สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่

สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1702 ถึง 1714

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ (อังกฤษ: Anne of Great Britain; 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ พระนางเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สจวตพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ก่อนที่ทั้งอังกฤษ และสกอตแลนด์จะรวมตัวกันเป็น ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพในปี ค.ศ. 1707

สมเด็จพระราชินีนาถเเอนน์
สมเด็จพระราชินีนาถเเห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์
ครองราชย์8 มีนาคม 1702 – 1 พฤษภาคม 1707
(5 ปี 54 วัน)
ราชาภิเษก23 เมษายน 1702
ก่อนหน้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 3
สมเด็จพระราชินีนาถบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
ครองราชย์1 พฤษภาคม 1707 – 1 สิงหาคม 1714
ถัดไปพระเจ้าจอร์จที่ 1
พระราชสมภพ6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665(1665-02-06)
พระราชวังเซนต์เจมส์ เวสต์มินสเตอร์ ราชอาณาจักรอังกฤษ
สวรรคต1 สิงหาคม ค.ศ. 1714(1714-08-01) (49 ปี)
พระราชวังเค็นซิงตัน มิลเดิลเซ็กซ์ บริเตนใหญ่
ฝังพระบรมศพ24 สิงหาคม 1714
เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
พระราชสวามีเจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก
พระราชบุตรเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์
ราชวงศ์ราชวงศ์สจวต
พระราชบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และที่ 7
พระราชมารดาแอนน์ ไฮด์
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นพระราชธิดาองค์ที่สองของสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ พระชายาองค์แรก เมื่อพระราชบิดาของพระราชินีนาถแอนน์ถูกโค่นราชบัลลังก์ในปี 1688 พระเชษภคินีได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษร่วมกับพระสวามีพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 หลังจากพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคตเมื่อปี 1694 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ได้ครองราชบัลลังก์ต่อกระทั่งสวรรคต

ในปี 1702 ราชอาณาจักรสกอตแลนด์และราชอาณาจักรอังกฤษรวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรใหม่และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถของราชอาณาจักรไอร์แลนด์ ทรงครองราชย์ได้ 12 ปี ก่อนที่จะสวรรคตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 ที่พระราชวังเค็นซิงตันในกรุงลอนดอน

ชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เต็มไปด้วยเหตุการณ์วิกฤติหลายครั้ง ทั้งทางส่วนพระองค์ ทางปัญหาการสืบราชบัลลังก์ และทางการแบ่งแยกทางศาสนา เมื่อเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท กษัตริย์พระองค์ต่อไปจึงเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 จากราชวงศ์ฮาโนเวอร์แห่งราชอาณาจักรฮาโนเวอร์ ผู้เป็นพระญาติทางราชวงศ์สจวตจากพระอัยกี เจ้าหญิงอลิซาเบธ สจวต ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ[1]

เบื้องต้น

แก้

วัยเยาว์

แก้
 
ซาราห์ เชอร์ชิล ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ พระสหายสนิทของพระราชินีนาถแอนน์
 
พระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระราชบิดาของพระราชินีนาถแอนน์
 
จอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ นายทัพและนักการเมืองคนสำคัญในรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ พระมเหสีพระองค์แรก ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 อีกด้วย พระราชินีนาถแอนน์และพระราชินีนาถแมรีเป็นพระราชธิดาเพียงสองพระองค์ของพระเจ้าเจมส์เท่านั้นที่ทรงมีพระชนม์ชีพมาจนโต [1]

ขณะยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกส่งไปฝรั่งเศสเมื่อเพื่อรักษาโรคพระเนตรอักเสบ ขณะประทับอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ทรงประทับอยู่กับพระอัยกี สมเด็จพระราชินีอ็องเรียต มารีในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อพระราชินีเฮนเรียตตาสิ้นพระชนม์จึงทรงย้ายไปประทับอยู่กับพระปิตุจฉาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนน์ สจวต[1] จนเสด็จกลับสู่อังกฤษเมื่อปี 1670

 
พระนางเจ้าแอนน์ใน ค.ศ 1687

ราวปี 1673 เจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รู้จักกับซาราห์ เจ็นนิงส์ ผู้กลายมาเป็นพระสหายคนสนิทและเป็นที่ปรึกษาผู้มีอิทธิพลมากที่สุดเกือบตลอดพระชนม์ชีพคนหนึ่งของพระองค์[2] ไม่ทรงถือพระองค์ว่าเป็นเจ้านายกับซาราห์เห็นได้จากการที่สตรีสองคนนี้มีชื่อเล่นให้แก่กันว่า มิสซิสมอร์ลีย์ และ มิสซิสฟรีแมน[3]ภายหลังซาราห์ได้สมรสกับจอห์น เชอร์ชิล ผู้ที่ต่อมาจะได้เป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ แม่ทัพผู้มีความสามารถคนสำคัญของอังกฤษคนหนึ่ง[4]

ในปี 1673 พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ได้ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ยังทรงมีพระราชโองการให้พระราชธิดาทั้งสองให้ได้รับการเลี้ยงอย่างเคร่งครัดในนิกายโปรเตสแทนต์[5]

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683 เจ้าหญิงแอนน์อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นโปรเตสแทนต์และพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก (พระเจ้าคริสเตียนที่ 5) [6]

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2

แก้

เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 หลังจากที่ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกก่อนสวรรคต พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ขึ้นเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ[7] แต่พระเจ้าเจมส์ไม่ทรงเป็นที่นิยมของประชาชนชาวอังกฤษด้วยเหตุที่ทรงเป็นคริสศานิกชนโรมันคาทอลิก[8] ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนมีความหวาดระแวงเพิ่มขึ้นเมื่อพระชายาพระองค์ที่สอง แมรีแห่งโมดีนา ผู้เป็นโรมันคาทอลิก[9] ทรงให้ประสูติกาลพระราชโอรส เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1688 จึงทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะกลับไปเป็นราชอาณาจักรโรมันคาทอลิก[10]

ขณะนั้นเจ้าหญิงแอนน์ ไม่ได้ทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอนแต่อยู่ที่เมืองบาธ และมีข่าวลือกันว่าพระราชโอรสไม่ใช่พระราชโอรสที่แท้จริง แต่เป็นเด็กที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแทนที่พระราชโอรสที่สิ้นพระชนม์หลังคลอด แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่สนับสนุนข่าวลือนี้ และสาเหตุที่แท้จริงที่แมรีไม่อยู่ในกรุงลอนดอนอาจจะเป็นได้ว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ไม่ทรงต้องการให้โปรเตสแทนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของรัฐ[11] แมรีทรงประท้วงความมีสิทธิของพระอนุชาอย่างเป็นทางการ แอนน์เองก็ทรงเขียนถึงพระเชษภคินีแมรีว่า

"หม่อมฉันจะไม่มีทางทราบอย่างแน่นอนว่าเด็กคนนี้จะเป็นพระราชโอรสจริงหรือไม่ เด็กคนนี้อาจจะเป็นพระอนุชาของเรา แต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทราบ .... ใครก็ช่วยไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกกลัวกันไปร้อยแปดพันประการ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นไปในทางใด ก็ขอให้เชื่อได้ว่าหม่อมฉันก็ยังคงเชื่อมั่นในความเชื่อทางศาสนาเช่นที่เป็นอยู่และจะมีความจงรักภักดีต่อไป" [12]

ในที่สุดเจ้าหญิงแมรีพระเชษภคินีและพระสวามีได้เสด็จกลับจากประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อมาโค่นราชบัลลังก์ของพระราชบิดาระหว่างการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ตามคำอัญเชิญลับของ “ผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด” (Immortal Seven) ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางโปรเตสแทนต์

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

แก้

เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกพระเจ้าเจมส์ที่ 2 สั่งห้ามไม่ให้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงแมรีที่เนเธอร์แลนด์ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1688 แต่ทั้งสองยังคงทรงเขียนจดหมายติดต่อกันและเจ้าหญิงแอนน์เองคงจะทรงทราบถึงแผนการการรุกรานของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เป็นที่เชื่อกันว่าพระกรณียกิจของแอนน์ระหว่างช่วงเวลานี้มีอิทธิพลมาจากคำแนะนำที่ถวายโดยซาราห์และจอห์น เชอร์ชิล[13]—แอนน์ไม่ทรงแสดงความสนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมเสด็จขึ้นฝั่งอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน 1688 แต่กลับทรงเขียนถึงเจ้าชายวิลเลียมประกาศสนับสนุนการรุกรานของพระองค์ เชอร์ชิลลาออกจากการเป็นข้าราชสำนักของพระเจ้าเจมส์เมื่อวันที่ 24 ในเดือนเดียวกัน, เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระสวามีของแอนน์ทรงลาออกวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จกลับลอนดอนในวันที่ 26 ก็ทรงพบแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ทรงทำเช่นเดียวกันในคืนวันที่ 25[14] พระเจ้าเจมส์จึงทรงสั่งให้กักแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ไว้ในพระราชวังไวท์ฮอล แต่แอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ก็หนีออกทางบันไดหลังไปพักที่บ้านบาทหลวงแห่งลอนดอนอยู่คืนหนี่งก่อนที่จะไปถึงนอตติงแฮมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมก่อนที่จะทรงประกาศอย่างเป็นทางการว่าไปถึงที่นั่นแล้ว และทรงแต่งตั้งคณะมนตรี จากนั้นก็เสด็จไปเฝ้าเจ้าชายวิลเลียมและกองกำลังติดตามมาที่ออกซฟอร์ด แอนน์ก็เช่นเดียวกับแมรีทรงถูกตำหนิว่าไม่ทรงแสดงความกังวลต่อการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์แต่ก็ให้เหตุผลในการกระทำของพระองค์ว่าไม่ทรงชอบการแสดงว่ามีปัญหา แอนน์เสด็จกลับลอนดอนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 3

ในปี 1689 รัฐสภาประกาศว่าการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์เป็นการสละราชสมบัติโดยปริยายฉะนั้นบัลลังก์จึงว่างลง รัฐสภาจึงถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าหญิงแมรี แต่ทรงยอมรับร่วมกับพระสวามีซึ่งทำให้เป็นสมัยสองกษัตริย์สมัยเดียวในประวัติการปกครองแบบราชาธิปไตยของอังกฤษ[15] และทรงออกพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ที่กำหนดให้เจ้าหญิงแอนน์และผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์และพระเจ้าวิลเลียม ตามด้วยผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมที่อาจจะมีในอนาคต

วิลเลียมและแมรี

แก้

ไม่นานหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าวิลเลียมและพระราชินีนาถแมรีได้พระราชทานรางวัลให้แก่จอห์น เชอร์ชิลโดยการแต่งตั้งให้เป็น “เอิร์ลแห่งมาร์ลบะระ” แต่การปฏิบัติของวิลเลียมและแมรีต่อซาราห์และจอห์น เชอร์ชิลในภายหลังไม่ดีนัก ในปี 1692 ทรงมีความสงสัยว่าลอร์ดมาร์ลบะระเป็นมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นฟูราชวงศ์สจวต (Jacobitism) พระราชินีนาถแมรีที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดลอร์ดมาร์ลบะระออกจากทุกตำแหน่ง เลดีซาราห์ มาร์ลบะระก็ถูกถอดจากตำแหน่งในพระราชวังตามสามีซึ่งทำให้เจ้าหญิงแอนน์กริ้วและประท้วงโดยการย้ายออกจากพระราชฐานไปประทับอยู่ที่ “บ้านไซออน”[2] ซึ่งเป็นบ้านของดยุกแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ทหารรักษาพระองค์ของเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งเช่นกัน นอกจากนั้นทหารก็ยังถูกสั่งไม่ให้ถวายความเคารพต่อเจ้าชายจอร์จพระสวามีอีกด้วย[13]

เมื่อพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคตด้วยโรคฝีดาษเมื่อปี 1694 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 จึงทรงปกครองราชบัลลังก์ด้วยพระองค์เองต่อมา ส่วนเจ้าหญิงแอนน์นั้นได้ทรงกลายเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งไปโดยปริยายตามพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 เพราะผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรี่ไม่ทรงมีรัชทายาท พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเจ้าหญิงแอนน์เพื่อเพิ่มความนิยมต่อประชาชนซึ่งไม่ทรงเคยได้รับเท่าเทียมกับพระมเหสี ทรงคืนบรรดาศักดิ์ต่างๆ ที่เจ้าหญิงแอนน์เคยทรงเป็น พร้อมกับทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงแอนน์กลับมาประทับอยู่ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทรงให้เจ้าหญิงแอนน์ออกนอกหน้า และไม่ทรงยอมแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามที่ไม่ทรงสามารถปกครองด้วยพระองค์เองได้

ในปี 1695 ทรงเอาใจเจ้าหญิงแอนน์โดยพระราชทานตำแหน่งต่างๆ คืนให้กับลอร์ดมาร์ลบะระ เป็นการตอบแทนต่อการสนับสนุนของเจ้าหญิงแอนน์ต่อรัฐบาลของพระองค์ แต่ในระยะเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 1696 ตามคำกล่าวอ้างของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าหญิงแอนน์ทรงใกล้ที่จะได้รับราชบัลลังก์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงเขียนจดหมายถึงพระบิดาให้ทรงมาสวมมงกุฏเมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคต และทรงสัญญาว่าจะทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์เมื่อมีโอกาส[16] อีกข่าวลือหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานก็ว่าพระเจ้าวิลเลียมทรงตั้งพระทัยที่จะยกราชบัลลังก์หลังจากเสด็จสวรรคตให้แก่พระโอรสของพระเจ้าเจมส์โดยมีข้อแม้ว่าให้การศึกษาแบบโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นข่าวลือที่อาจจะมีส่วนทำให้เจ้าหญิงแอนน์ทรงเป็นกังวลอยู่บ้าง[17]

พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์

แก้

ในช่วงเวลานี้เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงแอนน์ทรงประสบปัญหาส่วนพระองค์เรื่องการมีพระโอรสธิดา จนกระทั่งปี 1700 เจ้าหญิงแอนน์ทรงพระครรภ์อย่างน้อย 18 ครั้งแต่ทรงตกถึง 13 ครั้ง และในบรรดาพระโอรสธิดา 5 พระองค์ที่รอดชีวิตมาได้ 4 พระองค์อยู่ได้เพียงไม่เกินสองปีก็สิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์เดียวที่มีอายุยืนที่สุดก็คือ เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ที่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1700 สถานะการณ์นี้ทำให้เกิดวิกฤตการการสืบราชบัลลังก์ในอังกฤษ[1] พระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรีเองก็ไม่มีพระราชโอรสธิดา ฉะนั้นเจ้าหญิงแอนน์จึงทรงเป็นรัชทายาทแต่ผู้เดียวของราชบัลลังก์ที่ระบุในพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ถ้าไม่มีการระบุรัชทายาทต่อจากเจ้าหญิงแอนน์ราชบัลลังก์ก็อาจจะตกไปเป็นของเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 “ผู้อ้างสิทธิเฒ่า” (Old Pretender) ผู้ที่อาจจะอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์

เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้นับถือโรมันคาทอลิกขึ้นครองราชบัลลังก์รัฐสภาอังกฤษจึงออก พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (Act of Settlement 1701) ซึ่งระบุว่าเมื่อสิ้นสุดเจ้าหญิงแอนน์ และพระราชโอรสธิดาในอนาคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แล้ว ราชบัลลังก์จะต้องตกไปเป็นของเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ เจ้าหญิงโซเฟียเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทางพระราชธิดาเจ้าหญิงอลิซาเบ็ธ สจวต ทางรัฐสภามิได้พิจารณาพระประยูรญาติอีกหลายพระองค์เพราะทรงเป็นโรมันคาทอลิก เจ้าหญิงแอนน์ทรงยอมรับพระราชบัญญัติ[18]

พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1702 และเจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รับการสวมมงกุฏเมื่อวันที่ 23 เมษายน[19]

รัชสมัยพระราชินีนาถแอนน์

แก้
 
พระนางเจ้าแอนน์ ราว ค.ศ. 1690

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน

แก้

ทันทีที่เจ้าหญิงแอนน์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ พระองค์ก็ทรงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ซึ่งเป็นสงครามที่อังกฤษสนับสนุนสิทธิในการครองราชบัลลังก์สเปนของอาร์ชดยุกคาร์ลและเป็นสงครามที่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นสมัยของพระองค์และเป็นสงครามที่มีอิทธิพลต่อทั้งนโยบายการต่างประเทศและนโยบายภายในประเทศ

หลังจากนั้นก็ทรงแต่งตั้งพระสวามีขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารเรือ” (Lord High Admiral) ผู้มีอำนาจสูงสุดในราชนาวี และทรงมอบอำนาจการปกครองทหารบกให้แก่ลอร์ดมาร์ลบะระในตำแหน่ง “ร้อยเอก” (Captain-General) [20] นอกจากนั้นลอร์ดมาร์ลบะระยังได้รับเกียรติยศอีกหลายอย่างจากพระราชินีนาถแอนน์รวมทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ [3] (Knight of the Garter) และได้รับเลื่อนจากเอิร์ลเป็นดยุก[21] ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระก็ได้รับตำแหน่งในราชสำนักสูงขึ้นเป็น “เจ้ากรมพระภูษามาลา” (Mistress of the Robes) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสตรีประจำราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ดูแลพระภูษามาลาและเครื่องเพชรพลอยของพระราชินีนาถแอนน์

