บรรดาศักดิ์ไทย

ระดับชั้นยศของข้าราชการไทยในสมัยโบราณ
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าพระยา)

ในฐานันดรศักดิ์ไทย บรรดาศักดิ์ คือ ระดับชั้นหรือยศของข้าราชการไทยในสมัยโบราณ เทียบกับคำภาษาอังกฤษคือ Title

เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) เสนาบดีในรัชกาลที่ 5

ระบบบรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยนี้ ได้ตราออกมาเป็นกฎหมาย เรียกว่า พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง พ.ศ. 1998 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา

ประวัติ

แก้
 
ขุนนางสยามบนเปลขณะออกตรวจราชการ
 
ขุนนางสยามกับเหล่าบริวาร

บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยมีความแตกต่างกับตะวันตกเนื่องจากระบบที่แตกต่างกัน ขุนนางตะวันตกเป็นขุนนางสืบตระกูล และไม่ใช่ข้าราชการ แม้ว่าขุนนางบางคนรับราชการ แต่ขุนนางไทยเป็นข้าราชการ และตำแหน่งขุนนางผูกพันกับระบบราชการ ส่วนขุนนางตะวันตกนั้น ตำแหน่งขุนนาง ผูกพันกับการถือครองที่ดิน ที่ได้รับพระราชทานไว้แต่เดิม และส่วยสาอากร หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากที่ดินนั้น ขุนนางตะวันตก จึงมีส่วนคล้ายกับเจ้าต่างกรม ของไทย ในส่วนของผลประโยชน์ในตำแหน่ง เช่น ส่วย กำลังคน เป็นต้น แต่เจ้าต่างกรมของไทย ก็ไม่ได้สืบตระกูล

ดังนั้น บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยจึงน่าจะเป็นชั้นยศ (Rank) มากกว่าเป็นบรรดาศักดิ์ (Title) ตามหลักการสมัยใหม่

ได้มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ของไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[1] ต่อมาประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมาเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2487[2][3] และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติคืนยศ บรรดาศักดิ์ เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ และสิทธิในการรับเบี้ยหวัดบำเหน็จและบำนาญ พุทธศักราช 2489 เพื่อนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องโทษทางการเมือง[4] ในสมัยรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ได้มีการประกาศใช้บรรดาศักดิ์อีกครั้ง จนถึง พ.ศ. 2491 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ การประกาศให้มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์กลับคืนมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษาครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2512[5]

บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย

แก้

บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยจะมี ศักดินา ประกอบกับบรรดาศักดิ์นั้นด้วย ระบบขุนนางไทย ถือว่า ศักดินา สำคัญกว่า บรรดาศักดิ์ เพราะศักดินา จะใช้เป็นตัววัดในการปรับไหม และ พินัย ในกรณีขึ้นศาล[6]: 81  ระหว่างราษฎรด้วยกันยกเว้นคดีความหลวงให้เฆี่ยนโบยตี[7]: 70  เช่น พระไอยการลักษณะวิวาทตีด่ากัน ใน กฎหมายตราสามดวง กล่าวว่า

วิวาท บทที่ 36 ผู้ใดด่าผู้อื่นโดยด่าเฉพาะตัวของผู้นั้น ให้ปรับไหมตามบรรดาศักดิ์ หากได้ด่าถึงตระกูลให้ปรับไหมทวีคูณ[8]

บรรดาศักดิ์ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง นี้ ค่อนข้างสับสนและไม่เป็นระบบ คล้าย ๆ กับว่า ผู้ออกกฎหมายนึกอยากจะให้บรรดาศักดิ์ใด ศักดินาเท่าไหร่ ก็ใส่ลงไป โดยไม่ได้จัดเป็นระบบแต่อย่างใด (เพิ่มเติมวันที่ 4 มีนาคม 2550 ตามความเห็นไม่คิดว่าจะจัดไม่เป็นระบบแต่อย่างใด แต่เป็นลักษณะอย่าง เช่น เมืองตากเป็นเมืองเล็ก ๆ พระยาตากอาจถือศักดินาสูงสุดอยู่ในเมืองตาก หมายความว่าใหญ่สุดในเมืองตากทั้งศักดินาและบรรดาศักดิ์ แต่อย่างที่บอกไป เมืองตากเป็นเมืองเล็ก เป็นไปได้ว่าอาจมีศักดินาต่ำกว่ายศขุนของอยุธยาซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่ก็เป็นได้ ทั้งนี้ควรหาข้อมูลเปรียบเทียบตรงจุดนี้ให้กระจ่าง) ดังนั้น จึงมีขุนนางใน กรมช่างอาสาสิบหมู่ หรือ บางกรม ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา แต่ศักดินาต่ำกว่า 1,000 ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับต่ำ

ในสมัยต่อมาได้มีการเพิ่มเติม บรรดาศักดิ์ต่าง ๆ จากทำเนียบพระไอยการนาพลเรือน นายหาร หัวเมือง ขึ้นอีกเป็นอันมาก

ขุนนางของไทยสมัยโบราณ ไม่เหมือนกับขุนนางในประเทศตะวันตก คือ ไม่ได้เป็นขุนนางสืบตระกูล[6]: 82  ผู้ที่ได้ครองบรรดาศักดิ์ก็อยู่ในบรรดาศักดิ์เฉพาะตนเท่านั้น จึงเทียบได้กับข้าราชการ หรือ ระบบชั้นยศของข้าราชการในสมัยปัจจุบัน ที่มีการแบ่งเป็นระดับต่างๆ แต่ขุนนางไทยในสมัยโบราณ จะมีราชทินนาม และ ศักดินา เพิ่มเติมแตกต่างจากข้าราชการในปัจจุบันที่มีเพียงชั้นยศเท่านั้น

