สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ[1] เป็นพระมหากษัตริย์แห่ง กรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. 2153/54 ถึง พ.ศ. 2171 แห่ง ราชวงศ์สุโขทัย รัชสมัยของพระองค์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยาหลังจากได้รับเอกราชจาก อาณาจักรตองอู หลังรัชสมัยของ พระเจ้าบุเรงนอง และได้เห็นการเริ่มต้นการค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวดัตช์และญี่ปุ่น พระเจ้าทรงธรรมทรงบรรจุทหารรักษาพระองค์ด้วยทหารรับจ้างชาวต่างชาติ โดยเฉพาะที่โดดเด่นที่สุดคือชาวญี่ปุ่นนาม ยามาดะ นางามาซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่น

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ณ ศาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม, อำเภอพระพุทธบาท, จังหวัดสระบุรี
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์2154–2171 (17 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
ถัดไปสมเด็จพระเชษฐาธิราช
พระมหาอุปราชจมื่นศรีเสารักษ์
สมุหนายกเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
พระราชบุตรสมเด็จพระเชษฐาธิราช
พระพันปีศรีสิน
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
ราชวงศ์ราชวงศ์สุโขทัย
พระราชบิดาสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระราชมารดาพระสนมไม่ปรากฏพระนาม
พระราชสมภพพ.ศ. 2135
พระศรีสิน
สวรรคต12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 (36 พรรษา)

พระราชประวัติ แก้ไข

พระราชสมภพ แก้ไข

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนามเดิมว่าพระศรีสิน[1] เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถกับพระสนมชาวบางปะอิน[2] เดิมบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดระฆัง มีความรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก จนได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม์อนันตปรีชา มีผู้ที่นิยมท่านมาก รวมทั้งจมื่นศรีเสารักษ์ยังได้ฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของท่านด้วย

การขึ้นครองราชย์ แก้ไข

ในแผ่นดินของสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ จมื่นศรีเสารักษ์และบรรดาลูกศิษย์ของท่านได้ซ่องสุมกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงบุกเข้าไปยังพระราชวังหลวงและจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพิมลธรรมอนันตปรีชาให้ลาสิกขาบท ขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล จุลศักราช 973 (พ.ศ. 2154) ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และทรงแต่งตั้งจมื่นศรีเสารักษ์เป็นพระมหาอุปราช

เหตุการณ์ในรัชสมัย แก้ไข

กบฏญี่ปุ่น แก้ไข

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวต้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งกล่าวถึงกบฏญี่ปุ่นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย จึงยกเข้ามาจะยึดพระราชวังหลวงเพื่อจับกุมเอาตัวพระเจ้าทรงธรรม แต่พระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมก็ใช้อิทธิฤทธิ์นำตัวพระเจ้าทรงธรรมออกมาได้โดยที่ญี่ปุ่นนิ่งเฉย

ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพันจันทนุมาศ(เจิม) ความว่า[3]

“ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ 500 ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นพอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา 8 รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้านี้ญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้วญี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ญี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล”

เหตุการณ์จบลงเมื่อพระมหาอำมาตย์คุมกำลังพล ไล่ปราบพวกญี่ปุ่นจนหนีออกจากพระราชวังลงเรือสำเภาหนีไป พระเจ้าทรงธรรมจึงแต่งตั้งพระมหาอำมาตย์ให้เป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ พร้อมพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค และยังพระราชทานถวายอาหารแก่พระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเป็นนิจ[3]

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ให้เหตุการณ์เรื่องนี้เอาไว้แตกต่างจากพงศาวดารไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยมีขุนนางชื่อ ออกญากรมนายไวย คิดการก่อกบฏขึ้น แต่เมื่อพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชได้ประหารออกญากรมนายไวย จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นภายใต้บังคับบัญชาของออกญากรมนายไวยก่อกบฏ[4]

คำให้การชาวกรุงเก่า ให้รายละเอียดที่แตกต่างคือ พ่อค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาขายในอยุธยาลำหนึ่ง ถูกอำมาตย์ทุจริตอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินให้ซื้อสิ่งของต่างๆแล้วจ่ายเงินแดงแก่ญี่ปุ่น พ่อค้าญี่ปุ่นไม่ทันได้พิจารณา เมื่ออำมาตย์ไปแล้วพ่อค้าญี่ปุ่นจึงเอาเงินออกมาดูพบว่าเป็นเงินแดงจึงโกรธว่า พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงใช้ญี่ปุ่นมีฝีมือ 4 คนซ่อนอาวุธลอบเข้าไปในพระราชวัง เมื่อพระเจ้าทรงธรรมเสด็จบอกพระปริยัติธรรมพระสงฆ์อยู่นั้น ญี่ปุ่น 4 คนได้เข้าไปพระราชวังหวังทำร้ายพระเจ้าทรงธรรม แต่ด้วยบุญญาบารมีของพระเจ้าทรงธรรมทำให้ชักอาวุธไม่ออก ข้าราชการเห็นมีพิรุธก็พาจับญี่ปุ่น พระเจ้าทรงธรรมจึงซักถามถึงสาเหตุที่ก่อการและสืบสวนถึงอำมาตย์ที่ทุจริตนั้น แล้วจึงพระราชทานเงินดีแก่นายสำเภาญี่ปุ่นและปล่อยพวกญี่ปุ่นพร้อมไม่ถือเอาโทษ[5]

ราชการสงคราม แก้ไข

เสียเมืองตะนาวศรี แก้ไข

พ.ศ. 2146 เมืองตะนาวศรี ถูกกองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองจึงส่งหนังสือมาแจ้งให้ยกกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงตรัสให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพยกไปช่วยป้องกัน แต่เมื่อยกมาถึงด่านสิงขรมีนายทัพนายกองเข้ามาแจ้งว่าเมืองตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงให้ยกทัพกลับ[3] ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียตะนาวศรีอันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตกในทะเลอันดามัน

สงครามกับกัมพูชา แก้ไข

พ.ศ. 2164 พระไชยเชษฐาที่ 2 กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีสุนทร ไปยังกรุงอุดงมีชัย และได้ทำการไม่ส่งบรรณาการไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกัมพูชาเป็นประเทศราชเขมรมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงยกทัพ โดยพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพบก ให้พระศรีศิลป์เป็นแม่ทัพเรือ พระไชยเชษฐาทรงใช้วิธีเจรจาหน่วงเวลาและรวบรวมกำลังพลเพื่อรบ กองทัพเรือของพระศรีศิลป์เมื่อรอเวลานานก็ขาดแคลนเสบียงจนต้องถอยทัพ พระไชยเชษฐาจึงส่งกองทัพตามตีจนฝ่ายอยุธยาต้องแตกพ่ายไป[2]


เชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นประเทศราชมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช​ต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

พระราชกรณียกิจ แก้ไข

วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา แก้ไข

 
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร, จังหวัดสระบุรี, ทรงสร้างโดยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรีจึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แก้ไข

พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์คือยามาดะ นางามาซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

สวรรคต แก้ไข

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงพระประชวรเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ จ.ศ. 989 หรือราว ธันวาคม พ.ศ. 2170 ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัยเป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราชจนกว่าจะได้ครองราชย์ จนอีก 1 เดือนกับอีก 16 วันถัดมาก็เสด็จสวรรคต แต่ชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้ว่าพระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราย์ได้ 17 ปี

พระราชสันตติวงศ์ แก้ไข

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ พระเชษฐาธิราชกุมาร พระพันปีศรีสิน และพระอาทิตยวงศ์ ส่วนจดหมายเหตุวันวลิตระบุว่า พระองค์มีพระราชโอรส 9 พระองค์ พระราชธิดา 8 พระองค์

ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระมเหสีสองพระองค์ คือพระนางจันทราชา และพระนางขัตติยเทวี มีพระราชธิดาด้วยกันองค์ละสี่พระองค์ รวมมีพระราชธิดาทั้งหมดแปดพระองค์ ดังนี้[6]

พงศาวลี แก้ไข


อ้างอิง แก้ไข

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 261-4. ISBN 978-616-7146-08-9
  2. 2.0 2.1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 132-5. ISBN 978-616-7308-25-8
  3. 3.0 3.1 3.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ,คำให้การคำกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. [ม.ป.ท.] : ศรีปัญญา, [ม.ป.ป.]. 800 หน้า. หน้า 262.
  4. Silpa-1 (2021-09-03). "กบฏต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา เปิดชนวนทั้งแขก-ญี่ปุ่น บุกยึด-ปล้นถึงในพระราชวังได้". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพมหานคร : คลังวิทยา, 2510. 472 หน้า. หน้า 101.
  6. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 90-91
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 1. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. พ.ศ. 2455. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6

ดูเพิ่ม แก้ไข

ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถัดไป
สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
(พ.ศ. 2153 - พ.ศ. 2154)
   
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. 2154 - 2171)
  สมเด็จพระเชษฐาธิราช
( พ.ศ. 2171 - พ.ศ. 2173)