629, ปีที่ 51, ประจำวันอังคารที่ 8 มีนาคม 2548
  13. "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ออนไลน์) พ.ศ. 2542 : อสัญกรรม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2009-02-08.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๕, ตอน พิเศษ ๔๙ ง, ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๘
  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๑, ตอน พิเศษ ๑๘๕ ง, ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗, หน้า ๔}}

www.ohrm.au.edu/PDF/2014/Ratchakitcha_131_185_19092557.pdf เก็บถาวร 2017-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ : เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า[1]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/B/001/1.PDF