จังหวัดราชบุรี
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ราชบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก โดยเป็นศูนย์กลางในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการปศุสัตว์ของประเทศ ทิศเหนือติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ทิศใต้ติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดนครปฐม และทิศตะวันตกติดต่อประเทศพม่า จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก
จังหวัดราชบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Ratchaburi |
(ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย) แม่น้ำแม่กลอง, โอ่งมังกร, ตัวเมืองราชบุรี มองจากเขาแก่นจันทร์, หินงอกหินย้อยที่วัดถ้ำน้ำ, หนังใหญ่ที่วัดขนอน, ตลาดน้ำดำเนินสะดวก | |
คำขวัญ: คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดราชบุรีเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ฐิติลักษณ์ คำพา[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 5,196.462 ตร.กม. (2,006.365 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 42 |
ประชากร (พ.ศ. 2564)[3] | |
• ทั้งหมด | 864,195 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 27 |
• ความหนาแน่น | 167.09 คน/ตร.กม. (432.8 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 23 |
รหัส ISO 3166 | TH-70 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | โมกมัน |
• ดอกไม้ | กัลปพฤกษ์ |
• สัตว์น้ำ | ปลายี่สก |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนอำเภอ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000 |
• โทรศัพท์ | 0 3233 7890, 0 3232 7659 |
เว็บไซต์ | http://www.ratchaburi.go.th/ |
ประวัติ
แก้ราชบุรี ดินแดนวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ที่ราบต่ำ ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดม แหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า
จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ห่างจากกรุงเทพมหานครเบื้องทิศตะวันตกราว 110 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของจังหวัดราชบุรี ดินแดนอันเป็นที่มาของโอ่งเคลือบลายมังกรและผ้าทอบ้านไร่หรือผ้าขาวม้าอันลือชื่อ สำหรับผู้ไม่ใช่ชาวบ้านพื้นถิ่นน้อยคนนักจะเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเครื่องปั่นดินเผาและหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองเป็นเป็นเพียงผลงานบางส่วนที่สะท้อนความหลากหลายของราชบุรีที่ฝากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม
ภูมิศาสตร์
แก้อาณาเขต
แก้ตามภูมิศาสตร์ที่ตั้ง จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่ถูกจัดให้อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทย แต่หากการแบ่งแบบการปกครอง กรมทางหลวง กรมอุตุนิยมวิทยาและการท่องเที่ยว จะถูกจัดอยู่ในภาคกลาง มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดข้างเคียงได้ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอกำแพงแสน อำเภอเมืองนครปฐม และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม; อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร; อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อยและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า
ภูมิประเทศ
แก้- พื้นที่ภูเขาสูง อยู่บริเวณชายแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศพม่า และด้านใต้ติดกับจังหวัดเพชรบุรี มีสภาพเป็นเทือกเขาสูง อุดมไปด้วยป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าไผ่ ในระดับความสูง ตั้งแต่ 200 เมตร ถึง 1,400 เมตร ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา และอำเภอปากท่อด้านตะวันตก
- พื้นที่ราบสูง ได้แก่บริเวณถัดจากเทือกเขามาทางด้านตะวันออก กลางของพื้นที่จังหวัดป็นที่ราบสูงและที่เนินลอนลาด มีแม่น้ำภาชี และลำห้วยสาขา เป็นสายน้ำหลัก สภาพเนื้อดิน เป็นดินปนทรายมีการชะล้างพังทลายของหน้าดินค่อนข้างสูงถึงปานกลาง อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา อำเภอจอมบึง และด้านตะวันตกของอำเภอปากท่อ อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง
- ที่ราบลุ่ม ได้แก่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัด เนื้อดินเป็นดินร่วนและดินร่วนปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบชลประทานแม่กลอง ที่เป็นระบบชลประทานขนาดใหญ่มากด้วย
- ที่ราบลุ่มต่ำ ได้แก่ตอนปลายของแม่น้ำแม่กลองที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสงคราม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกลางเพียง 1-2 เมตร ดินจะมีความสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำสวนผักผลไม้[4]
