รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514[1]

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514

ถนอม กิตติขจร ผู้นำการรัฐประหารตนเอง
วันที่17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (53 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล
คู่สงคราม
รัฐบาลถนอม
ในนาม คณะปฏิวัติ
ส.ส. พรรคสหประชาไทย
ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จอมพลถนอม กิตติขจร ญวง เอี่ยมศิลา
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

สาเหตุ

แก้

สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นำโดย นายญวง เอี่ยมศิลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก นอกจากนี้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอมได้บันทึกไว้ว่า

รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2515 ผ่าน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2514 ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติรับหลักการในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้วแต่เพราะ ส.ส. บางส่วนต้องการเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนเงินบำรุงท้องที่เป็นเงิน 448 ล้านบาททั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณไว้เพียง 224 ล้านบาทอาจทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องสะดุดและหยุดชะงักลงทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและ ส.ส. บางส่วน

ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพล ถนอม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าพรรคสหประชาไทยและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า "นายกฯคนซื่อ" ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงยึดอำนาจตนเอง โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมา แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ[2]

โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า

ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน

จากนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 20.11 น.[3] และห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป [4]

คณะปฏิวัติครองอำนาจจนวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีกฎหมายฉบับใด ๆ มารองรับ

จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของนิสิต นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญการปกครองอย่างถาวรมาตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501 (สมัยจอมพลสฤษดิ์) แล้ว ซึ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ที่ถูกยกเลิกไปในการปฏิวัติครั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาร่างนานถึง 10 ปี ประกอบกับเหตุการทุจริตต่าง ๆ ในรัฐบาล ก็กลายเป็นสาเหตุให้เกิด เหตุการณ์ 14 ตุลา ในอีก 2 ปี ต่อมา

หลังจากการปฏิวัติไม่นาน อุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ และอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ถือเป็นการท้าทายผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา การตีความของศาลทำให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลยและถูกสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ส.ส. ทั้งสามคนถูกปล่อยตัวหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในสมัยรัฐบาลที่มีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี[5][6]

สภาบริหารคณะปฏิวัติ

แก้

สภาบริหารคณะปฏิวัติ เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หลังจอมพล ถนอม กิตติขจรยึดอำนาจตัวเอง โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีเป็นของสภาบริหารคณะปฏิวัติ

ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 ได้กำหนดให้บุคคลเป็นสมาชิกสภาบริหารคณะปฏิวัติทั้งสิ้น 16 คนดังนี้

ประธานสภา
รองประธานสภา
สมาชิกสภา

สภาบริหารคณะปฏิวัติได้สิ้นสุดลงภายหลังการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 และประกาศแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2515

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑ (ยึดอำนาจการปกครอง)
  2. เริงศักดิ์ กำธร. กินอยู่เรียบง่ายสบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา. กรุงเทพฯ : เฟื่องอักษร, พฤษภาคม 2545. 168 หน้า. ISBN 974-87151-6-7
  3. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒
  4. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๑๑ และห้ามตั้งพรรคการเมืองขึ้น)
  5. 131010 ThaiPBS สัจจะวิถี 40ปี 14ตุลา E03 (1/2)
  6. 15 ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม ปฏิวัติตัวเอง