ระบบเวสต์มินสเตอร์

ระบบเวสมินสเตอร์ เป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา ซึ่งยึดตามการเมืองสหราชอาณาจักร คำนี้มาจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อันเป็นที่ประชุมรัฐสภาสหราชอาณาจักร

พระราชวังเวสต์มินสเตอร์

ระบบเวสมินสเตอร์ คือ ชุดวิธีดำเนินการสำหรับการดำเนินสภานิติบัญญัติ

ลักษณะสำคัญ

แก้

ลักษณะสำคัญของระบบเวสต์มินสเตอร์มีดังนี้ ทว่า ระบบที่มาจากระบบเวสต์มินสเตอร์ใด ๆ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะครบตามด้านล่างนี้ก็ได้

  • มีองค์อธิปัตย์หรือประมุขแห่งรัฐซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจบริหารแต่ในนาม หรือตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และถืออำนาจที่สงวนไว้หลายประการ แต่หน้าที่ประจำวันมีเพียงหน้าที่ในทางพิธีการเท่านั้น
  • มีหัวหน้ารัฐบาล (ประมุขฝ่ายบริหาร) คือ นายกรัฐมนตรี แม้หัวหน้ารัฐบาลจะได้รับแต่งตั้งจากประมุขแห่งรัฐ แต่ธรรมเนียมตามรัฐธรรมนูญ คือ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หากสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งนั้นก็มักจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น
  • มีฝ่ายบริหารโดยพฤตินัยซึ่งมักประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่หัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้นำสมาชิกฝ่ายบริหารในคณะรัฐมนตรี
  • มีข้าราชการเป็นอิสระซึ่งให้คำแนะนำ และนำการตัดสินใจของรัฐมนตรีไปปฏิบัติ ข้าราชการนั้นไม่มีกำหนดเวลา และสามารถคาดหวังกระบวนการเลือกโดยยึดคุณความดี (merit) และการจ้างงานต่อเนื่องเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล
  • มีฝ่ายค้านในรัฐสภา (ระบบหลายพรรค)
  • มีสภานิติบัญญัติ ซึ่งมักเป็นระบบสองสภา ซึ่งมีอย่างน้อยสภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง แม้จะพบระบบสภาเดียวได้เช่นกัน สมาชิกสภานิติบัญญัติมักมาจากการเลือกตั้งในระบบผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดชนะเลือกตั้ง (ซึ่งตรงข้ามกับการมีผู้แทนตามสัดส่วนทั่วประเทศ)
  • มีสภาล่างซึ่งสามารถไล่รัฐบาลออกด้วยการปฏิเสธงบประมาณ ผ่านมติไม่ไว้วางใจ หรือเอาชนะมติไว้วางใจ (confidence motion) ระบบเวสต์มินสเตอร์เปิดให้ไล่รัฐบาลออก หรือบีบให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยไม่ต้องเลือกรัฐบาลใหม่
  • มีรัฐสภาซึ่งสามารถถูกยุบและประกาศเลือกตั้งได้ทุกเมื่อ
  • มีเอกสิทธิ์ของรัฐสภาซึ่งเปิดให้สภานิติบัญญัติอภิปรายประเด็นใด ๆ ที่มองว่าเกี่ยวข้อง โดยมิต้องเกรงผลที่เกิดจากถ้อยแถลงหรือบันทึกที่หมิ่นประมาท
  • มีรายงานการประชุมรัฐสภา