ภูมิอากาศ
แก้จังหวัดราชบุรีตั้งอยู่ในเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย แต่การที่มีเทือกเขาตะนาวศรีบังไว้อยู่ ทำให้เป็นที่อบฝน คือ อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา และอำเภอจอมบึง มีฝนตกน้อยและเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีฝนตกน้อยที่สุดในประเทศ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000-1,250 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ27 องศาเซลเซียส สูงสุดเดือนเมษายน-พฤษภาคมประมาณ 36 องศาเซลเซียส และต่ำสุดในเดือนธันวาคม-มกราคม ประมาณ 18 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน โดยตกหนักที่สุดในเดือนกันยายน และทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนและสิงหาคมฝนส่วนใหญ่จะถูกพัดเลยไปตกในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัดอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13-38 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูหนาวบริเวณเชิงเขาหรือหุบเขาในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคาจะมีสภาพอากาศหนาวมาก เฉลี่ย 8-15 องศาเซลเซียส [4] และเป็นจังหวัดที่มีปริมาณโอโซนมากที่สุดติดอันดับของโลก[ต้องการอ้างอิง]
ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ
แก้- ทรัพยากรป่าไม้ มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ประมาณ 1,239,236 ไร่ หรือ 38.16% ของพื้นที่จังหวัด ป่าไม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขาและเทือกเขาตะนาวศรี
- แหล่งน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำแม่กลองไหลผ่านจังหวัดราชบุรี มีความยาวในเขตจังหวัดราชบุรี 67 กิโลเมตร และแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาชีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีในเขตอำเภอบ้านคา ไหลผ่านอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรียังมีคลองสำคัญได้แก่ คลองดำเนินสะดวกที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง โดยเริ่มจากตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผ่านอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี บรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีความยาวตลอดลำคลอง 35 กิโลเมตร และลำคลองสาขาอีกกว่า 200 คลอง และมีอ่างเก็บน้ำ ดังต่อไปนี้
- อ่างเก็บน้ำโป่งกระทิง หมู่บ้านโป่งกระทิง ต.บ้านบึง
- อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย หมู่บ้านบ้านบึง ต.บ้านบึง
- อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด หมู่บ้านซ้ายแดง ต.หนองพันจันทร์
- อ่างเก็บน้ำชัฎป่าหวาย หมู่บ้านท่าเคย ต.ท่าเคย
- อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง หมู่บ้านน้ำพุ ต.น้ำพุ เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดราชบุรี
การเมืองการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้จังหวัดราชบุรีแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ[5] 104 ตำบล และ 975 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จังหวัดราชบุรีมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 112 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เทศบาล 36 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลเมือง 5 แห่ง ได้แก่ จอมพล ท่าผา บ้านโป่ง โพธาราม และราชบุรี เป็นเทศบาลตำบล 31 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 75 แห่ง
รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด
แก้รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี | ||
---|---|---|
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง |
1 | เจ้าพระยาราชบุรี (เสม วงศาโรจน์) | พระเจ้ากรุงธน - รัชกาลที่ 1 |
2 | เจ้าพระยาราชบุรี (แสง วงศาโรจน์) | รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 2 |
3 | เจ้าพระยาราชบุรี (เนียม วงศาโรจน์) | รัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 3 |
4 | เจ้าพระยาราชบุรี (กลั่น วงศาโรจน์) | รัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 |
5 | พระยาอัมรินทรฤๅชัย (กุ้ง วงศาโรจน์) | รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 |
6 | พระยาอัมรินทรฤๅชัย (นิ่ม วงศาโรจน์) | รัชกาลที่ 5 - พ.ศ. 2440 |
7 | พระยาอัมรินทรฤๅชัย (เทียน บุนนาค) | พ.ศ. 2440 - 2441 |
8 | พระยาจินดารักษ์ (นุด มหานิรานนท์) | พ.ศ. 2441 - 2442 |
9 | พระยาอัมรินทรฤๅชัย (จำรัส รัตนกุล) | พ.ศ. 2442 - 2445 |
10 | พระสัจจาภิรมย์ (ชุ่ม อรรถจินดา) | พ.ศ. 2445 - 2448 |
11 | หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร | พ.ศ. 2448 - 2453 |
12 | พระยาประชากิจกรจักร (ทับ มหาเปารยะ) | พ.ศ. 2453 - 2455 |
