ปฏิทินจูเลียน
ปฏิทินจูเลียน (อังกฤษ: Julian calendar; คำว่า จูเลียน แปลว่า แห่งจูเลียส; ละติน: Calendarium Iulianum) เป็นปฏิทินที่สร้างขึ้นโดยกงสุลจูเลียส ซีซาร์ แห่งโรมัน โดยปฏิรูปจากปฏิทินโรมัน เมื่อ 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีผลบังคับใช้ในปีถัดไปคือ 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช
รอบปีหนึ่งของปฏิทินจูเลียนมี 12 เดือน มีจำนวนวันรวม 365 วัน นอกจากนี้เดือนกุมภาพันธ์จะเพิ่มอธิกวารทุก ๆ สี่ปี ดังนั้นรอบปีโดยเฉลี่ยต่อสี่ปีของปฏิทินจูเลียนเท่ากับ 365.25 วัน
เดือน (ภาษาโรมัน) | จำนวนวัน (ก่อน 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช) | จำนวนวัน (ตั้งแต่ 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช) | เดือน (ภาษาอังกฤษ) |
---|---|---|---|
Ianuarius[1] | 29 | 31 | January |
Februarius | 28 (อธิกสุรทิน: 23 หรือ 24) | 28 (อธิกสุรทิน: 29) | February |
Mercedonius/Intercalaris | 0 (อธิกสุรทิน: 27) | (ถูกยุบ) | — |
Martius | 31 | 31 | March |
Aprilis | 29 | 30 | April |
Maius | 31 | 31 | May |
Iunius[1] | 29 | 30 | June |
Quintilis[2] (Iulius)[1] | 31 | 31 | July |
Sextilis (Augustus) | 29 | 31 | August |
September | 29 | 30 | September |
October | 31 | 31 | October |
November | 29 | 30 | November |
December | 29 | 31 | December |
แรกเริ่มนั้นวันวสันตวิษุวัตตรงกับวันที่ 1 Martius (มีนาคม) จึงถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาในปี 153 ก่อน ค.ศ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เดือน Ianuarius (มกราคม) เป็นเดือนแรก
แรงจูงใจในการสร้าง
แก้รอบปีธรรมดาของปฏิทินโรมันที่ใช้กันมาก่อนนี้ ประกอบด้วยเดือน 12 เดือน ซึ่งมีจำนวนวันรวมเป็น 355 วัน นอกจากนี้บางปีก็มีเดือน Mercedonius ซึ่งมี 27 วันเข้ามาแทรกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนมีนาคม เดือนที่แทรกเข้ามานี้เกิดจากการแทรกจำนวนวัน 22 วันหลังจากวันที่ 23 หรือ 24 ของเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอีก 5 วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งนับถอยหลังสู่เดือนมีนาคม) ก็กลายเป็น 5 วันของเดือนที่แทรกนี้ ผลสุทธิของการแทรกเดือนนี้ทำให้มี 22 หรือ 23 วันเพิ่มขึ้นในปีนั้น และส่งผลรวมให้ปีนั้นมี 377 หรือ 378 วัน [3]
ผลงานของนักเขียนรุ่นหลัง Censorinus กับ Macrobius กล่าวว่า วัฏจักรของการแทรกเดือนในอุดมคติ ควรประกอบด้วยรอบปีธรรมดา 355 วัน สลับกับรอบปีแทรกเดือน 377 หรือ 378 วันที่สลับกันอีกด้วย ดังนั้นรอบปีโดยเฉลี่ยต่อสี่ปีของปฏิทินโรมันในระบบนี้จะเป็น 366¼ วัน ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนโดยเฉลี่ยหนึ่งวันต่อปีเมื่อเทียบกับอายันหรือวิษุวัตใด ๆ Macrobius ยังอธิบายการปรับวันเพิ่มเติมด้วยว่า ระยะ 8 ปีสุดท้ายในรอบ 24 ปี ควรมีรอบปีแทรกเดือนเพียงสามครั้ง แต่ละครั้งมี 377 วัน หลังจากการปรับวันแล้วจะทำให้รอบปีโดยเฉลี่ยต่อยี่สิบสี่ปีเท่ากับ 365¼ วัน การแทรกเดือนในทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามทฤษฎีในอุดมคติดังที่กล่าวมา แต่ถูกพิจารณาโดยปุโรหิตสูงสุด (Pontifex Maximus) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า การพิจารณาแทรกเดือนของปุโรหิตสูงสุดมิได้ใกล้เคียงทฤษฎีในอุดมคติเลย พวกเขามักจะแทรกเดือนทุกสองหรือสามปี แต่บางครั้งก็ไม่แทรกเดือนเลยเป็นเวลานาน และในบางโอกาสก็แทรกเดือนในสองปีติดกันด้วย
ถ้ามีการจัดการอย่างถูกต้อง ระบบนี้จะทำให้รอบปีโดยเฉลี่ยของโรมันตรงกับปีที่นับตามสุริยคติอย่างหยาบ ๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปุโรหิตสูงสุดมักจะเป็นนักการเมือง และเนื่องจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งนักปกครองของโรมันอ้างอิงตามปีปฏิทิน อำนาจเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะถูกใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ ปุโรหิตสูงสุดสามารถขยายรอบปีให้ยาวขึ้น เพื่อให้เขาและพันธมิตรสามารถดำรงตำแหน่งนานขึ้น หรือสามารถปฏิเสธการขยายรอบปีเพื่อกำจัดปรปักษ์มิให้อยู่ในตำแหน่ง [4]