บรรดาศักดิ์ จมื่น หรือ พระนาย นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ หัวหน้ามหาดเล็ก ในกรมมหาดเล็ก ศักดินา 800-1000 เทียบได้เท่ากับ บรรดาศักดิ์ พระ ที่มีศักดินาใกล้เคียงกัน แต่จมื่นนั้น ได้รับการยกย่องมากกว่า[6]: 82  เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และมักจะมีอายุยังน้อย อยู่ในระหว่าง 20-30 ปี มักเป็นลูกหลานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่นำมาถวายตัวรับใช้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นช่องทางเข้ารับราชการต่อไปในอนาคต

"ธรรมเนียมลำดับยศฝ่ายสยาม มีที่สังเกตอยู่ ๓ อย่าง ด้วยหมวกเสื้อและเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง ด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างหนึ่ง ด้วยศักดินาคืออำนาจที่จะหวงที่ดินเป็นที่ไร่นาของตัวอย่างหนึ่ง...อนึ่ง ประมาณศักดิ์ที่จะหวงนานั้น จะใช้ได้แต่ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินสยาม ที่จะใช้ทั่วไปเมืองอื่นได้ก็แต่คำนำหน้าชื่อ"[9]: 166 

— พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราชาธิบาย เรื่อง แหวนนพเก้า

สมัยสุโขทัย

แก้

บรรดาศักดิ์สมัยสุโขทัยคล้ายคลึงกับล้านนา[10]: 103  แต่ไม่ปรากฏว่าใช้บรรดาศักดิ์แบบสมัยอยุธยา บรรดาศักดิ์ขุนนางที่ปรากฏในศิลาจารึก เช่น[11]: 690 [12]: 236–237 

  1. ท้าวพระยา
  2. เสนาบดี
  3. อมาตย์
  4. เจ้าแสน
  5. เจ้าหมื่น (เช่น หมื่นเงินกอง ฝ่ายพระคลัง ใช้ครั้งแรกในรัชกาลพญากือนา)[13]: 141 
  6. ขุนมนตรี
  7. ล่ามหมื่น หรือ หมื่นล่าม
  8. เจ้าพัน
  9. ล่ามพัน
  10. พันน้อย
  11. ล่ามบ่าว
  12. นายร้อย หรือ หัวปาก (คุมไพร่ 100 คน)[10]: 285 [14]: 85 
  13. นายห้าสิบ (คุมไพร่ 50 คน)
  14. นายซาว (คุมไพร่ 20 คน)
  15. นายสิบ (คุมไพร่ 10 คน)

หมายเหตุ:

  • พ่อขุน พระยา พรญา (หรือ พระญา พรยา พญา) หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าเมือง ผู้เป็นใหญ่ หรือผู้เป็นหัวหน้า[15]: 117  ไม่ใช่ยศหรือบรรดาศักดิ์ของขุนนาง[16]: 339 
  • เจ้าพรญา และพรญา คือ ตำแหน่งเจ้าประเทศราช[17]: 409 

สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

แก้

บรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยอยุธยาตอนต้นแบ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้[18]

  1. ออกญา หรือ พระยา
  2. เจ้าหมื่น
  3. พระ หรือ ออกพระ[19]: 160 
  4. จมื่น
  5. หลวง หรือ ออกหลวง
  6. ขุน หรือ ออกขุน
  7. จ่า
  8. หมื่น และ พัน

หมายเหตุ:

  • สมัยอยุธยามีการใช้คำบรรดาศักดิ์ขุนนางมาจากสมัยสุโขทัย เช่น พ่อขุน พรญา[20]: 59 
  • ออกญา หรือ พระยา เป็นยศชั้นสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น[21]: 17 
  • ยศ เจ้าหมื่น จมื่น และ จ่า เป็นยศที่ใช้เฉพาะในกรมมหาดเล็กเท่านั้น[19]: 160 
  • ออกพระ ใช้สำหรับขุนนางตำแหน่งกลาโหม สมัยอยุธยาตอนกลางใช้ ออกญา สมัยอยุธยาตอนปลาย เปลี่ยน ออกญา เป็น เจ้าพระยา[19]: 160 
  • สมเด็จเจ้าพระยา เป็นคำเรียกเฉพาะเจ้านายผู้ครองเมือง และพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง[22]: 55  จึงไม่นับเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนาง เช่น กรณี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตีความคำสบถระหว่างน้าพระยากับหลานพระยาในศิลาจารึกว่า สมเด็จเจ้าพระยา หมายถึง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[23]: 71  หรือ สมเด็จเจ้าพระยาแพรกศรีราชา ซึ่งเป็นเจ้านายครองเมืองสรรคบุรีสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลาง[24] เป็นต้น

สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

แก้

บรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยอยุธยาตาม พระไอยการนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 แบ่งออกเป็น 8 ระดับ[6]: 81 [25]: 651  คือ

  1. เจ้าพระยา (มีเพียง 5 ตำแหน่ง)
  2. พระยา
  3. พระ
  4. หลวง
  5. ขุน
  6. หมื่น
  7. พัน
  8. นาย หรือ หมู่

หมายเหตุ:

  • คำว่า ออก นำหน้ายศ เช่น ออกขุน ออกหลวง ออกพระ และออกญา เลิกใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย[15]: 117 
  • ยศ เจ้าพระยา ในทำเนียบ 5 ตำแหน่งเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสูงสุดและได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม[22]: 54  เริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[12]: 335  มาจากยศเดิมว่า ออกญา[19]: 160 

สมัยกรุงธนบุรี–รัตนโกสินทร์

แก้

บรรดาศักดิ์ขุนนางสมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 9 ระดับ[26] ดังนี้

  1. สมเด็จเจ้าพระยา (บรรดาศักดิ์พิเศษมีเพียง 4 ท่าน)
  2. เจ้าพระยา
  3. พระยา
  4. พระ
  5. หลวง
  6. ขุน
  7. หมื่น
  8. พัน
  9. นาย หรือ หมู่

หมายเหตุ:

