พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล)
พระศาสนโศภน นามเดิม แจ่ม ฉายา จตฺตสลฺโล เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม รองประธานสังฆสภา และแม่กองธรรมสนามหลวงรูปแรก
พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 (70 ปี 191 วัน ปี) |
มรณภาพ | 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | บาเรียนเอก (เทียบเท่าเปรียญธรรม 7 ประโยค) |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม |
ประวัติ
แก้ชาติกำเนิด
แก้พระศาสนโศภน เกิดเมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2418[1] เวลา 07.30 น. ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน เป็นบุตรนายพ่วงกับนางเอี่ยม บิดาท่านเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านตำหนัก อำเภอเมืองเพชรบุรี สมัยเป็นเด็กท่านมักเป็นจ่าฝูงในหมู่เพื่อน ๆ จึงมีนามเดิมว่าจ่า ภายหลังชื่อแปลก เพราะมักเล่นอะไรแปลก ๆ[3] เมื่อโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่วัดสนามพราหมณ์
ท่านมีน้องชายคนหนึ่งชื่อจอน ซึ่งได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก ขุนประสารพันธุกิจ ผู้ช่วยเกษตรมณฑลพิศณุโลก ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ถาวรบุตต์[4]
อุปสมบท
แก้พ.ศ. 2435 ย้ายมาศึกษาที่ศึกษากับพระครูวินัยธรแสง ฐานานุกรมของพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม แล้วได้บวชเป็นสามเณรในวันข้างขึ้นเดือน 7 ปีนั้น ขณะเป็นสามเณรนี้ท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็นแจ่ม[3] ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม โดยมีพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) ขณะยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชกวี (ถม วราสโย) และพระมหานุนายก (ดี มนาปจารี) ขณะยังเป็นพระครูปลัดมหานุนายก เป็นคู่กรรมวาจาจารย์[2] ได้ฉายาว่า จตฺตสลฺโล
การศึกษา
แก้ขณะอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระมหาทองอยู่ (ป.ธ. 7) จนอุปสมบทได้ 2 พรรษาจึงย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเพื่อศึกษากับพระยาวิจิตรธรรมปริวัตร (ดำ) ขณะยังเป็นพระศาสนดิลก เข้าสอบในหลักสูตรของมหามกุฏราชวิทยาลัยจนสอบได้บาเรียนตรี (เทียบเปรียญธรรม 4 ประโยค) ในปีระกา พ.ศ. 2440[5] ได้บาเรียนโท (เปรียญธรรม 5 ประโยค) ปีจอ พ.ศ. 2441 และสุดท้ายสอบได้บาเรียนอก (เทียบเท่าเปรียญธรรม 7 ประโยค) ในปีกุน พ.ศ. 2442 แล้วกลับไปอยู่วัดมกุฏกษัตริยารามดังเดิม[6] วันที่ 9 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 ได้รับพระราชทานพัดพื้นโหมดสำหรับวุฒิบาเรียนเอก[7]
ศาสนกิจ
แก้นับแต่ย้ายกลับมาอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้ทำหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม ต่อมาได้เป็นกรรมการในการสอบบาลีสนามหลวง กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย แม่กองธรรมสนามหลวง และกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ท่านได้รับเลือกเป็นสมาชิกสังฆสภา และสุดท้ายเป็นรองประธานสังฆสภา
สมณศักดิ์
แก้- 6 กรกฎาคม ร.ศ. 127 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี[8]
- 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีห์พจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[9]
- 24 กันยายน พ.ศ. 2464 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุติโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
- 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุตติกาที่ พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุล ตรีปิฎกคุณประสาธนวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[12]
มรณภาพ
แก้พระศาสนโศภน อาพาธด้วยโรคลำไส้ ต่อมามีโรคไตและโรคหัวใจพิการด้วย และถึงแก่มรณภาพวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เวลา 02.30 น. ณ กุฏิเจ้าอาวาส[3] สิริอายุได้ 70 ปี 191 วัน
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 192
- ↑ 2.0 2.1 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 79
- ↑ 3.0 3.1 3.2 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 83
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมุรธาธร ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๔๓, เล่ม 32, ตอน 0 ง, 16 มกราคม พ.ศ. 2458, หน้า 2,548
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ, เล่ม 14, ตอน 0 ฉบับพิเศษ, 29 กันยายน ค.ศ. 1897, หน้า 368
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 247
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรและพัดเปรียญ, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 489
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะและพระครู, เล่ม 25, ตอน 15, 12 กรกฎาคม ร.ศ. 127, หน้า 454
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457, หน้า 1,844
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่ม 38, ตอน 0 ง, 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464, หน้า 1,832
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมณศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466, หน้า 2,595
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 45, ตอน 0 ก, 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471, หน้า 173-4
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- วัดมกุฏกษัตริยาราม. จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม. กรุงเทพฯ : วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2553. 400 หน้า. หน้า 79-83. ISBN 978-974-225-185-7
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ไม่มี | ไฟล์:ตราแผนกธรรม.gif แม่กองธรรมสนามหลวง (พ.ศ. 2470 - พ.ศ. 2484) |
พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) | ||
พระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวโร) | ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif เจ้าคณะรองคณะธรรมยุต (พ.ศ. 2471 – พ.ศ. 2484) |
(ตำแหน่งถูกยกเลิกตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484) |