คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส[1] (ฝรั่งเศส: Missions Étrangères de Paris; M.E.P) เป็นคณะชีวิตแพร่ธรรมของคริสตจักรโรมันคาทอลิก (ไม่ใช่คณะนักบวชคาทอลิก) สมาชิกประกอบด้วยบาทหลวงประจำมุขมณฑลและฆราวาสที่อุทิศตนทำงานเป็นมิชชันนารีในต่างประเทศ[2]
ชื่อย่อ | M.E.P. |
---|---|
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1658 |
ประเภท | คณะชีวิตแพร่ธรรม |
สํานักงานใหญ่ | กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
บาทหลวง Georges Colomb | |
เว็บไซต์ | http://www.mepasie.org/ |
คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสก่อตั้งราว ค.ศ. 1658-63 ในปี ค.ศ. 1659 สมณะกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มีคำสั่งตั้งคณะอย่างเป็นทางการ และให้อภิสิทธิ์ว่าถ้าคณะนี้ไปเผยแผ่ศาสนาในดินแดนอาณานิคมของประเทศสเปนและโปรตุเกสก็ไม่ต้องขึ้นกับประเทศเจ้าอาณานิคม (แต่ขึ้นกับสันตะสำนักอย่างเดียว) นับตั้งแต่ก่อตั้งมาภายในเวลา 350 ปี คณะก็ได้ส่งบาทหลวงมิชชันนารีไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในทวีปเอเชียและอเมริการวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4,200 คน โดยมีพันธกิจหลักคือการปรับเปลี่ยนจารีตประเพณีของชนท้องถิ่น บวชคนพื้นเมืองเป็นนักบวช และปฏิบัติตามนโยบายของสันตะสำนักอย่างเคร่งครัด[3]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสถูกรัฐบาลท้องถิ่นในเอเชียเบียดเบียน ฝรั่งเศสก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงและทำสงครามกับรัฐนั้น[4] ที่เวียดนามมีพลเรือเอกฌ็อง-บาติสต์ เซซีย์ และพลเรือเอกรีโกลต์ เดอ เฌอนูยลีใช้เหตุผลเดียวกันนี้นำกองทัพเข้าทำสงครามกับเวียดนาม ที่ประเทศจีนกองทัพฝรั่งเศสใช้กรณีฆาตกรรมบาทหลวงโอกุสต์ ชัปเดแลน เป็นข้ออ้างในการทำสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1856
ในปัจจุบันยังคงมีมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในทวีปเอเชีย
ประวัติ
แก้บาทหลวงอาแล็กซ็องดร์ เดอ รอด มิชชันนารีคณะเยสุอิตซึ่งทำการประกาศข่าวดีในภูมิภาคตะวันออกไกลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เห็นว่าควรบวชคนพื้นเมืองเป็นบาทหลวง คริสตจักรท้องถิ่นจะได้เติบโตก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงเดินทางไปกรุงโรม เพื่อขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ทรงแต่งตั้งมุขนายกผู้แทนพระสันตะปาปาไปปกครองสำนักมิสซังในภูมิภาคนั้น แต่พระสันตะปาปาไม่ทรงตอบรับ ท่านจึงเดินทางไปปารีสเพื่อหาอาสาสมัครไปทำงานแพร่ธรรมต่อ บาทหลวงฟร็องซัว ปาลูว์ และบาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต อาสาทำงานนั้น ทั้งสองเดินทางไปกรุงโรมและได้รับการอภิเษกเป็นมุขนายกในปี ค.ศ. 1658 โดยมุขนายกปาลูว์ได้รับมอบหมายให้ไปปกครองมิสซังตังเกี๋ย ส่วนมุขนายกล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต ให้ไปปกครองมิสซังโคชินไชนา จึงถือว่าเหตุการณืนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส[1] ต่อมาอีญาซ กอตอล็องดี ได้เข้าร่วมพันธกิจด้วย และได้รับอภิเษกเป็นมุขนายกเช่นกัน ทั้งสามได้รับสิทธิว่าภายในกำหนดระยะเวลา 7 ปีนั้นสามารถบวชกุลบุตรพื้นเมืองที่รู้ภาษาละตินเป็นบาทหลวงได้ ทั้งสามยังได้ตั้งเซมินารีขึ้นที่กรุงปารีสเพื่ออบรมกุลบุตรชาวฝรั่งเศสไปร่วมพันธกิจนี้
มุขนายกทั้งสามพร้อมกับมิชชันนารีในคณะของตนทยอยออกเดินทางจากฝรั่งเศส คณะของมุขนายกเดอ ลา ม็อต ออกเดินทางในปี ค.ศ. 1660 มาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ส่วนคณะของมุขนายกปาลูว์มาถึงเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนมุขนายกกอตอล็องดีถึงแก่กรรมที่ประเทศอินเดียเสียก่อน ขณะนั้นเกิดการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนอย่างหนักในตังเกี๋ยและจีน ประกอบกับพระเจ้ากรุงสยามได้ต้อนรับคณะมิชชันนารีเป็นอย่างดี มุขนายกทั้งสองที่เหลือจึงตัดสินใจปักหลักประกาศศาสนาในดินแดนสยาม จนกระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 จึงโปรดให้ตั้งมิสซังสยามเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปา บาทหลวงหลุยส์ ลาโน มิชชันนารีในคณะของมุขนายกปาลูว์ได้รับอภิเษกเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังองค์แรก
มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสยังคงปฏิบัติพันธกิจอยู่จวบจนปัจจุบัน ตามสถิติปี ค.ศ. 2014 คณะมีสมาชิกเป็นบาทหลวง 208 องค์[5]
การล่วงละเมิดทางเพศที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
แก้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2023 การสืบสวนของนักข่าวที่ดำเนินการโดยนักข่าวที่ France 24 เปิดเผยว่าพระสงฆ์ MEP สองคนในประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในคดีล่วงละเมิดทางเพศ คุณพ่อกาเบรียล ตีเกรอาต ซึ่งเสียชีวิตในปี 2550 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประจำในหมู่ชาว กะเหรี่ยง ใน วัดพระมารดา ขุนห้วยช่องแคบ เป็นเวลา 30 ปี มีพยานห้าคนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยบาทหลวง
รายงานพูดถึงเรื่องบาทหลวงอีกรูปหนึ่งที่เคยทำงานในประเทศไทยและยังคงปฏิบัติการอยู่ในประเทศอื่นๆในเอเชีย[6] [7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "ประวัติความเป็นมาคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส". หอจดหมายเกตุ มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Asia in the Making of Europe, p.231
- ↑ Missions, p.4
- ↑ Missions, p.5
- ↑ "La Société des Missions Etrangères". The Hierarchy of the Catholic Church. 31 December 2015. สืบค้นเมื่อ 8 January 2016.
- ↑ https://www.youtube.com/watch?v=kLUs3b_t_UA&t=1860s
- ↑ https://www.france24.com/fr/%C3%A9missions/reporters/20230915-abus-sexuels-au-sein-de-l-%C3%A9glise-les-missions-%C3%A9trang%C3%A8res-de-paris-dans-la-tourmente
- Missions étrangères de Paris. 350 ans au service du Christ 2008 Editeurs Malesherbes Publications, Paris ISBN 978-2-916828-10-7