พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร

ประมุขแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

เจ้าแผ่นดินสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: Monarchy of the United Kingdom) บ้างเรียกว่า เจ้าแผ่นดินบริติช (British Monarchy) เป็นระบบราชาธิปไตยแบบสืบสันตติวงศ์ ซึ่งทรงปกครองสหราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลในฐานะประมุขแห่งรัฐ และมีพระราชอำนาจตามที่ถูกกำหนดไว้โดยธรรมนูญและประเพณีการปกครองสหราชอาณาจักร เจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ซึ่งครองราชย์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022

พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
King of the United Kingdom
อยู่ในราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
ตั้งแต่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022
รายละเอียด
รัชทายาทเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์
ที่ประทับพระราชวังบักกิงแฮม
เว็บไซต์royal.uk

ที่มาของพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร

แก้

ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจของพระองค์จึงจำกัดอยู่แต่เพียงอำนาจที่ไม่แสดงความเป็นฝักฝ่าย เช่น การมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญกล้าหาญ แต่อำนาจสูงสุดเหนือรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรก็ยังถือว่าอยู่ใต้พระราชอำนาจที่ทรงใช้ได้ตามกฎหมายที่อนุมัติโดยรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร หรือภายในข้อจำกัดของจารีตที่ปฏิบัติกันมา

ระบอบราชาธิปไตยของสหราชอาณาจักรมีที่มาเริ่มต้นย้อนไปในสมัยกษัตริย์ในยุคของชาวแองเกิล (Kings of the Angles) และในยุคเริ่มของราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ในระหว่างปี ค.ศ. 1000 ราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์ได้รวมตัวและพัฒนามาจากเจ็ดอาณาจักรหรือเครือจักรภพแองโกล-แซ็กซอน ของช่วงต้นสมัยอังกฤษยุคกลาง และต่อมาในสมัยกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์แองโกล-แซ็กซัน ซึ่งก็คือ พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน ได้ถูกรุกรานและพ่ายแพ้จนถูกปลงพระชมน์ในระหว่างการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันและหลังจากนั้นดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีจากฝรั่งเศสจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่หนึ่งแห่งอังกฤษ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์นอร์มัน'

ในปี ค.ศ. 1603 ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์จากราชวงศ์สจวต พระญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของพระราชินีนาถอลิซาเบธ จึงได้ครองบัลลังก์อังกฤษ เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ถือเป็นการรวมสองอาณาจักร (Union of Crowns) โดยพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยแล้วสองอาณาจักรนี้ยังแยกกันอยู่ มีรัฐสภาเป็นของตน เพียงแต่มีกษัตริย์องค์เดียวกัน จนกระทั่งระหว่าง ค.ศ. 1649 ถึง ค.ศ. 1660 ซึ่งเป็นช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ระบบราชาธิปไตยบนหมู่เกาะบริติช ถูกสั่นคลอนโดยขบวบการรวมชาติเป็นเครือจักรภพอังกฤษและสงครามสามอาณาจักร (War of the Three Kingdoms) พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 เป็นพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้โดยรัฐสภาอังกฤษเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์แห่งอังกฤษต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ โดยมีการบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นโรมันคาทอลิก หรือเสกสมรสกับผู้เป็นโรมันคาทอลิกมีสิทธิในการขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้ ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ปี ค.ศ. 1707 ราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์ได้ตกลงร่วมกันในการออกพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 (Acts of Union 1707) ที่ควบรวมอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรเดียวกันในชื่อ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1707 รัฐสภาของอังกฤษและสกอตแลนด์ยุบตัวลงเป็น รัฐสภาบริเตนใหญ่ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 ได้มีการออกพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ที่ผนวกราชอาณาจักรไอร์แลนด์ อันเป็นประเทศราชของอังกฤษมาตั้งแต่สมัยทิวดอร์ ควบรวมกับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่เป็นสหราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 1801 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ภายหลังไอร์แลนด์ประกาศอิสรภาพ สหราชอาณาจักรจึงครอบคลุมอยู่เพียงดินแดนทางตอนเหนือของไอร์แลนด์ในชื่อ ไอร์แลนด์เหนือ ราชวงศ์อังกฤษจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำสูงสุดแห่งจักรวรรดิอังกฤษที่ได้แผ่ขยายอาณานิคมไปเกือบหนึ่งในสี่ส่วนของพื้นที่ทุกภูมิภาคโลกในช่วงรุ่งเรืองสูงสุดในปี ค.ศ. 1921

ที่ประทับ

แก้
 
พระราชวังบักกิงแฮม สถานที่ประทับหลักในอังกฤษ ของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
 
พระราชวังโฮลีรูด สถานที่ประทับอย่างเป็นทางการในสกอตแลนด์ ของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร

ที่ประทับอย่างเป็นทางการของกษัตริย์ในราชวงศ์อังกฤษคือพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน และยังมีที่ประทับอย่างเป็นทางการอีกแห่งคือพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งมักใช้พำนักในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เทศกาลอีสเตอร์ และระหว่างงานเทศกาลแข่งม้าที่รอยัลแอสคอต (Royal Ascot) [1] สำหรับที่ประทับอย่างเป็นทางการในสกอตแลนด์คือพระราชวังฮอลีรูดในเมืองเอดินบะระ เป็นที่แปรพระราชฐานของพระราชวงศ์อังกฤษ โดยจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับชั่วคราวที่พระราชวังฮอลีรูดอย่างน้อยนาน 1 สัปดาห์ เป็นประจำทุกปีในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินไปราชการที่สกอตแลนด์ [2]

พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และหอคอยแห่งลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่งของเมืองลอนดอนก็เคยเป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของกษัตริย์ในราชวงศ์อังกฤษในอดีต จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 มีพระราชดำริให้ย้ายไปใช้ที่พำนักที่พระราชวังไวต์ฮอลเป็นที่ประทับแทน และต่อมาเมื่อพระราชวังไวต์ฮอลถูกไฟใหม้ในปี ค.ศ. 1698 จึงมีการย้ายที่ประทับของราชวงศ์อีกครั้งเป็นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ จนมาในปี ค.ศ. 1837 สมัยพระราชินีวิคตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชวงศ์อังกฤษจึงได้เปลี่ยนมาใช้พระราชวังบักกิงแฮมเป็นที่ประทับจนถึงปัจจุบัน

ยังมีพระราชวังที่ประทับแห่งอื่น คือ พระตำหนักเคลียร์เรนซ์, พระราชวังเค็นซิงตันในกรุงลอนดอน ซึ่งถือเป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของรัชทายาทแห่งสหราชอาณาจักร, พระตำหนักซานดริงแฮมในนอร์ฟอล์ก และปราสาทแบลมอรัลในอเบอร์ดีนแชร์ เป็นต้น

ตราแผ่นดิน

แก้

ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร โล่ในตราแบ่งเป็นสี่ส่วน ในส่วนที่หนึ่งหรือช่องบนซ้าย และส่วนที่สี่หรือช่องล่างขวาเป็นตราสิงห์สามตัวที่เป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ ในส่วนที่สองหรือช่องบนขวาเป็นสิงห์ยืนในกรอบล้อมด้วยสัญลักษณ์ดอกลิลลี ที่เป็นสัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ และในส่วนที่สามหรือช่องล่างซ้ายเป็นฮาร์ปเกลลิก (Clàrsach) ที่เป็นสัญลักษณ์ของไอร์แลนด์ เครื่องยอด (crest) เป็นสิงห์ยืนหันหน้าหน้าสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตบนหัวและยืนบนสัญลักษณ์ของมงกุฎเดียวกัน ประคองข้าง (Supporters) ด้านซ้ายเป็นสิงห์ยืนผงาดสวมมงกุฎ ประคองข้างด้านขวาเป็นยูนิคอร์นเงินแห่งสกอตแลนด์ มีคำขวัญของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่ส่วนล่างของตรา ข้อความว่า "Dieu et mon droit" (ฝรั่งเศส: "God and my Right") “พระเจ้าและสิทธิแห่งข้า” และคำขวัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ที่บริเวณโดยรอบโล่ในตราข้อความว่า "Honi soit qui mal y pense". (Old French: "Shame be to him who thinks evil of it") “ความละอายจงมาสู่ผู้คิดร้าย”

ส่วนในสกอตแลนด์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงใช้ตราแผ่นดินที่มีลักษณะแตกต่างออกไป โดยโล่ในตราในส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สี่จะเป็นสัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ ในส่วนที่สองเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ ในส่วนที่สามเป็นสัญลักษณ์ของไอร์แลนด์ มีคำขวัญที่ส่วนล่างของตรา ข้อความว่า "Nemo me impune lacessit". (ลาติน: "No-one provokes me with impunity") และคำขวัญที่บริเวณด้านบนของตราข้อความว่า "In Defens" (เป็นคำย่อมาจาก "In My Defens God Me Defend") ประคองข้างด้านซ้ายเป็นยูนิคอร์นเงินแห่งสกอตแลนด์ ประคองข้างด้านขวาเป็นสิงห์ยืนผงาดสวมมงกุฎ

 
ซ้าย: ตราอาร์มของพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ขวา: ตราอาร์มในสกอตแลนด์

ธงพระราชอิสริยศ ธงมหาราชของกษัตริย์จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับตราแผ่นดิน โดยธงประจำพระราชวงศ์สำหรับใช้ทึ่อื่นตามปกติ (ธงนี้เป็นธงพระอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล) ในส่วนที่หนึ่งหรือช่องบนซ้าย และส่วนที่สี่หรือช่องล่างขวาเป็นตราสิงห์สามตัวที่เป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ ในส่วนที่สองหรือช่องบนขวาเป็นสิงห์ยืนในกรอบล้อมด้วยสัญลักษณ์ดอกลิลลีที่เป็นสัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ และในส่วนที่สามหรือช่องล่างซ้ายเป็นฮาร์ปเกลลิก (Clàrsach) ที่เป็นสัญลักษณ์ของไอร์แลนด์ ส่วนธงมหาราชสำหรับใช้ในสกอตแลนด์จะมีลักษณะแตกต่างกันคือ จะกลับเอาสัญลักษณ์สิงโตสกอตเเลนด์ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ส่วนหลักแทนที่อังกฤษ ในส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สี่จะเป็นสัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ ในส่วนที่สองเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ ในส่วนที่สามเป็นสัญลักษณ์ของไอร์แลนด์

 
The Royal Standard of the United Kingdom: The Monarch's official flag
The Royal Standard of the United Kingdom: The Monarch's official flag 
 
The Royal Standard of the United Kingdom as used in Scotland
The Royal Standard of the United Kingdom as used in Scotland 

เมื่อพระองค์ไม่ได้ทรงพำนักอยู่ในพระราชวังบักกิงแฮม ปราสาทวินด์เซอร์ และพระตำหนักซานดริงแฮม ธงชาติสหราชอาณาจักร จะถูกชักขึ้น สำหรับที่พระราชวังฮอลีรูด และปราสาทแบลมอรัล จะใช้ธงหลวงของสก็อตเเลนด์ (Royal banner of Scotland) ขึ้นแทน[3]

 
ธงสหภาพของสหราชอาณาจักร
ธงสหภาพของสหราชอาณาจักร 
 
ธงหลวงแห่งสกอตแลนด์
ธงหลวงแห่งสกอตแลนด์ 

อ้างอิง

แก้
  1. "Windsor Castle", Official website of the British Monarchy, The Royal Household, สืบค้นเมื่อ 14 July 2009
  2. "The Palace of Holyroodhouse", Official website of the British Monarchy, The Royal Household, สืบค้นเมื่อ 14 July 2009
  3. "Union Jack". The Royal Household. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-05. สืบค้นเมื่อ 9 May 2011.

สารานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้