สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 มีพระนามเดิมว่า การอล ยูแซฟ วอยตือวา (ภาษาโปแลนด์) ประสูติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ที่หมู่บ้านวาดอวิตแซ ใกล้เมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ บิดาเป็นทหารมียศเป็นจ่าทหารและเกษียณราชการแล้ว มารดาเสียชีวิต เมื่อคาโรลยังเป็นเด็ก ท่านเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์พิเศษ ชอบการกีฬาเป็นอันมาก ท่านยังชอบบทกวีและการแสดงละคร
ในสมเด็จพระสันตะปาปา นักบุญ ยอห์น ปอลที่ 2 John Paul II | |
---|---|
บิชอปแห่งกรุงโรม | |
![]() | |
สมณนาม | Papa Ioannes Paulus Secundus (ละติน) |
เริ่มวาระ | 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 |
สิ้นสุดวาระ | 2 เมษายน ค.ศ. 2005 (26 ปี 5 เดือน 17 วัน) |
องค์ก่อน | สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 |
องค์ถัดไป | สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระนามเดิม | การอล ยูแซฟ วอยตือวา |
ประสูติ | 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ประเทศโปแลนด์ |
สิ้นพระชนม์ | 2 เมษายน ค.ศ. 2005![]() | (84 ปี)
ข้อมูลอื่น | |
บวชเมื่อ | 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 |
พระอภิไธย | ![]() |
ตราอาร์ม | ![]() |
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 คณะพระคาร์ดินัลทั่วโลกก็มีมติเลือกให้พระคาร์ดินัลการอล วอยตือวา ประมุขแห่งอัครมุขมณฑลกรากุฟ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 58 พรรษา ขึ้นเป็นประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 นับเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 264 ที่สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญซีโมนเปโตรอัครทูต
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เป็นพระสันตะปาปาที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนองค์แรกในรอบ 455 ปี และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เป็นชาวโปแลนด์ รวมทั้งยังเป็นพระสันตะปาปาที่ได้รับเลือกขณะที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อีกด้วย
พระองค์เป็นพระสันตะปาปาที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน พระองค์ทรงเดินทางรอบโลกเพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชนมากกว่าพระสันตะปาปาองค์ใด ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ทรงต่อต้านกระแสทุนนิยมที่ไร้ขอบเขต การกดขี่ทางการเมือง ยืนกรานในการต่อต้านการทำแท้ง และปกป้องวิถีทางของศาสนจักรในเรื่องเพศของมนุษย์
ปัจจุบัน พระองค์ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม
วัยเด็ก
แก้ในวัยหนุ่ม การอลทุ่มเทพลังทั้งหมดให้กับการเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอลและสกี หลงใหลกับการนั่งชมการแสดงในโรงละคร เคยเป็นทั้งนักเขียนบทและนักแสดงมาแล้ว และครั้งหนึ่งฝันว่าจะเป็นนักแสดง โดยการอลเริ่มต้นเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยในเมืองกรากุฟ เมื่อปี ค.ศ. 1938 ในด้านวรรณกรรมและภาษาโปแลนด์ เนื่องจากท่านชื่นชอบการแสดง เพื่อน ๆ หลายคนก็คิดว่าท่านคงจะยึดอาชีพนักแสดงตามโรงละคร มากกว่าเข้าเซมินารีเพื่อบวชเป็นบาทหลวง
จากนั้น ในปี ค.ศ. 1939 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างที่โปแลนด์ถูกกองทัพนาซีได้บุกยึดครอบครองอยู่นั้น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถูกสั่งปิด การอลต้องแอบเรียนส่วนตัว และทำงานในโรงงานตัดหิน มีหน้าที่ดูแลระบบส่งน้ำของโรงงาน เมื่อบิดาจากไปแล้วและท่านเองก็ประสบอุบัติเหตุที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด
ฐานันดรในศาสนจักร
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฮิส โฮลิเนส |
การขานรับ | ยัวร์ โฮลิเนส |
