วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์

วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์[1] (อังกฤษ: Epiphany of the Lord) หมายถึง วันสมโภชที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซู (ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่าเป็นพระเป็นเจ้า) ได้มาปรากฏพระองค์ต่อมนุษย์ คริสตจักรต่าง ๆ ตีความเหตุการณ์นี้แตกต่างกันไป โดยศาสนาคริสต์ตะวันออกในสมัยแรกถือว่า “พระคริสต์แสดงองค์” หมายถึงสองเหตุการณ์คือการประสูติของพระเยซูและการที่พระเยซูทรงรับบัพติศมา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ได้เปลี่ยนมาถือการสมโภชพระเยซูทรงรับบัพติศมาอย่างเดียว เพราะถือว่าพระเยซูแสดงองค์เป็นพระบุตรพระเป็นเจ้าอย่างเป็นทางการในพิธีบัพติศมานี้[2] ขณะที่ศาสนาคริสต์ตะวันตก “พระคริสต์แสดงองค์” หมายถึง เหตุการณ์ที่พระกุมารเยซูทรงรับการนมัสการของโหราจารย์ทั้ง 3 คนที่มาจากตะวันออก เพราะถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่พระเป็นเจ้าได้แสดงองค์ต่อคนต่างชาติเป็นครั้งแรก

ศาสนาคริสต์ตะวันออกถือว่า "พระคริสต์แสดงองค์" หมายถึง เหตุการณ์ที่พระกุมารเยซูทรงรับการนมัสการของโหราจารย์ ภาพวาดโดย บาร์โตโลเม เอสเตบัน มูรีโย

โดยทั่วไปคริสตจักรจะจัดพิธีสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ในวันที่ 6 มกราคม แต่เนื่องจากคริสตจักรตะวันออกใช้ปฏิทินจูเลียน ซึ่งวันจะคลาดเคลื่อนจากปฏิทินเกรกอเรียนที่คริสตจักรตะวันตกใช้ไป 13 วัน [3] ดังนั้นวันที่ 6 มกราคม ของคริสตจักรตะวันออกจึงตรงกับวันที่ 19 มกราคมในคริสตจักรตะวันตก[4]

ปัจจุบันคริสตจักรแห่งอังกฤษและคริสตจักรโรมันคาทอลิกในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ไม่ได้ยึดถือวันที่ 6 มกราคม เป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ แต่เลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ 1 มกราคมแทน

อ้างอิง แก้

  1. วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556
  2. "The Origins and Spirituality of the Epiphany". Catholicireland.net. February 14, 1969. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-27. สืบค้นเมื่อ December 22, 2011.
  3. Holger Oertel (September 22, 2007). "The Julian Calendar". Ortelius.de. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-03. สืบค้นเมื่อ December 22, 2011.
  4. "The Calendar of the Orthodox Church". Goarch.org. สืบค้นเมื่อ December 22, 2011.