บาทหลวง (อังกฤษ: priest)[1] หมายถึง นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก[2] และออร์ทอดอกซ์ ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์เรียก priest ว่า ปุโรหิต

บาทหลวงในนิกายคาทอลิก

แก้

นิกายโรมันคาทอลิก

แก้

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก บาทหลวงหมายถึงบุรุษที่ได้รับศีลอนุกรม (เรียกอีกอย่างว่าศีลบวช) ขั้นที่ 2 คือขั้นบาทหลวง (priesthood) มีหน้าที่เป็นโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ชาวคาทอลิกถือว่าบาทหลวงเป็นตัวแทนของพระเยซูและอัครทูตของพระองค์ ผู้ที่เป็นบาทหลวงในนิกายนี้ในพิธีบวชต้องปฏิญาณตน 3 อย่างชั่วชีวิต[1] คือ

  1. เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
  2. ถือโสด
  3. ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย

หากบาทหลวงนั้นสังกัดคณะนักบวชคาทอลิก จะต้องปฏิญาณเพิ่มอีก 1 ข้อ คือ ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ชาวคาทอลิกจะเรียกบาทหลวงว่า “คุณพ่อ” (Father) เพราะถือว่าเป็นบิดาทางฝ่ายจิตวิญญาณ ที่คอยแนะนำสั่งสอนและให้พรต่าง ๆ เพื่อความเจริญฝ่ายจิตวิญญาณ

บาทหลวงในศาสนจักรคาทอลิกยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ บาทหลวงประจำมุขมณฑล (diocesan/secular priest) และบาทหลวงประจำคณะนักบวช (regular priest)

บาทหลวงประจำมุขมณฑลจะขึ้นตรงต่อมุขนายกประจำมุขมณฑล เมื่อบุรุษคนใดจะเป็นบาทหลวงประเภทนี้ จะต้องเข้ารับการอบรมที่เซมินารีจนครบตามเวลาที่กำหนด และจะได้รับศีลบวชเป็นลำดับขั้นไป จนถึงขั้นพันธบริกรจึงถือว่าเป็นเคลริก โดยสมบูรณ์ เมื่อได้รับศีลบวชขั้นบาทหลวงจึงได้เป็นบาทหลวง บาทหลวงประเภทนี้จะต้องทำงานให้กับมุขมณฑลตามคำสั่งของมุขนายกประจำมุขมณฑลที่ตนอยู่ (โดยมุขนายกประเภทมุขนายกปริมุขมณฑลอยู่ใต้การปกครองของมุขนายกมหานคร) ส่วนมุขนายกประจำมุขมณฑลจะขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปา

บาทหลวงประจำคณะนักบวชจะขึ้นตรงต่ออธิการ (abbot/superior) เมื่อบุคคลใดไม่ว่าชายหรือหญิงจะเข้าเป็นนักบวชจะต้องเข้าอบรมในอารามของคณะนักบวชในฐานะโปสตูลันต์ (postulant) เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นเป็นโนวิซ (novice) อีกประมาณ 2 ปี แล้วปฏิญาณถวายตัวชั่วคราวเป็นเวลา 1-3 ปี แล้วจึงทำการปฏิญาณถวายตัวตลอดชีพ เมื่อได้ปฏิญาณตนแล้วจึงถือว่าเป็นนักบวชในคณะโดยสมบูรณ์[1] หากเป็นนักบวชชายเรียก ภราดา หรือบราเดอร์ (brother) หากเป็นนักบวชหญิงเรียก ภคินี หรือซิสเตอร์ (sister)

นักบวชหญิงในนิกายคาทอลิกจะไม่มีสิทธิ์รับศีลบวช จึงมีสถานะสูงสุดที่ซิสเตอร์ ไม่สามารถเป็นบาทหลวงหญิงได้ แต่นักบวชชายสามารถรับศีลบวชเป็นบาทหลวงได้ เมื่อเป็นบาทหลวงแล้วก็ยังคงอยู่ในสังกัดคณะนักบวชอยู่ โดยมีอธิการเป็นหัวหน้า อธิการคณะจะขึ้นตรงต่ออัคราธิการ (superior general - บางคณะก็เรียกว่ามหาธิการ) อีกต่อหนึ่ง และอัคราธิการจะขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปาถ้าคณะนั้นเป็นสิทธิของพระสันตะปาปา (pontifical right) หรือขึ้นต่อมุขนายกประจำมุขมณฑลถ้าเป็นคณะที่เป็นสิทธิของมุขมณฑล (diocesan right)

บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวไทยคนแรก คือ บาทหลวงอันโตนีโอ ปินโต ลูกครึ่งโปรตุเกส-สยาม ศึกษาที่วิทยาลัยกลาง กรุงศรีอยุธยา เรียนจบแล้วไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโปรปากันดาฟีเด กรุงโรม รับศีลบวชขั้นบาทหลวงในปี ค.ศ. 1682 แล้วกลับมาปฏิบัติศาสนกิจที่สยามจนถึงแก่กรรมในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1696[3]

บาทหลวงในนิกายออร์ทอดอกซ์

แก้

บาทหลวงในคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์มีลักษณะคล้ายกับในคริสตจักรโรมันคาทอลิก คือเป็นนักบวชที่ผ่านการรับศีลบวช โดยในขั้นต้นต้องบวชเป็นพันธบริกรก่อน และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบพิธีกรรม เมื่อผ่านการฝึกฝนในลำดับต่อมาแล้วจึงจะรับศีลบวชขั้นบาทหลวงได้ และมีหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายศาสนจักรอนุญาต ข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองคริสตจักรคือชายที่แต่งงานแล้วยังบวชเป็นบาทหลวงออร์ทอดอกซ์ได้ แต่จะแต่งงานหลังผ่านพิธีบวชไม่ได้ (ขณะที่คริสตจักรละตินไม่อนุญาตเลย) แต่กรณีขั้นมุขนายก คริสตจักรออร์ทอดอกซ์จะอนุญาตเฉพาะบาทหลวงที่ถือโสดมาตลอดชีพเท่านั้นให้รับศีลบวชขั้นมุขนายกได้

ชาวไทยคนแรกที่ได้บวชเป็นบาทหลวงออร์ทอดอกซ์คือบาทหลวงดาเนียล ดนัย วรรณะ สังกัดศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย ซึ่งได้รับศีลบวชเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่โบสถ์ตรีเอกานุภาพแห่งผู้มอบชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงมอสโก โดยมีบิชอปมาร์ค อีกาเรฟสกี้ เป็นผู้โปรดศีลบวช[4]

ปุโรหิตในนิกายโปรเตสแตนต์

แก้

ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับของชาวโปรเตสแตนต์เรียกบาทหลวง (priest) ว่าปุโรหิต และถือว่าคริสตชนทุกคนเป็นปุโรหิตของพระเจ้าอยู่แล้ว ตามข้อความในพระธรรม 1 เปโตร ตอนหนึ่งความว่า

ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง...[5] (you are a chosen generation, a royal priesthood,…)

— เปโตร 2:9

จึงถือว่าคริสเตียนทุกคนเป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้าโดยเท่าเทียมกัน

นิกายแองกลิคัน

แก้

แม้ว่าคริสตจักรฝ่ายโปรเตสแตนต์ส่วนมากจะมีทัศนะข้างต้น แต่คริสตจักรในแองกลิคันคอมมิวเนียน (ทั้งที่เป็นโปรเตสแตนต์) ก็ถือจารีตคล้ายกับนิกายคาทอลิก ในนิกายนี้จึงมีปุโรหิตที่มีลักษณะอย่างบาทหลวง คือต้องผ่านการบวช (ordination) ซึ่งเรียกว่าการสถาปนา[6] และยังมีการแต่งกายและหน้าที่ในศาสนพิธีคล้ายบาทหลวงโรมันคาทอลิก ปุโรหิตในนิกายแองกลิคันจึงเป็นนักบวช ไม่ใช่คริสตชนทุกคนดังที่คริสตจักรอื่น ๆ ในนิกายโปรเตสแตนต์ถือ

ข้อแตกต่างของนักบวชทั้งสองนิกายคือนิกายแองกลิคันอนุญาตให้นักบวชที่สังกัดมุขมณฑลแต่งงานได้ ขณะที่บาทหลวงคาทอลิก (ไม่ว่าสังกัดมุขมณฑลหรือสังกัดคณะนักบวช) มีกฎให้ต้องถือโสดตลอดชีวิต นอกจากนี้คริสตจักรส่วนใหญ่ในแองกลิคันคอมมิวเนียนยังอนุญาตให้บวชสตรีเป็นนักบวช (priest) ได้ ซึ่งเริ่มอนุญาตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971[7]

ชาวไทยคนแรกที่รับสถาปนาเป็นนักบวชแองกลิคันท้องถิ่น (local Anglican priest) คือ ศาสนาจารย์ไพโรจน์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ โดยมีศาสนาจารย์ อาร์ชบิชอป จอห์น ชิว (John Chew) เป็นผู้สถาปนา[8]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 387-8
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 668
  3. วรยุทธ กิจบำรุง, บาทหลวง, บาทหลวง, กรุงเทพฯ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2546, หน้า 21-2, 460
  4. ข่าวพิธีบวชบาทหลวงดาเนียล เก็บถาวร 2013-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มูลนิธิคริสต์ศาสนิกชนดั้งเดิมออร์โธดอกซ์ในประเทศ.
  5. จดหมายของเปโตร ฉบับที่ 1, พระคริสตธรรมคัมภีร์, บทที่ 2, ข้อที่ 9
  6. การสถาปนาของคริสตจักรแองลิกัน 1 เก็บถาวร 2011-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 15 ก.ย. 2554
  7. Emma John (2010-07-04). "Should women ever be bishops?". The Observer. London.
  8. The Anglican Church of Thailand ordains its first Thai priest เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มุขมณฑลสิงคโปร์. เรียกข้อมูลวันที่ 15 ก.ย. 2554