ฐานานุกรม คือชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย ซึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ทางพระสังฆาธิการ ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก,ชั้นโท,ชั้นตรี, ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ,ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด และฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาคมีสิทธิ์ในการตั้งฐานานุกรมประจำตำแหน่ง หรือพระราชาคณะ มีสิทธิ์ตั้งพระภิกษุรูปอื่นให้เป็นฐานานุกรมได้ ตามฐานานุศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตตามที่ระบุไว้ในสัญญาบัตรพระราชาคณะ หิรัญบัฏพระราชาคณะเจ้าคณะรอง สุพรรณบัฏสมเด็จพระราชาคณะและสมเด็จพระสังฆราช ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ หรือพระราชบัญญัติ กฎระเบียบอื่นอันเกี่ยวเนื่องด้วยคณะสงฆ์

พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป สามารถตั้งพระฐานานุกรมของตนได้ตามอัธยาศัย (ในพระบรมราชานุญาต)

ฐานานุกรมนั้นมีตำแหน่งที่เป็นหลัก 3 ตำแหน่ง คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา หากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์ตั้งฐานานุกรมเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป พระฐานานุกรมที่ท่านเหล่านั้นตั้ง จะเรียก "พระครู" นำหน้าตำแหน่งฐานานุกรมนั้นทุกตำแหน่ง เช่น พระครูปลัด พระครูวินัยธร พระครูธรรมธร พระครูสังฆรักษ์เป็นต้น[1]

สิทธิในการให้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สามารถแต่งตั้งฐานานุกรมได้ จะมีระบุไว้ในสัญญาบัตรพระบรมราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ว่าให้สามารถตั้งได้เท่านั้นเท่านี้รูป ซึ่งพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานสิทธิในการตั้งพระฐานานุกรม จะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ หรือจะตั้ง แต่ตั้งเพียงจำนวนเท่าที่เห็นควรก็ได้ ไม่จำต้องตั้งทั้งหมด

ตำแหน่งเหล่านี้เดิมมีพัดยศของหลวงพระราชทานมาให้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องจัดทำเอง โดยพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์แต่งตั้งฐานานุกรมจะแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดในศิษยานุศิษย์ของตน ก็สุดแล้วแต่อัธยาศัย ทางการไม่ได้เกี่ยวข้องในการแต่งตั้งพระฐานานุกรม เพียงแต่รับรู้เท่านั้น[1]

ความหมายของฐานานุกรม

คำว่า ฐานานุกรม ในภาษาบาลี มาจากบทคือ ฐาน (ตำแหน่ง) +อนุกฺกม (ลำดับ, ระเบียบ, ชั้น) ประกอบกัน จึงแปลว่า ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นตามทำเนียบ ฐานานุกรมจึงหมายถึง ลำดับตำแหน่งยศพระสงฆ์ที่พระราชาคณะมีอำนาจตั้งสมณศักดิ์ให้ ตามทำเนียบที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชาคณะหรือเจ้าคณะผู้ปกครองนั้น ๆ เช่น พระสงฆ์ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 ตำแหน่ง[1]

สถานะของพระฐานานุกรม

ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งในลักษณะนี้เรียกว่า พระฐานานุกรม[2] ทุกรูปจัดเป็นพระมีสมณศักดิ์ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไป ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

การตั้งฐานานุกรมของพระราชาคณะ เป็นการตั้งโดยพระบรมราชานุญาตตามความที่ระบุในพระบรมราชโองการ ซึ่งทรงใช้พระราชอำนาจในการสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยไม่ทรงระบุอำนาจในการถอดถอนฐานานุกรมไว้แต่ประการใด ดังนั้นผู้ได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมจากพระราชาคณะแล้ว จึงได้รับฐานานุกรมเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวตามพระบรมราชโองการ และสามารถใช้ตำแหน่งนั้นได้ตราบเท่าที่ผู้ได้รับตั้งให้เป็นฐานานุกรมยังไม่ลาสิกขา ได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือมรณภาพ

กรณีพระราชาคณะผู้ได้ตั้งฐานานุกรมไว้ตามความในพระราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ได้ลาสิกขา ได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือมรณภาพ ตำแหน่งฐานานุกรมต่าง ๆ ที่พระราชาคณะนั้นๆ ได้ตั้งไว้แก่พระภิกษุต่างๆ แล้ว ยังไม่ถือเป็นอันสิ้นสุดไป เว้นแต่ตำแหน่งฐานานุกรมที่ยังไม่ได้ตั้งจึงถือเป็นอันสิ้นสุดไปตามผู้มีสิทธิ์ตั้ง ไม่สามารถตั้งได้อีกตามพระบรมราชโองการ เนื่องจากพระราชาคณะนั้นๆ ย่อมได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบท ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือได้ทำหนังสือกราบถวายบังคมทูลลามรณภาพแล้วตามระเบียบปฏิบัติ

ในอดีต ตำแหน่งฐานานุกรมบางตำแหน่งมีลำดับสมณศักดิ์สูงกว่าพระมหาเปรียญ จึงมีบางครั้งที่พระมหาเปรียญก็อาจได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมบ้าง ซึ่งเรียกกันในภาษาปากว่า ฐานาทรงเครื่อง หรือ พระครูทรงเครื่อง คือมีทั้งตำแหน่งมหาเปรียญและฐานานุกรมในคราวเดียวกัน[1]

ประเภทของฐานานุกรม

ฐานานุกรมแบ่งได้ 9 ประเภท ได้แก่

1.ฐานานุกรมชั้นพระราชาคณะ ตำแหน่งนี้มีเฉพาะฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น มี 2 สมณศักดิ์ คือ พระราชาคณะปลัดขวา และพระราชาคณะปลัดซ้าย (บางสมัยอาจมีพระราชาคณะปลัดกลาง) และฐานานุกรมชั้นนี้สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ฐานานุศักดิ์ เหมือนพระราชาคณะชั้นสามัญ 2.ฐานานุกรมมีสัญญาบัตรกำกับพระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะ พระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะตามที่ระบุไว้ในสัญญาบัตรฐานานุกรม เป็นฐานานุกรมของ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร,ชั้นหิรัญบัฏ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อได้ตั้งฐานานุกรมพระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะนี้แล้ว ต้องไปแจ้งที่กรมการศาสนาเพื่อขึ้นทะเบียน และจัดนิตยภัตถวาย[3]เช่นเดียวกับพระครูสัญญาบัตรทั่วไปโดยผู้ที่ได้รับฐานานุกรมนี้แล้ว ครองฐานานุกรมนี้โดยสมควร สามารถเลื่อนชั้นขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ [4]ตามหลักขั้นตอนการพิจารณาตั้งสมณศักดิ์

 
เครื่องประกอบสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ
 
สัญญาบัตรฐานานุกรมพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ

3.ฐานานุกรมพระครูปลัดมีราชทินนาม พระครูปลัดมีราชทินนามเป็นฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นธรรมมีปรากฏในสัญญาบัตรพระราชาคณะชั้นธรรม เมื่อได้ตั้งพระครูปลัดมีราชทินนามฐานานุกรมนี้แล้ว ต้องไปแจ้งที่กรมการศาสนาเพื่อขึ้นทะเบียน และจัดนิตยภัตถวายเช่นเดียวกับพระครูสัญญาบัตรทั่วไป

4.ฐานานุกรมชั้นพระครูอื่น คือ ฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไปจนถึงฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชบางตำแหน่ง เป็นตำแหน่งที่มีคำว่า "พระครู" นำหน้า เช่น พระครูปลัด พระครูวินัยธร พระครูคู่สวด พระครูรองคู่สวดเป็นต้น อนึ่ง พระครูฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช 4 ตำแหน่งที่อยู่อยู่ระหว่างพระราชาคณะปลัดขวา พระราชาคณะปลัดซ้ายกับพระครูชั้นเอกฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราช มีสิทธิ์รับพระราชทานนิตยภัตเช่นเดียวกับพระครูปลัดมีราชทินนาม

5.ฐานานุกรมชั้นธรรมดา ฐานานุกรมชั้นนี้เป็นของพระราชาคณะชั้นสามัญ มีสมณศักดิ์ฐานานุกรม 3 ฐานานุศักดิ์ คือ พระปลัด, พระสมุห์ และพระใบฎีกา ๑ (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)

6.ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก,ชั้นโท,ชั้นตรี

7.ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอมีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ มี 3 ตำแหน่งคือ พระปลัด, พระสมุห์, และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)

8.ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด มีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด[7] มี 5 ตำแหน่งคือ พระปลัด, พระวินัยธร, พระธรรมธร, พระสมุห์ และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)

9.ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาค มีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาค[8] มี 6 ตำแหน่งคือ พระครูปลัด, พระครูวินัยธร, พระครูธรรมธร, พระสังฆรักษ์, พระสมุห์, พระใบฎีกา (มีคำนำหน้าว่าพระครูนำหน้า 3 ตำแหน่ง และไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า 3 ตำแหน่ง)

ทำเนียบฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นต่างๆ

จำนวนของฐานานุกรม ที่พระราชาคณะชั้นต่างๆ จะมีสิทธิ์ตั้งได้นั้น จะถูกระบุไว้ในพระบรมราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ปัจจุบันการพระราชทานพระราชอำนาจให้แก่พระราชาคณะในการตั้งฐานานุกรมชั้นต่าง ๆ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่โดยประเพณีจะมีการตั้งโดยระบุฐานานุกรมมีราชทินนาม และฐานานุกรมอื่น ดังนี้

สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นสามัญ
  • พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑
    (พระครูปลัดสัมพิพัฒน...จารย์)
  • พระครูวินัยธร ๑
  • พระครูธรรมธร ๑
  • พระครูคู่สวด ๒
  • พระครูรองคู่สวด ๒
  • พระครูสังฆรักษ์
    มีราชทินนาม ๑
  • พระครูสมุห์ ๑
  • พระครูใบฎีกา ๑
  • พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑
    (พระครูปลัดสุวัฒน...คุณ หรือ
    พระครูปลัดวชิร...[# 1])
    [# 2]
  • พระครูวินัยธร ๑
  • พระครูธรรมธร ๑
  • พระครูคู่สวด ๒
  • พระครูสังฆรักษ์
    มีราชทินนาม ๑
  • พระครูสมุห์ ๑
  • พระครูใบฎีกา ๑
  • พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑
    (พระครูปลัด...วัฒน์)[# 3]
  • พระครูวินัยธร ๑
  • พระครูธรรมธร ๑
  • พระครูสังฆรักษ์ ๑
  • พระครูสมุห์ ๑
  • พระครูใบฎีกา ๑
  • พระครูปลัด ๑
  • พระครูวินัยธร ๑
  • พระครูสังฆรักษ์ ๑
  • พระครูสมุห์ ๑
  • พระครูใบฎีกา ๑
  • พระครูปลัด ๑
  • พระครูสังฆรักษ์ ๑
  • พระครูสมุห์ ๑
  • พระครูใบฎีกา ๑
  • พระปลัด ๑
  • พระสมุห์ ๑
  • พระใบฎีกา ๑
หมายเหตุ
  1. พระราชาคณะเจ้าคณะรองที่โปรดสถาปนาราชทินนามใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จะมีฐานานุศักดิ์ตั้งพระครูปลัดในราชทินนาม พระครูปลัดวชิร... โดยมีพระครูปลัดวชิรโสภณญาณ ฐานานุกรมในพระพรหมวชิรโสภณ เป็นราชทินนามแรกที่ใช้รูปแบบนี้
  2. ยกเว้นพระครูปลัด ฐานานุกรมในพระสาสนโสภณ จะมีราชทินนามว่า พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ
  3. ในพระราชาคณะชั้นธรรมบางรูป จะมีฐานานุกรมที่ลงท้ายด้วย "วัตร" เช่น พระธรรมราชานุวัตร มีพระครูปลัด มีราชทินนามว่า พระครูปลัดมหาเถรานุวัตร เป็นต้น

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ. ๘). (2552). วิทยาพระสังฆาธิการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ รำไท เพรส จำกัด. ISBN 9789748287768
  2. https://www.facebook.com/-243037046389505 (2018-11-18). "ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรมและเปรียญ ในพระราชพิธีและรัฐพิธี พ.ศ. ๒๕๕๙ สมเด็จพระราชาคณะ". วัดราชาธิวาสวิหาร. {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help); แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  3. Srisuchinwong, Udomsin (2022-02-19). "เปิดเงินเดือนสงฆ์จากอัตรา นิตยภัต ทำไมสงฆ์ถึงมีรายได้" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "เปิดประวัติ "พระวชิรปัญญาภรณ์" พระราชาคณะที่อายุน้อยที่สุด". mgronline.com. 2023-06-30.
  5. วัดโมลีโลกยาราม (2019-04-28). "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ สมัยรัชกาลที่ ๕". วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. pubhtml5.com. "หนังสือพระมหาสมณนิพนธ์ เล่ม๑๑". Pubhtml5.
  7. วัดโมลีโลกยาราม (2019-05-25). "ตอนที่ ๔ ฐานานุกรม". วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. https://www.pptvhd36.com. "ทำความรู้จัก "สมณศักดิ์" พระสงฆ์ของไทยตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการปกครองสงฆ์". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)