13 | พระยาศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ) | พ.ศ. 2455 - 2458 |
14 | พระวิชิตสงคราม (สรวง ศรีเพ็ญ) | พ.ศ. 2458 - 2461 |
15 | พระยาศรีมหาเกษตร (ชวน สมุทรานนท์) | พ.ศ. 2461 - 2464 |
16 | พระยาวิชิตภักดี (รอด สาริมาน) | พ.ศ. 2464 - 2466 |
17 | พระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิม วิเศษรัตน์) | พ.ศ. 2466 - 2467 |
18 | พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) | พ.ศ. 2467 - 2468 |
19 | พระยาอรรถกระวีสุนทร (สงวน อรรถกระวีสุนทร) | พ.ศ. 2468 |
20 | พระยารามราชภักดี (หม่อมหลวงสวัสดิ์ อิศรางกูร) | พ.ศ. 2468 - 2477 |
21 | พันเอก พระยารามณรงค์ (เสงี่ยม สุคนธรักษา) | พ.ศ. 2477 - 18 มิ.ย. 2482 |
22 | พระนิกรบดี (จอน สาริกานนท์) | 18 มิ.ย. 2482 - 20 ม.ค. 2486 |
23 | ขุนธรรมรัตนธุรทร (ธรรมรัตน์ โรจนสุนทร) | 20 ม.ค. 2486 - 20 ก.ย. 2487 |
24 | นายอุดม บุญประกอบ | 2 พ.ย. 2487 - 12 ธ.ค. 2487 |
25 | หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร) | 12 ธ.ค. 2487 - 15 ม.ค. 2488 |
26 | นายจรัส ธารีสาร | 5 ก.พ. 2488 - 30 มี.ค. 2488 |
27 | พระบำรุงบุรีราช (วิง สิทธิเทศานนท์) | 31 มี.ค. 2488 - 15 ก.ค. 2492 |
28 | ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ (สุวงศ์ วัฏฏสิงห์) | 2 ก.พ. 2492 - 30 ส.ค. 2493 |
29 | นายแม้น อรจันทร์ | 1 ก.ย. 2493 - 8 ม.ค. 2494 |
30 | หลวงอรรถวิภัชน์พจนกร (กรุง อรรถวิภัชน์) | 1 เม.ย. 2494 - 8 ม.ค. 2495 |
29 | นายแม้น อรจันทร์ (ครั้งที่ 2) | 8 ม.ค. 2495 - 17 ก.พ. 2501 |
31 | นายแสวง ชัยอาญา | 17 ก.พ. 2501 - 7 มิ.ย. 2503 |
32 | นายจันทร์ สมบูรณ์กุล | 20 ม.ค. 2504 - 30 ก.ย. 2510 |
33 | นายยุทธ หนุนภักดี | 1 ต.ค. 2510 - 30 ก.ย. 2514 |
34 | นายจำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา | 1 ต.ค. 2514 - 30 ก.ย. 2518 |
35 | ร้อยตำรวจตรี กร บุญยง | 1 ต.ค. 2518 - 30 ก.ย. 2519 |
36 | นายประชุม บุญประคอง | 1 ต.ค. 2519 - 30 ก.ย. 2520 |
37 | นายวัชระ สิงคิวิบูลย์ | 1 ต.ค. 2520 - 8 มิ.ย. 2522 |
38 | นายปฐม สุทธิวาทนฤพุฒิ | 9 มิ.ย. 2522 - 10 ก.ค. 2527 |
39 | นายศักดิ์ โกไศยกานนท์ | 10 ก.ค. 2527 - 30 ก.ย. 2531 |
40 | นายพีระ บุญจริง | 1 ต.ค. 2531 - 30 ก.ย. 2534 |
41 | หม่อมราชวงศ์กำลูนเทพ เทวกุล | 1 ต.ค. 2534 - 30 ก.ย. 2538 |
42 | นายมานิต ศิลปอาชา | 1 ต.ค. 2538 - 30 ก.ย. 2542 |
43 | นายโกเมศ แดงทองดี | 1 ต.ค. 2542 - 30 ก.ย. 2546 |
44 | นายพลวัต ชยานุวัชร | 1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2548 |
45 | นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ | 1 ต.ค. 2548 - 19 ต.ค. 2551 |
46 | นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล | 20 ต.ค. 2551 - 15 มี.ค.2552 |
47 | นายสุเทพ โกมลภมร | 16 มี.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2554 |
48 | นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ | 28 พ.ย. 2554 - 30 ก.ย. 2556 |
49 | นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ | 1 ต.ค. 2556 |
50 | นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ | 2 ต.ค. 2556 - 30 ก.ย. 2557 |
51 | นายสุรพล แสวงศักดิ์ | 1 ต.ค. 2557 - 4 เม.ย. 2560 |
52 | นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม | 4 เม.ย. 2560 - 30 ก.ย. 2560 |
53 | นายชยาวุธ จันทร | 1 ต.ค. 2560 - 30 ก.ย. 2563 |
54 | นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ | 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2566 |
55 | นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ | 1 ต.ค. 2566 - 16 พ.ย. 2567 |
56 | ฐิติลักษณ์ คำพา | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน |
รายชื่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
แก้ลำดับ | รายชื่อ[6] | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | นางกอบกุล นพอมรบดี | 16 ธันวาคม พ.ศ. 2540 | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | |
23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 | |||
14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 | ลาออก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | ||
2 (1) |
นายสมศักดิ์ รัตนมุง | 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 | 4 มกราคม พ.ศ. 2545 | |
3 | นายสายัณห์ จังพานิช | 5 มกราคม พ.ศ. 2545 | 9 มกราคม พ.ศ. 2546 | |
4 (1) |
นายวันชัย ธีระสัตยกุล | 10 มกราคม พ.ศ. 2546 | 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 | |
2 (2) |
นายสมศักดิ์ รัตนมุง | 14 มีนาคม พ.ศ. 2547 | 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 | นายก อบจ. จากการเลือกตั้งครั้งแรก |
4 (2) |
นายวันชัย ธีระสัตยกุล | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 | ลาออกก่อนครบวาระ |
17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 | 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 | |||
5 | นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | ลาออกก่อนครบวาระ[7] |
1 กันยายน พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
ตราประจำจังหวัด
แก้ความหมายของตราประจำจังหวัด เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 2 อย่างคือ
- ภาพฉลองพระบาทอยู่บนพานทอง
- ภาพพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งวางอยู่บนพระที่
ทั้งนี้ก็เพราะชื่อจังหวัดราชบุรีแปลว่า เมืองของพระราชา
การเดินทาง
แก้- รถยนต์ ใช้เส้นทาง สายเก่าสายเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านบางแค- อ้อมน้อย - อ้อมใหญ่ - นครชัยศรี - นครปฐม - ราชบุรี หรือใช้เส้นทางสายใหม่ เส้นทางหลวงหมายเลข 338 จากกรุงเทพ - พุทธมณฑล - นครชัยศรี เข้าถนนเพชรเกษมบริเวณอำเภอนครชัยศรีก่อนถึงตัวเมืองนครปฐมประมาณ 16 กิโลเมตรจากนั้นใช้ถนนเพชรเกษมตรงไปตัวเมืองราชบุรี
- รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถจากกรุงเทพฯ (สายใต้เก่า, สายใต้ใหม่, หมอชิตใหม่) ไปจังหวัดราชบุรีทุกวัน วันละหลาย ๆ เที่ยว นอกจากนี้มีบริการเดินรถข้ามจังหวัดต่าง ๆ (รถโดยสารหมวด 3) เช่น สาย 415 ราชบุรี-สมุทรสงคราม, สาย 461 กาญจนบุรี-ราชบุรี และรถโดยสารหมวด 4 จากตัวเมืองจังหวัดราชบุรีไปยังอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัด เป็นต้น
- รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
ประชากร
แก้ชาวไทยที่เป็นประชากรของราชบุรีตามกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มีอยู่เป็นหย่อมย่าน ถ้ามีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดการแสดงออกทางประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ ถ้าชุมชนที่มีกลุ่มคนตามวัฒนธรรมนั้นอยู่เบาบาง ก็ไม่สามารถแสดงออกทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ บางครั้งก็ถูกกลุ่มวัฒนธรรมหลักชักนำหรือถูกกลืนกลายให้เสื่อมสูญไปจากสังคมก็มี ข้อมูลต่อไปนี้แสดงถึงพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนตามวัฒนธรรมต่างๆ
- ไทยพื้นถิ่นราชบุรี
- ไทยเชื้อสายจีน
- ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน)
- มอญ
- เขมร
- ลาวเวียง
- กะเหรี่ยง
- ไทดำ (ไทยทรงดำ หรือชาวโซ่ง)
การศึกษา
แก้สถาบันอุดมศึกษา
แก้- มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ศูนย์การเรียนรู้ในเมือง ต.ดอนตะโก อ.เมือง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช บ้านโป่ง
สถาบันอาชีวศึกษา
แก้- วิทยาลัยอาชีวศึกษาดรุณาราชบุรี
- วิทยาลัยเทคโนโลยีดรุณาโปลีเทคนิค
- วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แห่งที่ 2
- วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี
- วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ
- วิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี
- วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง
- วิทยาลัยเทคโนโลยีบ้านโป่งบริหารธุรกิจ
- วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก บ้านโป่ง
โรงเรียน
แก้เศรษฐกิจ
แก้จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก จากการประกาศของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ราชบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 201,571 ล้านบาท[8] เป็นอันดับ 18 ของประเทศ และมีรายได้ต่อประชากรต่อปี (GPP PER CAPITA) 248,028 บาท เป็นอันดับที่ 13 ของประเทศ
จังหวัดราชบุรี มีธุรกิจการค้าประเภทสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร เป็นโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจ โดยมีตลาดกลางผักผลไม้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก โดยเป็นหนึ่งในตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด แห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เช่น สุกร โคเนื้อโคนม ไก่ เป็นต้น มีมากในเขตอำเภอปากท่อ และอำเภอโพธาราม
เป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง มีกำลังผลิตไฟฟ้ามากเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ปัจจุบันมีโรงงานทั้งสิ้น 1,923 โรงงาน (2562) เงินลงทุนรวมประมาณ 117,025 ล้านบาท จ้างแรงงาน 71,308 คน พื้นที่อุตสาหกรรมหลักอยู่ที่ อำเภอบ้านโป่ง และจังหวัดราชบุรีเป็น 1 ใน 18 จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ อำเภอโพธาราม ศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญจะกระจายอยู่ใน พื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ ได้แก่ เมืองราชบุรี เมืองบ้านโป่ง เมืองโพธาราม เป็นต้น โดยเป็นที่ตั้งสำนักงานภาค สำนักงานเขต ของหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่ง เช่น ปตท. โตโยต้า เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