ในที่สุดท่านได้เบนเข็มชีวิตมาที่การบวชเป็นบาทหลวง ด้วยการเริ่มให้ความสนใจในการศึกษาด้านเทววิทยา โดยเข้ารับการศึกษาที่เซมินารีซึ่งเปิดสอนลับ ๆ แบบทำงานใต้ดิน เมื่อสงครามยุติลงในปี ค.ศ. 1945 ท่านก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยต่อจนจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1946 จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงคาทอลิกในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้นเอง
เมื่อบวชแล้วก็ฝึกงานตามโบสถ์คริสต์ต่าง ๆ จน ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 ทางผู้ใหญ่ในมุขมณฑลก็ส่งท่านไปเรียนที่กรุงโรม เพื่อทำปริญญาเอกทางเทววิทยา และเมื่อจบการศึกษาจากโรมแล้ว ก็เดินทางกลับโปแลนด์ ทำหน้าที่บาทหลวงประจำโบสถ์อยู่สามปี จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาปริญญาเอกทางด้านปรัชญาที่โรมอีกครั้ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1956 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาจริยศาสตร์ที่ลูบลิน ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ได้ทิ้งการกีฬาที่ท่านรัก ไม่ว่าจะเป็นการเดินภูเขา การแข่งเรือบด หรือเล่นสกี
ในปี ค.ศ. 1958 ท่านก็ต้องแปลกใจที่ตนเองได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งมุขนายกผู้ช่วยแห่งอัครมุขมณฑลกรากุฟ และในอีก 5 ปีต่อมา (ค.ศ. 1963) สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งให้ท่านเป็นอาร์ชบิชอปแห่งกรากุฟ จากนั้นในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1967 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลขณะอายุเพียง 47 ปี เท่านั้น นับว่าเป็นพระคาร์ดินัลที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาพระคาร์ดินัลทั่วโลก และยังเป็นการเลื่อนสมณศักดิ์ที่เร็วมากอีกด้วย[1]
เมื่อเป็นพระคาร์ดินัลแล้ว ท่านได้ร่วมกับพระคาร์ดินัลอาวุโสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังคุกคามยุโรปในเวลานั้นอย่างแข็งขัน จนในปี ค.ศ. 1976 ท่านได้รับเกียรติให้ไปเทศน์ให้พระสันตะปาปาในช่วงเทศกาลมหาพรต จากนั้นชื่อเสียงของท่านก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นต้นในบรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลาย
พระสันตะปาปา
แก้เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 สิ้นพระชนม์อย่างปัจจุบันทันด่วน บรรดาพระคาร์ดินัลต่างก็ถูกเรียกตัวกลับโรมอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งพระสันตะปาปา ผ่านไปเพียงเดือนเดียว ในที่สุดท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา สืบต่อจากพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 โดยใช้พระนามว่า "พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2" นับเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของพระสันตะปาปาชาวอิตาลีที่ครอบครองตำแหน่งนี้ตลอด 456 ปี นับจากสมัยปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 ซึ่งเป็นชาวดัทซ์ (ค.ศ.1522-1523)
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศจุดยืนของพระองค์ ทันทีหลังจากที่ได้รับตำแหน่งแล้วว่า "จะทรงรับใช้พระศาสนจักรสากล กล่าวคือ รับใช้โลกทั้งมวล พระองค์จะทรงรับใช้ความจริง ยุติธรรม สันติ และความสมานสามัคคี" ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเช่นนี้เองที่ทำให้พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 กลายเป็นพระสันตะปาปาที่เดินทางไปแพร่ธรรมและอภิบาลสัตบุรุษมากกว่าพระสันตะปาปาองค์ใดในอดีต การเยี่ยมเยียนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในหลายแง่มุม แต่ละที่ที่พระองค์เสด็จไปนั้น ประชาชนจะพากันมาร่วมพิธีมิสซา และต้อนรับพระองค์กันเนืองแน่น เช่น ที่มานิลา ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนมาร่วมพิธีมิสซา หรือที่ฝรั่งเศส เมื่อมีการชุมนุมเยาวชนโลก ก็มีหนุ่มสาวจากทั่วโลกได้เดินทางไปร่วมพิธี