  • สมัยกรุงธนบุรีมีการเพิ่มยศ สมเด็จเจ้าพระยา เป็นยศชั้นสูงสุด ปรากฏครั้งแรกใน ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)[27]: 81  จากบันทึกของพระยาโกษา (สอน โลหนันท์) ในคราวสงครามอะแซหวุ่นกี้ ว่าพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริที่จะทรงสถาปนาเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) (อะแซหวุ่นกี้เรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึก)[28]: 40  ให้มีศักดิ์เสมอเจ้า[27]: 81  ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) (หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1) ต่างก็ทรงเป็นขุนนางมาแต่ก่อน และมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน[29]: 36 
  • สมเด็จเจ้าพระยาคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)[12]: 413 

ขุนนางนามเมือง

แก้

ขุนนางนามเมือง หมายถึง การเรียกชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตามนามเมืองที่ปกครองแทนการเรียกนามบรรดาศักดิ์ หรือราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน[30]: 328  เช่น

ตารางเทียบชื่อขุนนางนามเมือง
เมือง ราชทินนามเจ้าเมือง ชื่อขุนนางนามเมือง
พิษณุโลก เจ้าพระยาสุรศรีพิศมาธิราช ฯ เจ้าพระยาพิษณุโลก
นครศรีธรรมราช เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ฯ เจ้าพระยานคร, เจ้าพระยานครศรีธรรมราช
นครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงคราม ฯ เจ้าพระยานครราชสีมา, เจ้าพระยาโคราช
สงขลา พระยาวิเชียรคิรี พระยาสงขลา
ราชบุรี พระอมรินฤๅไชย พระราชบุรี

การเทียบบรรดาศักดิ์ในอดีตกับปัจจุบัน

แก้

การนำบรรดาศักดิ์ขุนนางมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งข้าราชการปัจจุบันนั้นไม่สามารถเทียบกันได้ แม้อนุโลมเทียบก็เป็นไปได้ยาก โดยพิจารณาความแตกต่าง ดังนี้

1) ขอบเขตอำนาจ

ขอบเขตอำนาจขุนนางสมัยโบราณกับข้าราชการปัจจุบันมีความแตกต่างกัน เช่น การเปรียบเทียบการปกครองเมืองของเจ้าเมืองสมัยอยุธยาถือพระราชอาญาสิทธิ์ เสมือนกษัตริย์ในบ้านเมืองของตนเอง[31]: 39–43  และทำหน้าที่เป็นเมืองกันชน หรือเมืองหน้าด่านระหว่างราชธานี[32]: 38  แม้แต่เจ้าเมืองแต่ละเมืองก็มีความสูงศักดิ์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเมืองที่ไปปกครอง[12]: 153  ขณะที่ขอบเขตอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

2) ชั้นยศ

ข้าราชการมีชั้นยศเท่ากันแต่ฐานันดรศักดิ์ย่อมไม่เท่ากัน เช่น ยศ เจ้าพระยา ในสมัยอยุธยามีการแบ่งฐานันดรศักดิ์เป็น 3 ระดับชั้น[33]: 107  คือ ระดับเอกอุ หรือเอกอุดม (ระดับสูงสุด) ระดับเอกมัธยม หรือเอกมอ (ระดับกลาง) และระดับเอกสามัญ หรือเอกสอ เช่น เจ้าพระยาพิษณุโลกกับเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก เป็นเจ้าพระยาระดับเอกอุเท่ากัน[34]: 129  แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นเจ้าพระยาระดับเอกสามัญ[33]: 107  แม้จะอนุโลมเทียบยศ เจ้าพระยา เสมอด้วยตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในระบบปกครองปัจจุบัน[35]: 6  แต่ทำเนียบรายชื่อนายกรัฐมนตรีไทยปัจจุบัน ปรากฏว่ามียศสูงสุดเพียงชั้นพระยาเท่านั้น

3) ศักดินา

บรรดาศักดิ์ข้าราชการสมัยโบราณไม่สำคัญเท่ากับศักดินา[36]: 159  ข้าราชการที่มีศักดินาสูงแต่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าย่อมมีศักดิ์สูงกว่า เช่น บรรดาศักดิ์ชั้นหลวงเจ้ากรม ศักดินา 1800 สูงกว่าชั้นพระยาเจ้ากรม ศักดินา 1000 หรือกรณีศักดินาเท่ากันแต่มีความสูงศักดิ์มากกว่าโดยพิจารณาจากตำแหน่ง เช่น เจ้าพระยามหาอุปราช ศักดินา 10000 แม้เท่าสมุหนายกและสมุหกลาโหม แต่มีศักดิ์สูงกว่า (สมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยามหาอุปราช เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยา มีศักดินาพิเศษ เกิน 10000 ขึ้นไป)[30]: 323  ในขณะที่ข้าราชการในปัจจุบันไม่มีศักดินาแล้ว

4) ยุคสมัย และระบบการปกครอง

ข้าราชการที่มียศ และศักดินาเท่ากัน แต่มีความสูงศักดิ์ไม่เท่ากันอันเนื่องจากความแตกต่างของยุคสมัยและระบบการปกครอง เช่น สมัยอยุธยาตอนต้น ออกญา หรือพระยา หากเทียบกับสมัยอยุธยาตอนปลายจะเสมอด้วยยศ เจ้าพระยา[19]: 160  แต่ไม่ใช่เสมอยศ พระยา สมัยอยุธยาตอนปลาย หากเทียบเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีกับเจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอกฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ มีชั้นยศเป็นเป็นรองอัครมหาเสนาบดี และศักดินาเสมอเสนาบดีจตุสดมภ์ แต่ศักดิ์สูงกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์[31]: 39–43 

สมัยรัตนโกสินทร์ หากเทียบ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีกับเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวง มีเพียงเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 2 กระทรวงนี้เท่านั้นที่เสมอ อัครมหาเสนาบดี ต้องมียศ เจ้าพระยา และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินด้วย[37]: 287 

ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ลดอำนาจและบทบาท เสนาบดีกระทรวง และเปลี่ยนคำว่า เสนาบดีกระทรวง เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง[38]: 307  จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้

5) เครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ข้าราชการที่มีชั้นยศ และศักดินาเท่ากัน แต่ความสูงศักดิ์ย่อมไม่เท่ากันเสมอไป โดยพิจารณาจากเครื่องประกอบยศขุนนางและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน เช่น ยศเจ้าพระยาในสมัยอยุธยาในทำเนียบ 5 ตำแหน่ง ได้รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม เจ้าพระยาเสนาบดีในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับพระราชทานกล่อกหมาก และหีบหมากเครื่องยศ เทียบเท่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) และปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เสมอด้วยเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ และเจ้าพระยาเสนาบดี[39]: 183  แต่ข้าราชการปัจจุบันไม่ได้รับพระราชทานเครื่องยศทุกตำแหน่งเสมอไป

6) ตำแหน่งราชการ

ตำแหน่งข้าราชการบางชั้นยศเป็นตำแหน่งเฉพาะ เช่น เจ้าหมื่น (พระนาย) กรมมหาดเล็ก มียศสูงกว่าพระแต่ต่ำกว่าพระยา[40]: 134  ไม่เหมือนบรรดาศักดิ์ข้าราชการทั่วไป

แลถึงแม้ฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์จะมิได้เปนขุนนางในตำแหน่งนั้นใน พระราชสำนักนิ์ ตำแหน่งเหล่านั้นก็ต้องว่างเปล่าอยู่ ไม่ใช่ว่าผู้อื่นจะมาเปนได้...ตามประเพณีโบราณฃ้าราชการในพระราชฐานกับฃ้าราชการนอกเขาไม่ได้เคยเปรียบเทียบฤๅคิดแช่งขันกัน ตำแหน่งยศจึ่งมีชื่อเรียกแปลกๆ[40]: 134 

ข้าราชการกรมมนตรีทั้ง ๖[41]: 47  ประกอบด้วย กรมธรรมการ กรมพระคชบาล กรมภูษามาลา กรมพราหมณ์หลวง กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งเป็นกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินและอยู่นอกเขตอำนาจของจตุสดมภ์และสมุหนายก แม้มียศและศักดินาต่ำกว่าแต่มีศักดิ์น่าเกรงขามกว่าหน่วยงานราชการอื่นเนื่องจากมีความใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินมากกว่า

การใช้คำลำลองเรียกขานผู้มีบรรดาศักดิ์

แก้

การเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยคำลำลอง คือ คำที่สามัญชน หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้เรียกขานผู้มีบรรดาศักดิ์อย่างไม่เป็นทางการ มีดังนี้

การใช้คำลำลองเรียกขานผู้มีบรรดาศักดิ์
บรรดาศักดิ์ คำลำลอง
สมเด็จเจ้าพระยา ท่านเจ้าคุณ, สมเด็จเจ้าคุณ, เจ้าคุณสมเด็จ, เจ้าคุณใหญ่[42]
เจ้าพระยา ท่านเจ้าคุณ, เจ้าคุณ (ใหญ่)[43]
พระยา เจ้าคุณ (เล็ก), คุณพระยา[44]
ท้าวนาง เจ้าคุณ, คุณท้าว[45]
เจ้าหมื่น, จมื่น (มหาดเล็ก) คุณพระนาย, พระนาย[46]
พระ คุณพระ[44]
หลวง คุณหลวง[44]
ขุน ท่านขุน[44]
หมื่น ท่านหมื่น[47]
มหาดเล็กชั้นนายรองหุ้มแพร ท่านรอง, คุณรอง, นายรอง (บางครั้งเรียกว่า ท่านขุน)[44]

การใช้คำกริยาตายกับบรรดาศักดิ์

แก้

หลักการใช้คำกริยา ตาย สำหรับขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ตาม ประกาศให้ใช้คำต่อแลคำตาย[48]: 351  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และคำอธิบายของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[49]: 3  ดังนี้

การใช้คำกริยา ตาย กับขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์
คำ ประเภท ใช้กับ
ถึงพิราลัย, ถึงแก่พิราลัย คำราชาศัพท์ เจ้าประเทศราช, สมเด็จเจ้าพระยา, เจ้าคุณราชินิกุล (ราชสกุลฝ่ายพระราชินี)[49]: 3 
ถึงอสัญกรรม, ถึงแก่อสัญกรรม คำราชาศัพท์ เจ้าพระยา นา ๑๐๐๐๐, เจ้าพระยาหรือเทียบเท่า, ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
ถึงอนิจกรรม, ถึงแก่อนิจกรรม คำราชาศัพท์ พระยา, พระยาพานทอง[50]: 218 , ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย[51]: 128  และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป[52]: 122 
ถึงแก่กรรม - พระ, หลวง, ขุน, หมื่น, พัน, มหาดเล็กหลวง, จางวาง, นายเวร, ปลัดเวร
ตาย - ผู้ไม่มีบรรดาศักดิ์ เช่น ไพร่หลวง ไพร่สม

หมายเหตุ

  1. บรรดาศักดิ์ พระยาพานทอง มีกรณีใช้คําใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้[53]: 483 
  2. ถึงแก่กรรม ใช้ได้แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ไพร่ใช้ไม่ได้[48]: 351 

อัตราค่าปรับไหม

แก้

ตัวอย่างอัตราค่าปรับไหมของขุนนางตามพระราชกำหนดกฎหมายเก่าศักราชกฎหมาย ๑๓๗๕ ตรงกับ พ.ศ. 2298 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กำหนดไว้ดังนี้[54]: 106 

ตารางเปรียบเทียบอัตราค่าปรับไหม
บรรดาศักดิ์ ศักดินา อัตราเงินค่าปรับไหม
เจ้าพระยา 10000 เอกอุ (ระดับสูงสุด) 30 ชั่ง
เจ้าพระยา 10000 เอกมอ (มัธยมหรือระดับกลาง) 30 ชั่ง
พระยา 10000 เอกสอ (ระดับสามัญ) 20 ชั่ง
พระ, หลวง 5000 15 ชั่ง
พระ, หลวง 3000 12 ชั่ง
พระ, หลวง (หัวเมือง) 1700 – 2000 10 ชั่ง
ขุน 1200 – 1600 8 ชั่ง
ขุน, หมื่น 600, 800, 1000 6 ชั่ง
- 400 – 500 4 ชั่ง

