ประมุขแห่งรัฐ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประมุขแห่งรัฐ (อังกฤษ: Head of state) เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์และพิธีการทูตเมื่อหมายถึงข้าราชการ (official) ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดในรัฐเอกราชหนึ่ง ๆ และมีอำนาจเด็ดขาดหรือจำกัดที่จะปฏิบัติเป็นผู้แทนสาธารณะสูงสุด (chief public representative) ของรัฐ[1] ประมุขแห่งรัฐในประเทศส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาที่ดำรงตำแหน่ง หากในบางประเทศ คณะบุคคลอยู่ในตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ เช่น สภาสหพันธ์สวิตเซอร์แลนด์ ประธานาธิบดีบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และผู้ครองนครร่วม (Captains Regent) ซานมารีโน
คำว่า "ประมุขแห่งรัฐ" มักใช้เพื่อแยกความแตกต่างจากคำว่า "หัวหน้ารัฐบาล" ยกตัวอย่าง ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ข้อ 7 และอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนทางทูต ข้อ 1 เช่น ระบบรัฐสภาอย่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พระมหากษัตริย์และประธานาธิบดีได้รับการยอมรับเป็นประมุขแห่งรัฐในสองประเทศนี้ตามลำดับ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับเป็นหัวหน้ารัฐบาล อย่างไรก็ดี ในสาธารณรัฐที่มีระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประธานาธิบดีได้รับการยอมรับเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งบุคคลที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลยังอาจเกิดได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและบางครั้งเช่นเดียวกับระบอบเผด็จการอื่น ๆ
บทบาทของประมุขแห่งรัฐโดยทั่วไป รวมทั้งการใช้อำนาจทางการเมือง และหน้าที่ ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูตปฏิบัติภายใต้ข้อสันนิษฐานว่า หัวหน้าคณะทูต (คือ เอกอัครราชทูต เอกอัครรัฐทูต หรือเอกอัครสมณทูต) ของประเทศผู้ส่งถูกถือว่าเป็นของประมุขแห่งรัฐรัฐผู้รับ มักคิดกันว่าประมุขแห่งรัฐเป็น "ผู้นำ" อย่างเป็นทางการของรัฐชาติหนึ่ง ๆ ปัจจุบัน หลายประเทศคาดหวังให้ประมุขแห่งรัฐของตนรวมค่านิยมของชาติในแบบนิยมที่คล้ายกัน
ในขณะที่กำลังพัฒนารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน (1958) ชาร์ล เดอ โกล อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่าประมุขรัฐควรมี "จิตวิญญาณของชาติ" (l'esprit de la nation).[2]
รูปแบบ
แก้แต่ละประเทศมีรูปแบบของประมุขแห่งรัฐที่แตกต่างกัน ขึ้นกับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศได้ระบุไว้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ระบอบรัฐสภา
แก้ระบอบรัฐสภามีความแตกต่างในรายละเอียดตามแต่ละประเทศ ในบางประเทศ ประมุขแห่งรัฐสามารถให้คำแนะนำ ให้กับคณะรัฐบาลได้โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ประธานาธิบดีที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง
แก้ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจในการปกครองต่อรัฐบาล เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมือง และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน มีบทบาทในทางพิธีการเท่านั้น ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปกครองประเทศ
ประเทศที่ใช้ระบอบสาธารณรัฐระบบรัฐสภาได้แก่ เยอรมนี อิตาลี อินเดีย ออสเตรีย ฮังการี อิรัก อิสราเอล ปากีสถาน สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ กรีซ เซอร์เบีย เช็กเกีย บัลแกเรีย เนปาล บังกลาเทศ เอธิโอเปีย ซูรินาม เป็นต้น
-
ประณัพ มุขัรชี เป็นประมุขแห่งรัฐของอินเดียในระหว่างปี 2012 ถึง 2017
พระมหากษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง
แก้ตามระบอบรัฐสภา พระมหากษัตริย์อาจมีบทบาทเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศเฉพาะในนาม เช่น รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี ไม่ใช่รัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของสภานิติบัญญัติ แทนที่จะเป็นประมุขแห่งรัฐ
ประเทศที่ใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้แก่ ไทย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย สเปน สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ โมนาโก อันดอร์รา เป็นต้น
-
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 เป็นประมุขแห่งรัฐของสวีเดนในปัจจุบัน
-
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประมุขแห่งรัฐของไทยในปัจจุบัน
ระบอบกึ่งประธานาธิบดี
แก้ระบอบกึ่งประธานาธิบดีเป็นการผสมผสานระหว่างระบอบประธานาธิบดีกับระบอบรัฐสภาเข้าด้วยกัน รัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของทั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส (ในยุคสาธารณรัฐที่ห้า) ประธานาธิบดีมีสิทธิ์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีเองต้องได้รับเสียงข้างมากจากสภานิติบัญญัติด้วยเช่นกัน
ประเทศที่ใช้ระบอบระบอบกึ่งประธานาธิบดีได้แก่ ฝรั่งเศส รัสเซีย อียิปต์ มองโกเลีย ศรีลังกา โรมาเนีย ยูเครน โปรตุเกส แอลจีเรีย เป็นต้น
-
ชาร์ล เดอ โกล เป็นประธานาธิบดีและประมุขแห่งรัฐของฝรั่งเศสในระหว่างปี 1959 ถึง 1969
ระบอบประธานาธิบดี
แก้ระบอบประธานาธิบดีคือระบอบที่ตั้งให้ประมุขแห่งรัฐมีอำนาจสูงสุดอย่างเต็มที่ คณะรัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของประมุขแห่งรัฐ เช่น สหรัฐ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะรัฐบาล ในรัฐธรรมนูญของบางประเทศอาจให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับประธานาธิบดีได้ แต่ส่วนมากนายกรัฐมนตรีในระบอบประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจเท่ากับในระบอบรัฐสภา
ประเทศที่ใช้ระบอบประธานาธิบดีได้แก่ สหรัฐ บราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้ ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา อิหร่าน ซูดาน เป็นต้น
-
จอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ
รัฐพรรคการเมืองเดียว
แก้ระบอบรัฐพรรคการเมืองเดียว ภายใต้ลัทธิมากซ์ มักใช้โดยรัฐคอมมิวนิสต์ รัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ เช่น จีน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะรัฐบาล โดยเลขาธิการพรรคมีสิทธิแต่งตั้งทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี
ประเทศที่ใช้ระบอบรัฐพรรคการเมืองเดียว (คอมมิวนิสต์) ได้แก่ จีน คิวบา เวียดนาม ลาว เป็นต้น
-
หู จิ่นเทา เป็นประธานาธิบดีและประมุขแห่งรัฐของจีนในระหว่างปี 2003 ถึง 2013
บทบาท
แก้บทบาทของประมุขแห่งรัฐแตกต่างกันตามแต่ละประเทศ แต่สามารถแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ที่พบบ่อยดังนี้
- เป็นสัญลักษณ์ ศูนย์รวมจิตใจของประเทศ งานด้านพิธีกรรม เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
- บทบาทด้านการทูต เช่น การแต่งตั้งเอกอัครราชทูต และรับทราบการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของประเทศอื่น
- อำนาจการบริหารสูงสุด
- อำนาจในการแต่งตั้งรัฐบาล รัฐสภา
- อำนาจในการออกกฎหมาย เช่น ประมุขแห่งรัฐต้องลงนามก่อน กฎหมายจึงจะมีผลบังคับใช้
- อำนาจในการให้อภัยโทษ
- เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- อำนาจในการเรียกประชุม หรือยุบสภานิติบัญญัติ
- อื่นๆ เช่น อำนาจในการแต่งตั้งขุนนางตามบรรดาศักดิ์ เป็นต้น
ผู้สำเร็จราชการ (ราชอาณาจักรเครือจักรภพ)
แก้ในราชอาณาจักรเครือจักรภพซึ่งดูแลโดยสหราชอาณาจักร ผู้สำเร็จราชการได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรี
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
บ้านพักทางราชการ
แก้- พระราชวังดุสิต (Dusit Palace) — พระมหากษัตริย์ไทย
- ปาแลเดอเลลีเซ (Élysée Palace) — ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
- พระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) — พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
- ทำเนียบขาว (White House) — ประธานาธิบดีสหรัฐ
- จงหนานไห่ (Zhongnanhai) — ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
- พระราชวังเครมลิน (Grand Kremlin Palace) — ประธานาธิบดีรัสเซีย
- พระราชวังหลวงโตเกียว (Tokyo Imperial Palace) — จักรพรรดิญี่ปุ่น
- พระราชวังเปปูลฟ์ (Bellevue Palace) — ประธานาธิบดีเยอรมนี
- พระราชวังควีรีนัล (Quirinal Palace) — ประธานาธิบดีอิตาลี
- พระราชวังหลวงแห่งมาดริด (Royal Palace of Madrid) — พระมหากษัตริย์สเปน
- ปาลาซิโอเดออัลโวราดา (Palácio da Alvorada) — ประธานาธิบดีบราซิล
- ราษฏรปติภวัน (Rashtrapati Bhavan) — ประธานาธิบดีอินเดีย
- มาฮลัมบานโดลปฟู (Mahlamba Ndlopfu) — ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้
- ทำเนียบรัฐบาล (Government House) — ผู้สำเร็จราชการเครือรัฐออสเตรเลีย
- ทำเนียบรัฐบาล (Government House) — ผู้สำเร็จราชการนิวซีแลนด์
- ริโดฮอลล์ (Rideau Hall) — ผู้สำเร็จราชการแคนาดา
- พระราชวังโฮฟบวร์ค (Hofburg Palace) — ประธานาธิบดีออสเตรีย
- พระราชวังลาเกิน (Castle of Laeken) — พระมหากษัตริย์เบลเยียม
- ทำเนียบน้ำเงิน (Blue House) — ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
- ทำเนียบรัฐบาล (Government House) — ประธานาธิบดีฟีจี
- Los Pinos — ประธานาธิบดีเม็กซิโก
- Sándor Palace — ประธานาธิบดีฮังการี
- Istana Negara (Istana Negara) — พระมหากษัตริย์มาเลเซีย
- พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) — พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์
- พระราชวังสต็อกโฮล์ม (Stockholm Palace) — พระมหากษัตริย์สวีเดน
- พระราชวังประธานาธิบดี (Presidential Palace) — ประธานาธิบดีฟินแลนด์
- Presidential Complex — ประธานาธิบดีตุรกี
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Foakes, pp. 110–11 "[The head of state] being an embodiment of the State itself or representatitve of its international persona."
- ↑ Kubicek, Paul (2015). European Politics. Routledge. pp. 154–56, 163. ISBN 978-1-317-34853-5.