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงเป็นผู้มีบทบาทในการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศรัสเซีย พระองค์ได้ปฏิรูประบบบริหารคูเรียใหม่ บางคนมองว่าพระองค์เป็นคนตรง และไม่ผ่อนปรนในเรื่องความเชื่อ กระนั้นก็ตามพระองค์ก็ส่งเสริมการเสวนาเพื่อความปรองดองระหว่างศาสนา และลัทธิความเชื่อต่าง ๆ เพื่อนำสันติภาพมาสู่โลก พระองค์ได้ออกสมณสาสน์ต่าง ๆ มากมาย เพื่อสอนความเชื่อแท้ของคาทอลิก เช่น Laborem Exercens (ค.ศ.1981)[2], Centesimus Annus (ค.ศ.1991)[3], Veritatis Splendor (ค.ศ.1993)[4], Ut Unum Sint (ค.ศ.1995)[5] และ Evangelium Vitae (ค.ศ.1995)[6]
พระกรณียกิจระหว่างดำรงตำแหน่ง
แก้- เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นระยะทางรวมกันกว่า 1,247,613 กิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ 3.24 เท่า
- เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ นอกอิตาลี 104 ครั้ง
- เสด็จไปเยือนประเทศและอาณานิคมดินแดนต่างๆ 129 ครั้ง
- เสด็จเยี่ยมมุขมณฑลต่าง ๆ ในกรุงโรม และกัสแตล กันดอลโฟ 748 ครั้ง (ในจำนวนนี้รวมถึงโบสถ์ต่าง ๆ ในโรม 301 แห่ง จาก 333 แห่ง)
- ทรงใช้เวลา 822 วัน หรือกว่า 2 ปี 3 เดือน ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกกรุงโรม
- ทรงกล่าวสุนทรพจน์กว่า 20,000 ครั้ง หรือกว่า 100,000 หน้า
- ทรงสถาปนาบุญราศี 1,340 องค์ (147 ครั้ง) ทรงประกาศแต่งตั้งนักบุญ 483 องค์ (51 ครั้ง) ซึ่งมากกว่าที่พระสันตะปาปาก่อนหน้าพระองค์ในรอบ 400 ปี ทั้งหมดรวมกันได้เคยปฏิบัติ
- ทรงเรียกประชุมคณะพระคาร์ดินัล (Consistory) เพื่อแต่งตั้งพระคาร์ดินัล 9 ครั้ง และสถาปนาพระคาร์ดินัล 231 องค์ กับอีก 1 องค์ที่ทรงสงวนชื่อเป็นความลับ
- เป็นพระสันตะปาปาที่มีผู้แสวงบุญมาเฝ้ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้แสวงบุญมาเฝ้า ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร ในทุกวันพุธ เป็นจำนวนมากกว่า 17.8 ล้านคน โดยนับเป็นจำนวนครั้งได้ 1,161 ครั้ง
- ทรงเข้าประชุมร่วมกับผู้นำทางการเมืองกว่า 1,600 ครั้ง รวมไปถึงการเข้าพบกับประมุขของรัฐ 776 คน และนายกรัฐมนตรีอีก 246 คน
พระองค์ทรงเดินทางไปพบคริสต์ศาสนิกชนในทั่วโลกเสมอ ๆ เสด็จเยือนไปมากกว่า 100 ประเทศ หากนับการเดินทางของพระองค์ ประเมินว่าพระองค์ได้เดินทางรอบโลกแล้ว 27 รอบ อย่างไรก็ตาม ความประสงค์ของพระองค์ในการใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้พระองค์เกือบถึงแก่ชีวิต โดยเมื่อปี ค.ศ. 1981 ขณะที่พระองค์กำลังออกทักทายประชาชน ในจัตุรัสนักบุญเปโตร สแควร์ มะห์หมัด อาลี อักจา มุสลิมชาวตุรกีได้ยิงปืนหมายปลงพระชนม์พระองค์ แม้จะทรงรอดชีวิต แต่ก็บาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้มีข้อสันนิษฐานที่ไม่ยืนยันว่าสหภาพโซเวียตเป็นผู้บงการ หลังจากทรงพักรักษาพระองค์ที่ใช้เวลายาวนาน 2 ปี ในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1983 พระองค์ก็ได้เดินทางไปพบกับมือลอบสังหารถึงในคุก ซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่าพระองค์ได้ตรัสอะไรกับเขาบ้าง
แม้ว่าพระองค์จะทำให้ศาสนจักรก้าวหน้าไปมาก แต่ทัศนะของพระองค์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ถกเถียงไม่จบไม่สิ้นอย่างการหย่าร้าง การคุมกำเนิด และการทำแท้ง การประชุมของวาติกันเมื่อปี ค.ศ.2001 พระองค์ประกาศต่อต้านการอนุญาตให้หย่าร้าง การทำแท้ง การอยู่ด้วยกันของคนรักร่วมเพศ รวมทั้งสิทธิของผู้ที่ไม่ได้สมรสกัน ผู้วิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกศาสนจักรระบุว่า ทัศนะของพระองค์เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ชาวคาทอลิก และวาติกันก็อยู่ไกลเกินเอื้อมของคนในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้
ไม่นานมานี้ พระองค์มีอาการประชวรและอ่อนแอลงมาก ในปี ค.ศ. 1992 พระองค์ทรงเข้าผ่าตัดเอาเนื้องอกในปลายลำไส้ใหญ่ออก ปี ค.ศ. 1993 ทรงมีพระอาการไหล่หลุด ปี ค.ศ. 1994 ต้นขาหักปี ค.ศ. 1996 ทรงเข้าผ่าตัดไส้ติ่ง และในปี ค.ศ. 2001 มีการยืนยันว่าพระองค์ทรงมีพระอาการของโรคพาร์กินสัน หลังจากสงสัยว่าจะประชวรด้วยพระโรคนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว
เดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จัตุรัสนักบุญเปโตร เนืองแน่นด้วยด้วยผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ซึ่งพากันมาร่วมฉลองการขึ้นเป็นพระสันตะปาปาครบรอบ 25 ปี ของพระองค์ ซึ่งในอีก 5 เดือนต่อมาพระองค์ก็กลายเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 3 ที่ครองตำแหน่งนานที่สุด และในเดือนพฤษภาคมปีถัดมา ก็มีการเฉลิมฉลองวันประสูติครบ 84 พรรษา
ทั้งนี้แม้พระพลานามัยจะไม่สมบูรณ์นัก พระองค์ก็ทรงปฏิเสธที่จะงดพระกรณียกิจ และการเดินทางเยือนต่างประเทศ โดยปกติแล้วสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 จะทรงออกมาพบกับประชาชนทุกวันพุธ จนกระทั่งการประชวรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้พระองค์ต้องงดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2003
สิ้นพระชนม์
แก้เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อเวลา 21.37 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 02.37 น. ของวันอาทิตย์ (ที่ 3) ตามเวลาในประเทศไทย หลังจากที่คืนวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ทรงมีไข้สูง อันเป็นผลจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หลังจากนั้นทรงช็อค และมีอาการพระหทัยล้มเหลว จากนั้นพระอาการของพระองค์ก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนสิ้นพระชนม์อย่างสงบในที่สุดในห้องส่วนพระองค์
หลังจากองค์พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์อย่างเป็นทางการแล้ว คณะพระคาร์ดินัลก็จะทำลายสัญลักษณ์ตำแหน่งของพระสันตะปาปา นั่นคือ "เพสคาโตริโอ" หรือวงแหวนแห่งชาวประมง (Ring of the Fisherman) สั่งลดธงประจำสำนักวาติกันลงครึ่งเสา และสุดท้ายปิดประตูสำริดของพระมหาวิหาร ที่จตุรัสเซนต์ ปีเตอร์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีประกาศการสิ้นพระชนม์
พิธีปลงพระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จัดขึ้นอย่างสง่า พระศพของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในหีบศพจากต้นสนไซเปรสอันเรียบง่ายถูกเคลื่อนออกจากโบสถ์บาซิลิกา ในนครรัฐวาติกัน เพื่อประกอบพิธีฝัง โดยมีบรรดาผู้นำโลกและผู้นำศาสนากว่า 200 คน มาร่วมไว้อาลัย เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548 ขณะที่คริสต์ศาสนิกชนทั่วโลกร่วมรำลึกถึงประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นครั้งสุดท้ายผ่านจอโทรทัศน์
คณะนักบวชแห่งสำนักวาติกันเริ่มเคลื่อนพระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ออกจากมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือเวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ท่ามกลางแขกคนสำคัญและผู้ศรัทธาจากทั่วโลกมาร่วมพิธี ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น หีบไม้ภายในบรรจุพระศพถูกเคลื่อนออกมาจากโบสถ์บาซิลิกา โดยเจ้าหน้าที่ของวาติกัน 12 คนซึ่งได้ตั้งหีบศพลงบนพรมหน้าแท่นบูชาที่คลุมด้วยผ้าสีดำและทอง จากนั้นพระคาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ (สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) ก็เริ่มทำพิธีมิสซา ขณะที่ฝูงชนเริ่มคร่ำครวญด้วยความสลด บ้างก็เริ่มสวดมนต์ ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้า ตามขนบธรรมเนียมของวาติกัน ภายหลังพิธีมิสซาสิ้นสุดลง หีบพระศพของพระสันตะปาปาจะถูกนำไปใส่หีบเคลือบสังกะสี ก่อนจะบรรจุลงในหีบไม้โอ๊คและนำไปฝังลงภายใต้แท่นหินอ่อนภายในสุสานใต้ดินในมหาวิหารนักบุญเปโตร
บุคคลสำคัญจากทั่วโลกกว่า 200 คน ทั้งกษัตริย์ ผู้นำทางการเมืองและทางศาสนา อาทิ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปนและสมเด็จพระราชินีโซเฟีย ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ฌัก ชีรัก ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเหล่าผู้นำชาติอาหรับเดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง โดยรวมกันอยู่ในที่นั่งด้านซ้ายของปะรำพิธี ตรงข้ามกับที่นั่งของบรรดาพระคาร์ดินัลแห่งวาติกัน ขณะที่ผู้แสวงบุญคาดว่ามีนับ 2 ล้านคนเบียดเสียดกันอยู่ในลานของจตุรัสนักบุญเปโตร ทั้งนี้ คาดว่ามีผู้ศรัทธาอีกหลายล้านในทั่วโลกกำลังเฝ้าชมพิธีดังกล่าวผ่านการถ่ายทอดสดจากจอโทรทัศน์
อนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงปกครองศาสนจักรรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 ปี 15 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามประวัติศาสตร์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกอันยาวนานนับ 2,000 ปี โดยเชื่อว่านักบุญเปโตรทรงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปายาวนานที่สุด คือ 37 ปี
กระบวนการประกาศเป็นนักบุญ
แก้นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 | |
---|---|
พระสันตะปาปา | |
เกิด | 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 สาธารณรัฐโปแลนด์ |
เสียชีวิต | 2 เมษายน ค.ศ. 2005 พระราชวังพระสันตะปาปา นครรัฐวาติกัน |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เป็นนักบุญ | 27 เมษายน ค.ศ. 2014 มหาวิหารนักบุญเปโตร โดย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส |
วันฉลอง | 22 ตุลาคม |
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงลงพระนามแต่งตั้งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี ซึ่งได้มีการจัดการให้เร็วขึ้นเป็นพิเศษ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงอนุมัติให้เริ่มกระบวนการพิจารณาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นนักบุญได้ทันที เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 5 ปีหลังมรณกรรม (ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั่วไปของศาสนจักร) ในที่สุดโดยสรุปแล้วกระบวนการพิจารณาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นบุญราศี ใช้เวลาเพียง 6 ปี เท่านั้น (ค.ศ. 2005 - ค.ศ. 2011) ด้วยระยะเวลาอันสั้นดังกล่าว ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นบุญราศีที่พระศาสนจักรคาทอลิกใช้เวลาพิจารณาแต่งตั้งสั้นที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 1,000 ปีที่พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ได้ถวายมิสซาสถาปนาพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้า เป็นบุญราศีในสมณสมัยของตน[7]
สำหรับพิธีมิสซาสถาปนาบุญราศีได้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเป็นประธานถวายมิสซาด้วยพระองค์เอง[8] ซึ่งสาเหตุที่เลือกวันที่ 1 พฤษภาคม นั้นเป็นเพราะวันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ฉลองพระเมตตาของพระเยซู (อาทิตย์หลังวันสมโภชปัสคา) ซึ่งวันฉลองดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 นั่นเอง
สำหรับขั้นตอนพิธีมิสซาการประกาศเป็นบุญราศีนั้น เริ่มจากพระคาร์ดินัลวัลลินีอ่านรายงานเพื่อเสนอให้สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสถาปนาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี เมื่ออ่านจบแล้วสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศแต่งตั้ง "สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2" เป็น "บุญราศี" แล้วผ้าที่ปิดพระรูปของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ถูกเปิดออกเพื่อการประกาศเป็นบุญราศีอย่างเป็นทางการ จากนั้นได้มีการนำ “เรลิก” (ซึ่งในพิธีมิสซาสถาปนาบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 จะเป็น “เลือดของบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งอยู่ในขวดแก้ว” โดยเลือดดังกล่าว คุณหมอเรนาโต้ บุซโซเน็ตติ ได้เก็บจากพระวรกายของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เพื่อเป็นเลือดสำรองในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์ สาเหตุที่ต้องเก็บเลือดนี้ไว้ เพราะใช้ในการป้องกันเลือดของพระสันตะปาปาแข็งตัวเป็นลิ่ม นอกจากนี้ยังใช้ในการถ่ายเลือดกรณีฉุกเฉิน) มาถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