หมายเหตุ

  1. มาตราเทียบเงิน 1 ชั่ง มีค่าเท่ากับ 80 บาท[55]

สมเด็จเจ้าพระยา

แก้

บรรดาศักดิ์ สมเด็จเจ้าพระยา นั้น เพิ่งมามีครั้งแรกในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ได้สถาปนาขึ้นอีก 3 ท่าน หลังจากนั้น ก็ไม่มีผู้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอีก สมเด็จเจ้าพระยาจึงมีเพียง 4 ท่าน คือ

  1. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก บรรดาศักดิ์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ใหม่
  2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4
  3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4
  4. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการติดต่อกับประเทศตะวันตก ฝรั่งเทียบให้บรรดาศักดิ์ "สมเด็จเจ้าพระยา" เทียบเท่ากับ ขุนนางตะวันตกชั้น "Grand Duke" โดยหนังสือที่มีถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั้นเรียกท่านว่า "แกรนด์ดยุก"

สมเด็จเจ้าพระยาในสมัยรัตนโกสินทร์มีศักดินา 30,000ไร่ เกือบเสมอกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยา ซึ่งทรงศักดินา​ 35,000 ไร่​ จะได้รับพระราชทาน เครื่องประกอบอิสริยยศทำจาก ทองคำลงยาราชาวดี เสมอพระองค์เจ้าทรงกรม มีพระกลดกางกั้น มีพระแสงราชอาญาสิทธิ์ หากวายชนม์ ก็ให้ใช้คำว่า "ถึงแก่พิราลัย"

เจ้าพระยา

แก้

บรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางที่สูงที่สุดตามทำเนียบ พระไอยการนาพลเรือน[56]: 124  และทำเนียบ พระไอยการศักดินาทหารหัวเมือง[56]: 171  อนึ่งบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาชั้นเอก ยังแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ เจ้าพระยาชั้นเอกอุ (เอกอุดม) เจ้าพระยาชั้นเอกมอ (เอกมัธยม) และเจ้าพระยาชั้นเอกสอ (เอกสามัญ) ศักดินา 10000 เท่ากันทุกชั้น เจ้าพระยาจักรีสมุหนายกกับเจ้าพระยาสุรศรีเจ้าเมืองพิษณุโลกเป็นเจ้าพระยาชั้นเอกอุ (เอกอุดม) เท่ากัน[57]: 129:เชิงอรรถ ๑  ส่วนเจ้าพระยาศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าพระยาชั้นเอกสอ (เอกสามัญ)[58]: 107 

บรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาในสมัยอยุธยา มีเพียง 5 ตำแหน่ง ได้แก่

มหาอุปราช

แก้
  1. เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงษองคภักดีบดินทรสุรินทรเดโชไชยมหัยสุริภักดีอาญาธิราช นา ๑๐๐๐๐[56]: 128  ตำแหน่งขุนนางอาวุโสหน้าพระที่นั่ง

หมายเหตุ ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชเห็นว่าจะตั้งขึ้นเพื่อพรางตำแหน่งเจ้าเสนาบดี ตอนหลังให้เลิกตามให้พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์รัชทายาทกระทำหน้าที่แทน ให้ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐ เสมอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชจึงว่างไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1952 เป็นเพียงตำแหน่งที่มีในทำเนียบไว้เท่านั้น[57]: 85 

อัครมหาเสนาบดี

แก้
  1. เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีอะไภยพิรีบรากรมุภาหุ นา ๑๐๐๐๐ เอกอุราชสีห ถือตราพระราชสีห์ตราจักร[56]: 128  สมุหนายก (หัวหน้าขุนนางฝ่ายพลเรือน อัครมหาเสนาบดีผู้รับผิดชอบเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงแทนพระเจ้าแผ่นดิน
  2. เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยภักดีบดินทรสุรินทรฤๅไชยอภัยภิริยบรากรมภาหุ สมุหพระกลาโหม นา ๑๐๐๐๐ ถือตราพระคชสีห์[56]: 171  สมุหพระกลาโหม (หัวหน้าขุนนางฝ่ายทหาร อัครมหาเสนาบดีผู้รับผิดชอบเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวงแทนพระเจ้าแผ่นดิน)

หมายเหตุ เจ้าต่างกรมให้ศักดินาสูงกว่า 10000

เจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอก

แก้
  1. เจ้าพระยาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวรธิบดีอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ เมืองพิศณุโลกเอกอุ นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา[56]: 199  เจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอกอุ
  2. เจ้าพระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองเอก นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงอินทปัญญาซ้าย[56]: 200  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองชั้นเอก

พระยา

แก้

ส่วน บรรดาศักดิ์ พระยา นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ สำหรับขุนนางระดับสูง หัวหน้ากรมต่างๆ เจ้าเมืองชั้นโท และแม่ทัพสำคัญ ในพระไอยการฯ มีเพียง 33 ตำแหน่ง ดังนั้น จึงมีประเพณี พระราชทานเครื่องยศ (โปรดดูเรื่อง เครื่องราชอิสริยยศไทย) ประกอบกับบรรดาศักดิ์ด้วย โดย พระยาที่มีศักดินามากกว่า 5,000 จะได้รับพระราชทานพานทอง ประกอบเป็นเครื่องยศ จึงเรียกกันว่า พระยาพานทอง ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับสูง ส่วนพระยาที่มีศักดินาต่ำกว่านี้ จะไม่ได้รับพระราชทานพานทอง (ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า และ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ถือว่ามียศศักดิ์เทียบเท่ากับ พระยาพานทอง)

ในเรื่องนี้ จึงมีประเด็นความเชื่อ โดยบุตรขุนนางที่เกิดใหม่ บิดามักเอาพานทองไปรองรับทารกที่เกิดใหม่นั้น พร้อมอธิษฐานว่า ขอให้บุตรของตนมีวาสนาได้เป็นพระยาพานทองในอนาคต

