การรวมราชบัลลังก์

การรวมตัวเป็นรัฐร่วมประมุขของราชอาณาจักรสกอตแลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1603

การรวมราชบัลลังก์ (อังกฤษ: Union of the Crowns; แกลิกสกอต: Aonadh nan Crùintean; สกอต: Union o the Crouns)[1][2] คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2146 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ และรวมการปกครองแผ่นดินของทั้งสามราชอาณาจักรไว้ภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ภายหลังจากที่พระญาติของพระเจ้าเจมส์ คือ พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์)[3] เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท ทำให้อังกฤษ สกอตเเลนด์ เเละไอร์เเลนด์ มีกษัตริย์องค์เดียวกันนับตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมา

ตราอาร์มของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (พ.ศ. 2146 - 2168) แสดงให้เห็นองค์ประกอบหลายอย่างจากการรวมราชบัลลังก์ของทั้งสามอาณาจักร เช่น ตราสิงห์สามตัวแห่งอังกฤษ ตราสิงห์แดงในกรอบดอกลิลลีแห่งสกอตแลนด์ และตราฮาร์พเกลลิคแห่งไอร์แลนด์

การรวมราชบัลลังก์ทำให้เกิดการรวมราชวงศ์และรัฐร่วมประมุขขึ้นใหม่ โดยราชบัลลังก์แห่งสกอตแลนด์ยังคงแยกต่างหากออกมาจากราชบัลลังก์แห่งอังกฤษ แม้ว่าพระเจ้าเจมส์จะทรงพยายามอย่างมากในการสถาปนา ราชบัลลังก์แห่งบริเตนใหญ่ ขึ้นมาใหม่ก็ตาม ทำให้อังกฤษและสกอตแลนด์ยังคงดำรงสถานะเป็นรัฐอธิปไตยต่อไป รวมทั้งมีพระประมุขร่วมกับราชอาณาจักรไอร์แลนด์ (ทั้งสามอาณาจักรมีสมัยไร้กษัตริย์ร่วมกันระหว่างปี พ.ศ. 2192 - 2203 หรือในสมัยเครือจักรภพแห่งอังกฤษและสมัยรัฐในอารักขา) ไปจนกระทั่งการผ่านร่างพระราชบัญญัติสหภาพ พ.ศ. 2250 โดยรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สจวต[4]

ช่วงต้น

แก้

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2046 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ทิวดอร์ พระธิดาองค์โตในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ดังที่ปรากฏในบทกลอน เดอะทริสซิลแอนด์เดอะรอยซ์ โดยวิลเลียม ดันบาร์[5] การอภิเษกสมรสดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากสนธิสัญญาสันติสุขตลอดกาล พ.ศ. 2045 (Treaty of Perpetual Peace (1502)) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ที่ดำเนินมานามร่วมศตวรรษ ทั้งยังรวมลำดับการสืบราชสมบัติสายราชวงศ์สจวตเข้ากับสายราชวงศ์ทิวดอร์แห่งอังกฤษ แม้ว่าในขณะนั้นการเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งอังกฤษโดยเจ้าชายสกอตแลนด์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ขุนนางฝ่ายอังกฤษจำนวนมากต่างวิตกกังวลถึงผลที่ตามมาจากการรวมราชวงศ์ผ่านการเสกสมรสในครั้งนี้ รวมถึงสมาชิกสภาองคมนตรีแห่งอังกฤษบางคนด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการตอบโต้ความหวาดระแวงนี้ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 จึงมีพระราชดำรัสตอบอันโด่งดังว่า

หากแต่ว่าสันติสุขนั้นไม่ได้ยืนยาวตลอดกาล สนธิสัญญาถูกเพิกถอนในปี พ.ศ. 2056 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระมหากษัตริย์อังกฤษและเจ้าแห่งไอร์แลนด์ ผู้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระบิดาเมื่อสี่ปีก่อน ประกาศสงครามต่อฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงตอบโต้ด้วยการใช้สิทธิ พันธมิตรเก่า (Auld Alliance) อันเป็นสายสัมพันธ์กับสกอตแลนด์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ส่งผลให้พระเจ้าเจมส์รุกรานตอนเหนือของอังกฤษและนำไปสู่สมรภูมิฟลอดเดน[7]

หลายทศวรรษต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์ตกอยู่ในสภาวะโกลาหล ตามมาด้วยปัญหาการสืบราชสมบัติที่เริ่มบานปลาย เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ครองราชย์มาได้ครึ่งค่อนรัชกาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2046 ปัญหาดูเหมือนจะไม่มีสาระสำคัญอะไร จึงเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่าเป็นเพราะภาวะการเจริญพันธุ์ของสมาชิกราชวงศ์ทิวดอร์เริ่มเสื่อมถอยจนนำไปสู่สภาวะแย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นรัชทายาททิวดอร์สายพระราชินีมาร์กาเร็ต (พระเชษฐภคนีในพระเจ้าเฮนรีที่ 8) ถูกกันออกจากลำดับสืบราชสมบัติอังกฤษ แม้กระทั่งในรัชกาลของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็ยังมีกระแสวิตกกังวลขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามช่วงทศวรรษสุดท้ายในรัชกาลของพระนางเจ้าเอลิซาเบธ เป็นที่กระจ่างชัดแก่ทุกคนแล้วว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ พระปนัดดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 4 กับพระราชินีมาร์กาเร็ต คือรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวที่สามารถยอมรับได้[8]

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 6

แก้
 
พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ เถลิงราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในปี พ.ศ. 2146
 
อังกฤษและสกอตแลนด์พร้อมด้วยมิเนอร์วาและความรัก งานศิลป์เชิงเปรียบเทียบเหตุการณ์การรวมราชบัลลังก์ วาดโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์

จากปี พ.ศ. 2144 ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นักการเมืองอังกฤษจำนวนหนึ่ง เช่น เซอร์โรเบิร์ต เซซิล เอกรัฐมนตรีของพระนาง[9] ยังคงติดต่อเป็นการลับกับพระเจ้าเจมส์เพื่อให้การสืบราชสมบัติที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างราบรื่น เซซิลถวายคำชี้แนะแก่พระเจ้าเจมส์ว่ามิควรเร่งเร้าประเด็นการสืบราชบัติกับสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ทรงควรที่จะถวายความเมตตาและความเคารพแด่สมเด็จพระราชินีนาถต่อไป[10] ท่าทีดังล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธทรงพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าเจมส์ว่า "ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์มิได้เคลือบแคลงพระทัย หากแต่พระราชหัตถเลขาฉบับท้ายสุดของพระองค์ ข้าพเจ้ารับมันไว้ด้วยความปิติ จนข้าพเจ้ามิอาจเพิกเฉยต่อความรู้สึกขอบคุณเฉกเช่นเดิมได้อีกต่อไป"[11] ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 เป็นที่ชัดเจนว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จวนที่จะเสด็จสวรรคตแล้ว เซซิลดำเนินการร่างคำประกาศอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษของพระเจ้าเจมส์ มีการยกระดับการเฝ้าระวังตามป้อมปราการสำคัญ ๆ ส่วนที่กรุงลอนดอนต่างเต็มไปด้วยทหารราชองครักษ์ พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคตไม่นานหลังจากล่วงเข้าสู่วันที่ 24 มีนาคม ภายในระยะเวลาแปดชั่วโมงนับจากนั้น พระเจ้าเจมส์ก็ได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ ณ กรุงลอนดอน ในขณะที่ข่าวสารการเสด็จขึ้นครองราชย์เผยแพร่ไปทั่วโดยปราศจากความวุ่นวายหรือการประท้วงต่อต้าน[12][13]

ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2146 พระเจ้าเจมส์เสด็จฯ ออกจากเอดินบะระมุ่งสู่ลอนดอน ทรงให้คำมั่นว่าจะเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์ทุก ๆ สามปี (คำมั่นที่มิทรงสามารถรักษาได้สำเร็จ เนื่องจากเสด็จฯ นิวัตสกอตแลนด์เพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2160 นับเป็นระยะเวลาสิบสี่ปีหลังจากเสด็จฯ ออกจากสกอตแลนด์)[12] การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า จากอีกเมืองสู่อีกเมืองหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสด็จฯ ถึงลอนดอนพอดีกับที่พระราชพิธีศพของพระนางเจ้าเอลิซาเบธเสร็จสิ้นลงพอดี[12] ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นถวายการต้อนรับพระองค์อย่างดีเยี่ยม เฉกเช่นเดียวกับพสกนิกรมากมายต่างพากันแห่แหนมาเข้าเฝ้าพระองค์ ทำให้ทรงคลายความกังวลที่ว่าการสืบราชสมบัติของพระองค์จะจุดชนวนความไม่สงบหรือสงครามขึ้น[14] ต่อมาขณะที่กำลังเสด็จฯ เข้าสู่กรุงลอนดอน ฝูงชนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลกันมาชื่นชมพระบารมี ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งถึงกับบรรยายเอาไว้ว่า "ท้องทุ่งอันงดงามถูกแทนที่ด้วยมวลมหาชน แก่งแย่งกันเพื่อที่จะชื่นชมพระพักต์กษัตริย์ของตน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย"[15] พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์จัดขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคม พร้อมกับคำกล่าวสรรเสริญเชิงอุปมาอุปไมยโดยกวีชาวอังกฤษผู้เลื่องชื่ออย่าง โธมัส เดกเคอร์ และเบน โจนสัน แม้ว่างานเฉลิมฉลองจะถูกจำกัดเนื่องจากการแพร่ระบาดของกาฬโรคก็ตาม[16] ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนจำนวนมากต่างก็ยังคงออกมาร่วมเฉลิมฉลองทั่วกรุงลอนดอน ดังเช่นที่เดกเคอร์บรรยายเอาไว้ว่า "พื้นของท้องถนนแปรสภาพไปราวกับถูกปูด้วยฝูงชน ชั้นวางของแทนที่จะเต็มไปด้วยเครื่องตกแต่งราคาแพง กลับถูกแทนที่ด้วยพวกเด็ก ๆ บานหน้าต่างเองก็เต็มไปด้วยสตรีผู้เฝ้าดูการเฉลิมฉลอง"[17]

และแม้ว่าความวิตกกังวัลที่ว่าชาวสกอตกำลังปกครองอังกฤษจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม แต่การเสด็จฯ มาถึงของพระเจ้าเจมส์ได้ปลุกเร้าชาวอังกฤษให้คาดหวังเอาไว้สูง เนื่องจากช่วงท้ายรัชกาลของพระนางเจ้าเอลิซาเบธสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนจากคำถามและความกังวัลเกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ที่บั่นท้อนประเทศชาติให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาอยู่หลายสิบปี พร้อมกับการมาถึงของกษัตริย์พระองค์ใหม่ บุคคลผู้รักครอบครัวและมีรัชทายาทของพระองค์อยู่แล้ว แต่ช่วงเวลาอันสวยหรูของกษัตริย์พระองค์ใหม่นั้นช่างแสนสั้น เนื่องจากพระราโชบายในช่วงต้นจะสร้างผลตอบรับที่ออกมาในเชิงลบ และเปลี่ยนพระเจ้าเจมส์จากพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ผู้ประสบความสำเร็จไปสู่พระมหากษัตริย์อังกฤษผู้น่าผิดหวัง หนึ่งในเหตุผลที่เด่นชัดและใหญ่หลวงมากที่สุดนั่นก็คือข้อกังขาถึงพระราชสถานะและพระอิสริยยศของพระองค์ พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามที่จะใช้พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่ขวากหนามชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางความพยายามนี้ก็คือทัศนคติในรัฐสภาอังกฤษ

พระราชดำรัสแรกที่ทรงมีต่อรัฐสภาแห่งอาณาจักรทางตอนใต้ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2146 ระบุชัดเจนถึงพระราชปณิธานของพระองค์ ดังนี้

รัฐสภาอาจจะเห็นด้วยกับพระเจ้าเจมส์ที่ไม่ทรงยอมรับการมีมเหสีสององค์ แต่หากเปรียบการรวมราชอาณาจักรอังกฤษกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นการเสกสมรสดังเช่นที่พระเจ้าเจมส์ทรงเปรียบเปรย ในมุมมองของรัฐสภาอังกฤษ การเสกสมรสดังกล่าวก็คงจะเป็นการเสกสมรสกับสตรีผู้มีศักดิ์ต่ำกว่า ความพยายามของพระเจ้าเจมส์ได้รับเสียงตอบรับที่เฉื่อยชา ขณะที่สมาชิกรัฐสภาคนแล้วคนเล่าต่างพากันลุกขึ้นมาปกป้องชื่อนามและราชอาณาจักรอังกฤษอันเก่าแก่ของตน การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านข้อกฎหมายถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างหลายประการ เช่น กฎหมายทุกฉบับที่เคยประกาศใช้จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณใหม่ หรือสนธิสัญญาทุกฉบับที่เคยทำไว้กับนานาประเทศจะต้องถูกนำขึ้นมาเจรจาใหม่ เป็นต้น สำหรับพระเจ้าเจมส์ผู้คุ้นชินกับระบบกึ่งรัฐสภากึ่งศักดินาที่มีขั้นตอนการปกครองชัดเจนของสกอตแลนด์ เมื่อต้องมาเผชิญกับความทะนงตนและความดื้อรั้นของระบบรัฐสภาอังกฤษที่เคยต่อกรกับกษัตริย์ผู้ร้ายกาจหลายพระองค์ในอดีตแล้วนั้น นับเป็นความตกตะลึงครั้งใหญ่หลวงของพระองค์ ทรงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการสมมติพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียวตาม คำประกาศว่าด้วยพระราชฐานันดรศักดิ์ของพระราชา (Proclamation concerning the Kings Majesties Stile) ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2147 ที่ประกาศว่าทรง "สมมติตนด้วยราชสิทธิ์อันบริสุทธิ์ ภายใต้พระนามและพระราชฐานันดรศักดิ์ของ พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ผู้พิทักษ์แห่งศรัทธา"[19] หากแต่ยิ่งสร้างความบาดหมางให้เพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในสกอตแลนด์เองความพยายามนี้ก็ได้รับความสนใจเพียงน้อยนิด ซึ่งแม้ว่ารัฐสภาของทั้งสองประเทศยินยอมที่จะนำวาระดังกล่าวไปพิจารณาแล้วก็ตาม แต่การพิจารณากลับใช้เวลาหลายสิบปีและไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด[ต้องการอ้างอิง]

กระแสต่อต้าน

แก้

ในสกอตแลนด์ หลายคนเห็นสัญญาณบ่งชี้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจเปรียบได้กับ "ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก" ดังเช่นที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ได้ตรัสเอาไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ก่อนหน้านี้ก็คือไอร์แลนด์ ราชอาณาจักรแต่เพียงในนาม หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วแท้จริงก็คือรัฐบริวารนั่นเอง (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2144) นักเขียนและนักกฎหมายอย่างจอห์น รัสเซล ได้ถวายฎีกา การรวมเป็นสหภาพอันปีติและศักดิ์สิทธิ์ระหว่างราชอาณาจักรโบราณแห่งสกอตแลนด์และอังกฤษ (the happie and blissed Unioun betuixt the tua ancienne realmes of Scotland and Ingland) เตือนพระเจ้าเจมส์ว่า

ความหวาดกลัวนี้ยิ่งถูกแผ่ขยายออกไปโดยรัฐสภาสกอตแลนด์ สมาชิกรัฐสภากล่าวต่อพระเจ้าเจมส์ด้วยความมั่นใจว่าแผนการรวมเป็นสหภาพของพระองค์จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อกฎหมายและเสรีภาพอันเก่าแก่ของสกอตแลนด์ แต่หากว่าเกิดผลกระทับดังกล่าวขึ้น "ระบอบราชาธิปไตยแบบเสรีคงมิอาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป"[20] พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามให้พสกนิกรชาวอังกฤษของพระองค์มั่นใจว่าการรวมเป็นสหภาพจะไม่แตกต่างจากการเป็นสหภาพระหว่างอังกฤษและเวลส์ และว่าหากสกอตแลนด์เลือกที่จะปฏิเสธแผนการดังกล่าวแล้ว "ก็จะทรงบีบบังคับให้พวกเขายินยอม"[ต้องการอ้างอิง] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2147 รัฐสภาของทั้งสองประเทศผ่านร่างพระราชบัญญัติในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ถึงการรวมเป็น "สหภาพที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น" โดยพระเจ้าเจมส์มีพระราชดำรัสปิดการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในวาระสุดท้ายด้วยการต่อว่าฝ่ายที่ต่อต้านสหภาพในสภาสามัญชนว่า "ณ สถานที่แห่งนี้ ... ท่านผู้มีบุญญานุภาพได้ฝั่งร่างของตนลง ณ ก้นเหวแห่งท้องทะเล ด้วยใคร่พินิจแต่การแบ่งแยกสหภาพซึ่งพระเจ้าได้ทรงประสานเอาไว้"[ต้องการอ้างอิง]

คณะกรรมการว่าด้วยการรวมเป็นสหภาพดังกล่าวปฏิบัติงานตามพันธกิจของตนได้เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสองชาติ อาทิเช่น ความบาดหมางในประเด็นเส้นเขตแดน การค้า และสถานภาพของพลเมือง มีการถกเถียงถึงแนวคิดการเปิดการค้าเสรีกันอย่างกว้างขวาง[21] เช่นเดียวกับประเด็นสิทธิอันเท่าเทียมตามกฎหมาย ความหวาดกลัวและวิตกกังวลว่าชาวสกอตแลนด์ผู้ยากจนจะแย่งงานไปจากชาวอังกฤษจนหมดถูกแสดงออกกันอย่างเปิดเผยในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ พวกเขากังวลว่าชาวสกอตแลนด์จำนวนมากจากอาณาจักรยากจนทางตอนเหนือ "จะล้นทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะนำความอดอยากและความตายตามมาด้วย" ส่วนประเด็นสถานภาพพลเมืองของบุคคลที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 นั้นยังไม่ได้รับการชี้ชัดโดยรัฐสภา แต่ถูกชี้ชัดจากฝ่ายตุลาการด้วยคำพิพากษาใน คดีแคลวิน พ.ศ. 2151 ที่ตัดสินให้พสกนิกรใต้อาณัติของพระมหากษัตริย์ (ที่เกิดหลังการรวมราชบัลลังก์) ทุกคนอยู่ภายใต้ระบอบกฎหมายจารีต (คอมมอนลอว์) ของอังกฤษ ไม้เว้นแม้กระทั่งบุคคลซึ่งเกิดในสกอตแลนด์

ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสองชาติ

แก้

อภิสิทธิ์ชนชาวสกอตและผู้โหยหาอำนาจต่างพากันมุ่งสู่กรุงลอนดอน หวังแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอันใหญ่โตในรัฐบาล หลายปีต่อมาเซอร์แอนโธนี เวลดอน เขียนไว้ว่า

ในสุขนาฏกรรมเรื่อง อีสต์เวิร์ดโฮ (Eastward Ho) ซึ่งเป็นการรังสรรค์ร่วมกันระหว่างเบน โจนสัน, จอร์จ แชปแมน และจอห์น มาร์สตัน มีการคาดการณ์ถึงชีวิตอันแสนสุขสบาย ณ อาณานิคมเวอร์จิเนียไว้ว่า

จากบทละครนั้นเอง กระแสความไม่พอใจและต่อต้านอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว และในปี พ.ศ. 2152 พระเจ้าเจมส์ผ่านร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาบทลงโทษอันร้ายแรงต่อนักเขียน นักประพันธ์ หรือผู้ครอบครอง งานเขียนเชิงเสียดสี งานเขียนเชิงดูหมิ่น บทเพลง เรื่องเล่าเชิงขบขัน ตลก และคำประกาศใดก็ตามที่บ่อนทำลายและดูหมิ่นประเทศและรัฐชาติแห่งอังกฤษ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2148 เอกอัครราชทูตเวนิสประจำกรุงลอนดอนบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้ามั่นใจได้ว่าข้อถกเถียงเรื่องการรวมเป็นสหภาพจะตกไป ฝ่าพระบาท (พระเจ้าเจมส์) ทรงตระหนักได้อย่างถ่องแท้แล้วว่ามิสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งสองฝ่ายล้วนแต่แสดงความดื้อรั้นออกมาเสียจนไม่มีที่ว่างสำหรับความปรองดอง ฉะนั้นแล้ว ในตอนนี้ฝ่าพระบาทก็ทรงทำได้แต่เพียงปล่อยวางประเด็นดังกล่าว คอยหวังว่ากาลเวลาจะช่วยกลบกลืนตลกร้ายเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป"[22]

สัญลักษณ์

แก้

พระเจ้าเจมส์ทรงประดิษฐ์ตราอาร์ม เครื่องแบบ เหรียญกษาปณ์ และอื่น ๆ ขึ้นเสียใหม่ ส่วนธงชาติใหม่ก็นำมาซึ่งการถกเถียง เนื่องจากฝ่ายนึงยอมรับและชื่นชมรูปแบบของธงที่มีลักษณะดูหมิ่นฝ่ายที่เหลือ จนในที่สุดพระเจ้าเจมส์จึงประกาศใช้ธงสหภาพในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2149 ชาวสกอตผู้เห็นกางเขนนักบุญจอร์จซ้อนทับลงบนกางเขนนักบุญแอนดรูว์รู้สึกไม่พอใจ และพยายามที่จะประดิษฐ์ธงสหภาพในแบบของตนด้วยการให้กางเขนนักบุญแอนดรูว์ซ้อนทับลงบนกางเขนนักบุญจอร์จแทน (ธงสหภาพแบบสกอตแลนด์นี้ถูกใช้งานในสกอตแลนด์จนกระทั่งปี พ.ศ. 2250)[ต้องการอ้างอิง] ส่งผลให้กองเรือของทั้งสองรัฐต่างฝ่ายต่างใช้ธงสหภาพในแบบของตนเป็นเวลาหลายสิบปี แม้จะมีพระราชโองการประกาศใช้ธงสหภาพตามแบบที่ถูกต้องออกมาก็ตาม กว่าธงสหภาพจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและทั่วไป เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่สมัยรัฐในอารักขาที่ปกครองโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์เสียแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

หมายเหตุ

แก้
  1. "Aonadh nan Crùintean". www.faclair.com.
  2. "English World-wide". Julius Groos Verlag. 26 September 1995 – โดยทาง Google Books.
  3. John Daniel McVey. "The Union of The Crowns 1603 – 2003". Uotc.scran.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2013-10-25.
  4. Smith, David Lawrence (1998). A History of the Modern British Isles, 1603–1707: The Double Crown., Chapter 2
  5. Conlee, John, บ.ก. (2004). William Dunbar: The Complete Works. Kalamazoo, Michigan: Medieval Institute Publications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2007.
  6. Leslie, John (1570). The History of Scotland: From the Death of King James I, in the Year M. CCCC. XXXVI, to the Year M.D. LXI. สืบค้นเมื่อ 26 November 2019.
  7. Johnson, Ben. "The Battle of Flodden". Historic UK. สืบค้นเมื่อ 14 September 2021.
  8. "Elizabeth I". The Stuart Successions Project. University of Exeter. สืบค้นเมื่อ 14 September 2021.
  9. James described Cecil as "king there in effect". Croft, p 48.
  10. Cecil wrote that James should "secure the heart of the highest, to whose sex and quality nothing is so improper as either needless expostulations or over much curiosity in her own actions, the first showing unquietness in yourself, the second challenging some untimely interest in hers; both which are best forborne". Willson, pp 154–155.
  11. Willson, p 155.
  12. 12.0 12.1 12.2 Croft, p 49
  13. Willson, p 158
  14. Croft, p 50.
  15. Stewart, p 169.
  16. Stewart, p 172.
  17. Stewart, pp 172–3.
  18. James I, speech to the Westminster parliament, 19 March 1603, in King James VI and I: Political Writings, ed. Johann Sommerville, Cambridge Texts in the History of Political Thought, Cambridge: Cambridge University Press 1995, 132–46, here 136.
  19. James I, speech to the Westminster parliament, 19 March 1603, in King James VI and I: Political Writings, ed. Johann Sommerville, Cambridge Texts in the History of Political Thought, Cambridge: Cambridge University Press 1995, 132–46, here 136.
  20. Mason, Roger A (2015). "Debating Britain in Seventeenth-Century Scotland: Multiple Monarchy and Scottish Sovereignty". Journal of Scottish Historical Studies. 35: 1–24. doi:10.3366/jshs.2015.0138. สืบค้นเมื่อ 14 September 2021.
  21. Keith M Brown, "Reformation to Union, 1560–1707," in R.A. Houston and W. W. J. Knox, eds., The New Penguin History of Scotland (2002) pp. 182–275, p. 236
  22. Horatio Brown, Calendar State Papers, Venice: 1603–1607, vol. 10 (London, 1900), p. 280 no. 433.

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  • Brown, Keith M. (1994). "The vanishing emperor: British kingship and its decline, 1603–1707". ใน Roger A. Mason (บ.ก.). Scots and Britons: Scottish Political Thought and the Union of 1603. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-42034-1.
  • Croft, Pauline (2003). King James. Basingstoke and New York: Palgrave Macmillan. ISBN 0-333-61395-3.
  • Ferguson, William (1977). Scotland's Relations with England: A Survey to 1707. Edinburgh: J. Donald. ISBN 978-0-85976-022-5.
  • Galloway, Bruce (1986). The Union of England and Scotland, 1603–1608. Edinburgh: J. Donald. ISBN 978-0-85976-143-7.
  • Galloway, Bruce, & Levack, Brian, ed., (1985) The Jacobean Union, Six tracts of 1604, Edinburgh, Scottish History Society. ISBN 0-906245-06-0
  • Lee, Maurice Jr. (2003). The "Inevitable" Union and Other Essays on Early Modern Scotland. East Linton, East Lothian: Tuckwell Press. ISBN 978-1-86232-107-6.
  • Marshall, T. (July 2005). "United We Stand?". BBC History Magazine.
  • Mason, Roger A., บ.ก. (1987). Scotland and England, 1286–1815. Edinburgh: J. Donald. ISBN 978-0-85976-177-2.
  • Stewart, Alan (2003). The Cradle King: A Life of James VI and I. London: Chatto & Windus. ISBN 978-0-7011-6984-8.
  • Willson, David Harris ([1956] 1963 ed). King James VI & 1. London: Jonathan Cape Ltd. ISBN 0-224-60572-0.
  • Wormald, Jenny (1994). "The Union of 1603", in Scots and Britons, op cit.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้