สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม อยู่ ช้างโสภา ฉายา ญาโณทโย เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2506 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 สิริพระชันษา 90 ปี 166 วัน[1]
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 (2 ปี 11 วัน) |
สถาปนา | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) |
ถัดไป | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) |
พรรษา | 71 |
สถิต | วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
ประสูติ | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2417 จังหวัดธนบุรี อยู่ |
สิ้นพระชนม์ | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 (90 ปี) |
พระชนก | ตรุษ ช้างโสภา |
พระชนนี | จันทน์ ช้างโสภา |
พระประวัติ
แก้พระกำเนิด
แก้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อยู่ ช้างโสภา (นามสกุลเดิม "แซ่ฉั่ว")[2] ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2417 ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร อำเภอบางกอกใหญ่ (ในปัจจุบันคือ เขตบางกอกใหญ่) ธนบุรี พระชนกชื่อตรุษ พระชนนีชื่อจันทน์[1] ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักของบิดา และพระอาจารย์ช้างที่วัดสระเกศ
อุปสมบท
แก้สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดสระเกศ จนถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2437 จึงทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) และพระธรรมกิตติ (เม่น) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[3]
การศึกษา
แก้หลังจากบรรพชาเป็นสามเณร จึงได้ศึกษาภาษาบาลีตามคัมภีร์มูลกัจจายน์กับพระอาจารย์ช้าง และศึกษาในสำนักของพระธรรมกิตติ (เม่น) สำนักสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง สีลวฑฺฒโน) และสำนักของพระยาธรรมปรีชา (ทิม) ด้วย
- พ.ศ. 2433 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ได้เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค
- พ.ศ. 2436 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2441, 2443, 2444 และ 2445 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญ 5, 6, 7, 8 และ 9 ประโยคตามลำดับ ทรงเป็นเปรียญ 9 ประโยค เมื่อพระชนมายุ 28 พรรษา และเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยครูปแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับพระมหากรุณาให้นำรถยนต์หลวงมาส่งถึงอารามเป็นพิเศษ และได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อได้เปรียญธรรม 9 ประโยคแล้ว พระองค์ก็ทรงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวง สอบไล่พระปริยัติธรรมตลอดมา
สมณศักดิ์
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พ.ศ. 2451 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระปิฎกโกศล[4]
- พ.ศ. 2464 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูสิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2466 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูสิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2470 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฏกบัณฑิตมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[7]
- พ.ศ. 2488 ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต สุทธิกิจสาทร มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
- พ.ศ. 2496 ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[9]
- พ.ศ. 2506 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณ ญาโณทยาภิธานสังฆวิสุต พุทธบริษัทคารวสถาน ธรรมปฏิภาณญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[10]
ตำแหน่ง
แก้- พ.ศ. 2462, 2468 เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดนครราชสีมา
- พ.ศ. 2464 เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดกาญจนบุรี
- พ.ศ. 2465, 2467 เป็นแม่กองธรรมจังหวัดภูเก็ต
- พ.ศ. 2467 เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเหนือ จังหวัดธนบุรี
- พ.ศ. 2470 เป็นกรรมการเถรสมาคม
พระกรณียกิจ
แก้พระองค์ทรงอุปถัมภ์ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลี และนักธรรม ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นองค์อุปภัมภ์กิตติมศักดิ์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2490 ตลอดมา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง วัดสระเกศ) จนสำเร็จเรียบร้อยดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน เป็นปูชนียสถานที่เริ่มสร้างมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศรีสง่าแก่กรุงเทพมหานครมาจวบถึงปัจจุบัน
สิ้นพระชนม์
แก้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในพระเศียรอุดตัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 เวลา 02.20 น. สิริพระชันษา 90 ปี 166 วัน สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาและข้าราชการไว้ทุกข์ 15 วัน[11] และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508[12]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 61-70
- ↑ ÊÁà´ç¨¾ÃÐÊѧ¦ÃÒª - Dhammathai.org : BUDDHISH INFORMATION NETWORK
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 266-7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลพระครู, เล่มที่ 25, ตอนที่ 15, 12 กรกฎาคม 2454, หน้า 454
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่มที่ 38, ตอนที่ 0 ง, 2 ตุลาคม 2464, หน้า 1833
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณะศักดิ์, เล่มที่ 40, ตอนที่ 0 ง, 25 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2596
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่มที่ 44, ตอนที่ 0 ก, วันที่ 13 พฤศจิกายน 2470, หน้า 2525–6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 62, ตอนที่ 72, 25 ธันวาคม 2488, หน้า 716–7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 70, ตอนที่ 78, 22 ธันวาคม 2496, หน้า 1537
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และ สมเด็จพระราชาคณะ, เล่มที่ 80, ตอนที่ 45, 13 พฤษภาคม 2506, หน้า 1–5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์, เล่มที่ 82, ตอนที่ 40 ง ฉบับพิเศษ, 15 พฤษภาคม 2508, หน้า 1
- ↑ ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหารและจดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุเมืองกบิลพัสดุ์, ปกหน้า
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- คณะรัฐมนตรี. ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ จดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุเมืองกบิลพัสดุ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2508. 148 หน้า. [พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508]
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2508) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายี) | ||
พระธรรมปิฎก (น่วม จนฺทสุวณฺโณ) | เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (พ.ศ. 2467 - พ.ศ. 2508) |
พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) |