ขุนนางที่มีศักดินา 10,000

แก้

ขุนนางที่มีศักดินา 10,000 ที่ถือว่าเป็นขุนนางระดับสูงนั้น นอกจาก เจ้าพระยา ทั้งห้าตำแหน่งนั้นแล้ว ในทำเนียบพระไอยการฯ ยังมีอีก 16 ตำแหน่ง แต่มีบรรดาศักดิ์ระดับต่ำกว่าเจ้าพระยา คือ

จตุสดมภ์ (เสาหลักราชการทั้ง 4 - ศักดินา 10000 ต่ำกว่าอัครมหาเสนาบดี)

แก้
  1. พระยายมราชอินทราธิบดีศรีวิไชยบริรักโลกากรทัณทะราช เสนาบดีนครบาล (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)
  2. พระยาธารมาธิบดีสรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชไชยมะไหยสุริยาธิบดีรัตนมลเทียรบาล เสนาบดีกรมวัง (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)
  3. พระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอภัยรีพิริยะกรมภาหุ ตราบัวแก้ว เสนาบดีกรมพระคลัง (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา แล้ว ภายหลังได้ยกให้เป็นที่ระดับเดียวกับอัครมหาเสนาบดี เพราะต้องรับผิดชอบด้านการคลังและการต่างประเทศ รวมทั้งหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก)
  4. พระยาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนเกษตราธิบดี เสนาบดีกรมนา (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)

ขุนนางชั้นสูงระดับนาหมื่น ที่ต่ำกว่าจตุสดมภ์

แก้
  1. พระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุภะราชพิรียภาหุ เจ้ากรมธรรมการ
  2. พระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์องคบุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริต วิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์ ปุโรหิต
  3. พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย พราหมณ์
  4. พระยารามจัตุรงค์ จางวางกรมอาสาหกเหล่า
  5. พระยาศรีราชเดโชไชยอะไภรีพิรียปรากรมภาหุ เดโช เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา
  6. พระยาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยรีพิรียปรากรมภาหุ ท้ายน้ำ เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย

ออกญานาหมื่นที่รั้งหัวเมืองชั้นโท (ภายหลังให้ยกเป็นเจ้าพระยา)

แก้
  1. พระยาเกษตรสงครามรามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาลัยอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก
  2. พระยาศรีธรรมศุภราชชาติบดินทรสุรินทฤๅไชยอภัยพิรียภาหุ เจ้าเมืองสุโขทัย
  3. พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองกำแพงเพชร
  4. พระยาเพชรรัตนสงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์
  5. ออกญากำแหงสงครามรามภักดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองนครราชสีมา (ภายหลังได้รับการยกเป็นหัวเมืองชั้นเอกเพราะศึกเจ้าอนุวงศ์)
  6. ออกญาไชยยาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองตะนาวศรี
  7. ออกญาขุขันธภักดีศรีนครลำดวนไกรสรสงครามอภัยพิริยปรากรมภาหุ เจ้าเมืองขุขันธบุรีศรีนครลำดวน
  8. ออกญาสุรินทร์ภักดีศรีณรงจางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์
  9. ออกญาสังขะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมืองสังขะ

ขุนนางที่มีศักดินา 5,000

แก้

ขุนนางที่มีศักดินา 5,000 ตามพระไอยการฯ ซึ่งถือว่าเป็นขุนนางระดับสูง รองลงมาจากขุนนางศักดินา 10,000 มี 21 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

  1. ออกญาศรีสุริยะราชาไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิชัย
  2. ออกญาเทพาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิจิตร
  3. ออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองนครสวรรค์
  4. ออกญาแก้วเการพยพิไชยภักดีบดินทรเดโชไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองพัทลุง
  5. ออกญาเคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก เจ้าเมืองเมืองชุมพร
  6. ออกพระไชยธิบดีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองจันทบูรณ์
  7. ออกพระวิชิตภักดีศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองเมืองไชยา
  8. ออกพระราชสุภาวดี ศรีสจะเทพณรายสมุหะมาตยาธิบดีศรีสุเรนทราเมศวร เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
  9. ออกพระศรีภูริยปรีชาราชเสนาบดีศรีสารลักษณ เจ้ากรมอาลักษณ์
  10. พระราชครูพระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม พราหมน์
  11. พระธรรมสาตรโหระดาจารยปลัดมหิธร พราหมน์
  12. พระราชครูพระครูพิรามราชสุภาวดีตรีเวทจุทามะณีศรีบรมหงษ์ ปุโรหิต
  13. พระอุไทยธรรม เจ้ากรมภูษามาลา
  14. พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะ สมุหะพระคชบาลจางวางขวา
  15. พระสุรินทราราชาธิบดีศรีสุริยศักดิ์ สมุหะพระคชบาลจางวางซ้าย
  16. พระเพชรพิไชย จางวาง กรมล้อมพระราชวัง
  17. พระราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติพิริยภาหะ เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ
  18. พระพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย
  19. พระรามคำแหง เจ้ากรมอาสาขวา
  20. พระพิชัยรณฤทธิ เจ้ากรมเขนทองขวา
  21. พระวิชิตรณรงค์ เจ้ากรมเขนทองซ้าย

