พระวิญญาณบริสุทธิ์

พระวิญญาณบริสุทธิ์ (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ พระจิต (ศัพท์คาทอลิก) หรือ พระจิตศักดิ์สิทธิ์ (ศัพท์ออร์โธดอกซ์) (อังกฤษ: Holy Spirit; Holy Ghost) เป็นวิญญาณชนิดหนึ่งตามความเชื่อในศาสนาอับราฮัม อันได้แก่ ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม แต่แต่ละศาสนาก็มีความเชื่อเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์แตกต่างกัน บุคคลผู้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะมีความคิดความอ่านไปในวิถีทางเดียวกับพระเจ้า

พระวิญญาณบริสุทธิ์ในรูปนกพิราบล้อมรอบด้วยบรรดาทูตสวรรค์ วาดโดยกอร์ราโด จีอากวินโต ราวคริสต์ทศวรรษ 1750

คริสต์ศาสนิกชนส่วนใหญ่ (นิกายโรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์) เชื่อเรื่องตรีเอกภาพ โดยถือว่าพระเจ้าพระองค์เดียวนั้นทรงมีสามพระบุคคลแตกต่างกัน คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงถือพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระเจ้าด้วย แต่คริสต์ศาสนิกชนอีกหลายนิกาย (เช่น พยานพระยะโฮวา) รวมทั้งศาสนาอับราฮัมอื่น ๆ (คือชาวยิวและชาวมุสลิม) ก็ไม่ยอมรับความเชื่อนี้[1][2]

ศาสนายูดาห์

แก้

คำว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ปรากฏเพียงสามครั้งในคัมภีร์ฮีบรู (ในสดุดี 51:11 และอีกสองครั้งใน อิสยาห์ 63:10,11) ขณะที่คำว่า “พระวิญญาณ” ที่หมายถึง “พระวิญญาณของพระเจ้า” จะปรากฏบ่อยครั้งกว่า ศาสนายูดาห์เชื่อว่าพระเจ้ามีหนึ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าแนวคิดแบบทวิเอกภาพนิยม (ที่ว่าพระเจ้าเดียวมีสองพระบุคคล) หรือตรีเอกภาพนิยม (ที่ว่าพระเจ้าเดียวมีสามพระบุคคล) ศาสนายูดาห์ก็ถือว่าไม่ใช่แนวคิดแบบเอกเทวนิยมอย่างแท้จริง คำว่า “รวค ฮาโกเดช” (Holy Spirit) ปรากฏหลายครั้งในวรรณคดีทาลมุดและมิดราช โดยใช้หมายถึงการดลใจผู้เผยพระวจนะ และบางครั้งก็หมายถึงพระเจ้าเอง[3] คำว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ในภาษารับบี แม้ว่ามักใช้ในเชิงเป็นบุคคล แต่ยังคงหมายถึง “คุณภาวะของพระเจ้า ซึ่งเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระองค์” ต่างจากศาสนาคริสต์กระแสหลักที่มองว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็น “ภาคทางอภิปรัชญาของเทวสภาพ” [4]

ในศาสนายูดาห์ จึงมีการกล่าวถึง “พระวิญญาณของพระเจ้า” “พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยาห์เวห์” อยู่หลายครั้ง แต่ปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระเจ้ามีสองหรือสามพระบุคคล

ศาสนาคริสต์

แก้

คริสต์ศาสนิกชนส่วนใหญ่ถือว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์” คือพระบุคคลที่สามของพระเจ้าซึ่งเป็นตรีเอกภาพ อันประกอบด้วยพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์[5][6][7] คริสตชนเชื่อว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้เป็นผู้เปิดเผยพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ว่า “ยาห์เวห์[8] ต่อประชาชนชาวอิสราเอล และเป็นผู้ส่งพระบุตรคือพระเยซูมาช่วยประชาชนนั้นให้รอดจากพระพิโรธ และส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มาเพื่อชำระและประทานชีวิตแก่คริสตจักร[9][10][11] พระเจ้าที่ทรงเป็นตรีเอกภาพนี้มีสาม “พระบุคคล”[12] แต่เป็นภาวะพระเจ้าเดียว[13] ซึ่งเรียกว่าเทวภาพ (Godhood) ซึ่งเป็นพระสารัตถะของพระเจ้า [14]

ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย เปาโลอัครทูตกล่าวว่าผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คือ ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความเชื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน[15]

ศาสนาอิสลาม

แก้

ในศาสนาอิสลาม คำว่า "วิญญาณบริสุทธิ์" (อาหรับ: الروح القدس al-Ruh al-Qudus) ปรากฏหลายครั้งในคัมภีร์อัลกุรอาน โดยหมายถึงผู้ทำหน้าที่สื่อสารหรือปฏิบัติงานแทนพระเจ้า ในตำราหะดีษจึงระบุว่าวิญญาณบริสุทธิ์คือทูตสวรรค์ญิบรีล คำว่า "จิตวิญญาณ" (الروح al-Ruh) ในศาสนาอิสลามยังใช้หมายถึงวิญญาณจากพระเจ้าที่สร้างสรรค์และให้ชีวิตแก่นบีอาดัม และเป็นผู้ดลใจเหล่าทูตสวรรค์และผู้เผยพระวจนะ ตามอัลกุรอานความเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นตรีเอกภาพหรือทวิเอกภาพถือเป็นเรื่องต้องห้ามและผู้เชื่อถือว่าทำบาปหนัก[16][17] นอกจากนี้คำว่าวิญญาณบริสุทธิ์ในภาษาอาหรับยังอยู่ในรูปเพศชายเสมอในอัลกุรอาน (แต่เพศทางไวยากรณ์อาจจะไม่เกี่ยวกับเพศทางกายภาพ)

อ้างอิง

แก้
  1. Systematic Theology by Lewis Sperry Chafer 1993 ISBN 0825423406 page 25
  2. The Wiersbe Bible Commentary: The Complete New Testament by Warren W. Wiersbe 2007 ISBN 9780781445399 page 471
  3. Alan Unterman and Rivka Horowitz,Ruah ha-Kodesh, Encyclopedia Judaica (CD-ROM Edition, Jerusalem: Judaica Multimedia/Keter, 1997).
  4. Joseph Abelson,The Immanence of God in Rabbinical Literature (London:Macmillan and Co., 1912).
  5. Millard J. Erickson (1992). Introducing Christian Doctrine. Baker Book House. p. 103.
  6. T C Hammond (1968). In Understanding be Men:A Handbook of Christian Doctrine (sixth ed.). Inter-Varsity Press. pp. 54–56 and 128–131. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  7. "Catholic Encyclopedia:Holy Spirit".
  8. สมาคมพระคริสตธรรมไทย, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  9. "Catechism of the Catholic Church: GOD REVEALS HIS NAME".
  10. St. Thomas Aquinas (1920). The Summa Theologica: First Part - The Procession of the Divine Persons (second and revised edition (Literally translated by Fathers of the English Dominican Province) ed.).
  11. Pope Pius XII (1943). Mystici Corporis Christi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-08.
  12. See discussion in Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). "Person" . สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.
  13. Grudem, Wayne A. 1994. Systematic Theology: An Introduction to Biblical Doctrine. Leicester, England: Inter-Varsity Press; Grand Rapids, MI: Zondervan. Page 226.
  14. "Catechism of the Catholic Church: The Dogma of the Holy trinity".
  15. กาลาเทีย 5.22-26, พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับ KJV
  16. Griffith, Sidney H. Holy Spirit, Encyclopaedia of the Quran.
  17. Patrick Hughes, Thomas Patrick Hughes, A Dictionary of Islam, p. 605.