สมเด็จพระเอกาทศรถ

พระมหากษัตริย์ไทย

สมเด็จพระเอกาทศรถ[1] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 19 แห่งอาณาจักรอยุธยาและพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. 2148 ถึง 2153/54[2] และเป็นเจ้าแห่งล้านนาระหว่าง พ.ศ. 2148 ถึง 2151/52 สืบราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัชสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่สงบสุขเนื่องจากสยามเป็นรัฐที่มีอำนาจผ่านการพิชิตดินแดนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในรัชสมัยของพระองค์เริ่มมีชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาเป็นกองทหารรับจ้าง โดยเฉพาะสมเด็จพระเอกาทศรถมีกองทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่นภายใต้บังคับบัญชาของยามาดะ นางามาสะ หรือออกญาเสนาภิมุข

สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเอกาทศรถ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์25 เมษายน พ.ศ. 2148 - พ.ศ. 2153 (5 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ถัดไปสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
พระมหาอุปราชเจ้าฟ้าสุทัศน์
พระราชสมภพพ.ศ. 2103
พิษณุโลก
สวรรคตพ.ศ. 2153 (50 พรรษา)
กรุงศรีอยุธยา
พระราชบุตรเจ้าฟ้าสุทัศน์
สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ราชวงศ์สุโขทัย
พระราชบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระราชมารดาพระวิสุทธิกษัตรีย์
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ

พระราชประวัติ

แก้

สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า พระองค์ขาว ตามสีพระวรกาย[3] เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2103[4] เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระโสทรานุชาในพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระเอกาทศรถได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกรบอยู่เสมอจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2[3] เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 โดยไม่มีพระราชโอรส[5] บรรดาเสนาอำมาตย์จึงอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์แต่เพียงพระองค์เดียว ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรพรรดิสร บวรราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาษภาษกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนศวรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศัย สมุทยตโรมนต์ สากฬจักรพาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดีวิบุลย์ คุณรุจิตฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธ์ มกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตร[6]

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ไม่มีข้าศึกเข้าประชิดพระนคร แต่มีต่างชาติเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากยิ่งกว่าแต่ก่อน เช่น พระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ พญาตองอู พญาล้านช้าง นอกจากนี้ยังมีพระราชสาส์นติดต่อกับอุปราชโปรตุเกสประจำเมืองกัวด้วย[4]

สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2153 ขณะพระชนมพรรษา 50 พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ 5 ปี สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ซึ่งเป็นพระราชโอรสจึงได้สืบเสวยราชสมบัติต่อ

พระราชกรณียกิจ

แก้

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างวัดวรเชษฐารามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2136 เพื่อเป็นพระราชานุสรณ์ถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบรมเชษฐาธิราช[7]

สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ส่งเอกอัครราชทูตพร้อมด้วยทูตานุทูตไปยังฮอลันดาจำนวน 20 คน ไปในเรือลำเดียวกันกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ในแบบอย่างเต็มยศ คือมีพระราชสาส์น ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่มีค่า ถูกต้องตามแบบแผนประเพณีของการเจริญพระราชไมตรีสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางไปถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2151 คณะทูตานุทูตที่ได้ส่งไปประเทศฮอลันดา ถือเป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป

อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของฮอลันดาไม่ได้ระบุชื่อราชทูตหรือบุคคลใด ๆ ในคณะทูต ทราบเพียงแต่จำนวนว่ามีหัวหน้าสองท่าน (ราชทูตและอุปทูต) พนักงานรักษาเครื่องราชบรรณาการ เจ้าพนักงานพระราชสาส์น และอื่น ๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมอร์ริส เจ้าชายแห่งออเรนจ์ในวันถัดจากที่เดินทางมาถึง[8]

พระราชโอรส

แก้
  1. เจ้าฟ้าสุทัศน์ ได้เป็นพระมหาอุปราช แล้วเสวยยาพิษสิ้นพระชนม์
  2. สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ครองราชย์เพียง 1 ปี 2 เดือน ก็ถูกถอดจากราชสมบัติแล้วสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
  3. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้แก่

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนาม ผู้ที่ทำลับแลไฟ ถวายพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในการพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
  2. "History of Ayutthaya - Historical Events - Timeline 1600-1649". www.ayutthaya-history.com.
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 121
  4. 4.0 4.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 126
  5. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 123
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 251
  7. "วัดวรเชษฐาราม". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
  8. "ประวัติสัมพันธไมตรีสยาม-เนเธอร์แลนด์ รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ (1)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-14. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 126-127. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระเอกาทศรถ ถัดไป
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช    
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2148 — พ.ศ. 2153)
  สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระนเรศวร    
พระมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุโขทัย)

  เจ้าฟ้าสุทัศน์