ขุนนางที่มีศักดินา 3,000 ที่รั้งหัวเมืองตรี และ หัวเมืองจัตวา

แก้
  1. พระราชฤทธานนพหลภักดี ปลัดเมืองพิษณุโลก
  2. พระศรีราชสงคราม ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
  3. ออกพระศรีสุรินทฤๅไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี
  4. ออกพระสุระบดินทร์สุรินฤๅไชย เจ้าเมืองชัยนาท
  5. ออกเมืองอินทบุรี เจ้าเมืองอินทบุรี
  6. ออกเมืองพรมบุรีย์ เจ้าเมืองพรหมบุรี
  7. ออกพระญี่สารสงคราม เจ้าเมืองสิงห์บุรี
  8. ออกพระนครพราหมณ์ เจ้าเมืองลพบุรี
  9. ออกพระพิไชยรณรงค์ เจ้าเมืองสระบุรี
  10. ออกพระพิไชยสุนทร เจ้าเมืองอุทัยธานี
  11. ออกพระศรีสิทธิกัน เจ้าเมืองมโนรมย์
  12. ออกพระวิเศษไชยชาญ เจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ
  13. ออกพระสวรรคบุรี เจ้าเมืองสวรรคบุรี
  14. ออกพระพิไชยภักดีสรีมไหยสวรรค เจ้าเมืองกาญจนบุรี
  15. ออกพระพลคบุรีย์ เจ้าเมืองไทรโยค
  16. ออกพระสุนธรสงครามรามพิไชย เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
  17. ออกพระศรีสวัสดิ์บุรีย์ เจ้าเมืองศรีสวัสดิ์
  18. ออกพระสุนธรบุรียศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองนครไชยศรี
  19. ออกพระอมรินฤๅไชย เจ้าเมืองราชบุรี
  20. ออกพระพิบูลย์สงคราม เจ้าเมืองนครนายก
  21. ออกพระอุไทยธานี เจ้าเมืองปราจีนบุรี
  22. ออกพระพิไชยภักดีสรีวิสุทธิสงคราม เจ้าเมืองกุย
  23. ออกพระราชภักดีศรีสงคราม เจ้าเมืองระยอง
  24. พระวิเศศฤๅไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา
  25. พระนนทบุรีศรีมหาสมุทร เจ้าเมืองนนทบุรี
  26. พระสมุทรสาคร เจ้าเมืองท่าจีน
  27. พระสมุทรประการ เจ้าเมืองแม่กลอง
  28. พระชนยบุรีย เจ้าเมืองชลบุรี
  29. พระปรานบุรีย์ศรีสงคราม เจ้าเมืองปราณบุรี
  30. พระบางลมุง เจ้าเมืองบางละมุง
  31. พระศรีสมรรัตนราชภักดีศรีบวรพัช เจ้าเมืองท่าโรง
  32. พระจันบูรราชภักดีศรีขันทเสมา เจ้าเมืองกำพราน
  33. พระไชยบาดาล เจ้าเมืองไชยบาดาล
  34. พระวรฤทธิฤๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี
  35. พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  36. พระศรีสุระ เจ้าเมืองเดชอุดม

