มรณสักขีแห่งสองคอน

มรณสักขีแห่งสองคอน[1] คือคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทย 7 คน ที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตเพราะไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์ ทั้ง 7 คนได้รับการยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็นมรณสักขี และได้รับการประกาศเป็นบุญราศีพร้อมกันโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 นับเป็นคริสตชนชาวไทยกลุ่มแรกที่ได้เป็นบุญราศี

บุญราศีแห่งสองคอน
มรณสักขี
เสียชีวิต16-26 ธันวาคม พ.ศ. 2483
อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ประเทศไทย (อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน)
นิกายโรมันคาทอลิก
เป็นบุญราศี22 ตุลาคม พ.ศ. 2532
มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
สักการสถานหลักพระมารดาแห่งมรณสักขี
วันฉลอง16 ธันวาคม

รายนามมรณสักขี

แก้

มรณสักขีทั้งเจ็ดท่าน มีรายนามดังต่อไปนี้[2]

  1. บุญราศีฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ (อายุ 33 ปี)
  2. บุญราศีอักแนส พิลา ทิพย์สุข (อายุ 31 ปี)
  3. บุญราศีลูซีอา คำบาง สีคำพอง (อายุ 23 ปี)
  4. บุญราศีอากาทา พุดทา ว่องไว (อายุ 59 ปี)
  5. บุญราศีเซซีลีอา บุดสี ว่องไว (อายุ 16 ปี)
  6. บุญราศีบีบีอานา คำไพ ว่องไว (อายุ 15 ปี)
  7. บุญราศีมารีอา พร ว่องไว (อายุ 14 ปี)

การเป็นมรณสักขี

แก้

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย การเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งที่หมู่บ้านสองคอน จังหวัดนครพนม ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวคาทอลิก บาทหลวงปอล ฟีเก อธิการโบสถ์แม่พระไถ่ทาสซึ่งเป็นโบสถ์ประจำชุมชน ได้ถูกขับออกนอกประเทศ

นายสีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูประจำโบสถ์ และซิสเตอร์อีกสองคน ได้แก่ ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข ซิสเตอร์คำบาง สีคำพอง จึงช่วยกันดูแลความเชื่อของชาวบ้านแทน การเบียดเบียนยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีซิสเตอร์ถูกข่มขืน รูปศักดิ์สิทธิ์ถูกเหยียดหยามทำลาย นายสีฟองจึงเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังนายอำเภอมุกดาหาร แต่จดหมายนั้นกลับตกไปอยู่ในมือของตำรวจ ตำรวจจึงเขียนจดหมายปลอมว่านายอำเภอให้นายสีฟองไปพบ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนาย ได้แก่ ลือ เมืองโคตร และหน่อ นำตัวนายสีฟองออกจากบ้านสองคอนตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พอเช้าวันที่ 16 ลือก็ยิงเขาเสียชีวิตที่บ้านพาลุกา นับเป็นชาวไทยคาทอลิกคนแรกที่ได้พลีชีพเป็นมรณสักขี[3]

เมื่อครูสีฟองเสียชีวิต ชาวบ้านก็หวาดผวาไม่กล้าทำศาสนกิจตามปกติ ตำรวจยังคงเรียกประชุมชาวบ้านแล้วสั่งให้เปลี่ยนศาสนา แต่มีคริสตชน 8 คนยืนยันจะไม่ละทิ้งความเชื่อ ได้แก่

  1. ซิสเตอร์อักแนส พิลา ทิพย์สุข
  2. ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพอง
  3. นางสาวอากาทา พุดทา ว่องไว
  4. นางสาวเซซีลีอา บุดสี ว่องไว
  5. นางสาวบีบีอานา คำไพ ว่องไว
  6. เด็กหญิงมารีอา พร ว่องไว
  7. เด็กหญิงมารีอา สอน ว่องไว
  8. นางสาวเซซีลีอา สุวรรณ

ในวันที่ 26 ธันวาคม ทั้งหมดจึงถูกตำรวจเรียกไปที่สุสานประจำชุมชน นายกองสี บิดาของนางสาวสุวรรณได้ตามมาพาบุตรสาวกลับบ้าน จึงเหลือผู้ยอมพลีชีพ 7 คน ทั้ง 7 นั่งอธิษฐานที่ขอนไม้แล้ว พวกตำรวจจึงใช้ปืนยิงแต่ละคนจนเข้าใจว่าเสียชีวิตหมดแล้วจึงกลับไป ชาวบ้านที่เข้าไปดูศพพบว่ามีเด็กหญิงสอนเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต และช่วยกันฝังศพมรณสักขีทั้ง 6 คนที่ป่าช้านั้น นับเป็นมรณสักขีชาวไทยคาทอลิกคนที่ 2-7 ตามลำดับ

อ้างอิง

แก้
  1. "มรณสักขีแห่งสองคอน". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 30 กันยายน ค.ศ. 2015. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. "ประวัติบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย". อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 28 May 2013.
  3. วิกเตอร์ ลาร์เก, บาทหลวง, ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย, ฉะเชิงเทรา : แม่พระยุคใหม่, 2539, หน้า 309-15