พระราชบัญญัติ หรือ รัฐบัญญัติ (อังกฤษ: act) เป็นกฎหมายที่เกิดจากความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ ในประเทศส่วนใหญ่ กฎหมายดังกล่าวเริ่มขึ้นด้วยการเสนอร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัติอภิปรายและลงมติ

ในท้องที่ที่ใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์ ร่างกฎหมายที่อาจกลายเป็นกฎหมายได้นั้นมักมาจากการเสนอของฝ่ายบริหาร ซึ่งมักมีขึ้นหลังจากเผยแพร่สมุดปกขาว (white paper) ที่ระบุประเด็นที่เกี่ยวข้องและวิธีการที่ร่างกฎหมายนั้นจัดการกับประเด็นดังกล่าว ร่างกฎหมายที่สภาริเริ่มเอง มักเรียกว่า ร่างกฎหมายเอกเทศของสมาชิก (private member's bill)

ในท้องที่ที่สภานิติบัญญัติประกอบด้วยสภาย่อยหลายสภา ร่างกฎหมายอาจต้องเสนอต่อสภาย่อยสภาใดสภาหนึ่งก่อน เช่น ในสหราชอาณาจักร ร่างกฎหมายที่กำหนดภาษีหรือที่เกี่ยวข้องกับการคลังสาธารณะต้องเสนอต่อสภาสามัญชนก่อน ขณะที่ร่างกฎหมายซึ่งมาจากการริเริ่มของคณะกรรมาธิการกฎหมายต้องเสนอต่อสภาขุนนางก่อน

เมื่อมีการเสนอแล้ว ร่างกฎหมายจะผ่านขั้นตอนบางประการกว่าจะบรรลุเป็นกฎหมายได้ ในทางทฤษฎีแล้ว ข้อนี้เพื่อให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างนั้นอย่างละเอียด และให้มีเสนอ อภิปราย และให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างเดิมได้

ในกรณีที่สภานิติบัญญัติมีหลายสภาย่อย ร่างกฎหมายที่สภาย่อยสภาหนึ่งเห็นชอบแล้ว จะส่งให้สภาย่อยอีกสภาหนึ่งเห็นชอบต่อ จากนั้น ร่างกฎหมายจะได้รับการอนุมัติซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นเพียงพิธีการและผู้อนุมัติมักเป็นประมุขแห่งรัฐ

ในบางประเทศ เป็นต้นว่า ฝรั่งเศส เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก สเปน และโปรตุเกส ใช้คำเรียกร่างกฎหมายแต่ละประเภทต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอต่อสภานิติบัญญัติ เรียกว่า "draft" และที่สภานิติบัญญัติริเริ่มเอง เรียกว่า "proposition"

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้