สวรรค์ (สันสกฤต: स्वर्ग, สฺวรฺค) หมายถึง ภพหนึ่งในคติของศาสนาต่าง ๆ เช่น ศาสนายูดาห์ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม อันเป็นสถานที่ตอบแทนคุณงามความดีของมนุษย์ที่ได้ทำไปเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้

จิตรกรรมฝาหนังเทวดาบนสวรรค์ วัดราชาธิวาส

รากศัพท์

แก้

คำว่า "สวรรค์" ในภาษาไทยนั้นเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ภาษาไทอื่น ๆ มักใช้คำว่า "เมืองฟ้า" เช่น ꪹꪣꪉꪡ꫁ꪱ "เมิงฟ้า" ในภาษาไทดำ

กลุ่มศาสนาอินเดีย

แก้

พระพุทธศาสนา

แก้

สวรรค์ในความเชื่อทางศาสนาพุทธ แปลว่า ภูมิหรือดินแดนที่มีอารมณ์เลิศด้วยดี เป็นที่อยู่ของเทวดา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้ สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที งดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่บังเกิดขึ้นเหมือนในเมืองมนุษย์ วิมานคือที่อยู่อาศัยของเทวดา ล้วนมีความวิจิตรงดงาม มีขนาดแตกต่างกัน มี ความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิด ขึ้น มีบริวารคอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าเป็นทิพย์ วิจิตรงดงาม บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็น เทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในคิลายนสูตร ของพระไตรปิฎกภาษาบาลี ดังนี้[1]

  1. จาตุมหาราชิกา ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุ ที่ได้ชื่อสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เพราะมีเทพผู้เป็นใหญ่ครองสวรรค์ชั้นนี้อยู่ 4 ท่าน คือ ท้าวธตรฐปกครองพวกคนธรรพ์ ท้าววิรุฬหกปกครองพวกกุมภัณฑ์ ท้าววิรูปักษ์ปกครองพวกนาค ท้าวเวสสุวรรณปกครองพวกยักษ์
  2. ดาวดึงส์ ตั้งอยู่ที่บนยอดเขาพระสุเมรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมีท้าวสักกะเป็นประธาน และที่สำคัญมีจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งทุกวันพระเทวดาจะมาประชุมกันที่ศาลาสุธรรมา เพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ
  3. ยามา มีท้าวสุยามะเป็นจอมเทพ
  4. ดุสิต มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ
  5. นิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ
  6. ปรนิมมิตวสวัตดี มีท้าววสวัตตีเป็นจอมเทพ

กลุ่มศาสนาอับราฮัม

แก้

คริสต์ศาสนา

แก้

โรมันคาทอลิก

แก้

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก "สวรรค์" มีความหมายต่างจากนิกายโปรเตสแตนต์ที่ถือว่าสวรรค์เป็นสถานที่ทางกายภาพ ชาวคาทอลิกเชื่อกันว่าความรักต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ถูกทำลายด้วยความตายแต่ยังคงอยู่ต่อไป โดยอาศัยพระคริสต์ผู้ทรงชีวิตร่วมกับพระบิดา ดังนั้น เมื่อคนหนึ่งตายจากโลกนี้ไป คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับเขาได้ เพราะเขามีชีวิตในความรักของพระบิดา ผู้ล่วงลับมิได้ขาดสายสัมพันธ์แห่งความรักต่อผู้เป็น และพร้อมกับพระคริสต์ เขารอให้ผู้ที่ยังมีชีวิตในโลกจะไปร่วมกับเขาใน "เยรูซาเลมใหม่" หรือ "แผ่นดินใหม่" ที่เราเรียกว่า "สวรรค์"

พระวรสารใช้โวหารพรรณนาสภาพชีวิตกับพระเจ้าว่า เป็นชีวิตที่ทุกคนรวมกันฉันท์พี่น้องกับพระบิดา หรือเปรียบกับงานเลี้ยงที่ทุกคนได้รับเชิญไปร่วม หรืออธิบายว่าเป็นการชมเชยพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ที่จริง เรื่องชีวิตกับพระผู้เป็นเจ้าที่เรียกว่าอยู่สวรรค์ พ้นสติปัญญาของมนุษย์ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในโลก เปาโลอัครทูตอธิบายว่า สำหรับเขาการกลับคืนชีพได้เริ่มแล้ว เพราะพระจิตของพระเยซูผู้ทรงกลับคืนชีพ ทรงโปรดให้เขามีชีวิตใหม่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ปรากฏภายนอก ผู้ที่ตายโดยมีชีวิตของพระคริสต์ในตัวเขา มีส่วนในการกลับคืนชีพของพระองค์แล้ว อย่างไรก็ดี เขายังจะต้องรอคอยการกลับคืนชีพของทุกคนรวมกันในวันสุดท้าย เหตุว่า ประชาคมมนุษย์ยังไม่ได้รับการรวบรวมในพระคริสตวรกายอย่างครบบริบูรณ์[2]

โปรเตสแตนต์

แก้

ในคริสตจักรโปรเตสแตนต์ "แผ่นดินสวรรค์" หรือ "แผ่นดินโลกใหม่" หรือ "นครเยรูซาเล็มใหม่" หรือ "สวรรค์" หมายถึง สถานที่ที่พระเป็นเจ้าสร้างขึ้นเพื่อเป็นมรดกแก่ผู้ที่ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระองค์ และผู้ที่เชื่อในการไถ่และได้รับความรอดจากพระบุตรพระเป็นเจ้า (คือรอดพ้นจากความพินาศด้วยความเชื่อนั้น) ความรอดนั้นเป็นความรอดส่วนบุคคล ไม่มีผู้ใดสามารถร้องขอ/วอนขอความรอดจากพระเจ้าแทนกันได้ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าในคริสตจักรโปรเตสแตนต์จะไม่มีการวอนขอจากพระนางมารีย์พรหมจารี หรือนักบุญต่าง ๆ ตามคริสตจักรโรมันคาทอลิก และในจุดนี้เองที่เป็นความเชื่อที่ต่างกันที่สุดในนิกาย คริสตจักรโปรเตสแตนต์ยึดถือตามคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก นั่นคือเชื่อว่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ผู้ที่บันทึกได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงมาจาก สวรรค์

อ้างอิง

แก้
  • มก. อุโปสถสูตร เล่ม 34 หน้า 382
  1. คิลายนสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
  2. โรแบต์ โกสเต, คำสอนคริสตชน, 1996, หน้า160