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ราชกิจจานุเบกษา 15 พ.ค. 2485" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-13. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
  2. ราชกิจจานุเบกษา 31 ม.ค. 2487
  3. ประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิก
  4. "สิทธิในการรับเบี้ยหวัดบำเหน็จและบำนาญ พุทธศักราช 2489" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
  5. การประกาศให้มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์กลับคืนมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 พินิจ จันทร และคณะ. (2565). ย้อนประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี อยุธยา ๓๓ ราชัน ผู้ครองนคร. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ. 288 หน้า. ISBN 978-6-165-78479-5
  7. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2516). แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคณดี 7(9). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
  8. พิธินัย ไชยแสงสุขกุล และอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2531). กฎหมายล้านนาโบราณ: วิเคราะห์ระบบโครงสร้างและเนื้อหา บทบัญญัติที่จารในใบลาน เล่มที่ 12. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 36.
    • น้ำทิพ สุขโชคอำนวย. (2554). ปัญหาหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในกฎหมายละเมิด. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 286.
  9. อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526. ISBN 978-9-744-19080-2
  10. 10.0 10.1 ประเสริฐ ณ นคร และนิยะดา เหล่าสุนทร. (2541). สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 588 หน้า. ISBN 978-9-748-63746-4
  11. ราชบัณฑิตยสถาน. (2544). ไตรภูมิกถา: พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยสมัยสุโขทัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 773 หน้า ISBN 978-9-748-12370-7
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 วิไลเลขา ถาวรธนสาร และคณะ. (2536). พื้นฐานวัฒนธรรมไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 775 หน้า. ISBN 978-9-745-98965-8
  13. วิชญา มาแก้ว. (2564). ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน. กรุงเทพฯ: มติชน. 416 หน้า. ISBN 978-9-740-21734-3
  14. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2527). ศิลปวัฒนธรรม, 6(1).
  15. 15.0 15.1 วีณา โรจนราธา และคณะ. (2550). ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 476 หน้า. ISBN 978-9-744-17838-1
  16. คณะกรรมการจัดทำสารานุกรมสุโขทัยศึกษา. (2539). สารานุกรมสุโขทัยศึกษา เล่ม 1 ก-ป. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 358 หน้า. ISBN 978-9-746-14936-5
  17. กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 5 อักษร ฆ ง จ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  18. สมชาย พุ่มสะอาด สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และกมล วิชิตสรศาสตร์. (2527). 400 ปีสมเด็จพระนเรศวร: ที่ระลึก 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย. กรุงเทพฯ : พุทธบูชาการพิมพ์. 775 หน้า. หน้า 263.
    • หนังสืออ่านประกอบพื้นฐานอารยธรรมไทย ตอน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2516. 213 หน้า. หน้า 63.
    • คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. (2510). เมืองไทยกับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า. 316 หน้า. หน้า 116.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 ดำเนิร เลขะกุล. (2546). มรดกทางปัญญา. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์. 286 หน้า. ISBN 978-9-746-19109-8
  20. อรุณ เวชสุวรรณ. (2525). เงาอดีต. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 80 หน้า.
  21. กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. (2523). วารสารวัฒนธรรมไทย, 19.
  22. 22.0 22.1 นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2493). สาส์นสมเด็จ ภาคที่ 27. พระนคร : กรมศิลปากร. 90 หน้า.
  23. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2547). รายงานการวิจัย เรื่อง ศิลปะสุโขทัย: บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร. 153 หน้า.
  24. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2548). วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 30 (1-2):116.
    • วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะ. (2539). ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์: พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 329 หน้า. หน้า 180. ISBN 978-9-747-77197-8
  25. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
  26. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548.
  27. 27.0 27.1 ยืนหยัด ใจสมุทร. (2563). พระเจ้าตากสวรรคต ณ เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช บันทึกลับนอกพงศาวดาร. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. ISBN 978-6-164-41958-2 256 หน้า.
  28. กรมศิลปากร. (2507). ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 427 หน้า.
  29. สุเนตร ชุติธรานนท์ และวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (2564). ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดินิยมบุกอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน. 192 หน้า. ISBN 978-9-740-21754-1
  30. 30.0 30.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ และคณะ. (2545). เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 404 หน้า. ISBN 974-417-534-6
  31. 31.0 31.1 เทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: พี.เค.พริ้นติ้ง, 2540. 160 หน้า.
  32. ลิขิต ธีรเวคิน. (2533). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 233 หน้า. {ISBN|978-9-745-71334-5}}
  33. 33.0 33.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2549). ภาษาอัชฌาไศรย : The Pleasure of Words. กรุงเทพฯ: กองทุน พลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 195 หน้า. ISBN 974-963-337-7
  34. ธรรมคามน์ โภวาที และถวิล สุนทรศาลทูล. (2511). ประวัติมหาดไทย (ส่วนกลาง) ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประวัติและพิพิธภัณฑ์มหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. 423 หน้า.
  35. สมภพ จันทรประภา. (2515). ชีวิตและงานของ จอมพลถนอม กิตติขจร. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า. 291 หน้า.
  36. ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย. นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532. 820 หน้า. ISBN 978-9-746-10883-6
  37. อุดม ประมวลวิทย์. (2508). ๑๐๐ รัฐบุรุษและสตรีสำคัญของโลก. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 708 หน้า.
  38. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. (2536). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 376 หน้า. ISBN 978-9-747-30553-1
  39. พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2515). ชีวิตและงาน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย ท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล. กรุงเทพฯ: หอสมุดกลาง 09. 403 หน้า.
  40. 40.0 40.1 กรมศิลปากร. (1974). เรื่องมหาดเล็ก. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 104 หน้า.
  41. จวงจันทร์ สิงหเสนี. (2541). สายสกุลสิงหเสนี. อนุสรณ์เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ป.ภ., ท.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑. 227 หน้า.
  42. พลาดิสัย สิทธิธัญกิจ. (2562). พระราชปฏิพัทธ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. หน้า 31. ISBN 978-616-4-41477-8
  43. ศานติ ภักดีคำ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2552). เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 150. ISBN 978-974-02-0418-3
    • อุทัย ภานุวงศ์. (2530). ประวัติการสืบเชื้อสายของวงศ์เฉกอะหมัด คูมี เจ้าพระยาบวรราชนายก ชาวเปอร์เซีย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. หน้า 85.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จหมื่น. (2517). มหาดเล็กในทำเนียบ สุนัขปริศนา นามแฝงของมหาบุรุษ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 12.
  45. ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2472). ประชุมเรื่องเบ็ดเตล็ด ๓ เรื่อง คือ เรื่อง การอำนวยพร เรื่อง เทศกาลพระบาท อธิบาย เรื่อง เจ้าคุณประตูดิน เจ้าราชนิกูล หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ เจ้านาย หม่อม. แจกในการกฐิมพระราชทาน นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร ปลัดทูลฉลองกระทรวงกระลาโหม ณวัดคฤหบดี พระพุทธศักราช ๒๔๗๒. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 35.
  46. ยืนหยัด ใจสมุทร. (2537). ต้นตระกูลอัยการไทย. กรุงเทพฯ : สยาม. หน้า 51. ISBN 978-974-7-03320-5
  47. ส.คลองหลวง. (2543). 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. หน้า 84.
  48. 48.0 48.1 กรมศิลปากร. (2511). ประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๕๑๑. พิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๑. 417 หน้า. พระนคร: เหรียญทองการพิมพ์.
  49. 49.0 49.1 วิทยาลัยการปกครอง. (2560). "สิ่งที่หายไปจากงานพระบรมศพยุคใหม่," ใน วิถีธัญบุรี,17(146), (กุมภาพันธ์). ISSN 1906-4020
  50. พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร (ทองประเสริฐ)). (2525). ภาษาของเรา ชุดที่ 9. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 430 หน้า. อ้างใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฆิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓.
  51. สำนักพระราชวัง. (2528). รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก. กรุงเทพฯ: สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 133 หน้า. ISBN 978-9-747-77582-2
  52. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). ราชาศัพท์: ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 354 หน้า. ISBN 978-9-747-07327-0
  53. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2513). คุยคนเดียว. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 646 หน้า.
  54. เทพชู ทับทอง. (2546). ผู้หญิงไทยในอดีต. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น. 199 หน้า. ISBN 978-9-742-98331-4
  55. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (2560). "ทองสำริดที่ใช้หล่อ," ใน พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ: มติชน. 184 หน้า. หน้า 30. ISBN 978-9-740-21543-1
    • พัชนะ บุญประดิษฐ์. (2553, 3 พฤศจิกายน). มาตราเงิน. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566.
  56. 56.0 56.1 56.2 56.3 56.4 56.5 56.6 บรัดเลย์, แดน บีช. (2439). "สมุดพระไอยการนาพลเรือน, พระไอยการศักดินาทหารหัวเมือง", หนังสือเรื่อง กฎหมายเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์. 496 หน้า.
  57. 57.0 57.1 ธรรมคามน์ โภวาที และถวิล สุนทรศาลทูล. (2511). ประวัติมหาดไทย (ส่วนกลาง) ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประวัติและพิพิธภัณฑ์มหาดไทย. 423 หน้า.
  58. วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2549). ภาษาอัชฌาไศรย : The Pleasure of Words. กรุงเทพฯ: กองทุน พลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 195 หน้า. ISBN 974-963-337-7
  • กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ (1 ชุด มี 3 เล่ม), สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548