สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม จวน ศิริสม ฉายา อุฎฺฐายี เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 7 ปี สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 สิริพระชันษา 74 ปี 336 วัน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายี) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (6 ปี 22 วัน) |
สถาปนา | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) |
ถัดไป | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) |
พรรษา | 54 |
สถิต | วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ประสูติ | 16 มกราคม พ.ศ. 2440 จังหวัดราชบุรี จวน |
สิ้นพระชนม์ | 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (74 ปี) จังหวัดสมุทรปราการ |
พระชนก | หงศ์ ศิริสม |
พระชนนี | จีน ศิริสม |
ลายพระนาม |
พระประวัติ
แก้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า ลำจวน ศิริสม ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น จวน[1] ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2440 ที่ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อพระชันษาได้ 9 ปี ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี จนจบชั้น ป. 3 แล้วกลับภูมิลำเนา
ถึงปี พ.ศ. 2452 ทรงจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ไม่นานต้องลาออกเพราะประชวรโรคเหน็บชา ถึงปี พ.ศ. 2453 ทรงไปศึกษาอยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทดฺโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพี่ชายของพระอัยกา (ตา) จนพระองค์มีพระชันษา 16 ปี จึงได้มาศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นพระสรณคมนาจารย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2460 โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระราชกวี (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[2]
ระหว่างดำรงสมณเพศได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในทางวิชาการ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์ต่าง ๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น
การศึกษา
แก้- พ.ศ. 2460 ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ ในปีเดียวกันนี้ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม 3 ประโยค
- พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. 2462, 2464 และ 2465 สอบได้เปรียญธรรม 4,5 และ 6 ประโยค ตามลำดับ
- พ.ศ. 2466 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. 2467, 2470 และ 2472 สอบได้เปรียญธรรม 7,8 และ 9 ประโยค ตามลำดับ
พระสมณศักดิ์
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
---|---|
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พ.ศ. 2476 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารมุนี[3]
- พ.ศ. 2478 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูษิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี[4]
- พ.ศ. 2482 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณ สุนทรธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2488 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2490 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2499 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสสุต พุทธพจนมธุรสธรรมวาที คัมภีรญาณปริยัติกุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ วิสารศีลาจารวัตร เวไนยบริษัทประสาทกร ธรรมยุติกคณิสสรมหาสังฆนายก[8]
- พ.ศ. 2508 เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[9]
พระกรณียกิจ
แก้พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้
ด้านการศึกษา
แก้ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัน จากการที่ได้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน
- พ.ศ. 2470 เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
- พ.ศ. 2471 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลี ประโยค 4-5-6
- พ.ศ. 2476 เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่ ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท และ พุทธศาสนสุภาษิต กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุ กรรมการ อุปนายกและนายกกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์
ด้านการปกครองคณะสงฆ์
แก้- พ.ศ. 2477 เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. 2485 เป็นสมาชิกสังฆสภา
- พ.ศ. 2486 เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส
- พ.ศ. 2489 เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส
- พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายกสมัยที่ 2[10]
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆนายก สมัยที่ 1[11] และสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่[12]
- พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
- พ.ศ. 2479 กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่
- พ.ศ. 2503 เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 2[13]
- พ.ศ. 2505 เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
ด้านการต่างประเทศ
แก้เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้น ๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ ย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2504
งานเผยแผ่พระศาสนา
แก้ได้ทรงดำเนินการมาโดยตลอดไปรูปแบบต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้
- พ.ศ. 2476 ทรงร่วมกับคณะมิตรสหาย ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พุทธสมาคม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษา
- พ.ศ. 2477 เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
- พ.ศ. 2479 เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี และ
- พ.ศ. 2497 เป็นประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ
งานพระนิพนธ์
แก้- พ.ศ. 2469 ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา
- พ.ศ. 2482 ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถาแทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา
ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า 100 เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น และมีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
สิ้นพระชนม์
แก้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในท้องที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เวลา 10:05 น. สิริพระชันษา 74 ปี 336 วัน คณะปฏิวัติประกาศให้สถานที่ราชการลดธงลงครึ่งเสา 3 วัน และข้าราชการไว้ทุกข์ 15 วัน เพื่อถวายความอาลัย[14] และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2515[15]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ตำนานพระสาสนโสภณ, 60
- ↑ จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 85-93
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่ม 50, ตอนที่ 0 ง, วันที่ 26 พฤศจิกายน 2476, หน้า 2400
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่ม 52, ตอนที่ 0 ง, วันที่ 22 กันยายน 2478, หน้า 1893
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 56, ตอนที่ 0 ง, วันที่ 4 มีนาคม 2482, หน้า 3533
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 62, ตอนที่ 82, วันที่ 25 ธันวาคม 2488, หน้า 2113
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 64, ตอนที่ 27, วันที่ 17 มิถุนายน 2490, หน้า 441
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 6, เล่ม 74, วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2500, หน้า 1-9
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 82, ตอนที่ 102, 26 พฤศจิกายน 2558, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 68, ตอนที่ 43, 8 สิงหาคม 2493, หน้า 3374-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งสังฆนายก, เล่ม 68, ตอนที่ 38, 19 มิถุนายน 2494, หน้า 2592-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่ม 68, ตอนที่ 38, 16 มิถุนายน 2494, หน้า 2593-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งสังฆนายก, เล่ม 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม 2503, หน้า 1436-7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑, เล่ม 88, ตอนที่ 142 ฉบับพิเศษ, 18 ธันวาคม 2514, หน้า 1
- ↑ พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร), ปกหน้า
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 61-70. ISBN 974-417-530-3
- วัดมกุฏกษัตริยาราม. จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม. กรุงเทพฯ : วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2553. 400 หน้า. ISBN 978-974-225-185-7
- วัดมกุฏกษัตริยาราม. พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. กรุงเทพฯ : หน่วยพิมพ์และจำหน่ายศาสนภัณฑ์ (โรงพิมพ์การศาสนา), 2515. 116 หน้า. [พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงพระศพวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2515]
- สุเชาวน์ พลอยชุม. ตำนานพระสาสนโสภณ. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2553. 159 หน้า.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) |
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2514) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) | ||
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ | ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต (พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2514) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) | ||
พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) | เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร (พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2514) |
พระเทพกิตติเมธี (หิ้น คนฺธาโร) |