แก้สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละอำเภอ
แก้- ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจก : สถานที่อนุรักษ์และสืบทอดศิลปะผ้าจกของชาวไท-ยวน เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวไท-ยวน ในราชบุรี
- ค่ายภาณุรังษี : เป็นที่ตั้งของกรมทหารช่าง ริมแม่น้ำแม่กลอง
- ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง : เป็นหลักเมืองที่ตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายเมืองเดิมไปตั้งทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำแม่กลอง
- พิธภัณฑ์ทหารช่าง : เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทหารช่างรวมทั้งยุทโธปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี : เป็นสถานที่แสดงแหล่งประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของชาวจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ยุคอดีตถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของการสร้างบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยรวมถึงการจัดแสดงโบราณวัตถุร่องรอยของอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง
- พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร : ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดหน้าพระธาตุ เป็นพระปรางค์เก่าแก่ที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูนและมีฐานเป็นศิลาแลงจำลองแบบมาจากนครวัด
- ตลาดโคยกี๊ : เป็นถนนคนเดินอยู่บริเวณถนนริมแม่น้ำแม่กลอง เปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และ อาทิตย์
- เมืองโบราณคูบัว : ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดราชบุรี ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นอาคารพุทธศาสนาเนื่องในลัทธิมหายานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
- วัดหนองหอย : เป็นที่ตั้งของพระวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม หรือ พระแม่กวนอิมบนยอดเขา ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมืองราชบุรี ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร ไปทางถนนสายเขางู - เบิกไพร
- วัดอรัญญิกาวาส : จากนครปฐมถนนเพชรเกษมถึงแยกเขางูเลี้ยวขวาประมาณ 3 กิโลเมตรอยู่ทางขวามือ
- เขาแก่นจันทร์ : ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 บนยอดเขาสูงประมาณ 141 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศเป็น 1 ใน 4 องค์ของพระสี่มุมเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นแล้วนำไปประดิษฐาน ณ เมืองรอบพระนครได้แก่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพัทลุง
- เขาวัง : อยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีเดิมเรียกเขาสัตตนาถ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้สร้างพระราชวังขึ้นบนภูเขาแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2414
- เขาหลวง : อยู่ในเขตตำบลอ่างทอง บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป
- เขาน้อย : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลา-แลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 2 องค์ ประทับนั่งหันหลังให้กัน เป็นพระที่สร้างด้วยศิลาแลง
- ถ้ำเขางู : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กิโลเมตร ในตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง บริเวณเทือกเขาเป็นที่ตั้งของปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดของจังหวัด
- ถ้ำระฆัง : เป็นถ้ำหินปูน ตั้งอยู่บนเขาพญาปราบที่อยู่ในเทือกเขางูเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสยัมภูและศาลเจ้าพ่อพญาปราบ ภายในถ้ำมีหินย้อยเป็นรูประฆัง มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก
- ถ้ำสาริกา : เป็นวัดสำคัญ ได้รับสถาปนาเป็นวัดของหลวง เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2525
- เขางู แอดเวนเจอร์ปาร์ค : เปิดตัวขึ้นเพี่อรองรับนักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัย มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนุกสนานตื่นเต้น
- ภูผาแรด : ตั้งอยู่ในพื้นที่ถ้ำเขางู ลักษณะเป็นหน้าผาหินสูงชันที่มีร่องรอยความเว้าแหว่งรอยแตกของหิน เผยให้เห็นความสวยงามของลวดลายและสีสันของหน้าผาหินแกรนิต ด้านหน้าภูผาแรด เป็นบ่อน้ำลึก ให้จับตาวินาทีที่น้ำนิ่งจนเกิดภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำ
- ตลาดน้ำดำเนินสะดวก : อยู่ติดกับถนนสุขาภิบาล 1 มีอาณาบริเวณตลอดคลองต้นเข็ม ปากคลองด้านที่บรรจบกับคลองเฮียกุ่ยจะมีร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ตลาดน้ำเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ค้าขายกันทางน้ำ โดยใช้เรือพายเล็กๆเป็นพาหนะติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่เช้ามืดจนใกล้เที่ยงวัน
- ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเก่า หรือ ตลาดน้ำคลองลัดพลี : อยู่ในเขตตำบลดำเนินสะดวก หน้าวัดราษฎร์เจริญธรรม บริเวณนี้เคยเป็นตลาดน้ำดั้งเดิมซึ่งได้สูญหายไปเมื่อหลายปีก่อน กระทั่งทางจังหวัดราชบุรีได้ร่วมมือร่วมใจกับประชาชน รื้อฟื้นคืนชีวิตให้กับตลาดน้ำแห่งนี้อีกครั้ง
- วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม : อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก เป็นสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ที่สำคัญ
- วัดขนอนหนังใหญ่ : ตั้งอยู่ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม เป็นวัดที่มีการจัดแสดงหนังใหญ่และมีพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ของโบราณ
- ค่ายหลวงบ้านไร่ : ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร อยู่ในตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม เคยเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือในรัชกาลที่ 6
- วัดคงคารามและจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม : ตั้งอยู่ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม เป็นวัดมอญ ภายในอุโบสถวัดคงคารามมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ละเอียดอ่อนสวยงาม ถ่ายทอดตามต้นแบบที่มีชีวิตจริงและภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ
- วัดเขาช่องพรานและค้างคาวเขาช่องพราน : ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม มีถ้ำที่เกิดจากหินปูน สูงจากพื้นประมาณ 30 เมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ 2 เมตรสิ่งสำคัญคือมีค้างคาวตัว เล็กๆเข้าไปอยู่อาศัยจำนวนนับร้อยล้านตัวจนพลบค่ำประมาณ 18.00 น. ของทุกวัน จะเห็นภาพค้างคาวนับล้านๆตัว บินออกจากถ้ำนานนับชั่วโมง
- สุนทรีแลนด์ แดนตุ๊กตา : เป็นแหล่งรวมตุ๊กตาขนาดใหญ่
- อุโบสถทองคำร้อยล้านวัดพระศรีอาร์ย : แสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการแห่งพลังศรัทธาของชาวราชบุรีที่มีต่อ พระพุทธศาสนาในการก่อสร้างอุโบสถทองคำมูลค่าร้อยล้าน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 37 ปี
- นาตึก เป็นอาคารเก่าที่พักริมท่าน้ำ : อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล รอพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
- พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชื่อว่าหลวงพ่อยวน : อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล รอพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
- สระน้ำโกสินารายณ์ : จากหลักฐานการค้นคว้าทางโบราณคดีแสดงว่าเคยเป็นเมืองโบราณมาแต่สมัยเก่า ซึ่งได้ขุดพบพระกรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทำด้วยหินทรายแดง 5 พระกรถือคัมภีร์ ลูกประคำและดอกบัวกับพระบาทของพระโพธิสัตว์คู่หนึ่งปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี รวมถึงการจัดแสดงโบราณวัตถุร่องรอยอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง
- บึงกระจับ : เป็นบึงน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก
- วัดม่วงและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง : ตั้งอยู่ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง เป็นวัดที่มีหน้าบันพระอุโบสถเป็นปูนปั้นลวดลายเรขาคณิตระบายสีคล้ายรูปมังกร พระอุโบสถวัดม่วงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2427 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภายในมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น จัดแสดงโบราณวัตถุคัมภีร์ใบลาน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
- ศาลากลางน้ำวัดหนองปลาหมอ เป็นศาลากลางน้ำของวัดหนองปลาหมอ ต.หนองปลาหมอ ที่พึ่งสร้างเสร็จเมื่อพ.ศ. 2556และจะผลักดันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ทางพุทธศาสนาของจังหวัดราชบุรีต่อไป
- ถ้ำเขาบิน : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในถ้ำเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงามและมีบ่อน้ำแร่ลึกประมาณ 1 เมตรที่ไม่เคยเหือดแห้งชาวบ้านเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์
- สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลางและสวนสัตว์เปิดเขาประทับช้าง : ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร มีต้นไม้พรรณไม้ต่างๆตามเรื่องราวในวรรณคดีไทย สภาพทั่วไปเป็นป่าไม้ร่มรื่นปลูกเป็นสัดส่วนและตกแต่งไว้อย่างสวยงามมีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงแพร่พันธุ์สัตว์ป่าต่างๆโดย เฉพาะเสือโคร่งเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
- ถ้ำจอมพลและสวนรุกขชาติ : อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เดิมชื่อถ้ำมุจลินทร์ สภาพเป็นป่าธรรมชาติมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกรมป่าไม้ได้จัดเป็นสวนรุกขชาติเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
- เขากระโจม : ตั้งอยู่ในตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง ห่างจากตัวเมืองราชบุรี 80 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ที่สูงที่สุดในจังหวัดราชบุรีประมาณ 1,045 เมตรจากระดับน้ำทะเล การเดินทางสู่ยอดเขาต้องใช้พาหนะขับเคลื่อน 4 ล้อ สองข้างทางยังเป็นป่าเขาที่สภาพสมบูรณ์ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและพบกล้วยไม้ป่าหลากหลายอยู่ทั่วไป ทัศนียภาพโดยรวมคล้ายป่าทางภาคเหนือ บนจุดสูงสุดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศพม่า มีลานกว้างสำหรับกางเต็นท์พักแรมสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้รอบบริเวณ ระหว่างทางมีน้ำตกผาแดงจุดพักชมวิวและทางเดินศึกษาธรรมชาติที่สวยงาม
- โป่งยุบ : อยู่ในท้องที่ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมยากในเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่แผ่นดินยุบตัวลงและถูกน้ำกัดเซาะดิน ทำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชันเป็นหลุมเป็นบ่อ ลักษณะคล้ายกับแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่
- น้ำตกบ่อหวี : ตั้งอยู่บริเวณตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงานและความเป็นธรรมชาติอยู่มาก
- แก่งส้มแมว (สวนป่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์) : เป็นแหล่งรวมพรรณไม้นานาชนิด มีสัตว์ป่าและลำธาร
- น้ำตกผาชลแดน : ตั้งอยู่ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ที่ยังคงสภาพธรรมชาติอยู่มากและน้ำตกในแต่ละชั้นมีความสวยงามไม่เหมือนกันเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบธรรมชาติ
- น้ำตกห้วยผาก : อยู่ก่อนธารน้ำร้อนบ่อคลึงประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าไปทางวัดห้วยผาก ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกสายเล็กๆเชิงเทือกเขาตะนาวศรีความสูงของชั้นน้ำตกสามารถเดินเที่ยวชมได้
- ธารน้ำร้อนบ่อคลึง : ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง เลยที่ว่าการอำเภอสวนผึ้งไปประมาณ 15 กิโลเมตร ในที่ดินของเอกชน เป็นธารน้ำร้อนที่ไหลออกจากซอกหินเชิงเขาตะนาวศรีมีความร้อนประมาณ 50 – 57 องศาเซลเซียส นับเป็นธารน้ำร้อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพมากที่สุด
- น้ำตกเก้าโจน : ตั้งอยู่ที่บ้านผาปก อยู่ถัดจากธารน้ำร้อนบ่อคลึงไป 3 กิโลเมตร จากลานจอดรถซึ่งอยู่ด้านล่าง เดินด้วยเท้าอีกประมาณ 500 เมตรถึงบริเวณตัวน้ำตกตอนล่างของลำห้วยบ่อคลึง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่สูง 9 ชั้น ระยะทางเดินจากชั้นล่างถึงชั้นบนประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
- ฟาร์มกล้วยไม้ - ลันดา : เป็นสวนกล้วยไม้เอกชน มีพันธุ์กล้วยไม้จำพวกแวนด้าไว้จำหน่าย
- พิพิธภัณฑ์ภโวทัย : รวบรวมวัตถุโบราณสยามในอดีตรวมทั้งมีรถม้า พันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับของไทยชนิดต่างๆเช่น ดอกมณโฑ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์
- จุดชมวิวห้วยคอกหมู : อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร สามารถมองเห็นภูมิประเทศของชายแดนพม่าอย่างสวยงาม สามารถมองเห็นต้นไม้ใหญ่ ป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งนกนานาชนิดอีกมากมาย
- ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย : เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้มาเยือนสวนผึ้ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางใจ ในการทบทวนจิตเพื่อความหลุดพ้นทุกข์
- ไร่กุหลาบอุษาวดี : พื้นที่ไร่แห่งนี้ปกคลุมไปด้วยกลิ่นอายธรรมชาติ ภูเขา ทะเลหมอก และแมกไม้นานาพันธุ์ ให้ได้สัมผัสกับอากาศที่สดชื่นบริสุทธิ์
- สวนผึ้งออร์คิด : เป็นสวนเพาะพันธุ์และจำหน่ายกล้วยไม้ขนาด ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสวนผึ้ง
- บ้านหอมเทียน : ภายในบ้านหอมเทียนตกแต่งด้วยของเก่าสะสมหายาก ภาชนะสังกะสี ตะเกียงโบราณ ของเล่นเก่า ฯลฯ กลมกลืนไปกับป่าธรรมชาติ เหมาะกับการถ่ายภาพในมุมต่าง ๆ
- ฟาร์มแกะสวนผึ้ง : เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีกิจกรรมหลากหลายให้ทำ เช่น การให้อาหารแกะ
- อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน : ภูมิประเทศเป็นหุบเขาตะนาวศรีสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าต้นน้ำของห้วยแม่ประจัน จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด
- อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม : ตั้งอยู่ในตำบลบางแพ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2549 ภายในบริเวณอุทยานจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งบุคคลสำคัญที่ประกอบคุณงานความดีรวมทั้งงานศิลปะเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่ทรงคุณค่าของไทยโดยการนำเสนอแบบผสมผสานกลมกลืนกับลักษณะที่เป็นธรรมชาติและบรรยากาศแบบไทย
- วัดเกาะศาลพระ : ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ วัดเก่าแก่แห่งนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใดแต่พอสันนิษฐานได้จากศิลปะลวดลายไทยที่ซุ้ม ประตูและหน้าบันอุโบสถหลังเก่าว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์
- โบราณสถานโคกวิหาร : ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะศาลพระ มีลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นรูปใบหน้าบุคคลและเศียรพระพุทธรูปและเทวดา
- โบสถ์คริสต์พระหฤทัยวัดเพลง : ตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อมมีอายุกว่า 100 ปี
- บ่อพุน้ำร้อนโป่งกระทิง : เป็นบ่อน้ำอุ่น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
วัฒนธรรม
แก้ประเพณีและเทศกาล
แก้- งานท่องเที่ยวราชบุรีของดีเมืองโอ่งและงานกาชาด : มีการจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมบริเวณพื้นที่ของศาลากลางจังหวัด
- งานองุ่นหวานและของดีดำเนินสะดวก : จัดที่บริเวณเวทีกลางวัดราษฎร์เจริญธรรม (วัดสุน) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า และผลผลิตทางการเกษตร
- ประเพณีกินข้าวห่อมีการจัดพิธีขวัญข้อมือ กินข้าวห่อ ชมการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน พิธียกเสาหงส์ และผูกผ้าสีให้เสาหลักบ้าน สถานที่จัด บ้านโป่งกระทิงบน อ.บ้านคา
- งานสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ไททรงดำ : ชมการแสดง รำวง ฟ้อนแคน นักร้องลูกทุ่งรับเชิญ : เดือนเมษายนของทุกปี (เฉพาะตำบลคอนคา) สถานที่จัดงาน : วัดตากแดด 5 เมษายน : วัดดอนคา 9 เมษายน : วัดดอนพรหม 17 เมษายน
- ประเพณีไทยตะนาวศรีและประเพณีกินข้าวห่อ วัฒนธรรมพื้นบ้านขบวน 8 ชนเผ่า มีการจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม สถานที่จัด บริเวณถนนหน้าอำเภอสวนผึ้ง
ของฝากจังหวัดราชบุรี
แก้- สัปปะรดหวาน บ้านคา
- ผ้าจกไทยวน
- เค้กมะพร้าวอ่อน
- โอ่งมังกร
- หัวไชโป๊วเค็ม,หวาน
- มะขามเทศมัน
- ผลิตภัณฑ์ประเภทนมสด
- องุ่นหวานดำเนินสะดวก
- ตุ๊กตาผ้า
- ตะโกดัดและไม้แคระ
- เขียงไม้มะขามและตุ๊กตา
- เครื่องทองเหลือง
- แคนลายและขลุ่ย
- ย่ามกะเหรี่ยง
- ผ้าขาวม้า
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม
- ขรรค์ชัย บุนปาน นักหนังสือพิมพ์และนักเขียน
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์
- สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง
- ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตนักการเมือง
- พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
วงการบันเทิง
แก้- ติ๊ก กลิ่นสี นักแสดงและพิธีกร
- จตุรงค์ พลบูรณ์ นักแสดงตลกและผู้กำกับ
- วรัทยา นิลคูหา นักแสดงและพิธีกร
- ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรและนักธุรกิจ
- ค่อม ชวนชื่น นักแสดงตลก
วงการกีฬา
แก้- นุศรา ต้อมคำ นักกีฬาวอลเลย์บอล
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ https://www.thansettakij.com/politics/615294
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 4 มีนาคม 2565.
- ↑ 4.0 4.1 จากหนังสือสารคดีเพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน ราชบุรี หน้า 447 พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2541
- ↑ Ratchaburi is divided into "10 districts", Retrieved 4 Nov 2013, from http://www.encyclopediathai.org/sunthai/center/ratburi/ratburi.htm เก็บถาวร 2012-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี". www.ratchaburipao.go.th.
- ↑ "บ้านใหญ่โอ่งมังกร ขยับ 'กำนันตุ้ย' ไขก๊อก 'นายก อบจ.ราชบุรี' ลงต่ออีกสมัย". bangkokbiznews. 2024-07-12.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-04. สืบค้นเมื่อ 2010-06-24.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด เก็บถาวร 2006-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
13°32′N 99°49′E / 13.54°N 99.82°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดราชบุรี
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย