สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและประมุขของ 14 รัฐในเครือจักรภพ

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 (อังกฤษ: Charles III) พระนามเต็ม ชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ (พระราชสมภพ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948) เป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรและอีก 14 ประเทศเครือจักรภพ เสด็จขึ้นครองราชย์หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดา ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 พระองค์เป็นรัชทายาทที่ดำรงพระยศองค์รัชทายาทยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 64 ปีโดยประมาณ และยังเป็นรัชทายาทที่พระชนมายุมากที่สุดที่สืบราชบัลลังก์สหราชอาณาจักร คือ 73 พรรษา 9 เดือน 24 วัน

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
ประมุขเเห่งเครือจักรภพ
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2023
พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
และเครือจักรภพ
ครองราชย์8 กันยายน ค.ศ. 2022 – ปัจจุบัน
(1 ปี 85 วัน)
ราชาภิเษก6 พฤษภาคม ค.ศ. 2023
ก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
รัชทายาทเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์
นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์
ริชี ซูแน็ก[1]
พระราชสมภพ (1948-11-14) 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 (75 ปี)
พระราชวังบักกิงแฮม, ลอนดอน, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
คู่อภิเษกไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ค.ศ. 1981–1996) (15 ปี)
สมเด็จพระราชินีคามิลลา (ค.ศ. 2005–ปัจจุบัน)
พระราชบุตร
ราชวงศ์วินด์เซอร์
พระราชมารดาสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
พระบิดาเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
ลายพระอภิไธย

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 ที่พระราชวังบักกิงแฮม เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงรับบัพติศมาที่ห้องดนตรี พระราชวังบักกิงแฮมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ตามขนบธรรมเนียมแบบคริสตจักรแห่งอังกฤษ พระองค์มีพระบิดาและพระมารดาทูนหัวคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมเด็จพระราชินีแมรี เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต แพทริเซีย แคนเชบูลล์ เคาน์เตสที่ 2 เมานต์แบ็ตเทนแห่งพม่า เดวิด โบวส์-ลีออน (พระอนุชาในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี) เลดีบราบรูน สมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 แห่งนอร์เวย์ และ เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก

ตามพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 สมเด็จพระปัยกา (ตาทวด) ของชาลส์ สั่งว่าผู้ที่จะดำรงอิสริยยศเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งอังกฤษนั้น ถ้าเป็นชั้นพระราชนัดดา(หลาน)แล้ว จะต้องผ่านทางสายพระราชโอรสเท่านั้น[2] ในขณะที่ชาลส์เป็นพระราชนัดดาผ่านทางสายพระราชธิดา พระองค์ควรจะดำรงยศเป็นเอิร์ลแห่งมารีออนเน็ต (ซึ่งเป็นยศสำหรับทายาทผู้จะสืบตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระ) อย่างไรก็ตามสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมเด็จพระอัยกา (ตา) ของเจ้าชายมีพระราชโองการใหม่ เฉพาะพระโอรสและพระธิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรได้ตั้งแต่ประสูติ พระราชโองการฉบับนี้ไม่มีผลครอบคลุมถึงพระราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าหญิงมากาเร็ต และจากพระราชโองการฉบับดังกล่าวทำให้ชาลส์มีพระยศตั้งแต่แรกประสูติว่า เจ้าชายชาลส์แห่งเอดินบะระ

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงเป็นพระโอรสองค์โต ทรงมีพระกนิษฐาและพระอนุชา 3 พระองค์ดังนี้

  1. สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (พระองค์เอง)
  2. เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี
  3. เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก
  4. เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ

ใน ค.ศ. 1952 พระราชชนนีของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายชาลส์ได้รับพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งคอร์นวอลล์ทันที (ในสกอตแลนด์ คือดยุกแห่งรอธซี) นอกจากนี้ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เอิร์ลแห่งแคร์ริก บารอนแห่งเรนเฟรว ลอร์ดแห่งไอเซิล เจ้าชายและจอมทัพแห่งสกอตแลนด์อีกด้วย

ในวันพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ เจ้าชายได้เสด็จไปร่วมพระราชพิธีด้วย (ในขณะที่เจ้าหญิงแอนน์ไม่ได้ตามเสด็จ) โดยพระองค์ทรงประทับนั่งระหว่างสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี พระอัยยิกา (ยาย) และเจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระมาตุจฉา (น้า) และพระมารดาทูนหัวของพระองค์

 
มงกุฎของ เจ้าชายแห่งเวลส์

การศึกษา แก้

โดยปกติแล้วพระราชวงศ์ที่มีพระชนม์ระหว่าง 5 – 8 ปีนั้นจะได้รับการศึกษาส่วนพระองค์ที่พระอาจารย์เข้ามาจัดการสอนถวายที่พระราชวังบักกิงแฮม หากแต่เจ้าชายเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรก (และรัชทายาทของอังกฤษพระองค์แรก) ที่เสด็จเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียน โดยทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนฮิลล์ เฮาส์ในเมืองลอนดอน และต่อมาที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์คแชร์ ซึ่งเจ้าชายฟิลิปพระบิดาของพระองค์ได้เสด็จเข้าศึกษาด้วยเช่นกัน ต่อมาพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกอร์ดอนสตันในประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งนั่นทำให้พระองค์เป็นรัชทายาทพระองค์แรกๆ ที่เข้าศึกษาในระดับโรงเรียนมัธยมทั่วไป พระองค์ทรงนิยามการเรียนที่นั่นว่า "คำสั่งกักกัน" และมีความทรงจำที่เลวร้ายมากในการเรียนผ่านลายพระราชหัตถ์ถึงครอบครัวหลายฉบับ[3] [4]

พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในภาคศิลปศาสตรบัณฑิต[5] นอกจากนี้พระองค์ทรงยังเข้ารับการศึกษาภาษาเวลส์ที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธ ในเวลส์เป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา[6]

เจ้าชายแห่งเวลส์ แก้

เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และรอธซีได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์เมื่อพระชันษา 10 ปี หากแต่ได้มีพระราชพิธีขึ้นในอีก 11 ปีต่อมา เจ้าชายชาลส์ได้กลายเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 ในการจะทรงสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษโดยไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงได้สืบมานับตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยทรงก่อตั้งองค์การการกุศลเยาวชน ปรินส์ทรัสต์ ในปี 1976 ทรงสนับสนุนปรินส์ชาริตี และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ประธานหรือสมาชิกขององค์การการกุศลและองค์การอื่นอีกกว่า 400 แห่ง พระองค์ทรงเรียกร้องให้อนุรักษ์สิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถาปัตยกรรมในสังคม[7] ทรงพระราชนิพนธ์หรือร่วมทรงพระราชนิพนธ์หนังสือกว่า 20 เล่ม พระองค์ทรงสนับสนุนการเกษตรออร์แกนิกและการปฏิบัติเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระหว่างเป็นผู้จัดการที่ดินกรรมสิทธิ์ดัชชีคอร์นวอล ทำให้ทรงได้รับรางวัลและการยกย่องจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม[8] พระองค์ทรงวิจารณ์อาหารดัดแปรพันธุกรรม ทรงสนับสนุนโฮมีโอพาธีและการแพทย์ทางเลือกอื่นซึ่งทำให้ได้รับกระแสวิจารณ์ ปรินส์ฟาวน์เดชัน ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลหนึ่งของพระองค์ ตกเป็นเป้าวิจารณ์เนื่องจากมีการกล่าวหาว่ามีการมอบเกียรติยศและสัญชาติบริติชให้แก่ผู้บริจาค ซึ่งปัจจุบันตำรวจกำลังสอบสวนอยู่

เสกสมรส แก้

ครอบครัวสเปนเซอร์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์มานานแล้ว เลดีฟรอยเมย์ซึ่งเป็นคุณยายของเจ้าหญิงนั้น เป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชชนนีเอลิซาเบธ มาเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่เจ้าชายแห่งเวลส์เคยทรงคบหาอยู่กับเลดีซาราห์พี่สาวของเลดีไดอานา ทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับไดอานาพอสมควร และเมื่อเจ้าชายชาลส์พระชนม์ได้ราว 30 พรรษา พระองค์ได้รับการร้องขอให้ทรงเสกสมรส ตามกฎหมายพระองค์จะต้องเสกสมรสกับสตรีที่ไม่ได้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ต้องนับถือคริสตจักรแห่งอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำให้พระองค์เสกสมรสกับหญิงบริสุทธิ์ด้วย อีกทั้งการที่สมเด็จพระราชชนนีมีพระราชประสงค์จะให้พระองค์เองกับเลดีฟรอมเมย์ได้เป็น "ทองแผ่นเดียวกัน" เจ้าชายผู้ทรงรักสมเด็จยายมากจึงทรงยอมตามพระทัย และพยายามทำพระองค์ให้คิดว่าไดอานานี้แหละ คือสุดยอดผู้หญิงที่เหมาะสมกับพระองค์ และเป็นผู้หญิงที่พระองค์รัก

สำนักพระราชวังประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981 ว่าพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะจัดขึ้นที่อาสนวิหารนักบุญเปาโล กรุงลอนดอน ในวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน แขกจำนวน 3,500 คนถูกเชิญมาในขณะที่ผู้ชมนับพันล้านคนทั่วโลกเฝ้ารอดูพระราชพิธี

หลังการอภิเษกสมรสไดอานาได้รับยศเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์นอกจากนี้ ไดอานายังเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ด้วย

พระราชโอรส แก้

สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ

  1. เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ประสูติ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1982
  2. เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ประสูติ 15 กันยายน ค.ศ. 1984

หย่าร้าง แก้

 
หนังสือสำคัญการหย่าของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์
 
ชาลส์และคามิลลาในการเปิดรัฐสภาเวลส์ คาร์ดิฟฟ์ ในปี ค.ศ. 2011 ภาพทางการ

เหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างความคาดหมายของทุกคน ในระยะแรกเจ้าหญิงไม่สามารถทรงปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตของความเป็นเจ้าหญิงได้ และทรงทุกข์ทรมานจากพระโรคบูลิเมีย (น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว) หลังจากหายจากพระโรค เจ้าหญิงได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายวิลเลียม หลังจากนั้นอีก 2 ปี พระองค์ได้มีพระประสูติกาลอีกครั้ง เจ้าชายแฮร์รี ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับเจ้าชายชาลส์มาก เนื่องจากพระองค์ทรงหวังว่าพระองค์น่าจะได้พระธิดาจากการประสูติกาลครั้งที่ 2 นี้ เนื่องจากโปรดลูกสาวของคามิลลามากอีกทั้งยังมีข่าวลือว่า แท้จริงแล้วเจ้าชายแฮร์รีอาจไม่ใช่พระโอรสของพระองค์ รายงานข่าวส่วนหนึ่งเชื่อว่าทั้งสองพระองค์เริ่มแยกกันอยู่หลังจากการเสกสมรสเพียง 5 ปี บางคนเชื่อว่าเนื่องจากเจ้าชายชาลส์ไม่สามารถทนได้ที่พระชายาได้รับความชื่นชมมากกว่าพระองค์ (คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ของเจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน) ภาระทั้งหมดกลับตกไปที่ไดอานาในฐานะที่ควรจะ "ทรงทนให้ได้" เจ้าหญิงพยายามอย่างยิ่งที่จะพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาลส์ไว้ให้นานที่สุด แต่ไม่เป็นผล สื่อมวลชนประโคมข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเจ้าชายชาลส์กับคามิลลาอย่างครึกโครม รวมทั้งประโคมข่าวระหว่างเจ้าหญิงกับผู้ชายอีกหลายคน นั่นทำให้ทั้งสองพระองค์คิดว่า เรื่องราวทั้งหมดควรจะจบลงเสียที ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ในขณะนั้น สื่อมวลชนเรียกว่า "สงครามแห่งเวลส์" (War of Waleses)

อภิเษกสมรสครั้งที่สอง แก้

คลาเรนซ์เฮ้าส์ประกาศเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 ว่าเจ้าชายชาลส์และคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ จะเสกสมรสกันในวันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกันนั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 การเสกสมรสต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 9 เมษายน แทนเพราะเจ้าชายชาลส์ต้องเสด็จฯ ไปในการพระศพ

รวมทั้งได้มีการประกาศเพิ่มเติมด้วยว่าหลังจากเสกสมรสแล้ว คามิลลาจะดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (Her Royal Highness The Duchess of Cornwall) และหลังจากชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ จะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงพระชายา (Her Royal Highness The Princess Consort) เชื่อกันว่าเนื่องจากอ้างอิงตามพระอิสริยยศของเจ้าชายอัลเบิร์ตพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (His Royal Highness The Prince Consort)

ต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีแถลงการณ์ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถใจความว่า คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์จะทรงเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี

กระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 เจ้าชายชาลส์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ คามิลลา ทรงขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร

พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร แก้

หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายชาลส์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 โดยพระราชพิธีราชาภิเษกจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2023[9]

พระบรมราชอิสริยยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
การทูลHis Majesty (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การขานรับYour Majesty (พระเจ้าข้า/เพคะ)
ลำดับโปเจียม1
  • 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 – 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายชาลส์แห่งเอดินบะระ (His Royal Highness Prince Charles of Edinburgh)
  • 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 – 8 กันยายน ค.ศ. 2022: ฮิสรอยัลไฮเนส ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (His Royal Highness The Duke of Cornwall)
    • ในสกอตแลนด์: 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 – 8 กันยายน ค.ศ. 2022: ฮิสรอยัลไฮเนส ดยุกแห่งรอธซี (His Royal Highness The Duke of Rothesay)
  • 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 – 8 กันยายน ค.ศ. 2022: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายแห่งเวลส์ (His Royal Highness The Prince of Wales)
    • ในสกอตแลนด์: ค.ศ. 2000 – 2001: พระกรุณา ข้าหลวงพระองค์ใหญ่แห่งสมัชชาใหญ่แห่งคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์

พระอิสริยยศเต็ม[10] เจ้าชายชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์ ดยุกแห่งรอธซี ดยุกแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งคาร์ริก เอิร์ลแห่งแมริโอเน็ธ บารอนกรีนิช บารอนแห่งเร็นฟริว ลอร์ดแห่งไอเลส เจ้าชายและธนารักษ์ใหญ่แห่งสกอตแลนด์ อัศวินกัลยาณมิตรแห่งราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ อัศวินแห่งราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลและสูงส่งยิ่งธิสเทิล ปรีชากรและหัวหน้าอัศวินสายสะพายแห่งราชอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติบาธ สมาชิกราชอิสริยาภรณ์เมริท อัศวินแห่งราชอิสริยาภรณ์ออสเตรเลีย กัลยาณมิตรแห่งราชอิสริยาภรณ์ควีนเซอร์วิส สมาชิกคณะองคมนตรีอันทรงเกียรติยิ่งในสมเด็จฯ นายทหารคนสนิทในสมเด็จฯ

  • 8 กันยายน ค.ศ. 2022 – ปัจจุบัน: ฮิสมาเจสตี สมเด็จพระราชาธิบดี (His Majesty The King)

ตั้งแต่เมื่อพระราชบิดา เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2021 จนถึงวันเสด็จสวรรคตของพระราชชนนี พระองค์ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งเอดินบะระสืบต่อจากพระราชบิดา และบรรดาศักดิ์นี้ต่อมาได้ผนวกเข้ากับราชบัลลังก์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 พระองค์ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์นี้แก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระอนุชา

 
 
 
 
ตราอาร์มเจ้าชายแห่งเวลส์ (1958–2022) ตราอาร์มกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ตราอาร์มกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรสำหรับใช้ในสกอตแลนด์ ตราอาร์มกษัตริย์แห่งแคนาดา

พงศาวลี แก้

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. "ราชบัณฑิตยสภาสะกดชื่อนายกฯผู้ดีคนใหม่ 'ริชี ซูแน็ก'". มติชนออนไลน์. 26 October 2022. สืบค้นเมื่อ 26 October 2022.
  2. (สำหรับชั้นพระราชปนัดดา (เหลน) มีกรณีเดียวคือต้องเป็นพระโอรสและพระธิดาในพระโอรสพระองค์ใหญ่ของเจ้าชายแห่งเวลส์)
  3. https://web.archive.org/web/20120704195647/http://www.debretts.com/people/royal-family/royal-portraits/prince-charles.aspx
  4. https://www.thesun.co.uk/fabulous/5095441/why-prince-charles-hate-gordonstoun/
  5. https://web.archive.org/web/20121113072216/http://www.princeofwales.gov.uk/the-prince-of-wales/biography/education
  6. https://web.archive.org/web/20121113072216/http://www.princeofwales.gov.uk/the-prince-of-wales/biography/education
  7. "Profession reacts to Prince Charles' 10 design principles". architectsjournal.co.uk. 22 December 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 December 2018. สืบค้นเมื่อ 3 December 2018.; Forgey, Benjamin (22 February 1990). "Prince Charles, Architecture's Royal pain". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2020. สืบค้นเมื่อ 3 December 2018.; "How the Poundbury project became a model for innovation". Financial Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2018.
  8. Rourke, Matt (28 January 2007). "Prince Charles to receive environmental award in NYC". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 September 2013. สืบค้นเมื่อ 19 April 2013.; Alderson, Andrew (14 March 2009). "Prince Charles given 'friend of the forest' award". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2013. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.; Lange, Stefan (29 April 2009). "Prince Charles collects award in Germany". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 October 2013. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.; "2012 Lifetime Achievement Award Winner – HRH The Prince of Wales". greenawards.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2013. สืบค้นเมื่อ 7 August 2013.
  9. "Coronation on 6 May for King Charles and Camilla, Queen Consort". BBC News. 11 October 2022.
  10. พระอิสริยยศเต็ม (ใช้น้อยมาก) : His Royal Highness The Prince Charles Philip Arthur George, Prince of Wales, Duke of Cornwall and Earl of Chester, Duke of Rothesay, Earl of Carrick, Baron of Renfrew, Lord of the Isles, Prince and Great Steward of Scotland, Knight Companion of the Most Noble Order of the Garter, Knight of the Most Ancient and Most Noble Order of the Thistle, Great Master and First and Principal Knight Grand Cross of the Most Honourable Order of the Bath, Member of the Order of Merit, Knight of the Order of Australia, Companion of the Queen's Service Order, Member of Her Majesty's Most Honourable Privy Council, Aide-de-Camp to Her Majesty.
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ถัดไป
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2    
พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
และราชอาณาจักรเครือจักรภพ

(8 กันยายน พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน)
  สมเด็จพระราชินีคามิลลา
ไม่มี (พระองค์แรก)   ลำดับโปเจียม (ฝ่ายหน้า)
  เจ้าชายแห่งเวลส์
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด   เจ้าชายแห่งเวลส์
(พ.ศ. 2501–2565)
  เจ้าชายวิลเลียม
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด   ดยุกแห่งคอร์นวอลล์
ดยุกแห่งรอธซี

(พ.ศ. 2495–2565)
  เจ้าชายวิลเลียม
เอิร์ลเมานต์แบ็ทแตนแห่งพม่า   ประธานสหวิทยาลัยโลก
(พ.ศ. 2521–2538)
  สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน