พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร)
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะกลาง และอดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 28 สิงหาคม พ.ศ. 2380 (63 ปี 35 วัน ปี) |
มรณภาพ | 2 ตุลาคม พ.ศ. 2443 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 7 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม |
ประวัติ
แก้ชาติกำเนิด
แก้พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่าแฟง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2380 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เป็นบุตรนายคงกับนางปาน บ้านอยู่คลองสามเสนฝั่งเหนือ ตรงข้ามวัดอภัยทายาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อยู่ในสังกัดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร[1]
อุปสมบท
แก้เมื่ออายุเกือบครบอุปสมบท ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์พระครูจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) ถึงปีมะแม พ.ศ. 2402 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยมีพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้นามฉายาว่า กิตฺติสาโร[1]
การศึกษา
แก้หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอริยมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) และสำนักอาจารย์ทอง วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดโสมนัสวิหาร[1] แล้วเข้าสอบพระปริยัติธรรมซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ต่อมาในปีชวด พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบอีกครั้ง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 4 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[2]
ศาสนกิจ
แก้เมื่อพระจันทรโคจคุณได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมย้ายตามไปอยู่ด้วย เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ มาประทับที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นพระอาจารย์สอนภาษาบาลีถวาย[3] จนพระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระทัยอย่างยิ่งจึงถวายรางวัลไตรแพร 1 สำรับ และย่ามโหมดเทศ 1 ใบแก่ท่าน[4] และยังโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะในปีนั้นด้วย ต่อมาท่านยังช่วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายเล่ม เช่น อบายมุขกถา เวฬุทธาเนยยกสูตร มงคลคาถาที่ 3 มิลินทปัญหา เป็นต้น[5] สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงยกย่องท่านว่า เปนผู้มีความรู้ในทางแปลหนังสือแตกฉาน[6] พระผู้ใหญ่ในวัดยังกล่าวถึงท่านว่าอ่านคัมภีร์ใบลานได้ชำนาญมากถึงขนาด ดูคัมภีร์ใบลานเห็นสัมพันธ์กินกันเป็นแถว[7]
ในด้านการปกครอง ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามสืบแทนพระจันทรโคจรคุณที่มรณภาพในปี พ.ศ. 2425 ต่อมาวันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 114 ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต[8] และในปี ร.ศ. 115 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[9]
ท่านมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีอย่างยิ่ง ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจชำระจูฬวรรค เล่ม 1-2 กถาวัตถุ และมหาปัฏฐานบางส่วน จนเสร็จทันพระราชประสงค์ และได้รับพระราชทานพระไตรปิฎก 1 ชุด และนาฬิกาตู้อย่างดี 1 เรือนเป็นรางวัล[2]
นอกจากนี้ ท่านยังเคร่งครัดในพระวินัยอย่างยิ่ง ถึงขนาดไม่รับเป็นพระกรรมวาจารย์เมื่อฟันหลุด เพราะเกรงจะออกเสียงพยัยชนะวรรคทันตชะไม่ได้ ทำให้เป็นอักขรวิบัติ[7]
สมณศักดิ์
แก้- พ.ศ. 2411 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมในพระจันทรโคจรคุณ
- พ.ศ. 2424 เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี[10]
- พ.ศ. 2435 เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[11]
- พ.ศ. 2437 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคยตินายก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทีคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[12]
- พ.ศ. 2442 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[13]
มรณภาพ
แก้พระพรหมมุนี อาพาธเป็นวัณโรค[14] และเป็นโรคเหน็บชามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 และมีอาการตกโลหิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 119 แม้ต่อมาจะทุเลาลงบ้าง แต่กลับทรุดลงอีกในเดือนสิงหาคม จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ร.ศ. 119 เวลา 01:30 น. ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ[15]
ศิษย์ที่มีชื่อเสียง
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๐
- ↑ 2.0 2.1 แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๑
- ↑ พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 62
- ↑ พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 85
- ↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๒
- ↑ พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 74
- ↑ 7.0 7.1 จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า 75
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราตั้งกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย, เล่ม ๑๒, ตอน ๔๑, ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๔, หน้า ๔๘๖
- ↑ ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 127
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 158
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๙, หน้า ๔๖๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๑, หน้า ๓๑๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๖, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๒, หน้า ๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นชีพิตักษัย แลข่าวตายในกรุง, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๑, ๒๘ ตุลาคม ๑๑๙, หน้า ๔๑๘
- ↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), หน้า ๒๓
- บรรณานุกรม
- ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
- ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี (ประวัติพระพรหมมุนี (แฟง), เล่ม ๑๘, ตอน ๒, ๑๔ เมษายน ๑๒๐, หน้า ๒๐-๓
- วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา. พระประวัติตรัสเล่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2544. 107 หน้า. ISBN 974-399-407-6
- วัดมกุฏกษัตริยาราม. จดหมายเหตุวัดมกุฏกษัตริยาราม. กรุงเทพฯ : วัดมกุฏกษัตริยาราม, 2553. 400 หน้า. หน้า 64-72. ISBN 978-974-225-185-7
- ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) | เจ้าคณะรองคณะกลาง (พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2443) |
พระพรหมมุนี (เขียว จนฺทสิริ) |