พระราชบัญญัติสหภาพ

แก้

เมื่อผ่านพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 รัฐสภาอังกฤษมิได้ปรึกษารัฐสภาสกอตแลนด์ที่ส่วนหนึ่งมีความประสงค์ที่จะรักษาราชบัลลังก์ไว้กับราชวงศ์สจวตและรักษาสิทธิในการเลือกผู้สืบราชบัลลังก์[22] ทางราชอาณาจักรสกอตแลนด์จึงตอบโต้กลับด้วยการออกพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย ค.ศ. 1704 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าเมื่อสิ้นสุดจากพระราชินีนาถแอนน์แล้ว สกอตแลนด์มีอำนาจที่จะเลือกประมุขพระองค์ต่อไปสำหรับราชบัลลังก์สกอตแลนด์จากผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์ของสกอตแลนด์ (ผู้ที่ได้รับเลือกโดยสกอตแลนด์จะไม่เป็นผู้เดียวกับผู้เดียวกับผู้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ นอกจากว่าถ้าสถานะการณ์ทางศาสนา เศรษฐกิจ และทางการเมืองจะเป็นที่ตกลงกันได้) แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้รับการยอมรับจนเมื่อสกอตแลนด์ขู่ว่าจะถอนตัวจากกองทัพของดยุกแห่งมาร์ลบะระในยุโรปและไม่ยอมเก็บภาษีต่าง ๆ ตามที่อังกฤษต้องการ

แต่ความที่รัฐสภาอังกฤษเกรงว่าสกอตแลนด์จะหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถ้าสกอตแลนด์ได้รับเอกราช ทางการอังกฤษจึงได้ออกพระราชบัญญัติต่างด้าว ค.ศ. 1705 (Alien Act 1705) เป็นการตอบโต้ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าอังกฤษจะต่อต้านสกอตแลนด์ทางเศรษฐกิจและจะประกาศให้ชาวสกอตแลนด์เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด (ซึ่งเป็นการทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของชาวสกอตแลนด์ในอังกฤษ) นอกจากว่าสกอตแลนด์จะยกเลิก “พระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย” และเข้ารวมตัวกับอังกฤษ สกอตแลนด์เลือกประการหลัง ด้วยเหตุนี้สกอตแลนด์จึงส่งผู้แทนมาเจรจาต่อรองในการรวมตัวกับอังกฤษเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1706 ข้อตกลงได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1707 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 อังกฤษและสกอตแลนด์จึงกลายเป็นอาณาจักรเดียวกันในชื่อ “บริเตนใหญ่” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 [23]

การปกครองระบบสองพรรค

แก้

ในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์การปกครองของรัฐสภาวิวัฒนาการแยกเป็นสองพรรค: พรรคทอรีและพรรควิก พระองค์เองโปรดพรรคทอรีมากกว่าแต่ก็ทรง อดทนกับนโยบายของพรรควิก

องค์มนตรีชุดแรกของพระราชินีนาถแอนน์มาจากพรรคทอรีโดยมีซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 (Sidney Godolphin, 1st Earl of Godolphin) เป็นหัวหน้าแต่พรรควิกซึ่งไม่เห็นด้วยกับพรรคทอรีในการสนับสนุนสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย พรรควิกยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระได้รับชัยชนะในยุทธการเบล็นไฮม์ในปี ค.ศ. 1704 พรรควิกจึงเข้ามาเป็นองค์มนตรีแทนพรรคทอรีจนเกือบหมด ลอร์ดโกโดลฟินถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคทอรีแต่ก็สนับสนุนดยุกแห่งมาร์ลบะระ ฉะนั้นถึงแม้ว่าลอร์ดโกโดลฟินจะเป็นหัวหน้าคณะมุขมนตรีแต่อำนาจที่แท้จริงมาจากดยุกแห่งมาร์ลบะระและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ชาร์ลส์ สเป็นเซอร์ เอิร์ลแห่งซันเดอร์แลนด์ที่ 3 และโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จ

แก้

เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1708[24] การเป็นผู้นำทางราชนาวีของพระองค์ไม่เป็นที่นิยมต่อพรรควิก ขณะที่ทรงนอนประชวรพรรควิกก็วางแผนที่จะปลดพระองค์จากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงขอให้ดยุกแห่งมาร์ลบะระหยุดยั้งมิให้ยื่นคำรัองที่ว่า

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ทรงโทมนัสจากการสูญเสียพระราชสวามีเป็นอันมากและสิ่งนี้เองเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และดัชเชสแห่งมาร์ลบะระพระสหายเก่าเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระมาถึงพระราชวังวินด์เซอร์ไม่นานหลังจากเจ้าชายจอร์จสิ้นพระชนม์และบังคับให้พระราชินีนาถแอนน์ออกจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปประทับที่พระราชวังเซนต์เจมส์ทั้งๆ ที่ไม่ตรงกับพระราชประสงค์ พระราชินีนาถแอนน์ทรงขอร้องว่าให้ทิ้งพระองค์ไว้ให้โศรกเศร้าเพียงลำพัง แต่ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระกลับจัดให้มีคนมาเฝ้าดูแลพระองค์ตลอดเวลา จึงทรงกริ้วดัชเชสแห่งมาร์ลบะระที่เจ้ากี้เจ้าการในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องพระราชประสงค์

พรรควิกฉวยโอกาสในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จในขณะที่พระราชินีนาถแอนน์ยังทรงโศรกเศร้าโดยไม่ยอมรับพระราชประสงค์และก่อตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรควิกที่นำโดย ซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 แต่อำนาจของพรรควิกยังถูกจำกัดอยู่เนื่องจากพระราชินีนาถแอนน์ทรงยืนยันที่จะทำหน้าที่ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ด้วยพระองค์เองโดยไม่ยอมแต่งตั้งผู้ใดจากพรรควิกมาแทนพระราชสวามี แต่พรรควิกไม่สนใจและเรียกร้องให้ทรงตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านคนสำคัญของเจ้าชายจอร์จดำรงตำแหน่งนั้น พระราชินีนาถแอนน์ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดและทรงเลือกคนของพระองค์เอง โธมัส เฮอร์เบิร์ต,เอิร์ลแห่งเพ็มโบรคที่ 8 ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” คนใหม่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1709 แต่พรรควิกก็สร้างความกดดันจนเอิร์ลแห่งเพ็มโบรคต้องลาออกเพียงเดือนเดียวหลังจากที่ได้รับแต่งตั้ง ในที่สุดพระราชินีนาถแอนน์จึงทรงยอมแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดตามที่พรรควิกต้องการ

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

แก้
 
พระนางเจ้าแอนน์ ค.ศ. 1702

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนเป็นสงครามที่สิ้นเปลืองมากจนทำให้ความนิยมในการปกครองของพรรควิกเสื่อมลง โดยเฉพาะในการที่โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์ที่ใช้ปัญหาทางเศรษฐกิจจากสงครามในการเร้าใจผู้เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1710 พรรคทอรีจึงได้รับเลือกกลับมาเป็นพรรคเสียงข้างมาก[25] คณะมนตรีใหม่นำโดยโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์พยายามหาทางยุติสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน โดยพรรคทอรีเสนอให้ยกสเปนให้พระนัดดาของกษัตริย์ฝรั่งเศสแต่พรรควิกทนความคิดที่จะให้ราชวงศ์บูร์บง ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนไม่ได้[26]

ข้อโต้เถียงมายุติลงเมื่อพระพระเชษฐาของอาร์คดยุกชาร์ลส์ผู้ที่พรรควิกสนับสนุนเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1711 ชาร์ลส์จึงได้ออสเตรีย ฮังการี และราชบัลลังก์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อังกฤษจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการยกราชบัลลังก์สเปนให้ชาร์ลส์ แต่สนธิสัญญาอูเทรชท์ ค.ศ. 1713 (Treaty of Utrecht 1713) ที่เสนอต่อรัฐสภาก็มิได้รวมการลดอำนาจราชวงศ์บูร์บงตามที่พรรควิกต้องการ[27]

พรรคทอรีของสภาสามัญชนได้รับความนิยมจนมีอำนาจที่ไม่มีผู้ใดหยุดยั้งได้ แต่พรรคทอรีของสภาขุนนางไม่มีอำนาจเช่นเดียวกัน พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงตั้งตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล (Peerage) ใหม่ขึ้นอีกสิบสองตำแหน่งเพื่อจะลดเสียงข้างมากของพรรควิกในสภาขุนนาง การแต่งตั้งขุนนางสืบตระกูลครั้งใหญ่เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์อังกฤษ จำนวนตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษในระยะเวลาเกือบห้าสิบปีที่ครองราชย์ยังน้อยกว่าจำนวนที่พระนางเจ้าแอนน์ทรงแต่งตั้งขึ้นภายในวันเดียว[28] การกระทำครั้งนี้ทำให้การอนุมัติสนธิสัญญาและยุติการเกี่ยวข้องของอังกฤษในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนสำเร็จ[29]

สวรรคต

แก้

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สวรรคตด้วยโรคข้อต่ออักเสบเมื่อเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ของวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 ด้วยพระบรมศพของพระองค์บวมมากจนต้องใส่ในหีบพระบรมศพที่เกือบจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์[30] และด้วยเหตุที่เจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นรัชทายาทตามพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 มาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน (8 มิถุนายน ปีเดียวกัน) เจ้าชายจอร์จแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าหญิงโซเฟียจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่แทน [1] โดยการละเว้นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์คนอื่น ๆ เช่นเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวตพระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 การขึ้นครองราชย์เป็นไปโดยไม่มีอุปสรรคสำคัญนอกจากการแข็งข้อที่ล้มเหลวของจาโคไบต์ (Jacobitism) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์สจวตสองครั้งในปี ค.ศ. 1715 และ 1719[31]

มรดก

แก้

รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นรัชสมัยที่องคมนตรีเริ่มมีอิทธิพลและอำนาจในการปกครองเพิ่มขึ้นและอำนาจของพระมหากษัตริย์ลดลง ในปี ค.ศ. 1708 พระนางเจ้าแอนน์เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของอังกฤษที่ทรงใช้อำนาจในการไม่ทรงอนุมัติพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนอำนาจจากพระมหากษัตริย์ไปสู่องคมนตรีมาเห็นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จนที่ปรึกษาประจำพระองค์เซอร์โรเบิร์ต วอลโพล เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดที่ 1 (Robert Walpole, 1st Earl of Orford) มักจะถูกบรรยายว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร” คนแรก [32]

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มักจะทรงกังวลกับพระสุขภาพเพราะทรงเป็นโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) และเพราะความที่ไม่ทรงมีสุขภาพดีนักจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เสนาบดีโดยเฉพาะโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์ ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ และ บารอนเนสอะบิเกล มาแชมเข้ามามีอิทธิพลทางการตัดสินพระทัยทางเมืองของพระราชินีนาถแอนน์[2]

สมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นสมัยของศิลปะ วรรณกรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทางสถาปัตยกรรม จอห์น แวนบรูห์สร้างสิ่งก่อสร้างที่เด่น ๆ เช่นว้งเบล็นไฮม์[4]ให้แก่ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ และคฤหาสน์เฮาวาร์ด[5]ให้แก่ชาร์ลส์ เฮาวาร์ด เอิร์ลแห่งคาร์ไลสล์ที่ 3 ถึงแม้ว่าสมัยของพระราชินีนาถแอนน์จะไม่มีลักษณะอะไรทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เด่น แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยของพระองค์ก็มาเป็นที่นิยมกันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในลักษณะที่ถือกันว่าหรูหราโออ่าและใช้รายละเอียดในการตกแต่งมาก ทางด้านวรรณกรรมสมัยนี้มีนักเขียนสำคัญ ๆ เช่นแดเนียล เดอโฟ, อเล็กซานเดอร์ โพพ และ โจนาทาน สวิฟท์

ทางกฎหมาย, พระนามของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์สำคัญฉบับแรกของอังกฤษที่เรียกว่า “บทกฎหมายแอนน์” (Statute of Anne) ค.ศ. 1709 ซึ่งให้ลิขสิทธิ์งานเขียนต่อผู้ประพันธ์ทั้งหมดแทนที่จะเป็นของสำนักพิมพ์ตามที่เคยเป็นมา[33]

ทางภูมิศาสตร์, พระนามของแอนน์ใช้เป็นชื่อเมืองหรือเขตการปกครองหลายแห่งเช่น เมืองแอนนาโพลิส รัฐแมริแลนด์ สหรัฐ ซึ่งเดิมมีชื่อต่าง ๆ เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี ค.ศ. 1694 โดยเซอร์ฟรานซิส นิโคลสันเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมืองอื่นที่ใช้พระนามก็ได้แก่ พรินเซสแอนน์ (รัฐแมริแลนด์) ควีนแอนน์เคานตี (รัฐแมริแลนด์) และ พริ้นเซสแอนน์เคานตี รัฐเวอร์จิเนีย

ตำแหน่ง

แก้
 
 
 
ตราประจำเจ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์ก
ตราประจำพระนางเจ้าแอนน์แห่งอังกฤษ
(ค.ศ. 1702 ถึง 1707)
ตราประจำพระนางเจ้าแอนน์แห่งบริเตนใหญ่
(ค.ศ. 1707 ถึง 1714)
  • 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 – 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683: เฮอร์ไฮเนส เลดีแอนน์ (Her Highness The Lady Anne)
  • 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1702: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าฟ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์ก (Her Royal Highness The Princess Anne of Denmark)
  • 8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714: เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีนาถ (Her Majesty The Queen)

พระราชินีนาถแอนน์ในสมัยนิยม

แก้
  • “เชอร์ชิลคนแรก” (The First Churchills) เป็นละครโทรทัศน์ของบีบีซีที่แสดงชีวิตของพระราชินีนาถแอนน์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนสวรรคตโดนเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับซาราห์ เชอร์ชิล
  • “Das Grinsende Gesicht” ค.ศ. 1921 ภาพยนตร์เงียบออสเตรียสร้างจากนวนิยายเรื่อง “คนที่หัวเราะ” (The Man Who Laughs) โดย วิคเตอร์ ฮูโก
  • “คนที่หัวเราะ” ค.ศ. 1928 ภาพยนตร์เงียบสร้างจากนวนิยายเรื่อง “คนที่หัวเราะ” โดย วิคเตอร์ ฮูโก
  • “Ett Glas vatten” ละครโทรทัศน์ของสวีเดนสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “Sakk-matt” ค.ศ. 1977 ละครโทรทัศน์ของฮังการีสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “Das Glas Wasser” ค.ศ. 1960 ละครโทรทัศน์ของเยอรมนีสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “เร็น: ผู้สร้างบริเตน” (Wren: The Man Who Built Britain) ค.ศ. 2004เป็นสารคดีของบีบีซี

พระราชวงศ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Lodge (1832) , pp. 7–8
  2. 2.0 2.1 "Sarah Jennings, Duchess of Marlborough". Encyclopædia Britannica. Britannica Concise Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 2007-01-07.
  3. Field, Ophelia (2003). Sarah Churchill Duchess of Marlborough, The Queen's Favourite. St. Martin's Press.
  4. Field, Ophelia (2003). Sarah Churchill Duchess of Marlborough, The Queen's Favourite. St. Martin's Press.
  5. Innes (1913) p. 440
  6. Gregg (2001) , pp. 32–35
  7. Ward, pp. 230–231
  8. Ward, pp. 236–240
  9. "James II and VII". The Jacobite Heritage. 1997. สืบค้นเมื่อ 18 September 2006.
  10. Ward, pp. 241–242
  11. Nenner, Howard (1998). The Right to be King: the Succession to the Crown of England, 1603–1714. Palgrave Macmillan. p. 243. ISBN 0-333-57724-8.
  12. Dalrymple, John (1778). Memoirs volume ii. p. 175.
  13. 13.0 13.1 "Mary II". Encyclopædia Britannica (11th ed.). London: Cambridge University Press. 1911.
  14. Innes (1913) , pp. 482–483
  15. Ward, pp. 250–251
  16. Gregg (2001) , p. 108
  17. Trevelyan, G.M. (1934). England Under Queen Anne.
  18. Ward, p. 275
  19. Gregg (2001) , p. 151
  20. Ward, p. 460
  21. Lodge, p.240
  22. Gregg (2001) , pp. 130-131
  23. Benians, pp.90–91
  24. Gregg (2001) , p. 281
  25. Ward, pp. 468–469
  26. Ward, pp. 470–471
  27. Ward, pp. 429–434
  28. Ward, p. 471
  29. Ward, pp. 433–459
  30. Ward, p. 476
  31. Benians (1909) , pp. 97–106
  32. Eccleshall, Robert (1998). Biographical Dictionary of British Prime Ministers. Routledge.
  33. Morrissey, Lee (1999). From the Temple to the Castle: An Architectural History of British Literature, 1660–1760. University of Virginia Press.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Benians, Ernest Alfred et al. (1909). The Cambridge Modern History (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่). MacMillan & Co. (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่)
  • Ward, Adolphus W. (ed.). The Cambridge Modern History (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่). Cambridge, England: Cambridge University Press.
  • Gregg, Edward (2001). Queen Anne (พระราชินีนาถแอนน์). Yale University Press.
  • Innes, Arthur Donald (1913). A History of England and the British Empire (ประวัติศาสตร์อังกฤษและจักรวรรดิอังกฤษ). The MacMillan Company.
  • Lednum, John (1859). A History of the Rise of Methodism in America (ประวัติความรุ่งเรืองของ Methodism ในสหรัฐอเมริกา). Philadelphia: John Lednum.
  • Lodge, Edmund (1832). The Genealogy of the Existing British Peerage. Saunders and Otley.
  • Waller, Maureen, "Sovereign Ladies: Sex, Sacrifice, and Power. The Six Reigning Queens of England." (กษัตรีย์: เพศ, ความเสียสละ, และอำนาจ. พระราชินีหกพระองค์ของอังกฤษ) St. Martin's Press, New York, 2006. ISBN 0-312-33801-5
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ ถัดไป
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ    
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707)
  ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 แห่งสกอตแลนด์    
พระมหากษัตริย์สกอตแลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707)
  ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งไอร์แลนด์    
พระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714)
  พระเจ้าจอร์จที่ 1
พระราชอิสริยยศสถาปนาใหม่
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
   
พระมหากษัตริย์บริเตนใหญ่
(ราชวงศ์สจวต)

(1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714)
  พระเจ้าจอร์จที่ 1