สยาม (อักษรละติน: Siam, อักษรเทวนาครี: श्याम) เป็นชื่อที่ต่างชาติและพระมหากษัตริย์ใช้เรียกประเทศไทยในอดีตและมักรวมถึงชาวไทยสยามซึ่งเป็นชนชาติไทยในภูมิภาคนี้ แต่มิใช่ชื่อคนกลุ่มนี้เรียกตนเอง ราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า สยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ[1] พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ชื่อ "สยาม" ในการทำสนธิสัญญากับต่างชาติเป็นเวลาหลายศตวรรษ เนื่องจากราชอาณาจักรประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู พระมหากษัตริย์ไทยจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศสยาม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน[2] อีกทั้ง ชื่อ สยาม นั้น ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการวิชาการของต่างประเทศอีกด้วย[ต้องการอ้างอิง]

ธงช้างเผือกถูกใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2459

สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา[3] ก่อนเปลี่ยนเป็น "ไทย" ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 [4]

แนวคิดเกี่ยวกับที่มา แก้

จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบที่มาของคำว่าสยามว่ามาจากที่ไหนอย่างแน่ชัด ซึ่งมีความคิดเห็นของผู้รู้ต่าง ๆ ดังนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ศึกษาประวัติที่มาของคำว่า "สยาม" และเขียนเป็นหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ มีความสรุปได้ว่า:

  1. จะต้องเป็นคำที่คล้ายกับ "ซาม-เซียม" ตามสมมุติฐานทางนิรุกติศาสตร์
  2. มีความหมายเกี่ยวข้องกับน้ำ เนื่องจากพบในพงศาวดารราชวงศ์หยวน อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนชาติไต
  3. น่าจะเป็นภาษาหนานเจ้า
  4. ที่เกิดของคำว่า "สยาม" อยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของพม่า[5]

สยาม อาจเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า ศฺยาม श्याम ซึ่งแปลว่า สีดำ สีคล้ำ สีทอง ฯลฯ นั้น ดูเหมือนจะเป็นความเห็นดั้งเดิมที่แพร่หลายมากที่สุด และแทบจะยอมรับกันเป็นความจริงชี้ขาดเรื่องชื่อสยามทีเดียว

— จิตร ภูมิศักดิ์

ปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนไว้ว่า มีการใช้ชื่อสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนำกฎหมายเก่ามาชำระและรวบรวมเป็นกฎหมายตราสามดวง ชื่อประเทศได้รับการบันทึกเป็นภาษาบาลีว่า "สามปเทส" สาม หรือ สามะ แปลว่าความเสมอภาค ส่วน ปเทส แปลว่า ประเทศ แต่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยน เป็นเซียมหรือไซแอม[6]

คำที่ใกล้เคียงกับสยาม แก้

  • ตามภาษามอญ เรียกคนไทยว่า "หรั่ว เซม" (หรั่ว ภาษามอญแปลว่าพวก) จนกระทั่งปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
  • ชาวมลายูและผู้มีเชื้อสายมลายู (รวมถึงในประเทศไทย) ใช้คำเรียกไทยว่า "สยาม" (โดยในภาษามลายูปัตตานีจะออกเสียงว่า ซีแย) มาจนถึงปัจจุบัน (ดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้)[ต้องการอ้างอิง]
  • ในภาษาพม่านั้น เรียกคนไทยว่า "เซี้ยน" ซึ่งถ้าดูจากการเขียน จะใช้ตัวสะกดเป็นตัว ม (ซย+ม) แต่ในภาษาพม่านั้นอ่านออกเสียงตัวสะกดตัว ม เป็นตัว น จึงทำให้เสียงเรียกคำว่า "สยาม" เพี้ยนเป็น "เซี้ยน" ในปัจจุบัน คนในประเทศพม่ามักจะเรียกชนกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลขร้า-ไทต่าง ๆ ว่า "เซี้ยน" หรือ ชื่อประเทศหรือพื้นที่ตามด้วยเซี้ยน เช่นเรียกคนไทยว่า "โย้ตะย้าเซี้ยน" (คนสยามโยธยา ซึ่งเมื่อก่อน อยุธยาเป็นเมืองหลวง) หรือไท้เซี้ยน (คนสยามไทย), เรียกคนลาวว่า "ล่าโอ่เซี้ยน" (คนสยามลาว), เรียกคนชนกลุ่มไทในจีนว่า "ตะโย่วเซี้ยน" (คนสยามจีน ซึ่งคำว่า "ตะโย่ว" ในภาษาพม่าแปลว่า "จีน") และเรียกคนไทใหญ่ในรัฐฉานว่า ต่องจยี๊เซี้ยน (สยาม ต่องกี๊ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานในปัจจุบัน และจริง ๆ แล้วคำว่า "รัฐฉาน" นั้นคือ "รัฐสยาม" แต่พม่าออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซี้ยน ปี่แหน่" เขียนเป็นอังกฤษว่า Shan State แล้วคนไทยก็ออกเสียงเพี้ยนจากคำอังกฤษ "Shan" เป็น "ฉาน" จึงกลายเป็นรัฐฉานตามการเรียกของคนไทยในปัจจุบัน) และทางการรัฐบาลพม่ากำหนดให้ คนไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี มีสัญชาติเป็น เซี้ยน เช่นเดียวกับคนไทใหญ่ในรัฐฉาน[ต้องการอ้างอิง]
  • ตามจดหมายเหตุเก่าของจีน ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันนั้น แต่เดิมมีอาณาจักรอยู่ด้วยกัน 2 อาณาจักร คือ อาณาจักร "เซียน" (暹国; น่าจะหมายถึง สยาม หรือ สุโขทัย) ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้น แต่ยังอยู่ใต้ต่ออาณาจักร "ร้อยสนม" (มีผู้สันนิษฐานว่าคืออาณาจักรล้านนา-ไทใหญ่) และอาณาจักร "หลัววอ" (羅渦国; น่าจะหมายถึง อยุธยา ซึ่งจีนยังใช้ชื่อของ ละโว้ เรียกอยู่) ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป โดยอาณาจักร "เซียน" นั้นมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าข้าวจากอาณาจักร "หลัววอ" จนในที่สุด อาณาจักร "เซียน" และอาณาจักร "หลัววอ" ได้รวมกันเข้า ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหม่ที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เซียนหลัว" (暹罗国; ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เซียนหลัวกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก") ซึ่งได้กลายเป็นนามเรียกอาณาจักรโดยชาวจีนมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ไท่กว๋อ" (泰国)[ต้องการอ้างอิง]
  • นักนิรุกติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์บางคน ได้แสดงถึงความใกล้เคียงกันของคำว่า สยาม และ ฉาน (Shan) ซึ่งใช้เรียกอาณาจักรของชาวไทบริเวณตอนใต้ของจีน ทางตอนเหนือของพม่า และทางรัฐอัสสัมของอินเดีย[ต้องการอ้างอิง]
  • สยาม เป็นคำเรียกของชาวตะวันตก ที่มาทำการค้า การเดินทางมาทางเรือต้องผ่านพม่าก่อน ชาวพม่าบอกชาวตะวันตกว่า เซียม ชาวไท ออกเสียงเป็น เซียน ซึ่งปัจจุบันเป็น ฉานเนื่องจากชาวพม่าออกเสียง น หนู ไม่ได้ จึงเพี้ยนเป็น ม ม้า ฉานชาวพม่าหมายถึง รัฐฉาน ในประเทศพม่า, อาณาจักรล้านนา ในไทย, ลาว, ภาคอีสานตอนเหนือ ในไทย, ตอนใต้ของยูนนาน ในจีน, ด้านตะวันตกของภาคเหนือในเวียดนาม ชาติไทยนั้นกลัว อินเดีย เพราะว่าอินเดียเคยล้มอาณาจักรไชยาได้ ซึ่งไทยสู้ไม่ได้ในยุคนั้น จึงมีภาษาของอินเดียปะปนอยู่มาก ทั้งในภาษาไทยและศาสนาพุทธด้วย[ต้องการอ้างอิง]

สยามในฐานะชนชาติ แก้

สยามเป็นชื่อดินแดนและกลุ่มชนไม่จำกัดชาติพันธุ์ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าสยามเป็น "พวกร้อยพ่อพันแม่"[7] คือ มิได้หมายถึงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่อาศัยลักษณะภายนอกเป็นตัวกำหนด เช่น ใช้เรียกผู้ทำมาหากินกันในบริเวณตาน้ำพุที่ผุดจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน[8] หรืออาจใช้เรียกผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขง[9]

ชาวสยามหรือเสียมเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 19° เหนือลงมา เป็นการผสมผสานของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร[10] นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียน "คนไทย มาจากไหน" จึงเสนอให้เรียกผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่า "ชาวไทยสยาม" แทน เพราะคำว่า "ชาวไทย" มีความหมายครอบคลุมถึง "ชาวไทใหญ่" และ "ชาวไทน้อย" ซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศไทยด้วย[11]

สยามในความหมายของชนชาติไทย แก้

 
ภาพวาดชาวไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุลาลูแบร์

ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์ คนในประเทศไทยได้เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า ไทย มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา โดยได้บันทึกไว้ว่า

ชาวสยามเรียกตนว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน [...] คำว่า สยาม กับ ไทย เป็นสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน[12]

ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้ระบุไว้ในงานเขียน "Description du Royaume Thai ou Siam" (1854) ว่า "...ประเทศที่ชาวยุโรปขนานนามว่า สยาม นั้น เรียกตนเองว่า เมืองไท (Muang - Thai) (ราชอาณาจักรแห่งอิสรชน) ชื่อเดิมนั้นคือ สยาม (แปลว่าชนชาติผิวสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ สยาม (Siam)..."[13]

D.G.E. Hall ได้เขียนใน "ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่า "สยาม ใช้เรียกคนป่าแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพบในระเบียงด้านใต้ของนครวัด... ภายหลังการก่อตั้งอยุธยา ดินแดนดังกล่าวได้ชื่อว่าสยาม ชาวยุโรปก็มักเรียกว่า นครแห่งสยาม" และระบุว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของสยาม[14]

ส่วนกลุ่มเมืองสุโขทัย ก็พบว่ามีการเรียกว่า "สยามประเทศ" ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ของอาณาจักรล้านนาด้วย

ราชอาณาจักรสยาม แก้

 
ชาวสยามในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวถึง "สยาม" (ซึ่งอาจหมายความถึงคนไทยหรือไม่ใช่ก็เป็นได้) โดยผู้คนจากต่างแดนอย่างกว้างขวางดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ตาม แต่ทว่าในอดีตนั้น แนวคิดเรื่องรัฐชาติยังไม่ปรากฏชัดเจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การอ้างอิงถึงราชอาณาจักรของทางราชสำนักของไทยจึงยังคงอ้างอิงโดยใช้ชื่อเมืองหลวง ดังเช่นพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีไปถึงพระเจ้าดอน ฟิลิปแห่งโปรตุเกส ผ่านผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว ก็ได้มีการอ้างพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นของ กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวต่างชาติได้เรียกอาณาจักรอยุธยาว่า สยาม มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา[7] ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"[15] ด้านโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ได้ระบุว่า นามสยามได้เริ่มใช้ในฐานะของประเทศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแปลว่าผิวคล้ำ[16]

ในหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่พบการใช้คำว่า "สยาม" เลย[17] เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พยายามดัดแปลงให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ขึ้น เพื่อซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็นรัฐชาติที่มีการรวมอำนาจปกครอง และเริ่มมีการใช้ชื่อ "ราชอาณาจักรสยาม" เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ[3] โดยปรากฏใช้ชัดเจนครั้งแรกใน พ.ศ. 2399 แต่คนไทยส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อดังกล่าว คงเรียกว่า "ไทย" ตามเดิม[17]

อย่างไรก็ดี เหรียญกษาปณ์แทนเงินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "กรุงสยาม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "สยามรัฐ"

จากสยามเป็นไทย แก้

ในสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ปลุกแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังผู้นำอย่างมาก ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน[ต้องการอ้างอิง] ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนามและจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทใหญ่ในพม่า ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในที่สุดจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ "ไทย" แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งตกทอดไม่กี่อย่างจากประกาศดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "สวัสดี" ทั้งนี้ คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่าเป็น “สารที่ผู้นำไทยอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายเสรีนิยมของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม (เจ้านาย) ต้องการสื่อกับฝรั่งตะวันตกผู้พิชิตสงครามเสียมากกว่า” แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจอีกครั้งผ่านการรัฐประหาร ในปี 2490 ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษ ก็ถูกเปลี่ยนกลับไปใช้ว่า “Thailand” อีกครั้ง

อ้างอิง แก้

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
  2. ศิริพันธ์ ถาวรทวีวงษ์. หน้า 20.
  3. 3.0 3.1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ประเทศไทย หรือประเทศสยาม เก็บถาวร 2008-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 810. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 June B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  5. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 62-63.
  6. ศิริพันธ์ ถาวรทวีวงษ์. หน้า 20.
  7. 7.0 7.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ลาลูแบร์
  8. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 60.
  9. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 76.
  10. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 66-67.
  11. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 67.
  12. สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 217.
  13. Description du Royaume Thai ou Siam" (1854)
  14. D.G.E. Hall. หน้า 222-223.
  15. วีรวิท คงศักดิ์. ร้องเพลงชาติ...ต้องร้องด้วย “ใจ” เก็บถาวร 2010-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  16. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 16-17.
  17. 17.0 17.1 ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 183.

บรรณานุกรม แก้

  • D.G.E. Hall. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, [ม.ป.ป.].
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.
  • จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และ ลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2519.

ดูเพิ่ม แก้