จากนั้นในช่วงเทศน์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ตรัสว่า "วันนี้เป็นวันแห่งพระหรรษทาน และพระหรรษทานนี้ก็ปรากฏออกมาในตัวของบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 ... เวลานี้ พระประสงค์ของพระเจ้าคือการให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี ... ขอให้เรามองไปที่รูปของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 แล้วบอกกับพระองค์ว่าพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 โปรดภาวนาเพื่อเราด้วย" นอกจากนี้หลังพิธีมิสซา สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้เสด็จเข้าไปคุกเข่าภาวนาหน้าพระศพบุญราศียอห์น ปอลที่ 2 อีกด้วย
ทั้งนี้วาติกันได้ประกาศวันฉลอง “บุญราศียอห์น ปอลที่ 2” ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามุขมณฑลโรมและมุขมณฑลทุกแห่งในโปแลนด์ จะฉลองศาสนนามนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี[9] เนื่องจากวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1978 เป็นวันที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงถวายมิสซาเริ่มสมณสมัยปกครองของพระองค์อย่างเป็นทางการ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร วันนี้มีความหมายกับมุขมณฑลโรม เพราะนอกจากจะเป็นวันเข้ารับตำแหน่งพระสันตะปาปา ยังเป็นวันที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เข้ารับตำแหน่งบิชอปแห่งโรมอีกด้วย ในส่วนของโปแลนด์ นี่คือการส่งมอบคริสตังชาวโปแลนด์ให้ไปปฏิบัติหน้าที่พระสันตะปาปา (ส่งมอบจากศาสนจักรท้องถิ่นสู่ศาสนจักรสากล)
หลังจากการรอคอยอันยาวนาน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก ทรงเปิดเผยว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 เป็นนักบุญองค์ใหม่แห่งศาสนจักรในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 การประกาศแต่งตั้งนักบุญครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอน หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศรับรองปาฏิหารย์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีคุณสมบัติครบตามกฎของศาสนจักรในการรับรองนักบุญองค์ใหม่
ในที่สุด บุญราศียอห์น ปอลที่ 2 ก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม
อ้างอิง
แก้- ↑ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2, หนังสือบนศิลานี้สมเด็จพระสันตะปาปา โดย คุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช ผู้เก็บเกี่ยว บาทหลวงคณะพระมหาไถ่.
- ↑ พระสมณสาสน์Laborem Exercens Ioannes Paulus PP. II,Laborem Exercens - Encyclical Letter, 1981.
- ↑ พระสมณสาสน์ Centesimus Annus Ioannes Paulus PP. II,Centesimus Annus - Encyclical Letter, 1991.
- ↑ พระสมณสาสน์ Veritatis Splendor Ioannes Paulus PP. II,Veritatis Splendor, 1993.
- ↑ พระสมณสาสน์ Ut Unum Sint Ioannes Paulus PP. II,Ut Unum Sint - Encyclical Letter, 1995.
- ↑ พระสมณสาสน์ Evangelium Vitae Ioannes Paulus PP. II,Evangelium Vitae - Encyclical Letter, 1995.
- ↑ โป๊ปรีพอร์ต ฟาติมาสาร - เบื้องหลังการสถาปนา “บุญราศียอห์น ปอล ที่ 2” (1 พฤษภาคม 2011)
- ↑ โป๊ปรีพอร์ต ด่วน!! โป๊ปลงนามแต่งตั้ง "บุญราศี ยอห์น ปอล ที่ 2" แล้ว
- ↑ โป๊ปรีพอร์ต ฟาติมาสาร - 22 ตุลาคม ฉลองศาสนนาม “บุญราศียอห์น ปอลที่ 2” (24 เมษายน 2011)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 | พระสันตะปาปา (ค.ศ. 1978 — ค.ศ. 2005) |
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 | ||
The Peacemakers (เนลสัน แมนเดลา, เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก, ยัสเซอร์ อาราฟัต และยิตซัค ราบิน) |
บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ (ค.ศ. 1988) |
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ |