การประกาศเป็นบุญราศี

(เปลี่ยนทางจาก บุญราศี)

การประกาศเป็นบุญราศี (อังกฤษ: Beatification) คือกระบวนการที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกกำหนดขึ้นเพื่อรับรองว่าบุคคลหนึ่งได้เข้าสู่สวรรค์และสามารถวอนขอพรจากพระเป็นเจ้าแทนมนุษย์บนโลกได้ กระบวนการนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สี่ของการประกาศเป็นนักบุญ

ประวัติ

แก้

แต่เดิมการประกาศเป็นบุญราศีเป็นกระบวนการที่แต่ละมุขมณฑลดำเนินการเอง และมักจะเป็นการยกย่องมรณสักขีในท้องถิ่นนั้น ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 เป็นต้นมาศาสนจักรคาทอลิกกำหนดว่าต้องมีปาฏิหาริย์หนึ่งอย่างที่ (เชื่อว่า) เกิดจากการที่ผู้นั้นได้อ้อนวอนขอพรพระเจ้าตามการอธิษฐานของคริสต์ศาสนิกชน ในกรณีที่ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นมรณสักขี ศาสนจักรจะดำเนินการประกาศเป็นบุญราศีให้โดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องปาฏิหาริย์มารับรองความศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือว่าการพลิชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในคริสต์ศาสนาถือเป็นวีรคุณธรรมที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว

ความเคารพและการเฉลิมฉลองบุญราศีจะจำกัดเฉพาะภายในภูมิภาคหรือประชาคมที่บุญราศีนั้นเคยเกี่ยวข้องขณะยังมีชีวิตอยู่ จนเมื่อได้รับการประกาศเป็นนักบุญแล้วจึงจะได้รับความเคารพและจัดงานฉลองจากคริสต์ศาสนิกชนได้ทั่วโลก[1] เช่น คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้ฉลองเจ็ดบุญราศีมรณสักขีแห่งสองคอนในวันที่ 16 ธันวาคม[2] และฉลองบุญราศีนิโคลัส บุญเกิด กฤษบำรุง ในวันที่ 12 มกราคม[3]

บุญราศีชาวไทย

แก้

ชาวไทยได้รับการประกาศเป็นบุญราศี 2 ครั้ง รวม 8 องค์ ได้แก่

  • เจ็ดบุญราศีมรณสักขีแห่งสองคอน ผู้สร้างวีรกรรมความศรัทธาเมื่อ ค.ศ. 1940 ในสมัยที่ไทยมีกรณีพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส กรณีดินแดนในแถบอินโดจีน ช่วงนั้นมีคนไทยหลายคนเข้าใจผิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส ทางการไทยจึงได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านเลิกนับถือศาสนาคริสต์ แต่มีชาวบ้านอยู่ 7 คนที่ไม่ยอมละทิ้งศาสนา นำโดยนายสีฟอง อ่อนพิทักษ์ (อายุ 33 ปี) , ภคินี 2 รูปคือ ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข (อายุ 31 ปี) และซิสเตอร์คำบาง สีฟอง (อายุ 23 ปี) , สตรีสูงวัย 1 ท่านคือนางพุดทา ว่องไว (อายุ 59 ปี) , และเด็กสาวอีก 3 ท่านคือ นางสาวบุดสี ว่องไว (อายุ 16 ปี ), นางสาวคำไพ ว่องไว (อายุ 15 ปี) และเด็กหญิงพร ว่องไว (อายุ 14 ปี) ทั้งหมดถูกยื่นคำขาดว่าจะต้องถูกฆ่า หากไม่ยอมละทิ้งศาสนาคริสต์ ทั้ง 7 คนจึงพร้อมใจกันยอมสละชีวิตที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ โดยมีตำรวจเป็นคนคร่าชีวิต

ปี 1989 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศสดุดีให้ทั้ง 7 คน เป็น "บุญราศีมรณสักขี" หมายถึง คริสตชนผู้ที่ประกอบกรรมดีและพลีชีพเพื่อประกาศยืนยันความเชื่อในพระเจ้าไม่ยอมละทิ้งศาสนา อีกทั้งประกาศให้มีพิธีรำลึกบุญราศีสองคอนทั้ง 7 ในวันที่ 16 ธันวาคม โดยมีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในมหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ซึ่งหลังจากการสถาปนาบุญราศีทั้ง 7 แล้ว โบสถ์สองคอน จึงได้จัดงานชุมนุมครั้งใหญ่ เพื่อฉลองบุญราศีที่ประเทศไทย เรียกงานนี้ว่า “งานสันติร่วมจิตใจเดียว” ในปีต่อ ๆ มา จัดเป็นงานวันรำลึกบุญราศีทั้ง 7 แต่เพื่อความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจอยากไปร่วมงาน การฉลองที่โบสถ์สองคอนจึงกำหนดให้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ใกล้เคียงกับวันที่ 16 ธันวาคมที่สุด [4]

บาทหลวงบุญเกิดทำงานอภิบาลที่โบสถ์หลายแห่ง คือ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก, โบสถ์เซนต์นิโคลาส พิษณุโลก, อาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่, โบสถ์คาทอลิกในลำปาง, อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา และโบสถ์นักบุญเทเรซา โนนแก้ว

บาทหลวงบุญเกิดถูกจับในวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ หลังจากประกอบศาสนกิจที่โบสถ์นักบุญยอแซฟ บ้านหัน เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 ในข้อหาเป็นกบฏภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ระหว่างอยู่ในคุกที่เรือนจำกลางบางขวางเป็นปีที่สาม ท่านป่วยเป็นวัณโรคเป็นเวลา 9 เดือน และถึงแก่กรรมในคุกนั้นเอง เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1944 รวมอายุ 49 ปี ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรกซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เรือนจำ หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม มุขนายกเรอเน-มารี-โฌแซ็ฟ แปโรจึงได้รับอนุญาตให้นำศพของท่านมาฝังที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ

บาทหลวงนิโคลาสเป็นบาทหลวงที่เอาใจใส่งานอภิบาล มีใจเมตตาต่อคนยากจน และมีความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดี ระหว่างที่อยู่ในคุก ท่านได้สอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้นักโทษด้วยกันที่ใกล้ตายจำนวน 68 คน

พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้เสนอกรณีของท่านให้สมณะกระทรวงการสถาปนานักบุญพิจารณา หลังจากตรวจสอบอย่างถ้วนถี่ชัดแจ้งว่าท่านเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ พลีชีพเพราะเห็นแก่ความเชื่อในพระเป็นเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000 และประกอบพิธีสถาปนาเป็นบุญราศีมรณสักขี ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ประเทศอิตาลี

อ้างอิง

แก้
  1. "ขั้นตอนการแต่งตั้งเป็นนักบุญเขาทำกันอย่างไร". อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2012.
  2. "บุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย". อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2013.
  3. "บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง". อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2013.
  4. ธันยวัฒน์ เชื้อช้าง (10 มกราคม 2010). "รำลึกบุญราศีที่วัดสองคอน". กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2013.
  5. "บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง". ประวัตินักบุญตลอดปี. อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2013.