หากการแทรกเดือนถูกละเลยมากครั้งเกินไป ดังเช่นที่ปรากฏหลังจากสงครามพิวนิกครั้งที่สองและระหว่างสงครามกลางเมืองในโรมัน ปฏิทินจะเบี่ยงเบนออกจากปีที่นับตามสุริยคติอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านี้ การแทรกเดือนมักจะถูกพิจารณาค่อนข้างล่าช้า ทำให้ประชาชนชาวโรมันโดยทั่วไปไม่ทราบวันที่ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้หลายปีก่อนเกิดปฏิทินจูเลียนถูกเรียกว่า "ปีแห่งความสับสน" (years of confusion) ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงที่จูเลียส ซีซาร์ครองโรมก่อนมีการปฏิรูป เมื่อ 63–46 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการแทรกเดือนเพียงห้าครั้งและไม่มีอีกเลยในห้าปีสุดท้าย แทนที่ควรจะมีแปดครั้ง
เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างถาวร จูเลียส ซีซาร์ จึงบัญชาให้มีการปฏิรูปปฏิทิน โดยการสร้างปฏิทินขึ้นจากวิถีโคจรของดวงอาทิตย์โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์ คุณลักษณะดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์ในเวลาไม่นานหลังจากปฏิทินใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ต่อมา 37 ปีก่อนคริสต์ศักราช Varro ใช้ปฏิทินนี้เพื่อกำหนดวันที่เริ่มต้นของฤดูกาลทั้งสี่ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้เลยเฉพาะเมื่อ 8 ปีก่อน [5] หลังจากหนึ่งศตวรรษผ่านไป พลินีผู้อาวุโสระบุว่าเหมายันตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม เพราะว่าดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งองศาที่แปดของราศีมกรในวันนั้น [6] (ในวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เหมายันไม่ใช่วันดังกล่าว)
ชื่อเดือนที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเมือง
แก้จูเลียส ซีซาร์ ได้ใส่ชื่อของตนเป็นชื่อเดือน นั่นคือเดือน Iulius (July) ในปี 44 ก่อน ค.ศ.
ต่อมาในปี 8 ก่อน ค.ศ. จักรพรรดิเอากุสตุส ได้เปลี่ยนเดือน Sextilis เป็นชื่อของตนบ้าง คือ August และให้เปลี่ยนจำนวนวันเป็น 31 วันด้วย เพราะกลัวว่าจะน้อยหน้าซีซาร์ จึงจำเป็นต้องตัดวันหนึ่งวันจากเดือน Februarius (February) และเปลี่ยนแปลงเดือนถัดจาก Augustus ให้มี 30 วัน สลับกับ 31 วัน ตามทฤษฎีของโจฮันเนส เดอ ซาโกรบอสโก (Johannes de Sacrobosco)
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ แต่ไม่ได้รับความสำเร็จเช่น
- จักรพรรดิกาลิกุลา เปลี่ยน September เป็น Germanicus
- จักรพรรดิแนโร เปลี่ยน Aprilis เป็น Neronius และ Maius เปลี่ยน Iunius เป็น Germanicus
- จักรพรรดิดอมิติอานุส เปลี่ยน September เป็น Germanicus และ October เป็น Domitianus
- จักรพรรดิก็อมมอดุส เปลี่ยนชื่อเดือนทั้งหมดเป็นตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมดังนี้ :
- Amazonius, Invictus, Felix, Pius, Lucius, Aelius, Aurelius, Commodus, Augustus, Herculeus, Romanus, Exsuperatorius
จากปฏิทินจูเลียนสู่ปฏิทินกริกอเรียน
แก้ปฏิทินจูเลียนใช้ในยุโรปเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันจนถึงปี 1582 เมื่อสันตะปาปาเกรกอร์ ได้ปฏิรูปปฏิทินใหม่และประกาศออกมาใช้ เรียกกันว่า ปฏิทินกริกอเรียน ซึ่งเริ่มแรกประเทศคาทอลิกเท่านั้นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศอังกฤษเริ่มต้นใช้ในปี 1752 โดยประกาศให้หลังวันที่ 2 กันยายน เป็น 14 กันยายน ในขณะที่ประเทศกรีซเพิ่งจะมาเริ่มใช้ในปี 1923
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 อักษร J ยังไม่มีการประดิษฐ์ขึ้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16
- ↑ พบว่ามีการสะกดเป็น Quinctilis ด้วยเช่นกัน ในหน้า 669 ของ The Oxford Companion to the Year
- ↑ Blackburn, B. & Holford-Strevens, L. The Oxford Companion to the Year. Oxford University press, 1999, reprinted with corrections, 2003. p. 669-70.
- ↑ Censorinus, De die natali 20.7 (Latin)
- ↑ Varro, On Agriculture I.1.28
- ↑ Pliny, Natural History: (Book 18, LIX / LXVI / LXVIII / LXXIV)